Image
เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓
คดี “พระพิมลธรรม”
ภาค ๓
scoop
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ห้าปีใน 
“สันติปาลาราม”

หลวงตาอาจถูกคุมขังอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลตั้งแต่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๕ ถึง ๗ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ คิดเป็น ๑,๖๖๓ วัน หรือ ๔ ปี ๖ เดือน ๑๘ วัน

๙๔๗ วัน อยู่ในฐานะ “ผู้ต้องหา” อีก ๖๔๘ วัน อยู่ในฐานะ “จำเลย” เมื่ออัยการศาลทหารสั่งฟ้อง

ต่อเมื่อพ้นคดีจึงอยู่ในฐานะ “ผู้อาศัย” อีก ๖๓ วัน บันทึกในห้องขัง ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๖ เล่าความคิดหลวงตาอาจในคุกว่า “คนที่กล้าเป็นตัวของตัวเอง และกล้าทำการงานที่ถูกตามหลักวิชา แต่ไม่กลัวอำนาจบุคคลผู้ทรงอำนาจอย่างป่าเถื่อนนั้น เมื่อพลิกอ่านดูประวัติศาสตร์ของโลกแล้ว ถูกเข้าคุกมามากต่อมากแล้ว...จึงไม่เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอะไรเลย”

ชีวิตในคุกยังทำให้หลวงตาคิดต่อไปว่า “เมื่อครั้งอยู่ภายนอก เราจะไม่มีโอกาสดีเหมือนกับอยู่ในความคุมขังเช่นนี้เลย ไม่ค่อยจะมีสิ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ไปรบกวน รู้สึกตั้งแต่ถูกขังมามีกิเลสเบาบาง กิเลสต่าง ๆ ไม่ค่อยจะมารบกวนให้ทำบาป ถ้าตายอยู่ในห้องขังมีหวังได้สุคติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์...”

หลวงตาอาจยังใช้เวลาเขียนหนังสือ อุบายบรรเทาความโกรธ เขียนงานอื่นที่อยากทำมานาน

ริริ นากายามา สหายพระญี่ปุ่นเมื่อครั้งหลวงตาอาจไปประชุม MRA  เมื่อมาเยี่ยมเห็นห้องคุมขังในสโมสรตำรวจมีโต๊ะหมู่บูชา ก็กล่าวกับหลวงตาอาจว่า “พระอยู่ที่ไหน ที่นั้นก็คือวัด”

ระหว่างขั้นตอนส่งฟ้องหลวงตาอาจที่ยืดเยื้อยาวนาน เกิดเหตุสำคัญหลายเรื่อง คือ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  ยกเลิกระบบสังฆมนตรีและสังฆสภา แล้วรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ที่ “มหาเถรสมาคม” ที่สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจเต็มในการบริหาร ถือเป็นการล้มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ รวมถึงล้มเจตนาในการรวม สองนิกายที่แฝงอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ด้วย

สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) สิ้นพระชนม์ในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๕ จากโรคเส้นเลือดในสมองแตก

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนตุลาคม ๒๕๐๖

จอมพลถนอม กิตติขจร ทายาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ขึ้นสู่อำนาจและใช้มาตรา ๑๗ ยึดทรัพย์อดีตเจ้านายที่ยักยอกเงินของทางราชการไปไว้ในบัญชีส่วนตัวนับพันล้านบาท

ยังมีพระภิกษุที่กล้าหาญอย่างน้อยสองรูป ยื่นหนังสือกราบทูลพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ขอคืนความเป็นธรรมให้หลวงตาอาจ เรื่องนี้ไปไกลถึงขั้นถวายฎีกาในหลวงรัชกาลที่ ๙

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการเสนอความเห็นคัดค้านต่อคณะรัฐมนตรีว่า “นายอาจ” นั้น “ตกเป็นผู้ต้องหา...การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น” และ “คณะสงฆ์ก็ถือว่าได้ขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้ว” จึงไม่อยู่ในข่ายการพิจารณาและความเห็นนี้มาจากพระภิกษุรูปเดียว “ทั้งเป็นพระภิกษุผู้น้อย” ซ้ำยังกล่าวหาว่าคำขอนั้นน่าจะละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ ถ้าทำตามจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในวงการสงฆ์ ซึ่งจอมพลถนอมเห็นด้วย

ในห้วงเวลาเดียวกันหลวงตาอาจเขียนโคลงสุภาษิตขึ้นมาบทหนึ่งว่า
เมืองสยามใหญ่กว้าง
สุดสายตา


จักเสาะหายุติธรรม
ยากแท้


คนดีถูกตีตรา
นักโทษ


คนชั่วกินอิ่มแปล้
นั่งยิ้ม ครองเมือง

ปี ๒๕๐๗ กรมตำรวจสรุปสำนวนส่งให้อัยการศาลทหารฯ ทำเรื่องส่งฟ้อง ล่วงเลยมาถึงปี ๒๕๐๙ ศาลทหารฯ จึงนัดวันตัดสินคดีความในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๙

ผู้เห็นเหตุการณ์บันทึกว่าในช่วงเช้า “พระสงฆ์ สามเณรและประชาชนได้หลั่งไหลกันไปรอฟังคำพิพากษาคดีนี้อย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์”  จากนั้นเมื่อเริ่มตัดสินคดีโดยเปิดสาธารณะ ศาลทหารฯ เริ่มบรรยายข้อกล่าวหาเป็นข้อ ๆ กล่าวถึงพยานหลักฐานที่มาหักล้างเป็นลำดับ โดยข้อหาไม่ว่าจะเป็นการกล่าวดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ในอดีต ข้อหาทำใบปลิวเถื่อน ซ่องสุมอาวุธ แต่งกายไม่เหมาะสม ฯลฯ ล้วนถูกหักล้างด้วยคำให้การ พยาน หลักฐานที่หนักแน่น

คำพิพากษาคดีนี้ต่อมาเมื่อนำมาพิมพ์ ได้เป็นหนังสือหนา ๖๘ หน้า

ท่อนสรุปของคำพิพากษาคือ “ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดใด พอที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด... การจับกุมคุมขังจำเลยทั้งนี้ ย่อมเป็นที่เศร้าหมองและน่าสลดใจในวงการคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนมาก”

