Image

รำลึกพิธีถวายเพลิงปราสาทศพ
ครูบาดาราอาง

เรื่อง  : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

◆◆◆ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ 
ชาวเผ่าดาราอางบ้านนอแลบนดอยอ่างขาง มีงานใหญ่

เมื่อทราบข่าวฌาปนกิจ “ครูบาเจ้าเถรพูมะ” (พระพูมะ ปุญญจฺจโย) เจ้าอาวาสวัดนอแล ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เรารีบรุดสู่ที่หมาย-หมู่บ้านบนภูเขาสุดเขตแดนไทย-สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗) จนถึงอำเภอเชียงดาว แล้วใช้เส้นทางผ่านตำบลเมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง สู่ดอยอ่างขาง

ปลายทางพบชายหญิงชาติพันธุ์จากสองฝั่งภูเขามาพร้อมหน้า 
เพื่อร่วมประกอบพิธี “ถวายเพลิงปราสาทศพ” แบบล้านนา-รัฐฉาน อัญเชิญวิญญาณครูบาผู้เป็นที่เคารพสู่ปรโลก

พระสงฆ์ชาติพันธุ์ที่คนไทยไม่รู้จัก แต่สำคัญนักต่อหัวใจชาวดาราอาง 

กำเนิด
ครูบาเจ้าเถร
บนแผ่นดิน
เมียนมา

ปี ๒๔๘๑ “เด็กชายอาบัน” เชื้อสายดาราอาง ถือกำเนิดที่เมียนมา

เข้าสู่วัย ๑๑ ขวบ ลูกชายคนเล็กของครอบครัวเกษตรกรก็ตัดสินใจขออนุญาตบุพการีบรรพชาเป็นสามเณรในปีที่บ้านเกิด-บ้านปะหล่อง ดอยผามิ้น เขตเมืองเชียงตุงของรัฐฉานตะวันออก จัดงานประเพณี “ปอยส่างลอง” (คนไทยรู้จักในชื่อ “บวชลูกแก้ว” ที่ผู้ร่วมประเพณีส่วนใหญ่สืบสายจากไทใหญ่) มีเด็ก ๆ ร่วมบวชด้วย ๑๑ คน เด็กชายอาบันได้ชื่อใหม่ทางธรรมว่า “สามเณรพูมะ”

ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดผามิ้นจนอ่านออกเขียนคล่องจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ลงดอยไปศึกษาต่อที่สำนักเรียนวัดจอมคำในเมืองเชียงตุง หวังเป็นนักธรรม-บาลี ภายหลังเกิดป่วยไข้ พ่อแม่จึงรับสามเณรกลับดอยผามิ้นในวัยย่าง ๑๕ ปี ด้วยพื้นฐานการเรียนที่ดีมากหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดผามิ้นจึงมอบหมายให้เป็นครูสอนหนังสือเหล่าสามเณรน้อย กระทั่งอายุครบ ๒๐ ปี คณะศรัทธาชาวดาราอาง บ้านผามิ้น จึงจัดงาน “เป็กตุ๊” (อุปสมบท) ยกฐานะสามเณรพูมะขึ้นเป็นพระภิกษุตามพระวินัย

“ตุ๊พูมะ” จำพรรษาอยู่ที่วัดผามิ้น ประกอบศาสนกิจ ร่วมบูรณะพุทธศาสนสถาน สร้างศาสนบุคคล ถาวรวัตถุ ฯลฯ เรื่อยมาราว ๓๕ ปี มีลูกศิษย์ชาวดาราอางเต็มดอยผามิ้น

กระทั่งปี ๒๕๓๕ เกิดเหตุไม่สงบจากสงครามกลางเมือง กองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มเข้าอยู่ปะปนกับชาวบ้าน สร้างความขัดแย้งระแวงและสู้รบกันเอง นำไปสู่การกวาดล้างจากรัฐบาลเมียนมา ชาวบ้านต้องหนีเอาชีวิตรอด ทิ้งบ้านเรือนวัดวาอารามจนดอยผามิ้นกลายเป็นดอยร้าง 

