พระพิมลธรรม (อาจ) ขณะเดินทางไปร่วมประชุม MRA ที่สวิตเซอร์แลนด์
เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓
คดี “พระพิมลธรรม”
ภาค ๒
scoop
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
MRA และเวทีโลก
ยุคสงครามเย็น
นอกเหนือจากสานสัมพันธ์กับคณะสงฆ์พม่า พระพิมลธรรม (อาจ) ยังเปิดการติดต่อกับศาสนิกชนของศาสนาอื่น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับ “ขบวนการส่งเสริมศีลธรรม” (Moral Rearmament Army - MRA)
ท่านอธิบายว่า MRA เผยแผ่ศีลธรรมเพื่อสันติภาพ มีหลักสี่ประการ คือ สัจจะ (ซื่อสัตย์), ทมะ (ฝึกใจให้บริสุทธิ์), จาคะ (เสียสละเพื่อส่วนรวม) และเมตตา (ปรารถนาดีต่อกันโดยไม่มีชนชั้น)
“เขาไม่เลือกชาติศาสนาหรือชั้นวรรณะ...ถ้ามีน้ำใจบริสุทธิ์สะอาด ยินดีประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่องค์การกำหนดไว้แล้ว ก็มีสิทธิ์เข้าอยู่ในร่มรัศมีขององค์การทั้งสิ้น...”
ท่านยังมองว่าชาวพุทธไม่ควรมีทิฐิมองว่าศาสนาตนประเสริฐกว่าศาสนาอื่น “แล้วดูหมิ่นดูแคลนเพื่อนมนุษย์โดยเปล่าประโยชน์...”
ยังปรากฏหลักฐานว่า องค์การนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จอมพล ป. เชิญให้มาประชุมที่กรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม ๒๔๙๖ ถึงมกราคม ๒๔๙๗ หลังจากนั้น MRA ก็เริ่มติดต่อกับพระพิมลธรรม (อาจ) ในปี ๒๔๙๙ โดยส่งคนไปนมัสการถึงวัด
พระพิมลธรรม (อาจ) เล่าถึงวันนั้นว่าได้ “ต้อนรับ...กล่าวปฏิสันถาร” จัดพระฝ่ายวิปัสสนาและพระที่สอนใน มจร มาร่วมพูดคุยด้วย
ยูจีน ฟอร์ด ใช้หลักฐานชั้นต้นในสหรัฐฯ ระบุว่า MRA ก่อตั้งโดย แฟรงก์ บุชแมน (Frank Buchman) ที่รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ในปี ๒๔๘๑ ระยะแรกมีฐานสมาชิกส่วนหนึ่งในอังกฤษ ต่อมาก็ขยายมายุโรปโดยมีที่ทำการ ณ โรงแรม Caux Palace Hotel ในหมู่บ้านที่ใกล้ทะเลสาบเจนีวา เมืองโคซ์ (Caux) สวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาในช่วงสงครามเย็น MRA แสดงตัวว่าเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์
อย่างไรก็ตามรายงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปี ๒๔๙๓ ระบุว่าคำอธิบายนี้ไม่น่าจะถูก โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ MRA มีจุดยืนโน้มเอียงสนับสนุนลัทธินาซี จนเมื่อสงครามโลกจบ MRA ปรับปรุงโครงสร้างหลายครั้งและขยายกิจกรรมเข้ามายังเอเชียด้วยเครือข่ายของบุชแมนและนักการเมืองคนสำคัญในภูมิภาค
น่าสนใจว่าก่อนติดต่อกับพระพิมลธรรม (อาจ) รัฐบาลไทยเคยส่งพระภิกษุไปร่วมงานกับ MRA และจอมพล ป. ก็เคยต้อนรับบุชแมนที่กรุงเทพฯ มาแล้ว โดยที่คณะสังฆมนตรี “ไม่ค่อยจะสนใจ” อีกทั้งพระพิมลธรรม (อาจ) ยังให้การในศาลทหารภายหลังว่า MRA เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยเสียด้วยซ้ำ
ความสัมพันธ์ระหว่างพระพิมลธรรม (อาจ) กับ MRA ก่อตัวอย่างรวดเร็วเมื่อท่านพาไปชมการสอนวิปัสสนาในคุกบางขวาง หลังจากนั้น MRA ก็เชิญท่านไปร่วมประชุมในต่างประเทศ
