หนีร้อนพึ่งสบง
เปลี่ยนชะตา
เณร-สงฆ์ ชาติพันธุ์
scoop
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพสีน้ำ : ตะวัน วัตุยา
นานแล้วที่ “ศาสนาพุทธ” มีความหลากหลายในนิกาย
“วัชรยาน” (ทิเบต ภูฏาน มองโกเลีย รัสเซีย อินเดีย เนปาล ปากีสถาน) อนุญาตให้สตรีเป็นภิกษุณี
“มหายาน” (จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ มีบ้างเป็นชาวเชื้อสายจีนที่อาศัยในเนปาล อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์) อนุญาตให้ภิกษุแต่งงานมีลูก บ้างยึดเป็นอาชีพ
ส่วนคนไทยนับถือ “เถรวาท” ศรัทธาคำสอนพระไตรปิฎก (เช่นเดียวกับชาวศรีลังกา เมียนมา ลาว และกัมพูชา) มองภาพสงฆ์ดั่งตัวแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
ในไทยมีภิกษุต่างชาติร่วมผ้าเหลืองไม่น้อย
จำนวนนั้นมีเณร-สงฆ์ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยบนแผ่นดินเพื่อนบ้าน อย่างชาวไต (ไทใหญ่), ดาราอาง (ปะหล่อง) และลื้อ (ไทลื้อ) ข้ามถิ่นจากรัฐฉานในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาศึกษาพุทธธรรมบนแผ่นดินไทย
หนึ่งในเหตุผลนานาคือ หวังให้จีวรไทยเปลี่ยนชะตากรรม
ไต (ไทใหญ่)
พระหลาวแลง กิตฺติธโร
พระเยาวชนชาวไต (ไทใหญ่) จากเมืองล่าเสี่ยว แขวงล่าเสี่ยว ภาคเหนือของรัฐฉาน ปัจจุบันจำพรรษาที่วัดป่าเป้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ควบคู่กับศาสนกิจในโครงการโรงเรียนเคลื่อนที่, โครงการสอนภาษา โดยชมรมรวมพี่น้องไตย มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ และโครงการช่วยเหลือทุนการศึกษาเด็กด้อยโอกาส โดยมูลนิธิการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมระยะเวลาอยู่ประเทศไทย ๑๕ ปี และอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อปี ๒๕๕๘ รวม ๗ พรรษา
“ผมเติบโตท่ามกลางสงครามระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉาน ปี ๒๕๔๔ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผมเป็นลูกคนโตและมีน้องสาวสองคน เด็กชายในหมู่บ้านถ้าไม่บวชจะถูกทหารพม่าจับไปเป็นทหาร ฝึกถือปืนฆ่าคน คนหนุ่มถูกจับเป็นแรงงานทาส บังคับเสพยา ใครทำงานต่อไม่ไหวก็ถูกยิงทิ้ง เวลาทหารเข้ามาในหมู่บ้านพ่อแม่ต้องพาลูกหนีเข้าป่าจนพวกนั้นเคลื่อนทัพไปอีกหมู่บ้าน กลั้นใจให้เขาฆ่าหมูฆ่าไก่ เผาบ้านเรือน ดีกว่าทนเห็นลูกสาวถูกข่มขืนต่อหน้าพ่อแม่แล้วข่มขืนแม่ต่อหน้าลูกผัว หรือยิงคนในบ้านตายต่อหน้าครอบครัว
