Image
เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓
คดี “พระพิมลธรรม”
ภาค ๑
scoop
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
Image
๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๙
หลังการอ่านคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพเสร็จสิ้นไม่นาน ที่สนามหญ้าหน้าศาลทหารฯ ในกระทรวงกลาโหมปรากฏพระภิกษุรูปหนึ่งที่มีฝูงชนจำนวนมากมาห้อมล้อมอนุโมทนาสาธุแสดงความยินดี กราบไหว้ บ้างก็จับและลูบชายผ้าเหลืองนั้นด้วยความซาบซึ้ง

พระภิกษุรูปนั้นเพิ่งกลับมาใส่ผ้าเหลือง จากนั้นก็ปรากฏข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “พระมหาอาจ อาสโภ” อดีต “พระพิมลธรรม” กลับคืนสู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ลงอุโบสถกับภิกษุสามเณร เปล่งเสียงสาธุการรับรองความบริสุทธิ์ยืนยันว่าความเป็นสงฆ์มิได้ถูกพรากไปตลอด ๕ ปีที่ถูกขังในคุก

คนจำนวนมากน้ำตาซึม เพราะเป็นเวลายาวนานเกือบ ๕ ปีที่ภิกษุรูปนี้ถูกยัดเยียดสารพัดข้อหา ตั้งแต่ปฐมปาราชิกกระด้างกระเดื่องต่อสมเด็จพระสังฆราช อยู่เบื้องหลังใบปลิวเถื่อนโจมตีคณะสงฆ์ ไปจน “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ที่คนทั้งสังคมยุคกึ่งพุทธกาลรู้กันดีว่าเป็นโทษประหารชีวิตโดยนัย

กระทั่งพยานที่ขึ้นให้การในชั้นศาลก็กล่าวว่า สิ่งที่จำเลยต้องรับ ไม่ว่าจะถูกปลดจากเจ้าอาวาส ถอดสมณศักดิ์ โดนจับกุม คุมขัง บังคับให้สึก “นับว่ารุนแรงที่สุดสำหรับพระเถระผู้ใหญ่ที่ปวงชนเคารพนับถือ”

แต่จริงหรือที่เป็นเคราะห์กรรม กรรมเก่า จริงหรือที่เป็นแค่การ “สร้างบาปกรรม” ของคนมีกิเลสดังที่ศาลทหารกรุงเทพในยุคนั้นสรุปเอาไว้ ดูเหมือนผู้ที่ทราบดีที่สุดคือ “พระมหาอาจ อาสโภ” หนึ่งใน พส. (พระสงฆ์) ผู้ครองสมณศักดิ์ “พระพิมลธรรม” ที่โด่งดังที่สุดรูปหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เพียงแต่เรื่องราวของพระภิกษุรูปนี้ถูกซ่อนไว้ในประวัติศาสตร์

เป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ
Image
บ้านในภาพเป็นส่วนหนึ่งของ “คุ้มดวงมาลา” พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของบ้านโยมพ่อโยมแม่พระพิมลธรรม (อาจ)
“เณรหัวขี้กลาก”
จากภาคอีสาน

ย้อนไป ๖๓ ปีที่แล้ว ก่อนเหตุการณ์ที่ศาลทหารกรุงเทพ
ในหมู่บ้านริมลำน้ำชี ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๙ กิโลเมตร เด็กชายคำตา ดวงมาลา ถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ เมษายน ๒๔๔๖ ที่หมู่ ๙ ตำบลบ้านโต้น เมืองขอนแก่น เป็นบุตรคนรองจากทั้งหมดหกคน
ของครอบครัวดวงมาลาที่มีอาชีพเกษตรกร

บ้านโต้นเป็นหมู่บ้านห่างไกล มีประมาณ ๔๐๐ หลังคาเรือน อยู่ห่างจากเมืองหลวงร่วม ๕๐๐ กิโลเมตร การเดินทางไปบ้านโต้นสมัยนั้นทำได้ทางเดียวคือใช้เกวียน หรือเรือล่องไปตามลำน้ำชีแล้วเดินเท้าต่อเข้าตัวหมู่บ้าน  ปัจจุบันถ้ามาจากกรุงเทพฯ ต้องใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) จากนั้นเลี้ยวซ้ายก่อนถึงตัวอำเภอเมืองขอนแก่นเข้าถนนสองเลนที่ทอดยาวผ่านลำน้ำชีเข้าถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำ หรือถ้ามาจากตัวเมืองขอนแก่นจะใช้เวลา ๒๐ นาทีบนถนนสายเดียวกัน

ทุกวันนี้อาชีพหลักของคนบ้านโต้นส่วนหนึ่งไม่ต่างจากสมัยก่อน คือเป็นเกษตรกร (ทำนา ทำไร่) และจำนวนหลังคาเรือนก็ใกล้เคียงกับสมัยที่คำตาถือกำเนิดเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีที่แล้ว เด็กชายคำตาวิ่งเล่นในหมู่บ้านนี้ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “อาจ” หนังสือที่เขียนถึงประวัติคำตาทุกเล่มยืนยันตรงกันว่าเขาเข้าเรียน “หนังสือไทย” (ภาษาไทยภาคกลาง) ที่วัดศรีจันทร์ วัดประจำหมู่บ้าน จน “พออ่านออกเขียนได้แบบโรงเรียนวัดสมัยนั้น ทำเลขบวก ลบ คูณ หาร ได้ ดีดลูกคิดเป็น”

ในปี ๒๕๖๔ ผมพบว่าโบสถ์วัดศรีจันทร์ตั้งอยู่ที่เดิมคือบริเวณทางใต้ของหมู่บ้าน กลายเป็นโบราณสถานที่ทำหน้าที่เป็น “หอพระ” ของตำบลบ้านโต้น ด้านทิศเหนือมีลานอเนกประสงค์กว้างขวางเป็นที่ติดตลาดนัด และที่มุมหนึ่งของลาน เทศบาลตำบลบ้านโต้นสร้างอาคารเป็นที่ทำการชั่วคราว

วัดศรีจันทร์ถูกยกเลิกไปในปี ๒๕๐๙ โดยมีการสร้างวัดใหม่คือ “วัดศรีพิมล” ทำหน้าที่วัดประจำบ้านโต้นแทน แต่โบสถ์นี้ก็ยังคงมีผู้แวะเวียนมากราบพระประธานและชมใบเสมาโบราณเสมอ