ศาลทหารฯ ยังชี้ว่า สิ่งที่จำเลยต้องประสบนั้น “รุนแรงมากที่สุด สำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ พระธัมมโกศาจารย์ถึงกับกล่าวว่า... เพราะความอิจฉาริษยากันในวงการสงฆ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรรมเก่าของจำเลยเท่านั้นเอง...ศาลจึงขอให้จำเลยระลึกว่าเป็นคราวเคราะห์หรือกรรมเก่าของจำเลยเอง หรือมิฉะนั้น ก็เป็นการสร้างบาปกรรมของคนมีกิเลส ไม่ใช่ความผิดของผู้ใด แต่เป็นความผิดของสังสารวัฏเอง” จากนั้นศาลทหารฯ จึงตัดสินให้ อาจ ดวงมาลา พ้นจากมลทิน
Image
พระพิมลธรรม (อาจ) เมื่อพ้นคดี ศาลทหารฯ ตัดสินว่าไม่มีมลทิน แต่เป็นเพราะ “กรรมเก่า” 
การกลับมาของ 
“อดีตพระพิมลธรรม”

สิริ เพ็ชรไชย เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาที่ตามสังเกตการณ์หลวงตาอาจ รายงานบรรยากาศหลังตัดสินคดีไปยังกองเลขาธิการมหาเถรสมาคมว่า เมื่อพ้นจากคดี อดีตพระพิมลธรรม (อาจ) นุ่งสบง ครองจีวรผ้าสังฆาฏิทันที “เป็นที่ปลื้มปีติโสมนัสแก่พุทธบริษัทที่มาประชุมฟังการพิจารณาครั้งนี้อย่างคับคั่ง มีพระภิกษุสามเณรประมาณพันรูป คฤหัสถ์ประมาณสามร้อยคนล้นแน่นศาล”

จากนั้นพระมหาอาจก็ไปฉันเพลที่บ้านโยมคนหนึ่งที่ฝั่งธนบุรี ตกบ่ายก็มุ่งหน้าไปวัดมหาธาตุฯ นมัสการพระบรมสารีริกธาตุแล้วเข้าสู่พระอุโบสถ ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรทั้งจากวัดมหาธาตุฯ และต่างวัดร่วมประชุมกันอยู่คับคั่ง มีการทำพิธีขอขมาหลวงตาอาจ สวดชัยมงคลคาถาอวยพร จากนั้นหลวงตาอาจก็เล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ถูกจับกุมคุมขังจนพ้นคดี

ปิดท้ายด้วยการกล่าวประโยคภาษาบาลีที่แปลเป็นไทยได้ว่า 

“ขอพระสงฆ์จงรับรองว่าข้าพเจ้ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือจะคัดค้านประการใด”

พระสงฆ์ในที่ชุมนุมนั้นก็เปล่งเสียง “สาธุ” ขึ้นพร้อมกัน

หลังไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ไปที่หอปริยัติเพื่อพบปะพระสงฆ์ที่มารอพบร่วม ๓๐๐ รูปกับคฤหัสถ์อีก ๑๐๐ คน หลวงตาอาจจึงกลับสันติบาล เพราะแม้จะได้อิสระแล้ว แต่ “ยังอยู่ในการเข้าปุริมพรรษา ข้าพเจ้าอธิษฐานพรรษาที่วัดสันติปาลาราม... (จึง) ต้องขออนุญาตจำพรรษาอยู่ต่อไป...”

การจำพรรษาที่สันติปาลารามดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๙

หลวงตาอาจเล่าถึงการกลับสู่วัดมหาธาตุฯ ว่า แม้จะผ่านไปหลายปี ชาววัดมหาธาตุฯ ยังให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น “...ไม่มีใครหลงลืมหรือรังเกียจแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำได้มีสมานฉันท์ทำบุญต้อนรับข้าพเจ้า...”

การต้อนรับอย่างอบอุ่นนี้เองที่กลายเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กของหลวงตาอาจ ด้วยยังมีหนังสือพิมพ์บางฉบับ ตั้งคำถามว่าควรต้อง “อุปสมบทใหม่” หรือไม่

ยิ่งท่าทีของรัฐยิ่งเป็นลบ โดยจอมพลถนอมกล่าวว่า “...พอศาลตัดสินปล่อย ท่านก็ครองผ้าเหลืองเอาเองทันที ผมชักสงสัยว่าจะไม่ถูกต้อง เพราะคนที่สึกไปแล้ว ถ้าจะเป็นพระกันใหม่ ตามพระวินัยก็ต้องขอบวชใหม่ ไม่ใช่บวชด้วยตนเอง...ส่วนตำแหน่ง ‘พระพิมลธรรม’ นั้นรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ขอยกเลิกไปแล้ว ไม่คิดรื้อฟื้นขึ้นใหม่อีก เพราะได้สถาปนาตำแหน่ง ‘พระธรรมปัญญาบดี’ ขึ้นแทน” (ชาวไทย, ๖ กันยายน ๒๕๐๙)

๙ กันยายน ๒๕๐๙ กระทรวงศึกษาธิการเสนอเรื่องต่อจอมพลถนอม อธิบายว่าทางพระวินัย “นายอาจ” ไม่ขาดจากความเป็นพระ เพราะไม่ได้ทำผิดและปฏิบัติตัวเช่นนักบวชตลอดมา ในทางกฎหมายก็ “ไม่อาจนำมาปรับเข้ากับกรณีพระอาจ...” เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนสอบสวนตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ส่วนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ไม่อาจปรับใช้ได้ ทั้งพระอาจยังได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์วัดมหาธาตุฯ  ต่อมาเมื่อกรมการศาสนาเสนอเรื่องถึงมหาเถรสมาคม มหาเถรฯ ก็เพียง “ลงมติรับทราบโดยมิได้มีการอภิปราย”

ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการจึงสรุปว่าหากจะพิจารณาเรื่องนี้ ผู้ชงเรื่องต้องเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ เสนอขึ้นมาตามลำดับชั้นจนถึงมหาเถรฯ  แต่หากมหาเถรฯ “นำเรื่องพระอาจ ดวงมาลา เข้าสู่ที่ประชุม โดยมิได้มีผู้ใดเป็นโจทก์นั้น อาจไม่ชอบด้วยวิธีการ และอาจเป็นชนวนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ให้มากขึ้นในหมู่สงฆ์ และประชาชน” (หนังสือที่ ศธ. ๐๔๐๓/๒๗๘๗)

เรื่องจึงเงียบไปโดยปริยาย 

หลวงตาอาจมองเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า “...เขาก็ยังหาเรื่องว่าไม่เป็นพระ เพราะจับสึกแล้ว แต่หลวงพ่อก็ต่อสู้ว่า ใครสึกให้กู กูไม่สึก แล้วก็ยังเป็นพระมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้...”

