Image
"พระกบฏ" ในอดีต
scoop
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
คดีพระพิมลธรรม (อาจ) มิใช่ครั้งแรกที่รัฐหรือองค์กรปกครองสงฆ์ดำเนินคดี พระภิกษุหรือปราบปรามพระภิกษุ ทั้งนี้หากนิยามของคำว่า “กบฏ” คือ ก่อการแล้วไม่ได้รับชัยชนะ ได้รับผลกระทบจากการเมือง กรณี “พระกบฏ” เท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์สยามอาจไล่ลำดับโดยสังเขปได้ดังนี้
เจ้าพระฝาง 
(พากุลเถร/เรือน)

สาเหตุ ตั้งตนเป็นเจ้า 
ปีที่เกิดเหตุ ๒๓๑๐-๒๓๑๓

พระจากหัวเมืองเหนือสอบเปรียญธรรมได้เป็น “มหาเรือน” ลงมาศึกษาพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะอยู่วัดศรีอโยธยา  ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้รับพระราชทานตำแหน่งสังฆราชาเมืองสวางคบุรี เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ทัพอังวะ ได้รวบรวมผู้คนตั้งตัวเป็นเจ้าพระฝาง แต่ไม่สึกและนุ่งห่มผ้าสีแดง โดยมีผู้คนในแถบสวางคบุรีมาเข้าด้วยมาก และมีแม่ทัพนายกองเป็นพระภิกษุหลายรูป ต่อมายังรวมเอาชุมนุมเจ้าพิษณุโลกเข้ามาไว้ในอำนาจได้

ชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุม (ก๊ก) สุดท้ายที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคลื่อนทัพไปปราบในเดือนสิงหาคม ๒๓๑๓ ในสายตาของกรุงธนบุรี ชุมนุมเจ้าพระฝางคือ “คนอาสัตย์อาธรรมฝ่ายเหนือ” ที่คุกคามต่อทั้งศาสนจักรและอาณาจักรกรุงธนบุรีที่เพิ่งก่อตั้งใหม่  พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า พระเจ้าตากสินให้ยกทัพขึ้นไปตีเอาพิษณุโลกได้ จากนั้นก็เดินทัพไปยังสวางคบุรี พระเจ้าตากสินทรงเดินทัพออกจากพิษณุโลกได้ ๓ วัน ทัพหน้าก็ส่งข่าวว่าได้เมืองฝาง แต่ “อ้ายเรือนซึ่งคิดมิชอบนั้นหนีไป” และหายสาบสูญ จากนั้นพระเจ้าตากทรงชำระสิกขาบท (บวชใหม่) พระสงฆ์ฝ่ายเหนือครั้งใหญ่หลังศึกครั้งนี้
ภาพ : สมุดภาพนครนายก
พระญาณนายก 
(ปลื้ม จนฺทภาโส)

สาเหตุ ขัดแย้งกับพระสังฆาธิการ
ปีที่เกิดเหตุ ๒๔๗๗

พระญาณนายก (ปลื้ม จนฺทภาโส) เจ้าอาวาสวัดอุดมธานี เจ้าคณะจังหวัดนครนายก (มหานิกาย) ขัดแย้งกับพระเทพกวี (จั่น วิจญฺจโล) วัดเทพศิรินทร์ เจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี (ธรรมยุต) กรณีพระเทพกวี (จั่น) ตั้งเจ้าคณะแขวงและพระอุปัชฌาย์ในนครนายกโดยไม่ปรึกษา  พระญาณนายก (ปลื้ม) จึงฟ้องสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  พระเทพกวีจึงปลดพระญาณนายก (ปลื้ม) เป็นเจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์ (ไม่มีอำนาจ)

ยังเกิดกรณีเจ้าอธิการจอน วัดท่าทราย ทำบัตรสนเท่ห์ใส่ความพระญาณนายก (ปลื้ม) ว่าเสพเมถุนและยักยอกเงิน พระญาณนายก (ปลื้ม) จึงฟ้องศาลยุติธรรมและชนะคดี ศาลฯ ให้จำคุกและปรับเงินเจ้าอธิการจอน แต่ให้รอลงอาญาไว้  พระราชกวี (จั่น) จึงฟ้องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณ-วโร) (ผู้บัญชาการคณะสงฆ์ระหว่างรอการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ด้วยสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรฯ สิ้นพระชนม์) ว่า “เป็นภิกษุฟ้องภิกษุในศาล” พระญาณนายก (ปลื้ม) โดนตัดสินว่าผิด ควรให้สึก แต่มีความชอบมา จึงให้ถอดสมณศักดิ์  ส่วนเจ้าอธิการจอนถูกถอดจากเจ้าคณะหมวด เรื่องนี้ทำให้พระภิกษุ ๕๓๖ รูปลงรายชื่อถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ให้พระราชกวี (จั่น) และเจ้าคณะจังหวัดนครนายกองค์ใหม่ออกจากตำแหน่ง

แต่คำขอเรื่องนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) ตีตกโดยมองว่า “ถ้าเห็นว่าเจ้าคณะไม่เป็นธรรมก็ให้ไปอยู่เสียที่อื่น” ขณะที่กระทรวงธรรมการมองว่าการตัดสินของฝ่ายสงฆ์เป็นที่สิ้นสุด ต้องรอจนหลังปี ๒๔๗๕ พระญาณนายก (ปลื้ม) จึงได้รับความเป็นธรรมในที่สุด
Image
ครูบาศรีวิชัย
สาเหตุ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
ปีที่เกิดเหตุ ๒๔๕๑-๒๔๗๙

พระนักพัฒนาของล้านนาขัดแย้งกับพระสังฆาธิการ (พระที่มีอำนาจปกครอง) ในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (ปี ๒๔๔๖) ทำให้ส่วนกลางมีอำนาจแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์แต่ผู้เดียว พระศรีวิชัย (ครูบาศรีวิชัย) ที่ยังบวชกุลบุตรตามประเพณีดั้งเดิมจึงกลายเป็นขัดกฎหมาย

การดำเนินการกับครูบาศรีวิชัยมีสามช่วง ช่วงแรก ปี ๒๔๕๑-๒๔๕๓ มีการจับถึงสามครั้ง ครั้งที่ ๒ ถูกกักที่วัดพระธาตุหริภุญ-ไชย ๒๓ วัน ครั้งที่ ๓ กักตัวไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย ๑ ปี และถูกปลดจากตำแหน่งหัวหมวดวัด

ช่วงที่ ๒ ปี ๒๔๕๔-๒๔๖๔ ถูกกล่าวหาเรื่องซ่องสุมผู้คนและมีคำเล่าลือเรื่องปาฏิหาริย์  พระครูญาณมงคล (ปวน อภิชโย เจ้าคณะจังหวัดลำพูน จึงมีหนังสือให้ครูบาศรีวิชัยออกจากพื้นที่ใน ๑๕ วัน  ครูบาศรีวิชัยถูกส่งตัวมากรุงเทพฯ กักไว้ที่วัดเบญจมบพิตรเพื่อไต่สวนข้อหา “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ซ่องสุมผู้คน คิดขบถ ไม่ยอมเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๖ แต่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก็เห็นว่าควรปล่อยพระศรีวิชัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงมองว่าพระศรีวิชัยเพียงทำตามธรรมเนียมเก่าควรชี้แจงก็เพียงพอ

ช่วงที่ ๓ ระหว่างปี ๒๔๗๘-๒๔๗๙ ระหว่างครูบาศรีวิชัยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงระดมกำลังคนและเงินสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ปรากฏว่ามีวัดในภาคเหนือ ๙๐ แห่งมาขอขึ้นด้วย มีผู้มาฝากบุตรหลานให้บวช จึงโดนข้อหาเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน ออกตราตั้งและใบสุทธิเอง บูรณะก่อสร้างไม่อนุรักษ์แบบดั้งเดิม ไม่ปรึกษากรมศิลปากร ยุยงให้พระสงฆ์ออกจากการปกครองรัฐ ครูบาศรีวิชัยถูกกักตัวไว้ที่วัดเบญจมบพิตร ระหว่างที่รัฐบาลพยายามควบคุมพระสงฆ์ในภาคเหนือโดยต่อรองให้ยอมอยู่ภายใต้การปกครองคณะสงฆ์ดุจเดิม จนครูบาศรีวิชัยลงนามยอมรับจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ จึงได้รับการปล่อยตัว
สมณะโพธิรักษ์-สันติอโศก
สาเหตุ แยกตัวจากมหาเถรสมาคม 
ปีที่เกิดเหตุ ๒๕๒๕

รัก รักพงษ์ บวชในธรรมยุติกนิกาย ที่วัดอโศการาม สมุทรปราการ ปี ๒๕๑๓ ได้นามว่า “โพธิรกฺขิโต” ก่อนเข้ามหานิกายในปี ๒๕๑๖ ที่วัดหนองกระทุ่ม จังหวัดนครปฐม เพราะไม่เห็นด้วยเรื่องการแบ่งแยกนิกายจนพระสองนิกายไม่สามารถปฏิบัติกิจร่วมกันได้ ต่อมาได้คืนใบสุทธิของธรรมยุต ถือแต่ของมหานิกายอย่างเดียว

พระโพธิรักษ์สร้าง “ธรรมสถานแดนอโศก” ที่จังหวัดนครปฐม ต่อมาปี ๒๕๑๘ ประกาศแยกตัวจากมหาเถรสมาคม สร้างพุทธสถานศีรษะอโศกในปี ๒๕๑๙ ก่อนจะขยายไปที่สันติอโศก บางกะปิ, ไพศาลี (นครสวรรค์) ฯลฯ โดยต่อมาสาขาสันติอโศกกลายเป็นฐานสำคัญจนกลายเป็นชื่อเรียกสำนัก  เริ่มรับนักบวชของสำนักในปี ๒๕๑๙ โดยมีกฎเคร่งครัด มีวัตรปฏิบัติแตกต่างจากสงฆ์ปรกติ คือ ห่มจีวรสีกรัก ไม่เรี่ยไร ไม่พรมน้ำมนต์ ไม่บูชาด้วยธูปเทียน ไม่มีไสยศาสตร์ ฯลฯ สร้างชุมชนและระบบการผลิตภายในเรียก “บุญนิยม” คล้ายระบอบสังคมนิยมในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินและการถือครองปัจจัยการผลิต  ต่อมากลุ่มฆราวาสของสันติอโศกตั้งมูลนิธิขึ้นมาสนับสนุนหลายแห่ง ที่สำคัญคือกองทัพธรรมมูลนิธิ (นำโดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง) ในปี ๒๕๒๔

ปี ๒๕๓๒ สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้พระโพธิรักษ์สึก มหาเถรฯ สั่งให้บริวารบวชให้ถูกต้อง ห้ามภิกษุสงฆ์คบหาสมาคม มีการจับกุมและฟ้อง ๘๐ คดี เรื่องขึ้นถึงศาลฎีกา ศาลลงโทษพระโพธิรักษ์ ๓๓ กระทง จำคุก ๖๖ เดือน พิพากษาในปี ๒๕๔๑ ว่าไม่สามารถแยกตัวจากมหาเถรสมาคมได้ พระโพธิรักษ์จึงไม่สามารถใช้คำว่า “พระ” ได้อีก จึงเรียกตัวเองว่า “สมณะโพธิรักษ์”  สำนักสันติอโศกยังคงดำเนินการและมีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอดตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕, รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, รัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
Image
พระเทพญาณมหามุนี 
(ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)-ธรรมกาย

สาเหตุ การตีความคำสอน, ปัญหาเรื่องการเงิน
ปีที่เกิดเหตุ ๒๕๔๒, ๒๕๕๙-๒๕๖๐

ไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นชาวสิงห์บุรี ขณะศึกษาอยู่ชั้น ม. ๘ (ม. ๖ ปัจจุบัน) ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้อ่านหนังสือพบเรื่องของแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง และวิชาธรรมกายที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จึงไปขอเรียนกับแม่ชี หลังจากนั้นเมื่อเรียนจบปริญญาตรีก็บวชในปี ๒๕๑๒ โดยมีพระเทพวรเมธี (ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระธมฺมชโยร่วมกับแม่ชีจันทร์ และพระเผด็จ ทตฺตชีโว สร้างวัดพระธรรมกายที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในปี ๒๕๑๓  ปี ๒๕๒๔ ก็ย้ายไปจำวัดถาวร  ต่อมาวัดพระธรรมกายมีความโดดเด่นเรื่องการจัดการองค์กร การจัดกิจกรรมทางศาสนา และมีเทคนิคสอนสมาธิเฉพาะ มีการสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ  มีสายสัมพันธ์กับพระบรมวงศา-นุวงศ์ ข้าราชการและนักการเมือง นักธุรกิจใหญ่และมหาเศรษฐี

วัดพระธรรมกายและพระธมฺมชโยพบวิกฤตเมื่อเกิดกระแสกังขากระบวนการรับบริจาคของวัด ข้อกล่าวหาแปลงบุญให้เป็นสินค้า การตีความนิพพานว่าเป็นอัตตา  ในปี ๒๕๔๒ ยังมีพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ว่าพระธมมฺชโยบิดเบือนคำสอน ถือสมบัติวัดเป็นของตน และต้องอาบัติปาราชิก แต่ก็มีฝ่ายโต้แย้งความถูกต้องและความแท้ของพระลิขิตนั้น  เรื่องยังคลุมเครือมาจนปี ๒๕๕๗ กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีเรื่องการฟอกเงินและรับของโจร กรณีการรับเช็คธนาคารกรุงไทย ยังมีกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ประสบปัญหาการเงินและโอนเงินมายังวัดพระธรรมกาย

ต้นปี ๒๕๖๐ มีการใช้มาตรา ๔๔ ประกาศให้วัดเป็นพื้นที่ควบคุมและส่งกำลังตำรวจทหารเข้าปิดล้อม ถอดสมณศักดิ์พระธมฺมชโย ก่อนที่ภายหลังจะพบว่าพระธมฺมชโยหายตัวไปอย่างลึกลับ