Image

MuvMi 
Move เมือง
ด้วยตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร
ภาพ : ศิริรักษ์ วงศ์ซิ้ม

 ท่ามกลางแดดร้อนระอุในเดือนเมษายน ๒๕๕๗ ฉันยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ในดงมวลมหาชน เหงื่อไหลไคลย้อยลงมาถึงช่วงกลางตัว พลางยกแขนขึ้นดูนาฬิกาอย่างร้อนรน

กำลังจะสายแล้วเรา ฉันรู้สึกกังวล เพราะยืนรอรถมาครึ่งชั่วโมงแล้ว และไม่รู้จะต้องรออีกนานแค่ไหน แต่ในที่สุดรถคันจิ๋วก็ค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้ามาที่ป้าย

 บรื้น บรื้น บรื้น... 

 ควันดำพวยพุ่งพร้อมเสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นจากสามล้อสองแถว บรรทุกผู้โดยสารเกือบเต็มคันรถ จอดเทียบทางเท้าเมื่อมีคนโบก  ฉันในชุดนักศึกษาก้าวขึ้นท้ายรถเติมที่สุดท้ายให้เต็ม นั่งคุดคู้ มือหนึ่งปิดจมูกแน่นเพราะกลิ่นควัน อีกมือต้องโหนราวไว้เพื่อป้องกันตอนรถกระชากตัว  

ทำไมเราต้องเสียพลังงานและเวลาชีวิตไปกับการเดินทางขนาดนี้เนี่ย ฉันตั้งคำถามกับตัวเอง รู้สึกละเหี่ยใจต่อทางเลือกในการเดินทางที่มีอยู่

Image

ในชั่วโมงเร่งด่วน การพาตัวเองไปถึงจุดหมายได้ทันเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดไม่ว่าจะด้วยยานพาหนะใดก็ตาม

นาทีทอง

สิบหกนาที คือระยะเวลาในอุดมคติที่เหมาะสมสำหรับการเดินทางต่อเที่ยว


การวิจัยของ แพทริเซีย มอกทาเรียน วิศวกรจราจรจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิส บอกว่า คนส่วนใหญ่ต้องการใช้เวลาเพียง ๑๖ นาทีในการเดินทาง ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดก็ตาม โดยมีรายงานเพิ่มเติมว่า ระดับความพึงพอใจในชีวิตของคนที่ใช้เวลาเดินทางนานกว่านั้นตกฮวบ


แต่สิ่งนี้ก็แทบเกิดขึ้นยากในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เว้นเสียว่าคุณจะมีที่พักอาศัยใกล้โรงเรียนหรือที่ทำงาน จนกลายเป็นผู้โชคดีที่ไม่ต้องใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมง


เพราะอะไรไม่ต้องสืบ ก็กรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าเป็น ๑ ใน ๑๐ ของเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลก  จากการสำรวจมานักต่อนัก แม้คุณจะมีรถยนต์ส่วนตัวขับไปถึงที่หมายก็ไม่ช่วยให้ ๑๖ นาทีนั้นเป็นไปได้ ตรงกันข้ามมันกลับเป็นตัวการสำคัญยิ่งที่ทำให้เราติดชะงักอยู่บนท้องถนนมากขึ้นเป็นหลักชั่วโมง


และหากคุณไม่ใช่คนที่อยู่ติดแนวรถไฟฟ้าแถมที่ทำงานก็ไม่ได้ติดแนวรถไฟฟ้า การเดินทางไปทำงานแต่ละวันมันคือ...
นรกชัด ๆ

กว่าจะออกจากซอยบ้านที่ลึกเป็นกิโลเพื่อขึ้นรถสาธารณะ ก็ไม่แปลกและก็ไม่ผิด ถ้าวันนี้คุณเลือกขับรถแทน


แต่หากมีทางเลือกดีกว่านี้ สะดวกกว่านี้ เป็นใครก็คงยอมสละรถส่วนตัวบ้างบางครั้ง ว่าไหมล่ะ


ทุกเช้าฉันต้องออกไปรอรถหน้าปากซอย กะเวลาเผื่อวันไหนรอรถนาน เพราะสามล้อสองแถวตัวดีมาไม่เคยตรงเวลา
สักครั้ง  ฉันมีทางเลือกอยู่สี่แบบในการเดินทาง

หนึ่ง สามล้อสองแถวต่อเรือข้ามฟาก...ราคาสมเหตุสมผล แต่เวลาไม่แน่นอน  สอง รถเมล์ต่อเดียวถึง...ราคาสมเหตุสมผลแต่เวลาไม่แน่นอนและอ้อม  สาม แท็กซี่ต่อเดียวถึง...ราคาสูงและอ้อม  สี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อเรือข้ามฟาก...ราคาสูงแต่เร็ว