ส่วนเรื่องเรียกร้องสมณศักดิ์ ตำแหน่งเจ้าอาวาส และการดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นเหตุ หลวงตาอาจเลือกยุติ โดยเรื่องตำแหน่งนั้น “รู้สึกเพียงพอและอิ่มหนำสำราญแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะรับประทานอีกต่อไป”

ขณะที่ความเคลื่อนไหวลูกศิษย์ยังมีเป็นระยะ และคนเหล่านี้ร้องขออาจารย์ของตนว่า “อย่าให้หักห้ามทักท้วง” เพราะไม่ได้ทำเพื่อหลวงพ่อ แต่จำต้องยกกรณีขึ้นมาอ้างอิง “เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมแก่สังคม”
Image
พาดหัวข่าวของ Bangkok Post เมื่อพระพิมลธรรม (อาจ) พ้นคดี 
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

หลวงปู่อาจ-หลวงพ่อใหญ่
พระนักพัฒนาแห่งบ้านโต้น

หลังพ้นจากสันติปาลารามกลับสู่วัดมหาธาตุฯ  หลวงตาอาจเล่าว่าไม่นับสมณศักดิ์และตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดที่หายไป ทุกอย่างเสมือนคงเดิม “ท่านเจ้าอาวาสก็ยังยินยอมให้อยู่กุฏิเจ้าอาวาส...พระภิกษุสามเณรในวัดยังให้ความเคารพนับถือ...อุบาสกอุบาสิกาก็ยังถวายความเคารพนับถืออยู่เหมือนเมื่อเป็นเจ้าอาวาส”

ทั้งยังมอบให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายโรงเรียนของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย เป็นผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย หลวงตาอาจมองว่า เพราะ “ไม่มีพระมหาเถระไทยองค์ใดที่กล้า และสามารถเข้ามารับสนอง...ด้วยเหตุนี้จึงเป็นมูลให้ข้าพเจ้าต้องบำเพ็ญกิจวัตรและกรณียกิจอย่างสมควรกัน คือลงประชุมทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นเป็นการประจำวัน วันพระ วันอาทิตย์ ก็ลงประชุมทำวัตรเช้าแล้วแสดงพระธรรมเทศนาโปรดหมู่พุทธบริษัทกัณฑ์เช้าตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. เสมอไปเว้นแต่มีธุระที่จำเป็น”

ตามธรรมเนียม การเทศน์ในวันพระและวันอาทิตย์เป็นกิจของเจ้าอาวาส แต่เวลานั้น พระธรรมปัญญาบดี (กิตติสารมหาเถร) เจ้าอาวาสชราภาพมาก หลวงตาอาจจึงรับเป็นธุระทั้งหมด

ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี หลวงตาอาจยังถือเอาเดือนที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ทำกิจกรรมของกองการวิปัสสนาธุระฯ นำคณะวิปัสสนาจารย์ ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ไปบำเพ็ญสมณธรรมและบำเพ็ญธุดงควัตรเป็นเวลา ๑ เดือนในห้าจังหวัดที่คัดเลือกไว้เพื่อ “...เชิญเอาพระพุทธศาสนาไปป้อนให้จนถึงบ้าน” ญาติโยม เป็นการเผยแผ่ศาสนาไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ลงลึกถึงระดับตำบลและอำเภอ

เรื่องที่ไม่ค่อยถูกกล่าวหรือบันทึกคือ พระพิมลธรรม (อาจ) เคยบอกลูกศิษย์ว่า ใน ๑ ปีจะมีงานกุศลสำคัญเกี่ยวกับตนเองสองหน คือ วันเกิด (๘ พฤศจิกายน) และการนำกฐินไปทอดที่บ้านเกิด “เพื่อสนองคุณภูมิลำเนาและคุณบรรพบุรุษ” ช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยสองเรื่องนี้ท่านทำไม่เคยขาด

โดยเฉพาะการทอดกฐินที่บ้านเกิดเป็นโอกาสพัฒนาสาธารณูปโภคหมู่บ้านครั้งสำคัญ

ผมพบร่องรอยภารกิจนี้เมื่อไปสำรวจวัดศรีพิมล ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดจอนแก่น แล้วพบว่า พระครูพิมลกิจจานุกูล (ฉลาม กนฺตสีโล) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ยังเก็บรักษาหนังสือที่ระลึกทอดกฐินที่หลวงตาอาจเป็นผู้ประพันธ์ไว้ได้หลายเล่ม เช่น หนังสือที่ระลึกของปี ๒๕๐๑, ๒๕๑๔, ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๗ โดย “คำปรารภ” ที่หลวงตาอาจเขียนนั้นมีสถานะคล้ายกับการรายงานผลการทำงานพัฒนาตำบลของปีนั้นอย่างละเอียด

ฉบับปี ๒๕๐๑ เล่าประวัติบ้านโต้นตั้งแต่การถือกำเนิด ความเป็นอยู่ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างวัดศรีพิมล ฉบับปี ๒๕๑๔, ๒๕๑๖ และ ๒๕๑๗ เล่าถึงการบูรณะวัดและพัฒนาหมู่บ้านที่คืบหน้ามาเป็นลำดับ

น่าสนใจว่าในเอกสารของ Asia Foundation ยังปรากฏว่า มีชาวอเมริกันที่รู้จักเมืองไทยดีเป็นอย่างยิ่งคือนายเคลาส์เนอร์ เคยเดินทางไปกับพระพิมลธรรม (อาจ) จนถึงบ้านโต้นด้วย
ในปี ๒๕๐๑ แต่ต่อมาองค์กรนี้ก็ “สละเรือ” ถอยห่างจากวัดมหาธาตุฯ เมื่อพระพิมลธรรม (อาจ) ถูกคดี โดยหันไปสนับสนุนมหามกุฏราชวิทยาลัยแทน

การกลับมาบ้านโต้นของหลวงตาอาจยังคล้ายกับเป็น “งานประจำปี” ของคนที่นี่

หลวงพ่อฉลามยังจำได้ดีว่าสมัยยังเด็กจะคอยสังเกตตะเกียงเจ้าพายุที่แขวนไว้หน้าบ้านของโยมพ่อโยมแม่หลวงปู่อาจโดยตะเกียงนี้จะติดสว่างเมื่อหลวงปู่กลับมาจำวัดที่วัดศรีพิมล ซึ่งหลวงปู่มีส่วนสร้างขึ้นให้เป็นวัดประจำชุมชนแทนวัดศรีจันทร์ที่ร่วงโรยและคับแคบไปตามกาลเวลา
บริเวณที่เคยเป็นท่าเรือของบ้านโต้น จุดนี้เป็นจุดที่พระพิมลธรรม (อาจ) ขึ้นฝั่งหลังล่องเรือมาทางแม่น้ำชีและเข้ามายังบึงขนาดใหญ่ของบ้านโต้น ภาพนี้ถ่ายในปี ๒๕๖๔
“หลังปี ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านกลับมาบ่อย เวลาท่านมาจะมีคนตามมาเยอะมาก คนมีอำนาจ คุณหญิงคุณนาย ข้าราชการ ท่านยังเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมในวัดศรีพิมลโดยปลูกศาลาไว้ที่มุมพระอุโบสถสี่หลังเป็นที่เรียน ถนนหลายสายในวัด ในหมู่บ้าน ท่านก็เป็นคนวางแผนและตั้งชื่อ

“ยังมีเรื่องลือกันว่าทางการเคยถามหลวงปู่ว่าอยากให้บ้านโต้นเป็นอำเภอหรือไม่ แต่ท่านมองว่าหากความเจริญมาเร็วจะตั้งรับไม่ทันก็ปฏิเสธ แต่ก็พัฒนาอย่างอื่น ไม่ว่าคลองส่งน้ำ ไฟฟ้า ที่ท่านให้ลูกศิษย์ลูกหาดึงเข้ามาที่บ้านโต้นได้ก่อนพื้นที่อื่นอย่างน่าอัศจรรย์ ที่บ้านโต้นยังมี ‘ประชารัฐวิทยาเสริม’ โรงเรียนมัธยมฯ ขนาดใหญ่มาตั้งก่อนที่อำเภอพระยืนจะมีเสียอีก เรื่องเหล่านี้คือฝีมือหลวงปู่ทั้งนั้น”

นี่เป็นความรับรู้ชุดเดียวกับคนตำบลบ้านโต้นส่วนมากที่จะจดจำเรื่องของ “หลวงพ่อใหญ่-หลวงปู่อาจ” ในมุมมอง “พระนักพัฒนา” ถึงแม้บางครั้งจะมีการตีเลขเด็ดจากกิจกรรมและคำพูดของท่านไปด้วย

แต่สำหรับชาวบ้านโต้นในยุคนั้น ไม่ว่า “การพัฒนา” นี้จะดึงและได้มาโดยใช้ทุนฝรั่งหรือทุนไทย อาศัยบรรยากาศสงครามเย็นเพียงไหน ไม่ว่าจะใครก็ใครต่างบอกว่าคือ “ไหวพริบ” ของหลวงปู่ทั้งสิ้น
ม็อบ “ยุวสงฆ์” 
ในความเป็นจริง “คดีพระพิมลธรรม (อาจ)” ยังไม่จบแค่ปี ๒๕๐๙

นับตั้งแต่ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาให้หลวงตาอาจพ้นผิดปรากฏว่ามีการยื่นจดหมายร้องขอความเป็นธรรมไปถวายสมเด็จพระสังฆราช ผู้มีอำนาจในรัฐบาลจอมพลถนอม รวมถึงสำนักราชเลขาธิการเป็นระยะ กระทั่งหลวงตาอาจ แม้จะ
ไม่ปรารถนาสมณศักดิ์ แต่ก็เคลื่อนไหวเพื่อล้างมลทินเรื่องอธิกรณ์ (คดี) ของตนเอง

เช่น จดหมายกลุ่มฆราวาส (มีนาคม ๒๕๑๕), เจ้าคณะภาคอีสาน ๑๖ จังหวัด (ตุลาคม ๒๕๑๕), ผู้แทนภิกษุสามเณร ๔,๕๖๐ รูป, ธนิต อยู่โพธิ์ นายกสมาคมศิษย์วัดมหาธาตุ (พฤศจิกายน ๒๕๑๕)

ปีนี้หลวงตาอาจ หลวงตาปลอด ยังทำหนังสือกราบทูลฯ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชฯ (มหานิกาย) ขอให้ถอนอธิกรณ์ แต่สังฆราชองค์นี้สิ้นพระชนม์ไปก่อนในช่วงปลายปี ๒๕๑๖

จนหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ความเคลื่อนไหวนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เห็นได้จากการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ของสมาคมศิษย์วัดมหาธาตุ (เมษายน ๒๕๑๗) และยังมีอีกหลายองค์กรภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว

มีการจัดตั้ง “คณะยุวสงฆ์” เดินหน้าต่อด้วยการถวายหนังสือลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๗ กราบทูลฯ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ผ่านเลขาธิการมหาเถรสมาคม ขอให้เปิดประชุมพิจารณาเรื่องนี้และทำให้เรียบร้อยภายใน ๘ มกราคม ๒๕๑๘ โดยถ้าทำไม่ได้จะถือว่า “มีเจตนาหน่วงเหนี่ยวเรื่องนี้ให้ล่าช้าออกไปอย่างมีอคติ” และ “รู้สึกเสียใจที่จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป”

นำมาสู่เหตุการณ์ “มหาสังฆนิบาตลานอโศก” ที่น่าจะเป็น “การชุมนุมทางการเมือง” ครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทยในช่วง ต้นปี ๒๕๑๘

ปัจจุบัน “ลานอโศก” ของวัดมหาธาตุฯ ยังคงมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนสภาพเป็นลานจอดรถ

แทบนึกไม่ออกว่าเมื่อ ๔๖ ปีที่แล้ว ที่ลานแห่งนี้จะเกิด “ม็อบพระ” โดยจำนวนพระที่ร่วมชุมนุมเริ่มจาก ๑๕๐ (๑๐ มกราคม) เป็น ๕๐๐ (๑๑ มกราคม) ๑,๐๐๐ (๑๒ มกราคม) และ ๔,๐๐๐ รูป (๑๕ มกราคม)
Image
ม็อบ “ยุวสงฆ์” ที่ลานอโศก 
(ไทยรัฐ, ๑๑ มกราคม ๒๕๑๘) 

หลวงตาอาจ (ยังไม่ได้สมณศักดิ์คืน) นำพระสงฆ์ในวัดมหาธาตุฯ กราบขอขมาสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) อันเนื่องมาจากกรณีการชุมนุมของกลุ่มยุวสงฆ์ โดยมหาเถรสมาคมรับข้อเรียกร้อง เรื่องจึงยุติลง
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

มีการติดโปสเตอร์ แจกใบปลิวมีข้อความ “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” กำแพงอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ยังเต็มไปด้วยโปสเตอร์โจมตีอดีตสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) สังฆนายก และส่งเสียงประท้วงด้วยคำว่า “สาธุ” แทนการโห่ร้องอย่างกึกก้อง มีการเก็บพัดยศเพื่อถวายคืนสมเด็จพระสังฆราช

“กลุ่มยุวสงฆ์” เข้ายื่นหนังสือต่อสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ขีดเส้นตายให้มหาเถรสมาคมตอบข้อเรียกร้องกรณีให้ยกเลิกอธิกรณ์พระภิกษุทั้งสองรูปและการขอคืนสมณศักดิ์ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ในระหว่างนั้นยังมีพระภิกษุจากต่างจังหวัดทยอยเดินทางเข้ามาร่วมจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วย เนื่องจากเป็นระบอบ “รวบอำนาจ” และออกมาในยุคเผด็จการ

แรงกดดันนี้ทำให้มหาเถรสมาคมอาราธนาหลวงตาอาจ (ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างจังหวัด) และหลวงตาปลอด รวมถึงตัวแทนกลุ่มยุวสงฆ์เข้าร่วมประชุมมหาเถรฯ ในวันที่ ๑๖ มกราคม ที่วัดราชบพิธฯ  การประชุมยืดยาวจนเข้าสู่เช้าวันใหม่ ก่อนที่สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ทรงประกาศว่าจะทำให้เรื่องนี้เรียบร้อยในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์

การชุมนุมของยุวสงฆ์จึงยุติลง

วันที่ ๑๗ มกราคม วันสุดท้าย หลวงตาอาจนำพระเณรที่ร่วมชุมนุมถวายธูปเทียนแพขอขมาสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) ที่ทรง “อโหสิไม่ถือโกรธคิดร้าย” (เดลินิวส์, ๑๘ มกราคม ๒๕๑๘)

ในที่สุดมหาเถรสมาคมมีมติสั่งระงับอธิกรณ์วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๘ โดยถือว่า “พระเถระทั้งสองไม่มีมลทินโทษแต่อย่างใด” แต่คณะยุวสงฆ์ก็ยังคงไม่พอใจ เพราะเป็นเพียงแค่การถอนคดี แต่พระบัญชาของอดีตพระสังฆราช (ปลด) ที่ให้พระพิมลธรรมหนีหายไปภายใน ๑๕ วัน ยังคงไม่ถูกยกเลิก และคำสั่งมหาเถรฯ ยังมีลักษณะกำกวมทางภาษาอยู่มาก

ยังมีความพยายามเรื่องสมณศักดิ์ “พระพิมลธรรม” ซึ่งยุบเลิกไปแล้ว โดยเสนอว่าควรให้หลวงตาอาจ-พระมหาอาจ ข้ามขึ้นไปเป็นพระราชาคณะตำแหน่งที่ว่างอยู่ในทันที ไม่ต้องผ่านตำแหน่งเก่าระดับรองสมเด็จพระราชาคณะ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนเมื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ก็ลุล่วงไปได้โดยคืนสมณศักดิ์ “พระพิมลธรรม” ในเดือนพฤษภาคมปีนั้น

“หลวงตาอาจ-พระมหาอาจ อาสโภ” จึงกลับเป็น “พระพิมลธรรม” อีกครั้ง
ศึกสมเด็จ 
(ภาค ๒)

แต่ถึงอย่างนั้นมหากาพย์ก็ยังดำเนินต่อไป 

ปลายปี ๒๕๑๘ กลุ่มยุวสงฆ์ราว ๓๐๐ รูป ยึดลานอโศกจัดการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ ๗ ธันวาคมเวลาราวบ่าย ๓ โมง โดยชี้ว่าการสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะของปี ๒๕๑๘ ที่คณะรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเสนอในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น “ไม่เป็นไปโดยยุติธรรม” ต่อพระพิมลธรรม (อาจ) และพระศาสนโสภณ (ปลอด) ที่ไม่ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์

พวกเขามองว่าพระสองรูปนี้มีความอาวุโสสูงสุดเมื่อเทียบกับองค์อื่น  พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด ประธานคณะกรรมาธิการปกครองของสภาผู้แทนราษฎร ให้คำตอบกับกลุ่มยุวสงฆ์ว่า เพราะ “ดวง” ของพระสองรูป ไม่สมพงศ์กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (เสียงปวงชน, ๘ ธันวาคม ๒๕๑๘)  การชุมนุมยุติลงในช่วงค่ำหลังมีการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนเรื่องการซื้อขายตำแหน่งพระราชาคณะและการกลั่นแกล้งกันด้วยความริษยาในวงการสงฆ์ (เดลินิวส์, ๘ ธันวาคม ๒๕๑๘)