ย้อนกลับไปในปี ๒๔๕๙ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม เด็กชายอาจวัย ๑๔ ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่อุโบสถนี้ จากนั้นก็เรียน “หนังสือธรรมแบบอักษรภาคอีสาน จารด้วยใบลาน” ควบคู่ ไปกับหนังสือภาษาไทยกลางจน “รู้อักษรอีสาน ภาษาอีสานพอแสดงธรรมได้...รู้ภาษาไทย เลข และลูกคิด พอสอนนักเรียนแทนอาจารย์ได้”

ในยุคนั้น ในดินแดนที่ห่างไกลอย่างภาคอีสาน โอกาสทางการศึกษาที่ดีที่สุดคือวัด

สามเณรอาจใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ ในปี ๒๔๖๑ เข้าร่วมการอบรมสามเณรและภิกษุเพื่อสอนในโรงเรียนประชาบาลและสอบได้ที่ ๔ จากพระเณรที่เข้าอบรม ๑๖๐ รูปเศษ ได้วุฒิเทียบเท่า ม.ศ. ๕ ของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) จนถูกชวนให้สึกเพื่อมาทำงานเป็นครูอย่างจริงจัง แต่เณรอาจตัดสินใจอยู่ในเพศบรรพชิตต่อและไปเป็นครูที่โรงเรียนวัดกลางเมืองเก่า เมืองขอนแก่น ได้รับนิตยภัต (เงินเดือน) เดือนละ ๖ บาท แล้วลาออกในปี ๒๔๖๓ เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาวิชาภาษาบาลีและพุทธศาสนา

การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในสมัยนั้นก็ไม่ง่าย เนื่องจากยังไม่มีถนน เณรอาจต้องเดินเท้ากับพระสงฆ์สองรูป เณรหนึ่งรูป ไปกับ “หมู่เกวียนข้าราชการผู้พิพากษาคนหนึ่งชื่อนายเซีย” เก้าคืนจึงถึงนครราชสีมา จากนั้นจึงต่อรถไฟเข้ามายังหัวลำโพง โดยเณรอาจเล่าว่าตนเป็น “เณรหัวขี้กลาก มาจากภาคอีสาน” มีเงิน ๑๓๓ บาทจากญาติโยมที่เรี่ยไรให้ อย่างไรก็ตามก็ต้องเปลี่ยนแผน จากเดิมตั้งใจไปอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารที่พระเจ้าคณะเมืองขอนแก่นฝากให้ กลับต้องย้ายไปวัดชนะสงครามย่านบางลำพูแทน ด้วยตอนนั้นวัดบวรฯ มีพระเณรมาพักจนเต็ม จากนั้นจึงไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุฯ ย่านท่าพระจันทร์

จนปีต่อมาพระธรรมไตรโลกาจารย์ (เฮง เขมจารีมหาเถร) อธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) วัดมหาธาตุฯ (องค์ที่ ๑๔) ก็รับเณรอาจประจำกุฏิในคณะ ๒ ของวัด (ระบบการแบ่งพื้นที่กุฏิในวัด คณะหนึ่งเทียบได้กับหนึ่งหมู่บ้าน) ให้คอยอุปัฏฐากและถือเป็นลูกศิษย์รูปหนึ่ง ที่นี่เองเณรอาจได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี ๒๔๖๖
Image
วัดศรีจันทร์ในปี ๒๕๖๔
ใน อนุสรณ์ ๑๐๐ ปี ชาตกาล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)ฯ เล่าว่า ยุคนั้นในวงการสงฆ์ วัดมหาธาตุฯ “เป็นสำนักเรียนใหญ่ มีชื่อเสียง” เมื่อพระอาจเรียนจบนักธรรมเอกในปี ๒๔๗๒ (เปรียญธรรม ๘ ประโยค) ก็ได้ฉายา “พระมหาอาจ อาสโภ” โดยเริ่มทำหน้าที่สอนหนังสือให้พระเณรอื่นตั้งแต่ปี ๒๔๖๘

ช่วงนี้เองพระมหาอาจตั้งเป้าว่าจะวางพื้นฐาน “การปฏิบัติ” ทางพุทธศาสนาให้สังคมไทยอันเนื่องมาจากเห็นว่า “...วัดมหาธาตุและประเทศไทยยังขาดพระปฏิบัติศาสนา [‘ปริยัติ’ คือเรียนพระไตรปิฎก ศึกษาพระธรรมวินัย ถือเป็นภาคทฤษฎี (คันถธุระ) ส่วน ‘ปฏิบัติ’ คือฝึกกรรมฐานเพื่อระงับกิเลสตามหลักธรรม (วิปัสสนาธุระ) จากนั้นจะเกิด ‘ปฏิเวธ’ คือผลจากการปฏิบัติ] และพระปฏิเวธศาสนาอยู่ ถ้าข้าพเจ้าได้โอกาสเมื่อไร จักพยายามปลูกฝังพระปฏิบัติศาสนาขึ้นในประเทศให้จงได้...”

พระมหาอาจเพียรสอบเปรียญธรรม ๙ อยู่ ๓ ปี แต่ไม่ผ่านแต่ระหว่างนั้นได้รับเลือกเป็นพระธรรมทูตไปเผยแผ่ศาสนาใน ชัยนาท สระบุรี แห่งละ ๓ เดือน ระหว่างปี ๒๔๗๓-๒๔๗๔ พระมหาอาจออกพื้นที่ขึ้นเทศน์จนเจ้าคณะจังหวัดชัยนาทเวลานั้นชมว่าเดินสายชนิดที่ “ไม่ต้องพัก...แต่ท่านมหาก็เทศน์ได้อย่างสนุกสนานร่าเริง ไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียให้ปรากฏแม้แต่น้อย ทั้งที่การเดินทางไปแต่ละแห่งก็ลำบาก”

ช่วงนี้เองที่พระมหาอาจเริ่มเข้าสู่ “วงการเมืองสงฆ์” เป็นครั้งแรก เมื่อพระอาจารย์ (เฮง เขมจารีมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ ที่มีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลอยุธยา โทรเลขตามตัวมหาอาจให้ไปร่วมงานวิสาขบูชาที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๗๕

ในงาน ข้าหลวงมณฑลกรุงเก่านมัสการถามสมเด็จเฮง ว่าได้คัดพระภิกษุมาฟื้นฟูงานปกครองและการศึกษาของคณะสงฆ์อยุธยาหรือยัง เพราะ “กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเร่งรัดเกล้ากระผมอยู่ตลอดเวลา” สมเด็จเฮงจึงออกชื่อพระมหาอาจและว่า “จะส่งมาก่อนเข้าพรรษานี้”

