เชียงดาว
ชาวดอย EP.02
scoop
Image
ม้งเชียงดาว
คนเป่า “เฆ่ง”
และตีเหล็ก 

เรื่องและภาพ : ภู เชียงดาว
คนม้งเป็นกลุ่มชนที่ชอบทำมาค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าทำให้มีความสัมพันธ์กับผู้คนต่างชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นราบหรือคนชนเผ่าอื่น ๆ

ม้งเป็นชนเผ่าที่เดินทางมาไกล เป็นนักสู้แห่งดอยสูง และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานทุกวันนี้หากใครมีโอกาสมาเยือนเชียงดาวแล้วได้แวะเดินเที่ยวตลาดนัดแสงจันทร์ เชียงดาว ก็จะมองเห็นบรรดาพี่น้องชนเผ่าม้งมานั่งขายของเรียงรายกันไปตามริมถนน  สินค้าที่นำมาตั้งวางขาย ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตจากสวนจากไร่ เช่น ผักกาด แตงกวา ฟักทอง เผือก มัน อะโวคาโด ฯลฯ แน่นอน การที่พี่น้องชนเผ่าม้งมานั่งขายของ ทำให้ตลาดนัดแสงจันทร์วันอังคารของเชียงดาวนั้น มีเสน่ห์ มีสีสันมากยิ่งขึ้น

กลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูงหรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตากโดยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ ๑๕๓,๐๘๐ คน

ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีชนเผ่าม้งอพยพมาตั้งถิ่นฐานกันสามหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสันปาเกี๊ยะ มีจำนวนประชากรประมาณ ๗๐๐ กว่าคน บ้านแม่มะกู้มีประมาณ ๓๐๐ กว่าคน และบ้านห้วยลึก ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนเผ่าม้งที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันหนาแน่นมากที่สุดของอำเภอเชียงดาว ประมาณ ๑,๒๐๐ คน

ทศพัฒน์ เลาจาง นายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง และเป็นผู้นำชนเผ่าม้งบ้านห้วยลึก ได้บอกเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนครอบครัวเขามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บ้านแม่โถ ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้ย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยลึกจนถึงปัจจุบัน

“สาเหตุที่ครอบครัวของเราย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยลึก ก็เพราะว่าตอนนั้นพี่น้องม้งได้มีการขอพระราชทานที่ดินอาศัยและที่ทำมาหากินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มีชาวม้งขอพระราชทานที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินจำนวนทั้งหมด ๔๒ ครอบครัวด้วยกัน ต่อมาทางเจ้าหน้าที่โครงการหลวงก็เริ่มเข้ามาบุกเบิกพื้นที่เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้กับชาวบ้าน จนกลายเป็นหมู่บ้านม้งที่ใหญ่ที่สุดในเชียงดาว”

ทางด้าน สมโภชน์ ดำรงไพรวัลย์ ชาวบ้านชนเผ่าม้งบ้านแม่มะกู้ก็บอกว่า เมื่อก่อนครอบครัวของพี่น้องม้งบ้านแม่มะกู้จะอยู่ที่บ้านขุนห้วยแม่เปา ตำบลสบเปา อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ต่อมาได้ย้ายมาตั้งชุมชนกันที่บ้านแม่มะกู้นี้กว่า ๕๐ ปีแล้ว 

“ชุมชนม้งบ้านแม่มะกู้ส่วนใหญ่จะมาจากอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย และบางส่วนมาจากอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ต่อมาจึงมีพี่น้องชนเผ่าลาหู่และพี่น้องคนพื้นราบย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน จนกลายเป็นหมู่บ้านแม่มะกู้ที่มีหลากหลายชาติพันธุ์กันไปเลย”
Image
ปราชญ์ม้ง เป่า “เฆ่ง” ตีมีด
เมื่อมีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมวิถีชุมชนก็จะพบว่า ในแต่ละชนเผ่านั้นจะมีปราชญ์ในแต่ละแขนงวิชา แตกต่างกันออกไป สำหรับชนเผ่าม้งนั้นที่โดดเด่นมากที่สุดก็คือ งานช่างฝีมือ ตีเหล็ก ทำเครื่องใช้ เครื่องประดับ การจักสาน การก่อสร้างการเย็บผ้าปัก การเขียนลายเทียน งานช่างตีเหล็ก ตีมีด ก็เป็นอีกหนึ่งวิชาที่มีความสำคัญต่อพี่น้องชนเผ่า ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้เฉพาะหมู่บ้านชนเผ่าม้งที่มีการสืบทอดวิชามาจากบรรพบุรุษ รุ่นปู่ รุ่นพ่อสืบต่อกันมา

พ่อเฒ่าไซตุ๊ แซ่หาง อายุ ๗๕ ปี บอกว่า เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ไม่นาน ไซตุ๊หรือซะตุ๊ เป็นชื่อม้ง หมายถึงลูกผู้ชาย พ่อเฒ่าเกิดและเติบใหญ่ที่บ้านขุนห้วยแม่เปา ตำบลสบเปา อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นจึงพากันอพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่มะกู้ (แม่ป๋ามนอก) แห่งนี้ เมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่ผ่านมา

พ่อเฒ่าไซตุ๊ถือว่าเป็นปราชญ์ชนเผ่าม้งหลายแขนงที่ทุกคนเห็นทุกเมื่อเชื่อวันก็คือการตีมีด ซึ่งความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการตีมีดนั้นสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จากพ่อสู่ลูกเรื่อยมา โรงตีมีดของพ่อเฒ่าสร้างแบบเพิงหมาแหงนอย่างง่าย ๆ หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า ๆ ตั้งอยู่ด้านหน้ากระท่อมไม้ไผ่ ข้าง ๆ มีกองฟืนไม้สีแดงอมดำวางซ้อน ๆ กันไว้ 

“อันนี้คือไม้ฮัก เป็นไม้ที่ใช้ทำเป็นถ่านแดง ๆ สำหรับเอาแท่งเหล็กเผาตีมีดต้องเป็นไม้ฮักเท่านั้นนะ ถ้าเป็นถ่านไม้อื่นไฟมันจะแตกใส่เรา แต่ไม้ฮักนี่มันไม่แตก แล้วไฟมันจะร้อนพอดี ๆ สม่ำเสมอ จะไม่ร้อนจนเกินไป” พ่อเฒ่าอธิบายคุณสมบัติของไม้ฮัก