ถึงช่วงนี้ แม้ว่าพระพิมลธรรม (อาจ) ยังคงปฏิบัติศาสนกิจตามปรกติ แต่ก็ยังระวังการเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะมาก ครั้งหนึ่งท่านได้บอกกับพระภิกษุที่มาขอปรึกษาเรื่องจัดตั้ง “ศูนย์รวมสงฆ์ชาวอีสาน” ว่าตอนนี้ท่านนั้น “มีแขน แขนก็ขาด มีขา ขาก็ด้วน มีปาก ปากก็กึกเสียแล้ว มีตาก็ได้แต่จ้องมองดูเฉย ๆ ทำพูดคิดอะไรไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนนี้เสียแล้ว” และทำได้เพียงสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเท่านั้น

กลางปี ๒๕๒๑ พระพิมลธรรม (อาจ) เดินทางไปร่วมประชุมกับ MRA ที่สวิตเซอร์แลนด์ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จย่าที่ประทับในเมืองโลซาน หลังจากนั้นระหว่างตระเวนยุโรป ยังแวะไปเยี่ยม ปรีดี พนมยงค์ ที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากความช่วยเหลือของชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ก่อนจะเดินทางกลับ

ปรีดีได้กล่าวตอนหนึ่งในการสนทนากับพระพิมลธรรม (อาจ) ในประเด็นเรื่องการกลับเมืองไทยว่า เมื่อกฎหมายปรากฏชัดว่าเขาไม่มีมลทินตามที่โดนกล่าวหา “เมื่อนั้นกระผมจึงจะกลับบ้านเกิดเมืองนอน ถ้าจะกลับไปโดยเห็นแก่ตนส่วนเดียวนั้น ถึงมีโอกาสก็ยังไม่กลับ”

การไปพบบุคคลต่างฝักฝ่ายทางการเมืองที่ลี้ภัยในต่างประเทศ พระพิมลธรรม (อาจ) เคยอธิบายว่าทำเพราะตามรอยพระบิดาพระพุทธเจ้าคือ “สุคโต” (เสด็จไปดี) เยี่ยงพุทธสาวกรูปหนึ่ง มิได้ไปสร้างปัญหาแต่อย่างใด

ท่านยังสานงานที่คั่งค้างและชะงักช่วงถูกคุมขัง โดยเฉพาะงานวิปัสสนาธุระที่ถดถอยไปมากระหว่างเจ้าสำนักต้องติดคุกในการเทศนาธรรมครั้งหนึ่งพระพิมลธรรมบอกว่า “ทำให้ลูก ๆ ทั้งหลายที่ใจหมาจิ้งจอกกลัว เลยไม่กล้าจะเผยแผ่วิปัสสนานี้นัก ทำก็ทำลับ ๆ ล่อ ๆ กลัวเขาจับ และบางทีก็จับเอาจริง ๆ เสียด้วยถ้าขืนอวดดี เพราะพ่อมันเข้าคุกไปแล้ว...”
Image
ภาพในปี ๒๕๒๑ งานฉลองสมโภช พระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ขณะมีสมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นั่งสูงสุด)  ผู้ที่นั่งพื้นประกอบด้วยสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ-ซ้ายสุดในภาพ) ในขณะที่พระภิกษุสามรูปที่นั่งล้อมท่านนั้นล้วนเป็นอดีตคู่กรณีของท่านมาก่อน
ส่วนการงานที่วัดมหาธาตุฯ พระพิมลธรรมกลับคืนตำแหน่ง นายกสภา มจร ในปี ๒๕๒๓ กลับสู่ตำแหน่งเจ้าอาวาสในปี ๒๕๒๔ ซึ่งกลายเป็นหนังยาวอีกเรื่องหนึ่ง เพราะมหาเถรฯ ต้องถึงกับส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อวินิจฉัยให้แน่ใจว่าทำได้ในกรณีของพระพิมลธรรม (อาจ) ซึ่งเคยถูกปลดมาก่อน

ช่วงนี้พระพิมลธรรม (อาจ) มาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนสมองกระทบกระเทือน แขนและซี่โครงขวาหัก ต้องรักษาตัวอยู่นานราว ๒ เดือนเศษ และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง

สี่ปีต่อมา (ปี ๒๕๒๖) “ศึกสมเด็จภาค ๒” ก็เริ่มขึ้นเมื่อตำแหน่งพระราชาคณะว่างลง พระพิมลธรรม (อาจ) มีอาวุโสสูงสุดใน ๑๑ รูป ความซับซ้อนคือ การตั้งพระพิมลธรรม (อาจ) ขึ้นสู่ระดับพระราชาคณะคาราคาซังมาตั้งแต่ท่านยังไม่กลับมาเป็นเจ้าอาวาส โดยนอกจากข้อหาเรื่องดวงแล้ว ยังมีผู้มองว่าหากท่านเป็นพระราชาคณะ สมณศักดิ์จะสูงกว่าเจ้าคุณพระธรรมปัญญาบดี (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ อีกทั้งมิได้เป็นพระสังฆาธิการ (คือตำแหน่งทางการปกครอง เป็นแค่พระลูกวัดธรรมดา)

แต่คราวนี้พระพิมลธรรม (อาจ) เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ และคุณสมบัติครบถ้วน แต่คู่กรณียังคงมีอำนาจอยู่ในมหาเถรสมาคม

เมื่อมีการเหนี่ยวรั้งก็เกิดการกดดัน พระราชรัตโนบล (พิมพ์นารโท) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีได้เปิดตัวเคลื่อนไหวออกหนังสือเวียน “ทำโพลหยั่งเสียง” ในหมู่เจ้าคณะ ๑๗ จังหวัด ว่าผู้ใดสมควรกับตำแหน่ง “สมเด็จพระพุฒาจารย์” ที่ว่างอยู่ โดย ๑๔ ใน ๑๗ มองว่าพระพิมลธรรม (อาจ) เหมาะสม

จากนั้นก็ส่งเรื่องไปกรมการศาสนา แต่เรื่องก็เงียบไปอีก พระราชรัตโนบล (พิมพ์) จึงถวายฎีกา ต่อมายังเสนอมาตรการรุนแรงคือให้พระอีสาน “แบกพัดยศเข้าเฝ้าฯ ในหลวงถวายฎีกา” และต่อไปจะไม่ขึ้นกับมหาเถรสมาคม โดย “เราจะปกครองกันโดยธรรม โดยวินัยเหมือนครั้งพุทธกาล” (หนังสือออก ศูนย์ประสานงานการพระพุทธศาสนา, ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๘)

