Image
“ศรีมหาโพธิ์สยาม” 
ณ มหาปาสาณคูหา
souvenir & history
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์
หากเราย้อนมองดูความสัมพันธ์ไทย-พม่า ฉบับชาตินิยม ที่เขียนอยู่ในหนังสือแบบเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่ากล่าวถึงแต่สงครามในอดีต เมื่อครั้งที่ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ประเทศไทย” หรือ “ประเทศพม่า” เกิดขึ้น

เรารับรู้เรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยา
สองครั้ง เรื่องการกู้เอกราช ฯลฯ โดยสวมแว่นตาการเมืองโลกยุคปัจจุบัน จนทำให้เรามองพม่าในมุมหนึ่งว่าเป็น “ศัตรูตัวฉกาจ” ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

ขณะที่หนังสือแบบเรียนสร้างความทรงจำให้แก่คนไทยตั้งแต่รุ่นเบบี้บูมเมอร์
(baby boomer generation) จนถึงคนเจนเอกซ์ เจนวาย มาเช่นนั้น ข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคที่ไทยและพม่าถือกำเนิดขึ้นแล้วในฐานะรัฐชาติสมัยใหม่ในระเบียบโลกที่คนยุคปัจจุบันคุ้นเคย กลับไม่ได้รับความสนใจหรือศึกษาเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในโลกสมัยใหม่แต่อย่างใด

เมื่อปี ๒๕๖๒ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทาง
ไปสัมภาษณ์ทายาทของอูนุ อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ (ปี ๒๔๙๑) สถานที่แห่งหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปเยือนคือถ้ำมหาปาสาณคูหา (Maha Pasana Cave) สถานที่จัดสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ ซึ่งเกิดขึ้นในพม่าเมื่อปี ๒๔๙๗ โดยมีเป้าหมายคือการฉลองวาระ “กึ่งพุทธกาล” (ปี ๒๕๐๐) โดยพม่านั้นนับ พ.ศ. เร็วกว่าไทย ๑ ปี การฉลองจึงจัดตรงกับปี ๒๔๙๙ ของไทย โดยการสังคายนานั้นจะดำเนินต่อเนื่องไปจนปีฉลอง

แม้ว่าชื่อ “มหาปาสาณคูหา” จะบ่งว่าเป็น “ถ้ำหิน” (ปาสาณ ภาษาบาลีแปลว่าหิน) แต่ก็ชัดเจนว่าเป็น “ถ้ำประดิษฐ์” ที่เกิดจากการสร้างภูเขาหินจำลอง ภายในทำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่คล้ายยิมเนเซียม จุคนได้จำนวนมาก (หลักหมื่นคน) ผนังและเสาภายในประดับด้วยหยก มีอัฒจันทร์สำหรับพระสงฆ์นั่งลดหลั่นกัน ว่ากันว่าถ้ำนี้จำลองมาจากถ้ำสัตบรรณคูหา สถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกซึ่งตั้งอยู่ในอินเดีย ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่สอบนักธรรมบาลีขั้นสูง

ในแง่ประวัติศาสตร์ เรื่องที่น่าสนใจคือในช่วงปลายทศวรรษ ๒๔๙๐ สถานที่แห่งนี้เป็น “เครื่องมือ/เวทีทางการทูต” อยู่บ่อยครั้งบนเวทีความสัมพันธ์ไทย-พม่า

นายกรัฐมนตรีอูนุของพม่าเป็นพุทธ-ศาสนิกชนที่เคร่งครัดและเป็นสหายสนิทจอมพล ป. พิบูลสงคราม  การจัดสังคายนาพระไตรปิฎกของพม่ายังเกิดขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของการฉลองกึ่งพุทธศตวรรษ โดยแง่หนึ่งนี่เป็นธรรมเนียมโบราณที่ในอดีต ทั้งสยามกับพม่ามักทำเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ (กรณีพม่าคือได้เอกราช สยามเคยทำไปในสมัยรัชกาลที่ ๑) น่าสนใจอีกว่า ในเวลาเดียวกันการเมืองภายในของไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ด้วยหลังรัฐประหารปี ๒๔๙๐ รัฐบาลสายพลเรือนของคณะราษฎร (ฝ่ายของ ปรีดี พนมยงค์) หมดอำนาจ การเมืองไม่แน่นอนมีความพยายามทำรัฐประหารจากฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายกองทัพบก กองทัพเรือ เป็นระยะ จอมพล ป. ต้องดุลอำนาจระหว่างพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่คุมกำลังตำรวจ กับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่คุมกองทัพบก
การสังคายนาพระไตรปิฎกในพม่ามีตัวแทนคณะสงฆ์ไทยเข้าร่วมคือพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนคร ท่ามกลางการสงวนท่าทีจากคณะสงฆ์ไทย ก่อนที่จอมพล ป. จะเดินทางไปเยือนพม่าด้วยตัวเองในปี ๒๔๙๘ จากนั้นอูนุก็มาเยือนเป็นการตอบแทนในปีเดียวกัน โดยไปเยี่ยมชมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพยายามเยียวยาบาดแผลทางประวัติศาสตร์ด้วยการกล่าวขอโทษแทนบรรพบุรุษที่มาทำลายกรุงศรีอยุธยา แสดงเจตนาว่าพม่าต้องการเป็นมิตรกับไทยนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ และยังบริจาคเงินร่วมบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อย่างไรก็ตามในเดือนตุลาคม ๒๕๐๐
จอมพล ป. ก็ถูกจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหาร จากนั้นมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือนเพียงไม่นานก็เกิดรัฐประหารซ้ำอีกในปี ๒๕๐๑ แล้วจอมพลสฤษดิ์ก็ขึ้นสู่อำนาจ โดยในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กรณีของพม่า รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ยังคงสานสัมพันธ์ต่อมา

ช่วงสำคัญคือการเสด็จพระราชดำเนิน
เยือนพม่าของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓ โดยขณะนั้น รัฐบาลพม่านำโดยพลเอกเนวิน ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากอูนุในปี ๒๕๐๑

ทั้งนี้ จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิน
เยือนสหภาพพม่า ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓ ให้รายละเอียดการเยือนครั้งนั้นว่ามีตารางเสด็จฯ ค่อนข้างแน่น การเสด็จฯ ถ้ำมหาปาสาณคูหาถูกวางไว้ในช่วงเช้าของวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๐๓ โดยเช้าวันนั้นมีรายการเสด็จฯ ก่อนหน้ารายการเดียวคือที่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง โดยเมื่อเสด็จฯ ถ้ำมหาปาสาณคูหา ภายในมีพิธีถวายพระพร นำโดยสมเด็จพระสังฆราชของพม่ามีการทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปในนามคณะสงฆ์พม่า ประธานาธิบดีพม่าทูลเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎก ๔๐ เล่ม และถวายพระอรรถกถา ๕๐ เล่ม แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
Image
ที่สำคัญคือปรากฏภาพในหลวงรัชกาลที่ ๙ “ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ สองต้น ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปจากประเทศไทย ณ ลานหน้าถ้ำ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งมิตรภาพระหว่างไทยกับพม่า”

ทุกวันนี้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทั้งสองต้น
ยังอยู่ที่เดิม ต่างก็แค่เวลาเกือบ ๖๐ ปีทำให้ต้นโพธิ์ต้นเล็กในวันนั้นกลายเป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาไปทั่วลานใกล้ถ้ำมหาปาสาณคูหา ที่โคนต้นมีกำแพงสีขาวบนแท่นปูนล้อมรอบทั้งสองต้น

ระหว่างต้นโพธิ์สองต้นมีป้ายทองเหลืองติดบนแท่นหินสีขาวเขียนว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล
อดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำไปจากประเทศไทยทั้งสองต้นนี้ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓” โดยเขียนเป็นสองภาษาทั้งไทยและพม่า

ในแง่ประวัติศาสตร์ การสานสัมพันธ์ไทย-พม่า ที่ริเริ่มในสมัยจอมพล ป. ก็ถูกส่งต่อมายังสมัยจอมพลสฤษดิ์ ก่อนที่
ยุคก่อตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ตรัสตอบประธานาธิบดีพม่าในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบประธานาธิบดีพม่าเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๓ ว่า “ประเทศทั้งสองได้เรียนรู้แล้วว่า จะต้องลืมข้อพิพาทที่เคยมีมาในอดีต...” อันบ่งถึงประวัติศาสตร์บาดแผล จะกลายมาเป็นจุดอ้างอิงเมื่อคนยุคหลังต้องการเยียวยาบาดแผลทางประวัติศาสตร์

ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดล้วนเป็นผลจากเหตุการณ์ในทศวรรษ ๒๔๙๐ 
ทั้งสิ้น