ขนมปังเปลี่ยนชีวิต
โรส-วริศรา (ลี้ธีระกุล) มหากายี
Interview
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
รายการ Sarakadee Live
ขนมปังเปลี่ยนชีวิต โรส-วริศรา (ลี้ธีระกุล) มหากายี
ดำเนินรายการ สุชาดา ลิมป์
ชมทั้งรายการคลิกลิงก์ https://youtu.be/i-WAQbFmxUE
เหมือนได้ทำความรู้จักกับโลกใหม่ของขนมปังเพลินไปกับแง่มุมมหัศจรรย์ของ “แป้ง ยีสต์ น้ำ เกลือ” ที่เชื่อมโยงชีวิตมนุษย์
ผ่านประสบการณ์ โรส-วริศรา (ลี้ธีระกุล) มหากายี อดีตมิสเอเชีย ปี ๒๕๓๑ ผู้อยู่วงการบันเทิงนับ ๒๐ ปีก่อนผันตนบุกเบิก มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ปลูกสำนึกรักธรรมชาติผ่านกระบวนการศิลปะแก่เด็ก ๆ โรงเรียนสินแร่-สยาม บนพื้นที่เขากระโจมของสวนผึ้งในราชบุรี ชีวิตในป่าทำให้หลงรักงานที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ นำมาสู่การลาขาดวงการบันเทิงแล้วทุ่มเวลาให้งานแห่งชีวิต พร้อมเริ่มชีวิตคู่กับ “คทา มหากายี” และปั้น โรงแรมพระนครนอนเล่น สถานที่ตั้งต้นความคิด “ขนมปังเปลี่ยนชีวิต”
สิบปีมานี้เธอใช้ร่างทั้งร่างเป็นดวงตา ขัดเกลาประสาทสัมผัสทั้งห้าให้เฉียบคม ใช้อาชีพ “ครูสอนทำขนมปัง” นำทางนักเรียนสู่โพรงแต่ละชั้นผ่านกระบวนการกรอบนอก นุ่มใน ศึกษาชีวิตเร้นลับของก้อนแป้งผสมเชื้อที่ต้องจับจ้องและรอคอยอย่างใจเย็น ไปจนนวดคลึงขึ้นรูปและส่งเข้าเตาอบ
ขณะแปรผลว่าขนมปังกำลังรู้สึก-สื่อสารอะไร คนทำขนมปังจะรู้จักเนื้อแท้ชีวิตตน
ยิ่งคนทำขนมปังซื่อตรงกับตัวเองเท่าไร ภาษาไร้ตัวอักษรของขนมปังจะยิ่งปรากฏ
แป้ง + ยีสต์
พระนครนอนเล่น
ความสัมพันธ์ของแป้ง+ยีสต์ = คุณภาพชีวิตของขนมปัง
“เทคนิคทำขนมปังให้ดีมีครูเก่ง ๆ สอนเยอะอยู่แล้ว โรสจึงอยากถ่ายทอดความเชื่อมโยงของขนมปังกับชีวิตคนว่าสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร ขณะทำขนมปังได้พบอะไร แล้วนำมาพัฒนาใจตนแบบไหน มันมีมิติมากกว่าเรื่องอาหารเป็นการเรียนรู้ผ่านขนมปังเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน”
เจ้าของหลักสูตรพานั่งไทม์แมชีนย้อนสู่จุดเกิดเหตุที่ โรงแรมพระนครนอนเล่น
“เมื่อ ๘-๙ ปีก่อน ที่โรงแรมฯ มีบริการเสิร์ฟขนมปังให้ลูกค้า เราอยากได้ขนมปังในรสนิยมที่ฝรั่งชอบจึงเลือกซื้อในห้างสรรพสินค้า ต้องยอมรับว่ามันแพงและเราต้องใช้จำนวนมากจึงต้องไปดักรอซื้อตอนห้างใกล้ปิดทุกวัน ให้พนักงานนำออกมาลดราคา จนรู้สึกไม่ไหวแล้ว อยากให้โรงแรมมีห้องทำขนมเล็ก ๆ จึงส่งน้องคนหนึ่งไปเรียน แต่สื่อสารพลาด เขากลับบ้านต่างจังหวัด โรสจึงไปเรียนแทน ไม่น่าเชื่อว่า ๒ วันแห่งการเรียนทำขนมปังได้เปลี่ยนเวลาที่เหลือทั้งชีวิตของเราโรสรู้สึกหลงใหลเสน่ห์ในกระบวนการทำขนมปัง คงเพราะที่ผ่านมาเป็นผู้จัดการโรงแรมฯ ก็มีแต่ออกคำสั่งแล้วให้พนักงานทำต่อ ไม่ได้ฝึกตัวเองให้เป็นผู้ลงมือทำจนจบกระบวนการ แต่กับขนมปังเมื่อลงมือแล้วต้องทำให้จบ ตอนเอาขนมปังที่เราทำทุกอย่างด้วยมือกลับบ้านจึงเกิดความรู้สึก ฮ้า...ความสุขของการลงมือทำแล้วเสร็จมันมีความสุขแบบนี้นี่เอง”
เธอสูดลมหายใจเต็มปอดขณะถ่ายทอดน้ำเสียง
“ขนมปังในวันแรกของการเรียนยังไม่สวย แต่ลูกก็บอก ‘อร่อยจังแม่ !’ สามีก็ให้กำลังใจ ยิ่งทำให้อยากไปต่อ พอได้ฝึกทำและสัมผัสมากขึ้นก็ได้รู้จักขนมปังในอีกมุมที่ไม่ใช่แค่ก้อนแป้งที่อบอร่อย แต่รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ในธรรมชาติ ความมีชีวิต ที่เราคิดถึงมานาน เพราะเริ่มห่างจากธรรมชาติตั้งแต่มีลูกและต้องถอนตัวจากกิจกรรมมูลนิธิฯ ใช้ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับการดูแลลูก จนวันที่พักจากหน้าที่แม่ไปจับขนมปังเหมือนได้กลับไปมีโลกส่วนตัว ใช้สมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
ก้อนแป้งขนมปังเปรียบดั่งบ้านของยีสต์ สิ่งสำคัญให้ร่างหนึ่งขึ้นรูปอย่างสมบูรณ์
“ในขนมปังมีสิ่งมีชีวิตซ่อนอยู่ ทั้งยีสต์ รา แบคทีเรีย ทุกกระบวนการต้องเป็นไปตามความเหมาะสม ทั้งอุณหภูมิ อาหารของสิ่งมีชีวิต ระยะเวลาการบ่ม การกลับมาทำขนมปังจึงได้เชื่อมโยงความรู้สึกถึงการทำงานกับธรรมชาติที่เราไม่สามารถต่อรอง นั่นคือเสน่ห์ที่ทำให้หลงใหล เหมือนได้สัมผัสธรรมชาติอีกครั้งในรูปแบบที่ไม่ต้องเข้าป่าก็ได้”
ขณะไตร่ตรองสิ่งที่ซ่อนอยู่ในก้อนนุ่ม ยังได้ทบทวนวิธีใช้ชีวิตที่ผ่าน
“จากเคยเป็นคนที่เดี๋ยวก่อน รอแป๊บ ขนมปังสอนให้รู้ว่าวินัยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่เคารพเวลา ที่สุดจะสร้างความเสียหาย ขณะเดียวกันก็ได้ฝึกรอคอย เราไม่สามารถใจร้อนเร่งการเติบโตของสิ่งมีชีวิตในแป้ง”
ต้องรอให้เจ้าชีวิตเซลล์เดียวที่ขยายพันธุ์โดยวิธีแบ่งตัว ผ่านกระบวนการหมักบ่มทำปฏิกิริยาทางเคมีกับน้ำตาล โดยกินน้ำตาลแล้วปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และแอลกอฮอล์แทรกอยู่ระหว่างเยื่อบาง ๆ ของกลูเตน เมื่อนำก้อนแป้งเข้าเตาอบ คาร์บอนไดออกไซด์จะค่อย ๆ ทำให้ก้อนแป้งขยายจนฟูไปทั้งก้อน กลายเป็นขนมปังเนื้อนุ่มส่งกลิ่นหอมกรุ่น เป็นชีวิตที่มีจิตวิญญาณขับเคลื่อนอยู่ภายในรูปกาย
