Image

ภาพ : เพียงตะวัน พุทธา

อย่าลืมเชียงดาว
เมื่อคราว ๒๕๖๒

scoop

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

วันนั้น...

ผู้คนในบ้านเมืองกำลังตื่นเรื่อง PM 2.5 โดยมีชนวนเหตุสำคัญคือเปลวเพลิงผลาญป่าทำลายปอดของประเทศ และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังต้องดับไฟโดยขาดแคลนอุปกรณ์ปกป้องชีวิตทั้งที่ปอดของพวกเขาก็สำคัญ แต่ยังไม่เป็นข่าวเท่าภาพของเด็กน้อยจามเป็นเลือด เหตุการณ์นั้นทำให้ผู้คนตระหนักถึงภัยพิบัติเชียงดาวที่ได้รับการจัดระดับสากลว่าเป็น “เมืองที่มีมลพิษอันดับสูงสุดของโลก”

แม้ทั้งเมืองถูกควันทึบพรางดอยหลวงสูงใหญ่ที่เคยมองจากตรงไหนก็เห็น ยังไม่ใช่เรื่องที่คนไทยทั้งประเทศสะเทือนใจเท่าภาพ “ไฟไหม้บนดอยเชียงดาว” จนท้องฟ้าราตรีในรัศมีกว้างเป็นสีแสด เหตุที่ปะทุไปถึงหัวใจคนทั้งชาติ เพราะบัดนี้พื้นที่ร่ำรวยความหลากหลายทางชีวภาพอันดับ ๑ ของประเทศเกิดความสูญเสียอย่างประเมินค่าไม่ได้แล้วจริง ๆ และกว่าฝนจะมาบรรเทาก็ล่วงเข้าเกือบกลางปี

เรื่องราวทั้งหมดยังส่งผลถึงวันนี้

Image

ช่วงเย็นของวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ หากไม่ใช่สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ท้องฟ้าเชียงดาวจะกระจ่างใสกว่านี้ และมองเห็นความสลับซับซ้อนของเทือกเขาได้แม้ระยะไกล

ฝุ่นพิษ
“อันดับ ๑ ของโลก”

ไม่เพียงวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้สูงเกินมาตรฐาน ผลสำรวจจาก AirVisual พบว่าค่า World AQI Ranking ของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สูงเป็น “อันดับ ๑ ของโลก” ต่อเนื่องหลายวัน

วันหนึ่งบนโซเชียลมีเดียปรากฏภาพ “ม่อนภู” เด็กชายวัย ๔ ขวบ มีเลือดกำเดาไหล และพบจุดสีดำบนแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ปอด แพทย์ในเมืองเชียงใหม่ต้องสวมหน้ากากพ่นยาให้เด็กน้อยที่ปอดอักเสบ

“มันเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่มีค่าฝุ่นพิษสูง ๓๐๐-๔๐๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร วันนั้นผมไปสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อยื่นแผนการเรียนเตรียมทำบ้านเรียนให้ลูก พอกลับถึงบ้านผมก็เริ่มป่วย”

แค่จูงม้าไปกินหญ้าที่เชิงเขาหน้าบ้านยังแน่นหน้าอก แต่ทีแรก องอาจ เดชา ชาวตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ยังคิดว่าลูกเป็นไข้ธรรมดา เพราะพอได้นอนพักอย่างเต็มที่ ๒ วันร่างกายก็เริ่มฟื้นตัว

“แต่แล้วพอผมดีขึ้นลูกชายของผมกลับมีไข้สูง ไอ จาม ไม่ยอมกินข้าว ต่อมาก็มีเลือดกำเดาไหล มีอาการเหม่อ ซึม ตาลอย น่าวิตกสุดคือตอนที่พูดจาวกวนไม่เป็นประโยค  ช่วงนั้นขนาดภูเขามหึมาที่เคยเห็นหน้าบ้านทุกวันก็ยังหายไปเมื่อวัดค่าฝุ่นพบว่าสูงเกือบ ๖๐๐ จึงตั้งข้อสังเกตกับภรรยาว่าอากาศเลวร้ายนี้อาจเป็นผลให้มีออกซิเจนน้อยเกินไปสำหรับเด็กเล็ก จึงตัดสินใจจะไปอาศัยในเมืองเชียงใหม่สักพัก เพราะเวลานั้นมีค่าฝุ่นพิษต่ำกว่าเชียงดาว เข้าที่พักคืนแรกตอนอาบน้ำให้ลูกเขาจามเป็นลิ่มเลือด จึงพาส่งโรงพยาบาลและแอดมิต ๓ คืน พอวันที่ ๒๔ มีนาคม เชียงดาวมีค่าฝุ่นพิษ ๖๐๐-๗๐๐ ผมจึงโพสต์อาการของลูกขึ้นเฟซบุ๊ก”

ทันทีที่ปรากฏภาพก็มีผู้ปกครองรายอื่นร่วมแสดงความเห็นแจ้งข้อมูลแก่ผู้เป็นพ่อว่าลูกของพวกเขาก็มีอาการเดียวกัน ไม่เฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยก็หายใจติดขัด อึดอัด แสบตา แสบจมูก

ครั้นสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๑ เชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ ๑ มกราคม ถึง ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ว่ามีผู้ป่วยรับผลกระทบจากฝุ่นควัน ๘๙,๒๑๙ ราย นักวิชาการจึงออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเห็นให้ทางจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติและต้องเร่งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกให้ความรู้เรื่องฝุ่นพิษแก่ชุมชน

“ต้องยอมรับความจริงกันแล้วว่าสาเหตุหลักของมวลฝุ่นหนาที่เชียงดาวมาจากการเผาจริง ๆ ทั้งจากไร่ข้าวโพดและไฟป่า ปีที่ผ่าน ๆ มาชาวบ้านทยอยเผา พอมีฝนก็ช่วยบรรเทาเป็นระยะ ที่แน่ ๆ คือช่วงสงกรานต์จะมีฝนตกทุกปี แต่ปีนี้ดันแล้งจัด ฝนไม่ตกยาวนาน ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย”

เวลานั้นทั่วเชียงดาวมีป้ายประกาศจากหน่วยงานราชการทางจังหวัดแจ้งให้ชาวบ้านห้ามเผาพืชไร่ มีกำหนดถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒  ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องให้ความร่วมมือเพราะเกรงกฎหมาย ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์เผาป่าก็ยังเกิดต่อเนื่อง ชาวชุมชนจึงนัดหารือวิเคราะห์ปัญหา

“เพราะน่ากังวลว่าหลังสิ้นสุดประกาศห้ามเผาแล้วฝนยังไม่ตกจะทำอย่างไร ชาวบ้านก็คงไม่รีรอแล้ว จะเข้าฤดูทำมาหากินรอบใหม่อย่างไรก็ต้องเร่งเผาซังข้าวโพดหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมปลูกฤดูกาลใหม่ให้ทันก่อนฝนมา คราวนี้ถ้าเกิดพวกเขาเผาพร้อมกันจำนวนมากจะเป็นอย่างไร”

องอาจสะท้อนว่า เมื่อเกิดปัญหา สังคมมักพุ่งเป้าที่ชาวบ้านผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และนายทุนใหญ่ผู้รับซื้อข้าวโพดนั้นไปผลิตอาหารสัตว์ ว่าเป็นตัวการทำไร่เชิงเดี่ยวและเผาไร่ทำลายสภาพแวดล้อม

“ประเทศไทยมีเทคโนโลยีและนักวิชาการเก่ง ๆ เราน่าจะช่วยกันศึกษาว่าถ้าไม่เผาจะใช้ประโยชน์จากซังข้าวโพดเหล่านี้อย่างไร  ชาวบ้านไม่มีต้นทุนจะครอบครองนวัตกรรมพวกนั้นหรอก แต่เมื่อเป็นปัญหาระดับประเทศก็ต้องช่วยกันแก้ไข อย่างน้อยนายทุนที่รับซื้อข้าวโพดก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ”