พระพิมลธรรม (อาจ) ไปประชุมกับ MRA สามครั้ง คือ ในปี ๒๕๐๑, ๒๕๐๒ และ ๒๕๒๐ ครั้งที่สำคัญคือปี ๒๕๐๑ มนัส พวงลำเจียก (อดีตมหามนัส จิตฺตทโม) เล่าว่าเดินทางในเดือนมิถุนายน ผ่านฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ก่อนไปประชุม ๑๕ วันในสหรัฐฯ ที่สำนักงานใหญ่ MRA ณ เกาะแมกคินา (Mackinac Island) รัฐมิชิแกน จากนั้นเดินทางผ่านยุโรปกลับไทย ใช้เวลาทั้งหมด ๓ เดือน
เหตุการณ์น่าสนใจคือ การแวะเยี่ยม จอมพล ป. ที่กำลังลี้ภัยการเมืองที่ญี่ปุ่น (หลังการรัฐประหารเดือนกันยายน ๒๕๐๐) แบบ “ภิกษุกับราษฎรเต็มขั้นคนหนึ่งด้วยเวลานานพอสมควร”
ศาสนกิจในต่างประเทศ เล่าว่า เมื่อถึงสหรัฐฯ ท่านยังไปเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลวอเตอร์รีด กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. “สนทนากับ ฯพณฯ ท่านเป็นเวลานาน” พอถึงสวิตเซอร์แลนด์ก็ไปพบพันตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งอยู่ในระหว่างลี้ภัยเช่นกัน “คุยกันจนเต็มอิ่ม ซึ่ง ฯพณฯ ได้เผยข้อเท็จจริงของการเมืองไทยที่สำคัญหลายเรื่อง”
ในยุโรป พระพิมลธรรม (อาจ) เข้าพบดอกเตอร์คอนราด อเดนาวร์ นายกฯ เยอรมนีตะวันตก (ขณะนั้น) เยือนเมืองดึสเซลดอร์ฟ คัสทรอพ ที่มีเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ ได้รับอาราธนาลงไปเยี่ยมกรรมกรที่ทำงานใต้ดินโดยต้อง “สวมเครื่องแต่งตัวชุดของเหมืองทับเครื่องนุ่งห่มของเราอีกชั้นหนึ่ง ตามระเบียบของเหมือง” จากนั้นก็เดินทางไปกรุงวาติกัน เฝ้าฯ พระสันตะปาปาปิอุสที่ ๑๒ จากนั้นไปอิตาลี อียิปต์ ปากีสถาน อินเดีย ก่อนจะกลับไทย
ท่านเล่าถึงประโยชน์จากการเดินทางว่า ทำให้ฝรั่งรู้จักพระไทย เพราะฝรั่งมักเข้าใจผิดว่าคนไทยเป็นคนจีนหรือฟิลิปปินส์ เวลามีคนไทยไปต่างประเทศก็แต่งกายสากลไม่ต่างกับเขา แต่ถ้าพระภิกษุไปก็เป็น “ตัวละครที่แปลกประหลาด” ทำให้ฝรั่งหันมาสนใจธรรมและการปฏิบัติของพระไทยมาก
พระพิมลธรรม (อาจ) หมายเลข ➀ ในภาพ ขณะใส่ชุดป้องกันทับจีวรเพื่อลงไปดูเหมืองถ่านหินใต้ดินในเยอรมนี ต่อมาภาพนี้กลายเป็นชนวนให้จอมพลสฤษดิ์นำมาสนับสนุนว่าพระพิมลธรรม (อาจ) ขาดจากความเป็นพระภิกษุแล้ว
การเมืองเรื่องสงฆ์
สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณกมหาเถร) เล่าย้อนหลังเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ๒๑ ปี (ปี ๒๕๑๕) ว่าขณะเกิดเรื่อง ท่านเป็นพระเทพเมธี “พวกเราฝ่ายมหานิกายไม่เห็นด้วย ถ้าจะตั้งสมเด็จพระวันรัต (ปลด) เป็นสังฆนายกน่าจะเหมาะสมกว่า” จึงตกลงใจทำหนังสือคัดค้าน ระบุว่าพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช “กระเทือนใจคณะสงฆ์มหานิกายอย่างสุดวิสัยที่จะสงบนิ่งอยู่ได้”
มีการล่าลายเซ็นพระราชาคณะ เมื่อถึงวัดอรุณฯ ก็ได้รับคำแนะนำว่าหากอยากสำเร็จต้องได้ลายเซ็นพระพิมลธรรม (อาจ) กลุ่มภิกษุมหานิกายจึงไปวัดมหาธาตุฯ
“แต่ท่าน (พระพิมลธรรม) ไม่ยอมเซ็น” ถึงแม้ว่าจะแสดงท่าทีสนับสนุน แต่ให้เหตุผลว่า “จะขอเป็นคนกลางไปพูดถึงความถูกต้องและความเหมาะสมในคณะสังฆมนตรี” เรื่องน่าจะจบด้วยดี แต่ถ้าลงชื่อ “ก็เท่ากับร่วมกลายเป็นโจทก์ไปทันที” ทำให้บทสนทนาร้อนแรงขึ้น “ถ้าท่านสังฆมนตรีไม่ยอมร่วมเซ็นชื่อในครั้งนี้ ก็ขอให้เอาผ้าถุงมานุ่งแทนสบง...” แต่ก็ยังไม่ได้ผล “ในที่สุดพวกเราบางรูปก็ไม่สามารถจะอดทนต่อการนิ่งเฉยของท่านได้ จึงด่าท่านอย่างเจ็บแสบว่า...