เรื่องนี้คาราคาซังมาจนปี ๒๕๒๘ จนกระทั่งคณะสงฆ์อีสานทำหนังสือถึงสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุขวัฒโน) หนึ่งในกรรมการมหาเถรฯ ยื่นคำขาดว่าจะ “เกิดนิกายสงฆ์ขึ้นดูแลและบริหารการพระศาสนาใหม่” หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าพระอีสานจะแยกตัวจากมหาเถรสมาคม (หนังสือที่ ศปศ. พิเศษ/๒๕๒๘, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘) โดยจะดำเนินการตั้งแต่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๘ (อันเป็นวันที่รู้ผลการสถาปนาพระราชาคณะ) เป็นต้นไป

จึงเกิดการ “พลิกโผ” ขึ้นในห้วงไม่กี่วันก่อนงานเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๙ 

“พระพิมลธรรม” จึงกลายเป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์” ในที่สุด
“บทสุดท้าย”
พระพิมลธรรม

ปีที่ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) เป็นปีเดียวกับที่ท่านเจ้าคุณเป็นลมในระหว่างเป็นประธานชำระพระไตรปิฎก (เนื่องในงานเฉลิมพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๓๐) จนเป็นอัมพฤกษ์ที่มือและเท้าซ้าย

ศรายุทธ ประการแก้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิ มจร ซึ่งในช่วงนั้นเป็นสามเณรมาจำวัดอยู่ที่คณะ ๗ วัดมหาธาตุฯ เล่าว่า มักจะเห็นท่านเจ้าอาวาสนั่งรถเข็นออกมาสูดอากาศและดูแลความเรียบร้อยของวัด “แต่ช่วงนั้นท่านก็สุขภาพทรุดลงมากแล้ว ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน”

ถึงปี ๒๕๓๐ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) ก็กลายเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วยมีอาวุโสสูงสุดในคณะกรรมการมหาเถร-สมาคม ซึ่งส่วนหนึ่งเคยเป็นอดีตผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพรากจีวรไปจากท่านในปี ๒๕๐๓

ในช่วง ๒ ปีสุดท้ายของชีวิต ท่านเจ้าคุณอาจยังคงพยายามปฏิบัติภารกิจไปตามปรกติ คือร่วมประชุมมหาเถรสมาคม ดูแลวัดมหาธาตุฯ ส่งกองกฐินกลับไปทอดที่บ้านเกิดงานสุดท้ายก่อนมรณภาพคือให้โอวาทในงานปฏิบัติธรรมที่พุทธมณฑล ก่อนจะกลับวัดและมีอาการอ่อนเพลียจนเป็นลม จนลูกศิษย์ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลสยาม (ย่านโชคชัย ๔) มรณภาพอย่างสงบในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๓๒
สามเณรรูปหนึ่งกำลังใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพการจุดพลุฉลอง ๑๑๘ ปีชาตกาลที่วัดศรีพิมล ตำบลบ้านโต้น ซึ่งถือเป็นงานประจำปีของตำบลมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒
 ‘ประชารัฐวิทยาเสริม’ โรงเรียนมัธยมฯ ขนาดใหญ่
สามสิบสองปีต่อมา 
๘ ธันวาคม ๒๕๖๔, ๐๗.๔๐ น. ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น

ท่ามกลางลมหนาวต้นเดือนธันวาคม อนุสาวรีย์ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)” ได้รับการตกแต่งสวยงามเพื่อ “งานประเพณีรำลึกชาตกาล ๑๑๘ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)”

ผมมาอยู่ที่งานซึ่งจัดเป็นวันที่ ๒ หลังวันแรกมีพิธีสงฆ์ที่วัดเป็นหลัก วันนี้เจ้าอาวาสวัดศรีพิมลเป็นประธานพิธีพราหมณ์ จากนั้นมีพิธีรำบูชาโดยกลุ่มสตรีสูงวัย ต่อด้วยนักเรียนหญิงโรงเรียนประชารัฐวิทยาเสริมที่ตั้งแถวรำรอบอนุสาวรีย์ ก่อนจะแปรขบวนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรถยนต์แห่รูปพระพิมลธรรม (อาจ) จำลอง เคลื่อนไปตามถนนเกือบรอบตำบลบ้านโต้น สิ้นสุดที่วัดศรีพิมล ส่งต่องานเข้าสู่ภาคกลางคืน ปิดท้ายด้วยการจุดเทียนและพลุรำลึกถึงหลวงพ่ออาจ 

คุณกบ เจ้าของบริษัทพีพี ออแกไนซ์เซอร์ ๒๐๑๘ จำกัด ผู้วางรูปแบบงานเล่าว่า การจัดงานรูปแบบนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา “เมื่อ ๓ ปีก่อน เจ้าอาวาสเรียกผมมาช่วยโดยบอกว่าไม่มีงบประมาณ แต่จะออกจดหมายช่วยหาสปอนเซอร์ให้ เราเป็นคนบ้านโต้น เราอยากทำงานให้หลวงปู่จึงรับปาก

“ในปีแรกผมไปจ้างอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่งเพลง ส่วนท่ารำบูชา ผมไปจ้างอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามคิด ต่างจากก่อนหน้านี้เป็นงานทำบุญขนาดเล็ก มีพระมาสวดแล้วจบไป แต่ผมต้องการมากกว่านั้น” คุณกบเล่าว่าต่อมาผู้นำท้องถิ่นรับไปดำเนินการต่อ จนถึงตอนนี้อยู่ในระยะลองผิดลองถูกเพื่อยกระดับงานสู่ระดับจังหวัด ด้วยหวังจะให้คนภายนอกรู้จักพระพิมลธรรม (อาจ) และบ้านโต้นมากขึ้น

