Image
ภารกิจแก้เลือดชิดให้กวางผา
เชียงดาว
scoop
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

หกโมงเช้าของวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เรามีนัดกับกวางผา

พวกมันตื่นมารออยู่แล้วในกรงขนาดใหญ่ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

“กวางผาที่เกิดในศูนย์เพาะเลี้ยงนี้พออายุ ๑-๓ ปี จะถูกส่งไปพื้นที่ต่างๆ อย่างสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, เขาค้อ, ภูเขียว หรือราชบุรีก็มี ให้ไปขยายพันธุ์ต่อเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา”

อดิสรณ์ กองเพิ่มพูน หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ย้อนจุดเริ่ม

“เมื่อก่อนที่นี่ไม่มีกวางผา เพราะไม่ใช่บทบาทของสถานีเพาะเลี้ยงฯ สัตว์ที่มาได้จากการบริจาคหรือพลัดหลงเข้ามาในพื้นที่ กวางผาตัวแรกที่เรารับเลี้ยงเป็นเพศเมีย เมื่อปี ๒๕๒๘ ตอนฤดูกาลน้ำหลากมันว่ายข้ามแม่น้ำปิงมาแล้วคงพลัดหลง ได้เจอกับเจ้าหน้าที่ตรงหน้าเขื่อนภูมิพลจึงรับมาที่นี่ ส่วนเพศผู้ตัวแรกเป็นของชาวบ้านเลี้ยงไว้แล้วนำมาบริจาค ทั้งคู่จึงเป็นต้นตระกูลของกวางผาทุกตัวที่สถานีฯ นี้”

เขาว่าลูกครอกแรกเป็นเพศผู้สองตัว เพศเมียหนึ่งตัว ภายหลังพ่อพันธุ์ตาย แม่พันธุ์จึงผสมกับลูกของมันต่อ เป็นจุดเริ่มของการขยายพันธุ์ที่มีโอกาสเกิดภาวะเลือดชิดมากถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หากปล่อยให้เป็นอย่างนั้นต่อในรุ่น ๒-๓ ก็คงได้ลูกกวางผาที่ไม่แข็งแรง อาจพิการ หรือพากันตาย

“โชคดีที่ได้เพศผู้หลงมาจากดอยม่อนจองจึงได้เพาะพันธุ์ต่อ สมัยก่อนพื้นที่ดอยกว้างมากเชื่อมต่อกันไปหมดนั่นละครับ มีกวางผาไทย ลาว พม่า ข้ามไปมาเสมอ จากนั้นเราก็ได้มาเพิ่มอีกปีละสองถึงสามตัว”

จนที่นี่กลายเป็นศูนย์เพาะเลี้ยงกวางผาแห่งเดียวในไทย ซึ่งเลี้ยงในพื้นที่ธรรมชาติ และใช้วิธีผสมพันธุ์สัตว์แบบมีระบบแบบแผนที่พิจารณาจากความสัมพันธ์ทางพันธุกรรม

“จะมีการตรวจสอบอัตราเลือดชิดทุกตัวก่อนผสมพันธุ์ โดยมีหลักการอยู่ว่าคู่ที่จะผสมพันธุ์ต้องแสดงอัตราเลือดชิดไม่ถึง ๐.๒๕ ตัวไหนเกินก็จะจับแยกกันไปเลย คู่ไหนที่อยากให้ผสมพันธุ์ก็จะเลี้ยงไว้ในคอกเดียวกันแล้วปล่อยให้มันหาวิธีสนิทสนมกันเอง”

แต่ถึงอย่างนั้นก็คงดีกว่า หากกวางผาที่นี่จะได้จับคู่กับกวางผานอกสายเลือด

จึงร่วมมือกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
Image
แต่ถึงอย่างนั้นก็คงดีกว่า หากกวางผาที่นี่จะได้จับคู่กับกวางผานอกสายเลือด

จึงร่วมมือกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

มีผลสำรวจว่าในบรรดากวางผาไม่ถึง ๓๐๐ ตัวที่กระจายกันอยู่ตามพื้นที่อนุรักษ์ในภาคเหนือนั้นพบมากสุดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวกว่า ๑๐๐ ตัว และเป็นไปได้ว่าอนาคตอาจประสบปัญหาเลือดชิด ด้วยสภาพของดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ปิด ล้อมรอบด้วยหุบเหว กวางผาจึงเหมือนติดเกาะอยู่บนผาสูง ไม่สามารถเดินทางข้ามป่าข้ามดอยไปที่อื่นได้ จึงผสมพันธุ์กันเองอยู่ในพื้นที่