“ไอ้ชาติลาวตาขาว”
ผลคือ “ท่านมีอาการข่มความรู้สึกบางประการ...พร้อมทั้งหยิบปากกาเซ็นชื่อด้วยโดยไม่ชักช้า”
เรื่องนี้ใหญ่ถึงขั้นสมเด็จพระสังฆราชบัญชาให้กระทรวงศึกษาธิการเชิญพระฝ่ายธรรมยุตกับมหานิกายมาประชุมตกลงกันที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรฯ จนเกิด “ข้อตกลงตำหนักเพ็ชร ๒๔๙๔” ให้แบ่งการปกครองระหว่างธรรมยุตกับมหานิกาย สังฆมนตรียังบริหารร่วม แต่ในทางปฏิบัติจะแยกตามนิกาย ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
ผลจากเหตุการณ์นี้คือสังฆนายก (จวน) ลาออก และแต่งตั้งสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ขึ้นแทน
ภายหลังพระที่ร่วมก่อการถูกสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ถามว่าลงชื่อหรือไม่ เมื่อทราบว่าลงชื่อจึงกล่าวว่า “เป็นพวกภาคอีสานนี่” ทำให้ทราบทันทีว่าจะมีการ “คิดบัญชีคืน” กับพระพิมลธรรม (อาจ)
สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์) ระบุว่าพอทราบว่าสังฆนายกไม่พอใจเรื่องนี้จึงรีบไปบอกพระพิมลธรรม (อาจ) เป็นเชิงเตือนสติว่าเมื่อถูกมองว่า “เป็นลาว” การจะได้รับการสนับสนุนเรื่องที่กำลังบุกเบิกนั้นเป็นไปได้ยาก จึง “...ควรระมัดระวังตัวด้วย อย่าประมาท”
แต่พระพิมลธรรม (อาจ) ก็ยังคงทำงานต่อไป
ยังมีเหตุที่ท่านฝืนมติสังฆมนตรีที่รับลูกเรื่องห้ามคอมมิวนิสต์อุปสมบทจากรัฐบาลหลังออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยคณะสังฆมนตรีภายใต้การนำของสมเด็จพระวันรัต (ปลด) มีมติให้พระพิมลธรรม (อาจ) รับเรื่องไปดำเนินการโดยที่ท่านไม่ได้เข้าร่วมประชุม
พระพิมลธรรม (อาจ) จึงถ่วงเรื่องเอาไว้จนเริ่มมีข่าวในทางลบ ในที่สุดพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ที่คุมกำลังตำรวจเข้าพบ ท่านให้คำตอบว่า
“พระสงฆ์นั้นไม่มีโอกาสจะล่วงรู้เรื่องของชาวบ้านได้ตลอด ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่เป็น ทั้งไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการให้มีเจ้าหน้าที่สอดส่อง...”
ดังนั้นทางที่จะทำได้คือ “ถ้าทางฝ่ายบ้านเมืองจะออกบัตรประจำตัวประชาชนรับรองว่าคนนั้นคนนี้ไม่เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว คณะสงฆ์ก็จะได้ถือบัตรของฝ่ายบ้านเมืองเป็นหลักฐาน”
เมื่อเผ่าบอกว่ารัฐบาลไม่น่าจะทำได้ ท่านจึงถามว่า “แล้วพระสงฆ์จะรับรองได้อย่างไร” จากนั้นชี้แจงว่าปัญหาตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้คนปฏิบัติตามหลักศาสนา และว่าการสอนธรรมะให้คอมมิวนิสต์ได้บุญ เพราะจะทำให้คนไม่เลื่อมใสศาสนาหันมาเลื่อมใสศาสนา
หลักฐานไทยหลายเล่มกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อจอมพล ป. ได้รับรายงานก็พอใจ จึงกล่าวชมพระพิมลธรรม (อาจ) โดยบอกว่า “ต่อไปนี้เรื่องพระสงฆ์จะดำเนินการอะไร อย่างใด ก็สุดแต่ท่านจะทำกันเถิด”
ความสัมพันธ์ระหว่างจอมพล ป. กับพระพิมลธรรม (อาจ) ในช่วงกึ่งพุทธกาลยังดูราบรื่น นิวัตน์ แก้วเกิดเดน อดีตประธานมูลนิธิสงเคราะห์สงฆ์อีสาน เขียนไว้ว่า การสร้างพุทธมณฑลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษของรัฐบาลจอมพล ป. พระพิมลธรรม (อาจ) ก็มีส่วนเสนอเรื่องด้วยซ้ำ
แต่แท้จริงแล้ว จอมพล ป. ไม่พอใจพระพิมลธรรม (อาจ)
รายงานของ ฟิลิป เอเซลร็อด (Philip Axelrod) เจ้าหน้าที่ของสถานทูตอเมริกาในปี ๒๕๐๐ ระบุว่า การต่อต้านเรื่องนี้ทำให้พระพิมลธรรม (อาจ) เป็น “คนหัวแข็ง” และในทางเทคนิค “สนับสนุนคอมมิวนิสต์” ในสายตาของรัฐ และจอมพล ป. นี่เองที่เสนอว่าควรเริ่ม “ขั้นตอนถอดถอนพระพิมลธรรม (อาจ) จากอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ”
เพียงแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน ๒๕๐๐ ขึ้นเสียก่อน
ยูจีน ฟอร์ด ระบุว่า องค์กรสงฆ์ไทยพิเศษตรงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการตกเป็นอาณานิคมเหมือนพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่ทำให้การเมืองกับพระสงฆ์กลายเป็น “เรื่องปรกติ” และ “ยังไม่นับว่าเป็นอนุรักษนิยม ระแวงอิทธิพลและความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก...สนใจเรื่องตัวเอง ชาตินิยมล้นเกิน...”