ต้นฮักหรือต้นรัก เป็นต้นไม้ในตระกูล Anacardiaceae มักพบในป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ ชาวล้านนาเรียกว่า “ฮัก” หรือ “ฮักหลวง”

ที่ผ่านมาชุมชนม้งบ้านแม่มะกู้พยายามสืบทอดรักษาภูมิปัญญาชนเผ่าเรื่องการตีมีดนี้เอาไว้ ไม่ให้สูญหาย เมื่อ ๑๐ ปีก่อนได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหางบประมาณมาจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการตีมีดให้กับพ่อเฒ่าได้สืบทอดความรู้เรื่องการตีมีดเอาไว้ โดย พ่อเฒ่าได้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับลูกชายเอาไว้แล้ว

ลักษณะมีดของชนเผ่าม้งจะไม่เหมือนกับชนเผ่าอื่น ชนเผ่าม้งจะมีการตีมีดตามสภาพการใช้งาน ถ้าเป็นงานหนักตัวมีดก็จะมีลักษณะใหญ่ แต่ถ้าใช้ในการดายหญ้าจะทำด้ามมีดให้ยาวเพื่อสะดวกในการฟันหญ้า หรือถ้าตัดไม้ก็จะทำตัวมีดใหญ่ขึ้น  มีดของชนเผ่าม้ง เช่น มีดด้ามยาว (เม้าจั๊ว), เคียวเกี่ยวข้าว, ขวาน (เต่า) เป็นต้น

ทุกวันนี้พ่อเฒ่าไซตุ๊ในวัย ๗๐ กว่าปียังคงตีมีดอยู่ตามสภาพกำลังเริ่มถดถอย เมื่อมีชาวบ้านทั้งพี่น้องชนเผ่าและคนพื้นราบเข้ามาว่าจ้าง โดยพ่อเฒ่าตั้งราคาค่าตีมีดไว้ตามแต่ขนาดของมีดในราคาไม่แพงนัก

“ถ้าเอามีดเก่ามาให้ตีใหม่ เฮาจะคิดเล่มละ ๔๐-๕๐ บาท แต่ถ้าจะสั่งทำมีดใหม่ ให้เฮาหาเหล็กแผ่นมาเผา มาตี ทำมีดให้ใหม่ ก็จะตกอยู่เล่มละ ๓๐๐-๗๐๐ บาท แล้วแต่ขนาดอีกทีหนึ่ง”

ในแต่ละปีพ่อเฒ่าไซตุ๊จะทำการเลี้ยงผีให้กับโรงตีมีดนี้ ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

“เตาไฟตีมีดนี้มีผีด้วยนะ เฮาต้องเลี้ยงผีด้วย พอถึงช่วงปีใหม่เฮาจะฆ่าไก่ ทำพิธีเลี้ยงผีตรงนี้”

หากใครเดินทางมาเยือนชุมชนม้งบ้านแม่มะกู้ก็จะเห็นพ่อเฒ่าไซตุ๊สาละวนอยู่ในโรงตีมีดหน้ากระท่อมไม้ไผ่แบบนี้ เป่าไฟให้ร้อนจนเป็นสีแดง ใช้คีมเหล็กคีบแผ่นเหล็กซุกเตาถ่านร้อน ๆ สักพัก ก็คีบแผ่นเหล็กออกมาตีตรงท่อนเหล็กขนาดใหญ่ที่ตั้งปักยึดเข้ากับตอไม้ เสียงตีเหล็กดังปั๊ก ๆ ผ่านความชำนาญและเจนจัดของพ่อเฒ่า เสร็จแล้วก็ใช้คีมเหล็กคีบแผ่นเหล็กนั้นไปซุกในเตาไฟอันร้อนแรงนั้นอีกครั้ง ลงมือทำแบบนี้หลายครั้งหลายรอบ จนกระทั่งจากแผ่นเหล็กกลายมาเป็นมีดเล่มสวย โค้งงอ แข็งแรง และคม สำหรับใช้งานได้เลย

หรือบางครั้งเราจะเห็นพ่อเฒ่าไซตุ๊เดินถือมีด สะพายดาบ ย่างเดินไปตามหมู่บ้านโน้นหมู่บ้านนี้ ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อเร่ขายมีดที่เกิดจากฝีมือและภูมิปัญญาของเขา  เมื่อขายมีดมีรายได้แล้ว พ่อเฒ่าจะเดินวกกลับมานั่งตรงด้านกระท่อมไม้ไผ่ของเขาเงียบ ๆ ตามลำพัง
บทลำนำชีวิต จิตวิญญาณ
นอกจากพ่อเฒ่าไซตุ๊จะเป็นปราชญ์ชาวม้งเรื่องการตีมีดแล้ว พ่อเฒ่ายังถือว่าเป็นปราชญ์เรื่อง เฆ่งหรือแคนม้งอีกด้วย

พอเสร็จจากการตีมีด พ่อเฒ่าไซตุ๊ชอบมานั่งผ่อนคลายตรงลานดินหน้ากระท่อมไม้ไผ่ของเขา พอหายเหนื่อย อารมณ์ดี พ่อเฒ่าลุกเข้าไปในกระท่อมหยิบ “เฆ่ง” ออกมาเป่าด้วยน้ำเสียงนุ่มและเศร้า

การเป่าเฆ่ง (qeej) หรือแคนม้งนี้ ผู้เป่าจะต้องลุกขึ้นเต้นไปตามจังหวะทำนอง เยื้องย่างไปมาด้วย พ่อเฒ่าไซตุ๊บอกว่า การเป่าเฆ่งนี้มันจะเป็นเหมือนบทเพลง คนม้งที่คุ้นเคยจะรู้ว่านี่คือเพลงอะไร บางครั้งเป็นเพลงที่มีความสุข สนุกสนาน บางครั้งก็เป็นเพลงเศร้า ใช้สำหรับเป่าในงานศพของชาวม้งกัน

เช่นเดียวกัน ที่หมู่บ้านห้วยลึก ก็มีปราชญ์ชาวม้งอีกคนหนึ่งที่ถือว่ามีทักษะในด้านการเป่าเฆ่ง มากอีกคนหนึ่ง

หมู่บ้านห้วยลึกเป็นชุมชนชนเผ่าม้งที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอเชียงดาว ที่อยากให้ทุกคนได้ไปเยือนกัน เป็นชุมชนที่หาไม่ยาก เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๗ ของถนนโชตนา สายเชียงใหม่-ฝาง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๙๕ อยู่ใกล้ ๆ กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกนั่นเอง

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสัมผัสได้คือเสียงเฆ่งกำลังดังกังวาน ที่พ่อเฒ่าซือลื่อ เลาหาง ปราชญ์ชาวม้งบ้านห้วยลึก กำลังนั่งอยู่ตรงลานดินหน้ากระท่อม

ท่วงทำนองของ “เฆ่ง” นั้นดังก้องกังวาน เป็นเสียงดนตรีที่แฝงเจือความเศร้า ผ่านลำไม้ไผ่โค้งงอเรียวยาวหกลำ ทำให้หลายต้องหยุดนิ่งฟัง

“จริง ๆ แล้วเครื่องดนตรีของม้งนั้นมีหลายอย่าง อย่างเช่นปี่ภาษาม้งเรียกว่าซ่าม อีกอันหนึ่งก็จะใช้ดีดเหมือนซึง แล้วก็มีแคนม้ง ภาษาม้งเรียกกว่าเฆ่ง” พ่อเฒ่าซือลื่อบอกเล่าให้ฟัง

“เฆ่ง” ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่มีคุณค่าต่อชีวิตและจิตวิญญาณของพี่น้องชนเผ่าม้งมาเนิ่นนานตั้งแต่บรรพบุรุษสืบต่อกันมา

“เฆ่งหรือแคนม้งแบบดั้งเดิมจะทำด้วยไม้ไผ่ เฮาเรียกไม้ไผ่นี้ว่าไม้ดัง เพราะเวลาเอามาเป่าแล้วมันมีเสียงดัง เอาไม้อย่างอื่นมาทำก็ไม่ดัง” พ่อเฒ่าซือลื่อหยิบเฆ่งที่ทำด้วยลำไม้ไผ่โค้งงอนั้นยื่นให้เราดู

เมื่อสอบถามความเป็นมาของแคนม้ง พ่อเฒ่าซือลื่อบอกว่า พอจำความได้ก็เห็นคนเฒ่าคนแก่เขาเป่าเฆ่งกันแล้ว มีการสืบทอดกันมาแบบนี้ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายกันมาแล้ว 

“อย่างเฮานี่เรียนมาจากลุง พี่ชายของพ่อสอนมา ตอนนั้นจำได้ว่าตัวเองยังเป็นเด็กประมาณ ๑๐ ขวบ” พ่อเฒ่าซือลื่อบอกเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี

พ่อเฒ่าบอกว่าตอนเล็ก ๆ ต้องใช้เวลาฝึกนานพอดูกว่าจะมาเป็นเพลงอย่างนี้ ก็เหมือนเด็กเรียนหนังสือเหมือนกัน มันเรียนยังไงก็ไม่จบ

“อย่างคนไทยเขาเรียนจบดอกเตอร์กัน แต่เรียนเป่าเฆ่ง เรื่องแคนม้งนี่เรียนไม่มีวันจบ”

พ่อเฒ่าซือลื่อเป็นปราชญ์ชาวม้ง และยังใช้เวลาเป็นครูถ่ายทอดความรู้เรื่องการเป่าเฆ่งให้กับเด็ก ๆ เยาวชนลูกหลานชาวม้งอยู่ เพราะเขามีความมุ่งหวังว่าต้องหาคนสืบทอดเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป

“คือถ้าเราไม่สอน ไม่มีคนเฒ่าสอนเขาแล้ว เด็กม้งเขาก็จะทำไม่ได้ วัฒนธรรมม้งของเราก็จะหายไป ยิ่งถ้าเป็นงานศพ ถ้าไม่มีใครเป่าเฆ่งตัวนี้ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว”

นอกจากพ่อเฒ่าซือลื่อจะสอนเป่าเฆ่งในบ้านของตัวเองเวลาเย็น บางวันก็ไปเป็นครูชาวบ้าน ไปสอนให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนมิตรมวลชน บ้านห้วยลึก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกลุ่มเด็กชาวม้งทั้งนั้น

“เป่าเฆ่งนี่มันเป็นบทเพลงนะ มันมีบทกวีอยู่ในตัวเลยนะ” พ่อเฒ่าซือลื่อเอ่ยออกมาด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

เฆ่งถือเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของชนเผ่าม้งเลยก็ว่าได้ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในพิธีศพและพิธีที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้นันทนาการผ่อนคลายได้อีกด้วย

เสียงเพลงที่แว่วมาอย่างโหยหวนแสดงความสูญเสียที่สลับซับซ้อนนั้นเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ตายกับลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่

เสียงเฆ่งที่แว่วออกมาล้วนมีความหมายสอดแทรกบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้กับดวงวิญญาณได้รับรู้ เช่น ให้เขารู้ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ให้กลับมากินข้าวเช้า มากินข้าวเที่ยง มากินข้าวเย็น ให้ผู้เสียชีวิตนั้นรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ลูกหลานมอบให้ ให้ผู้เสียชีวิตนั้นมีความสุขในภพต่อ ๆ ไป ให้เดินทางไปพบบรรพชนของตนเองได้

ชนเผ่าม้งจึงถือว่าหากงานศพใดไม่มีการแสดงเฆ่ง งานศพนั้นก็จะไม่สมบูรณ์ เพราะดวงวิญญาณไม่สามารถไปสู่สุคติได้ 
เอกสารอ้างอิง
“วิถีชนคนปิงโค้ง”. วารสาร เทศบาลตำบลปิงโค้ง. ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๑ กันยายน-พฤศจิกายน ๒๕๕๖.

ฐานข้อมูลเรื่อง ชนเผ่าม้ง อ. คลองลาน จ. กำแพงเพชร. กำแพงเพชรศึกษา. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัย

ราชภัฏกำแพงเพชร. https://acc.kpru.ac.th

Image
เพลงปิ๊กกะดุ๊ต๊ะ
ดาระอั้ง
เพลงทุกข์ยากของนางหร่อยเงินโดนบ่วงแร้วนายพราน

เรื่องและภาพ : สุวิชานนท์ รัตนภิมล
ฉับพลันทันใด... ถนนดินตัดเข้ากลางหมู่บ้าน บ้านไม้แข็งแรงก็ปรากฏ เรียงไล่หลังตามแนวไหล่เขา บ้านหลังใหญ่ดูแข็งแรงมั่นคง สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของหมู่บ้านปางแดง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านไม้ไผ่ใต้ถุนสูง กระจายอยู่ตามไหล่เขา จนดูราวกับหย่อมบ้านเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่เมื่อไม่นาน เวลาผ่านไป ๓๒ ปี ทำให้หมู่บ้านปางแดงมีความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น

บ้านลุงคำ เหียง ผู้มีบทบาทสำคัญในอดีต เป็นบ้านไม้หลังใหญ่หลังงาม  ลุงคำล่วงลับไปหลายปี มีแต่คู่ชีวิตและลูกหลาน

ป่าสักรอบหมู่บ้านโตเป็นแถวเป็นแนวใหญ่โตจนเป็นป่าใหญ่ล้อมหมู่บ้าน นั่นเป็นบทเริ่มต้นของหมู่บ้านดาระอั้งหรือปะหล่องปางแดงต้องออกเดินทางมาจากบ้านนอแลบนดอยหลวงอ่างขาง  พวกเขามาเพื่อปลูกป่าให้กับองค์กรป่าไม้ในฐานะแรงงานขยันทำงาน แลกกับค่าอยู่ค่ากินพอประทังชีวิต

กระทั่งเสร็จสิ้นงานปลูกป่าพวกเขาก็ถูกทิ้งไว้อยู่ในบริเวณที่พักนั้น ราวกับชีวิตถูกถอนมาจากแผ่นดินอื่น ข้ามฟากมาอยู่อีกฟากฝั่งแผ่นดิน 

แล้ววันหนึ่งในปี ๒๕๓๒ พวกผู้ชายก็ถูกจับเข้าคุกยกหมู่บ้าน ด้วยหลอกให้ขึ้นรถไปอำเภอเพื่อไปรับผ้าห่มแจก  ๒๙ คนจาก ๔๗ ครัวเรือน และชาวบ้านลาหู่ (มูเซอ) อีกจำนวนหนึ่ง พวกเขากลับถูกนำไปขึ้นศาลในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและบุกรุกป่าสงวน  ระหว่างรอลงอาญา กระทั่งลงอาญา ศาลตัดสินจำคุก ๕ ปี เหลือแต่เด็ก คนแก่ และผู้หญิงอยู่บ้านเฝ้าเรือน มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก องค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ  มีข่าวสารเขียนถึงชาวดาระอั้งออกไปตามสื่อสิ่งพิมพ์มากมาย คนกลายเป็นเป้าสายตาของสังคม และนำมาซึ่งการขุดคุ้ยที่มาของเหตุการณ์ และชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา

ช่วงเวลานั้นเองเรื่องราวเผ่าดาระอั้งถูกเผยแพร่สะพัดออกไปในฐานะชนเผ่าล่าสุดที่เข้ามายังแผ่นดินไทย ซึ่งสังคมทั่วไปยังไม่เคยรู้ว่ามีเผ่านี้อยู่บนโลก กำลังเผชิญชะตากรรมอันยากลำบาก เรื่องราวของพวกเขาถูกเขียนถึงผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในท้องถิ่นและสื่อส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง

นักโทษทั้ง ๒๙ คนเป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม ได้รับการลดโทษลงเหลือ ๓ ปี ๖ เดือน ๑๘ วัน จึงได้ออกมาจากคุกในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ กลับมาสู่ครอบครัวบ้านปางแดงอยู่ทำมาหากินอีกครั้ง  แต่พวกเขาก็โดนจับเข้าคุกอีกสองครั้งในช่วงเวลาต่อมา ในข้อหาเดิมคือบุกรุกแผ้วถางป่าสงวน ผิดกฎหมาย และถูกลงโทษ

เพลง “ปิ๊กกะดุ๊ต๊ะ” บอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ความยากผ่านเครื่องดนตรีที่เรียกว่าดิ่งหรือพิณดาระอั้ง เพลงพื้นบ้านที่ส่งเสียงร้องด้วยความสะเทือนใจ ได้บอกเล่าการเดินทางของเผ่าดาระอั้งเหมือนเพลงประจำเผ่าก็ว่าได้  เสียงดิ่งดาระอั้งดังขึ้นเมื่อไร ความหมายของเสียงจะบ่นออกมาเช่นนี้
Image
Image

พวกเราเคยพบกับความอดอยาก
ต้องกินใบไม้แทนข้าว
ยากแค้นลำบากมาเนิ่นนาน
ความสุขสบายหนีจากเราไป
ทหารป่ามาปล้นเอาทุกสิ่งทุกอย่าง
เก็บภาษี ทั้งเงิน ทั้งข้าว
เดือดร้อนไปทั่ว  
เหมือนกำถ่านไฟแดงเอาไว้ในมือ
พวกเราต้องหนี
ต้องเร่ร่อนลี้ภัย
เราจากมาโดยไม่มีใครรู้
แม้แต่พี่น้องหรือญาติสนิท
เราจากมาโดยไม่ได้ร่ำลา

ดาระอั้งเป็นชนเผ่าในตระกูลมอญ-เขมร-ละว้า ถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกเขาคือดอยลาย เป็นพื้นที่เทือกเขาสูงบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ประเทศพม่า  พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ระหว่างเมืองปั่น (เมืองพาน) กับเมืองเชียงตอง เป็นพื้นที่สูงอากาศเย็นสบายตลอดปี มีชีวิตอยู่ด้วยการปลูกข้าว ปลูกชา ปะปนอยู่กับชาวไต  คนพม่าเรียกชาวดาระอั้งว่า “ปะหล่อง” คนไตเรียก “กุนหลอย”