เธอใช้เวลาแทบทุกวันลงลึกในโลกของขนมปัง ศึกษาจากหนังสือ ยูทูบ อินเทอร์เน็ต จนตระหนักว่าถ้ายังเดินตามสูตรก็มีโอกาสได้ผลลัพธ์ไม่คงที่ จึงหาที่เรียนเรื่องโครงสร้างของขนมปังกับครูต่างชาติ
“แล้วก็ได้พบความจริงของชีวิตว่า ตอนแรกเริ่มใคร ๆ ก็เป็นมือสมัครเล่นทั้งนั้น เราจะใช้เวลาออกไปเก็บเกี่ยวเคล็ดลับจากครูมากเท่าไรก็ได้ แต่สุดท้ายถ้าอยากเก่งต้องเอาเวลาชีวิตของตนเองมาลงมือ”
แต่ละวันจึงหมดไปกับการฝึกเข้าใจขนมปัง ให้เวลากับข้อผิดพลาดจนได้ประสิทธิผลดีขึ้น แล้วบันทึกประสบการณ์ตั้งแต่กระบวนการต้นทางจนปลายทางออกมาเป็นหลักสูตรในแบบของตน
“ถึงอย่างนั้นก็มีเรื่องให้ลุ้นทุกวัน ไม่ง่ายที่จะได้ขนมปังอร่อยทุกรอบ บางรอบอาจเปรี้ยวเกิน เนื้อเป็นยางมากไป ต่อให้ระวังแล้ว แต่อะไรก็ยังเกิดได้ อยู่ที่ว่าธรรมชาติอยากจะกรุณาเราอย่างไร”
คลุกคลีจนเข้าใจ ขนมปังเป็นศาสตร์ที่ต้องเคารพโครงสร้าง
“ในการทำขนมปัง ต้องให้ความสำคัญกับการเลือกใช้แป้งที่มีโปรตีนเหมาะสมกับขนมปังแต่ละชนิด และจะยิ่งดีหากแป้งนั้นปราศจากสารเคมีเพื่อให้ยีสต์มีความสุขกับการกินได้มากยิ่งขึ้น”
บรรดาแป้งสาลีที่ขายทั่วไปสามชนิด คือ แป้งขนมปัง (โปรตีนสูง) แป้งสาลีอเนกประสงค์ (โปรตีนกลาง) และแป้งเค้ก (โปรตีนต่ำ) โปรตีนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกลูเตนเป็นฟิล์มบาง ๆ ที่เหนียว ยืดหยุ่น ดูดซึมน้ำ และอุ้มก๊าซซึ่งเกิดจากกระบวนการหมักที่ยีสต์ปล่อยออกมาทำให้ได้ขนมปังเนื้อนุ่ม เบา จึงควรเลือกแป้งที่มีโปรตีนสูงมาทำขนมปัง
จากจุดเริ่มที่อยากทำขนมปังให้ลูกค้าของโรงแรม ในที่สุดพระนครนอนเล่นก็มีห้องทำขนมปังหอมกรุ่นจากเตาทุกวัน ทุกเดือนยังเปิดครัวสอนทำขนมปังโดยมี “ครูโรส” สอนและมีผู้ช่วยคนสำคัญเป็นเด็กหนุ่มจากสวนผึ้งผู้ถูกวางตัวให้เรียนทำขนมปังแต่แรก
“จากเด็กชายขอบที่ไม่มีทักษะ จนวันหนึ่งทำขนมปังได้ดีมีแขกฝรั่งชมว่าอร่อย เป็นเชฟได้ มันทำให้เขาภาคภูมิใจ ในวันที่โรสเปิดเวิร์กช็อปให้คนทั่วไปจ่ายเงินเรียนโดยมีเขาเป็นผู้ช่วย นักเรียนก็เรียกเขาว่า ‘ครูเล็ก’ ‘ครูน้องเล็ก’ ขอให้เขาช่วยสอน มันเป็นคนละเรื่องกับขอให้ช่วยหยิบนั่นนี่ พอเขาได้มีตัวตนก็เหมือนมีที่ยืนได้เต็มเท้า ยิ่งทำให้เราชัดเจนในใจว่าขนมปังไม่ได้เปลี่ยนแค่ชีวิตเรา มันเปลี่ยนชีวิตเขาด้วย และน่าจะเปลี่ยนชีวิตใคร ๆ ได้เช่นกัน ต่างแค่ว่าใครจะได้สัมผัสการเปลี่ยนแปลงมิติไหน”
ในชีวิตหนึ่งถ้าอยากมีความสุขก็แค่มองหาสิ่งที่เราชอบ และลงมือทำมันอย่างจริงจัง
นํ้า
มาลาดาราดาษ
การทำขนมปัง “น้ำ” คืออีกสื่อสำคัญ
ไม่เพียงควบคุมความคงตัวของแป้ง ยังละลายส่วนผสมอื่น ๆ ให้เข้ากัน และทำให้เกิดกลูเตน
“โรสเคยขอให้ครูฝรั่งช่วยออกแบบขนมปังสูตร gluten free เพราะมีคนไทยจำนวนมากแพ้กลูเตน ครูปฏิเสธทันที ความเป็นขนมปังมันต้องมีลม มีความเบานุ่ม กลูเตนเป็นตัวช่วยสำคัญทำให้เกิดฟิล์มมากักเก็บก๊าซให้กับขนมปัง หากเราเคารพธรรมชาติของขนมปัง ก็ไม่ควรฝืนดัดแปลงสิ่งหนึ่งไปทดแทนอีกสิ่ง เพราะอาจต้องเจอปัญหาจากตัวช่วยใหม่ไม่รู้จบ สมมุติจะเปลี่ยนจากแป้งสาลีไปใช้แป้งข้าวเจ้าหรือแป้งอื่นที่ไม่มีกลูเตน แต่แป้งเหล่านั้นก็มีน้ำตาลสูง ถ้ากินขนมปังแบบนั้นบ่อยเข้าน้ำตาลในเลือดจะสูงเกิน และเมื่อผ่านการดัดแปลง ความเบาฟูก็ไม่สามารถเทียบเท่า ถ้ากินกลูเตนไม่ได้ก็ให้เคารพร่างกายตนเอง”
แต่ก่อนอื่นต้องรู้ ที่กินแล้วท้องอืด ย่อยยาก เป็นผื่น เพราะแพ้แป้งหรือกลูเตนจริงไหม
“อาจแพ้กระบวนการหมักไม่ดีก็ได้ ยีสต์ที่ขายทั่วไปมีความเข้มข้นกว่ายีสต์ธรรมชาติ เมื่อใส่ในขนมปังเยอะ ๆ ข้อดีคือ ช่วยให้อบขนมปังได้เร็ว ข้อเสียคือโมเลกุลของโปรตีนหรือน้ำตาลในแป้งยังไม่มีเวลาได้ย่อยจึงยังเป็นขนาดใหญ่อยู่ทำให้เกิดสารตกค้างในร่างกาย”
บางคนอาจแพ้วัตถุดิบบางอย่างที่นำมาทำขนมปังซึ่งไม่ออร์แกนิก
“ถึงจะใช้แป้งโฮลวีตก็ต้องรู้ที่มาว่าผ่านกระบวนการอย่างไรใช้สารเคมีไหม เพราะการหมักขนมปังที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยกำจัดพิษอ่อน ๆ ในพืชให้หมดไปได้”
ชีวิตไม่ใช่เรื่องของการตอบคำถามใครอื่น อนาคตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับสังคมภายนอก แต่คือช่วงเวลาดีๆ ปัจจุบันที่ได้ใช้ร่วมกัน
ศาสตร์แห่งขนมปังยังสอนให้รู้ นอกจากน้ำจะมีหน้าที่ละลายโปรตีนในแป้ง ทำให้เปลี่ยนสภาพเป็นกลูเตน เนื่องจากยีสต์ต้องการน้ำเป็นตัวนำพาให้ตนสามารถกินอาหารได้ อุณหภูมิของน้ำยังมีส่วนอย่างมากในขั้นตอนควบคุมการหมัก น้ำที่อุณหภูมิสูงจะใช้เวลาหมักสั้นกว่าน้ำที่อุณหภูมิต่ำ นอกจากนี้น้ำยังทำหน้าที่ละลายส่วนผสมต่าง ๆ ควบคุมความยืดหยุ่นและอุณหภูมิของก้อนแป้ง ให้ความนุ่ม ความชุ่มชื้น
รวมถึงยังสามารถให้รสชาติได้ หากเราเลือกใช้ของเหลวอื่นผสมร่วมกับน้ำ
ช่วงสายของปลายกันยายน ๒๕๖๔ สายลมจาก “ดอยเชียงดาว” โชยกลิ่นของน้ำกับอากาศชื้นมาฝากสรรพสิ่ง เป็นโชคดีของครอบครัวครูโรสที่ออกจากพระนครมานอนเล่นท่ามกลางทิวทัศน์นี้ เราสนทนากันริมระเบียงที่แผ่จากตัวบ้านซึ่งเปิดรับลมเต็มที่จนเห็นสวนกว้างกำลังรอให้เม็ดฝนหยุดทำงาน ผักสดในแปลงดูเขียวสดชื่นเป็นพิเศษ น่าเก็บใส่ชามใบโตทำสลัดพูน ๆ คลุกขนมปังกรุบกรอบเป็นอาหารเช้า
ครูโรสชวนมองไปทุ่งนาผืนใหญ่หน้าบ้าน ครั้งหนึ่งเคยเป็นทุ่งขนมปัง !