การที่พระพิมลธรรม (อาจ) ออกไปเผยแผ่ศาสนาในเวทีนานาชาติ ส่งพระภิกษุไปเรียนต่อต่างประเทศสัมพันธ์กับคณะสงฆ์พม่า ทั้งหมดย่อมเป็นสิ่งผิดปรกติในวงการสงฆ์ไทย
จึงเป็นเรื่อง “แทบเลี่ยงไม่ได้” ที่จะมีผู้คิดทำลายพระพิมลธรรม (อาจ)
ศึกสมเด็จ
เค้าลางปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับพระพิมลธรรม (อาจ) ปรากฏขึ้นชัดเจนตั้งแต่กลางปี ๒๕๐๒ ในยุครัฐบาลทหาร (คณะปฏิวัติ) ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์
๑ สิงหาคม ๒๕๐๒ สมเด็จพระวันรัต (ปลด) สังฆนายก มีลิขิตถึงพระพิมลธรรม (อาจ) ต่อว่าเรื่องความไม่เรียบร้อยของวัดมหาธาตุฯ การมีอุบาสิกาปะปนกับพระในวิหารคดการกั้นห้อง ตำหนิการที่พระลูกวัดขาดการลงอุโบสถกว่าครึ่งวัด รวมถึงตำหนิงานด้านปกครองที่อยุธยาโดยมีถ้อยคำรุนแรงว่า “มีทิฏฐิวิปลาสไปหรือ”
ที่สำคัญคือกล่าวเสนอให้ “เจ้าคุณหลีกทางลาออกจากคณะสังฆมนตรีเสีย ก็จะเป็นที่เบาใจของผม”
พระพิมลธรรม (อาจ) เขียนภายหลังว่ากรณีวิหารคดนั้น “ไม่มีมานานแล้ว” ส่วนที่กั้นห้องก็ทำในวิหารที่ว่าง กรณีอุบาสิกาก็ไม่เป็นจริง โดยหลายเรื่องก็เตรียมตอบชี้แจงไว้ แต่สังฆนายกก็นิ่ง
อย่างไรก็ตามท่านไม่ได้ลาออก ทั้งยังเผยภายหลังว่าสังฆนายกเคยเสนอแลกตำแหน่งว่าการองค์การศึกษากับตำแหน่งว่าการองค์การปกครองที่ท่านครองอยู่ ด้วยมองว่า “มีอำนาจอภินิหารมาก...ใคร่จะดำรงตำแหน่งนี้มานานแล้ว”
พอถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๓ สมเด็จพระวันรัต (ปลด) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชฯ มีการตั้งสังฆมนตรีชุดใหม่ที่มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) เป็นสังฆนายก ในครั้งนี้ไม่ปรากฏชื่อพระพิมลธรรม (อาจ) ในคณะสังฆมนตรีอีก เกิดเสียงเล่าลือจนทำให้สังฆนายกองค์ใหม่แถลงว่าสังฆมนตรีนี้มิใช่ “ตำแหน่งผูกขาด” และ “สมควรจะได้มีการผลัดเปลี่ยนตัวผู้จะเป็นสังฆมนตรีผู้บริหารการคณะสงฆ์เสียบ้าง” (คำแถลงการณ์ของคณะสงฆ์ เรื่องการแต่งตั้งสังฆมนตรี, ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓)
ยูจีนระบุว่าเรื่องนี้มีการประสานกันระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ที่ต้องการสกัดพระพิมลธรรม (อาจ) ไม่ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสังฆนายก
พระพิมลธรรม (อาจ) ในวัย ๕๗ ปี เหมือนรู้สถานการณ์ดี เขียนถึงระยะนี้ว่า “...นโยบายที่จะกำจัดข้าพเจ้าให้พ้นจากตำแหน่ง จากสมณเพศ...ยังมีฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ดำเนินการ...ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม”
ทั้งยังมีพระภิกษุบางรูปมาบอกว่าสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ตั้งพระทัยว่า “จะทำให้พระพิมลธรรมเป็นมหาอาจ แล้วจะทำพระมหาอาจให้เป็นนายอาจในที่สุด”
ช่วงเดียวกันยังปรากฏ “ใบปลิวเถื่อน” จั่วหัวว่า “แถลงการณ์คณะมหานิกาย” โจมตีสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) และสังฆนายก พาดพิงไปถึงกรณีเมื่อปี ๒๔๙๔ แล้วระบุว่า มหานิกายนั้นมีวัดมากกว่า แต่ “ก็เป็นขี้ข้าธรรมยุต ธรรมยุตกดหัวเล่น” กรณีฝ่ายธรรมยุตครองทั้งตำแหน่งสังฆราชและสังฆนายก กรณีความขัดแย้งที่เจ้าคุณวัดสามพระยาซึ่งเป็นมหานิกายไปร่วมกับฝ่ายธรรมยุต เรียกร้องให้ชุมนุมในวันพระราชทานเครื่องยศสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) และร่วมมือกันขับสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) และคณะสังฆมนตรีออกจากตำแหน่งแล้วตั้งใหม่ โดยลงนามในใบปลิวว่า “คณะมหานิกาย”