เมื่อกลับไปถึงวัดมหาธาตุฯ พระอาจารย์ก็ให้มหาอาจเลือกพระสี่รูปไปช่วยงาน

ในยุคนั้นวัดสุวรรณดารารามเป็นวัดสำคัญ ด้วยเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี ว่ากันว่าพระอัยกาของรัชกาลที่ ๑ สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังมีจิตรกรรมเกี่ยวกับศึกยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในพระอุโบสถ แต่ที่ผ่านมาหาพระมหาเปรียญธรรมไปประจำได้ยาก” สมเด็จเฮงเคยทาบทามพระไปหลายรูปในวัดมหาธาตุฯ ก็ “ไม่มีใครยอมไป”

ด้วยพระที่อยุธยาขึ้นชื่อเรื่องความหัวแข็ง “ถือตัวจัดว่าเป็นชาวกรุงเก่า ไม่ยอมก้มหัวให้ใครง่าย ๆ”

แต่พระมหาอาจปวารณาตัวว่าส่งไปที่ไหนก็ไปทั้งสิ้น โดยบันทึกว่า แม้จะลำบาก แต่พระอาจารย์ก็กรุณาไปส่งเขาถึงอยุธยาโดยทางรถไฟ ถือเป็นลูกศิษย์รายเดียวที่อาจารย์ไปส่งถึงที่ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามหน้าใหม่

พระอาจารย์จึงต้อง “ตัดไม้ข่มนาม” ไปส่งให้พระลูกวัดเกรง เพราะเจ้าคณะมณฑลอยุธยามาเอง
Image
ส่วนหนึ่งของขบวนแห่ในงานฉลองชาตกาล ๑๑๘ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) ที่ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เป็นกลุ่มญาติของสายตระกูลดวงมาลา
“มหาอาจ” ที่กรุงเก่า
แม้จะเป็นรองเจ้าอาวาส แต่แรงกดดันจากการเป็น “คนนอก” มีมาก พุทธทาสภิกขุระบุว่าทีมของพระมหาอาจที่สมเด็จเฮงส่งไปนั้น “เป็นชุดที่หนุ่มมาก ให้ทำงานบริหารในวงแคบแล้วค่อย ๆ กว้างออกไป...”

แสวง อุดมศรี เขียนเล่าใน ศึกสมเด็จ ว่ามหาอาจถูก “ลองดี” อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะโดนเอาของขว้างกุฏิช่วงกลางคืนจนไม่ได้จำวัด บางทีหนักถึงขั้น “เอาอุจจาระมาลอยไว้” ในโอ่งน้ำเพื่อกลั่นแกล้ง ยังมีคำพูดจากภิกษุในวัดให้ได้ยินว่า “ดูข้าต่างด้าว ท้าวต่างแดนซิ...เดินยังกะพระราชา...มีหน้ามาปกครองพวกเรา”

พระมหาอาจเขียนว่าช่วงนั้น “แม้จะมีอุปสรรคมาผจญบ้างก็ไม่เก็บมาคิดให้เสียสมอง...สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองเป็นลูกหนี้ ฉันข้าวปลาอาหารของญาติโยมชาวกรุงเก่าหมดไปไม่รู้เท่าไร”

เมื่อเทียบเวลาที่มหาอาจไปประจำอยุธยากับเหตุการณ์บ้านเมือง จะพบว่าเป็นช่วงสุกดิบของเหตุการณ์ปี ๒๔๗๕ โดยพระมหาอาจไปประจำได้เดือนเดียว คณะราษฎรก็ทำการอภิวัฒน์ในกรุงเทพฯ

ตอนนั้นอยุธยาถือว่าวุ่นวายพอสมควร ด้วยต่อมาในปี ๒๔๗๖ เกิดกบฏบวรเดช มีการสู้รบตามทางรถไฟสายเหนือระหว่างกองกำลังรัฐบาลกับคณะเจ้าที่พยายามโต้การอภิวัฒน์ เมื่อสถานการณ์เริ่มนิ่ง คณะราษฎรคุมอำนาจได้ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเมื่อว่างราชการก็จะกลับมาเยี่ยมบ้านที่อยุธยาเสมอ พระมหาอาจจึง “รู้จักมักคุ้นกันมาแต่ครั้งนั้น” และ “ได้ตระกูลพนมยงค์นี้เป็นที่พึ่งพาที่อาศัยตระกูลหนึ่ง”

ที่สำคัญคือมหาอาจเชื่อว่าศาสนาพุทธในไทย “โดยมากนับถือกันโดยทางทฤษฎี หรือนับถือกันเพียงขั้นปริยัติ” จึงไม่ “สร้างคน” ด้วยเหตุนี้ “จึงมีคนชั่วคนทุจริตเต็มบ้านเต็มเมือง” (ยุคต่อมา พระมหาอาจบันทึกว่าเมื่อเห็นประเทศที่ถึงแม้ไม่ได้นับถือพุทธก็ไม่มีโจรกรรม ท่านก็ “กระดากละอายใจ” กับสิ่งที่สังคมไทยเป็น แต่ท่านก็ยังคงยืนยันหลักการเรื่องนี้) เมื่อได้คุยกับปรีดีก็มีทัศนะตรงกันว่าการสร้างชาตินั้นต้องสร้าง “คน” ด้วย

ยิ่งทำให้แนวคิดการวางพื้นฐานด้าน “ปฏิบัติ” ของพุทธศาสนาในสังคมไทยมั่นคงขึ้น  ในการสนทนาครั้งหนึ่ง ปรีดีกล่าวกับมหาอาจว่า “ใต้เท้ามีกิฟต์ (gift-พรสวรรค์) อยู่ จะต้องไปดูงานในต่างประเทศให้ได้”

ในช่วงนี้มหาอาจก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นเจ้าคณะตำบลสำเภาล่มและได้รับสมณศักดิ์พระศรีสุธรรมมุนี (ปี ๒๔๗๗) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม (ปี ๒๔๗๘) รองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา (ปี ๒๔๘๒)

ยิ่งเมื่อรัฐบาลที่มีคณะราษฎรเป็นแกนนำประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ พระมหาอาจก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสังฆสภา ฝ่ายนิติบัญญัติที่คล้ายกับรัฐสภาในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของทางฆราวาสที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นชุดแรก