เมื่อเทียบทางเลือกทั้งหมด ฉันจึงมักนั่งสามล้อสองแถวและต่อเรือข้ามฟาก ซึ่งกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชีวิตนักศึกษาอย่างฉัน


สามล้อสองแถวก็คือรถสามล้อหรือตุ๊กตุ๊กดัดแปลง เปลี่ยนที่นั่งปรกติให้เป็นสองแถวเหมือนรถแดงเพื่อรับผู้โดยสารให้มากขึ้นและคิดเงินรายหัว  สายประจำของฉันคือศิริราช-วัดดงมูลเหล็ก-วัดอัมพวา ในราคา ๘ บาทสำหรับตอนกลางวัน และ ๑๐ บาทหลัง ๑ ทุ่ม


คำนวณแล้วใน ๑ วันฉันหมดเวลาไปกับการเดินทางเกือบ ๒ ชั่วโมง กับระยะทางไม่ถึง ๕ กิโลเมตรด้วยซ้ำ


ไม่อยากคิดถึงคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มาทั้งชีวิต ช่างสยดสยองเหลือเกิน แต่ฉันก็ทนทุกข์กับบริการขนส่งสาธารณะจนเข้าสู่วัยทำงาน ได้เห็นวันที่รถไฟฟ้า BTS แถวที่พักเก่า
สร้างเสร็จ (สักที) และวันนี้ที่มีรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าให้บริการในฐานะขนส่งมวลชน

ใช่ คุณอ่านถูกแล้ว...รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

Image

Image

ตรอก ซอก ซอย

ปี ๒๕๖๔ รถไฟฟ้าที่ได้ชื่อว่าเป็นระบบขนส่งหลัก (mass transit) ก็ทยอยสร้างเสร็จและเปิดให้ประชาชนใช้งาน รวมถึงสถานีใกล้ที่พักเก่าฉันสมัยเรียนด้วย

แต่ไม่ว่ารถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จอีกกี่สายก็ไม่เคยแก้ปัญหารถติดได้เลย ที่เรามักพูดกันประจำช่วงรถไฟฟ้ากำลังสร้างก็ไม่เคยเป็นจริง--เดี๋ยวรถไฟฟ้าสร้างเสร็จรถก็ไม่ติดแล้ว 
เรื่องโกหกคำโตนี้ตามหลอกหลอนและกักขังชีวิตคนในเมืองมาแล้วกี่ทศวรรษก็คร้านจะนับ แต่หากถามผู้เชี่ยวชาญในวงการการพัฒนาเมืองก็อาจค้นพบและเห็นภาพความจริงบางอย่าง

“โครงสร้างของเมืองไม่ได้ถูกคิดทุกสเกลไปด้วยกัน มันไม่สามารถมีรถไฟฟ้าแล้วจบ คนลงจากรถไฟฟ้าเสร็จไปยังไงต่อดีล่ะ ไม่รู้แล้ว เราจึงเห็นระบบขนส่งมวลชนเล็ก ๆ ระบบรองเกิดขึ้น”


คือคำสรุปจากดอกเตอร์พีรียา บุญชัยพฤกษ์ นักออกแบบชุมชนเมือง ที่เพิ่งกลับจากลอนดอนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหมาด ๆ  หลังจากทำวิจัยเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างเมืองว่ามีความสามารถในการเข้าถึงอย่างไรบ้าง เธอก็ได้
คำตอบว่าทำไมการมีรถไฟฟ้าถึงไม่ช่วยให้รถหายติด

คุณจะลองกางแผนที่...ไม่ใช่สิ เปิดกูเกิลแมปส์ดูตามไปพร้อม ๆ กันก็ได้ 

“เพราะรถไฟฟ้าวิ่งอยู่แค่ถนนเส้นหลัก ๆ ของเมือง”

เธอเฉลย พร้อมอธิบายให้เห็นภาพถนนเส้นรองที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ซ้ำไม่เคยถูกจัดการให้เหมาะสมกับปัญหาที่มี คือจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางหลักเข้าไปยังตรอกซอกซอย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก

รถสามล้อคันสีฟ้าเหลืองส่งเสียงกระหึ่มเมื่อทะลุตัวเข้าไปในซอยแคบ ๆ เพื่อส่งผู้โดยสาร

“วินมอเตอร์ไซค์ รถกะป๊อ รถแดง พวกนี้เลยเกิดขึ้นเต็มไปหมดเพื่อแก้ปัญหา แต่มันไม่เคยถูกคิดเป็นระบบให้แต่ละชนิดสอดประสานกัน เราจึงไม่สามารถวางแผนชีวิตได้ แล้วก็ทำให้เราเสียพลังงานและเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์”

ความหลากหลายของตัวเลือกในการเดินทางคือข้อดี และการรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นจุดแข็งของบ้านเรา เพียงแต่ขาดการวางแผนอย่างรัดกุมและคิดให้รอบด้าน ก็เหมือนฟันเฟืองในเครื่องจักรกลที่ต่างคนต่างทำงาน และไม่อาจขับเคลื่อนเฟืองวงใหญ่ให้หมุนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขน-ส่ง

“มูฟมีมาแล้ว อยู่ย่านไหน ไปหรือกลับ เรียกมูฟมีมารับได้เลย”

สโลแกนท้ายรถตุ๊กตุ๊กคันหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็นระหว่างรอรถเมล์ หน้าตาเหมือนสามล้อไม่มีผิด รอบคันมีตุ๊กตุ่นหน้าตาเป็นมิตร แถมไม่มีเสียงอีกต่างหาก


“มูฟมี” เหรอ ทำไมเหมือนตุ๊กตุ๊กเลยล่ะ 
แต่ฉันก็คลายสงสัยเมื่อได้พบตี้-ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค เจ้าของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแบรนด์ MuvMi (มูฟมี) ร่วมกับพรรคพวกอีกสามคน คือดอกเตอร์กฤษดา กฤตยากีรณ, พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล และดอกเตอร์เมธา เจียรดิฐ 

แต่ละคนต่างทำหน้าที่ที่ตนถนัดและมีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหาร ด้านเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรม  สำหรับศุภพงษ์ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านธุรกิจมากกว่าเพื่อน ๆ เขาจึงรับหน้าที่นี้ไปดูแล


มูฟมีคือธุรกิจรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่จะรับ-ส่งคุณจากสถานีรถ
ไฟฟ้าให้ถึงที่หมายภายในย่าน ผ่านการเรียกแบบตามต้องการ (on-demand) บนแอปพลิเคชัน ทำให้เราเข้าถึงพื้นที่ที่เคยเข้าถึงยากโดยไม่ต้องมีรถส่วนตัว

ตี้ - ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค เจ้าของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าแบรนด์ MuvMi (มูฟมี)

“เป้าหมายแรกคือเราจะเสิร์ฟคนเดินทางจากบ้านไปขนส่งสาธารณะ และจากขนส่งสาธารณะไปออฟฟิศ หรือที่เรียกว่าทฤษฎี ‘ต่อแรกและต่อสุดท้าย (first and last mile)’ ด้วยรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า”

ฉันพยายามสรุปความจากที่เขารีบอธิบายให้ฟัง ฉบับเข้า
ใจง่ายที่สุด หลังจากฝ่ารถติดหน้าปากซอยอารีย์เข้ามาที่ออฟฟิศหลักบริเวณชุมชนคนสร้างสรรค์ ที่ชื่อว่า 33 สเปซ (33 Space)

บริการจากมูฟมีเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง เชื่อมต่อผู้คนจากชุมชนเข้าสู่เส้นทางหลัก และจากเส้นทางหลักกลับเข้าสู่ชุมชน กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจทำให้การเดินทางในแต่ละวันสะดุดน้อยลงและใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น


ก็เพื่อ “ขน” คนจากระบบขนส่งหลักมา “ส่ง” ยังถนนสายรองที่มีแต่ซอกซอย และ “ขน” คนจากตรอกซอกซอยไป 
“ส่ง” ที่ระบบขนส่งหลักอย่างรถไฟฟ้านั่นเอง

ต่อแรกและต่อสุดท้าย

ทำไมถึงไม่นั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามาทำงานล่ะ

คำถามที่ฉันมักถามคนรอบตัว เพราะคิดว่าถ้าทุกคนใช้บริการรถสาธารณะหมด ปัญหารถติดก็คงคลี่คลาย แต่เท่าที่สำรวจมาแท้จริงบางคนก็ไม่ได้อยากเดินทางด้วยรถส่วนตัว


ถนนหนทางไม่เป็นระเบียบ บ้านอยู่ในซอยลึก และรถสาธารณะเข้าไม่ถึงต่างหาก ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจใช้รถส่วนตัว แม้รู้ว่าขับออกจากบ้านไปอย่างไรก็เจอรถติด


“ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ใช้รถสาธารณะนะ ผมชอบขับรถ แต่การขับในกรุงเทพฯ ก็เป็นอะไรที่ทรมานมาก”


นักธุรกิจประจำแบรนด์มูฟมีเผยความในใจ เขาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองและสนใจเรื่องรถราเป็นพิเศษ จึงใช้เวลากับก๊วนเพื่อนอีกสามคนนั่งคิดหาทางออกให้ปัญหานี้ จนสร้างธุรกิจขนส่งสาธารณะขนาดย่อม (micro transit) ขึ้นมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทาง โดยใช้พาหนะที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมอย่างสามล้อตุ๊กตุ๊ก


ความคิดดีนี่

เหมือนกับที่อาจารย์พีรียากล่าวชมยานพาหนะชนิดนี้ว่าเป็นระบบการเดินทางที่มีศักยภาพสูง ด้วยเป็นรถคันเล็กเข้าตรอกซอกซอยได้ เหมาะกับเมืองเช่นกรุงเทพฯ แถมหน้าตายังดูเป็นมิตรอีกต่างหาก 

“ผมไม่ขึ้นรถไฟฟ้า เพราะไปถึงรถไฟฟ้าอาจจะง่าย แต่พอถึงปลายทางแล้วผมจะไปต่อยังไง มันไม่ต่อเนื่อง แล้วถ้าต้องเดินทางอีกสามสี่ที่ในพื้นที่นั้น ๆ ก็ไม่สะดวก สู้ขับรถไปทีเดียวเลยดีกว่า”

ส่วนฉันยังนับว่าโชคดีกว่าหลายคน แม้อยู่บ้านในซอยลึก ต่อแรกก็เพียงเดินเท้าออกมาจากซอย แค่ต้องผ่านถนนเฉอะแฉะ ทางเท้าขรุขระ และข้ามถนนไปอีกฝั่งเพื่อขึ้นรถเมล์ไปทำงาน 

แต่ก็ต้องใช้รถเมล์ถึงสองต่อด้วยกัน

Image

ตุ๊กตุ๊ก-ไฟฟ้า

แปดสิบกิโลเมตรคือระยะทางที่ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าใช้วิ่งได้ต่อการชาร์จเพียงครึ่งชั่วโมง คนขับรถอาจปล่อยให้รถชาร์จไฟระหว่างเวลาพักเที่ยงก็สามารถให้บริการต่อได้ทันที

สิ่งที่ต่างจากภาพจำของตุ๊กตุ๊กเดิมคือ เบาะที่นั่งซึ่งห้อยขาได้ไม่อึดอัดและหันหน้าเข้าหากัน และจอสั่งการที่อยู่ระหว่างพวงมาลัยของโชเฟอร์ จออัจฉริยะจะส่งข้อมูลให้คนขับเมื่อผู้โดยสารกดเรียกรถในแอปพลิเคชันบนมือถือ ผ่านหลังบ้านที่ใช้อัลกอริทึมคอยจัดการดึงข้อมูลผู้ใช้บริการจับคู่เข้าหารถคันที่ว่างและอยู่ใกล้สุด เราจึงไม่สามารถโบกตุ๊กตุ๊กคันนี้ได้เหมือนตุ๊กตุ๊กทั่วไป หรือตุ๊กตุ๊กสามล้อที่ฉันเคยนั่งสมัยเรียน


ฉันยืนอยู่ข้าง ๆ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใจกลางสามย่านหนึ่งในหกพื้นที่ให้บริการของมูฟมี  ด้วยความอยากทดลองเองสักครั้งจึงเรียกรถเพื่อไปกินข้าวแถวถนนบรรทัดทอง ซึ่งปรกติไม่มีรถประจำทางวิ่งผ่านบริเวณนั้น
รถกำลังยุ่ง (busy)

สถานะบนหน้าจอโทรศัพท์ขึ้นบอกระยะเวลาที่ใช้รอ ๓๐ นาที คำนวณราคาตามระยะทาง พร้อมระบุป้ายทะเบียนรถคันที่เราจะได้ขึ้นและแปะหน้าพลขับมาให้ตรวจสอบเรียบร้อยหลังกดเรียกรถ

นานเหมือนกันนะเนี่ย แม้จะใช้เวลา แต่ก็เป็นการรอคอยอย่างมีจุดหมาย  รถคันแล้วคันเล่าเลี้ยววนเข้ามารับผู้โดยสาร ฉันสังเกตการณ์ผู้โดยสารคนอื่น ๆ เพื่อจะทำตามระบบไม่ให้ผิดเพี้ยน

ผู้หญิงคนหนึ่งหยิบสมาร์ตโฟนออกมาสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนขึ้นรถ  เมื่อรถป้ายทะเบียน “สข 604” มาถึง ฉันทำตาม แล้วระบบก็ทำการบันทึกพร้อมส่งข้อมูล “คำสั่ง” ไปสู่หน้าจอของคนขับรถ

ข้อสังเกตอีกหนึ่งอย่างคือ ถ้าคุณกดเรียกรถแล้ว ระหว่างยืนรอมัวแต่ก้มหน้ามองจอ (ที่ไม่ใช่ดูแอปฯ มูฟมี) แม้รถจะมาจอดอยู่ตรงหน้าคุณก็จะไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้ยินเสียงรถ

ใช่แล้ว เพราะรถคันนี้เป็นระบบไฟฟ้าทั้งคันยังไงล่ะ

รถคันเล็กพาฉันเข้าซอยบริเวณจุฬาฯ เลี้ยวซ้ายที ขวาที ไม่นานก็ถึงจุดหมาย 

ตลอดระยะทางสั้น ๆ มีเพียงฉันและเพื่อนเป็นผู้โดยสาร ไม่มีผู้ใช้บริการคนไหนถูกจับคู่กับรถคันนี้อีก เราสองคนจึงนั่งแบบไม่ต้องเกรงใจใคร เหมือนตุ๊กตุ๊กแบบเดิมซึ่งไม่ต้องแบ่งที่นั่งกับใคร แต่จ่ายค่าบริการแบบรายบุคคล ไม่ใช่ราคาเหมา ไม่ต้องเสียเวลาต่อรองราคากับคนขับ แถมนั่งสบายและยังได้อารมณ์ของตุ๊กตุ๊กอยู่ด้วย

ขาลงฉันกล่าวขอบคุณคนขับรถ เขายิ้มให้อย่างสุภาพ ป้ายบนรถที่เขานำมาติดไว้ทำให้ฉันอมยิ้มไม่หาย เดาว่าคงเป็นแผ่นป้ายที่เคยติดไว้ที่ตุ๊กตุ๊กคันเก่าแน่ ๆ เหมือนเวลาเราเที่ยวอุทยานแห่งชาติแล้วเจอป้ายบอกให้กลับมาเที่ยวอีก 

...คุณขึ้นรถผมดีใจ คุณลงไปผมคิดถึง...

พร้อมให้บริการในย่านคุณ ครอบคลุมจุดสำคัญในพื้นที่และจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT เพื่อให้การเดินทางของคุณสะดวก ปลอดภัย และง่ายขึ้น !

นี่คือข้อความโฆษณาบนโบรชัวร์ที่เสียบอยู่บนรถทุกคัน ซึ่งแสดงข้อมูลเบื้องต้นที่ควรรู้เกี่ยวกับมูฟมีไว้ครบถ้วน

มูฟมีให้คำนิยามตัวเองแบบกระชับผ่านกระดาษประชา
สัมพันธ์ขนาด A5 ว่า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าวิ่งเฉพาะย่าน เรียกใช้ ผ่านแอปฯ จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ใช้ระบบแชร์ริง ทางเดียวกันไปด้วยกัน พร้อมแผนที่ในย่านที่ให้บริการ ปัจจุบันมีทั้งหมดห้าย่าน คือ จุฬาฯ-สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์, อโศก-นานา, เกาะรัตนโกสินทร์ และพหลโยธิน-เกษตรเป็นที่ล่าสุด

กรุงเทพฯ มีข้อดีและข้อเสียมากมาย ถ้าหนึ่งในนั้นคือปัญหาการเดินทาง หากร่วมกันแก้ไขได้ก็เป็นเมืองที่น่าอยู่ไม่น้อย การเดินทางแลกมาด้วยเวลาและค่าใช้จ่าย มูฟมีเลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาระการเดินทางของผู้โดยสารในเขตเมืองหนาแน่น

ชีวิตสามล้อ

แสงแดดยามสายเริ่มแผ่ความร้อน ดีที่มีลมพัดเอื่อย ๆ เพราะอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้ฉันมีนัดกับ สมศักดิ์ วิรัชนีกรพันธ์ พนักงานขับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าของมูฟมีประจำย่านเกาะรัตนโกสินทร์

เมื่อถึงเวลานัด เขาตีโค้งเข้ามาในลานจอดรถท่ามหาราชอย่างชำนาญการ ฉันยืนรออยู่ก่อนแล้ว

“สวัสดีครับ ขึ้นมาเลยครับ แต่เดี๋ยวผมขอชาร์จไฟสักครู่” พนักงานขับรถในชุดเครื่องแบบสีฟ้าทักทายด้วยน้ำเสียงกันเอง พร้อมจอดเทียบข้าง ๆ แท่นชาร์จไฟ พลางเช็ดทำความสะอาดเบาะนั่งและเริ่มคุยกับฉัน

“สมัยก่อนผมก็ขับตุ๊กตุ๊กทั่วไปนี่แหละ แต่งรถซะสวยงามไว้รับต่างชาติ พอไม่มีพวกเขาก็จบเลย”

สมศักดิ์อวดภาพสามล้อคันเก่งที่จอดทิ้งไว้ที่อู่แถวประดิพัทธ์ เขาร่ายเส้นทางชีวิตตัวเองตั้งแต่ทำอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ ขับรถตุ๊กตุ๊ก จนมาถึงพนักงานขับรถของมูฟมี ด้วยการชักชวนของเพื่อนพ้องแก๊งสามล้อด้วยกันในวันที่โควิด-๑๙ พรากนักท่องเที่ยวไป

อาชีพหาเช้ากินค่ำอย่างสมศักดิ์อยู่กับรถตุ๊กตุ๊กคู่ใจมากว่า ๑๐ ปี เขาเชี่ยวชาญถนนหนทางแบบคนในพื้นที่ เมื่อมาเป็นพนักงานขับรถที่บริษัทจึงงัดทักษะวิชาดั้งเดิมมาใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อบริการลูกค้าให้ประทับใจ

“ตอนนั้นไปส่งลูกค้าแถวเยาวราช ผมออกซ้ายวิ่งถนนมหาชัย ออกถนนบำรุงเมือง วิ่งไปถึงสวนมะลิ เลี้ยวเข้าซอยจนไปโผล่โรงพยาบาลกลาง เข้าซอยข้างป่อเต็กตึ๊ง ทะลุออกวัดมังกรฯ ข้างหลัง ถึงเลย”

สมศักดิ์คุยอย่างออกรสถึงความถนัดของตัวเอง เขามีแผนที่เกาะรัตนโกสินทร์อยู่ในหัว และแทบไม่ต้องพึ่งพาระบบนำทางอย่างจีพีเอส บวกกับการวิ่งบนเส้นทางที่ไม่ประจำทางเขาจึงบริหารทักษะได้เต็มที่

ชายคนนี้อาจไม่ใช่คนนุ่มนวลนัก แต่แน่นอนว่าการบริการของเขาประทับใจผู้โดยสารทุกรูปแบบ จนบางเดือนได้ขึ้นแท่นเป็นขวัญใจนักศึกษา จากคะแนนรีวิวการใช้บริการบนแอปพลิเคชันด้วย

“ก็คิดว่าคงทำจนไม่ไหว ถ้าบริษัทไม่ไล่ออกนะ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เราไม่ต้องขับแบบสมัยก่อนที่ต้องหาลูกค้าเอง มันเครียดนะ บางทีวน ๒ ชั่วโมงยังไม่ได้คนเลย วิ่งแป๊บเดียวแก๊สก็หมด”

สมศักดิ์ในวัย ๕๕ ปียังคงเวียนกลับมาขับตุ๊กตุ๊กแบบดั้งเดิมช่วงหลังเลิกงานหรือวันหยุด เหมือนพนักงานบางคนที่ออกมาขับสามล้อคู่ใจคันเดิมทั้งที่ยังสวมเสื้อพนักงานมูฟมี

เมื่อบอกลากันเขาหันหลังกลับ รูปยิ้มด้านหลังเสื้อส่งมาให้ฉัน แล้วฉันก็ยิ้มตอบ

scrollable-image
Image

ก่อนสตาร์ตรถ

สาธารณะ (ว.) หมายถึง เพื่อประชาชนทั่วไป เพื่อคนส่วนรวม

เดิมมูฟมีตั้งต้นผลิตฮาร์ดแวร์รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าด้วยตัวเอง แต่เมื่อคิดจะทำรถขนส่งสาธารณะ ทีมงานจึงต้องเลือกใช้ผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจ 


“เพราะเรามองว่าถ้าจะทำรถสาธารณะความปลอดภัยต้องมาอันดับ ๑  พอเราต้องผลิตจำนวนเยอะจึงต้องใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญ”


สิทธิ์การผลิตและประกอบรถจึงตกเป็นของโรงงานผลิต
ชิ้นส่วนและรับจ้างประกอบรถที่อยู่ในวงการมานานอย่างบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผู้จัดการอย่าง วงศ์วริศ เผอิญโชค ทายาทรุ่นที่ ๓ เป็นผู้ดูแล

วงศ์วริศในชุดเครื่องแบบพนักงานเสื้อโปโลสีขาวสะอาดปักชื่อบริษัท และสวมหมวกนิรภัยสีเหลืองสด เดินออกมาต้อนรับ เขาพร้อมแล้วที่จะพาฉันท่องสายพานผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 

พนักงานสองคนยืนประจำการอยู่ที่สถานีประกอบรถ ตุ๊กตุ๊กสีขาวที่ยังประกอบไม่เสร็จเรียงกันอยู่สี่ห้าคัน เผยให้เห็นโครงสร้างด้านใน ทุกอย่างดูโล่งสะอาดตา ด้านหลังรถบรรจุแบตเตอรี่ลิเทียมขนาด ๗ กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) รองรับระบบชาร์จไวหรือ fast charge ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการขับเคลื่อนรถไฟฟ้า

เหมือนกับบริษัทสมาร์ตโฟนสมัยนี้ที่ต่างพัฒนาเทคโนโลยีให้ชาร์จแบตเตอรี่เร็วขึ้นเพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการชาร์จรถต่อครั้ง

“การที่เป็นรถไฟฟ้าทำให้ชิ้นส่วนน้อยลงทำให้มีพื้นที่มากขึ้นเหมาะสมแก่การใช้งาน ขึ้นลงสะดวก ไม่อึดอัด แล้วก็จุคนได้มากขึ้น”

ผู้จัดการหนุ่มเล่าประโยชน์ของยานพาหนะไฟฟ้า (electric vehicle, EV) ที่ไม่เพียงดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลภาวะบนท้องถนน แต่ยังปลดล็อกความเป็นไปได้ต่าง ๆ เช่น ออกแบบที่นั่งให้กว้างขวางขึ้น พื้นรถต่ำลงเพื่อขึ้นลงสะดวก ระบบหลังบ้านที่สามารถควบคุมรถได้

ข้อดีอีกอย่างของการเป็นระบบไฟฟ้าคือสามารถติดตามรถทุกคันได้ว่าคนขับรถอยู่ที่ไหน กำลังไปทางไหน หรือแม้แต่รถต้องการอะไร เช่น แบตเตอรี่ต่ำต้องชาร์จไฟ รถเริ่มมีปัญหาต้องส่งซ่อมบำรุง

ที่สำคัญคือติดตามตำแหน่งของผู้ใช้บริการเพื่อให้อัลกอริทึมจับคู่กับรถที่อยู่ใกล้ที่สุด

“เพราะแบบนี้เราจึงออกแบบเส้นทางวิ่งให้บริการได้ โดยคำนึงถึงระยะเวลาเดินทางเป็นสำคัญ”

อืม...ความสะดวกรวดเร็วนี่ละที่คนเมืองต้องการ ไม่มีใครอยากเสียเวลานาน ๆ กับการเดินทางหรอก

ด้วยราคาภาษีเนื่องจากไม่มีนโยบายภาครัฐสนับสนุน จึงทำให้หมวดรถไฟฟ้ายังมีราคาสูง แม้จะคุ้มค่าในระยะยาว แต่ก็ยังเป็นกำแพงให้หลายคน รวมถึงผู้ให้บริการรถขนส่งมวลชนไม่กล้าตัดสินใจเลือกใช้

ทั้งที่จริงก็มีหลักฐานชัดเจนว่า ดีต่อทั้งผู้ให้บริการเองและผู้ใช้บริการซึ่งเป็นคนหมู่มากในประเทศอีกด้วย

Image
Image

Image

แจม-วงศ์วริศ เผอิญโชค ทายาทรุ่นที่ ๓ ผู้ดูแลโรงงานผลิตชิ้นส่วนและรับจ้างประกอบรถอายุมากที่อยู่ในวงการมานานอย่างบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน)

Image

โลดแล่นบนท้องถนน

ฉันคือหนึ่งในคนที่ไม่ชอบใช้วันหยุดไปกับการเดินห้างสรรพสินค้า แต่มักจะออกไปหาอะไรกินหรือหากิจกรรมทำแถวบ้านให้เกิดการใช้จ่ายภายในชุมชนและเงินไม่ได้ไปลงอยู่ที่นายทุนอย่างเดียว

