เชียงดาว
เมืองดาว ?
สารคดีพิเศษ
เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
“ฟ้ายิ่งมืด ดาวยิ่งกระจ่าง
ฟ้ายิ่งอับแสง ดาวยิ่งระยับ”

หลายปีก่อนหน้าที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียนดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (biosphere reserve) แห่งใหม่ของไทย เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันแนวคิดให้อำเภอเชียงดาวเป็นเมืองดาว แหล่งดูดาวในเมืองแห่งแรกที่ไม่ต้องดั้นด้นไปดูดาวระยิบระยับในป่าหรือที่ห่างไกลอันปราศจากแสงไฟ

เมืองดาวสำหรับคนชอบดูดาวอาจเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในหลายประเทศ

ในอดีตมนุษย์คุ้นเคยกับการดูดาวในคืนฟ้ามืด การมองดวงดาวเป็นทั้งความรื่นรมย์ เสน่ห์ และแหล่งความรู้มานานแสนนาน แต่ปัจจุบันชีวิตในเมืองที่มีแสงสีแสงไฟสว่างไสวและสว่างจ้าขึ้นสู่ฟากฟ้าทั้งคืน จนท้องฟ้าไม่เคยมืดสนิทอีกเลย ทำให้มนุษย์ห่างไกลจากดวงดาวอย่างไม่รู้ตัว

ห่างไกลจนแทบจะไม่รู้อะไรเลย

คืนหนึ่งในปี ๒๕๓๗ เวลาประมาณตี ๔ เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด ๖.๗ แมกนิจูด ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ไม่มีไฟตามท้องถนนหรืออาคารบ้านเรือนเป็นเวลานาน  พอหลายคนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าก็เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต คือดาวระยิบระยับและทางช้างเผือกพาดกลางท้องฟ้า

บางคนตื่นตกใจ ถึงกับโทร. ไปแจ้งความที่สายด่วนฉุกเฉิน ๙๑๑ บอกว่า

“มีเมฆสีเงินประหลาดขนาดยักษ์ลอยเหนือท้องฟ้า มันน่ากลัวมาก”

ชาวเมืองลอสแอนเจลิสจำนวนมากไม่เคยเห็นทางช้างเผือก และพากันตื่นเต้นที่เห็นว่าท้องฟ้างดงามเพียงใดยามมืดมิด

มีการศึกษาพบว่า แม้สหรัฐอเมริกาจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่คนอเมริกันกว่าร้อยละ ๘๐ ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกมาก่อนในชีวิต เพราะประเทศนี้สว่างไสวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

หากมองจากนอกโลกในยามค่ำคืน

คนทั่วโลกราว ๒,๐๐๐ ล้านคน ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกเช่นกัน

ในอดีตมนุษย์มีความสุขกับการดูดาวยามค่ำคืน แต่มนุษย์ในเมืองเริ่มห่างไกลจากดวงดาวตั้งแต่หลอดไฟฟ้าดวงแรกได้รับการประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน ท้องฟ้าอันมืดสนิท ยามค่ำค่อย ๆ เลือนหายไป และสว่างจ้ามากขึ้นจากแสงไฟตามอาคารบ้านเรือน ป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ตามตึกระฟ้า หลอดไฟตามท้องถนนที่สว่างฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า แสงสว่างกระทบชั้นบรรยากาศ ทำให้ท้องฟ้าเรืองแสงไปทั่ว ดาวที่เคยเห็นระยิบระยับก็มองแทบไม่เห็น จนผู้คนต่างพากันลืมความงดงามในยามค่ำคืนไปนาน

ปัญหาใหญ่เกิดจากแสงสว่างที่ฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยไม่จำเป็น

การใช้แสงสว่างในยามค่ำคืนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ทุกวันนี้เราใช้เกินความจำเป็น จนเกิดสิ่งที่เรียกว่ามลภาวะทางแสง อันหมายถึงแสงประดิษฐ์ที่เกิดจากการกระทำกิจวัตรของมนุษย์ในเวลากลางคืน รวมถึงมลภาวะของแสงที่สว่างจ้าเกินความจำเป็น จึงเริ่มมีคนหลายกลุ่มสนใจการอนุรักษ์ท้องฟ้าให้มืด

ดอกเตอร์สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หนึ่งในผู้สนใจเรื่องเมืองดาวเล่าให้ฟังว่า