ในปี ๒๔๘๖ ยังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค ๔ ดูแลคณะสงฆ์ภาคพายัพ (ภาคเหนือ) ช่วงกลางปี เจ้าคุณหนุ่มยังได้เข้าร่วมงานกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา รับเป็นหัวหน้า “คณะกรรมการส่งเสริมและปรับปรุงการพระพุทธศาสนาภาคพายัพ พุทธศักราช ๒๔๘๖” ที่จัดตั้งขึ้นตามคำขอของพลเอก ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ที่นำกองทัพเดินผ่านภาคเหนือและเข้าไปยังรัฐฉานของพม่าตามคำขอของญี่ปุ่นที่ไทยเข้าร่วมรบด้วยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นปี ๒๔๘๕ (ขณะที่ปรีดีไม่เห็นด้วยกับจอมพล ป. และจัดตั้งขบวนการเสรีไทยร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร)

พลเอกผินพบว่ามีวัดร้างมาก พระพุทธศาสนาภาคเหนือยัง “...ไม่อาจเป็นนาถะที่พึ่งทางจิตใจ และช่วยในด้านบำรุง ‘ขวัญของประชาชน’ และ ‘จิตใจของชนในชาติ’ ได้ ในยามบ้านเมืองมีสงคราม...” ยังมี “สปาย (สายลับ) แนวที่ ๕” บริเวณชายแดน จึงขอให้ดำเนินงานด้านศาสนานอกจากการทหารด้วย

พระมหาบุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ (ต่อมาคือพระสุเมธาธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ ลำดับที่ ๑๙) เล่าใน งานชิ้นหนึ่งในชีวิตท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ว่า คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยพระสงฆ์ ๒๐ รูป นำโดยพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ-ชาวบ้านนิยมเรียก “เจ้าคุณใหญ่”) มีอนุศาสนาจารย์กองทัพและเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาจำนวนหนึ่ง โดยมองว่านี่คือ “การปฏิบัติงานทางศาสนา เพื่อชาติบ้านเมืองครั้งใหญ่ที่สำคัญยิ่ง ซึ่งไม่เคยมีปฏิบัติทำนองเช่นนี้มาก่อน”
Image
พระศรีสุธรรมมุนี (อาจ) เจ้าอาวาส วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙
พระมหาบุญเลิศบันทึกว่าคณะกรรมการฯ เดินทางด้วยรถไฟไปลำปาง ไปต่อที่เชียงราย แพร่ น่าน ลำพูน และเชียงใหม่ใช้เวลา ๗๒ วันทำงาน  ที่ลำปางมีการเรียกรวมผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ จากทุกพื้นที่ของเจ็ดจังหวัดมาประชุมร่วมกันเพื่อเตรียมการ โดยพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ) แถลงว่าจะส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ “...จุดอ่อนข้อบกพร่องก็ควรที่จะได้รับการปรับปรุง...”

ยังมีการกำหนด “สมบัติเบื้องต้นของชาวพุทธ” เก้าประการ เช่น “ฝึกการกราบไหว้แบบเบญจางคประดิษฐ์ ให้ถูกต้อง” มารยาทไทย การถวายของพระ การอาราธนาศีล ฯลฯ  น่าสนใจว่า ถึงแม้เชิงนโยบายจะเป็นมุมมองแบบกรุงเทพฯ แต่ก็มีการแก้ไขบางเรื่อง (ที่คนยุคปัจจุบันมองว่าก้าวหน้า) เช่น สตรีสามารถประเคนของถวายพระภิกษุได้ด้วยการ “ใช้ผ้ากราบทอดวาง” ให้สตรีเข้าเขตพัทธสีมา (โบสถ์) ได้

จากเดิมที่เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามตามประเพณีของคนภาคเหนือ โดยพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ) มองว่าที่ผ่านมา “ถือกันอย่างผิด ๆ” จนทำให้สตรีเสียโอกาสในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาไปไม่น้อย

ส่วนปัญหาแนวที่ ๕ จะใช้ศาสนาเข้าถึงประชาชน พระศรีสุธรรมมุนี (อาจ) เน้นว่า “เราคือเลือดไทย สายเดียวกัน” และส่งกรรมการส่งเสริมฯ ไปประจำทุกอำเภอ ปฏิบัติงานหน่วยละ ๙-๑๒ วัน มีการตรวจเยี่ยมจากกองอำนวยการกลาง ดังนั้นเมื่อพระผู้ใหญ่ลงพื้นที่ก็เกิด “งานบุญงานทานที่เอิกเกริก” ในแต่ละท้องถิ่นขึ้น

พระมหาบุญเลิศระบุว่า ความตรากตรำยังทำให้ต้องใช้เปลหามพระสามรูปขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ และยังเคยถูกทิ้งระเบิดระหว่างเดินทางถึงสองครั้ง แต่ก็แคล้วคลาดมาได้ เมื่อถึงกรุงเทพฯ พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) สังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา ถามพระศรีสุธรรมมุนี (อาจ) ว่าทำอย่างไรในการจัดการคณะสงฆ์ภาคเหนือ ด้วยมองว่า “พระภาคพายัพนั้น ฉันอาหารตอนเย็นเป็นอาจิณ ดูจะไม่ใช่พระแล้ว”

พระศรีสุธรรมมุนี (อาจ) ชี้แจงวิธีการ ก่อนจะตบท้ายทีเล่นทีจริงว่า “พระสงฆ์ในภาคอื่นที่บวชมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ จะมีสักครั้งไหมที่เผลอพูดคำเท็จออกไป หากมีก็ถือว่าเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ราคาก็ดูจะพอ ๆ กัน”

เท่าที่มีหลักฐาน นี่เป็นการ “วิวาทะ” ครั้งแรกของเจ้าคุณใหญ่ พระหนุ่มไฟแรงกับเจ้าคุณปลด

หลังสงครามชีวิตเจ้าคุณอาจยังคงรุ่งโรจน์ เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา (ปี ๒๔๘๘) เลื่อนสมณศักดิ์ ๒ ปีติดต่อกัน คือเป็นพระเทพเวที (ปี ๒๔๘๙) พระธรรมไตรโลกาจารย์ (ปี ๒๔๙๐)

ในระหว่างนี้พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) ยังไม่ทิ้งความมุ่งหมายในใจเรื่องวางพื้นฐานด้านปฏิบัติศาสนา ทดลองตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดแก้ว อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปี ๒๔๘๖) เชิญพระที่เชี่ยวชาญมาสอน แต่พระรูปนั้น “ฝีมือไม่ถึงขนาด” สุดท้ายงานก็ชะงักเพราะ “หาพระอาจารย์สอนมิได้”

นอกจากนี้ยังกลับมาช่วยพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ องค์ที่ ๑๕ ฟื้นฟู “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)” ที่วางรากฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ยังไม่ได้รับการสานต่อ

ดอกเตอร์สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตนักการเมือง นักการเงิน ซึ่งในสมัยสงครามโลกหลบการทิ้งระเบิดไปปลูกบ้านอยู่กลางทุ่งนาย่านพระโขนง (ชานพระนครสมัยนั้น) เล่าว่าพบกับพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) ในเย็นวันหนึ่ง โดยพระทั้งสองรูปเดินทางผ่านเส้นทางที่ค่อนข้างลำบากเข้าไปหาถึงที่บ้าน ท่านจึงสนับสนุนเต็มที่
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) (กลางภาพ) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม ถ่ายเมื่อปี ๒๔๙๐ กับคณะสงฆ์ 
กลับสู่ “บ้านธาตุ” 
และโหมโรง “ศึกสมเด็จ”

ในปี ๒๕๖๔ หากใครไปเยือนวัดมหาธาตุฯ จะพบว่าวัดนี้เป็นพระอารามหลวงสำคัญแห่งหนึ่งที่ส่วนมากคนรุ่นใหม่จะไม่รู้จัก เพราะเดินผ่านท่าพระจันทร์แล้วก็มักจะตรงเข้าไปในตลาดและกลุ่มของร้านค้าสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นบริเวณริมน้ำในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ยิ่งในยุคปัจจุบัน ตลาดท่าพระจันทร์โรยราจากการจัดระเบียบบาทวิถี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เหลือนักศึกษาแค่โครงการพิเศษ ปริญญาโทและปริญญาเอกเพราะย้ายนักศึกษาปริญญาตรีทั้งหมดไปวิทยาเขตรังสิตรอบวัดมหาธาตุฯ ก็ยิ่งเงียบเหงาภายในวัดมหาธาตุฯ ถึงแม้ว่าตึกสูงสามชั้นหลังคาทรงไทยของ มจร ยังอยู่ แต่การย้ายพระนักศึกษา มจร ส่วนมากไปเรียนที่วิทยาเขตวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ทำให้ที่นี่เงียบเหงาลงไปมาก ผมเดินเข้าไปจากประตูฝั่งใกล้ท่าพระจันทร์ก็พบว่าเมื่อเดินตรงเข้าไปจะพบกับ “ลานอโศก” กว้างราวสามสนามแบดมินตันซึ่งถูกแปรสภาพเป็นลานจอดรถ (เดิมลานนี้คล้ายกับลานกิจกรรมของ มจร) ถัดจากลานอโศกคือส่วนอุโบสถที่มีระเบียงแล่นล้อมรอบ ข้างอุโบสถยังมีอาคารที่น่าจะทำหน้าที่วิหารอีกสองหลัง ที่มุมด้านทิศอีสานมีพระปรางค์สีขาวตั้งอยู่ภายในอุโบสถค่อนข้างเงียบเหงา มีอุบาสกอุบาสิกาไม่กี่คนทำสมาธิอยู่อย่างสงบต่อหน้าพระประธานทางด้านทิศใต้ของอุโบสถคือ “คณะ” ต่าง ๆ อันเป็นกุฏิที่จำวัดของพระภิกษุและสามเณรวัดมหาธาตุฯ ซึ่งจัดไว้อย่างเป็นสัดส่วน โดย “คณะ ๑” คือพื้นที่กุฏิของอธิบดีสงฆ์และที่ทำการสำคัญทางการปกครองของวัดในฐานะศูนย์กลางของมหานิกาย

ในปี ๒๔๙๑ บริเวณนี้คงเต็มไปด้วยพระภิกษุสามเณรที่มีความกังวล ด้วยหลังพระพิมลธรรม (ช้อย) อธิบดีสงฆ์องค์ที่ ๑๕ มรณภาพ คณะสงฆ์ในวัดต้องปรึกษาหารือกันเพื่อหาผู้รับภาระดูแลวัดมหาธาตุฯ ที่มีสานุศิษย์มากมาย มีการระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรรมการสภามจร ปรากฏว่ามีข้อเสนอจากพระชลธารมุนี (ชอบ อนุจารีมหาเถร) วัดราษฎร์บำรุง เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ว่าควรให้พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) กลับมารับตำแหน่ง เพื่อไม่ให้วัดมหาธาตุฯ เสื่อมโทรมจนชาวพระนครกลับไปเรียกว่า “บ้านธาตุ” (คือไม่มีสภาพเป็นวัด) เหมือนในอดีตอีก  

แม้จะมีเสียงสนับสนุนไม่น้อย แต่ก็มีเสียงต่อต้าน 

แสวงเขียนใน ศึกสมเด็จ ว่า “พลันก็มีเสียงซุบซิบในเชิงไม่เห็นด้วยจากพระเถระบางรูป ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกวัดมหาธาตุฯ พร้อมทั้งได้ดำเนินการแบบคลื่นใต้น้ำเพื่อสกัดกั้น”  อาการแรกคือเมื่อทัดทานไม่ได้ พระปริยัติโศภณ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มจร และพระวิเชียรโมลี เลขา มจร ลาออกจากตำแหน่ง “โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ”

วัดมหาธาตุฯ ยังถือเป็นศูนย์กลางของพระสงฆ์มหานิกาย การมรณภาพของอธิบดีสงฆ์องค์ที่ ๑๖ ยังทำให้ตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองว่างลง และศึกชิงตำแหน่งนี้ก็เริ่มขึ้นทันที

พระปริยัติโศภณ (ฟื้น) สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาไปกล่าวปาฐกถา “กลไกการปกครองคณะสงฆ์” ว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ควรเป็นสมเด็จพระวันรัต (ปลด) วัดเบญจมบพิตร  ส่วนพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) “เป็นคนอ่อน” ไม่ควรรับตำแหน่ง “เพราะอาจถูกธรรมยุตครอบงำได้ง่าย ควรเลื่อนขึ้นมาเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษาจะเหมาะสมกว่า”

แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ สถานการณ์ก็พลิก เมื่อพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) กลับมาครองวัดมหาธาตุฯ ผลคือได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ พระปริยัติโศภณ (ฟื้น) ลาออกจากตำแหน่งในคณะสังฆมนตรี แม้ว่าพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) กับพระชลธารมุนี (ชอบ) จะไปพบเพื่อขอให้ระงับด้วยเห็นว่าพระมหานิกายเพิ่งจะมีส่วนในการบริหารคณะสงฆ์ได้ไม่นาน “อ้อนวอนกันจนดึกดื่นเที่ยงคืน แต่พระปริยัติโศภณก็ไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจ”
Image
ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ องค์ที่ ๑๖
คำตอบของพระปริยัติโสภณ (ฟื้น) คือ “ให้คิดแต่เพียงว่าเลือดก้อนหนึ่งมันตกทะเลไปก็แล้วกัน”