Image

“ต้องยอมรับความจริงกันแล้วว่าสาเหตุหลักของมวลฝุ่นหนาที่เชียงดาวมาจากการเผาจริง ๆ ทั้งจากไร่ข้าวโพดและไฟป่า ปีที่ผ่าน ๆ มาชาวบ้านทยอยเผา พอมีฝนก็ช่วยบรรเทาเป็นระยะ ที่แน่ ๆ คือช่วงสงกรานต์จะมีฝนตกทุกปี แต่ปีนี้ดันแล้งจัด ฝนไม่ตกยาวนาน ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย”

องอาจ เดชา

วันที่ผืนป่า
หายใจเป็นเปลวเพลิง

ในที่สุดปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ก็เกิดวิกฤตไฟป่าบน “ดอยเชียงดาว”

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อาสาสมัครและชาวหมู่ที่ ๕ บ้านถ้ำ ในตำบลเชียงดาว ต่างระดมกำลังดับไฟทั้งภาคพื้นดินและนำเฮลิคอปเตอร์ขนน้ำไปโปรย แต่ก็ยังไม่อาจดับไฟได้หมด เพราะภูเขาสูงชัน  กระทั่งไฟป่าลุกจนเกือบถึงยอดดอย เกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ มีเสียงปะทุของไฟและกิ่งไม้ดังกึกก้อง  คราด จอบ เสียม เท่าที่หาได้ถูกนำไปช่วยสกัดไฟ รถดับเพลิงของเทศบาลตำบลก็เร่งฉีดน้ำจนดึกดื่นจึงควบคุมไฟได้ แต่เพลิงที่โหมอยู่บนดอยเชียงดาวยังคงดำเนินต่อนับสัปดาห์

“โดยเฉพาะช่วงวันที่ ๒๗-๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ จำได้ว่าเกิดไฟป่าและหมอกควันรุนแรงมาก ผมอยู่บ้านเปิดหน้าต่างนอนไม่ได้เลย ถ้าเปิดก็กลายเป็นนอนรมควัน  คืนวันที่ ๓๐ ผมเห็นไฟไหม้บนดอย เช้าวันต่อมาจึงขับรถไปดูใกล้ ๆ ว่าเกิดเหตุตรงไหนบ้าง บริเวณนั้นเป็นเนินภูเขา หน้าถ้ำ ขนาดว่าสายแล้ว ราว ๘-๙ โมง ผมเอามืออังแดดยังเห็นเป็นแสงสีเหลืองอย่างกับไฟ ๑๐ วัตต์ เพราะฝุ่นควันหนามาก ยิ่งวันที่ ๓๑ มีนาคม ไฟไหม้ดอยทั้งวันทั้งคืน จนวันที่ ๑ เมษายน ถึงมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยดับไฟป่าของกรมป่าไม้รีบมาพร้อมอุปกรณ์ที่มีแค่ไม้ตบไฟ ไม่มีเครื่องเป่าลมดับไฟอะไรเลย ข้าวปลาอาหารมื้อเที่ยงก็ไม่ได้พกมา”

นิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิงและผู้ก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาว เล่าขณะค้นรูปเหตุการณ์ที่เขากับลูกชายช่วยกันบันทึกเก็บไว้ในคอมพิว-เตอร์ หลายอัลบัมตั้งชื่อง่าย ๆ ตามที่เกิดเหตุ อย่างไฟป่าเมืองงาย ไฟไหม้ดอยหลวง ไฟป่าผาปล่อง ฯลฯ

เขาเห็นว่าสถานการณ์ไฟไหม้ป่าภาคเหนือในระยะหลังต่างจากสมัยก่อนที่เคยมีจุดเริ่มจากแปลงเกษตร

“กรณีไฟไหม้ป่าเชียงดาวจนเป็นเพลิงท่วมภูเขาปรากฏภาพถ่ายจากหน้าบ้านถ้ำเป็นข่าวใหญ่โต คือตัวอย่างหนึ่งที่ชวนให้สะกิดใจเรื่องความขัดแย้งของชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ดี ถามชาวบ้านหรือเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้นใครก็พูดตรงกันว่ามันไม่ใช่การเผาไร่ปรกติ เพราะไฟไม่ได้เกิดจากด้านล่างแล้วลุกลามขึ้นบนดอย แต่มันไหม้จากข้างบนแถว ‘เด่นหญ้าขัด’ แล้วลามลงมาด้านล่าง

Image
Image

“ตอนต้นปีนี้ยังเกิดไฟไหม้อยู่รอบนอกป่าสงวนและตามบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งชุมชน แต่พอผ่านไปอีกเดือนจะเป็นการไหม้ในป่าอนุรักษ์อย่างพื้นที่บนภูเขาสูงของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไล่มาตั้งแต่ดอยอินทนนท์ ดอยสุเทพ ดอยเชียงดาว สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการเกิดเพลิงไหม้โดยมีผู้เจตนาเข้าไปเผาป่า”

นักอนุรักษ์-อดีตเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขยายประเด็นขัดแย้ง

“สำหรับชาวบ้านที่ยากจน ป่าเป็นทั้งแหล่งอาหารตามฤดูกาล มีไม้ไผ่ ใบตองอีกมากที่นำมาใช้หรือขายได้ แต่พอถูกห้ามเข้าป่าโดยบังคับด้วยกฎหมาย ผู้เสียผลประโยชน์จึงสะสมความเคียดแค้น พอถึงหน้าแล้งก็ลักลอบเผาป่าเพื่อสร้างความเดือดร้อนคืนเจ้าหน้าที่บ้าง ถ้าไม่เป็นข่าวก็มีแต่เจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อยหรือลูกจ้างรายวันคอยเฝ้าระวังลาดตระเวนดับไฟ จนกว่าจะไหม้หนักเป็นข่าวใหญ่จึงมีผู้หลักผู้ใหญ่และสื่อมวลชนสนใจ เกิดการระดมความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ดับไฟหรืออาหารให้เจ้าหน้าที่ ทั้งที่ความจริงไฟป่าเกิดทั่วภาคเหนือทุกวัน ในเชียงดาวก็ไหม้หลายแห่งกระจายกันไป เจ้าหน้าที่ได้แต่เฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและกำชับให้ชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลดอยเชียงดาวอย่างดีที่สุด”

สำหรับชุมชนเชียงดาว ไฟป่าครั้งนี้หนักหนาจนถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร ยามหน้าสิ่วหน้าขวานสิ่งที่น่ายกย่องคือน้ำใจอันสามัคคีของคนท้องถิ่น

สุรศักดิ์ เก่งกล้า เจ้าของ “โกโก้ โฮม” รีสอร์ตขนาดเล็กในตัวเมืองเชียงดาว สมาชิกในกลุ่มม่วนใจ๋ (กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว) กำลังสำคัญที่เป็นดั่งธารน้ำใจดับไฟให้ดอยหลวง ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มรักดอยหลวงเชียงดาวที่ช่วยกันระดมทุนจากประชาชนทั่วประเทศได้ถึง ๒-๓ ล้านบาท นำไปซื้ออุปกรณ์จำเป็นและเครื่องเป่าลมสำหรับดับไฟป่าได้ ๗๐ เครื่อง

“ผมเคยเห็นตอนเยาวชนในพื้นที่ทำกิจกรรมแนวกันไฟรอบบริเวณวัดถ้ำผาปล่อง เขาใช้ ‘เครื่องเป่าลม’ เป็นเครื่องทุ่นแรงทำแนวกันไฟ โดยเป่าใบไม้ให้กระเจิงเพื่อเปิดทางเว้นไว้ จำกัดพื้นที่ของไฟป่าไม่ให้ลุกลาม เขาดัดแปลงจากเครื่องมือพ่นเมล็ดพันธุ์หรือปุ๋ยตามพื้นที่เกษตร ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพมาก ผมจึงแนะนำให้เจ้าหน้าที่ใช้”

โชคดีที่เขารู้จักตัวแทนขายเครื่องพ่นนำเข้าจากญี่ปุ่นจึงได้รับอนุเคราะห์ในราคาพิเศษ นำเครื่องเป่าลมไปช่วยทำแนวกันไฟ ตอนหลังยังสั่งซื้อเครื่องเพิ่มจนสินค้าพร้อมส่งหมดเกลี้ยง

Image

“สำหรับชาวบ้านที่ยากจน ป่าเป็นทั้งแหล่งอาหารตามฤดูกาล มีไม้ไผ่ ใบตองอีกมากที่นำมาใช้หรือขายได้ แต่พอถูกห้ามเข้าป่าโดยบังคับด้วยกฎหมาย ผู้เสียผลประโยชน์จึงสะสมความเคียดแค้น พอถึงหน้าแล้งก็ลักลอบเผาป่าเพื่อสร้างความเดือดร้อนคืนเจ้าหน้าที่บ้าง”

นิคม พุทธา

ห้องประชุมชั่วคืนในป่าของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) พวกเขาจะสรุปสิ่งที่พบเห็นในแต่ละวันและวางแผนการทำงานในวันถัดไป

เมื่อความตื่นตัวของภาคประชาชนกลายเป็นข่าวใหญ่

๒ เมษายน ๒๕๖๒ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงเดินทางมายังมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ค่ายกาวิละ ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดจนข้าราชการท้องถิ่นรับนโยบายทำทุกวิธีเพื่อเร่งดับไฟป่าและลดหมอกควันให้ได้ภายใน ๗ วัน รวมถึงให้ทหารกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้จัดกำลังพลเพิ่ม

“กำนันทั้งเจ็ดตำบลจึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมหมอกควันและไฟป่าขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ ให้ผู้ใหญ่บ้านทั้ง ๘๓ หมู่บ้าน ดูแลความเรียบร้อย หากมีการเผาเกิดขึ้นผู้ใหญ่บ้านนั้นต้องรับผิดชอบ  ตอนแรกมีนโยบายให้ต้องมีอาสาสมัครหมู่บ้านละ ๒๐ คน เป็นตัวแทนชุมชนคอยดับไฟ โดยเฉพาะชุมชนที่มีแนวเขตประชิดป่ายิ่งต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีค่าแรงตอบแทนให้”

แต่หลังประกาศเพียงวันเดียวก็ต้องยกเลิก เพราะไม่มีงบประมาณ สุดท้ายจึงเป็นการตั้งศูนย์ประจำตำบลโดยมีอาสาสมัครแห่งละ ๑๐ คน

“กลุ่มม่วนใจ๋แบ่งเงินบริจาคที่ระดมมาไปช่วยเหลือค่าอาหารให้อาสาสมัครทั้ง ๗๐ คน มื้อละ ๕๐ บาทต่อคน เป็นเวลา ๑๕ วัน นับจากวันที่ ๔ เมษายนเป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็เปิดรับบริจาคอุปกรณ์ยังชีพในป่า อาหาร ยา โดยถามความต้องการของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติงานโดยตรง”

เมื่อได้ข้อมูลสิ่งที่ต้องการชัดเจน อย่างอาหารสำเร็จรูปแบบซองพร้อมฉีกกิน (งดรับอาหารกระป๋องหรืออาหารใส่บรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมาก) ข้าวสาร (ควรเป็นข้าวขาว เพราะข้าวกล้องหุงยาก) ผงเกลือแร่แบบซองหรือเกลือหิมาลัย (งดรับแบบขวดแก้ว เพราะน้ำหนักเยอะ แบกยาก) เจลว่านหางจระเข้หรือเจลเย็น น้ำยาล้างตา น้ำตาเทียม หน้ากากช่วยบรรเทาฝุ่นควัน ฯลฯ กล่องพัสดุจำนวนมากที่หลายภาคี ช่วยกันเปิดรับจึงหลั่งไหลมารวมกันที่สำนักงานของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว

และตลอดเมษายน ๒๕๖๒ ก็กลายเป็นเดือนแห่งการส่ง “น้ำใจ” ร่วมดับร้อน

ขณะที่เราติดตามภารกิจจิตอาสาซึ่งกำลังง่วนกับการคัดแยกประเภทข้าวของที่ได้รับบริจาค เป็นเวลาที่ สงกรานต์ จักษุ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพิ่งกลับจากปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวน-สำรวจความเสียหายของทรัพยากรและสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่าบนดอยเชียงดาว เข้ามาทักทายและขอแบ่งอาหารเหลวให้พลังงานสูงที่ร่างกายดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว

“ปัญหาสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่บนดอยคือเรื่องน้ำ เข้าป่าที ๓ คืน ๔ วัน จะขนไปมากก็ไม่สะดวก เพราะต้องเคลื่อนย้ายไปตามจุดต่าง ๆ  อะไรที่ทดแทนได้จึงเป็นการดี อย่างอาหาร การกินพาวเวอร์เจลหรือเอเนอร์จีบาร์ เห็นห่อแค่นี้ให้พลังงานดีมาก อิ่มไม่ต่างจากข้าว ใช้เนื้อที่จัดเก็บน้อย ที่สำคัญคือเดินกินได้ กินแล้วไม่หนืดคอ สะดวกกว่าพวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”

บนดอยเชียงดาวไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำที่แบกขึ้นไปจึงมีความหมาย

โชคดีที่ฟ้าหลังฝนกลับมาสดใส ได้ห่าฝนและธารน้ำใจช่วยให้วิกฤตไฟป่าสิ้นสุด

Image

สุรศักดิ์ เก่งกล้า

ถ้าหมู่ไม้นั้นหายไป 
ถ้าสรรพสัตว์ไม่กลับมา

ช่วงสายของวันสิ่งแวดล้อมโลก
๕ มิถุนายน ๒๕๖๒

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลาดตระเวนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเกือบ ๑๐ ชีวิตเตรียมสัมภาระเท่าที่จำเป็นสำหรับเข้าป่า ๓ วัน ๒ คืน แต่ละคนรับผิดชอบไม่ต่ำกว่า ๒๕ กิโลกรัม เพราะนอกจากอุปกรณ์ทำงานและยังชีพ ต้องช่วยกันขนน้ำสะอาดสำหรับดื่มกินและประกอบอาหารระหว่างปฏิบัติภารกิจสำรวจความเสียหายและการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติหลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่

สำหรับคนทั่วไปไฟไหม้ดอยเชียงดาวเป็นความรับรู้ว่าเกิดความเสียหายเช่นดอยอื่น

แต่สำหรับคนในแวดวงอนุรักษ์หรือผู้ศึกษาความงามธรรมชาติต่างรู้ว่าไม่อาจเทียบ

เพราะบนภูเขาหินปูนแห่งนี้เป็นถิ่นแพร่กระจายของพรรณไม้ดึกดำบรรพ์ ทั้งพืชถิ่นเดียวที่ไม่พบในแหล่งอื่นของโลก และมีสถานะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยเฉพาะกวางผาที่ใกล้สูญพันธุ์ หากไฟไหม้ชั้นบนสุดซึ่งไม่มีแหล่งน้ำเลย ย่อมทำให้สิ่งต่าง ๆ ฟื้นตัวยาก ถึงฟื้นก็อาจไม่เหมือนเดิม

หากเปรียบโครงสร้างป่าของดอยเชียงดาวแบบทรงพีระมิดที่แบ่งเป็นสี่ส่วนตามระดับความสูงของภูเขาและน้ำทะเล เวลานี้เราอยู่ฐานพีระมิดที่สูงไม่ถึง ๘๐๐ เมตร ซึ่งก่อนหน้าได้ผ่าน “ป่าเต็งรัง” บริเวณสันดอยที่เป็นถิ่นของพืชจำพวกไม้ตึง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง ก่อนขยับขึ้นสู่ “ป่าเบญจพรรณ” ถิ่นของไม้ไผ่ ไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ กระจายอยู่ในบริเวณกว้างจนเป็นลักษณะเด่นของดอย

มีผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศเล่าไว้น่าสนใจว่าในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ อาจปล่อยให้ถูกไฟไหม้บ้างก็ได้ แม้จะสูญเสียเนื้อไม้ไป แต่เป็นโอกาสที่พืชพรรณหลายชนิดจะได้ผลิตอาหารและยาให้สัตว์ป่าเล็ก ๆ อย่างตัวนิ่ม มด แมง แมลง ถ้าต้นทุนของไม้ใหญ่นั้นยังอยู่ ปีต่อไปก็จะงอกได้ใหม่ หากจะประเมินค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ใช่เนื้อไม้ สิ่งเหล่านี้ก็ต้องถือว่ามีมูลค่าไม่แพ้ไม้ท่อน และถ้าไหม้เพียงปีละสองถึงสามครั้ง เชื้อเพลิงจะไม่สะสม จึงไม่รุนแรงจนเกิดความเสียหายหนัก แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าวิธีคิดแบบนั้นใช้ไม่ได้แล้วและไม่ควรมีพื้นที่ใดเกิดไฟป่าทั้งนั้น เพราะมันนำไปสู่ปัญหา PM 2.5

เมื่อครู่เจ้าหน้าที่แวะติดตั้ง “กล้องดักถ่ายภาพ (camera trap)” บนต้นไม้เพื่อซุ่มเก็บภาพสิ่งมีชีวิต

หากเข้าใจการเชื่อมโยงของป่าแต่ละประเภท ต้นไม้แต่ละชนิด จะพอสันนิษฐานต่อได้ว่าบริเวณนั้นเกี่ยวข้องกับสัตว์ใด อย่างบริเวณนี้มีโอกาสพบร่องรอยหมี เพราะมันอาศัยตามหุบเขาแล้วหากินหน่อไม้ตามป่าไผ่ ส่วนชะมด อีเห็น จะหากินเมล็ดกล้วยป่าแล้วขี้-กระจายพันธุ์พืชคืนให้ตามโขดหินหรือขอนไม้

พืชพรรณบนความสูงระดับต่างๆ ของดอยเชียงดาวที่ได้พบหลังสถานการณ์ไฟป่า ๒ เดือน

Image
Image

Image
Image

เจ้าหน้าที่พากันแวะตามจุดที่สังเกตเห็นร่องรอยถูกไฟไหม้เพื่อเก็บภาพหลักฐานและจดบันทึกลงสมุดที่พวกเขาออกแบบหัวข้อสำรวจให้ตรงกัน จะได้ง่ายต่อการรวบรวมเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่นักวิจัยจากสำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่จะมาช่วยประเมินความเสียหายเพิ่มภายหลัง  หลายครั้งได้ยินพวกเขาเปรย เสียดายพืชชนิดนั้น ดอกชนิดนี้ พลางเปิดรูปที่เคยถ่ายในสมาร์ตโฟนให้ดูความงามของพืชเฉพาะถิ่นที่จะออกดอกสะพรั่งบริเวณเมื่อถึงฤดูกาล

“ที่เรายืนอยู่ตอนนี้คือถิ่นของ ‘เทียนนกแก้ว’ ในไทยนี่พบได้เฉพาะที่เชียงดาวเลยครับ ปรกติจะออกดอกช่วงปลายเดือนกันยายน พอต้นพฤศจิกายนก็เริ่มโรย มันจะขึ้นแค่บริเวณโขดหินแถวนี้ด้วยนะ พวกผมเคยนำไปปลูกแถวสำนักงานมันก็โต แต่สีสันดอกไม่สดใสเหมือนที่ขึ้นเอง ต้นบนนี้จะสูงเต็มที่ ๑๕๐-๑๖๐ เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นพุ่มไม่ถึง ๕๐ เซนติเมตรเลย เวลานักท่องเที่ยวมาช่วงเปิดอุทยานใหม่ ๆ อาจทันได้เห็น ต้องคอยเตือนเวลาเขายืนบนก้อนหินให้ระวังเหยียบต้นกล้า โดยเฉพาะต้นเล็ก ๆ ที่มันเพิ่งงอก”

สงกรานต์ จักษุ ไม่เพียงเป็นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมา ๒๕ ปี ยังเป็นชาวบ้านถ้ำโดยกำเนิด เมื่อเกิดเหตุบาดหมางระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่จึงเป็นดั่งตัวกลางที่เข้าใจคนทั้งสองฝั่ง

ว่าพลางขยายรูปบนจอมือถือให้ชื่นชมดอกไม้น่ารักสีชมพูเข้มแกมแดงแกมขาวและแต้มเหลืองตรงกลางดอก รูปทรงคล้ายหมู่นกแก้วจิ๋วขนาด ๒-๓ เซนติเมตร กางปีกเริงระบำอยู่ตามก้านใบและปลายยอด

“บริเวณนี้โดนไฟไหม้บางส่วน ยังดีว่าจุดที่เทียนนกแก้วขึ้นหนาแน่นไม่โดนไหม้ไปด้วย แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้รับผลกระทบจากระบบนิเวศอย่างไรไหม ต้องรอลุ้นว่าปีนี้จะได้เห็นดอกอีกหรือเปล่า”

ย้อนไปเมื่อเมษายนขณะจิตอาสาคัดแยกของรับบริจาค เขาก็เพิ่งกลับจากปฏิบัติหน้าที่เดียวกันนี้

“พวกเราเริ่มสำรวจตั้งแต่ก่อนหยุดสงกรานต์ พบพื้นที่ป่าเสียหายกว่า ๓,๗๐๐ ไร่ น่าเสียดายมาก เพราะดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่พิเศษ มีพันธุ์ไม้หายาก ผลสำรวจที่พบพืชเฉพาะถิ่นของไทยเกือบครึ่งหนึ่งในนั้นพบที่เชียงดาวนะครับ และอีกหลายชนิดก็ไม่พบที่อื่นในโลก อย่างค้อเชียงดาว กุหลาบขาว-เชียงดาว ฟองหินเหลือง พิมพ์ใจ ชมพูเชียงดาว หรือ สิรินธรเนีย ยังมีดอกไม้เล็ก ๆ ตามพื้นดินอีก พอเกิดไฟไหม้เลยเสียหายเยอะ  เมื่อก่อนมีมากกว่านี้ด้วย พอมีคนรู้ว่าบนดอยมีผีเสื้อชนิดหนึ่งพบได้แค่ที่นี่ ผีเสื้อชนิดนั้นก็หายไป ต่อมาพืชที่ผีเสื้อชนิดนั้นชอบกินน้ำหวานก็พลอยหายไปด้วย เพราะไม่มีตัวช่วยกระจายพันธุ์”

เจ้าหน้าที่หนุ่มไม่ได้เอ่ยชื่อชนิด แต่เข้าใจได้จากข้อมูลที่ใคร ๆ ต่างรู้ว่าเคยเป็นถิ่นของ “ผีเสื้อสมิงเชียงดาว” ภายหลังมีรายงานว่าน่าจะสูญพันธุ์ในราวปี ๒๕๒๕-๒๕๒๗

