Image
อโณทัย โรจนไพบูลย์
Breadtalks 
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“เมื่อก่อนชอบบอกกันว่าตลาดนี้ไม่โตหรอก เพราะเราไปตั้งต้นคิดว่าก็แค่ ‘ขนม’” 

อโณทัย โรจนไพบูลย์ 
“กบฏขนมปัง”

เขาอาจดูเหมือน “เจ้าพ่อละติน” ด้วยรูปลักษณ์ผิวคล้ำ ร่างใหญ่บึกบึน ผมยาวรวบมัดไว้ตรงท้ายทอย มีจอนขาวสองข้างเป็นกรอบหน้า ประกอบกับเคราบาง ๆ  แต่แท้ที่จริงแล้วอโณทัย โรจนไพบูลย์ เป็น “คนขายแป้ง”

นี่คือหนึ่งในผู้มีประสบการณ์ด้านตลาดแป้งสาลีของเมืองไทยมากว่า ๓๐ ปี เขาเคยเป็นทั้งเซลส์ขายยีสต์ เซลส์ขายเครื่องจักร อาจารย์สอนเบเกอรีในโรงเรียน อาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงยังเคยเดินสายตระเวนสาธิตทำขนมอบมาแล้วทั่วประเทศ แต่อาชีพที่ทำมายาวนานที่สุดคือการเป็นเซลส์ขายแป้งสาลีให้แก่บริษัทแป้งอันดับต้นของประเทศ

แม้เดี๋ยวนี้จะมีตำแหน่งระดับผู้บริหารของบริษัทเอ็มซีเบเคอรี่ จำกัด [ในเครือบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือยูเอฟเอ็ม] แล้ว แต่เขาคนนี้ที่ลูกค้าวัตถุดิบเบเกอรีทั่วประเทศเรียกกันติดปากว่า “อาจารย์” ยังคงขึ้นเหนือล่องใต้ สำรวจตลาด เยี่ยมเยียนคู่ค้าที่สนิทสนมกันมาหลายสิบปีอยู่อย่างสม่ำเสมอ

อาจารย์อโณทัยจำได้ดีว่า ช่วงที่ยังเป็นนิสิตสาขาวิชาศึกษาศาสตร์-คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนั้นมี “โรงแป้ง” หรือโรงงานโม่แป้งสาลีในประเทศอยู่ ๔ โรง หลังจากเรียนจบมาทำงานได้สัก ๕-๖ ปี จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น ๖ จนถึงขณะนี้มีไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่งแล้ว

กว่า ๓ ทศวรรษในธุรกิจแป้งสาลี เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ?

“คนบริโภคมากขึ้น พอคนบริโภคมากขึ้นตลาดมันก็โตตามธรรมชาติ คือจากที่แข่งกัน ๔ โรงกลายเป็น ๑๐ โรง เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งการตลาดอาจลดลงบ้าง แต่ตลาดมันใหญ่ขึ้น จากเดิมที่ทุกคนขายแป้งกระสอบกันหมด พอเรามาทำแป้งไซซ์ถุงละกิโล คนอื่นก็ทำตามบ้าง แต่เราก็ยังขายดีที่สุด”

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?

คำตอบคือ “เรามีโรงเรียนไง”

โรงเรียนสอนทำขนมอบและอาหาร ยูเอฟเอ็ม ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตด้วย เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ทำให้ได้เรียนรู้ศาสตร์แขนงนี้อย่างจริงจัง

ก่อนหน้านี้เขาเคยแต่หัดทำขนมในห้องเรียนวิชาคหกรรม แต่เมื่อได้รับคัดเลือกจากผู้บริหารว่าหน่วยก้านดีจึงถูกส่งเข้าไปเป็นนักเรียน ก่อนกลับออกมาสอนเบเกอรีต่ออีกหลายปี จนทำให้ใครต่อใครเรียกเขาติดปากว่า “อาจารย์”

“ผมโชคดีตอนเป็นอาจารย์ วันหนึ่ง สมมุติเราสอนนักเรียน ๖ กลุ่ม หรือ ๑๒ กลุ่ม เขาก็ทำขนมสูตรเดียวออกมาเป็น ๖ แบบ ๑๒ แบบ แล้วแต่ละคนก็จะมีข้อผิดพลาดไม่เหมือนกัน เราได้เรียนจากขนมเสีย ๆ ของนักเรียนนั่นแหละ แล้วเราก็จะต้องตอบให้ได้ว่าเสียเพราะอะไร คือทฤษฎีมีให้เราอ่านอยู่แล้ว แต่นี่คือการได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง”

ในความเห็นของอาจารย์อโณทัย การที่ทางยูเอฟเอ็มตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนทำขนมอบและอาหารมาตั้งแต่ ๔๐ ปีก่อน ทั้งที่ไม่ใช่ส่วนงานซึ่งจะสร้างผลกำไร กลับกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์แป้งสาลีของบริษัทเป็นที่รู้จักแพร่หลาย  ยิ่งเมื่อยูเอฟเอ็มเป็นเจ้าแรกและรายเดียวที่เริ่มผลิตหนังสือ ตำราทำขนมจากแป้งสาลี ชุดใหญ่หลายเล่มออกวางตลาดมาตั้งแต่หลังตั้งโรงเรียนไม่นาน  ผนวกกับการควบคุมคุณภาพการผลิตแป้งสาลีอย่างเข้มข้นจริงจังมาโดยตลอด ทั้งศิษย์เก่าที่กลับไปสอนนักเรียนของตัวเอง ตลอดจนคนที่ซื้อตำราไปใช้ ร้านเบเกอรีต่าง ๆ ล้วนมีส่วนในการเผยแพร่ความนิยมแป้งยี่ห้อต่าง ๆ แบบ “ปากต่อปาก” จนแป้งบัวแดง แป้งพัดโบก แป้งว่าว แป้งห่าน (ยี่ห้อจริง ๆ คือหงส์ขาว) กลายเป็นชื่อที่ “ติดปาก” และ “ติดตลาด” เรื่อยมาถึงขนาด

“ส่วนผสมบางตัวมีในสูตรในตำราเมื่อ ๓๐ ปีก่อน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีขายแล้ว ก็ยังมีคนโทร. มาถามหาซื้อกัน”

ไม่เฉพาะแต่นักเรียนไทย โรงเรียนสอนทำขนมอบและอาหาร ยูเอฟเอ็ม ยังได้รับคัดเลือกจากสมาคมข้าวสาลีแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Wheat Associates - USW มักเรียกย่อ ๆ ว่า ยูเอส วีต) ให้เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านผลิตภัณฑ์แป้งสาลีประจำภูมิภาค ด้วยการสนับสนุนให้เปิดหลักสูตรนานาชาติ (Baking Science) เป็นภาษาอังกฤษ รับนักเรียนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน โดยเปิดชั้นเรียนเพียงปีละครั้งเดียว
Image
“ผู้บริหารเขาจะสอนเลยว่า สิ่งที่คุณต้องดู คือสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรราคาดี เบเกอรีจะดี”
คนทั่วไปอาจไม่คุ้นกับชื่อยูเอส วีต แต่นี่คือหน่วยงานเอกชนของสหรัฐฯ ที่ทำงานควบคู่กับรัฐบาล มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการบริโภคแป้งสาลีอย่างแข็งขันในระดับโลก และเป็น “เสียง” ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องสดับรับฟังเสมอเพราะ

“เบอร์ ๑ ของผู้ผลิตข้าวสาลีโลกคืออเมริกา เขาก็ต้องการเผยแพร่ความรู้เรื่องข้าวสาลีให้มากที่สุด เพื่อให้คนบริโภคเยอะขึ้น เขาก็มาสอนให้เรากิน สอนให้เราทำ เดิมทีสมัยรุ่นแม่เรา ศูนย์กลางการศึกษาของยูเอส วีต ในภูมิภาคคือฟิลิปปินส์ ต่อมาในรุ่นเรา เขาก็ย้ายมาเมืองไทยแล้ว

“โรงแป้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างบูกาซารีที่อินโดนีเซีย (Bungasari Flour Mills) ยังต้องส่งคนมาเรียนกับเรา”

แล้วไปยังไงมายังไง โรงโม่แป้งสาลีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ซึ่งถ้าอ่านออกเสียงอย่างไทย ๆ คงเป็น “บุหงาส่าหรี”) ถึงไปตั้งอยู่ในอินโดนีเซียได้ ผมงง “เขากินไง” เป็นคำตอบ ก่อนอาจารย์อโณทัยจะขยายความต่อ

“อินโดนีเซียกับมาเลเซียสถานการณ์เหมือนกัน คือเป็นผู้บริโภคธัญพืชรายใหญ่ในภูมิภาค แต่เขาปลูกอะไรไม่ได้ ต้องนำเข้าหมด เพราะฉะนั้นพอข้าวสาลีมันต้นทุนถูกกว่า บริโภคง่ายกว่า เขาก็กินข้าวสาลีเยอะกว่า แล้วข้อดีของการบริโภคข้าวสาลีคือมันไม่ต้องใช้อุปกรณ์ไง

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ มาเลเซีย ประชา-กรประมาณ ๓๐ ล้านแต่เขาบริโภคข้าวสาลีมากกว่าเราสามเท่า  คนมาเลย์มีทั้งที่อยู่ในวัฒนธรรมฝรั่ง จีน อินเดีย คนจีนก็กินบะหมี่ คนอินเดียก็กินพวกโรตี นาน (naan) แล้วพอเขามาอยู่ในวัฒนธรรมอังกฤษ วัฒนธรรมฝรั่ง ก็กินขนมปัง แล้วพอเขาจะซื้อข้าวเจ้าแต่ภาษีธัญพืชเท่ากัน เขาก็ต้องเลือกกินอะไรที่ราคาถูกที่สุด แล้วอย่างยูเอส วีต ก็สนับสนุนการส่งออกข้าวสาลีด้วย

“แต่ช่วงหลัง ๆ มานี่ ตลาดในเอเชียน่าจะเป็นของออสเตรเลียมากขึ้น เพราะค่าขนส่งถูกกว่า”

ถ้าอย่างนั้นในเมืองไทยเราปลูกข้าวสาลีกันได้ไหม ?

“ได้ แต่ผลผลิตทั้งปี โม่วันเดียวยังไม่พอ” เขาตอบขำ ๆ

แล้วปลูกกันแถวไหนบ้าง ?

“แถวสะเมิง (เชียงใหม่) แต่พันธุ์สะเมิงจริง ๆ ไม่ใช่แป้งสำหรับทำขนมปัง เป็นแป้งแบบแข็ง อย่างที่ใช้ทำเส้นพาสต้า (pasta) ทำมะกะโรนี อะไรแบบนั้น ถามว่าเอามาทำขนมปังได้ไหม ก็ได้ แต่ไม่ดี

“ทุกวันนี้คนที่ปลูกข้าวสาลีมากที่สุดผมคาดคะเนว่าน่าจะเป็นจีน แต่จีนบริโภคในประเทศตัวเองก็หมดแล้ว ไม่เหลือส่งออก ยังต้องนำเข้าเหมือนกัน แต่ในอนาคตถ้าจีนปรับตัวแรง ๆ แล้วปลูกได้เองจนพอเพียง ตลาดอาจจะเปลี่ยนอีกมหาศาล เหมือนที่สิงคโปร์ประกาศว่าจะเป็นประเทศเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก เขาเริ่มปลูกผักในคอนโดฯ เลี้ยงปลาในคอนโดฯ กันแล้ว”

อาจารย์อโณทัยชอบเล่าว่าเขาเป็นคน “นอกคอก” มาตลอดทั้งชีวิต จนถึงกับขนานนามตัวเองว่าเป็น “กบฏขนมปัง”

เขาให้ผมดูตัวอย่างหนึ่งของการก่อกบฏ คือตำรับขนมปังที่เขาคิดขึ้นใหม่ เพื่อให้นำไปสาธิตตามจังหวัดต่าง ๆ

ตรงหัวกระดาษแผ่นนั้นพิมพ์ตัวหนาว่า “ขนมปังข้าวสังข์หยด”

บรรทัดต่อมาระบุส่วนผสมต่าง ๆ กับปริมาณ ไล่มาตั้งแต่แป้งสาลี ยีสต์ น้ำตาลทรายแดง น้ำ เนย จนถึงข้าวสังข์หยดโดยมีคำอธิบายด้วยว่าให้ “ต้มพอสุก” โดยในสูตรเขาให้ใช้ถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแป้งสาลี

การเลือกใช้ส่วนผสมของขนมปังที่เป็นวัตถุดิบท้องถิ่น อย่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองภาคใต้ของไทย มาจากฐานคิด “กบฏ” อย่างที่เขาเล่าว่า ความมุ่งหวังคือทำอย่างไรให้วัตถุดิบของไทยได้มีโอกาสเติบโตควบคู่กันไปพร้อม ๆ กับตลาดแป้งสาลี
“คนในเมืองหลวงเริ่มเปลี่ยนไลฟ์สไตล์มากินเค้ก กินขนมปังกันเยอะขึ้น เพราะมันสะดวก แล้วที่อเมริกาเขาลงทุน มีสมาคมส่งเสริมการบริโภคข้าวสาลี แต่เมืองไทยเราไม่มีหน่วยงานที่ทำงานแบบนี้จริง ๆ ที่จะแปรรูปข้าวเจ้าของเราให้เก็บไว้ได้นาน ๆ หรือกินได้สะดวกขึ้น

“คือเราไปตื่นเต้นกับฝรั่งไง อย่างยุคโอทอป (OTOP - หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) รัฐบาลส่งเสริมให้หมู่บ้านนี้ทำคุกกี้ ทุกบ้านก็ทำหมด ให้ทำซาลาเปา ทุกคนก็ทำหมด คุกกี้หรือ ซาลาเปาก็คือข้าวสาลี แต่ไม่ค่อยมีใครส่งเสริมให้ใช้ข้าวเจ้า ทำผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก ทำอาหาร หรือแปรรูป หรือเก็บถนอมอาหาร ในญี่ปุ่นเขายังทำคุกกี้ด้วยแป้งข้าวเจ้ากันเยอะ ของไทยเราแทบไม่มีใครทำเลย

“ผมถึงบอกว่าผมเป็นกบฏ เพราะผมขัดแย้งในตัวเองตลอดเวลา ผมรู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่า คุณกินข้าวสาลีหนึ่งมื้อ ข้าวเจ้าหายไปหนึ่งจาน แล้วชาวนาจะอยู่อย่างไรในอนาคต

“อาจจะเพราะว่าเราเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรฯ สิ่งที่เราถูกปลูกฝังมา พื้นฐานความคิดคือปู่ย่าตายายเราก็เป็นเกษตรกรแต่คนอื่นเขาอาจจะไม่ได้คิดตรงนี้ไง รัฐบาลเราก็อาจจะไม่ได้คิดตรงนี้ คิดกันแค่ว่าจะลดราคาข้าวแข่งกันในอาเซียน

“เราปฏิเสธธุรกิจที่จะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ แต่เราก็ลืมรากเหง้าไม่ได้เหมือนกัน  ตอนวิ่งเซลส์ใหม่ ๆ ผู้บริหารเขาจะสอนเลยว่า สิ่งที่คุณต้องดูคือสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรราคาดี เบเกอรีจะดี เราจะขายแป้งได้เยอะ เพราะเขาก็จะมีเงินมาซื้อมากิน ถ้าสินค้าเกษตรไม่ดี เขาก็ไม่มีเงิน สิ่งที่ต้องมองคือปีนี้ราคาสินค้าเกษตรดีหรือเปล่า  วิ่งอีสาน คุณต้องรู้ว่าอีสานขายข้าวได้ไหม ถ้าขายข้าวได้ดี ราคาดี เบเกอรีก็จะดี คุณวิ่งเชียงใหม่ ก็ต้องดูว่าลำไย ลิ้นจี่ ดีไหม

“คือแค่เอกชนเดินเกมกัน ตลาดข้าวสาลีก็โตมหาศาลแล้ว ถ้าจะให้ประเทศเรารอด ราชการต้องส่งเสริมการบริโภคข้าวเจ้าข้าวเหนียว”

ที่สุดแล้วผู้มีประสบการณ์ในตลาดแป้งสาลีอย่างอาจารย์อโณทัยมองอนาคตวงการนี้ในเมืองไทยอย่างไร

“เมื่อก่อนชอบบอกกันว่าตลาดนี้ไม่โตหรอก เพราะเราไปตั้งต้นคิดว่าก็แค่ ‘ขนม’ ขนมปัง ขนมเค้ก ก็ขนมหมด พอขึ้นต้นว่าขนม เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญไง แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

“ความหลากหลายหรือหน้าตาของขนมปังฝรั่งเขาไม่เยอะเท่าทางเรา เอเชียจะมีเยอะกว่า  ฝรั่งเขากินเป็นอาหารหลัก เรากินเป็นขนม อย่างลูกค้าร้านหนึ่งที่เชียงใหม่ ทำขนม ๒๐๐ ชนิดทุกวัน แล้วเขาบอกว่าเต็มที่เขามี ๓๐๐ (ชนิด) ของฝรั่งร้านหนึ่งขายขนมปัง ๒๐ อย่างก็เยอะแล้ว

“ผมมองว่าตลาดยังจะโตอีกเยอะ ถ้าพูดถึงเบเกอรีนะ เทียบกับมาเลเซีย คือถ้าเรากินด้วยอัตราส่วนเท่าเขา ตลาดเราจะโตอีกหลายเท่า เพราะมันเหมาะกับไลฟ์สไตล์เมืองใหญ่ ยิ่งถ้ารถติดนะ กินเบเกอรีมันสะดวกกว่า ข้าวเจ้ายังไงคุณก็ต้องใช้ช้อนตัก อยู่ในรถนี่ ช้อนตักลำบาก เทียบกับคุณหยิบกิน ๆ ๆ บางคนซื้อตอนเย็น ตอนเช้าเอาไปอุ่นกิน ก็ง่ายกว่า แล้วคนไทยเป็นคนที่เปิดรับวัฒนธรรมต่าง ๆ ง่าย อย่างทุกวันนี้พวกร้านเบอร์เกอร์เริ่มมีแรป (wrap แผ่นแป้งห่อไส้) ที่เดิมเป็นของตะวันออกกลางเข้ามา ก็เป็นแป้งสาลีอีกนั่นแหละ ตลาดแป้งสาลียังจะโตอีกเยอะ บะหมี่-ใช่ ซาลาเปา-ใช่ โรตี-ใช่ แล้วขนมตลาดล่างที่คนทั่วไปมองไม่เห็นอีกมหาศาล ขนมปังปี๊บก็ใช่

“สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือเห็นเวลาชาวนาไปเกี่ยวข้าว ต้องซื้อขนมปังไปกินเป็นมื้อเที่ยง (เพราะถ้า) เอาข้าวไป ข้าวบูดได้ แกงบูดได้ แต่ขนมปังไม่เสีย นี่คือความพินาศในระยะยาว
“ผมว่าตลาดแป้งสาลีจะโตอีกเยอะ แต่ก็อย่างที่บอก กินหนึ่งมื้อ ข้าวเจ้าหายหนึ่งมื้อ
ข้าวสาลี “นำเข้า”
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปี ๒๕๔๘ ระบุว่าเมื่อปี ๒๕๔๗ ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีประมาณ ๘,๑๒๕ ไร่ ได้ผลผลิตข้าวสาลีประมาณ ๘๐๐ ตัน ซึ่งไม่พอเพียงกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ขณะนั้นมูลค่าการนำเข้าต่อปีอยู่ที่ประมาณ ๙,๕๐๐ ล้านบาท โดยเมล็ดข้าวสาลีและแป้งสาลีที่นำเข้ามา ราวสองในสามจะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ที่เหลือเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ  ทั้งนี้สัดส่วนการบริโภคแยกออกได้เป็น ขนมปังและผลิตภัณฑ์เบเกอรีร้อยละ ๓๕ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อยละ ๓๐ บิสกิตร้อยละ ๑๐ และที่เหลืออีกร้อยละ ๒๕ ใช้ในลักษณะอเนกประสงค์

อย่างไรก็ดีภายใต้พันธกรณีกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO) ประเทศไทยได้ทยอยลดภาษีศุลกากร
การนำเข้าข้าวสาลีลงเป็นลำดับ จนยกเลิกอัตราอากรข้าวสาลีทั้งหมดในปี ๒๕๕๐ “เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” นับแต่นั้นมาจึงมีการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยระหว่างปี ๒๕๕๕-๒๕๖๐ มีการนำเข้าข้าวสาลีทั้งสิ้นกว่า ๑๗ ล้านตัน โดยส่วนใหญ่ (๑๑.๘ ล้านตัน) เป็นข้าวสาลีสำหรับผลิตอาหารสัตว์  แหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย คือ ยูเครนและอาร์เจนตินา

ต่อมา “เพื่อบริหารจัดการและรักษาเสถียรภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ” จึงมีการออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม ๒๕๖๐ กำหนดให้ผู้ขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากภายในประเทศสามส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลีหนึ่งส่วน พร้อมกับกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ ๘ บาท  ผลที่
ตามมาคืออุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงหันไปนำเข้ากากข้าวโพด (จากอุตสาหกรรมเอทานอล) และข้าวบาร์เลย์ ซึ่งยังไม่ถูกควบคุมโดยภาครัฐแทน ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อราคาข้าวโพดอาหารสัตว์ในประเทศขณะนี้

ล่าสุดจากรายงานฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๖๔/ค.ศ. ๒๐๒๑ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture - USDA) ประเมินว่าผลผลิตข้าวสาลีในประเทศไทยปัจจุบันมีประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ตันต่อปี จากพื้นที่เพาะปลูกราว ๑,๐๐๐ ไร่
ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดน่านและแม่ฮ่องสอน โดยมีฐานะเป็นเพียงพืชไร่ที่ปลูกหลังทำนาเพื่อเสริมรายได้เท่านั้น

ทางกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ยังคาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับเดียวกันด้วยว่า สำหรับฤดูกาลผลิตปี ๒๕๖๓/๒๕๖๔ (ค.ศ. ๒๐๒๐/๒๐๒๑) ตัวเลขการนำเข้าข้าวสาลีของไทยจะอยู่ที่ประมาณ ๓ ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลผลิตปีก่อนหน้าราวร้อยละ ๑๔
สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นข้าวสาลีสำหรับผลิตอาหารสัตว์ (feed wheat) ๑.๕ ล้านตัน เมล็ดข้าวสาลีที่นำเข้ามาสีภายในประเทศ (milling wheat) ๑.๒ ล้านตัน และแป้งสาลี (wheat flour) อีก ๓ แสนตัน โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งนำเข้าที่ใหญ่ที่สุด  
อ้างอิง
“ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี : ตลาดในประเทศและตลาดส่งออกขยายตัว” ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๘. https://kasikornresearch.com/th/analysis/kecon/business/Pages/5468.aspx


“พาณิชย์ชี้แจงมาตรการนำเข้าข้าวสาลีเป็นไปตามระเบียบไม่ได้เอื้อ
ใคร” ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑. https://www.prachachat.net/economy/news-176075 

“ร้องทบทวนนำเข้าธัญพืชนอกทุบราคาข้าวโพดในประเทศราคาตก” ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔. https://www.thansettakij.com/busi
ness/485455

“Thailand : Grain and Feed Annual” March 19, 2021. https:
//www.fas.usda.gov/data/thailand-grain-and-feed-annual-5