เมื่อต้องจากอยุธยา ศึกสมเด็จ บรรยายการลาวัดสุวรรณดารารามของเจ้าคุณใหญ่ไว้ว่า มีชาวกรุงเก่าทั้งบรรพชิตและฆราวาสมาส่งที่ท่าน้ำหน้าวัดมากมายเป็นประวัติการณ์

เจ้าคุณใหญ่ได้กล่าวลาชาวอยุธยาไว้ว่า เมื่อมาที่นี่ก็มาเพียง “หัวใจและสังขารที่ห่อหุ้มด้วยผ้าเพียงสามผืน...เมื่อถึงคราวจะไปก็จะขอไปแบบตัวเปล่า ขอเพียงผ้าสามผืนที่ห่มติดตัวอยู่ขณะนี้กับข้าวปลาอาหารบางส่วนของชาวกรุงเก่าที่ฉันมาเป็นเวลาถึง ๑๖ ปี จนกลายเป็นเลือดและเนื้อไปแล้ว”

ส่วนที่เหลือ “ขอมอบคืนให้เป็นสมบัติของชาวกรุงเก่าหมดไม่เอาไปแม้แต่ชิ้นเดียว”

จากนั้นเรือของพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) ล่องตามลำน้ำเจ้าพระยามาหยุดที่ท่าช้างวังหลวง กรุงเทพฯ ที่ “พระสงฆ์และประชาชนรออยู่คับคั่ง” พระเลขาธิการ มจร ขณะนั้นใช้โทรโข่งประกาศต้อนรับในนามของ มจร ด้วยการกลับมารับตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ ยังทำให้เจ้าคุณใหญ่เป็นนายกสภา มจร โดยตำแหน่ง
“ความรุ่งโรจน์” 
และ “ความขัดแย้ง” 
ในทศวรรษ ๒๔๙๐

ปี ๒๔๙๒ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ “พระพิมลธรรม” อันเป็นรองพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ เมื่อรวมกับตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง พระพิมลธรรม (อาจ) ในวัย ๔๖ ปี ถือว่าเป็นดาวรุ่งของวงการสงฆ์ไทยที่โดดเด่นมากในทศวรรษ ๒๔๙๐

แต่เมื่อมาถึงตอนนี้เหตุการณ์ทางการเมืองของฝั่งฆราวาสเปลี่ยนไปมาก จอมพล ป. กลับสู่อำนาจอีกครั้งหลังเกิดรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลที่คณะราษฎรสายพลเรือนของปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐  ตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงช่วงกึ่งพุทธกาล จอมพล ป. ต้องเผชิญกับความพยายามทำรัฐประหารซ้อนหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกบฏเสนาธิการ (ปี ๒๔๙๑), กบฏวังหลวง (ปี ๒๔๙๒), กบฏแมนฮัตตัน (ปี ๒๔๙๔)

นอกประเทศ โลกอยู่ในภาวะสงครามเย็น เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายโลกเสรี (นำโดยสหรัฐอเมริกา) กับโลกคอมมิวนิสต์ (นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน) บรรยากาศการเมืองเช่นนี้รวมถึง “การเมืองในคณะสงฆ์” จึงส่งผลกับงานของพระพิมลธรรม (อาจ) อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ทศวรรษ ๒๔๙๐ พระพิมลธรรม (อาจ) ยังคงรักษาเจตนาสร้างสำนักวิปัสสนา พัฒนาการเรียนพระปริยัติธรรมอย่างเหนียวแน่น โดยอาราธนาพระภาวนาภิรามเถร วัดระฆังโฆสิตาราม มาสอนที่วัดมหาธาตุฯ กระทั่งผู้สอนยังกล่าวว่า ในแง่ปฏิบัติ “...หยิบไม่ถึงคว้าไม่ถูกสักที” เรื่องนี้จึงยังเป็นทางตัน

ปีใหม่ ๒๔๙๒ แล้วได้สนทนากับ ฯพณฯ อูละหม่อง เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยที่ไปร่วมงาน พระพิมลธรรม (อาจ) จึงเห็นหนทางเปิดขึ้น 

พระพิมลธรรม (อาจ) ขอพระพม่าที่ทรงความรู้มาสอนพระอภิธรรมและวิปัสสนา ทั้งยังขอพระไตรปิฎกภาษาบาลีรวมถึงคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง คือ อรรถกถา ฎีกา เข้ามาในไทย ผลคือนอกจากส่งสมณทูตนำพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ มาให้ (ปี ๒๔๙๓) พม่ายังส่งพระภิกษุชั้นธัมมาจริยะมาช่วยสอนด้านปริยัติและปฏิบัติ (วิปัสสนา) ถึงสองชุด 

ชุดแรก คือ สัทธัมมโชติกะ และเตชินทะ สอนพระอภิธรรม (เข้ามาในปี ๒๔๙๒) ชุดที่ ๒ คือ พระอาสภเถระ และพระอินทวังสะ (เข้ามาปี ๒๔๙๕)  ที่สำคัญคืออาราธนาคณะสงฆ์ไทยไปร่วมฉัฏฐสังคายนา (การชำระพระไตรปิฎกที่พม่า นับเป็นครั้งที่ ๖ ของโลก) ในปี ๒๔๙๙ ที่พม่า

แต่ที่ประชุมสังฆมนตรีของไทยส่วนมากมองว่าพม่าเพิ่งได้เอกราช “คิดใหญ่เกินตัว” มีกระทั่งการเสนอว่าควรส่งคณะสงฆ์ไปเพียงแค่ “สังเกตการณ์” ก็เพียงพอแล้ว

ท่าทีเช่นนี้เข้าใจได้ว่าเกิดจากประเด็นสำคัญคือเหตุการณ์ “กึ่งพุทธกาล” (อายุพระพุทธศาสนาครบ ๒,๕๐๐ ปี) มีผลกับการเมืองภายในประเทศอุษาคเนย์ที่คนส่วนมากนับถือพุทธเถรวาท  กรณีของพม่า (นับปีกึ่งพุทธกาลเร็วกว่าไทย ๑ ปี) อูนุ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษ ให้ความสำคัญ เพราะมีผลทางการเมืองภายใน ขณะที่ทิฐิของฝั่งไทยคือพระเถระส่วนมากมองว่าพุทธในไทยเหนือกว่าและมั่นคงกว่า
พระพิมลธรรม (อาจ) ขณะสนทนากับอูนุ นายกรัฐมนตรีพม่าที่มาเยือนประเทศไทย ในปี ๒๔๙๘
อย่างไรก็ตามผู้นำฝั่งฆราวาสคือจอมพล ป. และคณะรัฐมนตรี ลงมติว่าควรส่งเข้าร่วม เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างสังฆะ แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยอย่างน้อยก็เป็นการเข้าร่วมเชิงรูปธรรม

