Image
ดอยเชียงดาว
พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก
scoop
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพถ่าย : กิตติทัช โพธิวิจิตร
วิดีโอ : กรดล แย้มสัตย์ธรรม
ภาพวาด : จัน-เจ้า-ค่ะ
พระอาทิตย์ขึ้นหลังดอยสามพี่น้อง และดอยพีระมิด ดอกไม้มีรอบฤดูผลิบาน ฤดูกาลมีรอบหมุนเวียนตามการโคจรของโลก เมื่อเชียงดาวกลายเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแล้ว อาจช่วยให้หลายวัฏจักรบนดอยแห่งนี้ยังคงอยู่
วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ ที่ประชุมครั้งที่ ๓๓ ของคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Coordinating Council of the Man and the Biosphere Programme : MAB-ICC)
ผมจริงจังขึ้นเมื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ว่ามันเชื่อมโยงมาจากรัฐประหารปี ๒๕๓๔ ถ้าเปิดช่องทางให้รัฐประหารได้ จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดวัฒนธรรมทางอำนาจขึ้นในรัฐไทย และสุ่มเสี่ยงที่ทหารจะใช้กำลังข่มเหงประชาชนในแบบที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น พอเกิดรัฐประหาร ๒๕๔๙ ผมจึงประท้วงทันที

ภายใต้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ณ เมืองอาบูจา ประเทศไนจีเรีย ลงมติรับรองให้ดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกในชื่อ “พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว” (Doi Chiang Dao biosphere reserve)
ดอยเชียงดาวนับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ ๕ ของไทยต่อจากพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช (สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช) จังหวัดนครราชสีมา (ปี ๒๕๑๙), พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สาคอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ (ปี ๒๕๒๐), พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง (ปี ๒๕๒๐) และพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง (ปี ๒๕๔๐)

พื้นที่สงวนชีวมณฑลมีทั้งที่อยู่บนบก ทะเล และชายฝั่ง

ในเมืองไทยเขตสงวนชีวมณฑลที่เกี่ยวข้องกับทะเลคือป่าชายเลนชายฝั่งทะเลอันดามันในเขตสงวนชีวมณฑลระนอง 

ทุกวันนี้ทั่วโลกมีพื้นที่สงวนชีวมณฑลแล้วทั้งสิ้น ๗๒๗ แห่ง ตั้งอยู่ใน ๑๓๑ ประเทศ โดยมี ๒๒ แห่งตั้งอยู่บนพื้นที่ข้ามพรมแดน แบ่งตามภูมิภาคดังนี้
Image
ดอยเชียงดาวเป็นเทือกเขาหินปูน เต็มไปด้วยผาหินแหลมคมและหน้าผาสูงชันจากการกัดกร่อนตามธรรมชาติ ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานหลายล้านปี
/๑/
แม้เป็นรางวัลระดับโลก แต่คงมีน้อยคนจะเข้าใจว่า “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” คืออะไร 

และแม้ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมโครงการมนุษย์และชีวมณฑล (The UNESCO Man and the Biosphere Programme : MAB) ขององค์การยูเนสโกมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙  ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลามากกว่า ๔๕ ปี แต่หลายคนอาจเพิ่งเคยได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก

เมื่อคำว่า biosphere reserve ถูกแปลเป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” คำว่า “reserve” เราคงเข้าใจความหมายได้ไม่ยากว่าหมายถึง “เขตสงวน” หรือ “พื้นที่สงวน”

แล้วสำหรับคำว่า “biosphere” หรือ “ชีวมณฑล” ล่ะ หมายถึงอะไร ?

ยูเนสโกให้คำจำกัดความของ biosphere reserve ว่าหมายถึงพื้นที่เรียนรู้ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นพื้นที่ทดสอบแนวทางสหวิทยาการเพื่อทำความเข้าใจและจัดการการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างระบบสังคมกับระบบนิเวศเพื่อป้องกันความขัดแย้ง เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

เงื่อนไขสำคัญของพื้นที่ชีวมณฑลคือต้องปรากฏกิจกรรมของมนุษย์ แสดงออกถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ 

เป็นตัวอย่างหรือแนวทางเดียวกับคำว่า “คนอยู่กับป่า” หรือ “คน” อยู่ได้ “ป่า” “พื้นที่อนุรักษ์” ก็อยู่ได้

ด้วยเหตุนี้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงให้คำจำกัดความของพื้นที่สงวนชีวมณฑลว่า เป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้ และ “คน” ต้องสามารถดำรงชีพได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยธรรม-ชาติไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ เพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 

หรืออีกนัยหนึ่ง ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว  
/๒/
เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน โครงการมนุษย์และชีวมณฑลจึงแบ่งพื้นที่ภายในพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นสามเขต ไล่ตั้งแต่ส่วนที่อยู่ลึกสุดถึงส่วนขอบนอก เรียกว่า เขตแกนกลาง เขตกันชน และเขตรอบนอก 

เขตแกนกลาง (core area) 
ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไม่มีกิจกรรมใด ๆ ยกเว้นการวิจัย การติดตามตรวจสอบ หากจำเป็นอาจอนุญาตให้มีการใช้ทรัพยากรชีวภาพตามจารีตประเพณีของชุมชนท้องถิ่น

เขตกันชน (buffer zone) 
เป็นพื้นที่ล้อมรอบเขตแกนกลาง และช่วยคุ้มครองเขตแกนกลางไว้ ผ่อนปรนให้มีกิจกรรมที่ไม่ขัดแย้งกับการอนุรักษ์ในเขตแกนกลาง เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านนิเวศวิทยา กิจกรรมนันทนาการ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เขตรอบนอก (transition area) 
เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมมากที่สุด ได้แก่ กิจกรรมด้านการเกษตร การตั้งถิ่นฐาน การใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตของชุมชนท้องถิ่น มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ประเพณีและวัฒนธรรม โดยมีการตกลงร่วมกันที่จะบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ทั้งสามเขตต้องแสดงออกถึงการดำเนินกิจกรรมร่วมกันจึงจะผ่านการพิจารณายกให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล

ยกตัวอย่างพื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง เขตแกนกลางเป็นที่ตั้งของกลุ่มไม้โกงกางสูงใหญ่ อายุขัยนับร้อยปี ที่ผ่านการศึกษาวิจัย ล้อมรอบด้วยทะเลและคลองหลายสาย เขตกันชนเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้ความรู้แก่ผู้คน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรรูปแบบต่าง ๆ และเขตรอบนอกเป็นพื้นที่เปลี่ยนสภาพ ส่วนใหญ่เป็นสวนยาง สวนมะพร้าวเหมืองร้าง ที่อยู่อาศัย

สำหรับพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว มีพื้นที่ทั้งหมด ๕๓๖,๙๓๑.๕๐ ไร่ เขตแกนกลาง ประกอบด้วย ดอยหลวงเชียงดาว ดอยนาง และป่าต้นน้ำสมบูรณ์ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว รวมพื้นที่ ๒๒๕,๐๖๐.๐๖ ไร่  เขตกันชน ได้แก่ หมู่บ้านและพื้นที่ทำกินทั้งที่อยู่ในและนอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว จำนวน ๒๕ หมู่บ้าน รวมพื้นที่ ๒๗๖,๕๑๖.๓๑ ไร่ และเขตรอบนอก ได้แก่ พื้นที่ทำกินที่มีเอกสารสิทธิ พื้นที่ชุมชน พื้นที่หน่วยงานต่าง ๆ ขอใช้ประโยชน์โดยรอบ รวมพื้นที่ ๓๕,๓๕๕.๑๓ ไร่
/๓/
ดอยเชียงดาวเป็นภูเขาสูงอันดับ ๓ ของประเทศ แต่ถ้านับเฉพาะภูเขาหินปูน ดอยเชียงดาวจะมีความสูงเป็นอันดับ ๑ เป็นภูเขาหินปูนทั้งลูกที่อุดมสมบูรณ์

ด้วยสัตว์ป่าและพืชป่า ระบบนิเวศบ่งบอกความสัมพันธ์กับระบบนิเวศในแนวเทือกเขาหิมาลัยและจีนตอนใต้ด้วยลักษณะเฉพาะของเขาหินปูน อุณหภูมิหนาวเย็น ความชื้นสูง ส่วนที่อยู่สูงเกินกว่า ๑,๙๐๐ เมตรจึงเป็นพื้นที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (subalpine vegetation) ประกอบด้วยไม้พุ่มขนาดเล็ก พืชล้มลุก และหญ้า ไม่มีไม้ยืนต้น เป็นแหล่งค้นพบพืชเฉพาะถิ่น (endemic plant) พืชหายาก (rare plant) มากที่สุดแห่งหนึ่ง รวมถึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหายาก โดยเฉพาะกวางผาและเลียงผา สัตว์ป่าสงวน  

ล่าสุดสำรวจพบว่ามีสัตว์ป่าทั้งที่พบแล้วและเคยพบทั้งสิ้น ๖๗๒ ชนิด จาก ๓๕๘ สกุล ใน ๙๑ วงศ์
Image
นอกจากนี้ยังพบปลาน้ำจืดไม่น้อยกว่า ๒๕ ชนิด จาก ๒๓ สกุล ๑๑ วงศ์ พบแมลงหายากที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ด้วงกว่างดาว ด้วงกว่างห้าเขา ด้วงคีมยีราฟ ผีเสื้อกลางคืนหางยาว ผีเสื้อถุงทอง และผีเสื้อหางดาบตาลไหม้

ส่วนผีเสื้อที่พบเฉพาะดอยเชียงดาวและคาดว่าสูญพันธุ์แล้วคือผีเสื้อภูฐานหรือผีเสื้อสมิงเชียงดาว

ในปี ๒๕๖๒ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวนำระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือสมาร์ตพาโทรล (smart patrol system) ที่มีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานสากลมาใช้ในการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ครอบคลุมพื้นที่มากถึงร้อยละ ๙๕ ทำให้สถิติด้านการตัดไม้ ลักลอบล่าสัตว์ป่า ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ตำแหน่งและภูมิประเทศ
ดอยเชียงดาว 
อำเภอเชียงดาว 
จังหวัดเชียงใหม่

ภาพจาก Google Earth มองเห็นเทือกเขาหิมาลัยที่คดโค้งต่อเนื่องมาถึงบริเวณตอนเหนือของประเทศไทย ครั้งหนึ่งในอดีต ภูมิอากาศอันหนาวเย็นและพืชพันธุ์จากหิมาลัยได้แพร่กระจายมาถึงแถบนี้ แต่ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะบนยอดเขาสูงที่หนาวเย็น
scrollable-image
บริเวณดอยเชียงดาวมองจากมุมสูง แสดงภูมิประเทศเทือกเขาที่ยกตัวคล้ายรูปเกือกม้า 
Image
ดอยเชียงดาวไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว แต่ยังรวมพื้นที่รอบนอก โดยแบ่งเป็นสามเขต เขตแกนกลาง (สีเขียวเข้ม) เขตกันชน (สีเขียวอ่อน) และเขตรอบนอก (สีฟ้า)

เขตแกนกลาง ๒๒๕,๐๖๐ ไร่
เขตกันชน ๒๗๖,๕๑๖ ไร่
เขตรอบนอก ๓๕,๓๕๕ ไร่
ประชากร ๒๔,๐๐๐ คน 
(ตัวเลขโดยประมาณ)

Image
Image
Image
Image
/๔/
แม้ดอยเชียงดาวภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวซึ่งอยู่ในเขตแกนกลาง (core area) จะเปรียบได้กับ “หัวใจ” หรือ “ไข่แดง” ของพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว แต่ทุกตารางนิ้วของพื้นที่ทั้งหมดมีคุณค่าสำคัญและมีส่วนผลักดันให้ได้รับการยอมรับในระดับโลก

พื้นที่สงวนชีวมณฑลเชียงดาวได้รับการยกย่องว่ามีความมหัศจรรย์ ไม่เพียงเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุกรรมพืชและสัตว์ พืชป่า สัตว์ป่าเฉพาะถิ่นที่หายาก แต่ยังรวมถึงจิตวิญญาณของผู้คนในท้องถิ่น ทั้งปราชญ์ ศิลปิน ผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง 

ดอยเชียงดาวหรือที่บางคนเรียกติดปากว่าดอยหลวงเชียงดาว คนเก่าคนแก่เรียกว่า ดอยเพียงดาว ดอยเปียงดาว ดอยอ่างสลุง เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองหลากหลาย ทั้งชาวไทใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ แต่ละชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกันมานาน  ทุกวันนี้ยังมีวิถีชีวิตยึดโยงผูกพันกับความเชื่อ วัฒนธรรม

และที่สำคัญแนวทางการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับผืนป่ายังคงมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณ  

ศรัณยา กิตติคุณไพศาล เกษตรกรบ้านจอมคีรี ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงความผูกพันของคนเชียงดาวต่อขุนเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกนี้ว่า

“คนเชียงดาวมีวิถีชีวิตพ้องกับบรรพบุรุษ คนที่อยู่ในผืนป่าจะเคารพในผืนป่า คนที่อยู่พื้นราบก็เคารพในวิถีชีวิตของคนในผืนป่า เกือบ ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นหมู่บ้านที่อยู่เชิงดอยกับในป่า เพราะฉะนั้นเชียงดาวจึงผูกพันกันสามอย่าง ระหว่างคนผืนป่า และสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่น้ำสำหรับการเพาะปลูก ทำการเกษตรก็มาจากผืนป่า นี่คือตัวตนของคนเชียงดาว”

คนเชียงดาวเห็นดอยหลวงเชียงดาวและดอยนางตั้งอยู่เคียงกันมาตั้งแต่เกิด เป็นความภูมิใจของคนเชียงดาวไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล ศิลปินนักปั้นตุ๊กตา เล่าว่า 

“ภูเขาสองลูกนี้คนเชียงดาวแท้ ๆ จะเคารพนับถือว่าเป็นปู่ย่าตายาย ถ้าเกิดมีเรื่องไม่สบายใจก็จะมาขอพลัง ขอกำลังใจ คนเชียงดาวที่เกิดที่นี่จะรู้สึกว่าสามารถสื่อสารโต้ตอบกับดอยได้ เพราะดอยไม่ใช่แค่สถานที่ทางภูมิศาสตร์หรือสถานที่ท่องเที่ยว แต่ดอยคือที่สิงสถิตของบรรพบุรุษ”
/๕/
หลังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลักที่ยื่นเรื่องเสนอต่อโครงการมนุษย์และชีวมณฑล จัดแถลงข่าวระบุว่าการได้รับสถานะชีวมณฑลของเชียงดาวเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนี้ทางกระทรวงจะเร่งสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑลขึ้นในพื้นที่ดอยเชียงดาวเพื่อทำแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยเฉพาะ  

หัวข้อสำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกันชน (buffer zone) และเขตรอบนอก (transition area) เพื่อให้การดำเนินการหลังได้รับสถานะชีวมณฑลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการมนุษย์และชีวมณฑล ได้แก่

๑. เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

๒. เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่ส่งผลเสียหายกับสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

๓. เกิดการสนับสนุนด้านลอจิสติกส์และเกิดการพัฒนา ผ่านการศึกษา การวิจัย การเฝ้าติดตาม และการฝึกอบรม 
Image
“ค้อเชียงดาว” บนภูมิประเทศประหลาด อาบแสงแดดช่วงเช้าที่เคลื่อนผ่านสันเขา
/๖/
หลายปีที่ผ่านมาอำเภอเชียงดาวเป็นหนึ่งในพื้นที่มีจุดความร้อนจากการเผาไหม้มากที่สุดในประเทศ แม้ชาวบ้านที่เชียงดาว รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในป่าทางภาคเหนือจะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการไฟ ทั้งทำแนวกันไฟ เป็นอาสาสมัครดับไฟป่า รวมถึงโน้มน้าวให้คนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด เปลี่ยนมาทำวนเกษตรหรือปลูกไม้ผล มีการกำหนดช่วงเวลาเผาไร่ แต่ปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อราว ๓ ปีก่อน คือช่วงปลายเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ได้เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่บนดอยเชียงดาว ไฟป่าลุกลามบริเวณเด่นหญ้าขัด ต่อเนื่องไปยังดอยสามพี่น้อง กิ่วลมใต้ และแผ่ลงมาทางด้านหน้าถ้ำเชียงดาว ผ่านไปร่วมสัปดาห์ก็ยังไม่ดับสนิท

