Image
เชียงดาว : ดินแดนแห่งคำทำนาย
และชีวมณฑลทางวัฒนธรรม
scoop
เรื่อง : สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
ภาพ : สุรศักดิ์ เทศขจร
ในตำนานที่จารึกไว้บนใบลานเก่าแก่ของล้านนาเรียกดอยหลวงเชียงดาวหลายชื่อ ดอยอ่างสรง อ่างสะหรง ดอยอ่างสลุง อ่างสะหลุง ซึ่งเชื่อมโยงกับความหมายที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า  นัยหนึ่งคือพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาสรงน้ำที่แอ่งน้ำบนยอดดอยแห่งนี้ และอีกนัยหนึ่งอธิบายว่าพระอรหันต์นำพระบรมสารีริกธาตุมาสรงน้ำและประดิษฐานไว้ที่ดอยเชียงดาว  แต่ไม่ว่าจะทางใด แสดงให้เห็นว่าดอยเชียงดาวมีความสำคัญสูงยิ่งมาแต่โบราณ แม้ดอยอินทนนท์ที่สูงเป็นอันดับ ๑ ของประเทศก็ยังสำคัญน้อยกว่า
เชียงดาว ดินแดนในคำทำนาย 
ใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก อ้างว่าคัดลอกครั้งแรกในปี ๒๐๖๖ ช่วงรัชสมัยพระเมืองแก้วหรือพญาแก้ว (ปี ๒๐๒๓-๒๐๖๘) กล่าวถึงการเสด็จมาของพระพุทธเจ้ายังดินแดนล้านนาเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา ประทานรอยพระบาท พระเกศาธาตุ ทำนายความเป็นไปของบ้านเมือง และทรงกำหนดว่าพื้นที่แห่งใดจะเป็นสถานที่บรรจุพระ บรมสารีริกธาตุส่วนใดของพระองค์ภายหลังปรินิพพาน

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ระบุว่า เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมาถึงเมืองฝาง ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้แห่งหนึ่ง (ผาสะแคง) และกล่าวว่าในภายภาคหน้าพระญาธรรมมิกราชจะมาบังเกิด เพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง จากนั้นพระองค์ได้เหาะผ่านและชี้ไปยังภูเขาลูกหนึ่ง ทรงกล่าวแก่พระสารีบุตรว่า

“ภายหน้าศาสนากูพระตถาคต จักมาตั้งอยู่ในที่นี้ จักปรากฏชื่อว่า อารามพระญาคำแดง มีในเมืองเชียงดาวที่นี้” (ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดกู่คำ ผูกที่ ๑)

ใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก (ผูกที่ ๙) กล่าวอีกว่า พระพุทธองค์ได้พบกับราชายักษ์ตนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่ดอยอ่างสรงคอยจับผู้คนกิน พระองค์โปรดยักษ์ตนนั้น ราชายักษ์ยอมรับนับถือพุทธศาสนา ทรงทำนายว่าในอนาคต-กาลหลังปรินิพพาน ๓,๐๐๐ ปี ยักษ์ตนนี้จะเกิดเป็นพญาธรรมมิกราชในเมืองเชียงดาว เสวยทิพยสมบัติ มีอายุยืนนานถึง ๒๐๐ ปี และจะเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป
เชียงดาวในสายตาของนักเดินทาง
นักเดินทางชาวตะวันตกหลายคนมาสำรวจดอยเชียงดาวด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ กัน ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ เช่น พระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarthy) เพื่อทำแผนที่สยาม  โฮลต์ เอส. ฮาลเลตต์ (Holt S. Hallett) เพื่อการสำรวจ และศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvary) ที่ประสงค์จะเผยแผ่คริสต์ศาสนาในดินแดนทางตอนเหนือของสยาม ฯลฯ ต่างกล่าวถึงความสำคัญของดอยเชียงดาว ทั้งในแง่ของความโดดเด่นทางธรรมชาติว่า “เป็นดอยที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของสยาม สามารถมองเห็นได้จากเชียงใหม่ที่อยู่ไกลออกไปถึง ๓๗ ไมล์ได้อย่างชัดเจน” และความสำคัญทางวัฒนธรรมต่อคนพื้นเมืองและชาวล้านนา
ใน บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม (Surveying and Exploring in Siam) ของพระวิภาคภูวดล ซึ่งเดินทางออกจากเชียงใหม่ไปเมืองฝาง กล่าวไว้ว่า
“...เชียงดาวซึ่งเป็นหมู่บ้านมีลักษณะแปลก มีรั้วค่ายไม้ไผ่ปักรอบ ยอดเขาเชียงดาวสูงถึง ๗,๑๖๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล เป็นผาหินปูนล้วนขนาดใหญ่ชันลิ่วเกือบตั้งฉากขึ้นไปจากพื้นดินที่ราบประมาณ ๖,๐๐๐ ฟุต มองเห็นได้ชัดจากตัวเมืองเชียงใหม่ และชาวบ้านก็ไม่ยอมเชื่อว่ามีเขายอดไหนสูงไปกว่ายอดนี้ ทั้ง ๆ ที่ทางทิศใต้ห่างเมืองเชียงใหม่ประมาณสัก ๒ ไมล์เท่านั้น คือยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งสูงถึง ๘,๔๕๐ ฟุต เหนือระดับน้ำทะเล และมองเห็นได้ชัดจากตัวเมืองนั้นเอง  ในด้านการถือโชคลางนั้น ชาวบ้านเชียงดาวนับว่าเคราะห์ร้ายกว่าเพื่อนร่วมถิ่นเป็นอันมาก นอกจากจะมีความเชื่อเรื่องวิญญาณภูตผีอย่างทั่วไปแล้ว ยังถูกชาวบ้านอื่นกล่าวหาว่าสังสรรค์กับผีในลักษณะที่เป็นอันตรายด้วย กล่าวคือเป็นผีปอบ แม้ผู้ปกครองซึ่งเป็นเจ้าอนุวงศ์ เมืองเชียงใหม่ เมื่อจะเรียกประชุมชาวบ้านยังต้องร่ายคาถากันภัยจากผีปีศาจ...”
โฮลต์ ฮาลเลตต์ เดินทางถึงเชียงดาวในปี ๒๔๑๙ เขียนไว้ในบันทึก A Thousand Miles on an Elephant in the Shan
States ว่า

“...ตัวเมืองเชียงดาวเป็นที่โล่งประมาณหนึ่งในสี่ตารางไมล์ ห่างจากเชียงใหม่ ๓๗ ไมล์ ตัวเมืองสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๕๔ ฟุต มีบ้านเรือน ๒๕๐ หลัง  ชาวบ้านเชื่อว่าดอยเชียงดาวเป็นประตูสู่เมืองเทวดาและเป็นที่ประทับของเจ้าหลวงคำแดงซึ่งเป็นผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ ภายในถ้ำเชียงดาวมีแม่น้ำสายหนึ่ง และจากแม่น้ำสายนี้จะมีเส้นทางไปยังเมืองเทวดาซึ่งมีพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่  ผีเจ้าหลวงคำแดงนี้ ชาวบ้านชาวเมืองเชียงดาวจะเซ่นไหว้ด้วยควายและหมูปีละครั้ง และเจ้าหลวงคำแดงนี้จะเกิดมาเป็น ‘พระยาธรรม’ และจะเป็นผู้ฟื้นฟู พุทธศาสนา...”