“มีวันหนึ่งฝนตกหนัก พ่อไม่อยู่ พวกเราหนีไม่ทัน ถูกทหารสามคนบุกขึ้นบ้านกระทืบแม่ เล็งปืนที่หน้าผากพวกเรา แม่บอกให้ลูกทุกคนเงียบเสียงร้องไห้ พอพวกนั้นลดปืนก็ขนของและอาหารในบ้านไปหมด ของเล่นเด็กชายมีแต่ปืน หลังสิ้นแสงอาทิตย์ก็เริ่มกระวนกระวาย ความหวาดกลัวเข้าแทนที่ ไม่มีคืนไหนได้หลับสบาย ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา
“ตอนเป็นเด็กรู้แค่ว่าอย่าถามหาโอกาสเรียนที่ไม่มีวันมาถึงหนังสือเป็นอย่างไรก็ไม่เคยเห็น แม่มักบอกให้ผมไปบวชเณรอยู่วัด แต่ผมรู้สึกกลัวพระ ไม่ชอบผ้าเหลือง หากพระมาบ้านผมจะหนีไปที่อื่น วันหนึ่งพ่อกับแม่ไม่อยู่บ้าน ฝากให้ผมดูแลน้องสาว พอได้ยินเสียงหมาเห่าผมจึงออกไปดูหน้าบ้าน เห็นทหารพม่ามาเยอะก็รีบพาน้องหนีออกทางหลังบ้านไปอาศัยวัดจึงรอด
“จนวันหนึ่งพ่อกับแม่พาผมไปเที่ยวตลาดนัด อยากกินอะไรก็ซื้อให้จนอิ่ม แล้วพ่อก็อุ้มขึ้นรถบรรทุกคันใหญ่ บนนั้นมีเด็กน้อย คนหนุ่มสาว คนแก่ พอนั่งกันเต็มคันล้อรถก็ค่อย ๆ หมุนออกไป เมื่อเห็นพ่อกับแม่ไม่ได้ขึ้นมาด้วย น้ำตาผมก็ไหล พยายามยื่นมือมอมแมมออกไปเรียกหาแม่ แต่ทุกอย่างยิ่ง
ห่างไกลเห็นแต่ฝุ่นควันบนถนน ร้องไห้จนหลับ ตื่นอีกทีก็อยู่
ในวัดหนึ่งของชาวไตในเมืองล่าเสี่ยว ภาคเหนือของรัฐฉาน เณรน้อยรูปหนึ่งดึงผมลุกขึ้นแล้วพาไปกินขนมทั้งน้ำตา ผมร้องไห้หาพ่อแม่อยู่นับปี
“พระสงฆ์ยุคนี้ควรปรับเปลี่ยนวิธีคิด เข้าหาชาวบ้านอย่างเข้าใจปัญหาสังคม รับฟังให้มาก และใช้วิสัยทัศน์ช่วยแนะนำวิธีแก้ปัญหา รวมถึงควรเข้าใจบริบททางสังคมสมัยใหม่ด้วย อย่างเรื่องห้ามพระสงฆ์มีเงินเพราะผิดวินัยก็เป็นความคิดที่ล้าสมัยแล้ว ในพุทธกาลอาจไม่จำเป็นต้องใช้ แต่มาถึงยุคนี้กฎเกณฑ์บางอย่างที่ส่งผลให้การพัฒนาล่าช้าควรได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม”
“ปีต่อมามีโอกาสได้บวชเณร เรียนหนังสือ วันหนึ่งพ่อก็มาหา
นำเงินมาให้ ๕ หมื่นจัต สัญญาว่าปีหน้าจะมารับกลับบ้าน ผมรอคอยทุกวันจนผ่านไป ๖ ปี พ่อคงไม่มาแล้ว จึงเดินทางไปเมืองมัณฑะเลย์ โดนรังแกทุกวัน อยู่ได้ ๒ ปี เรียนรู้ภาษาพม่าพอสมควรจึงย้ายเข้าเมืองย่างกุ้ง อยู่ได้ปีเดียวเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ไม่สามารถออกบิณฑบาต ต้องไปประท้วงถึงจะได้กินข้าว มีพระเณร นักศึกษา ประชาชน ล้มตายทุกวัน ผมตัดสินใจใช้เงินที่มีติดตัวแค่ ๕,๐๐๐ จัต ซื้อตั๋วรถบัสไปรัฐกะเหรี่ยง อยู่ได้ ๒ ปีกว่าก็เกิดสงครามทหารกะเหรี่ยงกับพม่าอีก ความคิดเดียวที่ผุดขึ้นในหัวคือต้องหนีเข้าประเทศไทยเท่านั้นถึงจะรอด
“ตอนผมกับเพื่อนเณรห้ารูปตัดสินใจมุ่งสู่ไทย มีเงินติดตัวอยู่ ๕ หมื่นจัต พอข้ามแม่น้ำสาละวินมาได้ก็ยังติดอยู่ชายแดน จนวันที่ ๕ มีคนขับรถบรรทุกผ่านมาและพาพวกเรามาส่งที่แม่สะเรียง แนะนำให้อาศัยวัดแห่งหนึ่งบนดอยสูงชั่วคราว เพื่อนเณรของผมต่างมีญาติพี่น้องในเชียงใหม่ ลำพูน มารับ แต่ผมไม่มีใครรู้จัก ครบสัปดาห์เหลือผมคนเดียวอาศัยนอน