“ที่ผ่านมาศูนย์เพาะเลี้ยงฯ ทำเรื่องการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติหลายชนิด แต่การนำสัตว์ที่เพาะเลี้ยงไปช่วยปรับปรุงสายพันธุ์ให้ที่อื่นยังไม่เคยศึกษา  เราเริ่มต้นศึกษาที่กวางผา คัดเฉพาะรุ่นที่อายุเลี้ยง ๑-๓ ปี เพราะมีโอกาสปรับตัวในพื้นที่ใหม่ง่ายกว่าตัวที่อายุมากแล้ว หวังว่าจะเป็นโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาให้สัตว์ชนิดอื่นด้วย”

เมื่อการศึกษาจำต้องมีเครื่องมือ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” จึงร่วมสนับสนุนการทำงาน

“ก่อนหน้านี้หัวหน้าอดิสรณ์เคยใช้ปลอกคอทั่วไปสวมให้กวางผาเพื่อเก็บข้อมูลตัวที่ได้ปล่อยคืนธรรมชาติ แต่ยังไม่ค่อยได้ผลน่าพอใจ อยากได้แบบที่สามารถส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม จะทำให้ได้ข้อมูลละเอียดมากขึ้น จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษาคณะทำงานในมูลนิธิสืบฯ ทุกคนก็เห็นด้วย”

สำหรับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นโอกาสรำลึกถึงคุณูปการด้านอนุรักษ์สัตว์ป่าและงานวิชาการของ สืบ นาคะเสถียร ซึ่งงานวิจัยชิ้นแรกๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกวางผา (สัญลักษณ์ของมูลนิธิสืบฯ คือกวางผา) ในปี ๒๕๖๒ จึงกำเนิด “โครงการติดตามกวางผา เจตนาที่สืบต่อ : สู่งานรำลึก ๓๐ ปี สืบ นาคะเสถียร” โดยทางมูลนิธิสืบฯ เป็นผู้รับผิดชอบจัดหา “ปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียม” (GPS satellite collars) ให้ใช้ศึกษาพฤติกรรมและติดตามพื้นที่ใช้ประโยชน์ของกวางผาในวันที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 

นับแต่ปรากฏบทความและภาพถ่ายเรื่อง “ตามรอยกวางผาและช้างป่า ดอยม่อนจอง” ในนิตยสาร สารคดี ฉบับพฤศจิกายน ๒๕๓๕ และเรื่อง “ปริศนากวางผา ‘ม้าเทวดาแห่งผาสูง’” ในนิตยสาร สารคดี ฉบับมิถุนายน ๒๕๓๙ รวมถึงหนังสือเล่ม เงาตนบนรอยซาย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดีเมื่อเมษายน ๒๕๔๙ เรื่องราวของกวางผาและชื่อของหม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ ก็ดูจะแยกกันไม่ออก

“โชคดีว่ากวางผาเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตอยู่กลางแจ้ง ไม่เหมือนสัตว์บางชนิดอย่างพวกเสือที่จะอยู่ในถ้ำเป็นหลัก ดาวเทียมจึงน่าจะรับส่งสัญญาณไม่ลำบากนัก อีกอย่างเรามีดาวเทียมราว ๒๐ ตัวได้”

ช่างภาพสัตว์ป่าตลอดกาลตอบคำถามของเราว่ากวางผาตัวนิดเดียวเมื่อเทียบกับพื้นที่ป่า จะถูกจับสัญญาณส่งข้อมูลขึ้นไปถึงดาวเทียมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในป่าก็ไม่มีสถานีรับส่งสัญญาณ อาศัยเพียงคอลลาร์ที่ติดไว้ใต้คอสัตว์

โครงการนี้วางระยะเวลาศึกษาไว้ ๓ ปี เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องของการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม อาจพิจารณาการจับสัญญาณแค่ชั่วโมงละครั้ง แล้วใช้กล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) ร่วมประกอบการบันทึกข้อมูล เมื่อครบกำหนดนำร่องหากเจ้าหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวจะศึกษาต่อก็ต้องเป็นผู้เช่าช่องสัญญาณเอง แต่สามารถนำคอลลาร์เดิมไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่แล้วใช้ต่อได้เลย
“กวางผากลุ่มนี้จึงต่างจากชุดอื่นตรงที่พวกมันไม่ได้ถูกปล่อยเพื่ออิสรภาพ แต่คือการไปทำหน้าที่”

