Image
เชียงดาว
ชาวดอย EP.01
scoop
Image
ขึ้ น ด อ ย
เวียงเชียงดาว เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนล้านนา มีดอยหลวงเชียงดาวเป็นเสาเอกทางธรรมชาติ ส่วนเสาหลักทางวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของคนหลากหลายกลุ่มชนที่ดำรงสืบทอดกันมายาวนาน จนเชียงดาวได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชาติพันธุ์

จากการสำรวจพบว่า ในเชียงดาวมีชนเผ่าพื้นเมืองอย่างน้อย ๑๒ กลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า (อีก้อ), ลีซู (ลีซอ), ลาหู่ (มูเซอ), ปกากะญอ (กะเหรี่ยง), คะฉิ่น, ละว้า (ลัวะ), ดาระอั้ง (ปะหล่อง), ม้ง, ไทใหญ่, ปะโอ, จีนคณะชาติ และคนโยนหรือคนล้านนา

ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยระหว่างสองฟากฝั่งของแม่น้ำปิง ตามน้ำสาขาต่าง ๆ บนดอยสูง และทุ่งราบเชิงเขา กระจายไปทั่วทุกตำบลของอำเภอเชียงดาวจนจดเขตแดนพม่า สร้างบ้านเป็นหลักแหล่ง สืบทอดสานต่อวิถีชีวิตตนเองอย่างมีอัตลักษณ์ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย สิ่งของเครื่องใช้ ศิลปะ ดนตรี เมล็ดพืชพันธุ์ ทักษะฝีมือช่าง ความศรัทธาความเชื่อ ภาษาพูด ภาษาเขียน ฯลฯ ไม่ต่างจากเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ในโลก

กลายเป็นเสน่ห์อันโดดเด่นของเมืองเชียงดาว เป็นมรดกของประเทศ  เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมบนความหลากหลายของผู้คน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติป่าเขา แม่น้ำลำธาร ทุ่งราบ ทุ่งภูเขา 

ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ต่างมีธรรมชาติเชื่อมโยงเกื้อกูลกันไว้

แต่อีกด้านหนึ่งของความแตกต่างหลากหลาย ก็มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำในชีวิตความเป็นอยู่ด้วย

การใช้ชีวิตอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์นำมาซึ่งความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบอยู่เนือง ๆ จนถึงขั้นจับเข้าคุกติดตะรางก็มีให้เห็น หรือแม้กระทั่งการออกมาตรการแบ่งเขตคน ป่าอนุรักษ์ สัตว์ป่า พื้นที่เพาะปลูก ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ฯลฯ ล้วนเป็นถ้อยคำที่เกิดเป็นประเด็นปะทะโต้แย้งกันขึ้นมาบ่อย ๆ  นำพามาซึ่งข้อตกลงต่าง ๆ ทั้งที่มาจากข้อเสนอของผู้อยู่อาศัยตามป่าเขา เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีประเด็นกระทบกระทั่งในชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องเผชิญ

เรื่องราวของบางชนเผ่าที่นำเสนอในที่นี้เป็นภาพสะท้อนจากการออกไปติดตามรับฟังสภาพชีวิตความเป็นไป นำมาบอกเล่าให้เห็นมิติชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ

เพื่อจะบอกว่า เมืองเชียงดาวยังมีชีวิต

ยังมีการสืบทอดของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ไม่ว่าจะดีร้าย สวยงามหรืออัปลักษณ์บ้าง เชียงดาวยังคงเป็นเมืองแห่งเสน่ห์มนตร์ขลังมีชีวิต

เมืองในหุบเขาที่มีแกนกลางเป็นยอดภูเขาใหญ่สูงอันดับ ๓ ของประเทศ ยังมีเรื่องราวแห่งชีวิตรายล้อมอยู่...
รำมะหน่าว
ประวัติศาสตร์คะฉิ่นเชียงดาว
ในเทศกาลฟ้อนรำ

เรื่องและภาพ : ภู เชียงดาว
บนเส้นทางไปสู่เมืองชายแดนของอรุโณทัย เชียงดาว มีชุมชนเล็ก ๆ ชุมชนหนึ่งซ่อนตัวอยู่อย่างสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ระหว่างทาง เป็นหมู่บ้านชนเผ่าคะฉิ่นที่มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกัน

ชนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป คนพม่าเรียกพวกเขาว่า “คะฉิ่น” คนลาหู่เรียกว่า “ค้างฉ่อ” ส่วนคนไทใหญ่เรียก “ขาง” แต่ชาวคะฉิ่นกลับเรียกตนเองว่า “จิมเผาะ” หรือ “จิงเผาะ”

ใครหลายคนตั้งคำถามกันว่า...เคยอยู่ถึงรัฐคะฉิ่นโน้น ทำไมถึงต้องอพยพเดินทางมาไกลถึงที่นี่ได้ ? !

แน่นอน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าอื่น ๆ ในประเทศไทย หลายคนอาจมองว่าคะฉิ่นเป็นเพียงชนเผ่ากลุ่มเล็ก ๆ และอยู่กันเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีบทบาทโดดเด่นอะไรในเมืองไทย แต่เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองกัน แล้วได้นั่งสนทนาพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้นำ ชาวบ้านแล้ว ถือว่ากลุ่มชาติพันธุ์คะฉิ่นนี้มีความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และมีวัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจโดดเด่นเป็นอย่างมาก

สมชาติ ละชี รองประธานสภาวัฒนธรรมคะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าให้ฟังว่า สาเหตุหนึ่งที่พม่าอยากเข้ามาครอบครองดินแดนของคะฉิ่น ก็เพราะว่าเมืองของคะฉิ่นนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแร่ พลอย หยก ทองคำ ทองคำขาว และน้ำมัน อยู่เต็มไปหมด ทำให้รัฐบาลพม่าอยากได้ อยากเข้ามาครอบครอง จนต้องมีการสู้รบกันไม่จบไม่สิ้น