ครานั้น “หลวงพ่อเจ้าเถรพูมะ” นำพระลูกศิษย์ ๒ รูป และชาวบ้านราว ๒๐ คน หนีไปซ่อนตัวในหุบเขา มิวายถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายตามพบและถล่มยิงกลางดึก เป็นเหตุให้พระลูกศิษย์กับชาวบ้านเสียชีวิต เหลือรอดเพียงหลวงพ่อและชาวบ้านสี่คน  หลังช่วยกันรวมศพทำพิธีบังสุกุลและกรวดน้ำแผ่เมตตาเสร็จก็ออกธุดงค์ต่อยังวัดต่าง ๆ ทั่วเมียนมา กระทั่งเดินทางถึงบ้านปะหล่องป่าคี หมู่บ้านคู่ขนานตะเข็บชายแดนเมียนมา-ไทย ตรงข้ามบ้านนอแล (ดอยอ่างขาง) จึงอยู่สร้างวัดให้ชุมชนจนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน แล้วชื่อเสียงของครูบาผู้ประพฤติตนตามจารีตดาราอางก็ขจรขจายข้ามสู่ภูผาฝั่งไทย

อาจเป็นชะตาลิขิตให้หลวงพ่อเจ้าเถรพูมะมาเยือนหมู่บ้านของพี่น้องดาราอางที่อพยพสู่ไทย ครั้นกลับเมียนมาแล้วในปีถัดมาก็เกิดเหตุไฟป่าลุกไหม้อาศรมที่วัดป่าคีจนหมดสิ้น เป็นช่วงเดียวกับที่วัดนอแลบนดอยอ่างขางเกิดขาดเจ้าอาวาส คณะศรัทธาวัดนอแลจึงกราบนิมนต์ให้หลวงพ่อเจ้าเถรพูมะในวัย ๖๔ ปี มาเป็นเจ้าอาวาส-ศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนดาราอางบ้านนอแลนับแต่นั้น “ตั้งแต่มาอยู่เมืองไทยท่านก็เก็บตัวไม่ได้ไปไหน ตื่นเช้าออกบิณฑบาตเสร็จก็จำวัด”
-ตุ๊สร้อย เซียมลาย

Image

ชนชาติพันธุ์บนภูเขาตะเข็บชายแดนไม่ได้มีกำลังทรัพย์ แต่สำหรับงานนี้พวกเขาทุ่มทุนหมดใจเพื่อตอบแทนบุญคุณครูบาเจ้าเถรพูมะเป็นครั้งสุดท้าย หลังเสร็จพิธีกรรมจะนำหรีดเงินสดไปใช้จ่ายบำรุงวัด

Image

ชาวดาราอางในชุดชาติพันธุ์พร้อมใจมาแห่ต้อนรับ “ครูบาเทือง นาถสีโล” แห่งวัดบ้านเด่น อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนำคณะสงฆ์รับบิณฑบาตในเช้าวันประชุมเพลิง

เมื่อศรัทธา
แผ่สู่ดอยอ่างขาง

บนพื้นภูเขาห่างจากบ้านนอแล ๑ กิโลเมตร คือรั้วกั้นเขตแดนไทย-เมียนมา

มองทางอากาศจากดอยอ่างขางจะเห็นที่ตั้งฐานปฏิบัติการชายแดนของอีกฝั่ง

ปี ๒๕๔๕ คณะศรัทธาบ้านปะหล่องนอแล (ดอยอ่างขาง) นิมนต์หลวงพ่อเจ้าเถรพูมะข้ามเขตแดนจากวัดป่าคีมาโปรดญาติโยมที่วัดนอแลนานนับ ๗ เดือน ด้วยชาวชุมชนบ้านนอแลต่างก็เป็นผู้อพยพจากเมียนมา นับแต่บ้านเมืองเกิดรัฐประหารปี ๒๕๐๕ เป็นเหตุให้พลเมืองตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร หลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่เผชิญกับสงครามกลางเมืองจึงอพยพสู่ชายแดนเพื่อนบ้าน  

ชาวดาราอางเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประสบเคราะห์ เดิมมีถิ่นฐานอยู่บริเวณเทือกเขาทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ในเมืองตองแปง สีป้อ มีด และเชียงตุง บ้างอยู่รัฐคะฉิ่น ราวปี ๒๕๒๖ ชนเผ่ากลุ่มแรกอพยพสู่ดอยอ่างขางของอำเภอฝางในจังหวัดเชียงใหม่  ปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เสด็จฯ ไปทรงงาน ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางแล้วทราบถึงสถานการณ์ต่อสู้รุนแรง จึงมีพระราชดำรัสอนุญาตให้พวกเขาตั้งรกรากเป็นหมู่บ้านนอแล

ไม่เพียงประชาชนที่โยกย้ายจากถิ่นฐานบ้านเกิด พระสงฆ์ก็ตกอยู่ในสถานะไม่ต่าง

แม้จะมีศรัทธาเรื่องผี เคารพผีเรือน ผีปู่ย่าตายาย มีหมอผีทำพิธีขอขมาหากทำผิดผี และมีศาลผีประจำหมู่บ้าน แต่ชาวดาราอางก็มีวิถีสุขธรรมนับถือพุทธ สนับสนุนให้ลูกชายบวชเณรเพื่อเล่าเรียนธรรมะ และบวชพระเพื่อแผ่อานิสงส์ให้พ่อแม่ ในหมู่บ้านจึงมีการจัดตั้งวัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาบรรดาญาติโยมและศิษยานุศิษย์จะพากันไปทำบุญที่วัดประจำหมู่บ้าน 

อาจเป็นชะตาลิขิตให้หลวงพ่อเจ้าเถรพูมะมาเยือนหมู่บ้านของพี่น้องดาราอางที่อพยพสู่ไทย ครั้นกลับเมียนมาแล้วในปีถัดมาก็เกิดเหตุไฟป่าลุกไหม้อาศรมที่วัดป่าคีจนหมดสิ้น เป็นช่วงเดียวกับที่วัดนอแลบนดอยอ่างขางเกิดขาดเจ้าอาวาส คณะศรัทธาวัดนอแลจึงกราบนิมนต์ให้หลวงพ่อเจ้าเถรพูมะในวัย ๖๔ ปี มาเป็นเจ้าอาวาส-ศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนดาราอางบ้านนอแลนับแต่นั้น

“ตั้งแต่มาอยู่เมืองไทยท่านก็เก็บตัวไม่ได้ไปไหน ตื่นเช้าออกบิณฑบาตเสร็จก็จำวัด”

ตุ๊สร้อย เซียมลาย (พระสร้อย ชยานนฺโท) ภิกษุเชื้อสายดาราอางวัย ๒๒ ปี จำพรรษาอยู่วัดดวงดี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ย้อนความตามที่ผู้ใหญ่เล่าขานถึงเจ้าอาวาสต่างถิ่น

มีบันทึกว่าปี ๒๕๕๙ คณะศรัทธาชาวดาราอาง บ้านผามิ้น และพุทธศาสนิกชนจากหมู่บ้านอื่นทั่วเมียนมาทราบข่าวน่ายินดีว่าหลวงพ่อเจ้าเถรพูมะยังมีชีวิตและพำนักอยู่บ้านนอแลจึงพากันเดินทางกลับดอยผามิ้น-ถิ่นกำเนิดของหลวงพ่อ แล้วช่วยกันบูรณะพระธาตุที่ท่านเคยสร้างไว้ตั้งแต่ ๔๐ ปีก่อน ให้เป็นจุดศูนย์รวมใจของชาวดาราอางทั้งหมด หลังบูรณะเสร็จก็พากันข้ามภูเขามากราบนิมนต์หลวงพ่อให้ไปโปรดศรัทธายังดอยผ้ามิ้นในงานยกฉัตรพระธาตุ แล้วพร้อมใจกันยกย่องหลวงพ่อในวัย ๗๘ ปี ขึ้นเป็น “ครูบาเจ้าเถรพูมะ” ตามจารีต ซึ่งถือเป็นการเชิดชูสูงสุดของชาวดาราอาง