พวกเขาเรียกตัวเองว่าดาระอั้ง หมายถึงฉันคือคน คนไทยกลับเรียกพวกเขาว่าเผ่าปะหล่องหรือว้าปะหล่อง ในประเทศพม่ายังมีกองกำลังนักรบของชาวดาระอั้งด้วย

พวกเขาหนีทหารป่า หนีการสู้รบบนแผ่นดินพม่าที่ยืดเยื้อมานาน เดินเท้าข้ามพรมแดนมาอยู่ฝั่งไทยบนตะเข็บชายแดนดอยอ่างขางที่เรียกว่าบ้านนอแล  ตั้งหมู่บ้านอยู่บนด่านหน้าสู้รบของกองกำลังต่าง ๆ  กลุ่มอื่นแยกย้ายออกไปขายแรงงานให้คนพื้นถิ่นในเขตอำเภอฝางและเชียงดาว เหล่านี้คือชื่อหมู่บ้านพวกเขา นอแล ห้วยหมากเลี่ยม สวนชา เวียงหวายในเขตอำเภอฝาง และบ้านปางแดงใน ปางแดงกลาง ปางแดงนอก ห้วยปง แม่จอนในอำเภอเชียงดาว

ลุงพรม เหียง วัย ๗๔ ปี น้องชายลุงคำ เหียง บ้านปางแดงนอก คว้าดิ่งหรือพิณดาระอั้งที่วางอยู่บนพื้นไม้มาตั้งสาย ราวกับจะหยิบเครื่องมือโบราณมาวางตรงหน้า ก่อนจะเล่นเป็นเพลงให้ฟัง  ด้วยเนื้อหาเพลงบอกถึงความทุกข์ความยาก ลุงพรมบอกว่านาน ๆ จะได้หยิบดิ่งขึ้นมาเล่น ทันทีที่เสียงพิณดังขึ้น สัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของเสียง เสียงที่ไม่เหมือนเครื่องดนตรีชิ้นใด ๆ  

นิ้วมือไล่เล่นไปบนสายเหล็กสามสายอย่างชำนาญ รับกับเสียงร้องเป็นภาษาดาระอั้ง

ดิ่งหรือพิณเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเผ่าดาระอั้ง สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นผ่านคนสนใจเล่น ทั้งลายเพลง เนื้อหาความหมายในเสียง ท่วงทำนองเพลง การร้องการเล่นที่เล่าถึงภาวะลึก ๆ ภายในใจ  ดิ่งทำด้วยไม้เนื้อกลาง ไม่อ่อนไม่แข็งมาก ส่วนมากจะเป็นแก่นไม้ “รัก” ถากเอาส่วนเปลือกกระพี้ออกไปบนตัวพิณแกะสลักส่วนหัวด้วยตัวสัตว์บ้าง เป็นแท่งเป็นเหลี่ยมบ้าง

เนื้อหาเพลงใช้เกี้ยวสาว เพลงเล่นในงานบุญ หรือรำพึงรำพันถึงความทุกข์ความยาก

เครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งอยู่คู่กับดิ่งนั่นคือวอหรือแคนดาระอั้ง ทำมาจากน้ำเต้าแก่จัด  แกะเอาเนื้อในทิ้ง เจาะรูเอาไม้ไผ่ประกอบเข้าไป อาศัยรูไม้ไผ่กับลมผ่านน้ำเต้า เล่นเป็นเพลงที่มีเสียงทำนองเฉพาะเช่นกัน

ดิ่งกับวอ เครื่องดนตรีสองชิ้นที่บอกเล่าต่อโลก ผู้คนต่างถิ่นถึงศิลปะและอารยธรรมที่เผ่าพันธุ์หนึ่งพึงมีบนโลก  เสียงเพลงดังขึ้นทุกครั้งสะกดจิตสะกดใจคนให้ลุ่มหลงศรัทธาได้ง่าย ๆ ด้วยความง่ายและพลิ้วไหวของเสียง

ในช่วงเวลาทุกข์ยาก เครื่องดนตรีสองชิ้นราวกับจะช่วยปัดเป่า ประคองเยียวยาใจคนอยู่ข้างหลังให้มีกำลังใจสู้ทนกับวิกฤตชีวิต และบอกคนที่ผ่านมาเยี่ยมเยือนให้รู้ว่า พวกเขาเป็นเผ่าชนที่มีอารยะ มีขนบธรรมเนียม มีศรัทธาในศิลปะดนตรีเพลงร้องอยู่ด้วย

หลายปีต่อมา นับเวลานาน ๓๐ กว่าปี... ลุงคำ เหียง ทิ้งร่างไว้บนแผ่นดินบ้านปางแดงในวัย ๘๔ ปี  ดอยลายถิ่นกำเนิดที่ลุงคำเคยบอกว่า พ่อแม่ถูกฝังร่างไว้ที่นั่นริมฝั่งน้ำสาละวินร่างลุงคำกลับละลาจากไปบนฝั่งน้ำปิง เผ่าคนของภูเขา ที่มีชะตาชีวิตทั้งระเหเร่ร่อน เผชิญผจญความยากลำบาก ต้องกินใบไม้แทนข้าว มีชีวิตเหมือนกำถ่านไฟแดงเอาไว้ในมือ ต่างทิ้งรอยไว้บนภูเขาเหมือนใบไม้ในป่า
อาหลับ แม้เกิดมาก็ไม่รู้วันเดือนปีเกิด วันนี้เติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ ท่าทางมาดมั่น มั่นอกมั่นใจ เวลาเปลี่ยนแปลงไปบนทางที่ดี มอบความแข็งแรง ยื่นความมั่นใจ ราวกับได้พบแผ่นดินใหม่ดังหวัง  เขาเป็นเจ้าของบ้านไม้หลังใหม่มั่นคง มีครอบครัว ใช้ชีวิตมีความสุขตามอัตภาพ ตอนที่ผู้ใหญ่ ๒๙ คนโดนจับจากหมู่บ้าน เขายังปีนขึ้นรถ อยากติดไปกับรถด้วย วัยไร้เดียงสาจนเจ้าหน้าที่ไล่ลงจากรถ

