Image

เล่นมุก

ธรรมชาติ ทํามาโชว์

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์ 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

คุณค่าของมุกอยู่ที่ตัวหอยและสิ่งแปลกปลอม

แต่เดิมธรรมชาติ “สร้างมุก” จากกรวดหินดินทรายที่เล็ดลอดเข้าเปลือกโดยบังเอิญ

เมื่อเกิดระคายเคืองต่อผิวเนื้อและกำจัดออกไม่ได้ เจ้าหอยจึงสร้างชั้นหินปูนห่อหุ้มสิ่งแปลกปลอมไว้ ซึ่งเป็นสารแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดเดียวกับที่มันใช้สร้างเปลือก นานวันสารเคลือบก็พอกพูนเป็นเม็ดมุก มนุษย์เห็นลักษณะงามจึงเก็บมาทำเครื่องประดับ และกลายเป็นธุรกิจ “เลี้ยงมุก” เพื่อให้พอต่อความต้องการอัญมณีของตลาดโลก

หอยผู้ทำหน้าที่ “ผลิตมุก” ถูกเลี้ยงในฟาร์มที่ควบคุมคุณภาพน้ำและอาหาร สิ่งแปลกปลอมที่ผู้เพาะเลี้ยงจงใจใส่เข้าไปเพื่อให้ถูกเคลือบนิยมใช้ “ลูกปัดกลม” หลากขนาดเพื่อกำหนดรูปร่างและขนาดมุกให้ได้หลายความต้องการ มุกเลี้ยงจึงยังเป็น “มุกจริง” เพียงแต่อาจมีผิวมุกขรุขระต่างกัน

แต่โลกของการ “เล่นมุก” วันนี้ไปไกลกว่านั้นแล้ว

ในกระบวนการผลิตไม่เพียงจัดฉากว่าเลี้ยง โดยซื้อมุกสำเร็จจากพม่า จีน ญี่ปุ่น รวมถึงออสเตรเลียและตาฮีตี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุกน้ำจืดที่เพาะเลี้ยงจากทะเลสาบ จากนั้นแง้มฝาหอยเพื่อ “ยัดเยียดมุก” แล้วปิดฝาด้วยน้ำยาบางชนิดก่อนใส่บรรจุภัณฑ์ส่งขายทั่วโลกโดยอ้างว่าเลี้ยงจากฟาร์มทุกขั้นตอน

ในกระบวนการขายนอกจากสาธิตการแกะฝาหอยให้เห็นขั้นตอนนำเม็ดมุกออกมาสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นของจริง ยังจัดฉาก แสงไฟ ให้ผู้ซื้อรู้สึกว่ามุกแต่ละเม็ดนั้นงามเลอค่าตามเกรดที่มีการคัดขนาด รูปทรง และสีสันตามธรรมชาติ ทั้งสีขาวสว่าง ขาวนวล ขาวอมเหลือง ขาวอมชมพู หรือแม้แต่สีดำเงา (บางรายที่ขายถูกจะใช้การย้อมสี เมื่อแกะฝาหอยเม็ดมุกที่ได้จึงกลายเป็นสีสันแฟนซีที่ทิ้งคราบสีติดมือ !)

เลยเถิดไปถึงการ “เตรียมมุก” โฆษณาให้ผู้ซื้อร่วมเสี่ยงดวงว่าหอยที่นำไปแกะฝาเองนั้นจะได้มุกสีอะไร ลักษณะกลม-รี ขนาดเท่าไร หรือในหอยหนึ่งตัวเมื่อแกะออกมาอาจโชคดีได้มุกมากกว่าหนึ่งเม็ด หากไม่ได้สักเม็ดก็ให้ถือเป็นความสนุกที่ได้ลุ้นกับความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ?

เราอุดหนุน “มุกกระป๋อง” จากร้านค้าออนไลน์ในราคาไม่กี่สิบบาท ได้ทั้งชุดของขวัญพร้อมสร้อยและจี้ไว้รองรับมุกที่แกะจากหอยเอง คุณค่าของสิ่งตรงหน้าไม่ใช่มุกใน “หอยนางรมน้ำจืด” ซึ่งพบง่ายและราคาถูกอยู่แล้ว

แต่อยู่ที่ตอนแกะ-ลุ้นผลงานของมนุษย์+ธรรมชาติจะออกมาอย่างไร