ความเชื่อและความเคารพศรัทธาของคนพื้นเมืองที่มีต่อดอยเชียงดาว ว่าเป็นพื้นที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดผู้ปกป้องคนพื้นเมืองและคนล้านนา รวมถึงเรื่องราวลึกลับเกี่ยวกับถ้ำเชียงดาวซึ่งเชื่อมโยงกับตำนาน เป็นเรื่องรบกวนจิตใจของนักเดินทางเช่นศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ที่หวังจะเผยแผ่คริสต์ศาสนาในดินแดนล้านนา และต้องเผชิญกับอุปสรรค เริ่มตั้งแต่เจ้าหลวงกาวิโลรสไม่ยินยอมให้มิชชันนารีสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงทางด้านเหนือเมืองเชียงใหม่ โดยอ้างว่าจะเป็นการลบหลู่ “ภูตผีของพวกลัวะ”
Image
เมื่อแมคกิลวารีเดินทางมาสำรวจเมืองเชียงดาว ในฤดูร้อนของปี ๒๔๑๙ ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว : อัตชีวประวัติของศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี. (A Half Century Among the Siamese and the Lao : An Autobiography) ว่า
“...ต้นน้ำปิงสายหนึ่งกว้างยี่สิบฟิต แต่ลึกแค่เข่า ไหลออกมาจากถ้ำ (เชียงดาว) แห่งนี้ ในที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้จึงมีกฎห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด...ตามตำนานเล่าว่า ไม่มีผู้ใดที่ข้ามลำธารไปในถ้ำแล้วจะรอดชีวิตกลับมา เล่ากันว่าตรงยอดเขาแห่งนี้มีพระพุทธรูปทองคำที่สูงถึงเจ็ดศอก ทางเข้าถ้ำอยู่ห่างจากลำธารออกไปเพียงเล็กน้อย แล้วจึงมีถ้ำใหญ่ที่กว้างขวางโอ่โถงซึ่งใช้เป็นวัด...มีพระพุทธรูปจำนวนนับไม่ถ้วนขนาดต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่ ถ้ำแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่ง บรรดาพระภิกษุต่าง ๆ มักมาที่นี่เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา...จากห้องโถงของถ้ำที่ใช้เป็นวัด มีช่องทางแคบ ๆ ที่ทอดนำไปสู่ถ้ำต่าง ๆ ซึ่งแยกซอยออกไปหลายทาง จนกระทั่งผู้คนเกรงว่าจะหลงไปสู่ช่องทางอันมืดมิดจนไม่อาจหาทางกลับมาที่เดิมได้...พวกเรารู้ว่ามีตำนานที่กล่าวถึงยักษ์ที่กลืนกินผู้คนที่อาจหาญเข้าไปในถ้ำที่มืดมิดเหล่านั้น ความจริงแล้วแก๊สพิษที่อยู่ในถ้ำน่ากลัวมากกว่าภูตผีของกษัตริย์ลัวะผู้ยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่าสถิตอยู่ที่นั่น...”
เชียงดาวในความคิดของท้องถิ่น
สำหรับคนพื้นเมืองล้านนาเอง ดอยหลวงเชียงดาวและถ้ำเชียงดาวเกี่ยวพันกับตำนานหลายเรื่องทั้งที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ใบลานและเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมา เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานอ่างสลุง ตำนานสุวรรณคำแดง หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

บางตำนานกล่าวว่า เจ้าหลวงคำแดงเป็นราชบุตรของพญา
โจรณี ได้รับมอบหมายจากบิดาให้ตามจับกวางทอง จึงนำทหารมาจนถึงเชิงดอยอ่างสรง และได้พบกับนางอินเหลาซึ่งอาศัยอยู่ที่ถ้ำเชียงดาว จึงสร้างเมืองเชียงดาวและครองเมืองจนสิ้นอายุ  เจ้าหลวงคำแดงกลายมาเป็นเทวดาอารักษ์ของเมืองเชียงดาว คอยปกป้องคุ้มครองทั้งเมืองในล้านนาและเชียงใหม่ ถือกันว่าวิญญาณของกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทุกพระองค์จะมาสถิตอยู่ที่ดอยเชียงดาว และมีสถานะเป็นบริวารของเจ้าหลวงคำแดง

เจ้าหลวงคำแดงคือ “เก๊าผี” หรือประธานแห่งผี  ผู้สูงอายุในเชียงดาวเชื่อกันว่า ทุกวันพระผีทุกตนในเชียงใหม่จะต้องไปร่วมเฝ้าและประชุมที่ดอยหลวงเชียงดาว ในวันนั้นจะไม่มีผีมาหลอกหลอนชาวบ้าน

เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปกป้องดูแล ผีดอยหลวงเชียงดาวยังเรียกเก็บข้าวเปลือกจากชาวนาที่วางเซ่นไว้ที่หัวนาก่อนจะนำข้าวเปลือกที่ปลูกได้มาใส่ยุ้งฉาง ข้าวที่ผีกินแล้วจะเหลือเพียงเปลือก ซึ่งผีจะเก็บแกลบไว้ที่ถ้ำแห่งหนึ่งไม่ไกลจากดอยหลวงนัก เรียกกันว่าถ้ำแกลบ  ในทุกปีช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจะมีการเลี้ยงผีของชุมชนเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ

ถ้ำเชียงดาวเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่ง มีตำนานกล่าวถึงความสลับซับซ้อนของถ้ำ กล่าวถึงแม่น้ำ พระพุทธรูปทองคำ เจดีย์ ต้นโพธิ์ โรงช้างเอราวัณ ดาบสรีกัญไชย (ซึ่งเป็นของพญาธรรมิกราชที่จะมาเกิดในอนาคต) เมืองนาค หมู่บ้านผี ที่อยู่ของพระยาคำแดงที่จะคอยดูแลรักษาสิ่งของวิเศษต่าง ๆ รวมถึงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าและพระสารีริกธาตุของพระอรหันต์

ดอยเชียงดาวและถ้ำเชียงดาวจึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องราวในอดีตหรือปัจจุบัน แต่จะเป็นพื้นที่ของการรอคอยความรุ่งเรืองเฟื่องฟูที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อถึงคราวบังเกิดของพญาธรรมิกราชในพันปีที่สามหลังพุทธปรินิพพาน
พญาธรรมิกราช
และดินแดนในคำทำนาย

ในคำทำนายของพระพุทธองค์เมื่อครั้งเสด็จเยือนล้านนา กล่าวถึงพญาคำแดงและราชายักษ์ที่จะมาบังเกิดเป็นพญาธรรมิกราชของเมืองเชียงดาว

พญาธรรมิกราชสำคัญอย่างไร ? 

พญาธรรมิกราชคือกษัตริย์แห่งกษัตริย์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและบารมี บังเกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขโลกที่ปั่นป่วนวุ่นวายจากผู้ปกครอง กษัตริย์และประชาชนที่ไม่กระทำตามหน้าที่อันพึงกระทำของตน พญาธรรมิกราชเกิดมาเพื่อสถาปนาโลกและศาสนาให้ฟื้นคืนกลับมาอยู่ในร่องในรอยอีกครั้งหนึ่ง

ใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า หลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์จะมีพญาธรรมิกราชมาบังเกิดห้าพระองค์ องค์แรกเกิดที่เมืองปาฏลีบุตร องค์ที่ ๒ เกิดที่เมืองหงสาวดี เป็นพ่อค้าขายเมี่ยง องค์ที่ ๓ เกิดที่เมืองอังวะ เป็นพ่อค้าเกลือ องค์ที่ ๔ เกิดที่เมืองอโยธยา เป็นพ่อค้าขายพลู และองค์ที่ ๕ ซึ่งในอดีตคือยักษ์ที่อยู่อ่างสลุง จะมาเกิดที่เมืองเชียงดาวในพันปีที่สามหลังพุทธ-ปรินิพพาน เป็นลูกชายในตระกูลของช่างทอผ้า และมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายข้าวสาร

ตามตำนานกล่าวว่าก่อนที่พญาธรรมิกราชจะมาบังเกิดนั้น โลกจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ดังที่กวางทองคำและกระต่ายสนทนากันเรื่องบุพนิมิตอันเป็นลางแสดงถึง “ความฉิบหายแห่งสัตว์” คือ ท้าวพระยามหากษัตริย์ก็จะละทิ้งโบราณคองธรรมแห่งขัติยราช พระยาตนนั้นมัก “ถงเหล้า แอ่วกาด” (ดื่มเหล้า เดินเล่นในตลาด) เมื่อภิกษุสงฆ์นักบวชประกอบด้วยวินัยกล่าวทักท้วงก็ไม่พอใจ ท้าวพระยาเก็บส่วยไร่นาแพง ผู้รู้ไม่สนใจบุญกุศล ผู้คนไม่เคารพนับถือนักบวช มักลบหลู่ครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ทั้งหลายจะแต่งอุบายทำเป็นไม่รู้เรื่อง แม้รู้ก็เฉยเมยไม่ยอมพูด  ในกาลนั้นคนทั้งหลายจักได้ต้องอุบาทว์พยาธิทั้งหลาย เป็นตุ่มเป็นฝีเป็นหิดเป็นทูดเป็นเรื้อนตายมากนัก ข้าวยากแพงฉิบหายตายมาก จักเป็นโกลาหลกลียุคฆ่าฟันกันตาย และเมื่อนั้นก็จะถึงเวลาที่พญาธรรมิกราชจะมาบังเกิด

การเกิดขึ้นของพญาธรรมมิกราชจึงเป็นเสมือน “สระน้ำที่เคยแห้งขอด กลับมีน้ำเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ บ้านเมืองก็สุขสบายร่มเย็นอุดมสมบูรณ์”

ตำนานให้รายละเอียดว่า ครั้งเมื่อพญาธรรมิกราชจะบังเกิดขึ้นที่เมืองเชียงดาวนั้น “เสียงดนตรีจะก้องกังวาลไปหมื่นโลกธาตุ พระอาทิตย์พระจันทร์จักปรากฏแก่โลกเป็นสองดวง จะมีปราสาททิพย์สามหลัง ปราสาทแก้ว ปราสาททอง ปราสาทเงิน ผุดออกมาจากพื้นดินกลางเวียงเชียงดาว มีรางน้ำทองคำพาดจากดอยเชียงดาวลงมาเพื่อเป็นที่สรงน้ำอภิเษกแด่พญาธรรมิกราช เกิดต้นกัลปพฤกษ์สามร้อยต้น แวดล้อมด้วยปราสาทราชวัง เมืองเชียงดาวก็จะกลับมารุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของการรื้อฟื้นพุทธศาสนา”

เมืองเชียงดาวจึงเป็นพื้นที่ในคำทำนายที่ถูกกำหนดไว้แล้วอย่างแจ้งชัดถึงความสำคัญสูงยิ่งในอนาคตที่จะเดินทางมาถึง

ในอดีตที่ผ่านมา เชียงดาวจึงเป็นเป้าหมายแห่งการแสวงบุญของครูบาศรีวิชัย และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  เชียงดาวจึงมิได้มีความสำคัญแต่เฉพาะในฐานะชีวมณฑลที่สำคัญทางธรรมชาติ แต่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะเป็นดินแดนแห่งความหวังที่มนุษย์มีบทบาทอย่างยิ่งในการสถาปนาสังคมอุดมคติให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
อ้างอิง
เดเนียล แมคกิลวารี. กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว : อัตชีวประวัติของศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี ดี.ดี.. แปลจาก A Half Century Among the Siamese and Lao : An Autobiography. แปลโดย จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล. กรุงเทพฯ : สยามประเทศ, ๒๕๓๗.

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดกู่คำ


ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว สุพัฒน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล และ สุวิภา จำปาวัลย์. เจ้าหลวง
คำแดง อารักษ์เมืองของล้านนา. เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๕๐.

วิภาคภูวดล, พระ. บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม. แปลจาก Survey
ing and Exploring in Siam. แปลโดย สุมาลี วีระวงศ์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร, ๒๕๓๓.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. “ตำนานถ้ำเชียงดาว”. วารสารราชบัณฑิตยสถาน. ๒๙, ๓ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๔๗), ๗๕๒-๗๕๙.