Image

scoop

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์

ในแง่คำ “พส.” เป็นคำย่อประดิษฐ์ใหม่ซึ่งแพร่หลายในห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในแง่ขององค์ประธานของ พส. “พระสงฆ์” แทบจะไม่ต้องหาคำแปล เพราะรู้กันดีว่าหมายถึงพระภิกษุ นักบวชในพุทธศาสนา ๑ ในพุทธ-บริษัท ๔ (ที่เหลือเพียง ๓ ในเถรวาทแบบไทย) อันประกอบด้วย พระภิกษุ อุบาสก และอุบาสิกา ถือศีล ๒๒๗ ข้อ และ ฯลฯ  

ทว่าคำถามที่สำคัญมากและหลายคนอาจลืมไปคือ “พส.” คือใคร และเรารู้จัก “พส.” กับบริบทแวดล้อมท่านแค่ไหน นอกจากพบท่านตอนทำบุญตักบาตร สวดมนต์ข้ามปี หรือนิมนต์มาขึ้นบ้านใหม่

ในแง่ประวัติศาสตร์ พส. มีความเป็นมายาวนานพอๆ กับอายุของพุทธศาสนา และมาปรากฏในดินแดนที่ต่อมาจะเป็นสยามประเทศราวพุทธศตวรรษที่ ๓ เช่นเดียวกับนักบวชในศาสนาอื่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญควบคู่กับวิวัฒนาการของบ้านเมือง หลักฐานจำพวกพระราชพงศาวดาร พื้นเวียง ฯลฯ ระบุถึง พส. ที่บางครั้งถึงกับมีบทบาทชิงบัลลังก์และปราบดาภิเษกหลายครั้ง หลายหนโดย พส. บางคนกลายเป็น “กบฏ” เสียด้วยซํ้า 

เมื่อเข้าสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎ (วชิร-ญาณภิกขุ ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) ก่อตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” ส่งผลให้ พส. ในสยามแยกเป็นธรรมยุตกับมหานิกาย ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏว่ามิได้ไปด้วยกันได้ดี  พส. ฝ่ายธรรมยุตนอกจากมีวัตรปฏิบัติที่แตกต่างยังมีสิทธิพิเศษกว่า ขณะที่มหานิกายแม้จะมีจำนวนมากกว่า แต่ก็ตกอยู่ในฐานะด้อยกว่า


เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เกิด “ระบบราชการพระ” ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่มหาเถรสมาคมและสมเด็จพระสังฆราชที่แต่งตั้งพระราชาคณะ พระอุปัชฌาย์ และพระสังฆาธิการ (พระที่มีอำนาจปกครอง) ได้ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งก่อให้เกิดความลักลั่นในแง่วัตรปฏิบัติกับพระภิกษุในท้องถิ่น ดังกรณีที่โด่งดังคือคดีครูบาศรีวิชัย 

หลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ใช้ระบบปกครองคณะสงฆ์คล้ายกับการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญในลักษณะกระจายอำนาจและมีแผนรวมสองนิกาย แต่เมื่อคณะราษฎรตกจากเวทีการเมือง คณะสงฆ์กลับไปใช้ระบบรวมอำนาจไว้ที่มหาเถรสมาคมอีกครั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งบังคับใช้มาจนปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขทั้งหมดสี่ครั้ง การแก้ไขในปี ๒๕๖๐ (ครั้งที่ ๓) อำนาจการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
โดยตรงถูกรับการ “ถวายคืน” ไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการแบ่งแยกนิกายยังคงปรากฏอยู่ 

คดีโด่งดังที่สุดของยุคเปลี่ยนผ่านนี้คือ “คดีพระพิมลธรรม” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

จนถึงปัจจุบันประเด็นของ “ตำแหน่งแห่งที่” พส. ว่าควรอยู่ตรงไหน เหนือการเมือง เกี่ยวกับการเมือง หรือว่าแยกส่วนออกไปตามแนวคิด “รัฐโลกวิสัย/รัฐฆราวาส” ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่