เราพากันเดินมายังส่วนที่ ๒ ของพีระมิดเป็น “ป่าเบญจพรรณในที่สูง” สูงจากระดับทะเลต่ำกว่า ๑,๕๐๐ เมตร ถิ่นอาศัยของพวกพืชไม้สน ไม้เกี๊ยะ แถบนี้มีไฟป่าเกิดบ่อย เพราะพืชกลุ่มนี้มีน้ำมันจึงติดไฟง่าย  เมื่อถึงจุดพบ “ชมพูพาน” ไม้พุ่มที่ขึ้นตามก้อนหินในช่วงความสูง ๑,๓๐๐-๒,๐๐๐ เมตร จึงเห็นว่ามันถูกไฟไหม้ บนโขดหินใกล้กันฝังซาก “ฟอสซิลหอย” คือสิ่งยืนยันว่าเขาหินปูนนี้เคยเป็นท้องทะเลครั้งยุคเพอร์เมียนอายุระหว่าง ๒๕๐-๒๓๐ ล้านปี (พืช-สัตว์ที่มีหินปูนเป็นหลักฐานชี้การทับถมของตะกอนทะเลได้)

Image
Image

Image

ไต่เขาขึ้นสูงอีกระยะ แต่ยังต่ำกว่า ๒,๐๐๐ เมตร จึงเข้าสู่ส่วนที่ ๓ ของพีระมิด พื้นที่ระบบนิเวศทุ่งหญ้าที่กำลังฟื้นตัวเป็น “ป่าดิบเขา” อุณหภูมิปรกติจะปกคลุมด้วยเมฆหมอกตลอดปีโดยเฉพาะฤดูฝนและหนาว ทำให้อากาศชุ่มชื้นมาก ฉะนั้นโอกาสที่ไฟจะไหม้เองโดยธรรมชาติจึงแทบไม่มีแล้ว

ครั้นปรากฏไฟป่าจึงสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากบนนี้ ไม่ได้ลุกลามมาจากข้างล่าง

“ไม่ใช่การก่อกวนจากชาวบ้านหรอกครับ เป็นฝีมือพวกลักลอบล่าสัตว์ มันคือพฤติกรรมที่จะเผาป่าเพื่อต้อนสัตว์ให้ไปยังจุดที่มีผู้ดักรอ  ตอนเมษายนเราได้รับแจ้งว่ามีคนเผาป่าและถืออาวุธล่าสัตว์เข้าป่าจึงไปบุกจับถึงบ้าน แต่ก็ไม่ทัน ยึดมาได้แค่ของกลางและเจอหลักฐานเป็นเนื้อเลียงผาอยู่ในตู้เย็น”

ตามที่รู้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีเนื้อที่ ๕๒๑ ตารางกิโลเมตร ขณะที่มีเจ้าหน้าที่เพียง ๘๖ คน ในจำนวนนั้นมีแรงงานวัยหนุ่มที่พร้อมออกภาคสนามไม่ถึง ๕๐ คน เมื่อเทียบกับผืนป่าพวกเขาดูเหมือนจุดเล็ก ๆ ที่ด้อยพลังเกินกว่าจะปกปักเชียงดาวขนาดใหญ่ แต่ก็ยังทำกันสุดความสามารถ ถ้าลองลากเส้นเชื่อมต่อจุดต่าง ๆ ที่ทำงานจะเห็นว่าภาระปกป้องของพวกเขามันกินพื้นที่ในหัวใจใหญ่เกินตัว

ก่อนตะวันลับดอย พวกเราตั้งแคมป์ยังจุดที่สูงจากระดับทะเล ๑,๕๐๐ เมตร บ้างกางเต็นท์หรือขึงผ้าใบพอกันลมกันน้ำค้างและฝนสาดสำหรับวางสัมภาระ แล้วผูกเปลขึงกับต้นไม้สำหรับการนอนจริง เพื่อป้องกันแมลงตามพื้นดินรบกวนยามวิกาล ใครจัดเตรียมที่นอนเสร็จก็ไปช่วยประกอบอาหารและต้องใช้น้ำอย่างประหยัดมาก เพราะบนดอยเชียงดาวไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีร่องห้วยเหมือนป่าอื่น แม้แต่กวางผาก็ต้องหาน้ำกินจากต้นไม้และอาศัยวันที่โชคดีมีฝน ราว ๑ ทุ่มจึงได้เริ่มกินอาหารง่าย ๆ แต่อร่อยมากโดย “พ่อครัวหัวป่าก์” ใช้ประโยชน์จากต้นกล้วยป่า-พืชสารพัดคุณที่เป็นมากกว่าอาหารของสัตว์ให้พวกเราได้เก็บหัวปลีมาทำแกงและยำ ก่อนลงมติเป็นเอกฉันท์ว่ารสชาติหัวปลีกล้วยป่าอร่อยกว่ากล้วยทั่วไป

หลังมื้ออาหาร เจ้าหน้าที่สรุปผลสำรวจที่พบวันนี้แล้ววางแผนงานวันพรุ่ง

ประกาศิต ระวิวรรณ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวกางแผนที่แสดงพื้นที่รับผิดชอบหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแผนที่ทางทหารปรับปรุงเมื่อปี ๒๕๕๗ แล้วเทียบกับข้อมูลจุดฮอตสปอตและจุดดับไฟบริเวณดอยเชียงดาวที่ได้มาเสริม

“ดอยพีระมิดไหม้ ยอดดอยหลวงก็ไหม้ ยังพบจุดที่ภาพถ่ายดาวเทียมจับได้ว่าเกิดการเผาไหม้เพิ่มอีกจุด ความเสียหายหนักกว่าปีก่อน ๆ เพราะเกิดทั่วดอยพร้อมกัน ซึ่งลักษณะของดอยที่สูงชันทำให้พวกเราไม่สามารถเข้าไปดับไฟได้ ก็ต้องรอเวลาให้ดับเอง อย่างภาพจากป้ายทางเข้าบ้านถ้ำที่สื่อเผยแพร่ออกไปตอนที่เกิดไฟไหม้บนดอยสูงสุด ความจริงมันก็ไหม้เป็นอาทิตย์แล้ว”

Image
Image

Image
Image

Image

ก่อนแยกพักผ่อน เรานัดหมายโปรแกรมวันพรุ่ง จะเดินไปดอยกิ่วลม (๒,๑๑๐ เมตร) แล้วไปสำรวจที่ยอดดอยหลวงเชียงดาว (๒,๒๒๕ เมตร) เวลาเหลือจึงไปดอยพีระมิด (๒,๑๗๕ เมตร) ซึ่งอยู่คนละทิศ

“แม้จะได้เห็นจากระยะไกลตอนที่เกิดไฟไหม้ แต่ก็อยากดูให้ละเอียดว่าถิ่นพืชหายากถูกกระทบตรงไหนบ้าง อะไรที่เคยมีแล้วหายไปหรือถูกไฟไหม้ก็ต้องทำสัญลักษณ์ หลังฤดูฝนค่อยกลับขึ้นไปดูอีกครั้งว่ามันงอกไหม ยังมีพวกพืชตระกูลหัวที่ยากจะรู้ว่าต้นที่อยู่ใต้ดินไหม้ไหม ต้องรอดูฤดูกาลหน้า”

อากาศบนดอยเชียงดาวเย็นจัดจนนอนสั่นตลอดคืน...