“อันที่จริงพระดาราอางในพม่าก็มีตำแหน่งทางสงฆ์ แต่ต่างจากพระสงฆ์ไทยตรงที่สมณศักดิ์ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐหรือมีพัดยศเป็นเครื่องกำหนด สำหรับพระสงฆ์ดาราอาง
การสถาปนาตำแหน่งใดมาจากการยกย่องโดยชาวบ้านที่นับถือในตัวครูบานั้นว่าเป็นผู้ประพฤติดี หลวงปู่ครูบาพูมะท่านก็เป็นพระนักปฏิบัติ อยู่แบบสมถะ มักน้อย สันโดษ ไม่เคยยึดถือยศถาบรรดาศักดิ์”

ครูบาเจ้าเถรพูมะอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดนอแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมเวลา ๑๖ ปี 

แล้วก่อนเที่ยงของ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ก็ละสังขารโดยสงบในวัย ๘๐ ปี พรรษา ๖๐

ขบวนอัญเชิญสรีระครูบาเจ้าเถรพูมะไปปราสาท รองทางเดินด้วยใบตองสื่อนัยถึงความสะอาดบริสุทธิ์

ถวายเพลิง
ปราสาทศพ

ครั้นสิ้นบุญครูบาเจ้าเถรพูมะ มีการรักษาศพไว้บำเพ็ญกุศลนาน ๒ เดือน

ระหว่างนั้นชาวบ้านกุลีกุจอเตรียมงานใหญ่ ปรับขยายพื้นที่แคบและรกร้างบริเวณวัดให้เป็นลานกว้างสำหรับตั้ง “ปราสาท” เตรียมประกอบการปลงศพพระมหาเถระผู้ทรงสมณศักดิ์ตามวัฒนธรรม

แม้ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าแนวคิดทำปราสาทศพของชาวพุทธล้านนาและรัฐฉานเริ่มมีเมื่อใด แต่มีบันทึกในพงศาวดารโยนกถึงการใช้วิมานหรือบุษบก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นต้นแบบของปราสาทศพ ว่ามีขึ้นในปลายสมัยราชวงศ์มังรายครองเมืองเชียงใหม่ เชื่อว่าการสร้างปราสาทศพและจัดแต่งดอกไม้สดให้สวยงามเป็นการแสดงออกด้านความกตัญญู เชิดชูเกียรติแก่ผู้ล่วงลับดับสังขาร และเป็นการส่งดวงวิญญาณสู่สรวงสวรรค์ มีการทำกันเรื่อยมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนล้านนาสืบมานานนับ ๑๐๐ ปี

และเพื่อตอบแทนบุญคุณครูบาเจ้าเถรพูมะเป็นครั้งสุดท้าย หลายครอบครัวจึงนำเงินเก็บมาสมทบคนละเล็กคนละน้อย บ้างลงขันด้วยวัตถุปัจจัยเป็นสิ่งของตกแต่ง คนที่ไม่มีทรัพย์สินเลยจะลงเป็นแรงกายอย่างหมดใจ ช่วยรับผิดชอบงานส่วนต่าง ๆ เดินทางไปซื้อหาปราสาทที่อำเภอดอยสะเก็ดมาช่วยกันประกอบสร้างสำหรับเป็นที่เชิญหีบศพขึ้นตั้ง ไม่นานปราสาทสีส้ม-ทองสง่าสมบารมีพร้อมตั้งวิมานบุษบก ปักฉัตรห้าชั้นไว้สี่มุม ประดับประดาด้วยดอกไม้สดที่หาได้ในหมู่บ้านก็เป็นอันสำเร็จ

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ในล้านนาที่มีธรรมเนียมคล้ายกันในหลายรัฐที่ร่วมสายตระกูล “ล้านนา-ล้านช้าง” อย่างรัฐฉานและเชียงตุงในเมียนมา เมืองหลวงพระบางและเมืองจำปาศักดิ์ในลาว หรือเมืองเชียงรุ้งในสิบสองปันนา บันทึกว่าพิธีศพพระเถระชั้นผู้ใหญ่แต่เดิมจะมี “ประเพณีลากปราสาท” คือการบรรจุศพพระสงฆ์ไว้ในปราสาทที่วางอยู่บนไม้แม่สะดึง มีล้อเลื่อนสำหรับลากไปเผาที่ป่าช้าหรือกลางทุ่ง ชาวไทใหญ่เรียกประเพณีลากปราสาทศพว่า “ปอยล้อ” แต่รูปแบบดั้งเดิมนั้นไม่ง่าย ภูมิปัญญาชาวบ้านจะทำด้านล่างของปราสาทที่ไม่มีล้อรถให้เกิดกลไกขับเคลื่อนโดยใช้ต้นมะพร้าวสองต้นเป็นส่วนฐานลากแทนล้อ แล้วใช้แรงงานคนบังคับเลี้ยวโดยใช้ไม้พลองงัดต้นมะพร้าวให้ไปตามทิศทางด้วยความยากยิ่ง