“พี่น้องคะฉิ่นต้องอยู่กันอย่างทุกข์ใจตลอด เพราะทหารพม่ามักจะขึ้นมาสู้รบกับเรา พี่น้องคะฉิ่นเราถูกกดขี่ และต้องอยู่กันอย่างหวาดระแวง อยู่กันไม่เป็นสุขเลย”

กลุ่มที่เข้ามาร่วมรบในสงครามปราบคอมมิวนิสต์สมัยก๊กมินตั๋ง มาตั้งค่ายอยู่ที่ถ้ำงอบ ชายแดนไทย-พม่า ในเขตพื้นที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่

สมชาติบอกว่า พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นจะมีกำลังพลทหารคะฉิ่นอยู่ประมาณ ๑๐๐ นาย ที่ประจำการอยู่ที่ถ้ำงอบ บางครั้งถ้าจะมีการสู้รบกับทหารพม่าครั้งใด ก็จะมีการเสริมกำลังพลมากถึง ๑,๐๐๐ นาย

เมื่อสงครามสิ้นสุดลง พวกเขาไม่ได้กลับสู่ภูมิลำเนาที่รัฐคะฉิ่น แต่ตัดสินใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแทน แล้วแต่งงานกับชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามบริเวณเทือกเขาตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่
การตั้งถิ่นฐานของชาวคะฉิ่นในประเทศไทยจึงเริ่มขึ้นท่ามกลางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่าง

“พวกเราไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเป็นคนคะฉิ่น เพราะไม่มีใครรู้จัก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีชาวเขาเผ่าคะฉิ่น เราจึงบอกว่าเป็นชาวเขาเผ่าอื่น ๆ และทำตัวให้กลมกลืนกับชุมชนชาวเขาที่เราอาศัยอยู่ด้วย เช่น ชาวคะฉิ่นที่แต่งงานกับชาวลาหู่ อาข่า หรือกะเหรี่ยง ก็จะทำตัวกลมกลืนกับชนเผ่านั้น ๆ” คำกล่าวของผู้เฒ่าคะฉิ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยกลุ่มแรก ๆ ทำให้เห็นภาพการปรับตัวของชนเผ่าคะฉิ่นได้เป็นอย่างดี

การรวมตัวกันเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๙ มีชาวคะฉิ่นเพียงเจ็ดครอบครัวเท่านั้นที่ตัดสินใจมาอยู่ด้วยกันที่หมู่บ้านปางมะเยา ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยอาศัยรวมกับชาวลาหู่

เมื่อชาวคะฉิ่นที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในเมืองไทยทราบข่าวว่ามีหมู่บ้านคะฉิ่นตั้งขึ้น พวกเขาจึงตัดสินใจมาอยู่รวมกันที่นี่มากขึ้น จำนวนครอบครัวชาวคะฉิ่นจากจุดเริ่มต้นเพียง ๑๓ ครอบครัว จึงเพิ่มเป็น ๑๐๓ ครอบครัวอย่างรวดเร็ว

หลังจากชาวคะฉิ่นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตั้งรกรากในประเทศไทย จนกลายเป็นหมู่บ้านบ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่นแล้ว ต่อมายังมีชาวคะฉิ่นที่อาศัยอยู่ในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า เดินทางอพยพเข้ามาพึ่งพาญาติพี่น้องคะฉิ่นในไทยมากขึ้นอีกด้วย

“ตอนนั้นพ่อบอกว่า คะฉิ่นรุ่นแรกที่เข้ามามีทั้งหมด ๑๘ ครอบครัว จำนวน ๑๐๐ กว่าคน ต่อมาโครงการหลวงหนองเขียวได้เข้ามาตั้งอยู่ในชุมชน แต่ปัจจุบันนี้ผู้คนเริ่มขยายกันมากขึ้น มีทั้งหมด ๑๒๕ ครอบครัว มีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ ๑,๓๐๐ คน”

จึงถือได้ว่าหมู่บ้านบ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่นเป็นชุมชนคะฉิ่นที่มีการตั้งถิ่นฐานถาวรแห่งเดียวในประเทศไทย

นอกจากนั้นชนเผ่าคะฉิ่นได้กระจัดกระจายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ เช่น อำเภอฝาง อำเภอพร้าว และบางส่วนย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงรายและจังหวัดตาก ตลอดจนมีการกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่หลาย ๆ แห่ง เช่น เมืองเชียงใหม่ ลำพูน กรุงเทพฯ พัทยา ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรสาคร อยุธยา เป็นต้น ซึ่งล้วนอยู่ในภาคแรงงานกันเป็นส่วนใหญ่

มีการสำรวจกันว่า ปัจจุบันมีชนเผ่าคะฉิ่นอาศัยกระจัดกระจายอยู่ในประเทศไทยประมาณ ๑.๕ หมื่นคน

ชนเผ่าคะฉิ่นจึงมีประเพณีการรำมะหน่าว (Manau) ซึ่งเป็นประเพณีที่เป็นศูนย์รวมเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันและกัน

ประเพณีรำมะหน่าวถือว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติคะฉิ่น สืบทอดกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณจนมาถึงปัจจุบัน พิธีรำมะหน่าวในอดีตนั้น จะจัดขึ้นเพื่อถวายสักการะแด่นัตมะได (Madai) และจัน (Jan) ซึ่งเป็น “ผี” ที่มีอำนาจบันดาลสันติและความสุขความเจริญแก่มนุษย์ การเต้นรำมะหน่าวตามแบบความเชื่อดั้งเดิมของคะฉิ่นจะต้องคารวะนัตทั้งสองก่อนเสมอ โดยมีหมอผีเป็นผู้นำพิธีเซ่นไหว้ด้วยวัว ควาย หมู หรือไก่