ในยามเช้าเราก็ไม่สามารถมองเห็นแสงแรกของตะวันได้ในป่าที่ล้อมด้วยไม้ใหญ่แผ่เรือนยอดกางเป็นร่ม ยังไม่ทันพบแดดสายพวกเราก็รีบกินข้าวและออกจากแคมป์มาถึงจุดแรกแล้ว

“ผมคาดว่าไฟป่าจะเกิดจากหย่อมนี้ ไม่ได้ลุกลามจากที่อื่นแน่ เพราะมันไหม้แค่หย่อมเดียว ซึ่งเป็นจุดที่มักพบร่องรอย เสือดาวมากินกวางผา อาจมีใครพยายามบุกรุกเข้ามาเผาป่าเพื่อเจตนาล่าสัตว์”

หัวหน้าประกาศิตสันนิษฐานขณะใช้โดรนสำรวจ-บันทึกภาพทางอากาศจุดที่เกิดไฟไหม้

เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่ป่าด้านบนของภูเขาหินปูนที่เปรียบดั่งส่วนยอดพีระมิดดอยเชียงดาวและสูงเหนือระดับทะเลกว่า ๒,๐๐๐ เมตร จะเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ  เมื่อสังคมพืชบนนี้เป็นแบบ “กึ่งอัลไพน์” มีเพียงไม้แคระ ไม่มีพรรณไม้ใหญ่หรือพวกไผ่มาเสียดสีให้เกิดไฟไหม้ตามธรรมชาติ นอกจากฟ้าผ่า

เจ้าหน้าที่เรียกจุดนี้แบบรู้กันว่า “ก่อนขึ้นกิ่วป่าพร้าว” พื้นที่มีลักษณะเป็นร่องรั้ว คือเนินต่างระดับที่ด้านล่างมีร่องแบ่งอาณาเขต พวกเขากระจายกันเดินสำรวจภาคพื้นดิน และเก็บตัวอย่างของบางสิ่งที่พบว่าน่าสนใจคีบใส่ถุง อย่างตรงร่องรั้วก็พบร่องรอยของเสือดาวมากินกวางผา

“รอยขี้กับรอยตีนนี้เป็นคนละช่วงเวลากัน รอยขี้นานเป็นสัปดาห์แล้ว สังเกตจากอาหารที่เป็นเนื้อมันย่อยหมดแล้ว เหลือแต่ที่เป็นขนหรือที่กระเพาะสัตว์ไม่สามารถย่อย ส่วนรอยตีนยังใหม่อยู่  เสือดาวนี่เวลากินเหยื่อมันจะลากขึ้นไปกินบนต้นไม้ ถ้ายังไม่อิ่มก็จะลงมาล่าเหยื่อใหม่” เล่นเอาต้องแหงนคอมองไปรอบตัว...

สงกรานต์เล่าพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกระบุในกลุ่มสัตว์สูญพันธุ์แล้วในหลายประเทศจนได้ขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองระดับโลก ไทยก็มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์เต็มที ปรกติเสือดาวมักใช้ชีวิตในป่าที่ห่างไกลแหล่งน้ำและอาศัยบนภูเขาสูง จุดที่เราพบร่องรอยนี้ยังไม่ใช่ส่วนสูงสุดของดอยเชียงดาวที่มีการบันทึกว่าสูงเป็นอันดับ ๓ ของไทย รองจากดอยอินทนนท์และดอยผ้าห่มปก (แต่หากวัดที่หมวดเขาหินปูนแล้ว ยอดดอยเชียงดาวสูงจากระดับทะเล ๒,๒๒๕ เมตร ถือว่ามีความสูงยืนหนึ่งของประเทศ)

เราพักกินมื้อเที่ยงกันบริเวณ “ดอยอ่างสลุง” จุดที่นักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้กางเต็นท์

พื้นที่ส่วนใหญ่ของดอยเชียงดาวลาดเอียงไม่น้อยกว่า ๔๕ องศา บางจุดเป็นหน้าผา บางแห่งเป็นลานหินขรุขระแหลมคม แต่ตรงนี้จะเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา การระบายน้ำของดอยเป็นระบบภายใน คือรองรับน้ำจากด้านบนแล้วไหลซึมลงตามรอยแตกของชั้นหินปูน เกิดเป็นหลุมยุบจนเป็นโพรงถ้ำที่อยู่เบื้องล่างอย่าง “ถ้ำดอยหลวงเชียงดาว” บนดอยจึงไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

Image
Image

มีข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บันทึกถึงดอยเชียงดาวเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ว่าเคยถูกคุกคามอย่างหนักจากการทำไร่ฝิ่นบนที่สูงกว่า ๑,๙๐๐ เมตร โดยเฉพาะบริเวณอ่างสลุงพบการเผาหญ้าเพื่อเตรียมที่เพาะปลูก ไฟไหม้ลุกลามยอดเขาเสมอ พรรณไม้หลายชนิดทั้งพืชถิ่นเดียวและใกล้สูญพันธุ์พลอยถูกทำลายถาวร สังคมกึ่งอัลไพน์จึงถูกแทนที่ด้วยทุ่งหญ้าและวัชพืชจนยากแก่การฟื้นคืน

อันที่จริงจากจุดเริ่ม “หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่น-หญ้าขัด)” มาถึงอ่างสลุงระยะทางเพียง ๘.๕ กิโลเมตร แต่เพราะเป็นทางราบและชันสลับกัน นักท่องเที่ยวจึงต้องใช้เวลาเดินนาน ๔-๗ ชั่วโมง และจากตรงนี้หากจะไปดูแสงแรกหรือแสงสุดท้ายของตะวันที่ยอด “ดอยกิ่วลม” หรือยอด “ดอยหลวงเชียงดาว” ต้องเผื่อเวลาเดินต่อ ๓๐-๔๐ นาที และสองที่นั้นก็คือหมุดหมายวันนี้ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

ก่อนตะวันลับเจ้าหน้าที่ก็กลับถึงแคมป์ เล่าสถานการณ์น่าตื่นเต้นที่พบบนดอยกิ่วลม

แล้วหลังอาหารมื้อค่ำ ใครคนหนึ่งก็หยิบ “ซากกะโหลกกวางผา” ออกมาวางกลางวง

“ถึงจะถูกจามหน้าผากเพื่อตัดเอาเขาไปแล้วก็ยังดูรู้ว่าเป็นกวางผา เพราะบริเวณที่เจอยังมีเศษชิ้นส่วนหนังของมันอยู่ ดูจากขนาดของกะโหลกน่าจะเป็นตัวโตเต็มวัยแล้ว แผงฟันก็เข้าสู่ชุดที่ ๒ แล้ว”

ผู้เก็บได้รายงานผลให้เพื่อนฟัง และหัวหน้าประกาศิตก็ช่วยเสริม

“น่าจะเป็นซากตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ที่มีการจับกุมคนร้ายได้ แต่ถูกปิดข่าวเพื่อสืบพยานต่อ ตอนนั้นพบหนังกวางผา อุปกรณ์เครื่องใช้ และปลอกกระสุนของผู้ก่อเหตุด้วย เขาซุ่มหลบในถ้ำเล็ก ๆ ที่อยู่ได้สองคน พอมาน้อยแล้วล่าได้ตัวใหญ่ก็เอาลงดอยไม่ไหวจึงใช้วิธีชำแหละ แล่หนังทิ้ง เอาเฉพาะเนื้อกับเขาไป หลักฐานนี้คงไม่ได้เอาไปทำอะไรต่อแล้วละ เพียงเก็บเป็นข้อมูลว่าพื้นที่นี้เคยมีการล่าเกิดขึ้นจริง และดอยกิ่วลมก็น่าจะเป็นแหล่งอาศัยหลักของกวางผาที่มีในธรรมชาติ ๑๐๐ กว่าตัว แต่แยกอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามยอดสูง”

เจ้าหน้าที่อีกคนช่วยเสริมว่าก่อนขึ้นยอดดอยกิ่วลมก็เจอกระสุนอีกสามนัด

วันสุดท้ายที่เสร็จภารกิจสำรวจความเสียหาย ก่อนออกจากป่าพวกเขายังไม่ลืมแวะชมผลงานคืบหน้าจาก “camera trap” ที่ซุ่มติดไว้ หวังพบปัจจัยทางนิเวศให้ศึกษา แล้วก็ได้อมยิ้มกับความเคลื่อนไหวของอีเห็นหนึ่งช็อตในเวลาราวนาทีเศษ

ก้นของมันบังจอมิด...