ทางการแสดงท่าทีสงสัยวัดมหาธาตุฯ ชัดเจน ส่งตำรวจเข้ามาที่วัด ผลคือมีการจับกุมพระลูกวัดสามรูป แล้วตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์ พอถึงต้นเดือนกันยายน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) สังฆนายก ทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ว่าสันติบาลนำพยานกรณีพระพิมลธรรม (อาจ) “เสพเมถุนทางเวจมรรค และทำอัชฌาจารปล่อยสุกกะ” มารับรองต่อกรรมการสงฆ์ พระพิมลธรรม (อาจ) จึง “ต้องศีลวิบัติ ขาดจากความเป็นภิกษุแล้ว”
พระพิมลธรรม (อาจ) เล่าว่า “โดยไม่คิดไม่ฝัน” เมื่อมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ลงวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๐๓ มาถึงโดยมีข้อแนะนำว่า “...ออกเสียจากสมณเพศและหลบหายตัวไปเสีย” กำหนดให้ปฏิบัติใน ๑๕ วัน
ท่านไม่ปฏิบัติตาม แต่ทำหนังสือยืนยันความบริสุทธิ์ ทูลเหตุผลว่าถ้าทำ
“...จักไม่เป็นผลดีแก่วัดและพระศาสนาส่วนรวม...เสียหายแก่ส่วนตัวอย่างไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง”
ขอให้ดำเนินขั้นตอนตามพระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ สอบสวนตามสังฆาณัติ (กฎหมายที่ออกโดยสังฆสภา) และให้คณะวินัยธร (ศาลพระ) ตัดสิน
ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ๒๕๐๓ การต่อสู้ทางเอกสารของพระพิมลธรรม (อาจ) กับสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) และคณะสังฆมนตรีดำเนินไปอย่างร้อนแรง มีความเคลื่อนไหวของพระเณรในวัดมหาธาตุฯ ที่ลงชื่อถึง ๔๖๕ รูป กราบทูลฯ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) และเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรม
แต่จอมพลสฤษดิ์ให้ข่าวว่าที่รัฐบาลเงียบเนื่องจาก “เป็นเรื่องความลับคับอก” และเกรงว่าจะโดนกล่าวหาว่ายุ่งเรื่องพระ (สารเสรี, ๓๐ กันยายน ๒๕๐๓) ก่อนที่ต่อมาจะนำภาพพระพิมลธรรม (อาจ) ขณะสวมชุดลงไปดูเหมืองถ่านหินในเยอรมนีแสดงต่อสื่อมวลชน และกล่าวชี้นำว่าน่าจะสิ้นจากความเป็นพระภิกษุแล้ว
ในที่สุดสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) ก็ปลดพระพิมลธรรม (อาจ) จากตำแหน่งเจ้าอาวาสด้วยข้อหา “ประพฤติชั่วร้ายแรง” (๒๔ ตุลาคม ๒๕๐๓) ตามมาด้วยพระบรมราชโองการถอดสมณศักดิ์ด้วยเหตุ “ขัดพระบัญชา” สมเด็จพระสังฆราช (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๓) แม้จะมีหนังสือขอความเป็นธรรมถึงผู้เกี่ยวข้อง คือ จอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ทรงดำรงตำแหน่งระหว่างในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จประพาสต่างประเทศ) แล้วก็ตาม
พระพิมลธรรม (อาจ) จึงกลายเป็น “หลวงตาอาจ” หรือ “พระมหาอาจ อาสโภ” ทันที
พระพิมลธรรม (อาจ) หลังถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาคอมมิวนิสต์และโดนบังคับสึก อย่างไรก็ตามเจ้าตัวยังคงปฏิญาณตนเป็นพระสงฆ์นุ่งขาวห่มขาวและปฏิบัติตนตามแบบพระภิกษุทุกอย่างขณะอยู่ใน “สันติปาลาราม” (ห้องขังของตำรวจสันติบาล)
สู่ “ห้องขังสันติบาล”
หลังเหตุการณ์ วันพระ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๓ ที่วัดมหาธาตุฯ อดีตพระพิมลธรรม (อาจ) ได้แสดงธรรมในหัวข้อโลกธรรมสูตร โดยช่วงหนึ่งได้ขอให้บรรพชิตและคฤหัสถ์อย่าฝืนพระบรมราชโองการ ทั้งยังกล่าวความในใจว่า “...เสียใจอยู่ในส่วนที่ตนได้เป็นผู้ทำให้บรรดาชาววัดมหาธาตุทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้รับความเสียอกเสียใจ...” และหวังว่า “...จะได้รับอภัยจากชาววัดมหาธาตุฯ ด้วยเมตตาธรรมโดยทั่วกัน”