อยู่ศาลาพักศพ เจ้าอาวาสจึงอนุญาตให้คอยติดตามท่านไปบิณฑบาตทุกเช้า สะสมเงินเก็บได้วันละ ๒๐-๕๐ บาท ชีวิตเริ่มมีรอยยิ้มบ้าง นอนหลับสนิทมากขึ้น
“ผมสังเกตเห็นว่าการแต่งกายของพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์ชาติพันธุ์ต่างกันแค่สีจีวรและทำนองการสวดมนต์หรือบางพิธีกรรม แต่ถือหลักธรรมคำสอนตำราพระวินัยเล่มเดียวกัน วิถีวัฒนธรรมก็คล้ายคลึงโดยเฉพาะพิธีกรรมล้านนาของคนทางภาคเหนือกับรัฐฉานและพม่า ที่แตกต่างคือความเคร่งครัดด้านการแต่งกายเข้าวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่รัฐฉานและพม่านั้นต่อให้เป็นผู้มีอำนาจเพียงใด ถ้าแต่งกายไม่สุภาพ ไม่ทำตามกฎ ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าศาสนสถานเลย โดยเฉพาะเขตเจดีย์ ‘เชวตะกอง’ ที่ย่างกุ้ง
“ความต่างอีกอย่างคือชาวพุทธในไทยยึดหลักที่ตัวบุคคลมากกว่าคำสอน มีเจ้าลัทธิ ฤๅษี เจ้าพ่อเยอะมาก และต่างก็อ้างว่าพิธีกรรมของตนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนาอ่อนแอ พระสงฆ์บางรูปก็ยังนับถือไหว้เจ้าแทนที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถูกตามหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ส่วนที่รัฐฉานพระสงฆ์จะเคร่งครัดวินัยมาก ชาวบ้านก็ยึดคำสอนมากกว่าพิธีกรรมและตัวบุคคล มีบางคนที่นับถือฤๅษีองค์ดำบ้าง แต่ไม่เคารพเจ้าพ่อหรือคนทรงเจ้า เพราะถือว่าการนับถือตัวบุคคลทำให้ศาสนาเสื่อม
“ทุกวันนี้ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้รับโอกาสมากมายในการศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมในประเทศไทยที่เป็นเมืองพุทธ ถือหลักธรรมคำสอนเดียวกับบ้านเกิดผม ผมเองก็ยังไม่รู้ว่าในอนาคตจะบวชต่อหรือกลับบ้าน เด็ก ๆ ที่บ้านเกิดของผมแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา แต่ละวันคิดแค่ว่าจะมีชีวิตรอดอย่างไร แม้ได้บวชเณรก็ใช่ว่าจะได้เรียนหนังสือง่าย ๆ ยังต้องแอบเรียนใต้แสงเทียน
“แต่หากวันหนึ่งต้องกลับบ้าน ผมจะนำความรู้ไปสอนเด็กทุกข์ยากอีกหลายพันคน รวมถึงชาวพุทธในถิ่นทุรกันดารอีกมากที่ขาดโอกาสจะได้พัฒนาสังคมให้น่าอยู่และดำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา”
หินชจฺโจปิ เจ โหติ อุฏฐาตา ธิติมา
นโร อาจารสีลสมฺปนฺโน นิเส อคฺคีว ภาสติ
แม้ชาติกำเนิดต่ำ หากขยัน มีปัญญา
และศีลประกอบก็รุ่งเรืองได้
ดั่งไฟที่สว่างไสวในคืนมืด
...