ต่อมาชาวคะฉิ่นได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้การรำมะหน่าว ได้เปลี่ยนมาเป็นการสักการะพระผู้เป็นเจ้าแทนที่จะเป็นนัต

ในอดีตนั้นจะมีการรำมะหน่าวในยามศึกสงครามด้วย ซึ่งเรียกกันว่านิงธานมะหน่าว (Ningh-tawn Manau) ที่จัดเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกรบ เป็นการสักการะวีรบุรุษสงครามที่ได้จากไปแล้วและกระตุ้นความฮึกเหิมให้แก่นักรบ ผู้รำจะใช้อาวุธประจำตนชี้ขึ้นฟ้าและปลดอาวุธลงเมื่อจบการรำ หลังเสร็จพิธีก็จะออกรบทันที

นอกจากนั้นมีการ “หน่าวซอดมะหน่าว” (Nau Sawt Manau) สำหรับช่วงพักรบ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจทหาร เป็นการบูชานัตเล็ก ๆ ตนสองตน และใช้เสามะหน่าวกระดาษแข็งหรือผ้าทำลวดลายง่าย ๆ เท่านั้น จากนั้นหากได้รับชัยชนะในสงครามก็จะมีปาดังมะหน่าว (Padang Manau) ที่จัดขึ้นเพื่อขอบคุณนัตและฉลองชัยชนะจากการออกรบ

ปัจจุบันที่เมืองมยิจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ยังคงจัดพิธีการรำมะหน่าวกันขึ้นทุกปี เพื่อแสดงถึงการรวมพลัง เป็นศูนย์รวมจิตใจ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ชนชาติคะฉิ่นในการปกป้องพิทักษ์รักษาแผ่นดินของตนเอง

ในขณะที่พิธีรำมะหน่าวในประเทศไทยนั้นได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒-๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ที่บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งหมู่บ้าน หลังจากนั้นจึงได้มีพิธีรำมะหน่าวกันในทุก ๒ ปี
Image
Image
ภายในงานประเพณีรำมะหน่าว บริเวณลานหญ้ากว้างกลางหมู่บ้าน ทุกคนที่ไปเยือนจะมองเห็นเสามะหน่าวตั้งปักไว้สูงเด่นเรียงกันเป็นแนวนอน ๑๐ เสาติดกัน โดยแต่ละเสาก็จะมีลวดลายสีสันงดงาม แต่แฝงไว้ด้วยความหมาย มีทั้งรูปใบไม้ ต้นไม้ สัตว์ต่าง ๆ เช่น นกเขา เสือ ปลา มังกร กบ ฯลฯ ว่ากันว่าล้วนซ่อนนัยบ่งบอกถึงภาวะและคุณสมบัติที่แตกต่างของมนุษย์ นอกจากนั้นที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ภาพของตะวัน จันทร์ ดาว  ซึ่งบ่งบอกถึงการดำรงชีวิตของสัตว์โลกจักรวาล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้สร้าง

และที่โดดเด่นก็คือ มีการสลักลวดลายแผ่นไม้เป็นรูปนกเงือกตัวใหญ่ทอดยาวระหว่างเสามะหน่าวนกเงือก หมายถึงประธานแห่งนก หมายถึงความรัก ความสามัคคี สันติสุข และการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสรรพสัตว์ในโลกใบนี้

ในตำนานของชาวคะฉิ่นมีการบอกเล่าเอาไว้ว่า การเต้นรำมะหน่าวจัดขึ้นในโลกที่ปกครองโดยสุริยเทพ ในพิธีประชุมของสุริยเทพจะมีการเต้นรำมะหน่าว ซึ่งราชาแห่งนกและนกยูงได้เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย สุริยเทพได้ชวนเหล่านกบนโลกซึ่งปกครองโดยราชานก Hkung Rang U มาเต้นให้พระองค์ได้ชม เมื่อ
กลับมายังโลกและบินหากินลูกไม้ นกก็รู้สึกคล้ายกำลังร่ายรำ จึงชวนนกอื่น ๆ มาเต้นรำด้วยกัน และนกเหล่านี้ก็ได้สอนให้ชาวคะฉิ่นเต้นรำมะหน่าว จนกลายเป็นการเต้นรำที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวคะฉิ่นตั้งแต่นั้นมา

งานรำมะหน่าวจะเริ่มต้นเมื่อเสียงกลองใหญ่ ฆ้อง แตร ฉาบ ขลุ่ย ดังกังวานขึ้น จากนั้น “หน่าวซอง” ผู้นำเต้นรำหัวแถวสวมชุดสีเหลือง สวมหมวกปักร้อยด้วยหางนกยูงและเขี้ยวหมูป่า เดินถือดาบ พาพี่น้องชาวคะฉิ่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ออกนำเต้นรำหมู่ไปรอบ ๆ เสามะหน่าวกลางลานหญ้า ผู้ชายที่ร่วมเต้นรำมะหน่าวจะถือมีดดาบไม้ ส่วนผู้หญิงจะถือผ้าเช็ดหน้าสีขาว กวัดแกว่ง โบกไปมาตามจังหวะลีลาของการเต้นรำ

ว่ากันว่าท่ารำมะหน่าวมีลีลาการรำคล้ายกับผีเสื้อบิน ซึ่งมีท่วงท่าสวยงามอ่อนช้อยพลิ้วไหวไปมา

ประเพณีการรำมะหน่าวนั้นจะมีการจัดขึ้นในทุก ๒ ปี ในช่วงต้นเดือนธันวาคม บริเวณลานหญ้าในหมู่บ้านบ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น ซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่รู้ข่าวต่างพากันมาเที่ยวชมกันอย่างล้นหลาม บางคนถึงกับกระโดดเข้าร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนานรื่นเริงใจ

การรำมะหน่าวจึงเป็นประเพณีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของชนเผ่าคะฉิ่น ในแง่ของการสะท้อนถึงอัตลักษณ์เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นคะฉิ่น รวมทั้งเป็นประเพณีที่เชื่อมความสัมพันธ์ในระหว่างกลุ่มย่อยต่าง ๆ ของชนเผ่าคะฉิ่นได้มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้ 

