Image

มหัศจรรย์พันธุ์ไม้
ดอยหลวงเชียงดาว

scoop

เรื่อง : ดร. สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล
ภาพถ่าย : กิตติทัช โพธิวิจิตร
วิดีโอ : กรดล แย้มสัตย์ธรรม

พื้นที่เล็กๆ เพียงไม่กี่ตารางเซนติเมตรบนดอยเชียงดาว อาจเต็มไปด้วยพืชหายากหลากหลายชนิด ดังเช่น “หญ้าดอกลาย” สีม่วง (Swertia striata Collett & Hemsl.) ที่ขึ้นอยู่ร่วมกับ “คำหิน” สีเหลือง [Pterygiella parishii (Hook.f.) Pinto-Carr. et. al.] กำลังบานสะพรั่งในช่วงปลายฝนต้นหนาว

ในวันที่ดอยหลวงเชียงดาวได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลและเป็นที่จับตามองของใครหลายคน ผมนึกถึงความทรงจำในปีแรกที่ผมได้ตะลุยเชียงดาว เมื่อปี ๒๕๕๓

ชีวิตผมเริ่มมาเชื่อมโยงกับเชียงดาวตั้งแต่ตอนตัดสินใจทำวิจัยปริญญาโทเรื่อง “วิวัฒนาการของพืชสกุลเทียน (Impatiens) ในประเทศไทย” ร่วมกับดอกเตอร์ปิยเกษตร สุขสถาน และดอกเตอร์ปราโมทย์ ไตรบุญ ซึ่งมาจากความสวยแปลกตาของเจ้าดอกเทียนล้วน ๆ สงสัยว่ามันมีหน้าตาที่หลากหลายขนาดนี้ได้อย่างไร

ช่วงนั้นผมต้องเดินทางเก็บตัวอย่างเทียนหลายสถานที่ในประเทศไทย และทุกคนรอบตัวต่างพูดถึงดอยหลวงเชียงดาวว่า “ดอยหลวงเชียงดาวสวยมาก” “ต้องไปดอยเชียงดาวนะ” “เชียงดาวมีเทียนเยอะมาก” “เทียนนกแก้วสวยมาก”

ในที่สุดผมก็วางแผนไปพิชิตดอยเชียงดาวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ และทำให้ผมต้องกลับไปที่นั่นอีกหลายต่อหลายครั้ง

scrollable-image

ดอยพีระมิด ดอยหลวงเชียงดาว และดอยกิ่วลม จากซ้ายไปขวา เมื่อมองจากยอดกิ่วลมใต้

สำรวจพรรณไม้
ดอยหลวงเชียงดาว

ดอยหลวงเชียงดาวตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร การจะขึ้นไปเยี่ยมชมความงามของพื้นที่แห่งนี้ควรเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม สมัยนั้นใช้เวลาประมาณ ๓ วัน ๒ คืนกำลังดี  ใช้เวลาเดินขึ้นสัก ๔-๖ ชั่วโมง เดินชมความงามธรรมชาติตามจุดต่าง ๆ อีกสัก ๑ วันเต็ม และเดินลงอีกประมาณ ๓-๕ ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้ให้นอนได้คืนเดียว คงต้องเร่งฝีเท้ากันหน่อย

ดอยหลวงเชียงดาวเป็นเขาหินปูนที่สูงที่สุดในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยหรือเป็นส่วนปลายของเทือกเขาหิมาลัย ประกอบด้วยเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน จุดที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันเป็นอย่างดีและนิยมไปดูพระอาทิตย์ตก คือยอดดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งมีความสูง ๒,๒๒๕ เมตรจากระดับทะเล ถือเป็นเขาหินปูนที่สูงที่สุดและเป็นภูเขาสูงอันดับที่ ๓ ของประเทศไทย รองจากยอดดอยอินทนนท์และยอดดอยผ้าห่มปก

นอกจากยอดดอยหลวงเชียงดาว ยังมีดอยกิ่วลมที่หลายคน ตื่นแต่เช้าไปดูพระอาทิตย์ขึ้น ชมดอยพีระมิด ดอยสามพี่น้องดอยนาง และดอยผาแดง (เมื่อปี ๒๕๕๓ ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวให้นักท่องเที่ยวชื่นชมความงามได้เฉพาะยอดดอยและดอยกิ่วลมเท่านั้น)

ครั้งแรกที่ผมขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ต้นไม้สกุลเทียน (วงศ์เทียน Balsaminaceae) คือเป้าหมายเป็นหลัก แต่ตามนิสัย
นักพฤกษศาสตร์ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นไม้หายากหลาย ๆ ชนิดบนภูเขาหินปูนแห่งนี้  ไกด์กิตติมศักดิ์ของผมคือพี่เต้ ณัฐวุฒิ อุดมศิริพงษ์ ซึ่งช่วงนั้นกำลังทำงานกับกลุ่มรักดอยหลวงเชียงดาว เป็นคนหลงใหลดอยเชียงดาวเข้าขั้นบ้าก็ว่าได้

พี่เต้ขึ้นเชียงดาวแทบทุกเดือนที่เปิดให้ขึ้น และเล่าให้ผมฟังบ่อยมากถึงความสวยงามของสวนดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดงที่กิ่วลม

ผมเริ่มต้นการเดินทางโดยคืนแรกไปนอนที่ตัวอำเภอเชียงดาว ตระเตรียมอุปกรณ์ พอรุ่งเช้าก็นั่งรถโฟร์วีล 4x4 ขึ้นไปลงที่ปากทางเข้าเชียงดาว ปางวัว-อ่างสลุง ออกเดินไปตามเส้นทางอย่างชิลล์ ๆ ทางชันถือว่าใช้ได้เลย (แนะนำให้รีบหาไม้เท้า ช่วยได้เยอะ) โชคดีที่ฝนทิ้งช่วงไปสักพักแล้วเลยไม่ต้องเจอสภาพตีลังกากลิ้งโคน

ระหว่างเดินขึ้นในวันแรกพี่เต้พูดเสมอว่า “รับประกันว่าคุ้ม” “หายเหนื่อยแน่” ระหว่างทางมีดอกไม้สวย ๆ ให้ดูเพลิน ๆ เรื่อย ๆ มีนักท่องเที่ยวพอให้ไม่เหงา แต่ไม่ถึงกับวุ่นวาย สักระยะ (ยาว ๆ) ผมก็เห็น “เทียนสันติสุข” (Impatiens santisukii T. Shimizu) ไม้ล้มลุกขนาดเล็กขึ้นอยู่ตามหินปูนระหว่างทาง ดอกสีชมพูเข้มมีหาง มีแต้มสีขาวตรงกลางดอก

ในการทำวิจัยผมต้องถ่ายภาพ ทำคำบรรยายต้นไม้อย่างละเอียด เก็บตัวอย่างทับใส่แผงอัด เพื่อส่งเข้าพิพิธภัณฑ์พืชของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเก็บตัวอย่างใบใส่ใน silica gel เพื่อนำไปสกัดดีเอ็นเอในห้องแล็บ

เราถ่ายภาพกันนานสองนานแล้วจึงออกเดินทางกันต่อ จากนั้นเราก็จะผ่านดงไผ่ ดงขิง และเข้าสู่ป่าหินทึบ ๆ จนได้เห็น “เทียนนกแก้ว” (Impatiens psittacina Hook.f.) ที่โด่งดัง แห่งเชียงดาว ไม้ล้มลุกลำต้นเปราะบาง หนึ่งในดอกไม้ที่หลายคนตั้งใจมาดูที่นี่เลยทีเดียว ด้วยลักษณะดอกขนาดใหญ่สีชมพูสลับขาว รูปร่างหน้าตาคล้ายนกแก้ว หางสั้น ๆ ของดอกม้วนงอสีเขียวคล้ายปากนกแก้ว กลีบปากมีแต้มสีเหลืองขนาดใหญ่ มิหนำซ้ำดอกตูมยังหน้าตาคล้ายลูกนกห้อยเคียงกับแม่นก น่ารักไปอีกแบบ  ระหว่างที่เราถ่ายรูปเก็บข้อมูลนั้นก็มีนักท่องเที่ยวผ่านมาถ่ายภาพเทียนนกแก้วแถวนั้นเรื่อย ๆ

หลังจากชื่นชมความงามของเทียนนกแก้วเสร็จ เดินต่อไปอีกสักระยะก็จะถึงสามแยกที่บรรจบกับเส้นทางเดินขึ้นเด่นหญ้าขัด จุดนี้หลายคนก็อาจหยุดพักกินข้าวหรือเดินต่อไปหยุดพักที่ดงน้อย เราเดินเลี้ยวซ้ายเพื่อไปสู่ดงน้อย ระหว่างทางก็เจอ “เทียนเชียงดาว” (Impatiens chiangdaoensis T. Shimizu) ซึ่งหน้าตาคล้ายกับเทียนสันติสุข แต่สังเกตได้ง่าย ๆ ว่ากลีบดอกจะเปิดอ้ามากกว่า มีแต้มสีเหลืองอยู่กลางกลีบ และดอกมีขนปุยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ความน่าสนใจของพืชชนิดนี้ คือมันพบได้ที่ดอยเชียงดาวเท่านั้น

ต่อจากนั้นเราก็จะเดินผ่าน “ดงน้อย” ซึ่งเป็นจุดกางเต็นท์จุดแรก  ถ้าใครตาดีอาจจะได้เห็นดอกของ “นกขมิ้น” (Aristolochia grandis Craib) ไม้เถาเลื้อยพวกไก่ฟ้าพญาลอ กลีบเลี้ยงเป็นท่อโค้งสีน้ำตาลอ่อน ปลายบานออก มีปากด้านในสีเหลืองอ๋อยสะดุดตา จัดเป็นพืชหายากของไทยเช่นกัน

“ขาวปั้น” [Bassecoia siamensis (Craib) B.L.Burtt] ดอกก้อนกลมสีขาวเหมือนปุยเมฆ กำลังบานสะพรั่งกลางหมอกที่ไหลผ่านสันเขาหินปูน เปลี่ยนภาพก้อนหินที่แข็งแกร่งให้ดูอ่อนโยน

Image

Image

ยอดเขาที่แต้มสีม่วงสลับเขียวของ “จ๊าฮ่อมใบหยาบ” (Strobilanthes corrugata J.B.Imlay) ผสมกับสีท้องฟ้าและสีขาวของหมอกเช้า 

Image

หินปูนที่มีซอกเล็กซอกน้อยเหมาะกับเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของ “ฟองหินเหลือง” (Sedum susannae Raym.-Hamet) พืชหายากวงศ์กุหลาบหินที่น่าจะเป็นชนิดเดียวในวงศ์นี้ที่พบในประเทศไทย

ถัดจากดงน้อยจะเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปิดโล่ง มีต้น “ชมพู-พิมพ์ใจ” [Luculia gratissima (Wall.) Sweet.] พืชวงเข็มสูงประมาณตัวคน ดอกสีชมพูอ่อนเป็นช่อใหญ่ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกับปลายแยกห้าแฉก เกสรสีเหลือง มีกลิ่นหอมชื่นใจรับรองดมแล้วติดใจ และ “ต้นฟองหินเหลือง” (Sedum susannae Raym.-Hamet) ไม้ล้มลุกวงศ์กุหลาบหินชูช่อดอกสีเหลืองเด่นอยู่ตามซอกหินเทา ฟองหินเหลืองเป็นพืชหายากและน่าจะเป็นพืชชนิดเดียวในวงศ์นี้ที่พบในธรรมชาติของประเทศไทย

พอใกล้มืดเต็มทีเราก็มาถึง “อ่างสลุง” จุดกางเต็นท์พักแรมที่เราจะนอนอีก ๒ คืน

ที่อ่างสลุงนี้รับประกันได้ว่าดาวเต็มฟ้าสมชื่อดอยหลวงเชียงดาว ใครอยากดูดาวไม่ผิดหวังแน่นอน และจะได้นอนเคียงดาวจริง ๆ

เราจบวันด้วยการกินข้าวง่าย ๆ มองฟ้าดูดาว เข้านอนเก็บแรงสำหรับวันถัดไป

จำได้ว่าผมนอนยังไม่ทันหายเหนื่อยดี พี่เต้ก็ปลุกให้ตื่นตั้งแต่ตี ๕ ฟ้ายังมืด ใส่ไฟส่องกบที่หัวและเริ่มออกเดินทางระหว่างทางก็จะคล้ายอยู่ในหนังประเภท survival คือมอง เห็นแค่ระยะที่ไฟส่องถึง เท้าก้าวไปเรื่อย ๆ ตามผู้นำทาง พี่เต้รับรองว่าคุ้ม พอถึงกิ่วลมเราก็หาที่นั่งรอแสงมา รอดูพระอาทิตย์ขึ้นบรรยากาศดูพิเศษ อยู่ท่ามกลางหมอกจาง ๆ กินกาแฟซองที่ชงด้วยน้ำร้อนจากกระติกน้ำ สักพักก็จะเริ่มมีเพื่อนร่วมชะตากรรมมารอดูพระอาทิตย์ขึ้น ตามด้วยฉากทะเลหมอก

เมื่อแสงสว่างมากพอ เราก็เห็นความงามของกิ่วลมที่พื้นล่างเป็นดอกไม้หลากสีขึ้นผสมกัน ทั้งสีม่วงจาก “จ๊าฮ่อม-ใบหยาบ” (Strobilanthes corrugata J.B.Imlay) ไม้พุ่มสูง ๑-๒ เมตร มีกลิ่นหอม ใบรูปไข่ ดอกสีม่วง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวยโค้ง เป็นหนึ่งในดาวเด่นที่ให้เฉดสีม่วงในสวนดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดง 

สีฟ้าจาก “ฟ้าคราม” (Ceratostigma asperrimum Stapf ex Prain) ไม้พุ่มขนาดเล็ก แผ่นใบค่อนข้างกลม มีเกล็ดสีขาวปกคลุม ดอกออกเป็นช่อ กลีบดอกสีฟ้าหรือฟ้าอมม่วงเป็นพืชหายาก

สีแดงจาก “แสงแดง” [Colquhounia coccinea var. mollis (Schtdl.) Prain] ไม้พุ่มอายุหลายปี แตกกิ่งไม่มากนักบริเวณใกล้โคนต้น ใบมีขนสั้นปกคลุม ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด ดอกสมมาตรด้านข้าง สีแดงส้มมีขีดสีเหลืองที่ปาก เป็นพืชหายาก  ถ้าเจอต้นนี้ก็อาจลองอยู่นิ่ง ๆ รอดูนกกินปลีแอบบินมากินน้ำหวาน

สีชมพูสดจาก “ชมพูเชียงดาว” (Pedicularis siamensis P.C.Tsoong) ต้นสูงประมาณ ๑.๕-๒ ฟุต ใบหยักลึกแบบขนนก ขอบใบมีผงสีขาว ๆ ติดอยู่ ดอกสีชมพูออกเป็นช่อจำนวนมาก เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยที่พบได้ที่นี่เท่านั้น

ถ้ามองไปไกล ๆ ก็จะเห็นต้นไม้คล้ายมะพร้าวขึ้นกระจายอยู่ห่าง ๆ นั่นคือ “ค้อเชียงดาว” (Trachycarpus oreophilus Gibbons & Spanner) ที่มีใบเดี่ยวแบบฝ่ามือขนาดใหญ่ออกที่ปลายยอด เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย

จุดที่สวยที่สุดสำหรับผม คือสวนดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดง ดอกไม้หลากสีขึ้นฟูแข่งกันเหมือนคนตั้งใจปลูกไว้และได้รับการดูแลอย่างดี

ไม่ใช่แค่พรรณไม้เหล่านี้และผองเพื่อนเท่านั้น ถ้าอยู่นิ่ง ๆ และตั้งใจสังเกตธรรมชาติรอบตัว จะเห็นนกกินปลีคอยบินไปกินน้ำหวานดอกไม้ต่าง ๆ เห็นผึ้งและผีเสื้อบินไปมากินน้ำหวาน และได้ยินเสียงนกและแมลงนานาชนิดผลัดกันร้องเห็นไอหมอกที่เคลื่อนตัว สีของฟ้าที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป

ความสวยในช่วงนี้เกินคำบรรยาย ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง

“ฟ้าขาว” (Leptodermis crassifolia Collett & Hemsl.) ดอกจิ๋ว สีชมพูพาสเทล บานช่วงฤดูฝน ทั้งหายากด้วยขนาด และหายากในแง่ของถิ่นที่อยู่

ต้นฤดูดอกไม้บาน ช่วงรอยต่อระหว่างเดือนตุลาคมกับเดือนพฤศจิกายน “หญ้าดอกลาย” รุ่นแรก เริ่มบานรับผสมเกสรแล้ว ส่วนดอกตูมที่เห็นจะบานเต็มที่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

เทียน เทียน เทียน

หลังจากนั้นก็ได้เวลาปีนเขาหินปูนตามถ่ายภาพเทียนกันต่อ

หนึ่งในต้นไม้ที่ถือเป็นพระเอกของที่นี่คงหนีไม่พ้น “เทียนหมอคาร์” หรือ “เหยื่อเลียงผา” (Impatiens kerriae Craib) พืชหายากที่แทบจะไม่ต้องหาเลยที่นี่ เพราะมีอยู่เยอะมาก

เทียนหมอคาร์เป็นพืชสกุลเทียนที่มีลำต้นอวบน้ำขนาดใหญ่ ดอกสีขาวอมเหลืองหรือครีมอ่อน บริเวณกลางดอกมีริ้วสีแดงปนเหลือง ผลรูปกระสวย ถ้าแก่จัดแล้วเราแตะก็จะแตกแป๊ะดีดเมล็ดออก

เทียนชนิดต่อไปเป็นชนิดที่มีเรื่องตลก คือนักล่าภาพต้นไม้หลายคนพยายามหากัน แต่หาไม่เจอ มันคือ “เทียนน้อย” หรือ “เทียนหัวไม้ขีด” (Impatiens muscicola Craib) พืชล้มลุก มีขนาดเล็ก ขึ้นตามซอกหิน ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ขนาดเล็กมาก ใหญ่ได้ถึงแค่ ๕ มิลลิเมตรเท่านั้น สีขาวแต้มชมพูเข้มที่กลางดอก ผิวด้านนอกของดอกมีขน 

ตอนแรกผมหาไม่เจอ แต่ปรากฏว่ามาพบอยู่ตามซอกหินจุดที่ดูพระอาทิตย์ขึ้นจำนวนมาก แทบจะทุกซอก แต่ดอกเล็กจนไม่ได้สังเกต

เทียนอีกสองชนิดที่เจอได้บริเวณนี้คือ “เทียนอินทนนท์” (Impatiens racemosa DC.) ดอกเล็ก ๆ สีเหลืองออกเป็นช่อเจอตั้งแต่อ่างสลุงถึงกิ่วลม 

หลังจากชื่นชมความงามของกิ่วลมเสร็จ เราก็ลงมาอ่างสลุง กินข้าว แถว ๆ นี้ก็จะได้เจอ “เทียนดอกขาว” (Impatiens discolor DC.) ขึ้นปนกับหญ้าบริเวณอ่างสลุง จึงมักโดนเหยียบโดนย่ำตอนตั้งเต็นท์หรือตอนคนแอบไปถางหญ้าทำห้องน้ำเอง ซึ่งไม่ควรทำ

นอกจากเทียนและพรรณไม้นานาที่ว่ามา ก็มีดอกไม้อีกนับไม่ถ้วนให้ตามถ่ายกัน

กลุ่มที่เห็นได้ไม่ยากนักและถือเป็นรางวัลพิเศษที่ได้เห็น กลุ่มแรกคือพืชวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) ชนิดที่จะได้เห็นบ่อย ๆ ก็เป็น “เอื้องตาเหิน” (Dendrobium infundibulum Lindl.) ดอกสีขาวเกาะตามกิ่งไม้ และ “เอื้องน้ำต้น” (Calanthe cardioglossa Schltr.) ที่มีดอกไล่เฉดสีจากขาวไปชมพูเข้มตามอายุ 

พืชอีกกลุ่มที่น่าสนใจคือพืชในวงศ์ดอกหรีด (Gentianaceae)
พืชล้มลุกเล็ก ๆ ที่มักขึ้นตามที่สูง บนเชียงดาวพบเห็นได้หลายชนิด เช่น “ดอกหรีดเชียงดาว” [Metagentiana australis (Craib) T.N.Ho & S.W.Liu] พืชล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นทอดเลื้อย ดอกสีม่วงสลับขาว เป็นพืชหายาก พบในแถบหิมาลัยและภาคเหนือของไทย

“ศรีเชียงดาว” (Swertia stricta Collett & Hemsl.) ดอกออกเป็นช่อแน่นจำนวนมาก กลีบดอกสีม่วงอ่อนโคนกลีบมีแถบม่วงเข้ม ขาว และเขียว มีต่อมหนึ่งต่อม เจอที่ยอดดอยมักถูกเหยียบถูกนั่งทับโดยไม่รู้ตัว

เพราะฉะนั้นใครไปดูพระอาทิตย์ตก ระวังสักนิดก่อนนั่ง

และยังมี “หญ้าดอกลาย” (Swertia striata Collett & Hemsl.) ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวมีเส้นสีม่วง ตรงโคนกลีบมีต่อมน้ำต้อยสองต่อมไว้ผลิตน้ำต้อย ล่อแมลง รอบต่อมมีขนล้อมรอบ เป็นพืชหายาก

ถ้าได้เห็นทั้งหมดที่ว่ามาก็ถือว่าคุ้มมากแล้ว 

พืชสกุลเทียน

Impatiens

และพรรณไม้
ตามเส้นทางในเรื่อง

ภาพ : ดร. สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

Image

เทียนนกแก้ว (Impatiens psittacina Hook.f.)

Image

เทียนเชียงดาว (Impatiens chiangdaoensis T.Shimizu)

Image

เทียนอินทนนท์ (Impatiens racemosa DC.)

Image

เทียนสันติสุข (Impatiens santisukii T. Shimizu)

Image

เทียนหัวไม้ขีด (Impatiens muscicola Craib)

Image

เทียนดอกขาว (Impatiens discolor DC.)

Image

เทียนหมอคาร์ (Impatiens kerriae Craib)

Image

ฟ้าคราม (Ceratostigma asperrimum Stapf ex Prain)

Image

ศรีเชียงดาว (Swertia stricta Collett & Hemsl.)

Image

ชมพูพิมพ์ใจ [Luculia gratissima (Wall.) Sweet]

Image

เอื้องน้ำต้น (Calanthe cardioglossa Schltr.)

Image

นกขมิ้น (Aristolochia grandis Craib)

Image

ดอกหรีดเชียงดาว [Metagentiana australis (Craib) T.N.Ho & S.W.Liu]

Image

ฟองหินเหลือง (Sedum susannae Raym.-Hamet)

Image

แสงแดง [Colquhounia coccinea var. mollis (Schtdl.) Prain]

Image

หญ้าดอกลาย (Swertia striata Collett & Hemsl.)

ชมพูเชียงดาว (Pedicularis siamensis Tsoong)

วิวัฒนาการ 
เกิดมาเพื่อสืบไป

หลังจากชื่นชมพรรณไม้งามบนดอยหลวงเชียงดาว ๒ วัน ๒ คืน ก็ได้เวลาเก็บเต็นท์เก็บกระเป๋ากลับบ้าน ใครพอมีแรงก็ขึ้นไปชมพระอาทิตย์ขึ้นอีกรอบ ส่วนผมกับพี่เต้เก็บของแบกขึ้นหลังแล้วค่อย ๆ เดินกลับ เพราะเราสองคนเดินช้ามากเดินไปถ่ายรูปไป ดูซ้ายดูขวาไป

ขาลงเราเลือกจะกลับทางเส้นทางเด่นหญ้าขัด ซึ่งก็คือเดินลงทางเดิมแล้วเปลี่ยนเส้นตอนสามแยกที่แวะพักขาขึ้นมา กว่าจะถึงที่ทำการเด่นหญ้าขัดก็ ๔ โมงเย็นแล้ว

ผลประกอบการของทริปนี้ นอกจากภาพประทับใจ (ซึ่งเป็นของแถม) ผมก็ได้ตัวอย่างใบซึ่งมีดีเอ็นเอของพืชสกุลเทียน

เจ้าสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอนี่ละเป็นแหล่งเก็บข้อมูลของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ที่เรานำมาศึกษาความแตกต่างเพื่อวิเคราะห์วิวัฒนาการของเหล่าเทียนที่มีหน้าตาแตกต่างกัน  และทำให้ภายหลังการศึกษา เราสรุปได้ว่าเทียนในประเทศไทยวิวัฒนาการมาหลายสาย บางกลุ่มมาจากจีน และบางกลุ่มก็มีมากในบ้านเรา ที่สำคัญได้แก่ Impatiens sect. Semeiocardium (Zoll.) S.X. Yu & Wei Wang ซึ่งมีกลีบปากเชื่อมติดกันและผลมีสี่พู พบมากแถบภาคกลางและภาคตะวันตกของไทย

ที่เชียงดาวก็มีเทียนนกแก้ว เทียนหมอคาร์ และเทียนดารณี

เขาหินปูนถือเป็นภูมิประเทศที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ พืชหลายชนิดมีความจำเพาะต่อหินปูน ซึ่งบางชนิดเป็นไม้หายากและบางชนิดเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่มีที่ดอยหลวงเชียงดาวแห่งเดียวเท่านั้น  หลายชนิดอาจพบเห็นได้ยากในไทย แต่กลับพบได้ในจีนหรือเขตเทือกเขาหิมาลัย เนื่องจากในอดีตสภาพภูมิอากาศของโลกมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชชนิดนั้นมากกว่า  เมื่อเวลาผ่านไปสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง พื้นที่ที่เหมาะสมต่อพืชชนิดนั้นคับแคบลง จำนวนประชากรของพืชชนิดนั้นจึงน้อยลงเต็มที พรรณไม้เหล่านี้จึงกลายเป็นพันธุ์ไม้หายากในไทย พบเห็นได้เพียงบริเวณเขาหินปูนลูกนี้ซึ่งเคยมีผืนป่าติดต่อกับหิมาลัยเท่านั้น

พืชบางชนิดอาจเพิ่งมีการวิวัฒนาการมาเมื่อไม่นาน (ไม่กี่ล้านปี) จากบรรพบุรุษซึ่งกระจายตัวในบริเวณอื่น แต่เมื่อประชากรของพืชถูกตัดขาดออกจากกัน การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจึงถูกจำกัดบริเวณ ประชากรพืชทั้งสองไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ให้กันได้ จึงพัฒนาลักษณะเฉพาะให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่อยู่จนกลายเป็นชนิดใหม่และเป็นพืชเฉพาะถิ่นซึ่งพบได้ที่เชียงดาวเท่านั้น อย่างพืชสกุลเทียน Impatiens หลาย ๆ ชนิด

พรรณไม้แต่ละชนิดย่อมปรับตัวเพื่ออยู่รอด โดยเฉพาะบริเวณยอดดอยและดอยกิ่วลมซึ่งมีสังคมพืชแบบกึ่งอัลไพน์ เนื่องจากลักษณะสันเขาที่ปกคลุมด้วยหินปูนก้อนน้อยใหญ่และมีหน้าดินตื้น อีกทั้งสภาวะอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็น
ลมแรง แดดจัดตอนกลางวัน และอากาศหนาวเย็นตอนกลางคืน ทำให้ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ จะมีก็แต่ไม้ต้นขนาดเล็กหรือไม้ล้มลุกที่ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมแบบนี้ จึงจะสามารถอยู่ประดับตกแต่งสันเขาต่าง ๆ บนดอยหลวงเชียงดาวและสวนดอกไม้ของพ่อหลวงคำแดง

ทุกตารางเมตรของดอยกิ่วลมแทบจะเต็มไปด้วยดอกไม้หายากและสวยงาม ชมพูเชียงดาว (Pedicularis siamensis P.C.Tsoong) เบียดเสียดอยู่กับเทียนหมอคาร์ (Impatiens kerriae Craib) และดอกไม้อื่น ๆ อีกนานาชนิด สมกับที่ผู้เฒ่าผู้แก่เปรียบไว้ว่า บนยอดดอยแห่งนี้คือสวนดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดง

ต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กเพื่อช่วยลดแรงต้านลม และมักมีใบหนาและแข็งกว่าปรกติเพื่อช่วยลดความเสียหายจากแรงลม พืชบางชนิดเลือกหลีกหนีสภาวะแวดล้อมช่วงแห้งแล้งโดยปรับตัวเป็นพืชปีเดียว ทิ้งไว้แต่เมล็ดในเวลาที่แห้งแล้งเพื่อรอผลิใบใหม่ในเวลาที่เหมาะสมของปีถัดไป  บางชนิดเลือกที่จะทิ้งใบและลำต้นเหลือไว้แต่ลำต้นใต้ดินที่มีอาหารเพียงพอให้อยู่รอดจนถึงปีหน้า ขณะที่บางต้นก็ทิ้งใบเหลือลำต้นเปลือยเปล่าให้เราเห็นอยู่  บางชนิดอาศัยการสะสมน้ำและอาหารไว้ใช้ในยามขาดแคลน 

พืชที่เราเห็นวันนี้ใช่ว่าจะเกิดมาพร้อมกับความสามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมอันโหดร้าย แต่ล้วนเป็นผลพวงของวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษที่ออกลูกออกหลานซึ่งมีความหลากหลาย ตั้งแต่อ่อนแอไปจนถึงแข็งแรง เหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งไปจนถึงพื้นที่ชุ่มน้ำ

ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ จะเป็นตัวคัดกรองว่าสายพันธุ์ไหนควรจะอยู่รอดต่อในสถานที่ไหน และสายพันธุ์ไหนควรจะสูญหายไปตามกาลเวลา

ไม่เพียงแต่การปรับตัวต่อลมฟ้าอากาศเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น ต้นไม้ยังปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต นั่นก็คือการสืบพันธุ์

หลายชนิดเลือกที่จะสืบพันธุ์ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตใด ๆ  เราจะสังเกตได้จากลักษณะดอกที่ปิดสนิทและไม่มีลักษณะที่ดึงดูดสัตว์ อย่างเช่นถั่วหลาย ๆ ชนิด แต่อีกหลายชนิดต้องพึ่งพาสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นผึ้ง ผีเสื้อ แมลงปีกแข็ง แมลงหวี่ แมลงวัน หรือนก มาช่วยผสมเกสร

การจะหลอกล่อสัตว์เข้ามาเพื่อช่วยผสมเกสร พืชแต่ละชนิดก็มีการวิวัฒนาการแตกต่างกันไป เช่น การมีสีแดงเพื่อดึงดูดนก หรือสีชมพูเพื่อหลอกล่อผีเสื้อ บางชนิดอาจมีสีขาวเพื่อดึงดูดตัวผสมเกสรที่แวะเวียนมาในเวลากลางคืน บางชนิดมีกลิ่นหอม หรือแม้แต่กลิ่นเหม็นที่หลอกล่อแมลงบางชนิดได้เช่นกัน

แต่การหลอกล่อด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็อาจจะไม่เพียงพอ ผลประโยชน์แลกเปลี่ยนก็เป็นสิ่งสำคัญ 

ดอกไม้หลายชนิดจึงผลิต “น้ำต้อย” หรือที่เราเรียกจนชินปากว่า “น้ำหวาน” ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับสัตว์หลายชนิด เพื่อให้สัตว์แวะเวียนมาในครั้งต่อ ๆ ไป 

ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ล้วนมีรายละเอียดที่น่าสนใจและซับซ้อน ต้องลองเข้าไปนั่งสังเกต คิด วิเคราะห์ แล้วเราถึงจะเห็นรายละเอียดที่มหัศจรรย์เหล่านี้ของพืชแต่ละชนิด

พรรณไม้
บนดอย
เชียงดาว

ภาพ : ดร. สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล

นอกจากที่เล่าไว้ในเรื่อง เชียงดาวยังมีของสวยงามให้ดูอีกมากมาย

Image

สุวรรณนภา
(Senecio craibianus Hosseus)

พืชล้มลุกวงศ์ทานตะวัน สูงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกคล้ายเบญจมาศสีเหลือง เป็นพืชหายาก จุดที่ขึ้นจะเห็นเป็นสีเหลืองตัดกับหินสีเทา สวยอย่าได้บอกใคร 

Image

สร้อยไทรทอง 
(Silene burmanica Collett & Hemsl.) 

ไม้ล้มลุกปีเดียว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นระฆัง มีต่อมเหนียวขึ้นโดยรอบ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันสีชมพูอมขาว เกสรเพศผู้โผล่พ้นกลีบดอก เป็นพืชหายาก 

Image

เทพอัปสร 
(Delphinium scabriflorum D.Don) 

พืชล้มลุกหลายปี มีหัวใต้ดิน ทุกส่วนของต้นมีขนปกคลุม ใบเดี่ยวกระจุกที่โคนต้น ใบเว้าลึกคล้ายฝ่ามือ ดอกออกแบบช่อ สีม่วงเข้ม กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน มีหาง กลีบดอกมีแต้มสีเขียวที่ปลายกลีบ เกสรเพศผู้เป็นแผ่นขอบพับไปมาอยู่ตรงกลางดอก เป็นพืชหายาก

Image

พวงไพลิน 
[Maharanga lycopsioides (C.E.C. Fischer) I.M.Johnst.] 

พืชล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดิน ลำต้น ใบ และกลีบเลี้ยง มีขนยาวปกคลุม ใบมีสองแบบ ใบที่กระจุกที่โคนยาวกว่าใบตามลำต้นมาก ดอกออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันสีเขียว กลีบดอกเชื่อมติดกัน เป็นหลอดปลายแคบ สีม่วง 

Image

ศรีจันทรา
(Rosa helenae Rehd. & Wils.) 

ไม้พุ่มกึ่งเลื้อยสกุลกุหลาบ พบในธรรมชาติไม่กี่ชนิด ลำต้นมีหนามแหลม ใบประกอบแบบขนนก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด มีกลีบห้ากลีบ สีขาว ผลสุกสีแดงสดกินได้ เป็นพืชหายากของไทย 

Image

น้ำนมเชียงดาว 
(Euphorbia saxicola Radcl.-Sm.)

ไม้ล้มลุก กิ่งก้านสีแดง มีน้ำยางขาว ผลเป็นสามพู  ตัวนี้หายากและยังไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตากันนัก

Image

หญ้ามวนฟ้า 
(Cynoglossum lanceolatum Forssk.) 

ไม้ล้มลุกวงศ์ Forget me not ใบเดี่ยวมีขน ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายกิ่ง ดอกสมมาตรรัศมี สีม่วง เป็นพืชหายาก

Image

คำขาวเชียงดาว
(Rhododendron ciliicalyx Franch.) 

ไม้พุ่มขนาดกลาง ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง สีขาวหรือสีชมพูอ่อน ปลายกลีบย่น

Image

 ละอองน้ำเชียงดาว 
[Saxifraga gemmipara Franch var. siamensis (Craib) Shimizu] 

ไม้ล้มลุก กิ่งก้านสีแดง มีน้ำยางขาว ผลเป็นสามพู  ตัวนี้หายากและยังไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตากันนัก

Image

 เจอราเนียมเชียงดาว 
[Geranium lamberti Sweet ssp. siamense (Craib) T.Shimizu]

ไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดิน ทุกส่วนของต้นมีขนนุ่มแผ่นใบคล้ายใบองุ่น ดอกออกเป็นช่อซี่ร่ม กลีบเลี้ยงสีเขียว ปลายเป็นติ่งแหลม กลีบดอกสีชมพูอ่อน เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน เรียงเป็นสองวง เป็นพืชถิ่นเดียวของดอยเชียงดาว

Image

ชมพูพาน 
[Wightia speciosissima (D.Don) Merr.]

ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ดอกจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมเป็นหลอดสีเขียว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีชมพู ปลายแยกเป็นพูบนสองแฉก พูล่างสามแฉก เป็นพืชอาหารของนกนานาชนิด สายส่องนกน่าจะชอบ เป็นพืชหายาก

Image

สะเภาลม 
(Agapetes hosseana Diels) 

พืชวงศ์กุหลาบพันปี ไม้พุ่มอิงอาศัยเกาะบนต้นไม้อื่น แผ่นใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ ดอกเดี่ยวออกกระจุกตามซอกใบ ดอกห้อยลง กลีบดอกเชื่อมเป็นหลอดยาวสีแดงสดปลายเขียวอ่อน ผลทรงกลม เป็นพืชหายาก

Image

 ขาวปั้น 
[Bassecoia siamensis (Craib) B.L.Burtt] 

ไม้ล้มลุกช่อดอกน่ารัก ที่คนมาตามหากันพอสมควร มีเหง้าใต้ดิน แตกกิ่งใกล้โคน ดอกออกเป็นช่อกระจุกแน่นเป็นครึ่งทรงกลม สีขาว อับเรณูสีชมพู เป็นพืชถิ่นเดียวของดอยเชียงดาว

Image

ใบพาย 
(Viola betonicifolia Sm.) 

พืชล้มลุกขนาดเล็กลำต้นสั้นมาก ใบเดี่ยวเวียนสลับ แผ่นใบรูปหอกหรือรูปใบพาย ดอกออกเป็นช่อสั้น ก้านดอกยาวบิดลงที่ปลาย ดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบดอกสีขาวหรือสีขาวอมม่วง

Image

พิมพิไล 
(Corydalis leptocarpa Hook.f. & Thomson)

พืชล้มลุกวงศ์ฝิ่นที่ดอกไม่คล้ายฝิ่นสักนิด มีหัวใต้ดิน ใบออกแน่นที่โคน ใบประกอบรูปร่างคล้ายผักชี ช่อดอกแบบกระจะ ดอกสมมาตรด้านข้างมีหางชี้ขึ้นไปทางด้านหลัง สีม่วงอ่อน

Image

ตาเหินไหว 
(Hedychium ellipticum Ham. ex Smith) 

พืชวงศ์ขิง ไม้อิงอาศัยตามโขดหิน ในช่วงแล้งจะพักตัวเหลือไว้เพียงลำต้นแห้ง ๆ เกาะตามหิน

คำหิน 
[Pterygiella parishii (Hook.f.) Pinto-Carr. et. al.]

ไม้ล้มลุกขนาดเล็กเกิดตามซอกหิน มีขนนุ่มปกคลุมลำต้นและใบ ใบสีเขียวอมนํ้าตาล ดอกสมมาตรด้านข้างสีเหลืองเป็นพืชหายาก

เสน่ห์เชียงดาว

เชื่อว่าน้อยคนนักที่เคยไปดอยหลวงเชียงดาวแล้วจะไม่อยากไปอีก

เสน่ห์ของเชียงดาวไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์หินปูนสีเทาตัดกับสีเขียวของใบไม้และสีฟ้าของท้องฟ้า ความงามของพรรณไม้หายากนานาชนิดที่ไม่สามารถปลูกได้ในพื้นล่าง ทำให้ต้องขึ้นไปเชยชมให้ถึงที่ 

ชีวิตชีวาของนก ผีเสื้อ ผึ้ง และสิ่งมีชีวิตนานาชนิด

ดาวเต็มฟ้ายามค่ำคืน และมิตรภาพระหว่างทาง 

รวมถึงความรู้สึกของการได้ชนะตนเองและความสุขที่เราสัมผัสได้เวลายืนบนยอดดอย 

สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ผมผูกพันกับดอยหลวงเชียงดาว  

ทุกครั้งที่ลมหนาวมาถึงก็ได้แต่คิดว่าปีนี้จะได้ขึ้นไหมนะ ต้นไม้ข้างบนจะเป็นอย่างไรบ้าง

เวลาเห็นข่าวไฟป่าก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้ไฟขึ้นไปสูงนัก เวลาเห็นข่าวเรื่องวัชพืชรุกราน ทั้งบัวตอง สาบเสือ สาบหมาก็ได้แต่ขอให้พวกมันอย่ารุกรานขึ้นไปแทนที่อัญมณีข้างบน

ความรู้สึกเหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่ผมได้ไปยืนอยู่และเห็นความมหัศจรรย์ของพื้นที่ที่เรียกว่าดอยหลวงเชียงดาว

หวังว่าบันทึกความทรงจำของผมนี้จะทำให้ทุกคนมีเวลาหยุดเดินและสังเกตความงามของต้นไม้ระหว่างทางมากขึ้น เดินทางแบบเป็นมิตรกับทุกชีวิตให้มากที่สุด เบียดเบียนน้อยที่สุด เหยียบย่ำให้น้อยที่สุด 

ส่งเสียงให้เบาที่สุด ฟังเสียงธรรมชาติให้ชัดที่สุด 

ไม่เด็ด ไม่เก็บอะไรมา 

เก็บไว้เพียงภาพถ่ายและความทรงจำ  

หมายเหตุ
ใครสนใจงานศึกษาเรื่องเทียน สามารถอ่านงานวิจัยฉบับนี้กันได้ที่
Ruchisansakun S., Niet T. van der, Janssens S.B., Triboun P., Techaprasan J., Jenjittikul T., Suksathan P. 2015. Phylogenetic Analyses of Molecular Data and Reconstruction of Morphological Character Evolution in Asian Impatiens Section Semeiocardium (Balsaminaceae). Systematic Botany 40 : 1063-1074.