ดาราอาง (ปะหล่อง)
พระสร้อย ชยานนฺโท
(เซียมลาย)
พระเชื้อชาติดาราอาง (ปะหล่อง) จากหมู่บ้านหนองสามปู เมืองกึ๋ง แขวงหลอยแหลม ทางภาคใต้ของรัฐฉาน ย้ายมาอยู่ที่ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งอายุ ๑๔ ปี บรรพชาที่วัดแม่อายหลวง แล้วศึกษาต่อชั้นมัธยมฯ ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดท่าตอน (พระอารามหลวง) ตำบลท่าดอน อำเภอแม่อาย จวบอายุ ๒๐ ปีจึงอุปสมบทที่พัทธสีมา วัดศรีดอนแก้ว ตำบลแม่สาว ในปี ๒๕๖๐ ปัจจุบันจำพรรษาที่วัดดวงดี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ และศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาเขตเชียงใหม่
“ไม่มีใครอยากจากบ้านเกิดหรอก แต่ในรัฐฉานมีแต่สงคราม ชาวบ้านลำบากแร้นแค้น ต่อให้ขยันทำไร่ ปลูกชา ปลูกฝิ่น ก็ไม่พอเลี้ยงชีพ อาตมามีพี่น้อง ๑๐ คน มีบ้านเหมือนไม่มีพ่อต้องพาลูกหลบเข้าป่าทุกวัน ถ้าอยู่บ้านแม่จะให้นุ่งซิ่นปลอมเป็นผู้หญิง เพราะกลัวทหารพม่าจับไปเป็นทาสหรือบังคับเป็นทหาร
“ชีวิตท่ามกลางสงครามทำให้เด็ก ๆ แทบไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ โชคดีที่แม่ของอาตมาชอบเข้าวัดฟังเทศน์ พอถึงวันพระใหญ่แม่จะไปถือศีลปฏิบัติธรรม อาตมาจึงติดตามไปด้วย ได้เห็นพระเณรท่องบทสวดมนต์ได้เรียนหนังสือจึงอยากเรียนบ้าง แต่ยังไม่ทันได้บวช ปี ๒๕๔๖ พ่อแม่ตัดสินใจให้น้าของอาตมาพาลูกชายสองคนหลบหนีสู่ไทย รองเท้าก็ไม่มีใส่ การเดินข้ามภูเขาต้องอาศัยแสงจันทร์ส่องทาง นอนตอน
กลางวัน นานนับสัปดาห์กว่าจะถึงเขตไทย อยู่ได้ ๒ ปีกว่า ครอบครัวที่เหลือจึงตามมา
“หลังเข้ามาอยู่ในเมืองไทยที่ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นประถมฯ ปีที่ ๖ จากโรงเรียนบ้านดง แล้วบวชเณรสมความตั้งใจ ปิดเทอม ป. ๖ เพื่อนชวนสมัครโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน ดีใจมากอยากให้พ่อแม่เห็นลูกชายห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ทีแรกคิดว่าคงได้บวชแค่ ๑๕ วัน ตามระยะโครงการฯ แต่อาจารย์พระพี่เลี้ยงแนะนำว่าสามารถเรียนต่อฟรีในโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดท่าตอนในอำเภอแม่อายได้จนจบชั้นมัธยมฯ ปลาย อาตมาจึงไม่สึก
“ข้อดีของไทยคือเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษา บ้านเกิดอาตมาหากเด็กจะเรียนหนังสือต้องบวชเณรก่อน เด็กผู้หญิงก็ต้องบวชชี แต่เมืองไทยตรงกันข้าม หากจะบวชต้องเรียนหนังสือให้จบชั้นประถมฯ ค่อยบวชเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เปิดโอกาสให้พระต่างชาติเข้ามาร่วมศึกษาทางธรรมและทางโลกเพื่อพัฒนาตนให้เท่าทันสังคม
“แม้ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโกที่เข้าได้กับทุกสถานการณ์ในทุกยุคทุกสมัย แต่คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนใจเข้าวัดนั่งฟังธรรมแบบเดิม ๆ แล้ว การเผยแผ่พุทธศาสนาจึงต้องมาในรูปแบบใหม่ เป็นธรรมะที่ย่อยง่าย มองเห็นภาพ แต่พอพระสงฆ์ถือกล้องถ่ายรูปแทนตาลปัตรกลับไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตำหนิว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ หรือหากมีพระสงฆ์ออกมาปฏิวัติทางความคิดที่เห็นต่าง ต่อต้านเรื่องการปกครองที่เป็นปัญหามาเนิ่นนานและไม่ได้รับการพัฒนาก็จะถูกมองว่าประพฤติตนไม่เหมาะสม”
“แต่ในด้านการเคารพนับถือศาสนาของพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์ชาติพันธุ์นั้น อาตมาว่าในดินแดนไทยเน้นเรื่องพิธีกรรมความเชื่อเยอะไป พึ่งเทพเจ้ามากกว่าหลักธรรม มีความเจริญด้านวัตถุมากกว่าจิตใจที่เข้าถึงแก่นธรรม ขณะพระชาติต่าง ๆ จะยึดถือคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำหลักธรรมมาพัฒนาชีวิตมากกว่าเคารพวัตถุมงคล
“อย่างเวลาอาตมาเดินทางไปแสวงบุญที่บ้านเกิดในเมืองกึ๋งทางรัฐฉานใต้ จะยังสัมผัสได้ถึงความเป็นอยู่อันเรียบง่ายจริง ๆ ชาวบ้านใช้พุทธศาสนาเป็นวิถีชีวิต มีพิธีกรรมทางศาสนาไว้ยึดถือปฏิบัติ ทุกเช้าก่อนไปทำงานจะแวะไปไหว้พระที่วัด หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยโอกาสที่พวกเขาจะเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ยังเป็นไปได้น้อยจึงต้องนิมนต์พระมาฉันเพลที่บ้านเพื่อฟังธรรมให้สบายใจหายป่วย ยิ่งช่วงเข้าพรรษาชาวดาราอางจะเคร่งครัดประเพณี ‘ปิดประตูชุมชน’ ชาวบ้านจะถือศีล ห้ามมีพิธีกรรมรื่นเริงอย่างการแต่งงานในช่วงนั้นเพราะอาจนำไปสู่อบายมุข แล้วทุกวันพระก็จะฟังธรรมกันที่วัดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กระทั่งออกพรรษาจึงมีพิธีกรรม ‘เปิดประตูชุมชน’ ให้หนุ่มสาวแต่งงานกันได้
“ทุกวันนี้นอกจากตั้งใจเรียนหนังสือ อาตมาจะให้ความร่วมมือปฏิบัติศาสนกิจในมูลนิธิการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง, ขับเคลื่อนกลุ่มเยาวชนดาราอางจิตอาสาพัฒนาสังคม, เป็นพระนักสื่อสาร Thai PBS, พระวิทยากร และเดินทางแสวงบุญในดินแดนบ้านเกิด
“เพราะประสบการณ์จากการบวชเป็นพระทำให้รู้จักนำหลักธรรมมาปรับปรุงชีวิต เป้าหมายสูงสุดของอาตมาจึงอยากส่งต่อโอกาส นำสิ่งที่ตนได้เรียนกลับไปพัฒนาประเทศ รับใช้เพื่อนมนุษย์”
จิตฺเตน นียติ โลโก
โลกถูกจิตนำไป
...
ลื้อ (ไทลื้อ)
พระสรทะวี อินฺทสาโร
(สอนทะวี ทุมปะเสิด)
พระหนุ่มชาวลื้อ เชื้อชาติลาว สัญชาติลาว จากบ้านปากตุง เมืองปากลาย แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปัจจุบันอายุ ๒๕ ปี อยู่เมืองไทยมา ๖ ปี จำพรรษาที่วัดผาด (วัดผาลาด) ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ และกำลังศึกษาระดับปริญญาโท คณะพุทธศาสตร์ สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา-ลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ศาสนกิจที่เคยดำรงตำแหน่ง เช่น ประธานชมรมพระนิสิตลาว มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, จัดรายการสนทนาธรรมผ่านคลื่นวิทยุกับพระนิสิตลาวที่อยู่ต่างวิทยาเขต สถานทูตลาวประจำกรุงเทพฯ รวมถึงชาวต่างชาติ ฯลฯ
“ความยากจนเป็นวิถีของเด็กที่เติบโตจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโขงที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนนเชื่อมต่อกับหมู่บ้านอื่นของแขวงไชยบุรีในลาว มีแต่เรือสำหรับไปมาหาสู่ จะเข้าตัวเมืองแต่ละครั้งใช้เวลา ๔-๕ ชั่วโมง พวกเราหล่อเลี้ยงชีวิตโดยทำไร่ทำสวน หาปูหาปลา กว่าจะได้เริ่มเรียนก็อายุ ๖ ขวบ ที่บ้านเกิดไม่มีโรงเรียนอนุบาล และมีให้เรียนถึงแค่ชั้นประถมฯ ปีที่ ๕
“เวลาสงกรานต์ปีใหม่ลาว พระในหมู่บ้านที่ไปเรียนหนังสืออยู่ต่างเมืองจะกลับมาจำวัดให้ชาวบ้านได้ทำบุญ อาตมภาพชื่นชมวิถีของท่านเหล่านั้นทั้งในเรื่องธรรมะ ความรู้ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้อยากไปโรงเรียนสงฆ์จะได้เป็นเหมือนพวกท่าน ตอนอายุ ๑๑ ขวบ จึงขอพ่อแม่เดินทางไปนครหลวงเวียงจันทน์เพื่อบวชเป็นสามเณรเพื่อเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
“อาตมภาพชอบเรียนภาษาอังกฤษ อยากให้เป็นใบเบิกทางสร้างโอกาสไปต่างประเทศ ปีสุดท้ายของการเรียนชั้นมัธยมฯ ปลายมีเหตุให้ต้องทบทวนหลายรอบว่าจะสึกไปเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะไม่มีทุนส่งตัวเองเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่แล้ววันหนึ่งก็มีพระรุ่นพี่แนะนำให้มาเรียนต่อที่ประเทศไทย
“พอทราบว่าที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ มีหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษแก่พระสงฆ์จากต่างประเทศ เช่น พม่า เวียดนาม กัมพูชา เนปาล หรือลาว และมีโอกาสได้ทุนส่งเสริมการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยหรือมูลนิธิต่าง ๆ ด้วย จึงตัดสินใจมาอาศัยที่วัดผาลาด ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