จากนั้นจึงใช้กรณีของตนเป็นตัวอย่างในการแสดงธรรมเรื่องความไม่เที่ยง และเรียกร้องให้ยอมรับพระเทพสุธี รักษาการเจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อ “...ประคับประคองซึ่งกันและกันฉันพี่น้อง...” โดยสนับสนุนเจ้าอาวาสองค์ใหม่ว่า “เมื่อเป็นอาจารย์ของอาตมาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นอาจารย์ของท่านทั้งหลายด้วย”
หลวงตาอาจยังหันไปพึ่งศาลยุติธรรมฆราวาส ยื่นฟ้องพยานที่ให้การตำรวจสันติบาล จนเดือนธันวาคม ๒๕๐๓ หนึ่งในผู้ต้องหาคือ วีรยุทธ์ วัฒนานุสรณ์ แถลงว่าได้ “กราบขอขมาโทษและขออโหสิกรรมแด่พระเดชพระคุณท่านต่อหน้าศาลแล้ว จึงขอโฆษณา ณ ที่นี้ว่าพระเดชพระคุณ พระอาจ อาสโภ มิได้เคยประพฤติล่วงละเมิดสิกขาบทเป็นศีลวิบัติ ดังที่ข้าพเจ้าต้องกล่าวใส่ร้ายพระเดชพระคุณท่านแต่ประการใด”
แต่ทางคณะสังฆมนตรีก็มิได้ดำเนินการใด ๆ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงใหม่ที่ปรากฏขึ้น
ตลอดปี ๒๕๐๔ หลวงตาอาจยังคงปฏิบัติหน้าที่เหมือนภาวะก่อนเกิดเรื่อง คือช่วยงานที่ มจร และงานอื่นของวัดมหาธาตุฯ ตามปรกติ แต่ความสงบนี้ก็หมดสิ้นไปเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน ๒๕๐๕
หลวงตาอาจเขียนเล่าเหตุการณ์ว่า ในวันที่ ๒๐ เมษายน หลังฉันเพล มีตำรวจชั้นนายพันมายื่นหมายจับข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ในขณะเดียวกันก็มีนายตำรวจระดับต่าง ๆ ห้อมล้อมกุฏิข้าพเจ้าชนิดที่ไม่มีช่องว่างจะหลบหนีได้เลย เขาสร้างสถานการณ์ขึ้นให้ข้าพเจ้าเป็นนักการเมืองชั้นหัวกะทิหรือโจรชั้นเสือ”
เมื่ออ่านหมายจับ หลวงตาอาจอธิบายภายหลังว่ารู้สึกสบายใจที่จะได้แก้ข้อหาตามกระบวนการเสียที ด้วยที่ผ่านมาเหมือนโดนสาดโคลน “...ไม่รู้ตัวแล้วไม่ยอมล้าง ปล่อยให้ข่าวอกุศลระบือกระพือพัดไปทั่วทิศานุทิศ...” ทั้งยังมองว่าการใช้กำลังขนาดนี้เป็นการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” และทราบด้วยว่าจอมพลสฤษดิ์ “มาบัญชาการจับอยู่ด้านสนามหลวงหรือหน้าวัดมหาธาตุฯ...นึกขบขันหัวเราะในใจและน่าสงสารจริง ๆ”
มีข้อมูลว่ารอบวัดมี “รถวิทยุของกองปราบพิเศษและของสารวัตรทหารบกร่วม ๒๐ คัน นายร้อย นายสิบ พลตำรวจ ทหาร เกือบ ๑๐๐ คน...ผู้คนต่างตกตะลึง บ้างก็ร้องไห้สลดใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
“ธีรชน” เขียนใน ชัยชนะพระพิมลธรรม ว่ามีตำรวจสี่นายแสดงอาการเกรี้ยวกราดตลอดเวลา หลวงตาอาจขอเวลา
เจ้าหน้าที่เขียนข้อสั่งการต่าง ๆ จากนั้นไปกราบลาพระบรมสารีริกธาตุในพระมณฑป พระประธานในอุโบสถ และลารักษาการณ์เจ้าอาวาส “โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปควบคุมอยู่ตลอดเวลา” จากนั้นหลวงตาอาจถูกนำตัวไปสันติบาล ส่วนการค้นกุฏินั้นดำเนินต่อไปจนถึง ๓ ทุ่ม
ตกค่ำ กรมตำรวจแถลงการณ์ทางวิทยุว่า พระอาจดื้อดึงต่อคำสั่งคณะสงฆ์หลายกรณี กล่าวเสียดสีองค์สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) สังฆนายก “ตลอดจนฝ่ายบริหารอย่างมิหยุดยั้ง” ทั้งยัง “แจกจ่ายใบปลิวกล่าวร้ายพระเถระชั้นผู้ใหญ่และคณะสงฆ์ไทย” ยุยงให้เกิดความแตกแยกในคณะสงฆ์อันเป็นพฤติกรรมคอมมิวนิสต์ มีการติดต่อกับองค์กรบังหน้าของคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศและมีหลักฐานว่าประพฤติผิดทางกาม
