Image
จิต-วิญญาณ
ตะวันออก-ตะวันตก
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์  namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
คำถามสำคัญที่ค้างคาใจนักวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบันมากก็คือ “จิต (ใจ) (mind)” หรือ “จิตสำนึก(consciousness)” เกิดจากอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมสสารที่ไม่มีชีวิต แต่เมื่อมารวมกันแล้วกลับทำให้เกิดจิตสำนึกขึ้นได้ สัตว์และพืชมีจิตสำนึกบ้างหรือไม่

คำถามเหล่านี้สำคัญพอกับคำถามที่ว่า ชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร และ ณ จุดใด จึงจะถือว่ามีชีวิตแล้ว

หากเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน นอกจากจะทำให้เข้าใจเกี่ยวกับชีวิตได้ดีมากยิ่งขึ้น (โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์) ยังส่งผลเรื่องการประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางสังคมอีกด้วย เช่นเรื่องการกำหนดอายุการตั้งครรภ์ หรือการอนุญาตให้ทำแท้ง ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงและไม่ลงตัวนัก ไม่มีคำตอบเป็นเอกฉันท์ ทำให้ข้อกำหนดของแต่ละประเทศยังแตกต่างกันอยู่ บางประเทศยังมองเรื่องการทำแท้งเป็นเรื่องต้องห้าม

ในโลกตะวันตกมีการศึกษาเรื่องจิตอย่างเป็นระบบในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ดังเช่นผ่านการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการ โดยมีพระทิเบตเข้าร่วมทดลองทำสมาธิวิปัสสนา แล้วใช้เครื่องมือตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกาย อันเป็นอานิสงส์จากความใจกว้างขององค์ทะไลลามะที่สนพระทัยศาสตร์ของโลกสมัยใหม่อย่างวิทยาศาสตร์ด้วย

อีกด้านหนึ่งมีการศึกษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสมอง ตั้งแต่สมองโดนอุบัติเหตุจนเสียหายหรือโรคร้ายทำลายบางส่วนไปแล้วกระทบกระเทือนหรือไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความนึกคิด ตลอดจนการที่ป่วยจากโรคบางอย่างที่เมื่อรักษาแล้วกลับเกิดผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงตามมา

ตัวอย่างในกรณีหลังนี้เช่นผู้ป่วยลมชัก นักวิจัยชื่อ รอเจอร์ สเปอร์รี (Roger Sperry) และ ไมเคิล กัซซานิกา (Michael Gazzaniga) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียหรือ “แคล-เทค” ได้ทดลองตัดกลุ่มเซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อสมองซีกซ้ายและขวาที่เรียกว่าคอร์ปัส แคลโลซัม (corpus callosum) ออกจากกัน โดยมีทั้งตัดบางส่วนและตัดออกทั้งหมด เพราะสังเกตพบว่าผู้ที่มีกลุ่มเซลล์นี้เสียหาย มักจะมีอาการชักน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด
Image
ดังนั้นเมื่อตัดคอร์ปัส แคลโลซัมทิ้ง นอกจากช่วยลดอาการชักโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างอื่นมากนัก ยังเกิดผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึง คือทำให้เกิดปรากฏการณ์สมองแยกซีก (Split-Brain Phenomenon) กล่าวคือสมองซีกซ้าย-ขวาทำงานแยกจากกัน และต่างไม่รับรู้การทำงานของสมองอีกซีกหนึ่ง !

ความแปลกประหลาดที่สมองแต่ละซีกทำงานแข่งขันกันถึงระดับสั่งการขัดแย้งราวกับมีสองคนในร่างเดียวกันก็มี เช่น มือข้างหนึ่งติดกระดุม ส่วนอีกมือหนึ่งปลดกระดุม หรือมือหนึ่งพยายามเปิดประตู ขณะที่อีกมือหนึ่งกลับพยายามปิดประตู ยังมีอาการน่าขันหากเราไม่เป็นผู้ป่วยเสียเองก็คือ มีรายหนึ่งที่มือข้างหนึ่งกอดสามีเอาไว้ ขณะที่อีกมือหนึ่งผลักสามีออกจากตัว !

มีการทดลองในผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่น่าสนใจดี อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง

การทดลองแรก ให้ผู้ป่วยรับเหรียญไปถือไว้ด้วยมือซ้าย ซึ่งสมองซีกขวาเป็นฝ่ายรับรู้และจดจำเรื่องนี้ (สมองกับซีกร่างกายจะควบคุมแบบสลับข้างกัน) เมื่อถามผู้เข้าทดลองว่าถืออะไรอยู่ ก็ได้คำตอบว่าไม่รู้ เพราะสมองซีกซ้ายที่ใช้สื่อสารเรื่องภาษาไม่รับรู้ว่ามือซ้ายถือเหรียญ

ครั้นเปลี่ยนวิธีถามใหม่ โดยให้ผู้เข้าทดลองดูภาพแล้วให้ตอบโดยชี้ด้วยมือซ้ายแทน คราวนี้มือซ้ายชี้ภาพเหรียญได้ถูกต้อง เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสมองสองซีกควบคุมการตอบสนองต่างกันต่อคำถามแบบเสียงกับแบบภาพ

อีกการทดลองหนึ่ง นักวิจัยให้อาสาสมัครดูคำว่า “กุญแจ” แต่กำหนดให้ใช้ตาซ้ายเท่านั้น โดยปิดตาขวาเอาไว้  ผู้ป่วยตอบว่าไม่เห็นอะไร เพราะสมองซีกซ้ายที่ใช้พูดซึ่งเชื่อมต่อกับตาขวามองไม่เห็นกุญแจ  จากนั้นจึงขอให้ผู้เข้าทดลองหยิบวัตถุที่เห็นบนจอภาพโดยใช้มือซ้าย ซึ่งแน่นอนว่าควบคุมด้วยสมองซีกขวา คราวนี้ผู้ป่วยหยิบได้ถูกต้อง

จากการทดลองทั้งสองดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คนคนเดียวกันตอบคำถามเดียวกัน แต่ตอบด้วยวิธีแตกต่างกันได้ ราวกับว่า “การรับรู้” และ “ความคิดเห็น” ของสมองสองซีกแยกออกจากกันและไม่รับรู้กันเลย เหมือนมี “สองคน” หรือ “สองจิตสำนึก” ในร่างกายเดียว !
การทดลองที่เล่ามานี้จึงเกี่ยวพันกับ “จิตใจ” หรืออาจมีบางคนที่มองว่าน่าจะจัดว่าเป็น “ตัวตน” ได้ด้วย ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า ตัวตนกับจิตใจสัมพันธ์กันอย่างไรแน่

กรณีตัวอย่างที่ยกมานี้แน่นอนว่ามีจิตสำนึกเกิดขึ้น แต่ผู้ป่วยกลับไม่อาจควบคุมได้ดังใจ ส่งผลให้ราวกับมีจิตสำนึกแยกเป็นสองส่วนในร่างกายเดียว จนทำให้เกิดคำถามสำคัญว่าอันที่จริงแล้วเรามีจิตสำนึกสองแบบที่ทำงานร่วมกันตลอดเวลาในคนปรกติใช่หรือไม่

ในแวดวงวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่เชื่อว่ามีจิตสำนึกเกิดขึ้นกับสมองแต่ละซีก เพราะต่างก็แสดงพฤติกรรมและวางแผนอย่างซับซ้อนได้

อันนากา แฮร์ริส (Annaka Harris) ผู้เขียนหนังสือ Conscious : A Brief Guide to the Fundamental Mystery of the Mind (ฉบับแปลไทยชื่อ จิตสำนึก : ท่องจักรวาลความคิด สำรวจโลกลี้ลับแห่งตัวตน โดยสำนักพิมพ์บุ๊คสเคป) ระบุว่า

ในวงการประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) มักนิยาม “จิตสำนึก” ว่าเป็น (๑) สภาวะที่กำลังรู้ตัว หรือ (๒) การตระหนักถึงความเป็นตัวตน หรือ (๓) ความสามารถในการตรึกตรองเกี่ยวกับตัวเอง หรือ (๔) สิ่งที่เราอ้างถึง เมื่อกล่าวถึงการรับรู้ระดับพื้นฐานที่สุด

หากมองโดยรวมจะเห็นว่า นิยามทั้งสี่แบบข้างต้นแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกกล่าวถึง “สภาวะ” บางอย่าง (ข้อ ๑) ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกล่าวถึงความสามารถหรือคุณลักษณะบางอย่าง (ข้อ ๒-๔) ซึ่งน่าสนใจมากว่า นิยามเหล่านี้สอดคล้องกันเป็นอย่างดีกับนิยามของคำว่า “จิต” ในศาสนาพุทธ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ระบุว่า จิต (consciousness ; state of consciousness) คือภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์หรือสภาพที่คิดแต่ยังไม่หมดเท่านี้
Image
เรียกว่า binding ซึ่งมองได้กว้าง ๆ ว่าเป็น “การจัดหีบห่อข้อมูล” หรือพูดแบบวิชาการมากขึ้นอีกหน่อยก็คือ การประมวลข้อมูลจากตัวรับสัมผัสของร่างกาย (อายตนะ) ต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน

สมมุติให้เรายืนอยู่ที่สถานีรถไฟ เนื่องจากแสงเดินทางเร็วกว่าเสียง เราจะมองเห็นรถไฟกำลังวิ่งเข้าหาแต่ไกล แล้วเสี้ยววินาทีหรือไม่กี่วินาทีเราก็จะได้ยินเสียงหวูดรถไฟหรือเสียงเครื่องจักรของรถไฟ  สัญญาณภาพและเสียงมาที่ตัวรับคือตาและหูซึ่งอยู่ห่างจากระบบประสาทเล็กน้อย หากเป็นมือหรือขา (มีการสัมผัส) ก็ยิ่งมีระยะทางที่สัญญาณจะต้องเดินทางไปยังสมองเพิ่มมากขึ้น

นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาว่า สมองสามารถประมวลข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้ว “ซิงก์ (sync)” จัดระเบียบข้อมูลทั้งหมดให้สอดคล้องกัน ฉะนั้นมองในแง่หนึ่ง จิต “ดำรงอยู่” ในอดีตตลอดเวลา ทุกอย่างที่เรารับรู้ว่า “กำลังเกิดขึ้น” นั้น อันที่จริงเกิดขึ้นก่อนแล้วในชั่วเวลาเสี้ยววินาที (อาจจะหนึ่งในร้อย ในพัน หรือในหมื่นของวินาที)

กรณีนี้ “จิตสำนึก” จึงทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ โดยตรงแต่อย่างใด เพราะสมองรับรู้หรือสั่งการ (มีการทดลองอื่นแสดงเรื่องนี้ไว้) ไปหมดแล้วก่อนหน้านั้น

แค่คิดก็รู้สึกพิลึกมากแล้ว !

นักวิชาการตะวันตกมองว่ามันแปลก ๆ เอาการ แต่หากใครเคยศึกษาพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องการทำสมาธิวิปัสสนามาบ้าง ก็จะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่แปลกมากนัก

เมื่อเรานั่งสมาธิจนเกิดความสงบแล้ว เราสามารถแยก “จิต” ออกมาพิจารณากายหรืออารมณ์ได้ ราวกับจิตกำลังมองดูหรือรับรู้ “ตัวตน” อีกตัวตนหนึ่ง ในทางพุทธเรียกว่าเกิด “วิญญาณ (ขันธ์)” ขึ้น เป็นวิญญาณแบบพุทธคือการรับรู้อารมณ์ผ่านทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ

คำว่า “วิญญาณ” ในที่นี้ใช้คำภาษาอังกฤษว่า “consciousness” เช่นกัน แต่ไม่ได้หมายถึงอะไรบางอย่างที่เป็นดวงลอยไปลอยมา เข้าร่างนั้นออกร่างนี้ โดยเฉพาะเมื่อเราตายลง อันนั้นเป็นวิญญาณแบบพราหมณ์หรือฮินดู !

อ่านถึงตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่า คำว่า “consciousness” ตรงกับ คำว่า “จิต” หรือ “วิญญาณ” ของพุทธนั่นเอง

หากย้อนกลับไปอ่านนิยามของ “จิตสำนึก” ทางตะวันตกในตอนต้นอีกครั้งก็จะเห็นได้ว่าตรงกันแบบลงตัวมาก ๆ คือ จิตและวิญญาณแบบพุทธ กับจิตสำนึกแบบประสาทวิทยาศาสตร์ คือ สภาวะอย่างหนึ่งหรือคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวตน หรือรู้ตัว หรือรับรู้ความรู้สึกได้
โดยสรุปเรามาถึงยุคที่วิทยาศาสตร์ “ปรับ” เข้าหาศาสนาพุทธ จนได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันว่า “จิตสำนึก” ของวงวิชาการตะวันตกก็คือ “จิตและวิญญาณ” ที่กล่าวถึงในศาสนาพุทธนั่นเอง !