“เราอยากทำขนมปังออร์แกนิกจึงมีฝันจะปลูกข้าวสาลีและโม่แป้งเอง เคยปลูกสำเร็จครั้งหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าภูมิประเทศที่นี่มีฝนเยอะ ข้าวสาลีไม่ชอบความชุ่มแฉะจึงขึ้นรา ถึงจะมีข้าวส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวได้ แต่เราก็ไม่มีที่โม่แป้งและข้าวสาลีมีเปลือกแข็งมาก ไม่สามารถสีแบบข้าวเจ้า หากจะโม่จะต้องขนเมล็ดทั้งหมดไปโครงการหลวงในอำเภอสะเมิงจึงกลายเป็นความยุ่งยากกว่าจะได้แป้งสาลีมา”
ทว่าคุณภาพชีวิตยังสำคัญเป็นอันดับแรก ทั้งขนมปังและครอบครัว
วันที่แน่ใจว่าโรงแรมพระนครนอนเล่นจะมั่นคงได้โดยกลุ่มพนักงานที่เธอฝึกอย่างใส่ใจมากับมือ จึงวางใจย้ายครอบครัวที่มีสี่คน พ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว มาปักหลักที่เชียงดาว
“มันเริ่มจากโรสให้ ‘ช้างน้อย’ ลูกคนโตที่กำลังเรียน ป. ๑ ออกจากโรงเรียน เพราะรู้สึกว่ากิจวัตรของพวกเรามันประหลาด เช้าต้องรีบตื่น ให้ลูกกินข้าวในรถระหว่างทางไปโรงเรียน หลังส่งลูกมีเวลาทำภารกิจถึงบ่าย ๒ ก่อนต้องรีบไปรับ สอนการบ้านเสร็จก็ไม่เหลือแรงจะเล่นกับลูก ต้องรีบส่งเข้านอนเดี๋ยวตื่นสาย ชีวิตมีแต่ ‘เร็ว ๆ ๆ เดี๋ยวไม่ทัน’ แล้วทุก ๒-๓ เดือนโรงเรียนก็นัดผู้ปกครองไปฟังครูรายงาน เราได้แต่ตั้งคำถาม...ลูกเป็นอย่างนั้นหรือ”
ชีวิตที่ปล่อยให้คนอื่นรู้จักลูกตนดีกว่าคนเป็นพ่อแม่เริ่มส่อแววผิดเพี้ยน
“คุยกับสามีว่าเวลาที่ลูกจะอยู่กับเรามันสั้นมาก อีกไม่กี่ปีเขาเป็นวัยรุ่นก็ไม่ต้องการเราแล้ว จะให้ช่วงสำคัญที่มีไม่กี่ปีหายไปจริงหรือ จึงไปลาออก ทางโรงเรียนก็เตือนว่าไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะสอนลูกเองได้ แต่เรายังเชื่อมั่นว่าตราบที่แม่ไก่รู้จักสอนลูกเจี๊ยบคุ้ยเขี่ยหาอาหารเป็น เราสองคนก็จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ทำกิจกรรมมาตั้งมาก ทำไมจะสอนลูกบ้างไม่ได้”
แม้ “บ้านเรียน” (home school) จะเป็นประเภทหนึ่งของการศึกษาตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติซึ่งครอบครัวสามารถออกแบบการศึกษาพื้นฐานให้เด็กได้จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายโดยไม่ต้องเข้าโรงเรียนของรัฐบาลหรือเอกชน แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่ชัดแจ้งนักว่าต้องเริ่มอย่างไร
“ลูกยังไม่ได้เรียนรู้อะไรนอกจากสิ่งที่มีในบ้าน เราจึงคิดย้ายครอบครัวออกต่างจังหวัด ตามสามีมาทำกระบวนการเรียนรู้กับกลุ่มละคร ‘มะขามป้อม’ ที่เชียงดาว อาศัยนอนกับเพื่อนแล้วพาลูกเข้าป่าดูธรรมชาติ”
กระทั่งมีคุณลุงในกลุ่มละครมะขามป้อมส่งข่าวว่ามีคนจะขายที่ดินให้ ๓ ไร่
“พอได้ดูที่เราก็ตกลงเลย อยู่ไปสักพักเขามาบอกว่าน้องของเจ้าของที่อยากขายด้วย ๓ ไร่ เราสะสมเรื่อยมาจนตอนนี้มี ๑๑ ไร่ ใช้ปลูกบ้าน ๕ ไร่ ลักษณะเป็นกลุ่มบ้าน”
สวนที่กว้างขวางมีธารไหลผ่านบ้านทำให้เนรมิตแปลงผักสวนดอกไม้ผลไม้ บ่อน้ำ จนเป็นบ้านในอุดมคติ รู้ตัวอีกทีก็อยู่ท่ามกลางดินแดนในฝันที่รังสรรค์ เมื่อแน่ใจว่าจะลงหลักปักชีวิตจึงคิดเรื่องรายได้
“ทำบ้านพักสี่ห้องไว้รับแขกต่อจากโรงแรมพระนครนอนเล่นมีห้องเวิร์กช็อปสอนทำขนมปัง มีมุมจัดเวิร์กช็อปงานศิลปะ งานไม้ มีลานกาแฟไว้จัดแค้มปิง บางทีก็ชวนเพื่อนแถวนี้มาย้อมผ้า ทำกาแฟ”
ไม่นานเกสต์เฮาส์ “มาลาดาราดาษ” ที่ตั้งชื่อจากทรัพยากรบนพื้นที่ก็ปรากฏ
ยามเช้าท้องฟ้าทิศตะวันออกเห็นเป็นสีแดงเรื่อ ราวมีใครระบายด้วยกลีบดอกไม้ผสมน้ำจาง ๆ
ยามค่ำเมื่อไร้นีออนรบกวนจึงได้เห็นหมู่ดาวประดามี คล้ายน้ำตาลหล่นเกลื่อนบนผิวขนมปัง
เป็นลาภปากที่มาเยือน “บ้านขนมปัง” ในวันที่เจ้าบ้านกำลังอบ “sourdough” ก้อนกลมเสร็จอุ่น ๆ จึงหั่นส่วนหนึ่งให้พิสูจน์ความ “หนึบ” ของขนมปังเปลือกแข็งแต่เนื้อในชุ่มฉ่ำ
“ที่หนึบเพราะโครงสร้างแป้งมันเปลี่ยน เกิดจากการหมักแป้งนานและอบในอุณหภูมิที่เหมาะสม ขนมปังที่มีผิวเปลือกนุ่มฟูทั่วไปผิวเผินให้สัมผัสที่น่าสนใจ แต่กินแล้วจะรู้สึกว่าโครงสร้างมันเบา ๆ เพราะมีแต่ก๊าซ ไม่มีความหนึบ ไม่มีรสชาติพิเศษ ขนมปังที่หมักเพียงระยะสั้น ๆ หรือหมักขั้นตอนเดียวแบบนี้คนที่ระบบย่อยอาหารไม่ดีกินแล้วอาจรู้สึกไม่ย่อย แต่ ‘ซาวร์โด’ จะผ่านการหมักบ่มยาวนานสองขั้นตอนจนโครงสร้างกลูเตนเปลี่ยน ถือเป็นขนมปังที่ดีต่อระบบย่อยอาหาร”
สำหรับคนเพิ่งเคยกินออกจะสะดุ้งนิด ๆ ในกลิ่น-รสเปรี้ยว
“มันคือรสของขนมปังจากการหมักบ่มแป้งที่มียีสต์และแบคทีเรียเป็นผู้ปรุงรส คนไทยกินเป็นขนมจึงชอบความอร่อยแบบเสริมนม เนย หรือส่วนผสมอื่น ซึ่งขนมปังเหล่านั้นมักไม่ได้ใช้เวลาในการหมักบ่มยาวนานให้เกิดรสจึงต้องอาศัยความหวานจากปัจจัยภายนอก ขณะที่คนต่างชาติกินขนมปังเป็นอาหารหลัก ตามบ้านทำขนมปังทุกวันเหมือนคนไทยหุงข้าวจึงนิยมกินขนมปังที่มีคุณภาพ น้ำตาลต่ำ ไขมันต่ำ”
ทำเอาคนชอบขนมปังปิ้งทาเนยจนชุ่ม รักแซนด์วิชไส้น้ำพริกเผา เกือบสำลักซาวร์โด
มีความรู้ก็ยังไม่พอ ต้องนำออกมาใช้ มีความตั้งใจก็ยังน้อยไป ต้องลงมือ
“โรสไม่ชอบกินขนมปังคู่กับอะไรเลย เพราะรู้สึกว่าถ้าจะกินให้อร่อยต้องกินตัวมันเอง ขนมปังอาจทำให้ฝืดคอก็แค่ดื่มน้ำเปล่า เหมือนกินข้าวเสร็จแล้วก็ดื่มน้ำตาม”