Image

เชียงดาวโมเดล

เป็นที่แน่ชัดว่า ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ต้อง “ปิดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยเชียงดาว”

เพื่อช่วยปกป้องสรรพสิ่งที่ไม่สามารถปกป้องตน เมื่อผลสำรวจความเสียหายจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวสรุปว่า พื้นที่ดอยเชียงดาวนับ ๒ หมื่นไร่ ได้รับผลกระทบจากไฟป่ากว่า ๓,๗๖๕ ไร่ คิดเป็น ๑๘.๘๓ เปอร์เซ็นต์  ในพื้นที่เสียหายนั้นนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ (เด่นหญ้าขัด), ป่าสน, บ่อไก่ (ไก่ฟ้าหางลายขวาง), ดงไม้หก, เทียนนกแก้ว, ดงกล้วยแดง, สามแยก, ดอยสามพี่น้อง, ฟอสซิลหอย, อ่างสลุง, ยอดดอยหลวงเชียงดาว, ดอยหนอก, ดอยพีระมิด ฯลฯ

โดยเฉพาะ “ดอยหลวง” ที่อยู่ด้านทิศใต้ของดอยเชียงดาวซึ่งเป็นหมุดหมายในหัวใจของนักศึกษาธรรมชาติ ได้รับผลกระทบถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากพื้นที่ปกคลุมด้วยหญ้าแห้งที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดไฟป่าลามต่อเนื่องมาทางทิศใต้บริเวณป่าสนแล้วไหม้สันเขาเรื่อยสู่ทิศเหนือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทุ่งหญ้า ไม้พุ่มขนาดเล็ก และต้นก่อแดง  พื้นที่ไหม้ยังแผ่กว้างจนลามขึ้นยอดดอยหลวงซึ่งเป็นป่าไม้พุ่มจนเสียหายเกือบทั้งยอดดอย (๖๐ เปอร์เซ็นต์) รอดเพียงบริเวณที่เป็นหน้าผาหิน (ยอดสันดอยหลวงเชียงดาวจากป้ายบอกจุดสูงสุดไปทางทิศเหนือ และหุบเขาด้านทิศเหนือของยอดดอย)

“ดอยสามพี่น้อง” ที่เชื่อมจากดอยหลวงมาด้านทิศเหนือก็รับศึกหนักจากไฟป่าที่ลามมาจากดอยหลวงไหม้ต่อเนื่องมาทิศตะวันออก ยังเจอไฟป่าลามมาจากด้านล่างของดอยเชียงดาว ทำให้บริเวณที่เป็นยอดดอยเตี้ย ๆ สามยอดซึ่งมีช่วงกลางระหว่างยอดเป็นทุ่งหญ้าคาขนาดใหญ่ (อดีตคือไร่ฝิ่น) ได้รับความเสียหาย ๖๐ เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ครึ่งหนึ่งที่ไหม้คือ “บริเวณดงท้อ” (ตีนดอยสามพี่น้อง) ช่วงระหว่างเทือกเขาดอยสามพี่น้องและเทือกเขาดอยพีระมิดที่เชื่อมต่อดอยหนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าคา (ทิศใต้ของดงท้อเป็นป่าไม้หกและป่าเสี้ยวขาว) ที่ปลอดภัยคือบริเวณทุ่งหญ้าคาขนาดใหญ่ตีนดอยสามพี่น้องลูกที่ ๓

“ดอยกิ่วป่าคา” ที่อยู่ระหว่างดอยพีระมิดและยอดดอยเชียงดาวก็เสียหายหนักหนาตามมา พื้นที่ถูกไฟไหม้ส่วนใหญ่เป็นสันดอยกิ่วป่าคาด้านทิศเหนือที่เชื่อมป่าดิบเขาบริเวณอ่างสลุงและทุ่งหญ้าทางขึ้นดอยหลวง รวมพื้นที่ไหม้ราว ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ที่รอดคือหน้าผาหินและป่าดิบเขาที่มีต้นไม้ใหญ่ ขึ้นหนาแน่นซึ่งมีความชุ่มชื้นสูงป้องกันตนจากการรุกล้ำของไฟป่าได้  “ดอยพีระมิด” ก็เสียหายในสัดส่วน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน เพราะมีทุ่งหญ้าเชื่อมต่อจากกิ่วป่าคา แต่ยังนับว่าถูกไฟไหม้รุนแรงน้อยกว่า เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของดอยพีระมิดเป็นหน้าผาหินซึ่งมีหญ้าปกคลุมไม่หนาแน่น

อันที่จริงคงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีที่จะบอกว่าผลการสำรวจยังไม่พบซากสัตว์ป่าในบริเวณที่เกิดไฟไหม้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ความสูญเสียครั้งใหญ่นี้น่าสลดเกินไป ครั้นเหตุการณ์สงบยังได้พบร่องรอยตีนและกองขี้ของสัตว์ป่าอย่างกวางผา เก้ง เสือดาว กลับเข้ามาใช้ประโยชน์อยู่

ไม่ใช่ความลับที่ต้องปกปิดอีกแล้วว่า นอกจากการปิดป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ยังเป็นโอกาสที่ดอยเชียงดาวจะได้พักจากการรับศึกขยะสะสมที่ผู้มาเยี่ยมชมธรรมชาติต่างทิ้งไว้ โดยเฉพาะถุงพลาสติกพร้อมกระดาษชำระสำหรับการปลดปล่อยของเสีย แล้วต่างขุดหลุมฝังไว้ใต้ดินซึ่งไม่ลึกพอ บางครั้งตามไหล่ทางที่ฝนชะหน้าดินออกจึงมีขยะเหล่านั้นให้เห็น บ้างกระจัดกระจายไปติดตามซอกหิน

นิคม พุทธา อดีตหัวหน้าโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในยุคบุกเบิกฟื้นฟู “เขาแผงม้า” จากเขาหัวโล้นให้กลับมาเป็นบ้านของกระทิง ผู้กลายมาเป็นคนเชียงดาวเต็มตัว และก่อตั้งค่ายเยาวชนเชียงดาวของกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง มีกิจกรรมในวันหยุดสุดสัปดาห์ เปิดรับผู้สนใจหลากวัยหลายอาชีพจากทั่วประเทศมาร่วม เล่าว่า

“ทุกปีผมจะนำอาสาสมัครไปเก็บขยะโสมมที่ตกค้างอยู่บริเวณอ่างสลุง ยอดดอยหลวง ดอยกิ่วลม ปี ๒๕๖๑ ได้ขยะ ๑๗๒ กิโลกรัม ปลายปีตอนปิดฤดูกาลท่องเที่ยวผมจึงทำหนังสือขออนุญาตหัวหน้าเขตฯ อีกเพื่อนำจิตอาสา ๓๐ กว่าคนไปเก็บขยะมาได้อีก ๑๖๓ กิโลกรัม ที่ได้มากขนาดนี้เพราะแหล่งขยะที่ผมพาไปเก็บไม่ใช่แค่สองข้างทางขึ้นภูเขา แต่เป็นขยะจากการขุดคุ้ย ลองนึกภาพบนดอยหลวงที่มากไปด้วยพุ่มไม้ใบหญ้า โขดหิน ร่องหลุมต่าง ๆ นั่นละคือพื้นที่ของขยะตกค้างที่พวกเราไปขุดแคะออกมา”

นิคมยังจัดกิจกรรมปลูกป่าต่อเนื่องที่ “ป่าชุมชนบ้านป่าบง” ขนาด ๑,๓๐๐ ไร่ เพราะเป็นบริเวณที่มีแนวเขตติดกับผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งที่ผ่านมามักถูกลอบตัดไม้ บุกรุกแผ้วถางให้เกิดไฟไหม้ทุกปี จนเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ชุมชนจึงดำเนินการขอเป็นผู้ฟื้นฟู และได้รับสถานะทางกฎหมายให้เป็นป่าสงวนที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ชาวบ้านป่าบงในตำบลแม่นะจัดตั้งเป็นป่าชุมชนได้ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากที่ทำการของค่ายเยาวชนเชียงดาวนัก

“จะรักษาดอยเชียงดาว จำเป็นต้องรักษาป่าที่อยู่รายรอบด้วย”