สำหรับวัดนอแล แต่ละวันมีชาวบ้านมาร่วมทำบุญเลี้ยงพระ ตกเย็นมีพิธีสวดอภิธรรม แสดงธรรมทั้งคัมภีร์พื้นเมืองเหนือและเทศน์ด้วยภาษาดาราอาง กระทั่งถึงกำหนดวันฌาปนกิจ 

“ชาวบ้านสนใจมาก เพราะส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นพิธีศพยิ่งใหญ่แบบมีปราสาท มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เคยเห็นเมื่อครั้งอยู่ฝั่งพม่าเล่าให้ลูกหลานฟัง ส่วนคนรุ่นอาตมาลงไปยากจะนึกภาพออก เพราะไม่มีใครเติบโตที่รัฐฉานแล้ว พวกผู้ใหญ่จึงพยายามดึงพระเณรและเยาวชนดาราอางให้มีส่วนร่วมช่วยงานมากที่สุด เพื่อเป็นการบันทึกขั้นตอนประเพณีไว้ส่งต่อคนรุ่นหลัง”

ตุ๊สร้อยเองก็เดินเท้าข้ามภูเขาสู่ฝั่งไทยตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย บวชเรียนและเติบโตในเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกที่จะได้เห็น “พิธีถวายเพลิงปราสาทศพ” เป็นบุญตา

เย็นวันที่เรามาถึงเป็นคืนสุดท้ายก่อนวันประชุมเพลิง ผู้คนรวมตัวกันมากเป็นพิเศษทั้งจากหมู่บ้านอื่นในเชียงใหม่และเดินทางไกลจากรัฐต่าง ๆ ในเมียนมา ตลอดคืนนี้มีงานมหรสพสมโภชทั้งเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นและดนตรีร่วมสมัย โดยนักร้องเมียนมาจากเมืองเชียงตุงในรัฐฉานหมุนเวียนมาสร้างความบันเทิงให้หนุ่มสาวได้เต้นรำ ขณะที่ในวิหารก็มีครูบาผลัดกันอ่านหนังสือเทศน์-เล่านิทานธรรมให้คนเฒ่าคนแก่ฟังไปด้วยจนเข้าสู่เช้าวันใหม่ ตามประเพณีลดความเศร้าโศก-เฝ้าศพไปในตัว

Image

คณะสงฆ์ที่ต่างเดินทางมาไกลจากทั่วสารทิศต่างอยากถ่ายภาพหมู่โดยมีฉากหลังเป็นปราสาทวางหีบสรีระ ไว้ระลึกถึงคุณงามความดีของพระเถระ

เช้าวันสำคัญมีการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ และขอขมาศพพระอาจารย์ประจำวัดเป็นผู้กล่าวนำถึงคุณงามความดีของพระเถระ  ครั้นถึงเวลาเหมาะสมชาวบ้านในชุดชาติพันธุ์ดาราอางตั้งแถวรอร่วมขบวนแห่หีบศพไปตามทางยาวที่ปูพื้นด้วยใบตอง ด้วยศรัทธาว่าการได้ส่งศพพระสู่เมรุคืออานิสงส์แรงกล้า พวกเขาจะเดินตามกลุ่มสงฆ์ผู้นุ่งห่มจีวรสีส้มและแดงเข้มกระทั่งถึงทางเข้าสู่ปราสาทที่ทำบันไดขึ้นไว้สี่ด้าน สำหรับเป็นทางเดินไปนมัสการและวางดอกไม้สักการะ มีลำไผ่ซางขนาดสูงยาวสี่ต้นปักตั้งฉากพื้นทั้งสี่ด้านที่ขึงเพดานด้วยผ้าจีวรของพระเถระผู้มรณภาพ

“มีชาวดาราอางฝั่งพม่า ทั้งครูบาและชาวบ้านที่รู้ข่าวเดินทางมาร่วมงานเยอะเลย ช่างภาพจากฝั่งพม่าก็มาช่วยถ่ายสารคดีเก็บไว้ เขาอยากมาบันทึกความศรัทธาที่หลากหลาย บางคนเห็นงานแล้วถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความขนลุก อาตมาได้ยินญาติโยมพูดว่างานศพหลวงปู่พูมะจัดได้ยิ่งใหญ่กว่างานศพพระฝั่งพม่าอีก”

ตุ๊สร้อยแบ่งปันบรรยากาศในงานจากมุมมองที่ท่านได้สัมผัส
ช่วงเวลาของการบังสุกุลและประชุมเพลิง มีพระเถระผู้ใหญ่เป็นประธานจุดเพลิง โดยมีสายขึงไว้ห่างจากผู้จุดราว ๑๐ เมตร เมื่อจุดแล้วไฟจะพุ่งตรงเข้าหาปราสาท กระทบเชื้อเพลิงลุกไหม้ทั้งศพและปราสาท การปลงศพด้วยไฟคือการเผาตามคติของพุทธศาสนาให้เกิดการดับสูญซึ่งกายเนื้อ

“ใคร ๆ ก็เห็นว่าเพลิงลุกท่วมเมรุแล้ว แต่พอหีบไม้ตกลงกองไฟปุ๊บ ศพก็กระเด็นออกมา จึงได้เห็นกันว่าศพไม่ไหม้เลยน่าอัศจรรย์ใจมาก เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันใช้ไม้ดันให้กลับเข้าไปในกองไฟ”

เป็นธรรมดาที่เมื่อมีพิธีส่งดวงวิญญาณพระเถระผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยสู่สรวงสวรรค์ มักมีเรื่องเล่าถึงสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อประกาศถึงบุญบารมีที่ผู้ตายสั่งสมไว้ชั่วชีวิต 

จริงเท็จอย่างไรไม่มีใครกล้าลบหลู่หรือต้องการพิสูจน์เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าศรัทธาที่ฝังลึกในจิตใจอย่างแนบแน่น เช่นเดียวกับความเชื่อด้านศาสนาในประเพณีสร้างปราสาทศพที่สืบทอดกันมาช้านาน

พิธีเสร็จสิ้นก่อนตะวันตกดิน ควันดำจากการเผาไหม้ลอยโขมงขึ้นท้องฟ้าแล้วฟุ้งกระจายตามทิศลม ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากบนดอยชายแดนสองฝั่งไทย-เมียนมา

หลังเก็บอัฐิไว้ ๗ วัน มีพิธีบังสุกุลอัฐิ อนาคตอาจนำไปก่อธาตุบรรจุใส่กู่-สถูปเล็ก ๆ ตั้งในวัดเพื่อเป็นหลักฐานบันทึกถึงครูบาเจ้าเถรพูมะ ผู้สละโลกียสุขอุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา

พระสงฆ์ชาติพันธุ์ที่คนไทยไม่รู้จัก แต่เป็นผู้มีความสำคัญนักต่อหัวใจชาวดาราอาง  

Image

ก่อนตะวันตกดิน กลุ่มควันดำจากการเผาไหม้ลอยโขมงขึ้นท้องฟ้า ฟุ้งกระจายไปตามทางลม มองเห็นได้จากบนดอยชายแดนของทั้งสองฝั่งไทย-เมียนมา เป็นอันรู้กันว่าเสร็จสิ้นพิธีประชุมเพลิง
ภาพ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอขอบคุณ
เจ้าอธิการศุภโชค โพธิสาโร (ตุ๊พง) 
เรียบเรียงประวัติครูบาเจ้าเถรพูมะ
พระสร้อย ชยานนฺโท (ตุ๊สร้อย เซียมลาย) 
เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพในวันพิธีถวายเพลิงปราสาทศพ