“สังคมปัจจุบันก้าวหน้ามากแล้ว พระสงฆ์รุ่นใหม่พูดภาษาอังกฤษคล่อง ใช้เทคโนโลยีเก่ง รู้จักนำศาสตร์สมัยใหม่อย่างแอปพลิเคชันมาเป็นเครื่องมือสร้างนวัตกรรมเชิงพุทธ สร้างสรรค์ธรรมะผ่านรูปภาพ กราฟิกดีไซน์ ตัดต่อวิดีโอ เพื่อสื่อสารธรรมะให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ด้วย อาตมภาพคิดว่าไม่ควรตำหนิพระสงฆ์ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือกล้องถ่ายรูป หากนั่นเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาให้กว้างขวาง ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงพระสงฆ์ได้ง่าย และสามารถสื่อสารธรรมะกับคนทั่วโลกได้”
“ระบบการศึกษาที่ไทยก้าวหน้ากว่าของพระสงฆ์ที่บ้านเกิดซึ่งเน้นท่องจำตำรา ครูบาอาจารย์ในไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญมีความแตกฉานด้านปริยัติและปฏิบัติ มีอุปกรณ์การศึกษาทันสมัย ช่วยให้เข้าถึงแหล่งความรู้ต่าง ๆ ทางพุทธศาสนาได้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่
“ไทยกับลาวคล้ายกันมาก พระสงฆ์ห่มจีวรสีเดียวกัน เวลาเข้าวัดวาอารามผู้หญิงจะนุ่งซิ่น พาดสไบ ซึ่งเราต่างถือเป็นสิ่งสำคัญ วัฒนธรรมและประเพณีในบางพิธีกรรมของชาติพันธุ์ทั้งลาวลุ่ม ลาวเทิง ลาวสูง อย่าง ‘ฮีตสิบสอง คองสิบสี่’ ‘ฮีตเก่า คองเดิม’ ก็มีเหมือนกัน หรือศรัทธาพุทธศาสนาควบคู่กับความเชื่อเรื่องพญานาค ผี พราหมณ์ ไสยศาสตร์ บูชาเทพต่าง ๆ ก็ด้วย แม้แต่เรื่องบวงสรวง อ้อนวอน ขอพรจนขาดการต่อสู้กับปัญหาชีวิต ยึดติดตัวพระสงฆ์ที่ศรัทธามากเกินก็มีไม่ต่างกัน
“ที่ต่างน่าจะเป็นบทบาทด้านการปกครองสงฆ์ ในลาวจะมีองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่ง สปป. ลาว ทำหน้าที่เหมือนมหาเถรสมาคมของไทย แต่คณะสงฆ์ลาวเพียงแต่งตั้งเจ้าคณะปกครองเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมของพระสงฆ์ลาวให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของประเทศ ให้รัฐกับศาสนาเดินเคียงคู่ไปได้เท่านั้น ไม่มีการถวายสมณศักดิ์แบบพระสงฆ์ของไทย
“สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่บวชเรียนคือความรู้สึกของพ่อแม่ผู้อยู่เบื้องหลัง ท่านรู้สึกดี รู้สึกปลอดภัยกับความเป็นอยู่ของอาตมภาพที่อยู่ในร่มพระบารมีของครูบาเจ้าอาวาส ห่างไกลยาเสพติดหรือสภาพแวดล้อมในสังคมยากจนที่จะชักนำไปในทางไม่ดี ทุกครั้งที่ย้อนคิดกลับไปอาตมภาพจึงอยากเผยแผ่ธรรมให้ผู้ด้อยโอกาสได้ตระหนักถึงคุณค่าของการบวชเรียนยิ่งขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตน”
ทฬิทฺทิยํ ทุกฺขํ โลเก, ปญฺญาว ธเนน เสยฺโย
ความจนเป็นทุกข์ในโลก,
ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์สิน
...
ความจริงสมัยนี้ไม่ควรมีเด็กคนไหนต้องหลบหนีไปบวชนอกแผ่นดินเกิดอีกแล้ว
แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ว่าทุกวันนี้เมืองไทยยังมีพระสงฆ์ชาติพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
และท่านทั้งหลายไม่ได้ห่างบ้านมาแสวงบุญหรือเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม