Image

เชียงดาว กวางผา
ในความทรงจำ

scoop

เรื่องและภาพ : บารมี เต็มบุญเกียรติ

เทือกเขาหินปูนที่เต็มไปด้วยแหลมคม สร้างความพิเศษจากการที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้นาน ส่งผลให้พืชพรรณที่ตกค้างจากการกระจายพันธุ์ในยุคน้ำแข็งต้องปรับตัว ผ่านเวลายาวนานหลายล้านปี บางชนิดสูญหายตามกาลเวลา หลายชนิดปรับตัว ก่อเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ หลายชนิดเป็นพืชหายาก หลายชนิดเป็นพืชเฉพาะถิ่น และหลายชนิดไม่พบกระจายพันธุ์ในที่อื่นใดในโลก

๑ -

ในแง่ความงามของเทือกเขา ดอยเชียงดาวมีบริวารเป็นยอดเขาขนาดใหญ่หลายยอดที่เชื่อมต่อกันเป็นรูปเกือกม้า เกิดเป็นทิวทัศน์งดงาม น่าตื่นตาตื่นใจ และสวยงามแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงฤดู

ความพิเศษของหน้าผาหินปูนและยอดดอยสูงชันเป็นถิ่นอาศัยสำคัญของสัตว์ป่าสงวนอย่างกวางผาและเลียงผา

เชียงดาวในความทรงจำจึงเป็นยอดดอยพิเศษ

แค่หลับตานึกถึงความหนาวเย็นในช่วงเปลี่ยนผ่านปี  คิดถึงเสียงใบค้อต้องลม นึกถึงแสงดาวระยิบระยับบนฟากฟ้า คิดถึงสีสันของดอกไม้ป่าที่ซุกซ่อนอยู่ตามทาง คิดถึงการได้เฝ้ามองชีวิตน่าพิศวงของกวางผา แค่เพียงนึกถึงก็มีความสุข

เริ่มแรกผมหลงใหลในพรรณไม้ป่าหายาก ตั้งใจขึ้นดอยสูงเพื่อตามหาสีสันของดอกไม้ป่า ได้ขึ้นยอดดอยในทุกฤดูกาลและเก็บภาพยาวนานหลายปีเพื่อทำหนังสือพรรณไม้

การทำงานครั้งนั้นทำให้ได้ขึ้นยอดเกือบทุกยอดที่สูงจากระดับทะเลใกล้เคียงกัน ทั้งดอยหลวง ๒,๑๐๐ เมตร ดอยสามพี่น้องลูกใหญ่ ๒,๑๕๐ เมตร และลูกรอง ๒,๐๘๐ เมตร ดอยพีระมิด ๒,๑๗๕ เมตร ดอยกิ่วลมทั้งทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ดอยหลวงเชียงดาว ๒,๒๒๕ เมตร

การได้ขึ้นลงยอดดอยต่อ ๆ กันหลายปี ได้เห็นสภาพแวดล้อมของแต่ละยอดเปลี่ยนแปลงไป  บนยอดดอยหลวงลูกที่ขึ้นตัดจากป่าสนนั้น ครั้งแรกผมต้องตะลึงกับดงดอกไม้หลากสีสันที่กระจายแต่งแต้มในทุกมุมมอง ทว่า ๑๐ ปีให้หลังกลับพบว่าพืชกึ่งอัลไพน์ต้องต่อสู้กับสาบหมา วัชพืชที่ขึ้นกระจายอย่างหนาแน่นกว้างขวางกินพื้นที่เปิดโล่งในอดีต ทำให้ไม้เฉพาะถิ่นหลายชนิดถูกบดบังแสงและไม่สามารถเติบโตได้ จนค่อย ๆ ลดจำนวนไปในที่สุด

บริเวณลานหินเดิมที่เต็มไปด้วยสีสันบนเศษซากของหินปูน ดอกไม้ลดลงมาก ทว่าในแต่ละปีนั้นก็มีปัจจัยในการผลิดอกแตกต่างกัน ทั้งเรื่องของความหนาวเย็น ความชื้น การงอกงามของวัชพืช รวมไปถึงไฟป่า

ความเปลี่ยนแปลงบนยอดดอยจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การรุกคืบของสาบหมาก็เป็นปัญหาที่น่ากลัวว่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อพืชพรรณที่สำคัญ

Image

ในคืนที่แสงจันทร์อาบทั่วยอดดอย กวางผาออกเดินหากินตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง

กวางผาที่เชียงดาวมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันกับกลุ่มนกปรอด เราพบนกปรอดหงอนปากหนาและนกปรอดหัวตาขาวมาช่วยกันหาเห็บหมัดบนตัวกวางผา

มีความเชื่อว่ากวางผาชอบยืนอาบแดดในช่วงหนาว แต่ความจริงพวกมันแค่ยืนบนทางสัญจรผ่านประจำ บางครั้งยืนตากฝน บางหนยืนนิ่งกลางหมอก บางครั้งลุกขึ้นยืนเคี้ยวเอื้องก่อนจะเดินกลับลงไปนอน

ภาพกวางผากระโจนไปตามหน้าผาแสดงถึงอิสรเสรี และสะท้อนความสำคัญของการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันไว้คู่กับเชียงดาว

๒ -

มุมมองที่ผมชอบมากที่สุดจากการได้สำรวจพรรณไม้ยาวนานหลายปี คือมุมมองจากจุดสูงสุดของยอดพีระมิด

บนยอดที่มีพื้นที่กว้างแค่ราว ๕ ตารางเมตร ไม่มีอะไรบดบัง เรามองได้รอบตัว ๓๖๐ องศา

สภาพโดยรอบคือยอดเขาที่มีสัณฐานหินเด่นชัด ชั้นดินตื้น ไม่มีไม้ใหญ่บริเวณยอด ยอดและลาดเขาประกอบด้วยกองหินเรียงราย เวลาย่ำเดินก่อให้เกิดเสียงของหินปูนที่หักร่วงทับถมกันอย่างหลวม ๆ หินบางก้อนก็แหลมบางและพร้อมจะหัก ไม่เรียบเนียนเหมือนบนยอดเชียงดาวที่มีคนเดินไปแทบทุกตารางเมตร มองไปโดยรอบมีแต่ร่องรอยตีนกีบของกวางผาย่ำไปตามช่องว่างที่เป็นดิน ตามก้อนหินก็จะมีสีน้ำตาลจากดินที่ติดกีบตีนกวางผาขึ้นไปและเป็นแนว ซอกหินบางจุดเต็มแน่นด้วยกองมูลที่ทับถมกันจนมองไม่เห็นพื้น

จากจุดสูงสุดมองออกไปเห็นยอดดอยต่าง ๆ แต่ละยอดมีหน้าผาสวยงาม ส่วนใหญ่ด้านบนสุดจะมีเพียงไม้พุ่มเตี้ย ๆ ที่ต้องต่อสู้กับลมจากทุกทิศทาง พุ่มไม้เล็ก ๆ นี้วางตัวสลับกับเศษหินปูนและก้อนหินใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่แซมตรงเชิงเขาสลับกับทุ่งหญ้า

บนยอดเขา ไม้ที่ดูโดดเด่นที่สุดคือค้อเชียงดาวที่สอดแทรกร่างสูงใหญ่ บางยอดมองเห็นต้นก่อขึ้นตามแนวหน้าผา  มองจากภาพกว้างยอดดอยทั้งหมดนี้ช่างเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับกวางผายิ่งนัก

หลังจากผ่านการขึ้นลงยอดดอยกว่า ๒๐ ครั้ง ครั้งหนึ่งผมกับ ปิยะ โมคมุล เพื่อนผู้สนใจพรรณไม้ เดินทางกลับจากการสำรวจพรรณไม้บนยอดดอยเชียงดาวและมาหยุดพักกินข้าวระหว่างเส้นทางช่วงดอยสามพี่น้อง ผมใช้กล้องสองตาส่องดูแนวของต้นค้อเชียงดาวบนแนวเขาทางทิศเหนือที่ทอดตัว ลงมาจากดอยพีระมิด หน้าผาแถบนั้นงดงามด้วยต้นค้อเรียงราย ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พบเห็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อว่ามีชีวิตลึกลับมากที่สุด ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีรายงานการพบเจอ

ในทีแรกเราสองคนคิดว่ามันเป็นเลียงผา แต่เมื่อผลัดกันดูจากกล้องสองตาที่มีกำลังขยายไม่มากนัก แม้ภาพไม่คมชัด แต่จากสีขนที่ออกน้ำตาลก็ทำให้มั่นใจว่ามันคือกวางผา

มันยืนเด่นบนก้อนหิน แม้จะไกลมาก แต่หันข้างโชว์รูปร่างเด่นชัด

เหตุการณ์นี้ผ่านมากว่า ๒๐ ปี แต่ภาพนั้นยังชัดเจนทุกครั้งที่นึกถึง

๓ -

หลังจากนั้นผมก็เปลี่ยนจากการถ่ายภาพพรรณไม้เป็นตามบันทึกภาพพฤติกรรมของกวางผา

ช่วงปีแรกผมมาเชียงดาวปีละหลายครั้ง แต่กลับไม่ค่อยได้ภาพ จนเริ่มเปลี่ยนจากการเดินตามหาเป็นการไปรอในที่เหมาะสม

ภาพค่อย ๆ ดีขึ้นไปตามการเรียนรู้พฤติกรรมในธรรมชาติของพวกมัน

ภาพส่วนใหญ่ยังอยู่ในระยะข้ามเขา พอรู้พฤติกรรมมากขึ้น เข้าใจพวกมันมากขึ้น ระยะห่างของเราก็ลดลง วิธีการก็เปลี่ยน

เดิมช่วงสายผมจะเดินไปเฝ้ารอและเดินตามหา ก็เปลี่ยนเป็นตื่นตี ๔ จัดแจงธุระให้เรียบร้อย ต้มกาแฟ ห่อข้าวให้พอทั้งวัน แล้วออกเดินตอนตี ๕ ราวครึ่งชั่วโมงก็เฝ้าประจำจุด

ยิ่งอยู่นิ่งเรายิ่งเห็นสิ่งเคลื่อนไหวรอบ ๆ แจ่มชัดขึ้น

ในการเดินทางครั้งหนึ่งผมกลับจากยอดดอยหลวงเชียงดาว ระหว่างทางช่วงกิ่วป่าคามองออกไปยังยอดพีระมิดมีความเคลื่อนไหวอยู่ในส่วนที่ยอดดอยตัดกับท้องฟ้า เมื่อมองจากกล้องสองตาเห็นกวางผาฝูงใหญ่ ๑๐ กว่าตัววิ่งเป็นจุดเล็ก ๆ พากันขึ้นสู่ยอดดอย

บนยอดดอยที่ไร้นักท่องเที่ยวจึงเป็นเหมือนสวรรค์ของเหล่ากวางผา

จากกิ่วป่าคาผมรีบเดินตัดขึ้นขวาให้ใกล้ยอดพอจะได้ระยะแต่กว่าจะเข้าไปถึงจุดหมายก็กินเวลาเกือบชั่วโมง เพราะแทบไม่มีเส้นทางเดิน พอมองในมุมใกล้เห็นกวางผาอยู่แค่ไม่กี่ตัวเพราะมุมเตี้ยไป และนั่นเป็นครั้งเดียวที่ผมเห็นกวางผาฝูงใหญ่ที่เชียงดาว

มีครั้งหนึ่งกวางผายืนเด่นตรงลาดเขาอีกฝั่งห่างจากเราหลายร้อยเมตร เป็นช่วงสาย ๆ ของวัน มันเดินหากินอย่างเพลิดเพลิน ระหว่างที่ผมกำลังบันทึกภาพ จู่ ๆ กวางผาก็หันไปมองทางขวาแล้วกระโจนลงไปอย่างรวดเร็ว เวลาเพียงไม่กี่วินาทีมันไปไกลร่วม ๑๐๐ เมตร ในใจผมนึกไปถึงการหนีสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือดาวที่มีรายงานการพบในพื้นที่ที่ต่ำกว่านี้ไปไม่มาก แต่อีกราว ๑๐ นาที ผมก็เห็นลูกหาบคนหนึ่งเดินตัดป่าลงมาตามเส้นทางลัดที่ลูกหาบใช้ลงสู่พื้นราบโดยไม่ต้องย้อนกลับไปที่หน่วยเด่นหญ้าขัด เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมทราบว่า กวางผามีสัญชาตญาณการรับเสียงและการระวังไพรเป็นเลิศ

ผมติดตามกวางผาจริงจัง ๓ ปี กับพื้นที่ทำงานสามยอดดอย คือ ยอดดอยอินทนนท์ ยอดดอยม่อนจอง และยอดดอยเชียงดาว  ผมเขียนสารคดีขนาดยาวลงในนิตยสาร สารคดี เรื่อง “กวางผา มหัศจรรย์สี่ขาแห่งผาสูง”

ลิงวอกภูเขาหรือลิงอ้ายเงียะปรับตัวขึ้นมาหากินบนเขตสังคมพืชกึ่งอัลไพน์และนำเมล็ดพันธุ์จากเขตป่าดิบเขาด้านล่างขึ้นมา เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของยอดดอยที่สูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บริเวณก้อนหินในพื้นที่ห่างไกลจากนักท่องเที่ยว เราจะพบกองมูลของกวางผาที่ทับถมกันจนหนาแน่น บ่งบอก เส้นทางสัญจรที่กวางผาใช้อยู่สม่ำเสมอ

การจะรักษากวางผาไว้ต้องรักษาสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมไว้ด้วย เพราะทุกอย่างผูกพันโยงใยถึงกันหมด กวางผากินพืชหลากหลาย มันช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ให้งอกงามไกลต้นแม่ตามเส้นทางที่มันผ่าน

ระหว่างติดตามกวางผาที่เชียงดาว หลายครั้งที่ผมเดินทางไปกับช่างภาพสัตว์ป่ารุ่นพี่ พี่เปี๊ยก- ปรีชา ประเสริฐอาภรณ์ เราเคยเจอกวางผาด้วยกันบนหินก้อนหนึ่ง แต่สภาพแสงไม่ดีนัก ผมพูดทีเล่นทีจริงว่าถ้ากวางผาออกมายืนบนหินก้อนนั้นในวันฟ้าแจ่ม ๆ นะ “ขึ้นปกแน่ ๆ” เพราะด้วยฟอร์มหินก้อนใหญ่กลมมนสวยงามแตกต่างจากก้อนอื่นที่จะแหลม ๆ มีไม้ก่อต้นใหญ่ที่หงิกงอจากแรงลมจนดูคล้ายบอนไซขนาดยักษ์ ฉากหลังหลุดออกไปเป็นท้องฟ้ายิ่งทำให้มุมที่ว่านี้โดดเด่น

อีกหลายครั้งที่ผมเดินทางมาและลงซุ่มที่จุดเดิม วันหนึ่งธรรมชาติก็เปิดโอกาสให้ได้ภาพที่วาดฝันไว้ ครั้งนั้นผมถ่ายภาพจากมุมนี้ไปราวครึ่งม้วน (ฟิล์มสไลด์) มีกวางผาสลับกันขึ้นมาบนหินก้อนนี้สี่ตัว หนึ่งในภาพได้รับคัดเลือกเป็นภาพปกนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๒๘๑ เป็นอีกหนึ่งความทรงจำดี ๆ ที่ขุนเขายิ่งใหญ่มอบให้

หลังจากนั้นผมยังคงกลับมาซุ่มที่จุดเดิม เพราะยังมีภาพในจินตนาการที่อยากได้ และเมื่อเราก้าวเท้าเข้าหาธรรมชาติบ่อย ๆ ด้วยความเข้าใจในพฤติกรรมที่มากขึ้น ยอดดอยก็ตอบแทนผมด้วยภาพ “เหนือภูผา” ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจและดีใจตั้งแต่วันที่ธรรมชาติมอบโอกาสมาให้ได้พบ ยิ่งทำให้ผมรู้สึกผูกพันกับกวางผาและประทับใจกับยอดดอยมากขึ้นไปอีก

อีกพฤติกรรมที่บันทึกยาก คือการหากินในช่วงกลางคืนของกวางผา

เรามักได้ยินเสียงพวกมันร้องระวังไพรในช่วงค่ำ บางครั้งก็มีเสียงเดินและกระโจนไปตามแนวผาใกล้ ๆ ทางฝั่งดอยกิ่วลม ยามค่ำคืนหลายครั้งที่ออกมาถ่ายภาพทางช้างเผือกก็จะมีเสียงพวกมันเดินหากินมาให้ได้ยินบ้าง

ครั้งหนึ่งท้องฟ้าแสงดาวจาง เพราะจันทร์กระจ่างสว่างจนมองเห็นยอดเขารางเลือน ผมหาจุดไปเฝ้ากวางผา เพราะได้ยินเสียงพวกมันร้องตอนกลางดึก พอช่วงตี ๔ ก็ รีบออกเดินไปเฝ้ารอพวกมัน

ระหว่างไต่ทางชันยาวต่อเนื่อง ผมได้ยินเสียงสัตว์วิ่งบนหญ้าแห้ง เสียงห่างออกไปเร็วมาก ซึ่งไม่ใช่เสียงของแมวดาวที่พบได้บ่อย ๆ หรือเสียงของหมาหริ่งที่ชอบกระโดดบนใบไม้เสียงจะไม่ดังต่อเนื่องรูด ๆ ไปตามต้นไม้และหยุดแบบนี้ ผมใช้ไฟฉายส่อง ไฟสะท้อนดวงตาสัตว์กลับมาบนไหล่เขาอีกฝั่ง ระยะไกลออกไปราว ๑๒๐ เมตร แววตานั้นหยุดนิ่งเพ่งมองมา ผมหยิบกล้องและเลนส์ออกมา ค่อย ๆ ตั้งขาตั้งกล้อง พยายามโฟกัสด้วยมือจนเห็นภาพคมที่สุด

ผมบันทึกภาพด้วยวิธีตั้งเวลาและใช้ความไวชัตเตอร์ ๓๐ วินาที ค่าความไวแสงอยู่ที่ ๘๐๐ ซึ่งค่อนข้างสูงแล้วสำหรับกล้องดิจิทัลในสมัยนั้น ถ่ายภาพต่อกันหลายรูป รอช่วงจังหวะที่กวางผายืนนิ่งที่สุด

เป็นภาพกวางผายืนท่ามกลางแสงจันทร์ ขณะบันทึกภาพต้องคอยเอามือมาถูกัน เพราะอุณหภูมิที่ลดต่ำกว่า ๔ องศา

ภาพนี้เป็นตัวแทนของการหากินยามค่ำคืนของกวางผาที่มีดวงตาขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยมีภาพให้ได้เห็นกัน เป็นอีกพฤติกรรมที่หาดูยากยิ่งในธรรมชาติ

Image

Image

เ ลี ย ง ผ า
หากินในถิ่นอาศัยเดียวกันกับกวางผา มีขนาดใหญ่กว่ากวางผาเกือบเท่าตัว มักออกหากินในช่วงเย็น กลางคืน จนถึงช่วงเช้ามืด สลับกับกวางผาที่มักออกหากินใน ช่วงกลางวัน

๔ -

ตอนเริ่มทำรายการทีวี “Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว” สถานที่แรกที่ผมนึกถึงคือดอยหลวงเชียงดาว

ครั้งนั้นเป็นการขึ้นเชียงดาวช่วงเดือนเมษายน เส้นทางหลายช่วงยังมีควันไฟและรอยไหม้ให้เห็น สภาพอากาศร้อนเมื่อรวมกับไอร้อนจากไฟ แม้จะไม่รุนแรง แต่ก็ทำให้เส้นทางที่เดินสบายในช่วงฤดูหนาวนั้นกลายเป็นเส้นทางสุดโหด

ผมมักจะบอกใคร ๆ ว่าเวลาเราเฝ้าถ่ายภาพสัตว์ป่านั้น บนยอดเชียงดาวกับการเฝ้ากวางผานั้นสบายสุดแล้ว เพราะอากาศเย็นสบายเมื่อเทียบกับการเฝ้าโป่งสัตว์ในช่วงฤดูร้อน แต่สำหรับเชียงดาวในครั้งนี้กลายเป็นประสบการณ์ประทับใจครั้งใหม่ของผม

เราเดินได้ไม่เร็วนัก เพราะต้องหยุดถ่ายทำเป็นพัก ๆ ทีมของเราจึงค่อย ๆ ทิ้งช่วงกันไป ครั้งนั้นช่างภาพรับเชิญในรายการผมเลือกพี่เปี๊ยก-ปรีชา เพราะเราเคยเฝ้ากวางผาด้วยกันหลายครั้ง และรู้จักทั้งนกและพรรณไม้ที่พบบนนี้

ตอนช่วงกิ่วป่าคาเส้นทางชันต่อเนื่อง ผมหยุดปาดเหงื่อ เงยหน้ามองขึ้นไปด้านบน เห็นสัมภาระของพี่เปี๊ยกวางกองทิ้งไว้ริมทาง ผมรีบจ้ำเท้าขึ้นไป ต้องมีอะไรแน่ ๆ เมื่อไปถึงผมพบว่าพี่เปี๊ยกปีนหินทางฝั่งขวาที่สูงราว ๓ เมตร ไกลลึกเข้าไปสัก ๑๕ เมตร ผมค่อย ๆ ปลดของลง ถือแค่กล้องและเลนส์ตามไป พี่เปี๊ยกหันมาเห็นก็ชูนิ้วชี้แนบที่หัว แล้วชี้ลงไปตรงหน้า ไกลออกไป

ผมนึกในใจ กวางผาแน่ ๆ รีบปีนขึ้นยอดหินข้าง ๆ ที่ห่างออกไปราว ๕ เมตร เบี่ยงมุมไปอีกยอดกองหิน มองไกลออกไปร่างสีดำยืนนิ่งราวกับรูปปั้น มันคือเลียงผาขนาดกำยำ ยืนหันหน้ามองมาทางเรา ผมมองเห็นใบหูของมันเปิดกว้าง มันคงได้ยินเสียงตอนผมเดินลุยหญ้าท่วมหัวเข้ามา สักพักมันหันมองไปอีกทาง

ผมลดตัวลงนั่งพัก เหงื่อท่วมตัว จากนั้นจึงค่อย ๆ ปีนลงจากก้อนหินเพื่อขยับเข้าไปให้ใกล้ขึ้น เราทั้งคู่รู้ดีว่าหากตะโกนคุยกันหรือรีบเข้าไปหาเป้าหมาย มันจะกระโจนหนีอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์จากการเฝ้ากวางผาบอกเช่นนั้น

ผมตัดเข้าไปได้ใกล้อีก ๒๐ เมตร ปีนขึ้นไปบนหินแล้วก็รีบบันทึกภาพไว้ มันอยู่บนหินอีกไม่กี่นาทีก็กระโดดลงพื้น จากนั้นเราได้ยินเพียงเสียงเดิน แต่มองไม่เห็นตัวแล้ว เพราะขนาดคนเดินลงไปยังหายไปกับแนวหญ้า

สำหรับผมนี่คือครั้งแรกที่บันทึกภาพเลียงผาได้ที่ดอยเชียงดาว เป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ดี

ในทริปนั้นเราเจอสัตว์อีกชนิดที่พบเจอได้ค่อนข้างยาก

หลังจากมื้อค่ำจบลง เราเดินส่องไฟตามพุ่มไม้เพื่อหานกที่เกาะนอน บริเวณอ่างสลุงนี้นอกจากจะเหมาะเป็นที่พักแรมของนักเดินทาง ยังเหมาะเป็นที่หลบนอนของนก เพราะอ่างสลุงทางฝั่งเชิงดอยกิ่วลมเป็นป่าดิบเขา ยังมีไม้พุ่มใหญ่และไม้ต้นที่สูงเป็นสิบเมตรรวมถึงต้นสน ด้านในแม้จะมีลมพัดบ้างแต่ก็ไม่รุนแรงเท่าฝั่งหน้าผาด้านนอก หลายครั้งที่เดินกลับจากไปซุ่มถ่ายภาพกวางผาช่วงหัวค่ำก็มักจะเจอนกเกาะหลบนอนตามดงไม้

ระหว่างเดินส่องหานกก็ได้ยินเสียงสัตว์เดินบนใบไม้เป็นจังหวะกระโดดต่อ ๆ กันแล้วหยุด แล้วก็กระโดดต่อ ๆ กันอีก เสียงเป็นสัตว์ขนาดเล็ก  ผมนึกไปถึงแมวดาวที่เคยพบเข้ามาบริเวณที่พักในช่วงค่ำ แต่พอส่องไฟไปเห็นถึงรู้ว่าเป็นหมาหริ่ง สัตว์ที่ยังไม่เคยได้ภาพดี ๆ อาจเพราะพวกมันหากินช่วงกลางคืนเป็นหลัก ทำให้เราไม่ค่อยได้เห็นภาพมันมากนัก

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ได้พบเจอ ผมเคยพบหมาหริ่งที่นี่ แต่ครั้งนั้นเป้าหมายหลักคือการสำรวจประชากรกวางผาบนยอดดอยหลวงและเส้นทางที่กวางผาลงไปกินน้ำที่บ่อน้ำไก่ รวมถึงการหาจุดซุ่มถ่ายภาพกวางผา ด้วยความสูงชันที่ตัดตรงขึ้นจากป่าสนและอุปกรณ์ที่ต้องนำขึ้นไปมากเลยคัดของที่ไม่จำเป็นออกไป รวมทั้งแฟลช

Image

Image
Image

Image

ห ม า ห ริ่ ง 
สัตว์ป่าที่เห็นตัวได้ยาก จัดเป็นผู้ล่าขนาดเล็กที่หากินไข่นก แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก ออกหากินในเวลากลางคืน

คืนนั้นขณะที่เรากำลังนั่งคุยกันก็มีหมาหริ่งเดินผ่าเข้ามากลางวง แล้วมันก็มุดลงไปในหลุมหนึ่ง ไม่นานนักมันก็โผล่ขึ้นมาแล้วเดินจากไปในความมืด ทีมงานทุกคนได้แต่มองดู เพราะไม่มีใครมีแฟลช ครั้งนั้นแม้ไม่ได้ภาพ แต่ก็ทำให้รู้ว่าจมูกหมาหริ่งดี คงตามกลิ่นอาหารมา แต่สัญชาตญาณการระวังตัวไม่ดี ครั้งนั้นจึงมีเพียงเรื่องราวในความทรงจำว่า

หมาหริ่งเดินเข้าไปในรก มุดไปตามพง และปีนไปบนหินปูนอย่างคล่องแคล่ว พอลงสู่พื้นราบที่มีใบไม้ร่วงเต็มก็ใช้วิธีกระโดดต่อเนื่อง อาจเพราะมันตัวเล็กและถ้าเดินอาจจมไปในใบไม้ จัดเป็นพฤติกรรมที่แปลกและน่ารักมาก

คืนแรกในครั้งนี้พอได้ภาพหมาหริ่งบ้าง แต่ยังไม่ค่อยดี ร่างกายที่อ่อนล้าจากแดดและความร้อนทำให้เหนื่อยมากเป็นพิเศษ

คืนที่ ๒ หลังจากเช็ดตัวเสร็จผมนอนเอนหลังในเต็นท์ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ค่ำคืนเงียบมาก เพราะมีแต่ทีมของเราที่ขออนุญาตขึ้นมาถ่ายทำ เป็นค่ำคืนที่เสียงธรรมชาติแจ่มชัด ไม่มีเสียงพูดคุย ไม่มีกองไฟ ทุกคนกลับเข้าเต็นท์ มีเพียงเสียงนกเค้าภูเขาดังแว่วมาไกล ๆ

ผมรอฟังเสียงของหมาหริ่ง ราว ๒ ทุ่มครึ่งได้ยินเสียงกระโดดบนใบไม้ มันยังคงออกหากินในละแวกนี้ ผมหยิบกล้องออกไปเดินตามอยู่ราว ๒ ชั่วโมงก็ได้ภาพหมาหริ่งบนหินปูน ซึ่งบอกได้ถึงสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่

สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่พบเจอบนยอดเขาก็คือลิงวอกภูเขา พวกมันหากินเป็นฝูงขนาดใหญ่ ไต่ไปตามหน้าผาอย่างคล่องแคล่ว  อันที่จริงเราพบพวกมันได้บ่อยตามทางขึ้นฝั่งปางวัว แต่ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมามันปรับตัวและขึ้นมาจนถึงบนยอดเชียงดาว แต่มักจะเลี่ยงไปหากินทางฝั่งหน้าผาชันที่ห่างไกลจากนักท่องเที่ยว

กลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ ผมได้ฟังการบรรยายเชิงวิชาการ Nature Talk ครั้งที่ ๑๙ เรื่อง “ดอกไม้และพรรณไม้ป่าน่าพิศวงแห่งเชียงดาว Biosphere Reserve” ที่ดอกเตอร์ปิยเกษตร สุขสถาน พูดถึงปัญหาโลกร้อนและการขยับตัวขึ้นของสังคมพืชว่า เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้ยอดเขาที่เคยมีหิมะละลายไป พืชก็ขยับตัวขยายถิ่นอาศัยขึ้นไปสูงกว่าเดิมถึง ๑๕๐ เมตร  แต่ในกรณีของยอดดอยเชียงดาวนั้น พืชหายากและพืชเฉพาะถิ่นหลายชนิดไม่สามารถขยับขึ้นไปได้อีก เพราะยอดดอยสิ้นสุดที่ความสูง ๒,๒๒๕ เมตรจากระดับทะเล  ในทางตรงกันข้ามต้นไม้ที่ไม่ชอบอากาศเย็นของยอดดอยที่เคยขึ้นที่เชิงเขาก็ขยับขึ้นมางอกงามบนยอดได้ เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยโดยรวมด้านบนสูงขึ้น สัตว์ชนิดหนึ่งที่จะนำเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นขึ้นมาก็คือลิงวอกภูเขาที่ปรับตัวขึ้นมาหากินบนยอดเขา

พูดง่าย ๆ ก็คือสังคมพืชกึ่งอัลไพน์อาจถูกแทนที่ด้วยสังคมพืชของป่าดิบเขา แต่ในแง่ของภูมิประเทศก็ยังพอโชคดีอยู่บ้าง เพราะยอดเขามักจะเป็นยอดหินปูน ชั้นดินตื้น ไม่เหมาะแก่การเติบโตของพืชป่าดิบเขา  การที่เราพบลิงวอกภูเขาบนยอดดอยเชียงดาวก็เพราะอุณหภูมิโดยรวมของยอดเขาลดลง ลิงปรับตัวทนต่ออากาศหนาวได้ดีขึ้น และจากการสังเกตลิงที่นี่มีขนยาวและหนากว่าลิงที่อาศัยอยู่พื้นราบบนหน้าผา

ผมซ่อนตัวอยู่ตั้งแต่เช้ามืด กวางผาวนเวียนมาใกล้แล้วจากลงไปสลับกับฝูงลิงที่ขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ จากเห็นไกล ๆ นับร้อยเมตรไม่นานนักพวกมันก็มาจนใกล้กันที่ระยะห่างแค่ ๓๐ เมตร แม้กวางผาจะไม่เห็นผมและหากินยาวนานหลายชั่วโมงก่อนจากไป แต่ผมยังไม่แนบเนียนพอสำหรับลิงวอกภูเขา

จ่าฝูงและลูกฝูงห้าถึงหกตัวปีนขึ้นมาขู่และแสดงพฤติกรรมขย่มต้นไม้ ยืนแยกเขี้ยว พยายามไล่ผม ตัวเด็ก ๆ และตัวเมียหนีลงไปทางด้านล่างอย่างรวดเร็ว พอพวกลูกฝูงลงไปไกลแล้ว มันก็ค่อย ๆ ปีนตามกันลงไป

นับเป็นทริปที่ผมเจอสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากสุดคือสี่ชนิด

หลังจากนั้นผมยังได้เดินทางไปเชียงดาวอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้พบสัตว์หลากชนิดเท่าครั้งนั้น

Image

ต้ น ค้ อ เ ชี ย ง ด า ว
กระจายตัวขึ้นอยู่ตามยอดเขาหินปูนที่มีเสน่ห์ในทุกช่วงฤดูกาลและทุกช่วงเวลา

๕ -

ความประทับใจของผมต่อยอดดอยในช่วงหลังนั้นเป็นเรื่องราวของกวางผา

การได้แอบเฝ้าดูชีวิตพวกมันเสมือนได้อยู่ร่วมไปกับฝูง จากมองมันเป็นชั่วโมง ผ่านไปเป็นวัน ผ่านหลายฤดูกาล รู้ตัวก็ผ่านมา ๑๐ กว่าปี มุมมองต่อกวางผาเปลี่ยนไปมาก

ในแง่ภาพถ่ายช่วงแรก ๆ ผมพยายามเพื่อให้ได้เข้าใกล้ อยากได้ภาพกวางผาที่เด่นชัด จนวันหนึ่งวิธีคิดก็เปลี่ยนไป ผมอยากได้ภาพวิวที่มีมันเป็นส่วนประกอบ เพื่อสะท้อนถิ่นอาศัยที่งดงามของพวกมัน

ผมอยากเห็นภาพกวางผากระโจนบนหน้าผาอย่างอิสระอยากเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ เห็นนก เห็นพรรณไม้

เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่หลอมรวมกันเป็นเชียงดาว

การจะรักษากวางผาไว้ก็ต้องรักษาสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมมันไว้ด้วย เพราะทุกอย่างผูกพันโยงใยถึงกันหมด

กวางผากินพืชหลากหลาย อาหารหลักคือหญ้าแต่มันก็กินพืชเฉพาะถิ่นและพืชหายากไปด้วย เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านระบบย่อยจะงอกงามได้ดีขึ้น กวางผาช่วยนกและแมลงกระจายเมล็ดพันธุ์ให้งอกงามไกลต้นแม่ตามเส้นทางที่มันผ่าน  นกหลายชนิดหากินเห็บบนตัวกวางผา เป็นความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย นกได้อาหาร กวางผาได้กำจัดส่วนเกินออกจากร่างกาย

ชีวิตของกวางผาอยู่ใกล้กับเรามาก

ผมเคยนั่งมองกวางผาที่อยู่ทางสันกิ่วลมจากยอดดอยเชียงดาว สายหมอกไหลผ่านห่มคลุม พอจางไปกวางผาก็หายไปจากหินก้อนนั้นแล้ว ไม่ถึง ๑๐ นาทีนักท่องเที่ยวโพสท่าถ่ายรูปกันบนหินก้อนเดียวกันกับกวางผา ฉากหลังคือวิวยอดดอยเชียงดาว ถัดลงมามีดอกไม้ป่าซุกซ่อนอยู่ นักท่องเที่ยวอยู่ใกล้ แต่อาจมองไม่เห็น

เรื่องอนุรักษ์กวางผาก็เช่นเดียวกัน เรารักษาถิ่นอาศัยควบคุมปัจจัยคุกคาม อย่างการล่าหรือการเข้ามาของนักท่องเที่ยว หากเราควบคุมทุกอย่างได้ เราอาจจะไม่เห็นพวกมัน แค่รู้ว่าที่นี้มีพวกมันอยู่ก็พอ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการกำหนดจำนวนคนขึ้นดอย กำหนดวัน กำหนดจุดพักแรม และยังให้เก็บขยะกลับ มีการนำกวางผาจากศูนย์เพาะเลี้ยงมาเลี้ยงให้ปรับตัวก่อนปล่อยออกไปหากิน กวางผากลุ่มนี้มีหน้าที่ไปพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรง

เวลา ๒๐ ปีที่ได้รู้จักเชียงดาวผ่านไปไวมาก

มีหลายอย่างกำลังดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น แต่ไม่ว่าในอนาคตเรื่องราวบนยอดเขาจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

เรื่องราวเชียงดาวที่อยู่ในความทรงจำก็ยังเป็นยอดเขาที่รักที่สุดยอดหนึ่งตลอดกาล