ครูของเธอเคยบอก อนาคตกระแสนิยมของขนมปังจะพัฒนาไปทาง “functional bread” มากขึ้น คือกินเพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ผู้ป่วยเบาหวานกินขนมปังแบบหนึ่ง ถ้าไขมันสูงก็กินขนมปังอีกแบบ
“สมัยที่โรสเริ่มเรียนรู้การทำขนมปังยังไม่มีครูไทยสอนเรื่องโครงสร้าง ครูจะให้สูตรมาทำตามแล้วใครจะต่อยอดเพิ่ม-ลดสูตรก็คำนวณคูณ-หารไป โรสโชคดีที่ได้เริ่มต้นเรียนกับครูที่ให้ความสำคัญเรื่องแรงบันดาลใจ สนับสนุนให้ทำไปก่อน ไม่ต้องกังวลเกินเหตุ แฉะก็เติมแป้ง แห้งก็เติมน้ำ เขาทำให้รู้สึกว่าความผิดพลาดมันไม่ได้น่ากลัว พอเราไม่กลัวก็จะเกิดความสนุกกับสิ่งที่ทำ”
ขณะทุ่มกายใจไปกับการเรียนรู้โครงสร้างขนมปัง อีกสิ่งสำคัญคือโครงสร้างการศึกษาลูก
“ช้างน้อยพักการเรียนเป็นปีจนเราฉุกคิดว่าทักษะชีวิตเราสอนลูกได้ แต่ทักษะวิชาการก็สำคัญ จึงศึกษาว่าการสอนแบบบ้านเรียนต้องเขียนแผนอย่างไร ทีแรกจัดตารางเวลาเหมือนโรงเรียน แล้วก็นัดลูก ๆ มาเจอกัน ๘ โมงเช้าเพื่อเรียนวิชาหนึ่ง ๑๐ โมงเรียนอีกวิชา แต่พอถึงเวลาไม่มีใครมาเลย สามีจึงเตือนสติว่าถ้าอุตส่าห์พาลูกออกจากโรงเรียนแล้วยังยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้านจะสนุกอะไร
“คราวนี้จึงช่วยกันเขียนแผนใหม่ เอาทักษะคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ถ่ายภาพ ทำอาหาร งานไม้ โดยเรียนรู้ผ่านธรรมชาติที่พ่อถนัดมาผสมกับทำขนม เย็บผ้า งานบ้าน ค้าขายในแบบของแม่ ออกมาเป็นหลักสูตรบ้านเรียนในแบบบ้านเรา ให้การทำกิจกรรมเกิดความรู้ทางวิชาการในทุกมิติโดยอิงความสนใจของลูกเป็นหลัก กว่าจะเขียนแผนยื่นส่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อขอบรรจุเป็นบ้านเรียนก็ในปีที่ ๒ ของการมาอยู่เชียงดาว”
แล้วแต่นั้นในพื้นที่ต้นน้ำของมาลาดาราดาษก็ได้ต้อนรับ “บ้านเรียนทางช้างเผือก”
เกลือ
บ้านเรียนทางช้างเผือก
บ้านเรียนทางช้างเผือก ที่ตั้งอยู่หน้าดอยเชียงดาว
มีเด็กชายเป็นตา มหากายี กับเด็กหญิงลิบตา มหากายี เป็นนักเรียนประจำ
เมื่อมีครอบครัวฝรั่งมาพักนักเรียนจะยิ่งคึกคัก เด็กชายอาจชวนเพื่อนใหม่ยิงธนู เด็กหญิงนำแป้งสาลีเส้นยาวจากโรงอบขนมปังกลางบ้านดงของแม่สอนเพื่อนทำอุด้งอร่อย ๆ
บ่อยครั้งพ่อแม่ยังช่วยกันจัดค่ายสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้ คล้ายอยากชดเชยเวลาตอนอยู่กรุงเทพฯ ที่ยุ่งกับการเลี้ยงลูกและงานโรงแรมฯ จนไม่มีเวลาอบขนมจริงจัง เมื่ออยู่ที่นี่ไม่เพียงมีโอกาสแสดงฝีมือไม่ขาด ยังได้ใช้หลักสูตรขนมปังสอนศาสตร์ต่าง ๆ ให้ลูก
“อย่างค่ายทำขนมปัง เราประกาศรับคนนอกกลุ่มเล็ก ๆ มาเรียนด้วย เวลาที่อยากสื่อสารว่าขนมปังคือการทำงานร่วมกับธรรมชาติที่คนต้องเอาตัวเองไปมีส่วนร่วม ก็จะพานักเรียนเดินเข้าป่าไปเก็บยีสต์ คือพอเจอผลไม้ป่าที่น่าสนใจเราก็เก็บกลับมาใส่ขวดโหล อีก ๗ วันก็ได้ยีสต์ หรืออยากได้สมุนไพรปรุงขนมปังก็พานักเรียนเข้าสวน ฝึกการใช้จมูกรับกลิ่นอยากได้กลิ่นแปลกแค่ไหนก็เลือกผสมผสานเอา”
เธอเชื่อว่าทุกคนเกิดมาพร้อมประสาทสัมผัสที่ดี
แต่หายไประหว่างเติบโต จะรักษาไว้ต้องฝึกฝน
“เด็กแต่ละคนแตกต่าง เราต้องหากิจกรรมที่พอดีมาสอนให้เขาไม่รู้สึกว่ายากหรือใช้เวลานานไป และต้องเป็นสิ่งที่จูงใจให้เขาทำได้จนสำเร็จ เวลาที่เขาบอก ‘แม่ ทำได้แล้ว !’ มันไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจ ยังเป็นสัญญาณว่าเขาพร้อมจะลองทำอย่างอื่นต่อ มันช่วยพัฒนาความมั่นใจให้แข็งแรง เรามีหน้าที่สังเกตและสร้างปัจจัยให้เขาเอื้อต่อการเรียนรู้ ชวนตั้งคำถาม ทำขนมเป็นแล้วอย่างไรต่อดี ขายไหม แล้วจึงชวนไปร้านเบเกอรีด้วยกันเพื่อเลือกซื้อของและจดต้นทุน สำหรับลูกชายคนโตจะสอนเขาเป็น ‘baker’s math’ ถอดรหัสออกมาเลยว่าขนมปังสูตรนี้มีวัตถุดิบอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีน้ำหนักเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์”
แล้วในขั้นตอนการทำจนเสร็จเป็นขนมปังจะเป็นเรื่องของ “hand skills”
อาศัยสัญชาตญาณตอบว่ารู้สึกแบบใด ประทับใจสิ่งไหน เรียนรู้อะไร นำไปใช้อย่างไร
“การใช้เซนส์ร่างกายเข้าไปทำงานมันสำคัญมากต่อการทำขนมปัง จับปุ๊บต้องรู้ถึงความแห้ง แฉะ ร้อน เย็น แข็ง นุ่ม ดมปั๊บต้องรับรู้ว่ากลิ่นโทนนี้ออกเปรี้ยวแล้วหรือยัง แตะลิ้น ต้องตอบได้ว่ารสเป็นอย่างไร เพราะเกลือแต่ละยี่ห้ออาจเค็มไม่เท่ากับสูตร โรสว่าเด็กเหมาะกับการฝึกทำขนมปังมาก เขามีแฮนด์สกิลละเอียดอ่อน ขณะที่ผู้ใหญ่ทำขนมปังแล้วให้สัมผัสก่อนตอบว่าแป้งเป็นอย่างไร ละเอียดมากหรือน้อย มีความชื้นซ่อนไหม มักขอจับอีกครั้ง แต่เด็กตอบได้เลย
“เราฝึกลูกให้ใช้จิตสัมผัส ใช้สมาธิอยู่กับงานตรงหน้า แล้วใช้ความเชื่อมั่นตัดสิน พอลูกตอบ ‘รู้สึกเหมือนมีน้ำอยู่นะแม่’ เราก็สอนต่อ ‘แสดงว่าแป้งมีความชื้นอยู่ หนูอย่าใส่นํ้าหมดตามสูตรนะ’ แป้งแต่ละตัวมีความชื้นไม่เหมือนกัน ดูดน้ำได้ไม่เท่ากัน อากาศแต่ละวันก็มีผล ทำขนมวันฝนตกแป้งจะดูดความชื้นในอากาศเข้าไป ถ้าวันนั้นมีแดดจัดแป้งก็อาจแห้งกว่าปรกติ พอเราใส่น้ำเท่าสูตร ขนมปังก็อาจแฉะหรือแห้งไป สูตรเป็นเพียงแนวทาง วัตถุดิบตรงหน้าคือของจริง ความผิดพลาดมักเกิดจากเราไม่ฟังเสียงของความจริงที่อยู่ตรงหน้า”
เรียนคหกรรมเสร็จ เด็ก ๆ ต้องเตรียมฝึกวิชาสังคมศึกษา
“ใกล้บ้านมีตลาดนัดทุกเย็นพฤหัสฯ โรสจะติดต่อจองแผงขายขนมไว้แผงละ ๒๐ บาท พอถึงวันมีตลาดนัดเราก็ตื่นมาช่วยกันทำขนมปังแต่เช้า ตกเย็นก็ขนขนมปังขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปตลาด ตอนนั้นช้างน้อยอายุ ๗ ขวบ ลิบตาอายุ ๕ ขวบ เราพาลูกไปส่งที่แผงแล้วปล่อยให้ช่วยเหลือตนเอง ความที่เขายังเด็กก็ต้องเอื้อประโยชน์ให้ง่าย ตั้งราคา ๕, ๑๐, ๑๕, ๒๐ บาท เตรียมเหรียญห้าเหรียญสิบไว้ทอน ที่เหลือปล่อยให้สองพี่น้องจัดการ เราเพียงแนะนำว่าคนโตบวกเลขเป็นก็ทำหน้าที่คิดเงิน คนเล็กพูดเก่งให้คุยกับลูกค้า จากนั้นก็บอกเขาว่าขายไปนะ พ่อกับแม่จะไปซื้อลูกชิ้นทำนู่นทำนี่ ความจริงแอบดู เวลามีลูกค้าสนใจเขาก็สนทนาง่าย ๆ สวัสดีค่ะ ลูกค้าถามขายอะไรคะ ใส่อะไรคะ เขาก็ตอบได้ เพราะเป็นคนทำจึงรู้ที่มาของสิ่งที่ขาย”
รายได้วันนั้นเป็นราคาขนมปังที่ไม่รวมต้นทุน กลับได้กำไรเพราะลูกน้อยได้ประสบการณ์พิเศษ
“ที่ผ่านมาเราทำขนมกันเยอะแล้วกินไม่หมด เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำเพิ่มอีกเพื่ออะไร แต่คราวนี้รู้แล้วว่าปลายทางมีคนรอกินและตัวเองก็ได้เงินค่าขนม เราจะเรียนบวกลบต้นทุนกันว่าเหลือเงินเท่าไรแล้วสร้างกระบวนการคิดต่อว่าเรามีกันสี่คน พ่อ แม่ ช้างน้อย ลิบตา จะจัดสรรแบ่งกันคนละเท่าไรจึงยุติธรรมโดยไม่ใช่การหารเฉลี่ย เพราะแต่ละคนทำงานหนักเบาต่างกัน เขาก็จะนั่งวิเคราะห์ว่าใครทำอะไรบ้าง โรสชอบมากตอนที่เขาบอก ‘ช้างน้อยเอาเท่านี้พอ เพราะช้างน้อยไปเล่นไม่ได้มาช่วย’ แสดงว่าเขารู้จักประเมินตน”
จนวันที่ครูเห็นว่านักเรียนตัวน้อยน่าจะทำขนมปังเองเป็น จึงจัดการสอบ
“โรสเปิดคลาสทำขนมปังรุ่นจิ๋ว เด็กที่มาก็เป็นลูก ๆ ของพ่อแม่ที่ติดตามเราจากเฟซบุ๊ก ให้ช้างน้อยเป็นครูสอน เราคอยดูแลห่าง ๆ ช่วยเอาขนมเข้าเตาอบ เรียนจบก็ถอดบทเรียนกันว่าเขาได้อะไร รู้สึกอย่างไร อยากปรับปรุงอะไรให้จดลงสมุด แล้วเปิดอีกคลาสต่อทันทีให้เขาแก้ไขสิ่งที่บันทึก ถึงจะแก้ไขขนมปังก้อนเดิมไม่ได้ แต่ถ้ารู้ปัญหาที่พลาดจนได้คำตอบที่ชัดเจน มันจะไม่ผิดพลาดเรื่องเดิมอีก”
ผู้ใหญ่ก็พลอยได้ศึกษาธรรมชาติของเด็กที่มีภาษาสื่อสารระหว่างกัน
“อายุน้อยสุดที่มาเรียนแค่ ๔ ขวบเอง ให้ทำอะไรก็ทำ ลิบตาเองก็ยังเล็ก เขามีหน้าที่ช่วยพี่เตรียมของ ชั่งน้ำหนักวัตถุดิบและสอนให้น้องทำตาม ‘เอาช้อนตักแป้งใส่ถ้วยนี้ พอถึงเลขนี้แล้วหยุดนะ’ น้องก็เรียนรู้การควบคุมมือให้รู้จักว่าพอถึงเลขนี้แล้วต้องหยุด ‘ต่อไปเราจะสร้างบ่อน้ำ เอาแป้งมาขยำแบบนี้ ก่อขึ้นเป็นขอบบ่อ แล้วค่อย ๆ เติมน้ำใส่บ่อ’ เด็กเล็กเขาอยู่ในวัยลอกเลียนอยู่แล้วก็จะจดจำแล้วทำตามลิบตา”
เวลานั้นถ้ามีใครส่งคำถามให้เด็กน้อย “รักพ่อรักแม่แค่ไหน ?”
พวกเขาอาจกางสองแขนประกอบคำตอบ “เท่าบ่อขนมปัง !”
คลาสเรียนสำหรับเด็ก ๆ จำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมให้สนุกอยู่ตลอดเวลา ช่วงรอขนมปังอบครูโรสจึงต้องเตรียมนิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับขนมปังแปลงเป็นเรื่องเล่าให้เด็ก ๆ นึกภาพออก
“ตอนพาลูกออกจากโรงเรียนมีคนเป็นห่วงเราเยอะมาก แม้แต่คุณย่าคุณยายของเด็ก ๆ ก็กังวลว่าเมื่อหลานโตขึ้นจะขาดการเข้าสังคม วันนี้เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสมัยที่ช้างน้อยยังอยู่ในโรงเรียน เขาไม่เล่นกับใครเลยนอกจากเพื่อนสนิท ไม่คุยกับผู้ใหญ่ด้วย แต่พอพาเข้าบ้านเรียนเขาไม่มีเพื่อนเล่น ใครมาบ้านเขาจะกระตือรือร้นเข้าหาทักทาย ‘พี่เป็นใคร พี่ชื่ออะไรเหรอ’ และด้วยความที่โรสกับสามีจัดกิจกรรมบ่อย มีคนหลากวัยมาเข้าค่าย คำว่าเพื่อนจึงไม่ได้จำกัดแค่วัยเดียวกัน เขาเรียนรู้วิธีเข้าหาคนด้วยภาษาที่หลากหลาย กับคุณย่า คุณยายพูดแบบหนึ่ง เพื่อนของแม่สื่อสารอีกแบบ อยู่กับรุ่นเดียวกันก็ใช้ภาษาเด็ก และไม่ได้เป็นผู้ใหญ่เกินตัว ดูสมวัยกว่าตอนอยู่โรงเรียนด้วย ที่นั่นเขามีต้นแบบมากมายทั้งครูและเพื่อน เราไม่อาจกรองได้ว่าเขาจะเลียนแบบใคร แต่เมื่อเราเป็นผู้ดูแลเองจึงคัดกรองทุกคนที่มีโอกาสเข้ามาเป็นต้นแบบของลูกได้”
ในการทำขนมปัง คุณค่าของ “เกลือ” เป็นมากกว่าเสริมรส
แม้เพียง ๒ เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ แต่คุณสมบัติเกินตัว ชะลอการทำงานของยีสต์และการหมัก ช่วยให้โครงสร้างกลูเตนในแป้งเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่น เกลือปริมาณเหมาะสมจะช่วยให้ก้อนแป้งยืดหยุ่นและขึ้นรูปขนมปังอย่างแข็งแรง ก้อนแป้งที่ปราศจากเกลือจะนิ่มและแผ่ออก โอกาสขึ้นฟูในเตาอบก็ลดน้อย
แม่โรสเปรียบ การขึ้นรูปขนมปังก็เหมือนการเลี้ยงเด็ก ต้องชัดเจนและแม่นยำในการสร้างรากฐาน จะตัดหรือจัดวางให้เรียบร้อยอย่างไรก็ทุ่มเทกายใจให้เต็มที่เสียแต่ตอนเริ่ม
“เพราะนั่นหมายถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อตัดสินใจส่งเข้าเตาอบแล้ว เราจะทำได้แค่ดูอยู่ห่าง ๆ คอยฉีดพรมน้ำให้ความชุ่มชื้น แต่ไม่สามารถไปแตะไปยุ่งกับกระบวนการเติบโตเบ่งบานในเตาได้อีก ถ้าจัดวางไม่เรียบร้อย พรูฟออกมาติดกัน จะไปแก้ไขระหว่างทางก็ไม่ได้แล้ว ขนมปังจะยุบตัวต้องยอมรับผลปลายทาง เหมือนชีวิตเด็กวัยรุ่นที่เขามีทางเดินของตนชัดเจนแล้วเราจะเข้าไปแก้ไขอะไรไม่ได้ง่าย ๆ พ่อแม่จึงต้องฝึกหรือทำให้ดีตั้งแต่ลูกยังเล็ก ทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวังที่สุดเพื่อเป็นแบบอย่าง ไม่ให้ชีวิตเขาต้องพัง เพราะเราเป็นส่วนสำคัญของการสร้างรากฐานที่ไม่ดี”
อันที่จริงแม้จะขึ้นชื่อในระบบบ้านเรียน แต่เด็ก ๆ ก็ไม่ได้เรียนแค่ในบ้าน
พวกเขาได้เข้าค่ายเดินป่ากับมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์เสมอ ทักษะที่พ่อแม่ไม่อาจสอน แต่มีเพื่อนชำนาญ ก็จะฝากลูกไป เช่น ดูนก ขุดฟอสซิล ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วอย่างแบคทีเรีย โปรโตซัว ยีสต์ รา วิชาภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ว่ายน้ำ ก็พาไปสมัครกับผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ เด็ก ๆ เองก็มีสิทธิ์เลือกสิ่งที่สนใจด้วย เด็กชายจึงได้สนุกกับดนตรี ตีกลอง เทควันโด เด็กหญิงมีความสุขกับเปียโน บัลเลต์ ไอซ์สเกต
“ตอนนี้ช้างน้อยอายุ ๑๓ ปี โรสถามลูกว่า ‘ช้างน้อยอยากเข้าโรงเรียนไหม’ เขาก็เงียบคิดแล้วถาม ‘มันเป็นอย่างไร’ เลยชวนให้เขาไปเข้าโรงเรียนดู ถ้าไม่ชอบค่อยกลับมาโฮมสกูล แต่เราเชื่อมั่นว่าในวัยหนึ่งได้ให้วัคซีนแก่เขาเต็มที่แล้วการที่จะกลับไปใช้ชีวิตเด็กเมืองอีกครั้งมันก็สมวัยแล้ว”
หากปี ๒๕๖๔ ไม่ติดสถานการณ์โควิด-๑๙ เป็นเหตุให้โรงเรียนปรับรูปแบบเป็นสอนทางออนไลน์ เด็กชายเป็นตาจะได้สวมเครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้นส่งพี่ชายเข้าโรงเรียนก็อดห่วงใยไม่ได้ว่าน้องสาวจะเหงา จึงชักชวนเด็กหญิงลิบตาไปมองหาโรงเรียนที่เหมาะกับเธอ
“เรารู้ว่าลูกชอบไอซ์สเกต และมีวินัยเรื่องการฝึกซ้อมมาก เมื่อเขาชัดเจนในใจเราก็จะสนับสนุน คุยกับลูกว่าถ้าเรียนหมดระดับที่ไทยมีสอนจะไปเรียนต่อต่างประเทศต้องเก่งภาษานะ จึงพาไปสมัคร ‘Chiang Mai Montessori International School’ ที่นั่นไม่ได้เน้นหนักวิชาการ ห้องเรียนลิบตามีนักเรียนเจ็ดคน ครูให้ความสำคัญกับเด็กแต่ละคน และครูที่สอนลิบตาก็ทำโฮมสกูลให้ลูกเขาอยู่ ที่นี่จึงน่าจะเหมาะกับลูกเรา”
วางแผนต่อว่าเมื่อโรงเรียนของลูกชายเปิดสอนปรกติ ผู้เป็นแม่จะไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ เปิดโรงแรมพระนครนอนเล่น อีกครั้งหลังถูกสถานการณ์โควิด-๑๙ กระทบให้พักไป ๒ ปี ลูกสาวจะอยู่กับพ่อที่เชียงดาวและเรียนหนังสือในเชียงใหม่ ทุกเดือนพวกเขาจะจัดตารางมาอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว
ผลของการปรับรูปแบบการเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้งยังต้องการเวลาพิสูจน์
แต่หากชีวิตเด็กคนหนึ่งไม่ต่างจากการขึ้นรูปขนมปัง และหัวใจสำคัญในการปรุงรสคือเกลือธรรมชาติ ที่ผ่านมาพ่อแม่ก็ใช้เซนส์ทั้งหมดที่ตนมีเติมเกลือให้พอดีกับชีวิตลูกแล้ว
อบขนมปัง
สตูดิโอเปลี่ยนชีวิต
“สตูดิโอขนมปังเปลี่ยนชีวิต” ตั้งอยู่มุมสงบ เหมือนบุคลิกของครูโรส
ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีป้ายใหญ่โต แต่หากใครสนใจก็ไม่ยากเกินจะพบ ก่อนหน้านี้เป็นบ้านที่เจ้าของจริงไม่ได้อยู่ประจำ เมื่อรู้ข่าวว่าครูโรสหา เช่าบ้านสำหรับใช้พักช่วงที่พาลูก ๆ เข้าเมืองเชียงใหม่เพื่อเรียนบางวิชา เจ้าของซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนจึงเอ่ยปากให้ยืมอาศัย
“ต่อมาเลยเกิดความคิดอยากใช้เวลาระหว่างรอลูกเรียนสัปดาห์ละ ๒-๓ วันให้เกิดประโยชน์ พอเพื่อนอนุญาตก็จัดการแบ่งโซนตกแต่ง ใช้พื้นที่ด้านหน้าของบ้านเป็นครัวและห้องเรียนสอนทำขนม”
เทียบกันแล้วโรงอบขนมปังที่เชียงดาวสงบเสงี่ยมด้วยวัสดุที่กลืนกับธรรมชาติอย่างไม้สีน้ำตาลเข้ม ปูนเปลือยสีเทา กระดานดำ เครื่องใช้เน้นสีอบอุ่นอย่างขาวน้ำนม เบจอ่อน ๆ นอกจากตู้อบและเครื่องมือชิ้นใหญ่ที่เหลือจะถูกหลบสายตาเป็นระเบียบ ขณะที่สตูดิโอสอนทำขนมปังในแม่ริมให้ความรู้สึกสนุก ๆ บนชั้นโครงเหล็กพื้นไม้เผยเครื่องชั่ง เครื่องผสม อุปกรณ์ตวง ไม้พาย โถผสม ถาด ที่โรยแป้ง กระดาษรองอบ ฯลฯ ละลานทั้งขนาด รูปทรง และสีสันของอะลูมิเนียมวาวเครื่องแก้วใส ขาว ดำ ตัดแดงเข้ม เมื่อเรียงเคียงซ้อนก็ราวกับพวกภาชนะกำลังคุยกันจ้อกแจ้กครึกครื้น แต่ทั้งสองแห่งล้วนไม่มีของประดับประดาที่พยายามเน้นความเป็นขนมปังเกินจำเป็นอย่างพวกลวดลายบนจานชาม หมอนอิงหรือภาพขนมปังติดผนัง
“หลักสูตรของโรสมี ๒ วัน วันแรกเรียนทฤษฎีอีกวันปฏิบัติ ขณะสอนเราจะสังเกตเห็นนิสัยของนักเรียนแต่ละคน เช่น เราบอกให้นักเรียนตัดขนมปังเท่า ๆ กันเวลานำไปอบจะได้ขึ้นรูปมีขนาดเท่ากัน บางคนจะใช้สมาธิในการตัดมาก ขณะที่บางคนคิดว่าไม่เป็นไร มันก็สะท้อนลักษณะนิสัยใจร้อนใจเย็น ความละเอียดละเมียดหรือไม่ของแต่ละคน พออบขนมปังเสร็จเขาก็จะได้เห็นว่าขนมปังก้อนที่ไม่เท่ากันส่งผลถึงความสุก ไหม้ สวย ถ้าทำขายก็ขายได้เฉพาะลูกที่สวย ที่ต้องเก็บไว้กินก็ขาดทุน”
เปิดสอนเพียงปีหนึ่ง สถานการณ์โรคระบาดก็เป็นเหตุให้ต้องพักการรวมกลุ่ม-ร่วมโต๊ะอาหารเป็นจุดเริ่มให้ครูโรสผันตนเป็นคนทำขนมปังขายเอง รับออร์เดอร์ผ่านออนไลน์ แล้วนัดลูกค้ามารับหรือจัดส่งผ่านไรเดอร์ จึงเน้นเฉพาะกลุ่มลูกค้าในเชียงใหม่ เพราะเธอทำ “ขนมปังสด”
“ขนมปังอร่อยสุด ๔ ชั่วโมงแรก ออกจากเตาอบควรกินทันที เพราะยังมีความชื้น หลังจากนั้นจะเกิดกระบวนการคายน้ำทำให้ขนมปังแห้ง ความชุ่มชื้นหายไปพร้อมความอร่อย ขนมปังก็เป็นอาหารสดเหมือนข้าวผัดกะเพรา กินไม่หมดก็ฟรีซไว้กินวันหลังได้ แต่ไม่อร่อยเหมือนผัดเสร็จแล้วกินเลย”
เธอจึงมักทำขนมตอนกลางคืน เพราะอยากให้เสร็จเช้า เพื่อส่งให้ลูกค้ากินของอร่อย
“ซูเปอร์มาร์เกตที่ขายอาหารคุณภาพก็เช่นกัน ไม่มีใครอยากขายขนมปังเก่าเก็บ จึงนำออกมาลดราคาตอนหัวค่ำของทุกวัน เพราะรู้ว่าข้ามวันก็ไม่อร่อย แต่ความไม่รู้ของคนกินคือเห็นว่าถูกก็ซื้อมาตุน เมื่อก่อนที่ไม่ได้ทำขนมปังเองโรสก็เป็นอย่างนั้น ตอนนี้รู้แล้วจะกินเมื่อไรค่อยทำดีที่สุด”
นั่นจึงเป็นลาภปากของเราที่มาเยือนในวันทำขนม หลายคนมาบ้านขนมปังต้องกลับไปโดยไม่ได้กิน เพราะเจ้าบ้านไม่นิยมกักเก็บขนมปังไว้รับแขก
วิธีคิดที่ผ่านการหมักบ่ม-พฤติกรรมที่ผ่านประสบการณ์ ย่อมทำให้ขนมปัง-ชีวิตเปลี่ยนแปลง แต่ทุกอย่างไม่อาจเร่ง จะเกิดขึ้นต่อเมื่อถึงเวลาได้ที่ของมัน
“ร้านขนมปังญี่ปุ่นมักมีลูกค้าต่อแถวยาว เพราะวัฒนธรรมเขาขึ้นชื่อเรื่องความสดซึ่งเป็นที่มาของความอร่อย ร้านแบบนั้นไม่เน้นขายเยอะ ขนมปังอย่างหนึ่งอาจผลิต ๑๐๐ ชิ้น แล้วกำหนดสิทธิ์ให้ซื้อได้คนละไม่กี่ชิ้น เป็นจำนวนที่คำนวณมาแล้วว่าลูกค้ากินหมดในวันเดียว ถ้าซื้อเยอะแล้วนำไปเก็บจะทำให้ขนมปังไม่ได้รสอร่อยที่สุด นั่นเป็นหัวใจที่ทำให้ร้านนั้นได้รับการพูดถึงแง่อร่อยตลอดเวลา”
และเพราะตระหนักว่าการจะทำสิ่งใดเข้าปากคนกิน คือความรับผิดชอบใหญ่หลวงของคนทำ
“ถ้ารู้ว่าลูกค้ายังไม่กินทันทีเราจะช่วยถนอมความอร่อยให้เก็บไว้นานที่สุด โดยแรปแน่น ๆ ให้ติดผิวขนมปัง ป้องกันสัมผัสอากาศและไม่ให้ความชื้นระเหย แล้วนำไปฟรีซให้น้ำที่อยู่ในขนมปังเป็นน้ำแข็งจะได้ไม่ระเหย จะกินค่อยอุ่น น้ำจะคายตัว แต่ความชื้นยังอยู่ ถ้าขนมปังมีความหนาต้องเข้าไมโครเวฟก่อน ละลายน้ำแข็งข้างในค่อยเข้าเตาอบให้เปลือกขนมปังกลับมากรอบอีกครั้งด้วยอุณหภูมิเดียวกับที่มันเคยอบมา ถ้าเป็นขนมปังปอนด์ก็ตัดแบ่งเก็บเป็นคู่ แรปแล้วฟรีซไว้ได้เป็นเดือน จะกินค่อยนำเข้าเตาหรือเครื่องปิ้งขนมปัง น้ำแข็งจะละลายเป็นไอน้ำเติมความชุ่มชื้นกลับคืน”
อุตส่าห์มีสตูดิโอทำขนมปังที่เชียงใหม่ ถ้าปล่อยว่างขณะลูกชายเปิดเรียนคงน่าเสียดาย
สิงหาคม ๒๕๖๔ จึงถึงเวลาฝึกให้สามี-คทา มหากายี ทำ “croissant” ขนมปราบเซียน
“ครัวซองต์” จัดเป็นขนมอบอีกกลุ่ม ที่ไม่ใช่กลุ่มของขนมปัง “bread” แต่เป็นการนำเอาขนมปังกับพายชั้น (puff pastry) มาประยุกต์เข้าด้วยกัน โดยมี “เนย” เข้ามาเป็นอีกส่วนผสมหลัก ชั้นของเนยที่แทรกตัวอยู่ในชั้นของแป้งเมื่ออบด้วยอุณหภูมิสูงจะเกิดแรงดันไอน้ำทำให้ขนมพองตัว ข้างในจะมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง สามารถทำได้หลายรูปแบบและนิยมสอดไส้ครีมหรือไส้อื่น ๆ เข้ามาเสริม
“เป็นขนมที่ต้องใช้ความละเมียดละไมในการทำสูง เหมาะกับคนใจเย็น และตัวเขาก็ชอบงานพับกระดาษจึงยิ่งเหมาะกับขนมที่ต้องการความประณีต ถ้าสอนทำชนิดอื่นคงไม่ท้าทาย”
เพราะครัวซองต์คือความเล็กน้อยทุกขั้นตอนรวมกันที่แสดงออกชัดเจนในรสชาติ
ไม่เพียงต้องมีเปลือกที่กรอบและเบา แป้งด้านในยังต้องบางเป็นชั้น ๆ เนื้อนุ่ม รสมัน และเค็มพอดี ๆ มีกลิ่นหอมของเนย กระบวนการเหล่านั้นทำให้มืออาชีพยังถอนหายใจ
“เริ่มตั้งแต่ต้องผสมแป้งล่วงหน้า ๑๒-๒๔ ชั่วโมง อีกวันจึงนำแป้งมารีดเป็นแผ่นบางเสมอกัน แล้วนำมาวาง แทรกเนย นำแป้งอีกแผ่นมาปิดเนย พับทบแป้ง-เนย-แป้ง-เนยไปเรื่อย ๆ การเข้าเนยแต่ละพับต้องนำไปพักในตู้เย็น ๔๐ นาที ไม่ให้เนยละลาย ค่อยนำออกมาพับต่อ ถ้ามีเครื่องรีดแป้งจะเร็ว แต่ความท้าทายมันอยู่ที่ใช้มือทำแล้วเนยไม่แตก ต้องแข่งกับเวลาและอุณหภูมิ”
การจะดึงรสชาติกลมกล่อมของวัตถุดิบออกมา นอกจากตั้งใจ ผู้รีดยังต้องเข้าใจว่าเนยกับแป้งต้องมีสัดส่วนอุณหภูมิที่เสมอกัน เย็นและแข็งเท่ากัน ถ้าเนยแข็งแล้วแป้งนิ่ม เนยจะแตก
ครัวซองต์ทั่วไปมีฐาน ๘-๙ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตร ตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ในสามเหลี่ยมนั้นจะหนาราว ๔ มิลลิเมตร แล้วใน ๔ มิลลิเมตรก็มีเนยกับแป้งซ้อนอยู่ ๒๖ ชั้น ถ้าจะอบทันทีก็ม้วน พอม้วนปุ๊บเนยจะดีดตัว เพิ่มจำนวนชั้น ยิ่งดีดตัวดีก็ได้โพรงเยอะ โพรงเป็นสิ่งพิสูจน์ฝีมือว่าคนทำ นำแป้งมาเข้าเนยดีไหม ถือเป็นลายเซ็นเฉพาะตัว เพราะต่อให้สองคนยืนทำด้วยกัน ทรงเดียวกัน มือแต่ละคนก็ทำได้หนาแน่นไม่เท่ากัน ถ้าเห็นครัวซองต์ร้านไหนได้โพรงเหมือนกันทุกชิ้น สันนิษฐานได้ว่ามาจากมือคนเดียว
แต่นั่นยังไม่ใช่ขั้นตอนสาหัสสากรรจ์สุดของการทำครัวซองต์
“พรูฟเป็นกระบวนการที่หนักหนาสุด ช่วงที่ม้วนก่อนอบต้องคอยพรูฟแต่ละชั้นเพื่อเก็บลมพรูฟขึ้นมา จำเป็นต้องพรูฟนาน ๓-๔ ชั่วโมง เพื่อให้ได้เวลาและอุณหภูมิพอเหมาะ ระหว่างรอต้องคอยพรมน้ำรักษาความชื้น ถ้าชั้นขึ้นไม่เต็มก็ได้ขนมไม่อร่อย”
