Image
กิน “อาหารอวกาศ”
บนดาวอังคาร
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เพราะมนุษย์โลกเชื่อว่า...
วันหนึ่งจะไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร

เกิดเป็นแนวคิดที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศในรั้วขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดนิทรรศการหมุนเวียน “หนึ่งวัน...บนดาวอังคาร” (A Day on Mars) ถึง ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

ความสนุกแบ่งเป็นหกส่วน เริ่มจาก “ที่นี่ดาวอังคาร” จำลองยานลำแรก คิวริออสซิตี (Curiosity) ดึงดูดสายตาด้วยขนาดเท่าลำจริงเพื่อนำทางไป “รู้จักดาวอังคาร” มุมต่าง ๆ ที่ยานสำรวจเก็บภาพได้ ตื่นตาพื้นผิวและรอยธารน้ำแข็งเพื่อส่งต่อความคิด “อยู่อย่างไรบนดาวอังคาร” จากงานวิจัยที่ย่อยผ่านสื่อสัมผัสทันสมัยเอื้อให้เกิดการเรียนรู้สนุก ๆ สร้างความหวังว่าจะมีชีวิตรอดบนดาวดวงนี้ แล้วพา “ออกเดินทางไปกับยานสำรวจ” ของผู้ถูกส่งไปปฏิบัติงานตั้งแต่ยานลำแรก จนปี ๒๕๖๔ ให้เด็กโตคำนวณระยะทางในอวกาศ ใช้เทคโนโลยีออกแบบสิ่งดำรงชีพ แล้ว “ปลุกจินตนาการ” เด็กเล็กให้เล่นสวมชุดอวกาศก่อนพาเข้า “LIVE show on MARS” โรงภาพยนตร์ที่ชวนมนุษย์โลกไปเป็นมนุษย์ต่างดาว อุปโลกน์ว่านั่งบนพื้นที่ยานสำรวจกำลังทำงานและพืชอาหารเริ่มเติบโต แต่แล้วก็มี “พายุทราย” กระหน่ำ ตอกย้ำสภาพเลวร้ายด้วย “ฤดูหนาวของดาวอังคาร” ในอุณหภูมิติดลบ ๑๓๓ องศาเซลเซียส พร้อมแช่แข็งสรรพสิ่งให้ต้องเอาชีวิตรอด !

น่าสนใจเรื่อง “อาหาร” ปัจจัยสี่ของสิ่งมีชีวิตที่ยังเป็นอุปสรรคบนดาวอังคาร

เพราะแม้ “พืช” อย่างมะเขือเทศ มันฝรั่ง ผักกาด จะเป็นความหวังที่ดูเป็นไปได้สุดบนดาวที่มีไนโตรเจนน้อยและดินไร้ธาตุอาหาร แต่ก็ต้องปลูกในระบบปิดและผลิตได้คราวละน้อย ซึ่งการปลูกผักภายใต้แรงโน้มถ่วงที่ต่ำกว่าโลกสามเท่าอาจทำให้รสชาติ-หน้าตาเปลี่ยนไป
ทุกวันนี้อาหารของนักบินยังต้องขนไปจากโลก ทั้งแบบบรรจุหลอดและเป็นก้อนพอดีคำหุ้มในบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสภาวะความโน้มถ่วงต่ำ ที่นิยมคือวิธี freeze-dried ทำแห้งโดยใช้วิธีเยือกแข็งสุญญากาศดึงน้ำออกจากอาหารอย่างเฉียบพลันด้วยอุณหภูมิติดลบที่ต่ำมาก จะกินก็เพียงเติมน้ำร้อนน้ำเย็นตามชอบ เหล่ามนุษย์อวกาศจึงได้มีความสุขบ้างขณะกินเนื้อวัวตุ๋นในน้ำมัน สเต๊ก สปา-เกตตี ไข่เจียว ขนมปัง มันฝรั่งเนยแข็ง สลัดทูน่า ผลไม้ ถั่ว กาแฟ ขนมเค้ก กระทั่งไอศกรีม ฯลฯ เช่นเดียวกับชาวโลก

นิทรรศการจัดแสดงตัวอย่างจริงของ “อาหารอวกาศ” ที่ได้รับจากสถานีอวกาศของรัสเซียในแบบหลอดที่ทำจากอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ เพื่อถนอมอาหารให้กินแบบได้โภชนาการและคงรสอร่อยตลอดอายุการเก็บ ๒ ปี อย่างเนยแข็งสดกับซุปข้นซีบักทอร์น (cottage cheese with sea buckthorn puree) และซุปถั่ว ซึ่งนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการสร้างสูตรลับขึ้น โดยคำนึงถึงความสดของอาหารจากธรรมชาติที่ไร้ GMOs สารปรุงแต่งรส สี และสารกันบูด มีการฆ่าเชื้ออย่างสมบูรณ์ และผนึกมิดชิดให้เก็บในสภาวะพิเศษ

แน่นอนว่าอาหารในหลอดต้องเปี่ยมโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตเทียบเท่าอาหารหนึ่งจานโดยคำนวณอย่างเหมาะสมสำหรับผู้ต้องทำงานในอวกาศ แม้ไม่ใช่ความยั่งยืนทางอาหารเท่าการนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูก แต่ได้ประทังชีพบนดาวอังคารที่มีสภาพอากาศเลวร้ายและมีพายุทรายทุก ๒ ชั่วโมงครึ่ง !

ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดูู  
Image
“คอนเซปต์ของนิทรรศการชุดนี้ชวนตั้งคำถามว่ามนุษย์จะไปดาวอังคารทำไม แม้เราจะสำรวจกันมานับ ๔๐ ปี แต่เป็นการส่งหุ่นยนต์ไปทำงาน เพราะในพื้นที่เสี่ยงภัยยังมีปัญหาติดต่อสื่อสารกับโลก แม้ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่พัฒนาจนน่าเชื่อว่าภายใน ๑๐ ปีข้างหน้าจะมีมนุษย์คนแรกได้สัมผัสดาวอังคารแน่และอนาคตจะมีสิ่งปลูกสร้าง มีบ้านเรือน แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกการเดินทางมีต้นทุนสูง จึงสำคัญที่ว่าจะไปเพื่ออะไร หาองค์ความรู้ใหม่ หรือสร้างอาณานิคมใหม่ คงไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัยเหมือนโลก  เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมนิทรรศการว่า อะไรที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ วิทยาศาสตร์ทำให้เป็นได้เสมอ เพียงแต่ยังต้องการมนุษย์มาช่วยสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วย”
วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา
ผู้อำนวยการกองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ 
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 

เปิดวันอังคาร-ศุกร์ 
เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น. 

วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 
เปิดถึง ๑๗.๐๐ น.

ค่าเข้าชม เด็ก ๕๐ บาท ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท 

โทรศัพท์ ๐-๒๕๗๗-๙๙๙๙ ต่อ ๒๑๒๒

ขอขอบคุณ 
พัชนิดา มณีโชติ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