“ผมขึ้นรถไปสองรอบ เขาบอกยังเด็กอยู่ ขึ้นไปแล้วเขาไล่ลง ขึ้นไปอีก  เขาบอกอย่าขึ้นมาอีกนะ เดี๋ยวเขาจะเอาไปที่อำเภอ เจ้าหน้าที่ดึงแขนให้ผมลงจากรถ จูงแขนผมมาถึงบ้านตาคำ เขาบอกอย่าขึ้นมาอีกนะ  ผมคิดว่าเขาจะแจกผ้าห่ม ผมก็กลับบ้าน” เขาฟื้นความหลังครั้งนั้น

เขาเป็นมือเล่นดิ่งดาระอั้ง แต่วันนี้แทบไม่ได้จับดิ่งขึ้นมาเล่น ยังถือบัตรบนพื้นที่สูง เขาเดินเท้าติดสอยห้อยตามพ่อแม่ข้ามพรมแดนมาฝั่งไทย ในวันที่สถานการณ์หมู่บ้านคลี่คลาย เด็ก ๆ ไปโรงเรียนเรียนหนังสือ เด็กเกิดในเขตประเทศไทยได้บัตรประจำตัวประชาชน

“ไปเมืองเชียงใหม่ต้องทำเรื่องขอออกจากพื้นที่” เขายังเดินทางไกลไปไหนไม่ได้

วันนี้หมู่บ้านปางแดงในเติบใหญ่เป็น ๖๕ หลังคาเรือน ๓๒๐ คน จากแรกเริ่ม ๔๗ ครอบครัว มีไม่ถึง ๑๐๐ คน ครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น อาหลับบอกว่าแทบทุกหลังคาเรือนมีที่ดินไว้ปลูกพืชยืนต้น อย่างลำไย มะม่วง ข้าวโพด ถั่วแดง ถั่วดำที่ดินเสื่อมโทรมถูกจับจอง พลิกฟื้นปลูกพืช ครอบครัวหนึ่ง ๆ มีที่ดินนับสิบไร่ บ้างก็ขอเช่าขอซื้อที่ดินจากเผ่าลาหู่ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

นาจืน จากเด็กหนุ่มไร้เดียงสา วันนี้เลี้ยงหมู ทำสวน และยังมีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน คอยติดต่อประสานงานกับกลุ่มคนภายนอก คอยดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ท่าทีมั่นอกมั่นใจต่อแผ่นดินที่เขายืนอยู่

ช่วงเวลากลางวันของหมู่บ้านปางแดงในเงียบเชียบ ต่างคนต่างออกไปทำงาน ทั้งรับจ้าง ทั้งดูแลสวนของตัวเอง  ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่แทบจะหาร่องรอยความทุกข์ความยากไม่เจอ เดินผ่านหมู่บ้านสัมผัสได้ถึงต้นไม้พรรณพืชเติบโตกระจัดกระจายทั่วหมู่บ้าน บ้านไม้ขึ้นมาแทนที่บ้านไม้ไผ่หลังคามุงใบหญ้าคา เป็นบ้านไม้หลังคามุงกระเบื้องเหมือน ๆ กัน เป็นหมุดหมายบ้านกลางป่าที่แข็งแรง เช้าเย็นจะมีรถเข้ามารับนักเรียนไปเรียนหนังสือ มีรถยนต์จอดอยู่ในบ้านหลายหลัง มีรถมอเตอร์ไซค์แล่นไปมา เป็นภาพใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พ่อแม่ คนเฒ่าในหมู่บ้าน มักจะเล่าให้ฟังถึงตำนานชาวดาระอั้งที่สืบเชื้อสายมาจากนางหร่อยเงิน นางฟ้าจากสวรรค์ มีห่วงเงินและห่วงหวายเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงดาระอั้งอยู่กับตัวตั้งแต่เด็กอายุ ๗-๘ ขวบจนถึงผู้ใหญ่ จะใส่เป็นห่วงเงินหรือห่วงหวายแล้วแต่ใครชอบ ใส่กันตลอดชีวิต...

“ชาวดาระอั้งเชื่อว่าตัวเองสืบเชื้อสายจากนางหร่อยเงิน นายพรานมาจับนางหร่อยเงินด้วยบ่วงบาศขณะกำลังลงเล่นอาบน้ำ รุ่นแม่จะใส่ผ้าถุงนุ่งกระโจมอก  หุบผาที่เราอยู่มีคนทำเครื่องเงินโดยเฉพาะ เครื่องแต่งกายเป็นเงิน ตรงแขนเป็นปีกนางหร่อยเงิน เสื้อที่ใส่เป็นปีกนางหร่อยเงิน  ตอนที่นางหร่อยเงินอาบน้ำถอดปีกไว้ นางหร่อยเงินมีปีก  ตรงสะเอวคือเส้นขอบฟ้า วูบ ๆ วาบ ๆ เป็นประกายบนเสื้อคือดวงดาว สีแดงเป็นถนนขึ้นไปบนสวรรค์ ผ้าถุงมีลายขวางนั้นเป็นบันไดขึ้นไปบนสรวงสวรรค์”

นางคำ นายนวล วัย ๔๐ เป็นหญิงดาระอั้งที่มีความคิดความอ่านฉะฉาน พูดภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ เป็นปากเป็นเสียงพูดแทนชนเผ่าตัวเองบ่อย ๆ  นางเงียบไปชั่วอึดใจ ชั่งใจก่อนเล่าถึงภูมิหลังชีวิต
Image
“ตอนที่คำยังเด็กอยู่กับพ่อแม่ พ่อเป็นคนติดฝิ่น  ทำไร่ปลูกผักก็ไม่พอกิน  พอเราไปเขตพม่า เราก็กลัวเหยียบระเบิดไม่รู้ว่าเราจะเหยียบเมื่อไร จะโดนเมื่อไร ทำกินฝั่งไทยมันพื้นที่จำกัด พ่อกับแม่ก็พากันเร่ร่อน  มีครั้งหนึ่งน่าจะทรมานที่สุด คือไม่มีข้าวกิน พ่อก็ไปหาไม้เกี๊ยะ (ไม้สน) แล้วก็พาไปที่ป้อมหน่วยทหาร เอาไม้เกี๊ยะไปแลก เอาไปให้ทหาร ดอยอ่างขางมันหนาว  