เวลานี้มีชาวบ้านกว่า ๕๐ คน ช่วยจัดเตรียมกล้าไม้สำหรับการปลูกป่า

“เราจะปลูกไม้ยืนต้นพื้นถิ่น อย่างขี้เหล็ก มะกอกป่า สมอพิเภก ไว้เป็นที่สะสมอาหารและกักเก็บน้ำให้สัตว์ป่า สมอพิเภกนี่อายุยืนมาก เราตายและเกิดใหม่สามครั้ง ถ้าเราได้เกิดนะ ต้นสมอพิเภกก็ยังอยู่ คนปกากะญอใช้เปลือกไม้ย้อมผ้า เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ลูกก็เป็นอาหารให้พวกสัตว์กินพืชผลไม้มีทั้งพวกสัตว์ป่าอย่างกระรอก กระแต และสัตว์เลี้ยงอย่างวัว ควาย”

ผู้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ต้นกล้าแห่งความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากว่าครึ่งชีวิต ชวนให้เราเดินตามไปดูเมล็ดพันธุ์ต้นมะกอกป่าที่กำลังงอกต้นอ่อนอยู่บนผืนดินที่เพิ่งผ่านเพลิงมาไม่นาน ยังปรากฏเถ้าถ่านและสัมผัสได้ถึงกลิ่นความเสียหายแม้เริ่มเจือจาง

“ปรกติแล้วในแต่ละปีหากเกิดไฟป่าในระดับที่ไม่มากเกินไปจะมีข้อดีตรงเป็นการกระตุ้นให้เมล็ดพันธุ์เปลือกหนาได้แทงราก บริเวณนี้มีเมล็ดที่กำลังงอกต้นใหม่เพื่อจะเป็นป่าในอนาคตหลายชนิดเลย อย่างต้น ‘เสี้ยวป่า’ ก็ ‘สะท้อนสภาพป่าที่ปรับตัว’ เห็นได้ชัดว่าต้นเสี้ยวนี้มีอายุประมาณ ๑ ปี และถูกไฟไหม้แล้ว แต่ด้วยระบบรากที่แข็งแรงมากทำให้ยังแตกหน่อขึ้นได้อีกแม้ลำต้นจะไหม้ตายไป มันคือการฟื้นตัวโดยจัดการตัวเองของธรรมชาติน่ะ”

แล้วนำทางไปดูต้นหมากเม่าป่าหลังถูกไฟไหม้ คนถิ่นเหนือนิยมเก็บใบไปทำแกงใส่เห็ดถอบ ยังลิดใบหมากเม่าส่งให้เราลองชิมรสที่ออกเปรี้ยวนิด ๆ และมีกลิ่นหอมคล้ายผลมะกอก

Image

อาสาสมัครพร้อมเพรียงกันบริเวณ “ป่าชุมชนบ้านป่าบง” ที่มีแนวเขตติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดยมี นิคม พุทธา นำจัดกิจกรรมปลูกป่าด้วยไม้พื้นถิ่น

นิคมชวนให้คนเมืองระลึกถึงป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ผู้ให้กำเนิดสายน้ำแม่ปิงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วแนะนำให้เราเลือกกล้าไม้ที่ชอบสักต้น นำไปปลูกร่วมกับจิตอาสาที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ

แต่ประสาคนเมืองยังสงสัย การที่ต้องทำแนวกันไฟ ปลูกป่าทุกปี จะเป็นการส่งเสริมวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและหมายถึงยอมรับให้เกิดปัญหาเดิมทุกปีไหม

“สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งแรก ที่ผ่านมาบางปีก็แล้ง บางปีมีน้ำหลาก ดินถล่ม เกิดพายุ ไฟป่าก็เกิดทุกปีเช่นกัน แต่วันนี้เรามองในมิติระยะใกล้จึงไม่เห็นความสมดุล  ที่เชียงดาวมีชุมชนอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์ฯ หลายกลุ่มมีจิตสำนึกรักษาป่าอยู่แล้ว เพราะพวกเขาก็ได้ประโยชน์จากป่าอุดมสมบูรณ์ การป้องกันปัญหาในช่วงที่ไม่เกิดวิกฤตจึงต้องอาศัยวิธีทำงานร่วมกับชุมชน ชาวบ้านทำเกษตรย่อมรู้ว่าในชุมชนมีร่องน้ำอยู่ตรงไหน ร่องไหนแล้งก็ต้องนำกล้วยป่าไปปลูกเสริมรอบพื้นที่ ใช้คุณสมบัติต้นกล้วยช่วยกักน้ำและคายความชื้น ทั้งจากน้ำในแอ่งและน้ำในอากาศ  ทุกปีผมจะพาเยาวชนลูกหลานพวกเขาไปปลูกกล้วยน้ำว้าคั่นไร่ของชาวบ้านกับพื้นที่ป่าตลอดแนวตีนดอย เป็นแนวกันไฟในตัว เวลาปรกติก็ได้กินใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเมื่อเกิดการเผาไร่ ไฟจะไหม้แค่ต้นกล้วยแล้วหยุด ไม่ลามเข้าป่า”

นิคมสะท้อนสิ่งสำคัญ เผื่อว่าเรา...ผู้เพียงผ่านมาเยือนอาจลืม

“ชาวบ้านไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้ข้อมูลชุมชนที่ดีที่สุด ยังเต็มใจเป็นอาสาสมัคร จะรักษาดอยเชียงดาวจึงไม่อาจดูแลพื้นที่สำคัญเฉพาะบางส่วน ต้องรักษาทุกชีวิตที่รายล้อมดอยด้วย”



วันนั้น...

ก่อนแดดสุดท้ายจะหมด เราแยกจากเขาไปนอนแช่น้ำพุร้อนที่เกิดเองตามธรรมชาติบริเวณ “โป่งน้ำร้อนบ้านยางปู่โต๊ะ” ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว บ้านยางปู่โต๊ะ หมู่ที่ ๖ ของตำบลเชียงดาว

เป็นช่วงเวลาผ่อนคลายที่ได้เหยียดกายให้ธารน้ำไหลผ่านแหงนหน้าทอดสายตาสู่ขุนเขา ทบทวนเรื่องราวตลอดปีที่รู้เห็น

น่าอัศจรรย์ดีที่พรรณไม้เขตอบอุ่นหลายชนิดในโลกเดินทางมาสิ้นสุดเขตกระจายพันธุ์อยู่บนดอยเชียงดาว และแม้บนดอยจะไม่มีแหล่งน้ำก็ยังมีฐานะเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ได้ เมื่อน้ำจากบนดอยไหลซึมลงตามรอยแตกของชั้นหินปูนถึงบริเวณที่ต่ำเหมาะสมก็จะปรากฏลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปีให้เป็นถิ่นอาศัยของปลาน้ำจืด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และแมลงมากมาย

ความพิเศษของดอยเชียงดาวจึงไม่ใช่เพียงการมีอยู่ของพืชเฉพาะถิ่น พืชหายาก หรือสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลก ยังหมายรวมถึงมนุษย์รอบนอกผู้มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ล้วนแล้วต่างก็รักบ้านตน

นึกถึงเรื่องน่ายินดีที่หัวหน้าประกาศิตแย้มไว้ ครั้งร่วมสำรวจความเสียหายบนดอย

“นอกจากภารกิจดับไฟ ตามจริงช่วงนี้ก็กำลังง่วนอยู่กับการทำเอกสารเสนอยูเนสโกเป็น ‘พื้นที่สงวนชีวมณฑล’ แห่งใหม่ของโลก ต้องรีบส่งเอกสารให้ทันในเดือนตุลาคม”

และไม่ว่าผลของวันนี้จะเป็นอย่างไร ก็จะทำพรุ่งนี้ให้ดีที่สุด !  

ขอขอบคุณ 
ข้อมูลผลสำรวจความเสียหายเบื้องต้น จากเฟซบุ๊ก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 
เผยแพร่เมื่อ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๒