“แนวคิดเรื่องเมืองฟ้ามืดถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว โดยกลุ่มนักดูดาวที่ออกแสวงหาพื้นที่ที่มืดเพียงพอสำหรับการดูดาว เรียกว่ากลุ่มอนุรักษ์ฟ้ามืด (Dark Sky Pre-servation) ซึ่งนับเป็นเรื่องยากที่จะเจอสถานที่เหล่านั้นในยุคที่ท้องฟ้าปกคลุมด้วยแสงไฟมากกว่าแสงดาว”

ทุกวันนี้การดูดาวเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดแนวคิดในการรณรงค์ให้มีเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า (Dark Sky Reserves) ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เช่นบนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ มีชื่อว่า “เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าอาโอรากิแมกเคนซี” (Aoraki Mackenzie International Dark Sky Reserve) พื้นที่ประมาณ ๔,๑๔๔ ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศจากสมาคมพิทักษ์ความมืดแห่งท้องฟ้าสากล (International Dark-Sky Association) ให้เป็น “เมืองดาว” หรือ “เขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า” และเป็นหนึ่งในสถานที่ดูดาวที่ดีที่สุดในโลก เพราะยามค่ำคืนมีท้องฟ้าที่มืดสนิทไม่มี “มลภาวะทางแสง”  บริเวณแห่งนี้ใช้อุปกรณ์ควบคุมแสงนอกอาคารไม่ให้ฟุ้งกระจายมาหลายสิบปีแล้ว ผลของการควบคุมแสงนอกจากทำให้เป็นพื้นที่ปลอดมลภาวะทางแสงแล้วยังช่วยประหยัดพลังงานด้วย
Image
ภาพ : คทา มหากายี
สมาคมแห่งนี้เชื่อว่า “ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่เต็มไปด้วยดาวเป็นมรดกพื้นฐานของมนุษยชาติ และการปกป้องท้องฟ้าที่มืดมิดเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างความมั่นใจว่า คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปจะมีโอกาสได้มองเห็นดวงดาว”

นักดูดาวจากทั่วโลกต่างพากันเดินทางมาดูดาวบนเกาะใต้แห่งนี้จนกลายเป็นรายได้สำคัญของประเทศนิวซีแลนด์ไปโดยปริยาย เช่นเมืองทวิเซล หนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ เคยมีรายได้หลักจากการเกษตรปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่ปัจจุบันกลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ปีละ ๖,๐๐๐ ล้านบาทจากการดูดาวมูลค่าเพิ่มที่สร้างได้ง่ายมาก ลงทุนน้อยมาก เพียงแค่ทำให้ฟ้ามืด

กลางเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ดอกเตอร์ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เล่าให้ที่ประชุมของชาวบ้านตำบลแม่นะฟังถึงเรื่องปัญหาแสงไฟฟ้าในยามค่ำคืนและอนาคตของเชียงดาวว่า ทำไมควรจะเป็นเมืองดาว

“มลพิษแสงแตกต่างจากแสงไฟสว่างที่ช่วยให้เรามองเห็น มันเป็นเศษแสงที่ก่อความเสียหายและสิ้นเปลือง มาจากการจัดการไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้ฟุ้งออกไปยังบริเวณที่ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าออกแบบแสงให้มีประสิทธิภาพ ควบคุมให้ส่องเฉพาะส่วนที่ต้องการเห็น ในเวลาที่ต้องการเห็น และในปริมาณที่พอดิบพอดี ไม่จ้าเกินจำเป็น เราจะลดมลพิษแสงที่ฟุ้งเสียเปล่าออกไปได้มาก  แสงไฟที่ไม่ได้ออกแบบหรือจัดการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดก็ไม่ต่างจากถังน้ำที่มีรูรั่ว น้ำไหลออกไปโดยไร้ประโยชน์ เช่นเดียวกับแสงจากหลอดไฟที่ส่องสว่างออกไปทุกทิศทางโดยไร้ประโยชน์

“มลพิษแสงคือแสงที่ฟุ้งออกมาจากไฟสว่างยามค่ำคืน ยิ่งมากยิ่งพร่า ฟ้าไม่มืดก็ไม่เห็นดาว  ทำไมเราไม่ออกแบบไฟฟ้าตามท้องถนนที่ส่องกระทบลงพื้นด้านล่างให้คนได้เห็น แต่มีที่ครอบบังไม่ให้แสงกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างเปล่าประโยชน์”

เชียงดาวเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เพียงดาว” อันมีความหมายถึง “เสมอ” จึงมีความหมายว่า “ห่างจากดวงดาวเพียงแค่เอื้อมมือ”  หากใครมีโอกาสขึ้นไปนอนดูดาวระยิบระยับบนยอดดอยหลวงเชียงดาวอันมืดสนิท ระดับความสูง ๒,๒๒๕ เมตรจากระดับทะเล จะรู้สึกได้ถึงคำว่าเพียงดาว

เชียงดาวเป็นอำเภอขนาด ๑,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรไม่ได้หนาแน่น เพียง ๙ หมื่นกว่าคน (เปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากร ๑๕ ล้านคน)  ผู้คนอยู่อาศัยกระจัดกระจาย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ป่า และที่ราบลุ่มจึงเหมาะที่จะเป็นพื้นที่นำร่องในการสร้างเมืองดาว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เริ่มโครงการ “ลดมลภาวะทางแสงในเขตชุมชนและอุทยานแห่งชาติ” เพื่อคาดหวังว่าในอนาคตจะเกิดเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า โดยมีโครงการนำร่องในหลายพื้นที่ เช่นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เคยมาตรวจวัดค่าแสงสว่างที่ฟุ้งกระจายขึ้นในชุมชนอำเภอเชียงดาว และพบว่าไม่ได้มีแสงฟุ้งมากเกินไป หากสามารถปรับลดมุมของแสงไฟที่ฟุ้งกระจายขึ้นท้องฟ้า หลายพื้นที่ในอำเภอเชียงดาวก็น่าจะเหมาะสมในการเป็นเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าได้

ดอกเตอร์สรณรัชฎ์กล่าวต่อไปว่า “การคืนความมืดและแสงสว่างจากดวงดาวให้เมืองที่จมอยู่กับมลภาวะทางแสงไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเกินกว่าความสามารถของเราทุกคน เพราะมีหลักการง่าย ๆ เพียงเรื่องเดียวคือ ‘การออกแบบแสงไฟ’
Image
ภาพ : บ้านทุ่งทะเลหมอกเชียงดาว
“เริ่มต้นจากการกำหนดระดับความสูง ออกแบบโคมไฟสำหรับไฟที่ใช้ในบ้านหรือกระบังสำหรับไฟที่ใช้ตามท้องถนนให้เหมาะสมกับจุดที่ต้องการติดตั้ง  การออกแบบไฟให้สอดคล้องกันตามลักษณะดังกล่าวช่วยบังคับทิศทางของแสงไม่ให้ฟุ้งกระจายขึ้นไปบดบังทัศนียภาพบนท้องฟ้า และสาดส่องรบกวนการนอนของผู้คนตามบ้านเรือนต่าง ๆ หรือรุกล้ำเข้าไปรบกวนเส้นทางการอพยพและการขยายพันธุ์สัตว์ในพื้นที่ธรรมชาติ”

ทุกวันนี้คนกลุ่มเล็ก ๆ ในอำเภอเชียงดาวพยายามผลักดันให้อำเภอแห่งนี้ค่อย ๆ กลายเป็นเขตอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้าเพื่อดึงดูดให้นักดูดาวหลั่งไหลมาที่นี่ ด้วยการพูดคุยกับหน่วยราชการ หาแนวทางปรับปรุงออกแบบที่ครอบโคมไฟตามท้องถนน เพื่อป้องกันไม่ให้แสงฟุ้งกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่คนบนถนนยังเห็นแสงสว่างตามท้องถนน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพูดคุยและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสนใจและให้ความสำคัญเพียงใด ซึ่งก็ไม่ง่ายนัก

แต่หากทำได้สำเร็จ เชียงดาวอาจจะเป็นแหล่งดูดาวในเมืองแห่งแรก เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวผู้หลงเสน่ห์ดวงดาวในอนาคตทีเดียว

นอกจากนั้นมลภาวะทางแสงไม่ได้ทำให้เราไม่เห็นดาวหรือทางช้างเผือกเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะแสงสว่างจากนอกบ้านในตอนกลางคืน ที่รบกวนการหลับนอนของมนุษย์ ส่งผลต่อเมลาโทนิน (melatonin)

ต่อมไพเนียลในบริเวณส่วนกลางของสมองจะถูกกระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนเมลาโทนินออกสู่กระแสเลือดในเวลาที่ไม่มีแสงหรือแสงสว่างน้อย

ความมืดเป็นตัวกระตุ้นการหลั่งของเมลาโทนินและหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่างในช่วงเวลากลางวัน

เมลาโทนินทำให้รู้สึกง่วง ช่วยให้เราหลับสนิท สุขภาพดี มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดคอเลสเตอรอล และช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไตดีขึ้น

แต่หากแสงรบกวนการนอน เมลาโทนินจะหลั่งน้อยลงนาฬิกาชีวภาพหรือวงจรควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายจะรวน

สิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วนความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม

นอกจากนั้นการเปิดแสงสว่างจ้ามากเกินไปยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตมหาศาล

นกอพยพจำนวนมากที่เดินทางเวลากลางคืนโดยใช้แสงสว่างจากดวงดาวและดวงจันทร์เป็นเครื่องชี้ทิศทาง ก็หลงทิศได้ง่าย ๆ จากแสงสว่างของมนุษย์

ทุกปีในสหรัฐอเมริกามีนกหลงทิศและบินชนกระจกอาคารสูงที่เปิดไฟสว่างไสวยามค่ำคืน ตายปีละ ๑๐๐-๑,๐๐๐ ล้านตัว

ในยามค่ำคืน ลูกเต่าทะเลที่ฟักออกมาแทนที่จะคลานลงทะเลกลับหลงทิศ เดินลึกเข้าไปบนฝั่งตามแสงสว่าง เพราะคิดว่าเป็นแสงเรือง ๆ จากท้องทะเล

หิ่งห้อยในหลายพื้นที่ค่อย ๆ หายไป เพราะความสว่างมากเกินไปทำให้การผสมพันธุ์ลดน้อยลง

ในหลายพื้นที่ของอำเภอเชียงดาวเป็นแหล่งอาศัยของหิ่งห้อย หากปรับการใช้แสงหิ่งห้อยอาจจะกลับมา และน่าจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาดูดาวและดูหิ่งห้อยยามค่ำคืน

ปัญหาจากมลภาวะทางแสงไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่ในความเป็นจริงการแก้ปัญหาเรื่องนี้ง่ายดายมากและแทบจะไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรเลย

มลภาวะทางแสงแก้ไขง่ายกว่ามลภาวะเรื่องอื่น เช่น มลภาวะทางอากาศ น้ำ การใช้สารเคมีในดิน ฯลฯ ที่ต้องมีคู่ขัดแย้งหลายฝ่าย แต่มลภาวะทางแสงไม่สร้างความขัดแย้งต่อผู้คนในสังคม เพียงแค่จัดการไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ทุกคนก็ได้ประโยชน์เหมือนกัน

เพราะกิจกรรมการใช้แสงสว่างยังดำเนินต่อไป เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหลอดไฟและโคมไฟให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะไฟนอกอาคาร เช่น ไฟฟ้าตามท้องถนนที่มุ่งความปลอดภัยของผู้คนเป็นหลัก การปรับทิศของแสงให้ตกลงบนพื้นก็ได้ความสว่างเท่าเดิม ไม่ต้องฟุ้งขึ้นสู่ท้องฟ้า

เพียงเท่านี้ความงดงามของแสงดาวระยับฟ้าก็กลับคืนมา

ทุกวันนี้หลายประเทศตื่นตัวในการจัดการมลภาวะทางแสง เช่นสิงคโปร์มีการจัดทำแผนแม่บทการใช้แสงสว่างตามพื้นที่ต่าง ๆ  มีการแบ่งโซนการใช้หลอดไฟและความเข้มของแสงตามความจำเป็น เพื่อควบคุมมลภาวะทางแสงและการประหยัดพลังงาน

หากแนวคิดในการทำให้เชียงดาวเป็นเมืองดาวอาจเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่สงวนชีวมณฑล ก็จะสอดคล้องกับสื่อท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง Lonely Planet ที่ปักหมุดให้ Dark Skies เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่มาแรงในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังพิสูจน์ความฉลาดของผู้บริหารในการจัดการทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุดและลงทุนต่ำที่สุด เหมือนอย่างที่หลายพื้นที่ในเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จมาแล้วในการสร้างเขตอนุรักษ์ความมืด
ของท้องฟ้า จนสร้างทั้งรายได้มหาศาลควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