บางกลุ่มก็มีข้าวสาร บางกลุ่มมีข้าวที่เขากินไม่หมด เป็นข้าวที่เย็นแล้ว พ่อก็แลกมา  ถ้าเรากินไม่หมดเราก็เอาไปตากแดดไว้ ตากให้แห้ง อีกวันหนึ่งก็เอามาอุ่นให้อ่อนขึ้นแล้วมานั่งกินกัน  อยู่กันไปแบบนั้นเป็นวัน ๆ  บางครั้งไม่มีก็เก็บกินข้าวโพด” บางทีฉากชีวิตจริงเหมือนละครชีวิตที่ไม่มีใครรู้เห็น  

“หลังจากนั้นคำก็เข้าโรงเรียน เรียนบ้างหยุดบ้าง อาทิตย์หนึ่งได้ไปแค่ ๓ วัน นอกนั้นก็ช่วยแม่ทำกิน  อายุ ๑๐ กว่าปีก็มาเชียงดาว  ก่อนนั้นแม่จะแยกกับพ่อ พ่อติดฝิ่น แม่บอกไม่ไหวแล้ว แต่คำรักพ่อมากอยากอยู่ดูแลพ่อ ไม่มีอะไรแทนพ่อได้  มีญาติฝ่ายแม่อยู่เชียงดาว แม่อยู่เชียงดาว ๒ ปี พ่อก็ตามแม่ลงมาอยู่ด้วย คำก็มา พ่อก็เลิกยาฝิ่น”

วิบากกรรมบ้านปางแดง ทั้งปางแดงใน ปางแดงนอก ยังเกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดิน การบุกเบิกแผ้วถางป่า ด้วยที่ดินรกร้างรอบ ๆ หมู่บ้านมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม เผ่าลาหู่ (มูเซอ) เผ่าลีซู (ลีซอ) ก็ยึดเป็นที่ทำกิน ที่ดินแถบนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าผิดหรือถูกกฎหมายอย่างไร พวกเขารู้เพียงว่าแผ้วถางที่ดินก็มีอาหารมายังชีพได้

หมู่บ้านโดนจับยกหมู่บ้านครั้งแรกปี ๒๕๓๒  โดนจับครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๔๑ และครั้งที่ ๓ เกิดกับหมู่บ้านปางแดงนอก ปี ๒๕๔๗  ความขัดแย้งของหมู่บ้านดำเนินมาถึงรุ่นลูกโตเป็นสาวมีครอบครัว นางคำเป็นหนึ่งที่โดนจับปี ๒๕๔๗ เป็นรอบที่ ๓ รอบสุดท้ายของดาระอั้งบ้านปางแดง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่เกิดขึ้น เด็กรุ่นต่อมากลายเป็นผู้ใหญ่ ได้มีส่วนร่วมสร้างหมู่บ้าน ผ่านการติดต่อกับกลุ่มคนอื่นที่เห็นอกเห็นใจ เห็นความสงบเรียบง่าย จารีตประเพณีงดงาม เข้ามาเป็นกัลยาณมิตรเพื่อหาทางออกให้หมู่บ้านปางแดงได้เกิดความสงบสันติสุขเสียที

เมื่อได้พื้นที่ดินสร้างหมู่บ้าน แบ่งที่ดินให้แต่ละครอบครัวเรียบร้อยแล้ว การขยับตัวครั้งใหม่ก็เป็นเรื่องที่ทำกิน ที่ดินใช้ปลูกพืช การรับจ้างปลูกพืชผัก ดอกไม้ในรูปแบบใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้น  ชีวิตในหมู่บ้านดูเหมือนคลี่คลายขึ้น การตั้งป้อมเป็นศัตรูต่อกันก็ผ่อนเบาลง สายตาเจ้าหน้าที่ของรัฐมองเห็นด้วยความเข้าใจมากขึ้น พอยืดหยุ่นให้ชีวิตชนเผ่าดาระอั้งได้มีที่อยู่ที่ยืนที่ทำกินได้บ้าง

การปรับตัวของคนในท้องถิ่นที่จะดึงดูดลูกค้าเข้ามาสัมผัสธรรมชาติในท้องถิ่น สัมผัสวิถีชีวิต การเพาะปลูกอย่างใกล้ชิด เครื่องแต่งกายหญิงดาระอั้งก็เป็นแรงดึงดูดหนึ่งที่จะเป็นจุดขายในความแปลกอันมีชีวิตอยู่ร่วมในพื้นที่ด้วยเอกลักษณ์เผ่าที่ไม่อาจปฏิเสธได้นี่เองกลายเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัวในฐานะส่วนประกอบหนึ่งของชุมชนนั้น ๆ อันอยู่นอกเหนือจากแรงงาน

เผ่าดาระอั้งที่มีความทุกข์ความยากเป็นอาภรณ์ติดตัวมานานราวกับจะพลัดหลงมาอยู่แผ่นดินอื่น พยายามจะสร้างเนื้อสร้างตัว ดำรงตนให้มีชีวิตอยู่ได้เหมือนคนอื่นทั่วไปในโลกตลอดระยะเวลาหลายปี ความทุกข์ความยากในตัวพวกเขาเหมือนจะยืนยันความแข็งแกร่งในตัวตน ยืนยันในความหมายของ “ดาระอั้ง” เราคือคน ผู้สัญจรมีชีวิตอยู่ตามป่าเขา
บุคคลและเอกสารอ้างอิง 
หนังสือ ดาระอั้ง เราคือผู้สัญจร ของ สุวิชานนท์ รัตนภิมล
หนังสือ สัญจรสู่สาละวิน-ถนนธงชัย ของ คืน ญางเดิม
เพลงอัลบัม “บันทึกคนต้นน้ำ” ของลีซะ-สุวิชานนท์
นายพรม เหียง บ้านปางแดงนอก
อาหลับ บ้านปางแดงใน
นางคำ นายนวล บ้านปางแดงนอก

Image
Image
ปลาย...ดอย
ท่ามกลางความผันแปรเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนชนเผ่าที่ต้องตั้งรับการมาถึงของโลกยุคใหม่ หมู่บ้านชนเผ่าต่างปรับตัว เอาตัวรอด หรือหาช่องทางใหม่ ๆ สำหรับดำเนินชีวิต

เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่อาจบอกได้ว่าความลงตัวอันสมดุลจะหยุดอยู่ที่ตรงไหน

ห้วงเวลายามนี้เราไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่จริงของชนเผ่าต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานเติบโตเป็นหลักแหล่งมั่นคงขึ้นทุกวัน สืบทอดชีวิตรุ่นต่อรุ่น พร้อม ๆ กับการเพิ่มจำนวนของประชากรขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นประชากรที่มีอยู่จริงบนถิ่นภูเขา พวกเขาปรับตัวเองให้อยู่ใช้ชีวิตไปตามสภาพความจริง ระบบสาธารณูปโภคก็เข้าไปหนุนช่วย คนรุ่นใหม่มีสิทธิ์มีเสียง มีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจในระบบโลกที่เป็นไป ท่ามกลางการมีอยู่ของทรัพยากรป่าไม้ ดิน น้ำป่า บนที่เดิม

โลกหมู่บ้านชนเผ่าบนภูเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก

คนรุ่นใหม่ที่จะสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมก็เลือกเอาส่วนที่จะประกอบให้การดำรงชีพสอดคล้องกับตัวเอง ขณะเดียวกันการไหลบ่าของระบบทุนที่ต้องพึ่งพาการซื้อขาย การผลิตเป็นจำนวนมาก ๆ พื้นที่บนภูเขาก็ยังเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ป้อนวัตถุดิบสู่เมืองใหญ่ การเกาะเกี่ยวกันเช่นนี้นำพาไปสู่การปรับตัวให้สอดรับในกันและกัน หรือรับเอาวัฒนธรรม
ต่างถิ่นเข้ามาสู่วิถีชีวิตเดิมอย่างไม่อาจเลี่ยง นับเป็นการก้าวข้ามสู่ปัญหาใหม่ ขณะปัญหาเดิม ๆ ก็ยังไม่ได้สูญหายไปไหน

จึงไม่แปลกที่จะเห็นรถบรรทุกพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้ วิ่งขึ้นลงไปตามถนนหนทางบนภูเขา ขนผลิตผลที่หมู่บ้านผลิตขึ้นลงสู่ตลาดในเมืองอย่างไร้ขีดจำกัด วันแล้ววันเล่าอันไม่อาจจะแยกสายใยสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ได้ ผลิตผลมากมายหลายอย่างเกิดขึ้นบนภูเขา ด้วยเหมาะสมทั้งดิน น้ำ อากาศ และกำลังแรงงาน

ความจริงเช่นนี้กำลังประกอบส่วนขึ้นมาใหม่ คนชนเผ่าต้องปรับตัวเองเพื่อโอกาสใหม่ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย และเพื่อความสำเร็จที่อาจจะเกิดตามขึ้นมาได้ ไม่มีทางเลือกมากมายให้กับพวกเขา เมื่อมีโอกาสจัดการชีวิตในแบบใหม่ ๆ อันอยู่รอดได้ พวกเขาจะเดินเข้าไปหาอย่างไม่ลังเล

ไม่ว่าการผลิตทางพืชผัก ไม้ผล การท่องเที่ยว หรือการแปรรูปวัตถุดิบให้มีความหลากหลายขึ้นได้เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ในชุมชนหมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่อย่างโดดเดี่ยวและไร้การเหลียวแล ถนนทุกสายทอดไปตามป่าเขามีจุดมุ่งหมายทั้งนั้น และแน่นอนถนนไปสร้างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงไหลไปหากันเร็วขึ้น

ทั่วถึงทุกพื้นที่ เรียกว่าแทบจะเหลือพื้นที่ดิบดั้งเดิมน้อยเต็มที

เมื่อดอยหลวงเชียงดาวได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากองค์การยูเนสโก นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงความหลากหลายที่มีอยู่จริงในเขตพื้นที่เขตเชียงดาว ทั้งพืชพรรณ สัตว์ป่า และชนเผ่าต่าง ๆ ล้อมรอบดอยหลวงก็รวมอยู่ด้วย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประคับประคองการมีชีวิตอยู่จริงต่อศักยภาพด้านต่าง ๆ ของเชียงดาว

สิ่งหนึ่งที่มีการปรับตัวแทบจะคล้าย ๆ กันคือการปลูกไม้ผลบนพื้นที่สูงเพื่อลดวิกฤตหมอกควันไฟ การชะล้างหน้าดิน การใช้สารเคมี ที่เป็นปัญหาเดิม ๆ ทุกปี  การเลี่ยงและลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง จึงเป็นความหวังใหม่ ทางออกใหม่ของชีวิตคนบนภูเขาว่าจะสามารถนำพาความอยู่ดีกินดีมาให้ และลดคำกล่าวหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม และมลพิษทางอากาศ

เอาเข้าจริง ชนเผ่าในอาณาบริเวณพื้นที่เชียงดาวก็ไม่ต่างจากชนเผ่าพื้นที่อื่น ๆ

พวกเขาต่างปรับตัว สัมพันธ์กับเมืองใหญ่อย่างใกล้ชิด เข้าถึงอุปกรณ์เครื่องมือยุคใหม่อย่างใกล้เคียงกัน ความหวังนับจากนี้นอกจากจะดำรงวิถีชีวิตเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะความดีงาม ความเรียบง่าย ยังจะต้องเรียนรู้ความซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ และถูกท้าทายอย่างถึงตัวคนมากกว่ายุคสมัยใด ๆ

การเข้าถึงและมีส่วนร่วมในกันและกัน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และกฎกติกาใด ๆ ที่จะทำให้ชีวิตและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไม่ทำร้ายทำลายกัน เห็นความจริงในกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจกันในฐานะมนุษย์จึงมีความสำคัญ ในฐานะประชากรของประเทศ และในฐานะของกำลังแรงงานที่หนุนช่วยกันและกัน
สังคมชนเผ่ารอบดอยหลวงเชียงดาวยังต้องข้ามผ่านอีกหลายความซับซ้อนของชีวิตและจิตใจ ที่จะอยู่กับสังคมใหญ่ได้อย่างสอดคล้องและสงบสุขร่วมกัน