ผลคือสังฆมนตรี (คณะรัฐมนตรีพระ) “...ไม่มีผู้ใดยอมไป ข้าฯ [พระพิมลธรรม (อาจ)] จึงได้รับเลือกจากที่ประชุม...ให้เป็นหัวหน้าในนามสมเด็จพระสังฆราช...” โดย “ยกให้เป็นภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว”

เมื่อเป็นเช่นนี้พระพิมลธรรม (อาจ) จึงต้องเดินทางไปเมียนมาก่อนปี ๒๔๙๗ เพื่อเตรียมตัวก่อนงานสังคายนาถึง ๓ ครั้ง และในช่วงสังคายนาอีก ๑๒ ครั้ง ระหว่างปี ๒๔๙๗-๒๕๐๒ 

เหตุการณ์เหล่านี้นอกจากทำให้พระพิมลธรรม (อาจ) สร้างสัมพันธ์กับคณะสงฆ์พม่าได้แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ทำตามเจตนารมณ์เรื่องการวางพื้นฐานการปฏิบัติศาสนาในไทย เช่น ปี ๒๔๙๕ เป็นหัวหน้าคณะนำ “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ” (ที่ชำระมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๓) มอบให้คณะสงฆ์พม่า มีโอกาสเห็นการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมของพม่าว่าอยู่ในระดับสูง การเรียนด้านวิปัสสนาก็จริงจังเข้มแข็ง “เป็นล่ำเป็นสัน”

มีครั้งหนึ่งรัฐบาลเมียนมาจัดให้จำวัดที่ “วัดสาสนยิสสา” กรุงย่างกุ้ง พระพิมลธรรม (อาจ) พบว่า พระโสภณมหาเถร (มหาสีสะสยาดอ) เจ้าอาวาส เชี่ยวชาญคันถธุระ (พระไตรปิฎก) จน “...ตั้งกุศลเจตนาไว้ว่า จักส่งพระนักเรียนของเรามาถ่ายทอดเอาแบบปฏิบัติไปฝึกสอนในประเทศไทยให้จงได้” เพื่อกลับมาสอนวิชาอภิธรรมปิฎกที่ยังไม่เคยมีสอนในเมืองไทย

ปี ๒๔๙๕ มีการส่งพระมหาโชดก ญาณสิทธิ (ป.ธ. ๙) พระมหาบำเพ็ญ จนฺทปญฺโญ (ป.ธ. ๕) และสามเณรไสว (ป.ธ. ๕) ที่วัดสาสนยิสสา อีกสองรูปไปเรียนวิปัสสนาธุระที่วัดอัมพวนารามของพระยานิกเถร ที่เคยเป็นสมณทูตเชิญพระไตรปิฎกมาไทย

ไม่นับการส่งพระภิกษุไปเรียนต่อที่อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ท่านยังติดต่อกับสยาจีอูบาคิน (Sayagyi U Ba Khin) ฆราวาสผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนา ผู้ก่อตั้ง International Meditation Centre (IMC) ซึ่งมีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางไปฝึกวิปัสสนาด้วย
สังฆวิวาทะ ๒๔๙๐
แม้แนวคิดจะแหวกแนวเพียงใด แต่งานของพระพิมลธรรม (อาจ) ก็มักถูกขัดขวางและมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้แทรกแซงตลอดเวลา

ที่ชัดที่สุดคือในคราวส่งพระภิกษุศึกษาต่อที่เมียนมาในปี ๒๔๙๕ อธิบดีกรมการศาสนาถึงกับห้าม โดยระบุว่าจอมพล ป. ไม่เห็นด้วย แต่ท่านยืนยัน จนอธิบดีขอว่า “...ไปจริงก็อย่าเอาเปรียญธรรม ๙ ประโยคไป...เพราะประเทศพม่า (ขณะนั้น) เพิ่งได้เอกราชใหม่ ๆ” ถ้านำไปจะ “เป็นการขายหน้าอย่างยิ่ง” ทั้งยังเสนอว่าถ้าจะไปควรลดระดับลงมาเป็นการ “ดูกิจการพระศาสนาอย่างเดียว”  ทั้งนี้สังฆนายก คือสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ก็แสดงท่าทีไม่สนับสนุนชัดเจนเมื่อพระพิมลธรรม (อาจ) นำพระภิกษุที่จะเรียนต่อไปกราบลาก็กล่าวว่า “ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหนการพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว”

พระพิมลธรรม (อาจ) ยังยืนยันเรื่องนี้ว่าเป็นเจตนาส่วนตัวไม่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษาหรือทางราชการ ทั้งยังไปส่งพระภิกษุนักศึกษาด้วยตนเองถึงที่พม่า กล่าวฝากฝังกับเจ้าอาวาสฝ่ายพม่าแต่ละวัดว่า “แม้ใครจะไม่เห็นก็ตาม พม่ากับไทยมีพ่อคนเดียวกันคือพระพุทธเจ้า จึงใคร่ขอแบ่งผลแห่ง

การศึกษาและศาสนาอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไปสู่ประเทศไทยบ้าง เท่าที่ท่านอาจารย์จะแบ่งปันให้” การเดินทางไปพม่าในช่วงแรกก่อนงานสังคายนาจะเริ่มจริง ยังปรากฏว่าคณะสงฆ์จากไทยบางครั้งมีสังฆนายกและสังฆมนตรีไปด้วย แต่ส่วนมากพระเถระเหล่านี้มีปัญหากับวิถีปฏิบัติที่แตกต่างของพม่าเสมอ เช่น

สังฆนายก (ปลด) ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพระพิมลธรรม (อาจ) ไม่บอกผู้หญิงพม่าให้หาเข็มขัดคาด เพราะนุ่งโสร่งแบบห่อพกก็มักต้องยกชายเสื้อเหน็บใหม่จนพระเห็น แต่ท่านตอบว่าจะบอกอย่างไร เพราะ “โยมแม่ของเกล้าฯ เองก็ยังนุ่งผ้าเหน็บห่อพกโดยไม่คาดเข็มขัดมาจนทุกวันนี้”