“จะไดปัน” หรือ ภัทรินญา จอมดวง หญิงชนเผ่าคะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่นบอกเล่าว่า ในงานเต้นรำมะหน่าวที่บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่นในแต่ละครั้งที่จัดขึ้นมา จะมีพี่น้องชนชาติคะฉิ่นที่มาจากเมืองมยิจีนา รวมทั้งชาวคะฉิ่นที่อพยพลี้ภัย กระจัดกระจายอาศัยอยู่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ต่างพากันเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง

“หลังจากที่เรากระจายข่าวกันออกไปว่า เราจะมีประเพณีรำมะหน่าวกันที่บ้านใหม่สามัคคีคะฉิ่น ที่เชียงดาว ก็จะมีพี่น้องคะฉิ่นเดินทางมาจากหลาย ๆ ประเทศ มาร่วมงานกันเยอะมาก เท่าที่เราจำได้ จะมาจากรัฐคะฉิ่น จีน พม่า อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เนปาล นอร์เวย์ ออสเตรเลีย กัมพูชา ฮ่องกง มาเลเซีย หลายคนเป็นเครือญาติแล้วมาเจอกันที่นี่ บางคนไม่ได้เป็นญาติ แต่ก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยน สนิทสนมคุ้นเคยกันที่นี่ ทุกคนตื่นเต้นมากที่ได้มางานนี้ ทุกคนจะพร้อมใจร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งงานจะมีทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งงานรำมะหน่าวนี้ทำให้พวกเรารู้สึกว่า เราเป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีวัฒนธรรม มีพื้นที่ มีตัวตน รู้สึกภูมิใจในความเป็นคะฉิ่นเป็นอย่างมาก”

เป็นความหวังท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ของตนนั้นสูญหายไป อีกทั้งทำอย่างไรถึงจะให้ชุมชนคะฉิ่นนั้นสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน  
ขอขอบคุณ
สมชาติ ละชี, แสงชัย วารินอมร, พ่อเฒ่าซอ หรือ กว่าเจก่ำ, ภัทรินญา จอมดวง

หนังสืออ้างอิง-งานวิจัย

ภู เชียงดาว. เด็กชายกับนกเงือก...ความงาม ความหวัง เผ่าชนคนเดินทาง. สำนักพิมพ์วิถีชน, มกราคม ๒๕๔๗.

โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าว (MANAU) ของชนเผ่าคะฉิ่นในชุมชนบ้านใหม่สามัคคี
คะฉิ่น หมู่ ๑๔ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, อนุชาติ ลาพา และคนอื่น ๆ โดยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), มกราคม ๒๕๕๗.

มนตรี กาทู และคณะ. กะฉิ่น : เมื่อวานและวันนี้. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กันยายน ๒๕๕๕.

Image
ปกากะญอ
ป่าตึงงาม
เจ้าชีวิตจะกลับมา

เรื่องและภาพ : สุวิชานนท์ รัตนภิมล
เผ่าคนปกากะญอในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น แม่คองซ้าย ป่าตึงงาม ยางปูโต๊ะ บ้านออน ผาลาย แม่ป่าเส้า และอีกหลายหมู่บ้านในเขตตำบลเมืองคอง ตำบลแม่นะ  สิ่งหนึ่งที่ยืนยันเอกลักษณ์เฉพาะเผ่า คือวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่า ชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย ปลูกข้าว การเก็บเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมไว้ และดำรงชีวิตข้ามวันคืนกับฤดูกาลธรรมชาติรอบตัว

ปกากะญอ แปลตรงตัวว่า ฉันคือง่าย ๆ ฉันมีใจไม่ซับซ้อน ฉันคือง่ายในชีวิตความเป็นอยู่ แสดงออกให้เห็นในชีวิตเคลื่อนไป ท่าทีคำพูดคำจา การพบปะหยิบยื่น  อย่างเสื้อผ้าผู้ชายที่สวมใส่ ดั้งเดิมนั้นเป็นผ้าชิ้นเดียว เหมือนถุงกระสอบที่มีแขน ปลายเสื้อยาวกรอมน่อง ไปไหนมาไหนก็เป็นเสื้อผ้าตัวเดียว

ปกากะญอบ้านป่าตึงงาม ๑๒๒ หลังคาเรือน ๕๐๐ คน ตั้งบ้านเรือนอยู่บนฝั่งน้ำป๋าม ลำน้ำสาขาแม่น้ำปิง  แยกขวามือจากถนนทางหลวงจากอำเภอเชียงดาว-ฝาง ปากทางเป็นสำนักงานหน่วยงานรักษาป่าไม้ ลึกเข้าไปราว ๑๐ กิโลเมตร ตลอดสองข้างถนนเต็มไปด้วยป่าไม้ต้นไม้แน่นหนา ผ่านบ้านออนบ้านคนปกากะญอผสมบ้านคนเมือง จนสุดถนนก็พบป่าตึงหรือป่าตองตึงต้นใหญ่ ๆ ที่ตั้งของหมู่บ้านอิงพิงแนวภูเขาใหญ่เด่นสง่างามอยู่ด้านตะวันออก สองยอดเขาเด่นสูงกว่ายอดอื่นสูงลิบโด่เด่ เป็นกำแพงธรรมชาติอยู่คู่หมู่บ้าน

หมู่บ้านตั้งชื่อตามไม้ตึงหรือไม้ตองตึง ไม้ใบกว้างในตระกูลยางเหียงใช้มุงหลังคาบ้าน  เดิมทีบรรพบุรุษผู้นำหมู่บ้านคนแรกมาจากบ่อแก้ว เขตอำเภอสะเมิง (เชียงใหม่) เพียงห้าหลังเท่านั้น เติบโตสืบลูกหลานจนเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้นมา