หากเจ้าพวกม้าเทวดาตัวน้อยเข้าใจประโยคที่หม่อมหลวงปริญญากรยกย่อง พวกมันคงภูมิใจ

ทันทีที่ประตูกรงเปิด สัตว์กีบคู่กึ่งเดินกึ่งวิ่งออกจากเนินเขา บ้านของมัน มาตามซอยที่เป็นทางแคบบังคับสู่นอกกรง

เมื่อแต่ละตัวพ้นกรงจะพบทีมสัตวบาลรอต้อนรับเพื่อจับตรวจสุขภาพ ชั่งน้ำหนัก วัดขนาดลำตัว เขา หู หาง ขาหน้า ขาหลัง ฯลฯ และเก็บตัวอย่างเลือดจากเส้นเลือดดำบริเวณคอใส่หลอดเก็บเลือดที่มีสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดค่อยนำไปตรวจค่าทางโลหิตวิทยาอีกที

กวางผาที่ตรวจสุขภาพเสร็จจะได้เข้าไปหมอบรอเพื่อนๆ ในหีบไม้ที่มีลักษณะเป็นลังทึบแสง เจาะรูรอบด้านไว้ด้านละสามรู ถ่ายเทอากาศและให้กวางผาได้เห็นบรรยากาศรอบตัวเพื่อลดความตื่นกลัว ทำเช่นนี้จนครบหกตัว (เพศผู้สองตัว เพศเมียสี่ตัว) จึงยกขึ้นรถกระบะเพื่อออกเดินทางต่อไปยังบ้านใหม่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ใช้เวลาเดินทางต่อเนื่องราว ๗ ชั่วโมง

บ่ายของอีกวัน เป็นเวลาย้ายหมู่กวางผาตาแป๋วที่มักลอบมองลอดรูลังทึบไปส่งยังกรงฝึกขนาด ๑ ไร่ จำนวนสองกรง ที่เตรียมไว้ให้พวกมันได้ปรับตัวในพื้นที่ธรรมชาติ ฝึกหาอาหารกินและทำความคุ้นเคยกับบ้านใหม่เป็นเวลา ๕ เดือน ก่อนปล่อยสู่ผืนป่า

เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวกุลีกุจอนำลำไผ่มาขึงเชือกร้อยรัดเข้ากับลังทำเป็นคานสำหรับช่วยกันหามขึ้นบ่าลังละสองคน แล้วตั้งต้นเดินจาก “หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด)” ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพียงเพราะสภาพพื้นที่ภูเขาหลังฝนค่อนข้างชื้นแฉะจนดินนุ่มลื่น แต่ด้วยรู้ว่าสิ่งมีชีวิตที่ตนกำลังแบกไว้บนบ่ามีความหมายต่อประชากรกวางผาเชียงดาวเพียงใด

เมื่อกวางผาตัวแรกจนตัวสุดท้ายออกจากลังวิ่งสู่กรง หัวใจทุกคนที่ช่วยลุ้นก็พลอยอิ่มเอม

จากนี้เป็นภารกิจของเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวและเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวต้องร่วมกันเก็บข้อมูล-เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของกวางผาน้องใหม่ในกรงฝึกไปก่อน

อีกหลายเดือนข้างหน้า เมื่อปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศมาส่ง ค่อยคัดเลือกกวางผาตัวที่มีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการปรับตัวที่ดีพร้อมออกไปเผชิญชีวิตในป่าร่วมกับเจ้าถิ่น มาสวมปลอกคอเพื่อเปลี่ยนสถานะจาก “สัตว์เลี้ยง” เป็น “สัตว์ป่า” ก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่ยิ่งใหญ่

เป็นภารกิจที่ว่าด้วยการยึดครองพื้นที่หากินและพื้นที่ใช้ประโยชน์ ครอบครองหัวใจเพศตรงข้ามเพื่อขยายจำนวนประชากร และสร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมให้กวางผาเชียงดาว

แม้สัตว์ก็คือสัตว์ แต่กวางผาบางตัวเกิดมาเพื่อเป็นมากกว่า มีฐานะดั่ง “ผู้ช่วยนักวิจัย”
ผู้ทำหน้าที่ปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงบางสิ่ง และเป็นผู้บันทึกเรื่องราวมากมายตลอดชีวิต  
หมายเหตุ :
ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๔) มีการปล่อยกวางผาจำนวนสามตัว เพศผู้สองตัว และเพศเมียหนึ่งตัว สู่พื้นที่ป่าธรรมชาติแล้ว

ขอขอบคุณ : 

ผู้ประสานงานโครงการ
เกศรินทร์ เจริญรักษ์ 
เจ้าหน้าที่กิจกรรมพิเศษ 
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร