Image
สุดยอดผัก
ลดน้ำตาล
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
เราอยู่ในยุคที่สามารถซื้อหาสมุนไพรแบบสำเร็จรูปได้ง่าย มีการเผยแพร่หรืออวดอ้างสรรพคุณของอาหารและยาเกินจริง โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ความไม่รู้ หรือความคาดหวังว่าจะหายจากโรคของผู้คน การกินสมุนไพรสำเร็จรูปเป็นยาจึงนำมาสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มากมาย

สมุนไพรที่ถูกนำมาทำเป็นเม็ดสำเร็จ
รูปและได้รับความนิยมมักถูกอ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคยอดฮิต เช่น เบาหวาน ไต หัวใจ หรือโรคมะเร็ง ขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวอันตรายจากผู้กินสมุนไพรดังกล่าวอยู่เนือง ๆ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต

เมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมโรคไตแห่งประเทศ
ไทยออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตกินถั่งเช่า เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์ต่อไตมนุษย์ และพบโลหะหนักที่ส่งผลเสียต่อไตในระยะยาวในผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าอีกด้วย ซึ่งแม้ข้อมูลเหล่านั้นจะไปถึงผู้ซื้อและผู้กิน แต่ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา หากไม่เจ็บป่วยจนต้องเข้านอนโรงพยาบาลก็จะไม่เชื่อว่าสมุนไพรเหล่านั้นทำลายสุขภาพ

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการกินสมุนไพรเป็นยาคือการกินสมุนไพร
เป็นอาหาร ดังเช่นกรณีการกินสมุนไพรเพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ซึ่งมักเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยเบาหวาน  โชคดีที่เราอยู่ในประเทศที่เข้าถึงผักที่ได้รับการยืนยันและพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วว่ามีสารที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้มากมาย

วิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ดและสมาคมโรคเบาหวานอเมริกันล้วนแนะนำตรงกันว่า อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นไม่ต่างจากอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค
เบาหวาน คือการกินผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ
Image
ในข้อแนะนำบอกว่า สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือคาร์โบไฮเดรต คนเป็นเบาหวานควรมีแป้งและน้ำตาลเพียงครึ่งหนึ่ง (๔๕-๕๕ เปอร์เซ็นต์) ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งควรเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มาจากผักผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งให้แคลอรีมากกว่าคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านกระบวนการผลิตซับซ้อนและมีเส้นใยมากกว่า  ร่างกายเราจะย่อยอาหารที่กากใยสูงช้ากว่า ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดค่อย ๆ สูงขึ้น ไม่เพิ่มขึ้นแบบรวดเร็ว

ให้หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตจากขนมปัง ข้าว ขนมหวานเครื่องดื่มรสหวาน เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้น้ำตาล
ในเลือดพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระตุ้นให้ปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้เส้นใยที่ละลายน้ำได้มักพบในถั่ว ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวโอ๊ต ผลไม้ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ความอ่อนไหว
ต่อฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้น ส่งผลให้กินยาเบาหวานลดลง

มีการศึกษาหลายชิ้นแนะนำให้กินอาหารที่มีเส้นใยสูงเพื่อลดโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ
และคนที่เป็นเบาหวานจะต้องทำทุกอย่างเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้

ด้วยเหตุนี้การกินสมุนไพรแบบสด ๆ โดยกินเป็นอาหาร คือเป็นส่วนประกอบของอาหารประจำวัน ไม่ใช่การกินแบบเดี่ยวๆ หรือผ่านการสกัดหรือบรรจุเม็ด
จะยังคงอุดมคุณค่าทางอาหาร ในปริมาณที่ไม่เข้มข้นเกินไป และไม่ผ่านกระบวนการที่อาจมีสารพิษเจือปน 

จึงเป็นหนทางลดปริมาณน้ำตาลในเลือดและลดผลข้างเคียงจากการกินสมุนไพรที่ดีที่สุด  
Image
Image
• เชียงดา มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ผักฆ่าน้ำตาล” มีสารยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลในลำไส้เล็ก และมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในตับอ่อน สามารถนำใบอ่อน ยอด และดอกผักเชียงดา มาลวกพอสุก จิ้มน้ำพริก หรือผัดไข่ ผัดนํ้ามันหอย  ในภาคเหนือนิยมนำไปทำแกงแค

• มะระขี้นก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยกให้เป็น “อัศวินพิชิตเบาหวาน” ช่วยเสริมการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ เสริมการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพิ่มความทนต่อกลูโคส และยังยับยั้งการหลั่งกลูโคสในลำไส้เล็กอีกด้วย กินผลสดหรือน้ำคั้นสดจากผลสดจะดีที่สุด หรือนำมาตากแห้งชงน้ำกิน  ในตำรับอาหารเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนำผลสดมาทำส้มตำกินกับใบมะยม ซึ่งช่วยลดน้ำตาลเช่นกัน

• ตำลึง มีสารเพกทิน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มีวิตามินซีสูง ช่วยบำรุงสายตา  นำเถาตำลึงแก่หนึ่งกำมือต้มกับน้ำ หรือทำน้ำคั้นจากผลตำลึงดิบ ดื่มเช้าเย็นหรือนำใบมาต้มจืดกับหมูบะช่อ

• กระเจี๊ยบเขียว ช่วยเคลือบกระเพาะอาหารไม่ให้เป็นแผลและช่วยรักษาระดับการดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้ใหญ่ให้คงที่ จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และลดน้ำตาลในเลือดได้ดี  นำผลกระเจี๊ยบเขียวมาต้มจิ้มน้ำพริก ผัด หรือแกง

• ผักบุ้ง มีสารคล้ายอินซูลินซึ่งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงช่วยต้านโรคเบาหวาน และยังมีวิตามินเอสูงช่วยบำรุงสายตา ลดอาการร้อนใน และแก้อาการท้องผูกได้ด้วย  จะนำมาต้ม ผัด หรือกินสด ๆ ก็ได้

• ใบชะพลู ชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด และช่วยกระตุ้นการนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้  อาหารขึ้นชื่อที่ใช้ใบชะพลูก็เช่น เมี่ยงคำ แกงคั่ว เป็นต้น  ตำรับแพทย์แผนโบราณแนะนำให้ใช้ชะพลูทั้งต้น (ถอนทั้งราก) จำนวนเจ็ดต้นมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำไปต้มกับน้ำเดือดสักพัก แล้วกรองแต่น้ำมาดื่มเป็นชาชะพลู ลดน้ำตาลในเลือด  ชะพลูมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดเร็วมาก จึงควรระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำสำหรับคนที่กินยาลดน้ำตาลในเลือดอยู่ก่อนแล้ว

• ฟักข้าว ในใบอ่อนและผลอ่อนฟักข้าวมีสารไกลโคไซด์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ สามารถนำผลอ่อน ใบ หรือนำยอดอ่อนของฟักข้าวมาลวกจิ้มน้ำพริกหรือผัดน้ำมันหอย

• มะเขือพวง มีงานวิจัยพบว่า หนูที่เป็นเบาหวานและกินน้ำสมุนไพรมะเขือพวงจากผลมะเขือพวงแห้งมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง  การกินมะเขือพวงลดน้ำตาลในเลือด ให้นำผลมะเขือพวงตากแห้งประมาณ ๑๐ ผลมาต้มกับน้ำสะอาด ๑ แก้ว แล้วดื่มเป็นชามะเขือพวง หรือกินมะเขือพวงในแกงต่าง ๆ

• ใบหม่อน มีสารออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และสารพอลิแซ็กคาไรด์ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งสารชนิดนี้จะออกมาได้ดีให้เก็บยอดใบหม่อนใบที่ ๓-๔ มาหั่นเป็นแว่น ๆ แล้วนำไปลวกน้ำร้อน ๒๐-๓๐ วินาที แล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง จากนั้นนำใบหม่อนไปผึ่งให้พอหมาด แล้วคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ จนกว่าใบจะแห้ง นำมาชงชาโดยใช้ใบหม่อน ๘๐ กรัม (๒-๓ ช้อนโต๊ะ) ใส่ในแก้วกาแฟแล้วเติมน้ำร้อนเกือบเต็มแก้ว

• ใบย่านาง  มีเส้นใยชนิดละลายน้ำอยู่มาก และยังมีพอลิแซ็กคาไรด์ที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้  ผลการทดลองในหนูพบว่าสารสกัดจากใบย่านางมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินในหนูทดลอง และสามารถลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน  สามารถกินใบย่านางในอาหารชนิดต่าง ๆ หรือทำน้ำใบย่านางดื่ม โดยนำใบย่านาง ๑๐-๒๐ ใบมาคั้นกับน้ำ ๑-๓ แก้ว แล้วนำไปต้ม กรองเอากากออกก่อนดื่ม

ข้อมูลจาก นิตยสาร หมอชาวบ้าน, กองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข