Image
เงา “อยุธยา”
ที่วัดมหาเต็งดอจี
souvenir & history
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บุศรินทร์ แสงไชย
ในพม่า นอกเหนือจากต้นศรีมหาโพธิ์
ที่มหาปาสาณคูหา (ดู สารคดี ฉบับที่ ๔๔๐) ร่องรอยความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับสยามยังปรากฏอยู่ที่เมืองสะกาย (Sagaing) ที่ตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือของพม่า ใกล้กับกลุ่มราชธานีเก่า คือ อมรปุระ อังวะ และมัณฑะเลย์

วัดมหาเต็งดอจี (Maha Thein Taw Gyi) อยู่ทางทิศตะวันตกนอกตัวเมืองสะกาย ในเขตกอนยินตองยวา (Gon-Hnyin-Htong-Ywar) หมู่บ้านลินซิน ไม่ไกลจากแม่น้ำอิรวดีนัก

ภาพวัดที่ผู้เขียนเห็นเมื่อครั้งไปเยือนในปี ๒๕๖๑ อาคารส่วนมากไม่ต่างจากวัดทั่วไปในพม่า พระสงฆ์ที่จำพรรษาเป็นชาวพม่าทั้งหมด แต่สิ่งที่ต่างจากวัดอื่นคืออาคารเครื่องก่อขนาด ๑๓x๘ เมตร ที่เป็นพระอุโบสถ โดยรอบเป็นแนวกำแพงแก้ว มีใบเสมาสีขาวล้อมรอบ

สถาปัตยกรรมโดยรวมของอาคารนี้เป็นศิลปะผสมผสานระหว่างราชวงศ์ยองยานและราชวงศ์คองบอง (ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า) ถ้าเทียบกับประวัติ-ศาสตร์ไทยก็ตรงกับสมัยอยุธยา ต่อเนื่องไปจนถึงยุคกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

สิ่งที่น่าสังเกตคือฐานอาคารมีลักษณะโค้งแอ่น คล้ายอุโบสถสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่เรียกกันว่า “ตกท้องช้าง” หรือ “ท้องสำเภา”

แต่สิ่งที่ทำให้คนโยเดีย (ไทย) ตื่นตามากที่สุด คือเมื่อเข้าไปภายในอาคาร

ภายในมีพระพุทธรูปศิลปะพม่าสามองค์ประดิษฐานบนฐานชุกชียกพื้น ผนังด้านซ้ายและขวาปิดแผ่นกระเบื้องสูงจนถึงช่องแสง (มีด้านละสี่ช่อง) เหนือแนวกระเบื้องปรากฏจิตรกรรมที่ดูคล้าย “ศิลปะโยเดีย” (อยุธยา)

ด้านหลังพระพุทธรูปมีภาพวาดลายเครือเถา ปลายเป็นลายกระหนก ผนังด้านตรงข้ามมีภาพบุษบกเก้ายอด ประดิษฐานพระพุทธรูป ประดับด้วย เครื่องสูง มีการใช้เส้นสินเทาแบ่งพื้นที่ภาพ ที่ผนังด้านซ้ายและขวาวาดภาพพระอดีตพุทธเจ้าเรียงราย มีฉัตรหรือร่มสีขาวคั่นทุกองค์

มิคกี ฮาร์ท นักวิชาการอิสระชาวพม่า เสนอว่า เอกสารใบลานของวัดระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นโดยชาวเชียงใหม่ที่ถูกกวาดต้อนมาในปี ๒๑๗๔ (ราวรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถของกรุงศรีอยุธยา) เวลาผ่านไปราว ๒๐๐ ปี เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี ๒๓๑๐ ชาวอยุธยาส่วนหนึ่งก็ถูกกวาดต้อนมาตั้งหลักแหล่งบริเวณนี้ มีการบูรณะวัดที่ร้างขึ้นมาใหม่ และเขียนจิตรกรรมให้อาคารหลังนี้ ในวัดมหาเต็งดอจีจึงมีทั้งศิลปะสมัยราชวงศ์ยองยาน ราชวงศ์คองบอง และจิตรกรรมแบบอยุธยา

อย่างไรก็ตามจากการเก็บข้อมูลภาคสนาม นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีข้อสันนิษฐานที่ต่างไปว่า อาคารหลังนี้น่าจะสร้างราวปี ๒๒๘๐ (คือก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก) และการวาดภาพน่าจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น และต้องไม่ใช้มุมมองของคนรุ่นปัจจุบันมองหรือคิดไปเองเรื่องชะตากรรมของช่างเหล่านี้ โดยช่างกลุ่มนี้อาจจะปรับตัวและอาจจะเป็นการรับช่วงงานมารุ่นต่อรุ่นก็เป็นได้
อูวินหม่อง นักวิชาการชาวพม่า ระบุว่า นอกจากข้อสังเกตด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ส่วนสำคัญคือสีเขียวอมฟ้าที่น่าจะได้รับมาจากโยเดียโดยตรง เขาเล่าว่านักวิชาการไทยกลุ่มแรกที่มาที่นี่ คือ รองศาสตราจารย์ หม่อมหลวงสุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ และหม่อมราชวงศ์รุจยา อาภากร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมาเก็บข้อมูลสำหรับงานวิจัย และต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ชาวอยุธยาที่เมืองสะกาย พร้อมภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ จนทำให้วัดนี้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

ซุมิงกาละ เจ้าอาวาสวัดมหาเต็งดอจี เล่าว่า อาคารหลังนี้ยังคงมีการใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน

“สมัยก่อนพระมานั่งข้างในจะไม่กล้านั่งติดผนัง เพราะสีจะเลอะติด ตอนหลังจึงมีการติดกระเบื้อง”

เราจึงเห็นแนวปูกระเบื้องสูงตั้งแต่พื้นขึ้นไปจนจดช่องแสงโดยไม่ได้คำนึงถึงประเด็นการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งโดยธรรมชาติจิตรกรรมเหล่านี้อ่อนไหวต่อความชื้น ยิ่งมีการฉาบปูน ปูกระเบื้องทับ ประกอบกับลานโดยรอบอาคารยังถูกเทพื้นซีเมนต์ ผลคือเมื่อผิวดินและผนังไม่สามารถระบายความชื้นได้ ความชื้นจะซึมขึ้นตามผนังเพื่อหาช่องทางระเหยออก ส่งผลกับภาพจิตรกรรมอย่างหนัก

นอกจากนี้บริเวณวัดยังเป็นที่ลุ่ม ในหน้าฝนน้ำท่วมสูงก่อความเสียหายทุกปี

ยังปรากฏข่าวในปี ๒๕๕๗ ว่า มีคณะจากประเทศไทย นำโดย เอนก สีหามาตย์ (อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น) มาเยี่ยมชม และยืนยันว่านี่เป็นภาพศิลปะแบบอยุธยาตอนปลาย อายุกว่า ๒๐๐ ปี ที่ควรได้รับการอนุรักษ์

หลังจากนั้นทีมถ่ายทำสารคดี “โยเดียที่คิดไม่ถึง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่เข้าไปถ่ายทำที่วัดยังพยายามระดมเงินช่วงต้นปี ๒๕๖๑ ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นจนมีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำใต้ดิน ยังมีทีมงานของอาจารย์เกรียงไกรเข้าไปเสริมในลักษณะทีมอนุรักษ์อาสา เก็บข้อมูลสภาพอุโบสถในปี ๒๕๖๑ เป็นไฟล์ดิจิทัลทั้งหมด รวมถึงพยายามเสนอแนวทางอนุรักษ์โบสถ์แห่งนี้ไว้ โดยพยายามออกแบบกระบวนการที่เหมาะกับพื้นที่และให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

อย่างไรก็ตามหลังโรคโควิด-๑๙ ระบาดและเกิดรัฐประหารในพม่า เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ผู้เขียนก็ไม่ได้ข่าวคราวของวัดมหาเต็งดอจีอีก

อิสรชัย บูรณะอรรจน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในทีมงานอาจารย์เกรียงไกรระบุว่า หลังเกิดโรคระบาดโควิด-๑๙ และสงครามกลางเมือง ทีมงานก็ไม่ได้เข้าไปที่วัดนี้อีก

“ตอนนั้นเราสแกนเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรมในอัตราส่วน ๑ : ๑ เพื่อที่อย่างน้อยจะมีข้อมูลดิจิทัลไว้อ้างอิงหากเสื่อมสภาพและซ่อมไม่ทัน เราไม่ทราบความคืบหน้าในการซ่อมแต่เรื่องที่วัดน่าจะทำได้เลย คือการรื้อกระเบื้องบนผนังออก เพื่อให้ความชื้นระบายได้ ซึ่งนี่เป็นหลักการทั่วไปในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง”

ขณะที่อาจารย์เกรียงไกรระบุว่าหากเป็นไปได้ อยากให้การบูรณะเป็นเรื่องระดับกรมศิลปากรไทยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงของพม่า “ในอนาคตไทยก็ควรจะเป็นฝ่ายริเริ่ม เพราะโบราณสถานสำคัญในพม่ามีมาก ถ้ารอก็ไม่รู้จะได้ทำเมื่อใด การร่วมมือกันจะช่วยให้เรามองประวัติศาสตร์ใหม่ มองความสัมพันธ์ในมุมมองใหม่ด้วย (นอกจากสงคราม)”

แม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะมีแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในปี ๒๕๖๕ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์สงครามกลางเมืองในพม่าจะบรรเทาลงเมื่อใด

ได้แต่หวังว่าเมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย จิตรกรรมที่วัดมหาเต็งดอจีจะยังคงหลงเหลือให้คนรุ่นต่อไปได้ชื่นชมศึกษา และอนุรักษ์
แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม  
เอกสารประกอบการเขียน
เกรียงไกร เกิดศิริ และคณะ. “ศิลปะสถาปัตยกรรมมหาเต็งดอจี เมืองสกาย เมียนมา : มรดกความทรงจำอยุธยาในลุ่มอิรวดีในพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และการสำรวจสภาพปัจจุบัน” ใน วารสาร หน้าจั่ว Vol. 32 (2017) : มกราคม-ธันวาคม ๒๕๖๐. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.