Image
รู้จักน้ำตาลแฝง
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
แม้เรารู้ดีว่าน้ำตาลในอาหารเป็นสาเหตุหลักของโรคร้ายต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ แต่การลดอาหารรสหวานหรือน้ำตาลกลับเป็นสิ่งท้าทายและบรรลุเป้าหมายได้ยากสุดของผู้คนยุคนี้

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะความหวานหรือน้ำตาลทำให้รสชาติอาหารอร่อยชวนหลงใหล ซึ่งในทางศาสนาการติดในรสชาติอาหารเป็นกิเลสที่เอาชนะได้ยากที่สุดชนิดหนึ่ง และในทางวิทยาศาสตร์มีความพยายามจัดให้น้ำตาลเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง เนื่องจากการกินน้ำตาลทำให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทชื่อโดพามีน ที่ทำให้รู้สึกรื่นรมย์มีความสุข เมื่อกินหวานแล้วมีความสุขก็อยากมีประสบการณ์แบบนั้นซ้ำ ๆ ทำให้เกิดภาวะ “ติดหวาน”

นอกจากนี้เรามักดื่มกินอาหารและเครื่องดื่มรสหวานในช่วงเทศกาลแห่งความสุขและเทศกาลเฉลิมฉลอง เช่น เค้ก น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ เราจึงเชื่อฝังใจตั้งแต่จำความได้ว่าอาหารรสหวานคือตัวแทนของความสุข  ดังนั้นหากอยากเฉลิมฉลองจึงต้องมี “ของหวาน” และมีคนไม่น้อยเมื่อรู้สึกเครียดหรือเศร้าก็จะกินอาหารรสหวานเพื่อให้รู้สึกดี

เราจึงกินหวานแบบ “รู้ทั้งรู้” ว่าน้ำตาลไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึงควรระมัดระวังเรื่องการดื่มกินอาหารประเภทน้ำตาลอย่างยิ่ง

“ความไม่รู้” เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การลดอาหารประเภทน้ำตาลเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีอาหารก้าวหน้า ทำให้คนจำนวนมากไม่รู้ว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นมีน้ำตาลมากกว่าที่คิด โดยมักแฝงมาในชื่อที่เราไม่รู้จัก

หากดูสลากอาหารเราแทบไม่เห็นชื่อน้ำตาลที่คุ้นเคยในวัยเด็กหรือสมัยปู่ย่าตายายเลย ชื่อน้ำตาลในสลากอาหารมักเป็นชื่อภาษาอังกฤษและฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์ ชนิดหากไม่เคยผ่านชั้นเรียนวิทยาศาสตร์มาก่อนอาจไม่รู้ว่านั่นคือน้ำตาลชนิดหนึ่ง เช่น ซูโครส, กลูโคส, ฟรักโทส, มอลโทส, เดกซ์โทรส, มอลโท-เดกซ์ทริน (maltodextrin), โมลาส, แป้งไฮโดรไลซ์ (hydrolyzed starch), น้ำตาลอินเวิร์ต (invert sugar), น้ำเชื่อมข้าวโพด (high fructose corn syrup, corn syrup solids) เป็นต้น

ดังนั้นหากดูสลากอาหารแล้วเห็นคำที่ลงท้ายว่า “ose” เช่น glucose, fructose, dextrose, ไซรัป (syrup) หรือเข้มข้น (concentrate) ให้สรุปไว้ก่อนว่าคือน้ำตาล
นอกจากนี้แม้ดูจากชื่อและรู้ว่าเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งก็อาจไม่เข้าใจว่าน้ำตาลชนิดนั้นมีความหวานมากน้อยเพียงใด

คุณรู้หรือไม่ว่าน้ำตาลอินเวิร์ต (invert sugar) เป็นน้ำเชื่อมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกลูโคสและฟรักโทสใน อัตราส่วน ๑ : ๑ มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย มักใช้ทำเบเกอรีและไอศกรีม เพื่อลดการตกผลึกและผิวสัมผัสสวยงาม

ส่วนน้ำตาลกลุ่มน้ำเชื่อมข้าวโพด (corn syrup) ทำจากแป้งข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือมันฝรั่ง มีความหวานสูงและราคาถูก อุตสาหกรรมอาหารจึงนิยมนำมาใช้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก โดยไม่นานมานี้มีการศึกษาและเปิดโปงผลเสียของการใช้น้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดต่าง ๆ ในอาหารสำเร็จรูป รวมถึงอาหารสำหรับเด็ก ซึ่งทำให้เด็ก “ติดหวาน”

มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันนำน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดฟรักโทสสูง (HFCS) และน้ำตาลทรายให้หนูทดลองกินในปริมาณเท่ากันเป็นเวลา ๖ เดือน พบว่าหนูที่ได้รับสาร HFCS มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและมีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องมากกว่าหนูที่กินน้ำตาลทราย  ส่วนมหาวิทยาลัยตุ๊ก สหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับ อย่างโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับกว่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์มีสาเหตุมาจากการรับประทานน้ำเชื่อมขาวโพดมากเกินไปหรือรับประทานเป็นประจำ

นอกจากนี้ข้อกำหนดคำเรียกขานประเภทอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจผิด บนบรรจุภัณฑ์และสลากอาหารมักมีถ้อยคำที่ชวนให้คิดว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไม่มีน้ำตาล มีน้ำตาลต่ำ และดีต่อสุขภาพ เช่นคำว่า “ปราศจากน้ำตาล” “ไร้น้ำตาล” ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีน้ำตาลธรรมชาติของส่วนผสมนั้น ๆ  อาหารบางชนิดแม้ระบุว่า “สูตรน้ำตาลต่ำ” หรือ “สูตรลดน้ำตาล” แต่ก็อาจมีปริมาณมากเกินความต้องการน้ำตาลต่อวันของร่างกายอยู่ดี

จากหลากเหตุผลข้างต้น การลดอาหารประเภทน้ำตาลจึงเป็นเรื่องยากและชวนสับสน  แต่ถ้าเราผู้บริโภครู้ข้อมูลเบื้องต้นและหลักในการกินอาหารเพื่อลดน้ำตาลแบบง่ายๆ ก็จะสามารถลดน้ำตาลและตัดวงจรการเกิดโรคร้ายแห่งยุคสมัยอย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคความดันโลหิตสูงได้ 
Image
๏ กองโภชนาการ กรมอนามัย แนะนำให้เด็กและผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน ๑๖ กรัมต่อวัน หรือเทียบได้กับน้ำตาล ๔ ช้อนชา, วัยรุ่นหญิงชาย อายุ ๑๔-๒๕ ปี ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน ๒๔ กรัมต่อวัน หรือเทียบได้กับน้ำตาล ๖ ช้อนชา และหญิงชายที่ใช้พลังงานมาก ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน ๓๒ กรัมต่อวัน หรือเทียบได้กับน้ำตาล ๘ ช้อนชา

๏ กำจัดน้ำตาลออกจากห้องครัว รวมทั้งน้ำผึ้งและไซรัปต่าง ๆ และเวลาทำอาหารขนม หรือเครื่องดื่ม เติมน้ำตาลให้น้อยที่สุด หรือไม่เติมเลย โดยเริ่มจากลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งและค่อย ๆ ลดลงจนไม่เติมเลย

๏ ดูสลากอาหารก่อนซื้อ เลือกชนิดที่มีน้ำตาลน้อย และดู “ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด” ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลธรรมชาติที่มีอยู่ในอาหารนั้น ๆ และน้ำตาลที่เติมเข้าไป 

๏ ลดอาหารสำเร็จรูปซึ่งมักมีน้ำตาลปริมาณสูงกว่าที่เราคิด เช่น ซอสพาสต้า (มะเขือเทศ) ขนาด ๑๕๐ กรัม มีน้ำตาล ๑๓ กรัม คิดเป็น ๓ ช้อนชา

๏ เครื่องดื่มคือแหล่งน้ำตาลหลักที่เรารับเข้าสู่ร่างกาย แม้ในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็มีน้ำตาลแฝงผสมอยู่ เช่น เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา น้ำผลไม้ และนมเสริมรสต่าง ๆ ควรดื่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ไม่เติมน้ำตาล เช่น ชาสมุนไพรต่าง ๆ หรือนมรสจืดซึ่งมีน้ำตาลธรรมชาติอยู่แล้ว และลดเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำอัดลม ๑ กระป๋อง มีน้ำตาล ๘ ช้อนชา 

๏ กินผลไม้สดหรือผลไม้แห้งแทนขนมหวาน หากกินอาหารเช้า ให้เติมผลไม้สดดีกว่าเติมน้ำตาล เช่น กล้วยหรือผลไม้แห้ง พวกลูกเกด  หากกินผลไม้กระป๋องให้เลือกชนิดที่ไม่แช่ในน้ำเชื่อมหรือรินน้ำเชื่อมออก

๏ ใช้สารให้ความหวานธรรมชาติอื่น ๆ เช่น หญ้าหวาน แต่ต้องมั่นใจว่าเมื่อหยุดกินจะไม่ทำให้กินน้ำตาลมากกว่าเดิม
Image
๏ ไร้น้ำตาล (sugar free, no sugar, zero sugar) ประกอบด้วยน้ำตาลธรรมชาติและน้ำตาลเติมน้อยกว่า ๐.๕ กรัมต่อหนึ่งมื้อการบริโภค

๏ น้ำตาลต่ำ (reduced sugar, less sugar, low in sugar) มีน้ำตาลน้อยกว่าสูตรปรกติของผลิตภัณฑ์ขั้นต่ำ ๒๕ เปอร์เซ็นต์

๏ ไม่เติมน้ำตาล (no added sugar) ไม่เติมน้ำตาลในกระบวนการผลิตและการบรรจุ (ไม่รวมปริมาณน้ำตาลธรรมชาติที่มีอยู่ในอาหารชนิดนั้น)

๏ “น้ำตาลสูง” หมายถึงปริมาณน้ำตาล ๒๒.๕ กรัมต่ออาหาร ๑๐๐ กรัม

๏ “น้ำตาลต่ำ” หมายถึงปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า ๕ กรัมต่ออาหาร ๑๐๐ กรัม