บ้านป่าตึงงามเคยผ่านช่วงเวลาสัมปทานป่าไม้สัก ไม้สักเนื้อดีออกไปจากป่าเป็นจำนวนมาก ไปตามลำน้ำป๋าม สู่แม่น้ำปิง  ภาพช้างชักลากซุง ชักลากไม้ เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้านต่อเนื่องนานหลายปี เส้นทางเข้าหมู่บ้านก็เป็นเส้นทางเก่าที่เคยถูกใช้ชักลากไม้ซุงมาก่อน

สิ้นสุดเวลาไม้ซุง หมู่บ้านก็เติบโตขึ้น ตั้งรกรากอย่างแน่นอน จึงเกิดที่นา ๗๐ ปีจนถึงปัจจุบัน ถึงกระนั้นชุมชนบ้านป่าตึงงามใช่ว่าจะเป็นชุมชนแรกที่ตั้งถิ่นฐาน  ด้วยความเหมาะสมของที่ราบกว้างริมฝั่งลำน้ำ ยังปรากฏร่องรอยชุมชนลัวะโบราณเคยตั้งถิ่นฐานมาก่อน  มีการขุดพบก้อนอิฐ ไปป์ หม้อดินเผา บ้องยาสูบ และรอยวัดร้าง กระจายอยู่ทั่วอาณาบริเวณในหุบเขา ที่ยืนยันได้ว่าเคยมีชุมชนเก่าแก่มาก่อน
Image
Image
Image
Image
ชาวบ้านใช้ชีวิตกันปรกติตามวิถีดั้งเดิม กระทั่งมีการประกาศเขตอุทยานศรีลานนา  เขตอุทยานขยายทับลงไปบนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เป็นสิ่งใหม่ที่ชาวบ้านต้องปรับตัว มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตั้งด่าน ควบคุมดูแลเขตป่าอย่างใกล้ชิด ทั้งห้ามเข้าห้ามใช้พื้นที่ จนเกิดความระส่ำระสายไม่มั่นคงต่อการอยู่ทำกิน  

กระทั่งนำไปสู่การจับกุมชาวบ้านที่ตัดไม้ในพื้นที่ที่เคยทำกินมีความขัดแย้งกันจนแทบหาทางออกไม่ได้ กลายเป็นปัญหาปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชาวบ้านนานติดต่อกันหลายปี

เพิ่มพูน พิโน อดีตผู้ใหญ่บ้านคนรุ่นใหม่บ้านป่าตึงงาม ได้บอกเล่าถึงสภาพเป็นไปของหมู่บ้านในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน หมู่บ้านปรับตัวสัมพันธ์กับโลกภายนอก แต่ก็ยังดำรงวิถีทางที่เป็นเสมือนคำประกาศของหมู่บ้าน

บ้านป่าตึงงามเคยเป็นส่วนหนึ่งของบ้านแม่ป๋าม (หมู่บ้านคนเมือง) ก่อนจะแยกมาเป็นหมู่บ้านเดี่ยว นับถือศาสนาคริสต์พุทธ และผีดั้งเดิม จึงประสมประสานความเชื่ออยู่ร่วมกันจากพื้นชีวิตเดิมที่เคยนับถือผีมาก่อน จึงไม่ใช่ปัญหาของการอยู่ร่วมกัน

เพราะเป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ยังสมบูรณ์ มีน้ำแม่ป๋ามไหลผ่าน มีที่ราบกว้างที่เป็นที่นาปลูกข้าว มีภูเขาเป็นกำแพงสูงอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผืนป่าสีเขียว ภูเขายังคงสภาพดั้งเดิม จึงเป็นทรัพยากรหมู่บ้านที่สำคัญ  ดึงดูดให้ผู้คนที่โหยหาธรรมชาติอยากเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม

พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันชื่อ เศรษฐี พะโย หรือ บือโซ พะโย  ชื่อปกากะญอหมายถึงข้าวลีบ เป็นคนรุ่นใหม่กระตือรือร้นกับการทำงาน ประสบการณ์ที่หลากหลาย ด้วยเคยบวชเรียนและเคยมีประสบการณ์ทำงานอยู่ในเมืองใหญ่มาก่อน พอกลับบ้านจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาหมู่บ้านให้รู้เท่าทันกับโลกที่กำลังคืบหน้าไป

ท่ามกลางความขัดแย้งแย่งชิงพื้นที่ ความคลุมเครือของหมู่บ้านกับเจ้าหน้าที่  เศรษฐี บือโซ พะโย ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันบอกเล่ากระแสความเปลี่ยนแปลงยังพัดเข้าใส่หมู่บ้าน

“ข้าวโพดเข้ามาปี ๒๕๔๕ ชาวบ้านเริ่มบุกเบิกขยายพื้นที่ทำกิน จากไร่หมุนเวียนจะกลายเป็นพื้นที่ข้าวโพดแล้ว  ก่อนหน้านั้นยังเป็นไร่หมุนเวียนเยอะ พอเป็นข้าวโพดมันง่าย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คุณมีพื้นที่ทำกิน ผมเอาเมล็ดพันธุ์มาให้เอาปุ๋ยมาให้ คุณลงแรงกับพื้นที่ มันง่าย  ถึงเวลาเก็บข้าวโพด หักต้นทุนก็เป็นกำไรของเรา  ชาวบ้านไม่มีทุนอยู่แล้ว มันง่าย นายทุนเข้ามามีเงินให้ เรามองเห็นปัญหา ข้าวโพดเป็นตัวปัญหา ทำลายน้ำ ทำลายป่า ผมบอกมันต้องปลูกไม้ยืนต้น งบประมาณลงมา เราเอากล้าไม้ ไม่เอาถนน  อยากได้ป่าต้องลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

“เมื่อก่อนเป็นดอยทุกข์ดอยยาก หากินลำบาก ปัจจุบันเป็นดอยเงินดอยทอง ทุกคนวิ่งขึ้นมาบนดอย” สิ้นเสียงพ่อหลวงเศรษฐี ผู้นำรุ่นใหม่ ผู้กล้าลองแนวทางใหม่ให้กับหมู่บ้าน ทั้งเรื่องป่า น้ำ ดิน เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ มองอย่างเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้น
Image
Image
หมู่บ้านกำลังปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง จู่ ๆ เชื้อร้ายโควิด-๑๙ ก็แพร่สะพัดผ่านเมืองใหญ่ไปทั่วอาณาบริเวณหย่อมบ้านชนบท ไม่เว้นหมู่บ้านห่างไกลตามซอกภูเขา เหมือนบททดสอบครั้งสำคัญ จะอยู่อย่างไรกับสถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้น

“หมู่บ้านผมไม่มีโควิด เราป้องกันคนออกไปข้างนอก ปิดหมู่บ้าน ๑ เดือนทันที ไม่ให้คนในหมู่บ้านออกไปคลุกคลีกับคนมีความเสี่ยงสูง  ป้องกันคนเข้ามา กันคนออกไป จัดเวรยามเฝ้าหมู่บ้าน ตั้งด่าน ทำทุกอย่าง ปิดตาย ๑ เดือน” หมู่บ้านพึ่งพาตัวเองได้ มีข้าวพอกิน มีอาหารเพียงพอสำหรับทุกครัวเรือน

“หมู่บ้านไม่เดือดร้อนเรื่องอาหารการกิน หมูเห็ดเป็ดไก่มีหมด อยู่สบาย ข้าวยังเหลือแบ่งบ้านอื่น เดือดร้อนเรื่องเดียวคือน้ำมันรถ จะออกไปซื้อหรือ  เราปรึกษากัน เขาจะไปซื้อหาน้ำมัน จำเป็นต้องใส่รถไปสวนไปไร่  รถมอเตอร์ไซค์มีถึง ๑๐๐ คัน ไปสวนมันไกล  ถ้ายอมให้ออกไปก็ซื้อโน่นซื้อนี่อีก เอาไงดี  สุดท้ายไม่จำเป็น ไม่ให้ใครออกไปซื้อน้ำมัน น้ำมันหมดก็เดิน”

คล้ายเหตุการณ์ในเพลง “อึทา” เพลงพื้นบ้านที่บอกไว้ ถ้าเกิดวิกฤตชีวิต ขอให้ลูกหลานปกากะญอจับกอข้าวเอาไว้ ถ้าถึงคราวต้องเดิน ปกากะญอจะเดินเร็วที่สุด

“พิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเราอยู่ได้ ขอให้พอเพียงจริง ๆ อย่าพอเพียงแต่ปากพูด ต้องทำให้เห็น  ครั้งนี้ได้เห็นจริง ๆ ว่าเราอยู่ได้”

ช่วงเวลาที่ทุกคนต้องปรับตัว ออกมาจากความเคยชินที่ต้องสัมพันธ์กับภายนอก กลับมาอยู่กับตัวเองตามแบบวิถีเดิมกลับมาช้าลง ลดความเร็วชีวิต ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่จริง ไม่มีการซื้อขายกับภายนอกตลอดระยะเวลา ๑ เดือน กลายเป็นบททดสอบที่มีคุณค่า ทำให้ทุกคนตระหนักในความจริงว่าต้องพร้อมใจการพึ่งพาตนเอง  โลกภายนอกมีความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน เป็นอีกหนึ่งบทเรียนร่วมกันของหมู่บ้านที่ดำรงอยู่ในแบบวิถีดั้งเดิม

เหมือนสิ่งยืนยันในความหมาย คุณค่าการมีชีวิตอยู่ของชุมชนที่ดำรงชีพอยู่ในแบบขนบความมั่นใจตัวเอง พึ่งพาสังคมภายนอกที่จำเป็น  อย่างไรก็ตามโลกยังเปลี่ยนผัน ไม่แน่นอน สถานการณ์ชีวิต ขับเคลื่อนไปตามสถานการณ์โลกยุคใหม่ อยู่ในซอกมุมไหนก็ตกอยู่ในคลื่นสมัยใหม่ จะหลบเลี่ยงได้อย่างไร

บทเพลง “อึทา” เก่า ๆ ยังย้ำเตือนใจคนปกากะญอ
เอะ ก่อ เก่อ ตอ ก่อ เห เคร่
ก่อ เม่ หมื่อ วา โข่ วี เก

กินบนดิน

รักษาแผ่นดินให้ดี  
ผืนดินอุดมสมบูรณ์
เจ้าชีวิตจะกลับมา 

(พะตีจอนิ โอ่โดเชา แปลความหมาย)
Image
ลีซูนาเลา
ผู้เฒ่าแห่งความสุข
กับลูกสาวของภูเขา

เรื่องและภาพ : ภู เชียงดาว
“เดี๋ยวเฮาจะมาดีดซือบือกับเป่าฟุหลุให้สูเขาฟังนะ” 

พ่อเฒ่านั่งบนก้อมไม้เล็ก ๆ ข้างกองไฟ กำลังดีดซือบือ (ซึงหนังแลน) เครื่องดนตรีของชนเผ่าลีซู เสียงซือบือดังไพเราะกังวานไปทั่วหุบเขา จากนั้นพ่อเฒ่าก็ลุกขึ้นยืนตรงระเบียงไม้ไผ่ แล้วหยิบฟุหลุ (แคนน้ำเต้า) มาเป่า พร้อมทำท่าทางเต้นรำไปมาตามจังหวะของดนตรี เบื้องหน้านั้นคือเทือกดอยหลวงเชียงดาวตั้งตระหง่านสูงเด่น 