เชื่อว่าหลายคนคงคิดคล้าย ๆ กัน...แต่แค่ทางเลือกมันน้อยเหลือเกิน


ฉันไม่ได้ต้องการรถส่วนตัว ฉันเพียงต้องการพาหนะที่สะดวกพร้อมให้ฉันได้เคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ที่อยากไป ในเวลาและราคาที่เหมาะสมเท่านั้นเอง


“มูฟมีเชื่อว่ารูปแบบการเดินทางที่เมืองควรจะเป็นต้องเป็น multi-mode คือมีการเดินทางหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่อย่างใด
อย่างหนึ่ง” 

ฉันยังจำคำที่ผู้ร่วมก่อตั้งมูฟมีกล่าวไว้ได้แม่น


เพราะความหมายของเมืองคือความหลากหลาย ก็เหมือนป่าที่ต้องการความหลากหลายทางธรรมชาติที่ทำให้ป่า
อุดมสมบูรณ์และมีชีวิตชีวาที่สุด ทุกชีวิตต่างทำหน้าที่ของตัวเอง แต่สอดประสานอย่างเป็นระบบ เมืองก็เช่นกัน

“การทำให้เมืองหนาแน่นน้อยลงไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แต่การบริหารจัดการ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิ
ภาพและเหมาะสมกับปริมาณคนที่อยู่ด้วยมากกว่าคือความสมดุล”

คำว่าชุมชนเมืองคือจุดศูนย์รวมของทุกสิ่งอย่าง ความหนาแน่นจึงเป็นภาพของความเป็นเมือง


“ระบบขนส่งมวลชนทุกวันนี้ตอบสนองต่อโครงสร้างที่เรามีไม่ว่าจะเป็นระบบเล็ก ๆ ทั้งหลายที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในเมืองได้ ตราบใดที่เรายังไม่ได้ปรับโครงสร้างของเมืองระบบพวกนี้ก็ยังจำเป็น”


ลองคิดดูว่าชาวต่างชาติยังมองว่าบ้านเมืองเรามีเสน่ห์
ใครมาเที่ยวเมืองไทยร้อยละ ๙๐ อยากสัมผัสประสบการณ์บนตุ๊กตุ๊กทั้งนั้น แต่ร้อยละ ๑๐๐ ที่เคยขึ้นก็จะก่นด่า นี่เป็นเครื่องหมายคอยย้ำเตือนว่าอะไรที่เรามีมันดีอยู่แล้วและสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดได้ดี เพียงต้องเพิ่มคุณภาพบริหารจัดการอีกสักหน่อย

หนังสือ Happy City เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง 
โดย ชาร์ลส์ มอนต์โกเมอรี ถูกปิดลง ฉันลุกไปกดกริ่งรถเมล์เพื่อเตรียมลงป้ายถัดไป

ขณะทั่วโลกพยายามพัฒนาบ้านเมืองให้สามารถเข้าถึงที่ต่าง ๆ ได้ในเวลาอันสั้น เช่นเดียวกับปารีสที่พยายามพลิก
โฉมเมืองเข้าสู่ “เมือง ๑๕ นาที” ทำให้เดินทางไปยังสถานที่ที่จำเป็นภายใน ๑๕ นาที

มูฟมีก็กำลังเสนอทางเลือกเพื่อช่วยเชื่อมต่อให้คนเมืองได้สัมผัสการเดินทางที่ดีกว่าเดิม


สำหรับฉัน ถ้าการเดินทางสะดวกสบายเหมือนดังที่ชาร์ลส์เขียนเล่าในบท “เมืองเคลื่อนที่สะดวก ๑” และ “เมืองเคลื่อนที่สะดวก ๒” แล้ว รถส่วนตัวคงไม่จำเป็นเท่าไรสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง


และกรุงเทพฯ ก็คงเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกเป็นกองเลยละ

Image

สัมภาษณ์
- ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ 
ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค 
(๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔)
- วงศ์วริศ เผอิญโชค 
ผู้จัดการบริษัทไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) 
(๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔)
-  สมศักดิ์ วิรัชนีกรพันธ์ 
พนักงานขับรถ MuvMi 
(๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔)
-  ดอกเตอร์พีรียา บุญชัยพฤกษ์ 
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  (๖ มีนาคม ๒๕๖๔)

เอกสารประกอบการเขียน

มอนต์โกเมอรี, ชาร์ลส์. Happy City. กรุงเทพฯ : broccoli, ๒๕๖๒.
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์, ณัฐชานันท์ กล้าหาญ และ ณัฐกานต์ อมาตยกุล.
กรุงเทพฯ : ขนส่งทำมือ. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, ๒๕๕๙.

Image