ถ้าอยากให้ลูกค้าได้กินครัวซองต์รสเลิศในตอนเช้า ผู้ทำต้องอดนอนตลอดคืนเพื่อพิถีพิถันการทำต่อเนื่อง พรูฟตี ๓ เพื่อให้ทันอบในเวลา ๖-๗ โมงเช้า กระบวนการทำตลอด ๓ วัน สามารถทำได้แค่ครั้งละไม่กี่สิบชิ้น การใส่ใจรายละเอียดเพื่อให้ได้ความสมบูรณ์แบบทำให้คุณค่าของครัวซองต์อยู่เหนือราคา
“ร้านทั่วไปขายชิ้นละ ๗๐-๘๐ บาท ขึ้นอยู่กับขนาดสั้นยาวน้ำหนัก และคุณภาพเนยที่ใช้ว่าเนยสดหรือเนยเทียม ร้านขนมปังที่ฝรั่งเศสจะทำสัญลักษณ์ว่าครัวซองต์จากเนยสดจะมีรูปทรงสามเหลี่ยมเหมือนภูเขา ส่วนครัวซองต์จากมาการีนจะตวัดหางโค้งไว้เหมือนพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว คนซื้อก็ดูจากสัญลักษณ์นั้น”
มาถึงตอนนี้ เข้าใจแล้วว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่ได้สูดอากาศหายใจท่ามกลางครัวซองต์ทรงสามเหลี่ยมหอมกรุ่นที่เจ้าบ้านเพิ่งอบเสร็จจากเตาและยกทั้งถาดมาแบ่งให้ชิมแบบไม่หวง เป็นความอร่อยเต็มปากเต็มคำที่กินแล้วแจ่มใส มองเห็นความรู้สึกของคนทำอัดแน่นอยู่ในโพรง
กัดกร้วมทีเศษเปลือกครัวซองต์ร่วงหกลงถาดยังอยากโกยมากินต่อ
“ตอนแรกสามีไม่ชอบทำครัวซองต์ เพราะยังไม่เข้าใจมัน แต่ข้อดีคืออะไรที่ทำแล้วเห็นข้อบกพร่องนิดหน่อยเขาก็ทำใหม่ ทำบ่อยขึ้น เยอะขึ้น จนฝ่าฟันสู่ความสมบูรณ์แบบ มีแต่คำชมว่าอร่อย มีออร์เดอร์รอ เมื่อเกิดความภูมิใจแล้วก็ยิ่งสนุก ตอนนี้กลายเป็นหลงใหลครัวซองต์และทำออกมาได้ดีทั้งที่เพิ่งหัดไม่นาน”
แต่ต่อให้คิดว่าทำสำเร็จแล้ว เก่งแล้ว ก็ยังมีเรื่องอื่นให้นักทดลองท้าทาย
“ขนมปังไม่เคยประนีประนอมกับเรา ไม่มีอะไรที่นิ่งจริงแต่ละรอบยังต้องตื่นตัวเสมอ และตัวเขาเองก็กระตือรือร้นหาวิธีพัฒนาการรีดแต่ละชั้น สมมุติวันนี้สร้างได้ ๒๐๐ ชั้น แต่อยากไปมากกว่านี้ก็ต้องคิดต่อว่าจะจัดการมือตนอย่างไรให้เบาลง หรือใช้เทคนิคม้วนแบบไหนช่วยให้จำนวนชั้นเพิ่มขึ้น”
ต่อหน้าครัวซองต์ จึงเป็นช่วงเวลาเงียบสงบที่เปี่ยมด้วยแรงดึงดูดประหลาด
ตลอดชีวิตของการเป็นครูสอนทำขนมปัง มีหลายครั้งที่ผู้ให้ก็ได้เป็นผู้รับ โดยเฉพาะวันที่นักเรียนออกไปแบ่งปันวิชาขนมปังต่อจากเธอ
“ช่วงแรก ๆ ที่โรสเริ่มคิดจะสอนคนอื่นทำขนมปังเป็นช่วงที่เพิ่งคลอดลิบตาแล้วดูโฆษณาหมอนยี่ห้อหนึ่งเขาจะไปแจกหมอนที่บ้านเด็กกำพร้าซึ่งมีระเบียบห้ามผู้มาเยี่ยมโอบกอด เด็ก ๆ เพราะอาจทำให้เด็กติดใจในความอบอุ่นนั้น ถ้าเขาไม่ได้รับอีกอาจทำให้รู้สึกแย่ เรามองย้อนดูตัวเองในฐานะแม่ที่ได้กอดลูกทุกวัน ฮอร์โมนแม่ที่เพิ่งคลอดยิ่งทำให้หัวใจรู้สึกรับไม่ไหวเลย ชีวิตของเด็กที่ไม่ได้รับการกอดมันจะอยู่ได้อย่างไร”
ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นก็เลยทำหมอนรูปแขนสำหรับโอบกอดให้เด็ก ๆ อบอุ่น
“เราดูแล้วก็คิดต่อว่าเด็กเล็กยังโชคดีมีคนมากมายพร้อมช่วยเหลือ แล้วเด็กโตล่ะพวกเขาได้เรียนหนังสือมากพอจะออกไปเผชิญชีวิตร่วมสังคมกับคนที่มีฐานะดีกว่าไหม ไม่ได้การละ ! ถ้าเราสอนให้ ‘เล็ก-พนักงานที่โรงแรมพระนครนอนเล่น’ ทำขนมปังได้ก็ต้องสอนเด็กคนอื่นที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ให้เขามีวิชาติดตัวไปเลี้ยงชีพ แต่ความฝันเราใหญ่เกินจะทำ คนเดียวจึงเปิดสอนให้ผู้สนใจมาเรียนทีละห้าถึงเจ็ดคน แล้วให้พวกเขาช่วยไปช่วยสอนเด็กเหล่านั้นต่อตามสถานสงเคราะห์ใกล้บ้านแต่ละคน”
ทั้งที่วันนั้นตนก็ยังมีประสบการณ์ไม่มาก อาศัยใจพร้อมแล้วใช้อุดมการณ์นำทาง
“มีเคสหนึ่งในโปรเจกต์นั้นที่ประทับใจ เหตุการณ์เพิ่งเกิดเมื่อปีกว่านี้เอง เด็กหนุ่มอายุราว ๒๐ ต้น ๆ เขาสูญเสียดวงตาข้างหนึ่ง เพราะถูกแม่พยายามทำร้ายหลังคลอด โชคดีได้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ จนถึงวัยที่เขามีอายุเกินเกณฑ์จะอยู่ต่อ ต้องออกไปขณะที่ยังรู้สึกเคว้งไม่รู้จะเลี้ยงชีพอย่างไรจึงสมัครเป็นพนักงานขับรถส่งไอศกรีม แม้เป็นอาชีพสุจริต แต่คงไม่ได้สร้างความภาคภูมิให้เขา หรืออาจเพราะลึก ๆ ยังมีปมในใจเรื่องกำพร้าและสูญเสียตาข้างหนึ่งทำให้ไม่ค่อยกล้าพูดคุยสบตาใคร วันหนึ่งมีคนแนะนำให้มาหาโรสที่เชียงดาว จึงสอนทำขนมปังและส่งไปฝึกต่อกับน้องเล็กที่กรุงเทพฯ จนเก่งก็อยากมีร้านขายขนมปังที่เชียงใหม่และเปิดสตูดิโอเล็ก ๆ โรสจึงช่วยประกาศระดมทุนบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์มอบให้เป็นเครื่องมือตั้งต้นชีวิต แลกกับการขอว่าอย่าทิ้งน้อง ๆ ที่บ้านเด็กกำพร้า ใครใกล้ถึงเกณฑ์ออกจากที่นั่นให้พามาฝึกทำขนมปัง ทุกวันนี้นอกจากทำขายเขายังเป็นครูสอนทำขนมปังด้วย เราไม่รู้หรอกว่าเขาทำตามที่รับปากไหม แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่าขนมปังสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาเพิ่มอีกคน”
ย่างสู่วัย ๕๐ กะรัต “ครูโรส” ขัดเกลาโครงสร้างความคิดให้เหลือเพียงปัจจัยสำคัญ
แต่งหน้าเหมือนไม่แต่งและแต่งกายด้วยสีสันเรียบง่ายกลืนกับสิ่งแวดล้อม ทว่ายังฉายความเป็นคนสวย แจ่มใส และยิ่งดูดีเมื่อชีวิตผ่านกระบวนการหมักบ่มมาพอเหมาะ
ขนมปังที่ดีคือแป้งหอมกรุ่น สวยจากความนุ่มที่สมบูรณ์ภายใน มากกว่าอื่นใดที่โรยเปลือก
ชีวิตที่ดีคือวิธีคิดที่อิ่มสุขจากข้างใน เข้าใจคุณค่าของรายละเอียด และรู้วิธีแบ่งปันให้ผู้อื่น