“ตอนนี้เฮาอายุได้ ๗๘ ปีแล้ว เฮามีลูกทั้งหมด ๑๓ คน ตอนนี้ใหญ่กันหมดละ แต่ถ้ารวมทั้งลูกชาย ลูกสาว ลูกเขย ลูกสะใภ้ และหลาน ๆ ละอ่อนทั้งหลาย เฮามีลูกหลานญาติพี่น้องทั้งหมด ๕๕ คนเลยนะ ตอนนี้บ่ไปไหนแล้ว เฒ่าแล้ว อยู่กับลูกกับหลานนี่แหละ มีความสุข สบายใจดี” พ่อเฒ่าบอกด้วยน้ำเสียงอิ่มเอิบและภาคภูมิใจ

“แล้วนี่คือซือกีเมะ แปลว่ารากไม้ เป็นหลานลีซูตัวน้อยของเฮา กำลังอายุ ๕ เดือน” พ่อเฒ่าหล้า อุ้มหลานตัวน้อยพร้อมกับโยกตัวร้องเพลงกล่อมเด็กฮึมฮัม ๆ ไปมา

การที่พ่อเฒ่ามีลูกหลานเต็มบ้านเต็มดอย แถมยังร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ดี ไปไหน ๆ ก็พกเครื่องดนตรีประจำเผ่าคอยเล่นดนตรีให้ผู้คนที่พบเห็นไปมานั้นบ่งบอกถึงความเป็น “พ่อเฒ่าแห่งความสุข” บนดอยสูงอย่างแท้จริง

เมื่อพูดถึงความเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ในประเทศไทย “ลีซู” ถือว่าเป็นชนเผ่าที่มีเสน่ห์ มีสีสัน ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และการแต่งกาย ล้วนน่าสนใจมากอีกชนเผ่าหนึ่ง

จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวลีซูถึงเรื่องราวการอพยพว่า ได้อพยพมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองเชียงตุงประเทศพม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านลีซูห้วยส้าน อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และต่อมาได้โยกย้ายไปตั้งบ้านเรือนในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แพร่ และสุโขทัย

ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ชนเผ่าลีซูก็เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ไปตามดงดอยต่าง ๆ กระจายไปอยู่ในพื้นที่ครบทุกตำบลในเชียงดาว เช่น บ้านรินหลวง หนองแขม ป่าบงงาม ห้วยจะค่าน ห้วยน้ำริน ห้วยต้นโชค ห้วยโก๋ ห้วยน้ำฮาก บ้านน้ำรู ป่าเกี๊ยะ ฟ้าสวย นาเลา เป็นต้น

อะลูมิ เลายี่ปา หญิงสาวชนเผ่าลีซูคนนี้ เธอเป็นลูกสาวของภูเขา เพราะลืมตาออกมาดูโลกก็มองเห็นดอยหลวงเชียงดาวตั้งตระหง่านเด่นชัด โอบกอดเธอไว้ทุกคืนและวัน

อะลูมิเกิดและเติบโตที่บ้านฟ้าสวย หย่อมบ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านนาเลาใหม่ ตั้งอยู่ในหุบเขาหลังดอยหลวงเชียงดาว เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่แฝงตัวอยู่เงียบ ๆ และสันโดษนาน ๆ ถึงจะมีผู้คนจากข้างนอกเดินทางเข้าไปพบเจอ  จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้คือจะมีลำธารเล็ก ๆ ไหลลงมาจากเทือก
ดอยหลวงเชียงดาว กลายเป็นร่องลำห้วยเล็ก ๆ ผ่านกลางหมู่บ้าน ในหน้าแล้งสายน้ำจะมุดหายไปในโพรงลึก แล้วไปโผล่ในถ้ำค้างคาวท้ายหมู่บ้าน ก่อนจะไหลลงไปกลายเป็นลำน้ำแม่ป่าเส้า แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำแตงที่ตำบลเมืองคอง
Image
“ตอนเด็ก ๆ ก็ใช้ชีวิตอยู่บนดอยนี้ตลอด เริ่มเรียนหนังสือในชุมชน ตอนนั้นมีศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา ‘แม่ฟ้าหลวง’ บ้านฟ้าสวย จากนั้นมีโอกาสย้ายมาเรียนที่โรงเรียนบ้านถ้ำ จนจบชั้น ป. ๖ จึงเข้าเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาจนจบชั้น ม. ๖ ที่โรงเรียนเชียงดาววิทยาคม” 

จากนั้นเธอมีโอกาสลงไปเรียนต่อในตัวอำเภอเชียงดาวจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงตัดสินใจเข้าไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการท่องเที่ยว จนจบปริญญาตรี กลับมาบ้านดอย

อะลูมิเป็นลูกคนเดียวในครอบครัวเลายี่ปา ที่มีโอกาสลงไปเรียนหนังสือจนจบระดับชั้นปริญญาตรี และเธอถือว่าเป็นลีซูคนแรกของหมู่บ้านฟ้าสวย-นาเลาใหม่ ที่เรียนจบถึงปริญญาตรีได้

“พอเรียนจบกลับมาก็ช่วยพี่สาวขายกาแฟที่ระเบียงดาว ก็สนุกดี ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เจอลูกค้านักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาทุกวัน”

ตอนนั้นอะลูมิเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงตัดสินใจทำโฮมสเตย์ของตัวเอง ตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้านระเบียงดาว โฮมสเตย์ ของพี่สาว ทำให้เธอมีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักตลอดช่วงฤดูหนาว และนั่นทำให้เธอรู้ว่าสิ่งที่เธอได้ตัดสินใจลงจากดอยไปเรียนหนังสือ และเลือกเรียนชั้นปริญญาตรี สาขาวิชาการท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่างน้อยเธอสามารถนำความรู้นี้มาปรับใช้กับการท่องเที่ยวในชุมชนลีซูแห่งนี้ได้

จู่ ๆ ก็มีนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. เข้ามาในพื้นที่อำเภอเชียงดาว

ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือซึ่งมีวิถีชีวิตและการทำมาหากินสัมพันธ์กับที่ดินและป ่าไม้ได้รับผลกระทบจากการถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ หลายรายนั้นถูกจับกุมดำเนินคดี

บ้านระเบียงดาว โฮมสเตย์ ของพี่สาวถูกรื้อให้เหลือเพียงสองหลัง และแน่นอนโฮมสเตย์ของอะลูมิที่ปลูกสร้างไว้ใกล้ ๆ ก็ถูกรื้อไปด้วย ทำให้ความฝันของเธอนั้นสูญสลาย และทำให้วิถีชีวิตได้รับผลกระทบแบบไม่ทันตั้งตัวกันเลย

อะลูมิจึงตัดสินใจร่วมกับพี่สาวและน้องสาวปรับลานหน้าบ้านให้กลายเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และจุดชมวิว เพื่อดึงดูดลูกค้านักท่องเที่ยวที่แวะเวียนเข้ามาเที่ยวชมทิวทัศน์ความงามของดอยหลวงเชียงดาว

ที่น่าสนใจก็คือ อะลูมิพยายามเรียนรู้และปรับตัวว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ในยุคโควิดแบบนี้ จึงได้ชวนพี่ ๆ น้อง ๆ มาช่วยกันทำ “น้ำพริกลีซูนรก” ขายให้กับลูกค้าทางออนไลน์ สร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง
Image
“เราใช้ล่าจวึ๊...เป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองของลีซูดั้งเดิม จะมีเมล็ดอวบอ้วน รสชาติเผ็ดไม่ธรรมดา ชาวบ้านจะปลูกไว้ตามบ้าน ตามไร่ตามสันดอย เราเอามาทำ ‘ล่าจวึ๊ลูลู้’ หรือน้ำพริกคั่วกินกันเป็นประจำอยู่แล้ว ต่อมาเราทำน้ำพริกให้ลูกค้านักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักโฮมสเตย์ ‘บ้านพักเฮือนสุข’ ของเรา แล้วลูกค้าชอบ ติดใจในรสชาติน้ำพริกนรก จึงขอสั่งซื้อนำกลับไปกินต่อที่บ้าน หลังจากนั้นก็จะมีลูกค้าประจำกลุ่มนี้สั่งซื้อจากเราเป็นประจำทางออนไลน์ เราก็แพ็กใส่กระปุก จัดส่งให้ทางไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ”

อะลูมิบอกว่า วิถีชนเผ่าลีซูนั้นจะมีการปลูกข้าวไร่ไว้กินปีต่อปีอยู่แล้ว

“พันธุ์ข้าวไร่ของชนเผ่าลีซูมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ที่ยังมีปลูกอยู่คือ ‘หย้าด่าแหละ’ หรือข้าวพันธุ์ลาย ‘หย้าด่ามา’ หรือข้าวเม็ดใหญ่ ‘หย้าบี้ฉวิ’ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวเมล็ดสีเขียว”

ภายในไร่ข้าวหรือในสวนใกล้ ๆ บ้านก็จะปลูกพืชผักต่าง ๆ แซมไว้ ไม่ว่าจะเป็นพริก แตงกวา แตงเปรี้ยว ผักกาด ถั่วดำ ถั่วแดง ฟักทอง ฟักเขียว เต็มไปหมด

หลังจากมาตรการล็อกดาวน์เรื่องโควิด-๑๙ ถูกยกเลิก อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านเรื่องการทำโฮมสเตย์เริ่มผ่อนคลาย คลี่คลายลง ทำให้โฮมสเตย์ชุมชนลีซูบ้านนาเลาใหม่ฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง 

“ถึงแม้ว่าบนดอยยังไม่มีไฟฟ้า แต่เรามีข้าวกิน เพราะพี่น้องลีซูทุกครอบครัวจะต้องทำไร่ข้าว ปลูกข้าวไร่ไว้กิน ต้องขอบคุณบรรพบุรุษของชนเผ่าลีซูที่คอยสั่งสอนพวกเราเอาไว้ว่า...ชีวิตไม่มีอะไรก็ขอให้มีข้าว ถ้ามีข้าวเราก็ไม่ตาย ส่วนพืชผักเราหาได้ง่าย ๆ ตามไร่ตามดอย”

ทุกเช้าพ่อเฒ่าหล้าชอบเดินมานั่งเคี้ยวหมาก เลี้ยงหลานตัวน้อยอยู่ข้างกองไฟ ครั้นพอมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแวะเวียนกันเข้ามานั่งรับประทานอาหาร กาแฟ ตรงจุดชมวิว พ่อเฒ่าจะหยิบซือบือกับฟุหลุออกมาเล่นให้นักท่องเที่ยวได้ฟังได้ชมกันทุกครั้ง

พอตกสายลูกค้าหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นได้เดินเข้าไปจับมือร่ำลายกมือไหว้ขอพรพ่อเฒ่าก่อนเดินทางกลับ พ่อเฒ่าหล้าตะโกนบอกทั้งสองคนด้วยเสียงดังพร้อมกับเสียงหัวเราะชอบใจ

“เป็นคนญี่ปุ่นใช่มั้ย ดี ๆ เป็นคนดี  โชคดี ๆ ไว้มาแอ่ว มาเที่ยวหากันใหม่เน้อ” 

ทำให้ผู้คนที่พบเห็นรู้สึกและสัมผัสได้ว่า ดินแดนแห่งนี้คือ... 

ลีซูนาเลา...ผู้เฒ่าแห่งความสุข กับลูกสาวของภูเขา
หนังสือและข้อมูลอ้างอิง
นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” กับภาพสะท้อน “อำนาจนิยม”. https://themomentum.co/reforestation-authoritarianism/

ภู เชียงดาว. เด็กชายกับนกเงือก...ความงาม ความหวัง เผ่าชนคนเดินทาง. สำนักพิมพ์วิถีชน, มกราคม ๒๕๔๗.

>
อ่านต่อ EP.02