พลตำรวจเอก เอื้อ เอมะปาน หนึ่งในชุดจับกุม เขียนถึง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) สังฆนายก ว่า “ท่านผู้บังคับการสันติบาล ได้รับบัญชาทางวาจาจาก ฯพณฯ นายก ให้ทำการสึกในวันนี้ (๒๐ เมษายน) จึงเรียนพระเดชพระคุณท่านได้จัดการตามความประสงค์ด้วย”
สังฆนายกจึงมอบอำนาจให้สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง คือพระธรรมวโรดม (ทรัพย์ โฆสโก) วัดสังเวชวิศยาราม แทงเรื่องขอให้พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดพระนคร วัดสามพระยา กับพระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว ฐิติวีโร) วัดไตรมิตรวิทยาราม
ไปสึกหลวงตาอาจที่ถูกขังอยู่ในตึกสันติบาลกอง ๔ ทันที
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ช่วงที่พระพิมลธรรม (อาจ) ถูกจับกุม ๒๑ เมษายน ๒๕๑๓
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สันติปาลาราม
หลวงตาอาจเล่าว่า ในคืนนั้นเอง ที่สโมสรตำรวจสันติบาลอันเป็นที่คุมขัง
“...เขาบังคับจับให้สึก วิธีบังคับให้สึกก็ขู่ ปลอบแล้วก็ขู่ ในที่สุดก็ต้องต่อรองกันว่า ถ้าจะบังคับให้ข้าพเจ้าสึก ฆ่าข้าพเจ้าสิ อย่ามาพูดให้เสียเวลา แต่เขาก็ไม่ยอมฆ่า”
และเปรียบว่า “การสึกพระสงฆ์นั้น เป็นโทษขั้นอุกฤษฏ์เหมือนถูกประหารชีวิตทั้งเป็น ดังนั้นถ้าจะต้องให้สึก ก็สมควรที่จะรอกาลเวลาให้มีหลักฐานเพียงพอเสียก่อน...เมื่อไม่มีความผิดแล้วบวชใหม่ก็ได้ ข้อนี้ผู้พูดไม่นึกถึงตัวเองก็พูดได้ง่าย เหมือนกับพูดว่า ให้เขาฆ่าตายเสียก็เป็นไร จะกลัวทำไม เกิดใหม่เอาก็แล้วกัน...”
ด้วยจุดยืนนี้ หลวงตาอาจขอให้ภิกษุทั้งสองที่จะมาสึก ช่วยส่งหนังสือร้องเรียนไปที่สังฆนายกเสียก่อน พระธรรมคุณาภรณ์และพระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว) หายไปพักหนึ่ง ก็กลับมาพร้อมกับคำตอบจากสังฆนายกว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องอาญา ไม่ใช่เรื่องพระวินัย” อ้างว่าคณะสงฆ์ต้องทำตามกฎหมายบ้านเมือง “การให้สละเพศบรรพชิตไม่ใช่การประหารชีวิต แต่การห้ามบวชนั่นแหละจึงนับเป็นการประหารชีวิต” ปฏิเสธการขอต่อสู้คดีในสมณเพศ ซึ่งหลวงตาอาจมองว่ามิได้ขัดขวางการดำเนินคดีแต่อย่างใด
ตอนนั้นเองที่หลวงตาอาจรู้สึกว่าเจ้าคณะจังหวัดพระนครและสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
“เป็นเสมือนโพธิหรือไทรในฤดูแล้ง ใบร่วงหล่นหมด แม้กิ่งก้านก็เหี่ยวหด”
ถึงจะยืนยันว่า “ไม่มีข้อบัญญัติให้พระสึกทำนองนี้และด้วยวิธีนี้ในกฎหมายฉบับใดเลย แม้รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจเช่นกัน ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติไว้” และบอกว่าตั้งใจแข็งขืนโดยรู้ผลอยู่แล้วเพื่อ “เป็นแบบฉบับและเพื่ออนุชน” ภิกษุเหล่านี้ก็ไม่นำพา
ในหนังสือขอความเป็นธรรมฉบับที่ ๒ ที่หลวงตาอาจเขียนขึ้น ตอนหนึ่งจึงระบุว่า
“...จะขอยอมเอาชีวิตบูชาพระรัตนตรัยตลอดไปจนถึงที่สุด ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดลุอำนาจเข้ามาแย่งผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากร่างกายกระผมแล้วไซร้ กระผมจะถือว่าท่านผู้นั้นแย่งชิงเอาโดยผิดศีลธรรม และกระผมจะยังปฏิญาณตนเป็นพระภิกษุในศาสนาอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าจะมีผู้มีใจโหดร้ายทารุณแย่งผ้ากาสาวพัสตร์ของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย...”