สามเณรแต็กวัย ๑๗ ปี ซึ่งกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดช่วงงานรำลึกชาตกาลฯ เล่าให้ผมฟังว่า ทุกวันนี้เณรและพระสงฆ์รุ่นใหม่ ๆ จำนวนมากจากต่างจังหวัดที่เข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนพระปริยัติธรรม หันมาสืบค้นเรื่องพระพิมลธรรม (อาจ) กันมากขึ้น ยังไม่นับกระแสตื่นตัวของพระเณรกับวิกฤตการเมืองในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา

เรื่องย้อนแย้งคือ ในวันเดียวกันที่ตัวเมืองขอนแก่น มีงานวางพวงมาลาอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สวนรัชดานุสรณ์ มีรองผู้ว่าฯ และตัวแทนหน่วยราชการต่าง ๆ ของขอนแก่นเข้าร่วมครบครัน

จอมพลสฤษดิ์ ผู้นำยุคเผด็จการนี้เองที่มีส่วนโดยตรงกับคดีพระพิมลธรรม (อาจ) ทั้งยังเป็นผู้ให้กำเนิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่แม้จะถูกแก้ไขในรายละเอียด แต่ก็ยังคงบังคับใช้และส่งผลกับ พส. ไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ทั้งพระพิมลธรรม (อาจ) อาจจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่า

“สถานการณ์” และ “เรื่องเล่าของคดี” จะมาลงเอยเช่นนี้
ในปี ๒๕๖๕  
หมายเหตุ
คำกล่าวของพระพิมลธรรม (อาจ) ในงานเขียนสารคดีเรื่องนี้ รวมถึงภาพบางส่วนมาจากงานเขียนตามที่ปรากฏรายชื่อในบรรณานุกรม ทางผู้เขียนละอ้างอิงนำมาไว้ช่วงท้ายเพื่อความสะดวกและลื่นไหลในการอ่าน

ขอขอบคุณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มรกตวงศ์ ภูมิพลับ, สามเณรสรศักดิ์ เพ็งเพชร, วนิดา มหากาฬ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

บรรณานุกรม

หนังสือ

ภาษาไทย
เกษม ทกานนท์ และ อัมพร ศิริเวชศาสตร์. ชัยชนะ พระพิมลธรรมพระนคร : บรรณากร, ๒๕๐๙.

ท่านอาสภเถร แปลและเรียบเรียง. ธัมมปทัฏฐกถาเทศนา เรื่อง นาง
สุมนาเทวี. แจกเป็นธรรมทานในงานทำบุญทอดกฐินสามัคคี ณ วัดศรีพิมลฯ และวัดหนองแวง อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๔.

ธนิต อยู่โพธิ์ และพระพิมลธรรม. ลำดับอานิสงส์ทานและการปฏิบัติ
ธรรม และ เมื่อข้าพเจ้าจำพรรษา ณ สันติปาลาราม. อนุสรณ์งานกฐินสามัคคีวัดศรีพิมล จ. ขอนแก่น ๓๐ ตุลาคม ๒๕๑๗ และงานทำบุญครบรอบปีที่ ๗๑ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๗.

ธีรชน (นามแฝง). เบื้องหลังการปลดพระพิมลธรรมและพระศาสน
โศภณ ตอน ๒. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์ (แผนกการพิมพ์), ๒๕๑๕.

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “พระพิมลธรรม สมณศักดิ์อาถรรพ์ : มองการเมือง
สงฆ์หลังปฏิวัติ ๒๔๗๕ ผ่านชีวิตสมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสโภ (พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๕๓๒)” ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๑๙ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๖๔.

พระพิมลธรรม อาสภเถระ. พิธีกฐิน. อนุสรณ์ในงานกฐินสามัคคี 
คณะวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ และคณะจังหวัดขอนแก่น ทอดถวาย วัดศรีพิมลฯ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๐๑.

พระมหาอิสระ ญาณิสฺสโร (ชัยภักดี). “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน
ฐานะจำเลยสังคม ในกรณีคดีพระพิมลธรรม” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๐.

ภิญญพันธุ์ กจนะลาวัณย์. ไทยปิฎก : ประวัติศาสตร์การเมืองสังคม
ร่วมสมัยของพระพุทธศาสนาไทย. กรุงเทพฯ : Illumination editions, ๒๕๖๒.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. มหาเถระ
ประวัติ. พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลออกเมรุ พระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๑๔ เมษายน ๒๕๓๓.

มหาพล (นามแฝง) ผู้รวบรวม. บันทึกพระพิมลธรรม กับ เอ็ม.อาร์.เอ..
กรุงเทพฯ : คณะกรรมการนิสิต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๒๑.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อนุสสรณียะ ค่าแห่ง
ความทรงจำ. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดพิมพ์เผยแพร่ เนื่องในงาน ๑๐๐ ปีชาตกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) ๘-๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗.

สมาคมศิษย์มหาธาตุ. อนุสรณ์ ๑๐๐ ปีชาตกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์
(อาจ อาสภมหาเถร) (๘ พฤศจิกายน ๒๔๔๖-๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๗). กรุงเทพฯ : สมาคมศิษย์มหาธาตุ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลครบ ๑๐๐ ปี, ๒๕๔๖.

สำนักงานกลาง กองการวิปัสสนาธุระ. ผจญมาร บันทึกชีวิต ๕ ปี ใน
ห้องขังของพระพิมลธรรม (อาสภมหาเถร). กรุงเทพฯ : คณะ ๕ วัดมหาธาตุ, ๒๕๓๐. แสวง อุดมศรี. ศึกสมเด็จ. กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์, ๒๕๒๘.

หลวงพ่ออาสภเถร เรียบเรียง. ประวัติวัดศรีพิมลบ้านโต้น ตำบล
บ้านโต้น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. อนุสรณ์วันเกิดครบรอบปีที่ ๗๐ และงานกฐินสามัคคี วัดศรีพิมลฯ ๘-๑๐ พฤศจิกายน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๑๖.

ภาษาอังกฤษ

Ford, Eugene. Cold War Monks : Buddhism and America’s Secret Strategy in Southeast Asia. New Haven and London : Yale University Press, 2017.

เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ก/ป7/2503/สร 1.1, ก/ป7/2506/ศธ 4.4, ก/ป7/2509/ศธ 4.5,ก/ป7/2506/สร2.2, ก/ป7/2509/กห 1.8, ก/ป7/2518/5