ในทางตรงข้ามกลับปะทุบริเวณด้านหน้าดอยเชียงดาว และมีไฟไหม้เพิ่มเติมอีกหลายจุด ครอบคลุมพื้นที่รวมกันกว่า ๓,๐๐๐ ไร่  

เจ้าหน้าที่คาดว่าสาเหตุเกิดจากการสะสมของเชื้อเพลิงจำพวกเศษกิ่งไม้ ใบไม้ภายในป่า หลังจากที่ไม่มีไฟไหม้ป่ามานาน รวมทั้งฝนทิ้งช่วงนานผิดปรกติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภายในพื้นที่ยังทำเกษตรเชิงเดี่ยว มีการเผานอกช่วงเวลาที่กำหนด

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาติด ๆ กันคือมลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งในป่าและคนที่อาศัยอยู่ในเมือง

เพียงดาวหรือเปียงดาวเป็นชื่อเรียกภูเขาหินปูนลูกมหึมา เชื่อกันว่ามาจากความคิดของผู้คนสมัยก่อนว่านี่คือภูเขาสูง “เพียง” (หมายถึง เสมอ, เทียบเท่า) ดวงดาวบนฟากฟ้า

ใครก็ตามที่ได้ขึ้นไปยืนอยู่บนยอดดอยเชียงดาวยามค่ำคืนจะมองเห็นแสงดาวทอประกายระยิบ-ระยับ กระจ่างชัดราวกับจะเอื้อมมือคว้าดวงดาราได้

แต่ทุกวันนี้ภาพของดวงดาวที่สว่างสุกใสไม่ได้มีให้ชื่นชมง่าย ๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทั้งด้วยปัญหาฝุ่นละออง มลภาวะทางแสงที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้าของมนุษย์ แสงไฟส่องสว่างที่ฟุ้งกระจายอย่างไร้การควบคุมจากในเมือง นอกจากกลบแสงดาวแล้วยังสิ้นเปลืองพลังงาน ทำให้เสียสุขภาพ เกิดอุบัติเหตุจากตาพร่า กระทบต่อการดำรงชีวิตคน พืช และสัตว์ เป็นสาเหตุให้สัตว์กลางคืนหลงทาง นาฬิกาชีวภาพและฮอร์โมนต่าง ๆ ภายในร่างกายมนุษย์แปรปรวน

การจัดไฟให้ถูกต้อง ส่องสว่างเท่าเดิม แต่ใช้ไฟน้อยลงทำได้ไม่ยาก ไม่แพงนักและได้ผลทันที  

ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง การทำงานร่วมกันของหลายฝ่ายเชียงดาวจะกลับไปเป็นเมืองดาว เมืองฟ้ามืดที่ปลอดมลภาวะทางแสง ผู้คนมองเห็นทางช้างเผือกได้ง่าย ๆ ด้วยตาเปล่า 

เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่น ๆ หันมาดูแลรักษา เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนตามแนวทางของพื้นที่สงวนชีวมณฑล 
อ้างอิง
งานแถลงข่าวขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔

วีดิทัศน์ประกอบงานแถลงข่าวขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่. เข้าถึงจาก https:
//www.facebook.com/mnreTH/videos/1975118059325690

สไลด์ประกอบการบรรยาย “เชียงดาว : เมืองดาวโอกาสใหม่แห่งการท่องเที่ยวที่ทุกชีวิตได้ประโยชน์” ดร.

สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์. เข้าถึงจาก https://en.unesco.org/biosphere/about

ขอขอบคุณ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว, สถานีวิจัยสัตว์ป่า
ดอยเชียงดาว และสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า