และขอให้พระทั้งสองรูปนั้น “โปรดทราบและเป็นสักขีพยาน”
พระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว) จึงปลอบว่า “ขอให้ปฏิบัติตามด้วยดีเยี่ยงนักปราชญ์เหมือนอย่างที่เจ้าคุณใหญ่เคยปฏิบัติมาแล้ว เอาไปสู้คดีดาบหน้า...” หลวงตาอาจจึงตอบกลับว่า “...การสั่งที่ไม่ชอบทั้งกฎหมายและวินัยเช่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะหย่อนระดับจิตลงมาหาได้ จะทำได้ก็แต่เพียงว่าผมจะไม่ขัดขวางป้องกันอย่างไร ในเมื่อมีผู้กล้าเข้ามาปลดเปลื้องผ้าเหลืองออกจากผม”
พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัด จึงยกมือไหว้แล้วกล่าวว่า “ผมขอผ้าเหลืองก็แล้วกัน” แล้วเริ่มถอดจีวรส่วนบน ส่วนพระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว) ก็กราบที่ตักแล้วถอดส่วน
ล่าง “ผมก็นั่งอยู่บนเก้าอี้นวมนั้นเอง ในท่าขัดสมาธิ หลับตา
มือนับลูกประคำ ใจเจริญพระพุทธคุณ ๑๐๘ ปล่อยให้ผู้มีอำนาจทำตามอำนาจ...
“ผมพูดว่าไม่ต้องสวมกางเกงในขณะที่เขาแสดงว่าจะสวมกางเกงให้ เขาเลยเพียงแต่เอาผ้าอาบน้ำลายขาวดำนุ่งให้ เสื้อก็มิได้สวม คือเขาทำเพื่อให้ผ้าเหลืองออกจากตัว เพื่อให้โอกาสแก่ตำรวจเท่านั้น”
ตอนนั้นเป็นเวลา ๐๑.๔๕ น.
“เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปบังคับให้ผมสวมกางเกง เมื่อไม่สวม เขาคนหนึ่งก็ฉุดกระชากตัวผมขึ้นยืน ด้วยกิริยาทารุณเหี้ยมโหด แล้วคนหนึ่งก็สวมกางเกงให้ เขาบังคับให้คาดเข็มขัดและสวมเสื้อโดยพูดว่าผิดวัฒนธรรม ผมก็บอกว่า จะมาเอาวัฒนธรรมอะไรกับนักโทษเล่า ในที่สุดผมก็นุ่งกางเกง เหน็บลูกดุมพอไม่ให้หลุด เอาผ้าเฉียงบ่า สะพายย่าม สวมรองเท้าพระ มือหนึ่งถือร่ม มีเจ้าหน้าที่เดินนำและเดินควบคุมไปส่งที่ห้องขัง”
ง ๑ หลัง หมอนเล็ก ๒ ใบอยู่ในห้อง ซึ่งเป็นของไปจากกุฏิเราเอง แต่น่าทุเรศอยู่มาก เพราะไม่เคยกางมุ้งเองนานแล้ว ครั้นถึงคราวเข้าบ้างเลยกางไม่ได้ เพราะที่ผูกก็ไม่มี...เราขอสรงน้ำ เขาบอกว่าดึกแล้ว น้ำไม่มี เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเสร็จธุระของเขาแล้ว ก็ออกจากห้อง ปิดประตูใส่กุญแจ คงเหลือแต่เราอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย”
รุ่งขึ้นจึงได้ข้าวของสำหรับดำรงชีวิตเพิ่มเติม ของที่จะเข้ามาในห้องขังนั้น “ต้องขออนุมัติจากผู้ใหญ่แทบทุกอย่าง” โดยตำรวจชั้นผู้น้อยที่ดูแล “แสดงตนเหมือนลูกศิษย์ และเรียกหลวงพ่อทั้งนั้น แต่เขาก็ช่วยได้เท่าที่เขามีอำนาจ” ก่อนจะได้เครื่องใช้สอยตามควรจนห้องขังมีสภาพ “คล้าย ๆ กุฏิสมภารบ้านนอก” (โดยปรกตินักโทษการเมืองจะได้รับการดูแลดีกว่านักโทษอื่น ๆ)
จดหมายจากลาดยาว ของนักโทษการเมืองนาม “ศิวะ รณชิต” ระบุว่า หลวงตาอาจถูกจับสึกที่ห้องขังสันติบาลกอง ๔ พร้อมพระสงฆ์อีกสองรูป คือ พระมหามนัส จิตฺตทโม (มนัส พวงลำเจียก) และพระมหานคร เขมปาลี (นคร พยุงญาติ) ที่เดินทางไปร่วมงานพุทธศาสนิกสัมพันธ์ที่ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนจะกลับมาถูกข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่ทั้งสามถือว่าตนมิได้ผิดจึงยัง
“พร้อมใจกันนุ่งขาวห่มขาว คงปฏิบัติตนอยู่ในพระวินัยเยี่ยงสงฆ์ทั่วไป ตำรวจส่งมหามนัสกับมหานครมาเข้าลาดยาว คงขังเจ้าคุณใหญ่...ไว้แต่ผู้เดียวที่สันติบาล” นับแต่นั้นหลวงตาอาจก็อธิษฐานว่าคุกสันติบาลคือ “สันติปาลาราม”
อ่านต่อ ภาค 3 และ "พระกบฏ" ในอดีต