Image
อุดรธานี
มี “สำนักข่าวสารเวียดนาม (ใต้)”
Souvenir & History
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ช่วงกลางปี ๒๕๖๓ ระหว่างเดินทางเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สงครามเวียดนามในภาคอีสาน ผู้เขียนบังเอิญพบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็น “รอยอดีต” เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน ที่จังหวัดอุดรธานี

หลายครั้งที่ผ่านมาร่องรอยที่เราพบมักเป็นดั่งของที่ระลึกระหว่างประเทศที่ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีมาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ครั้งนี้ร่องรอยที่ว่ากลับเป็น “อดีตความสัมพันธ์” ระหว่างไทยกับชาติที่เคยมีตัวตน แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏในแผนที่โลกแล้ว

เรื่องเริ่มต้นเมื่อผมพบภาพขาวดำเป็นตึกของสำนักข่าวสารเวียดนามที่รวบรวมมาโดยศาสตราจารย์ชาร์ล เอฟ. คายส์ (Charles F. Keyes) ตึกนั้นมีป้ายเหนือประตูเป็นป้ายสามภาษา คือ ภาษาไทย เวียดนาม และภาษาอังกฤษ ความว่า
“สำนักข่าวสารเวียดนาม - Phông Thông - Tin Viet-nam - Vietnamese Information Center”
โดยสำนักข่าวในตึกลักษณะนี้มีกระจายตามเมืองสำคัญทั่วภาคอีสาน (ในภาพน่าจะเป็นที่มุกดาหาร ไม่ก็จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน)

และผมได้รับคำบอกเล่าว่ามีแห่งหนึ่งที่อุดรธานี

จากงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์มรกตวงศ์ ภูมิพลับ ที่ศึกษาเรื่องของชาวเวียดนามโพ้นทะเล (อยู่ระหว่างการทำงาน) ระบุว่า ภาพจำของชาวเวียดนามที่เคลื่อนไหวในภาคอีสานของไทยในยุคสงครามเย็นนั้น แทบจะมีกระแสเดียวคือเรื่องเล่าของ “ชาวเวียดนามผู้รักชาติ” ที่มาจากเวียดนามเหนือ และทำงานใต้ดินกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ และเข้าสู่ยุคสงครามเย็น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยุคที่ ๒) ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ พลิกนโยบายเลือกเข้ากับค่ายโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

หนึ่งในผลพวงนี้คือ รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศรับรองรัฐบาลเวียดนามใต้ (Republic of Vietnam-South Vietnam) ในปี ๒๔๙๗ โดยมองว่าเวียดนามเหนือ (Democratic Republic of Vietnam-North Vietnam) ที่นำโดยโฮจิมินห์และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามนั้นเป็นภัยคุกคาม ดังนั้นไทยจึงมีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลสาธารณรัฐเวียดนามใต้ตลอดยุคสงครามเย็น 

สงครามเวียดนามระหว่างเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้กินเวลาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘-๒๕๑๘ (๑๙ ปี ๖ เดือน) ผลของสงครามคือเวียดนามใต้เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนทหารออกไปตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ แล้วปล่อยให้เวียดนามใต้สู้รบตามลำพังในช่วงท้าย

ทั้งนี้ระหว่างห้วงเวลาเกือบ ๒ ทศวรรษ ประเทศไทยได้กลายเป็น “ประตูหลัง” ในการทำสงครามของทั้งสองฝ่าย  ฝ่ายเวียดนามเหนืออาศัยชาวเวียดนามโพ้นทะเลในภาคอีสาน สนับสนุนเงินทุน กำลังคน รวมไปถึงการหาข่าวความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่เข้ามาตั้งฐานทัพในหลายจังหวัดภาคอีสาน เช่น อุดรธานี นครพนม สกลนคร เป็นต้น โดยการเคลื่อนไหวของฝ่ายเหนือนี้ถูกขับเน้นเป็นอย่างมากในประวัติศาสตร์กระแสหลัก หลังจากเวียดนามเหนือได้รับชัยชนะ
Image
ขณะที่ฝ่ายเวียดนามใต้ก็พยายามเรียกร้องแรงสนับสนุนจากชาวเวียดนามทางภาคอีสานของไทยเช่นกัน เช่น มีการเปิดสถานกงสุลตามจังหวัดสำคัญ และใช้วิถีทาง “แบบอเมริกัน” ในการรณรงค์ให้คนเวียดนามในประเทศไทยหันมาสนับสนุนเวียดนามใต้ หนึ่งในวิธีการคือเน้นประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากค่ายโลกเสรี และชี้ให้เห็นถึงข้อด้อยของฝ่ายคอมมิวนิสต์

ดังนั้นนอกจากอุดรธานีจะมีฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ แล้ว ยังมีการเปิด “สำนักข่าวสารเวียดนาม” ขึ้นด้วย โสรัจ พิศชวนชม อดีตผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งเติบโตและทำงานในพื้นที่ภาคอีสานมาตลอด เล่าให้ผมฟังว่า สำนักข่าวสารฯ นี้มาใช้สถานที่ด้วยการเปลี่ยนตึกแถวสองคูหาเป็นสำนักงาน ชั้นล่างเป็นห้องสมุดสาธารณะ “ผมก็ชอบไปนั่ง เพราะสมัยนั้นสื่อมีน้อย ข่าวสารหายาก ห้องสมุดของสำนักข่าวสารเวียดนามใต้เปิดให้ใช้ฟรี ผมจำได้ว่าเข้าไป เขามีน้ำมีขนมคอยบริการ มีการแจกเอกสารของรัฐบาลเวียดนามใต้ให้”

แต่หลังปี ๒๕๑๘ ก็ไม่มีใครรู้ว่าอาคารหลังนี้มีความเป็นไปอย่างไร ด้วยเมื่อเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะ สิ่งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศคือ ทรัพย์สินของรัฐบาลเวียดนามใต้ในประเทศไทยก็จะตกเป็นของเวียดนามเหนือทั้งหมด ส่วนไทยตอนนั้นก็ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะยอมเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามเหนือ

ซึ่งนั่นคือ “จุดเริ่มต้น” ในการนับจำนวนปีของ “ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเวียดนาม” มาจนปัจจุบัน

จากเบาะแสของอาจารย์โสรัจ ในที่สุดผมค้นพบว่าตึกแถวห้องดังกล่าวยังอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยกลายเป็นร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ชื่อ “ห้างชัยพฤกษ์” บนถนนประจักษ์ศิลปาคม 

คุณป้าเจ้าของร้าน (ขอสงวนนาม) เล่าว่าเธอเซ้งห้องแถวนี้มาหลายสิบปีแล้วและครอบครัวก็มีธุรกิจอื่นด้วย “แต่ก็พอรู้ว่าตึกแถวตรงนี้เคยเป็นสถานที่ที่ประเทศอื่นเคยมาใช้และเช่ามาก่อน”

ยังไม่ทันถามว่าทำไม คุณป้าก็หยิบบิลค่าไฟฟ้าของร้านมาให้ผมดู

ในระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังคงระบุชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าของอาคารนี้ว่าเป็น “สำนักงานข่าวสารเวียดนาม”

ผมได้รับอนุญาตให้เดินดูหลังร้านซึ่งอยู่ในสภาพค่อนข้างเก่า ด้านหลังมีบันไดขึ้นไปชั้น ๒  คุณป้าเล่าว่า “ตึกแถวนี้เราใช้มานาน แต่ก็มีการปรับพื้นที่ด้านหลังร้านบางส่วน แต่ช่องลม เครื่องไม้ส่วนมากเป็นของเก่าทั้งนั้น”

ญาติของคุณป้าที่ช่วยดูแลร้านบอกว่าเราเป็นคนกลุ่มแรกที่มาถามหา “สำนักข่าวสารเวียดนาม” ในอุดรธานี
อันเป็น “ร่องรอยของเพื่อนเก่า” หรือ “รอยอดีต” ที่ทั้งรัฐบาลไทยและเวียดนามคงอยากลืม