เรื่องทำนองนี้เกิดบ่อยครั้ง จนครั้งหนึ่งพระพิมลธรรม (อาจ)
ขัดคอพระเถระบนเครื่องบินว่า ตนไปพม่าหลายหน รู้เห็นพอควร “...สิ่งเหล่านี้ที่เมืองไทยก็มีมากมาย ผมจึงไม่อยาก
นำมาด้วย มันหนักเครื่องบิน”

ดังนั้นเมื่องานสังคายนาของพม่าเริ่มขึ้น ด้วยทิฐิเรื่องศาสนาพุทธในไทยเจริญที่สุด ความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำให้ในที่สุด พระพิมลธรรม (อาจ) จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักแต่ผู้เดียว
Image
สมเด็จพระวันรัต (ปลด) 
ส่วนที่วัดมหาธาตุฯ ท่านวิ่งเต้นหาทุนสร้างอาคารเรียนสามชั้นให้พระนักศึกษาของ มจร จนสำเร็จในปี ๒๔๙๘ ถือเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ รูปแรกที่กล้าถม “สระนิพพานาราม” ย้ายหอระฆังเพื่อสร้างอาคาร แม้ญาติโยมจะมีเรื่องเล่าว่ามีเปรตมากินน้ำในสระโบราณนี้ 

ต่อเรื่องนี้ พระพิมลธรรม (อาจ) สยบข่าวลือว่า “จะสร้างมหาวิทยาลัยให้เปรตเรียนด้วย” 

อีกองค์กรหนึ่งจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ มจร ยุคนั้นคือ มูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) ซึ่ง ยูจีน ฟอร์ด (Eugene Ford) ผู้เขียน Cold War Monks : Buddhism and America’s Secret Strategy in Southeast Asia ระบุว่า ได้เงินทุนสนับสนุนจากสำนักข่าวกรองกลางอเมริกัน (CIA) อย่างลับ ๆ มูลนิธินี้สนับสนุน มจร ด้วยการส่งอาจารย์มาสอนและให้เงินทุนผ่านอาจารย์ท่านนี้ อีกทั้งยังรับพระภิกษุไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งไม่แตกต่างกับการสนับสนุนมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เช่นกัน

นอกจากนี้ยังจัดตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานเป็นแผนกในปี ๒๔๙๖ จนมี “พระเถรานุเถระและคณะอุบาสก-อุบาสิกาสมัครเข้ามาปฏิบัติเป็นจำนวนมาก จนเต็มพระวิหารหลวงและเต็มระเบียงพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน ภายใน ๑ ปีก็ผลิตพระเถระขั้นวิปัสสนาจำนวนมาก”

พระสงฆ์ที่ผ่านการศึกษาวิปัสสนาแบบใหม่นี้ถูกส่งไปตั้งวัดป่า (อรัญวาสี) ทั่วประเทศ เมื่อมีโอกาสพระพิมลธรรม (อาจ) ก็ไปทำพิธีเปิดให้อย่างเป็นทางการ  นอกจากนี้ยังเปิดสอนวิปัสสนาในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นที่บางขวาง คลองเปรม และเรือนจำนครปฐม  การเข้าไปสอนวิปัสสนาในคุกนี้เอง ทำให้ท่านรู้จักนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าหลายคนที่ถูกจับในคดี “กบฏสันติภาพ” (ต่อต้านสงครามเกาหลี) เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ (“ศรีบูรพา”) สมัคร บุราวาส นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา เป็นต้น

พระพิมลธรรม (อาจ) เขียนไว้ว่าได้ขยายสำนักวิปัสสนาไปถึง ๔๐๐ แห่ง ผลิตพระวิปัสสนาจารย์หลายร้อยรูป ทำให้งานด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระเต็มบริบูรณ์ เป็นการปลูก “พระปฏิบัติศาสนา” เจริญกรรมฐาน “อย่างถูกต้องตามทัศนะของพระไตรปิฎก” และเป็น “อาหารใจ...สนองคุณแก่อุบาสกอุบาสิกา”

พุทธศาสนิกชนในไทยหลายคนจะนึกออกทันที เมื่อระบุว่าเทคนิคที่นำเข้ามาจากเมียนมาคือการพิจารณาลมหายใจ ใช้จังหวะยุบของท้องว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” (ยุคหลังเรียก “ยุบหนอ พองหนอ”)

การวิปัสสนาแบบนี้ได้รับความนิยมจนพื้นที่อุโบสถวัดมหาธาตุฯ ไม่เพียงพอ ในปี ๒๔๙๖ ทางวัดต้อง “กั้นห้องรอบพระระเบียงอุโบสถและในพระวิหารหลวงขึ้นจนจรดถึงกัน”

เมื่อเข้าพรรษายังมีคนเข้าวัดถึงวันละ ๒,๐๐๐ คน ปักหลักพักค้างอย่างต่ำ ๑,๐๐๐ คนทุกวัน มีการแสดงธรรมทุกวันพระและวันอาทิตย์ เมื่อพระโยมมากเข้าก็เกิด “ตลาดนัด...พ่อค้าแม่ค้ามาขายอาหารกันมาก”

เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับวัดอื่นใดในยุคนั้น

พระพิมลธรรม (อาจ) ยืนยันว่า การสร้างพุทธสัมพันธ์ไทย-เมียนมาเป็นเรื่องที่ “สาวกของพระพุทธเจ้าจะพึงแสวงหาสัจธรรมและความเป็นมิตรร่วมกัน” ขณะที่เจ้าอาวาสวัดเวฬุวนารามของพม่าเปรียบเทียบว่าเมียนมากับศรีลังกามีระยะทางไกล ต้องนั่งเรือไปมาหาสู่กัน แต่ยังมีความสัมพันธ์กันทางพุทธศาสนา

แต่กรณีไทยกับเมียนมาที่ผ่านมา “แผ่นดินใกล้ชิดติดกัน แต่หามีความสัมพันธ์ทางศาสนาต่อกันไม่” 

งานของพระพิมลธรรม (อาจ) จึงย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางศาสนาระหว่างประเทศ อันจะช่วยให้ “ความสัมพันธ์ทางการเมืองเรียบร้อยต่อไปด้วย”

ผลจากการทำงานกับคณะสงฆ์พม่าเรื่องชำระพระไตรปิฎก ทางการเมียนมาจึงถวายสมณศักดิ์ “อัคคมหาบัณฑิต” แด่พระพิมลธรรม (อาจ) ในปี ๒๔๙๗

เป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่ได้รับการยกย่องจากคณะสงฆ์พม่า
อ่านต่อ ภาค 2-3
และ "พระกบฏ" ในอดีต