Image
จากอู่ฮั่นถึงนครปฐม
แพทย์แผนจีนและสมุนไพร
ในสถานการณ์โควิด-๑๙
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง 
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์ 
ตอนโควิด-๑๙ อุบัติขึ้นครั้งแรกในโลก ปวันรัตน์ ทัพธวัช กำลังเรียนปริญญาโทการแพทย์แผนจีนอยู่ที่มหาวิทยาลัยหูเป่ย์ เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน  เธอน่าจะเป็นคนไทยกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รู้จักโรคโควิด-๑๙ อย่างใกล้ชิดจากการได้ช่วยงานอาจารย์ที่ร่วมอยู่ในทีมหมอรักษาในเมืองอู่ฮั่น ในระหว่างนั้นเธอป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดพร้อมกับกินยาสมุนไพรของพ่อที่เป็นยาเสริมภูมิ รักษาไข้ ปรับสมดุลให้ร่างกาย ตามที่บรรพบุรุษเคยใช้และพ่อจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่มาให้ช่วยรักษา
ไข้มานานแล้ว

ประทับ ทัพธวัช หมอจีนแผนโบราณกับลูกๆ ทั้งสามที่เรียนจบการแพทย์แผนจีนจากเมืองอู่ฮั่น ร่วมกันพัฒนาต่อยอดตำรับยาดั้งเดิมของครอบครัวให้เท่าทันกับโรคระบาดอุบัติใหม่  ตอนนี้ทุกคนในคลินิกยังไม่มีใครฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙  ไม่ใช่ดื้อหรือท้าทายแต่มั่นใจในยาสมุนไพรที่ใช้กินเสริมภูมิ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครป่วยติดเชื้อ ทั้งที่ให้บริการตรวจรักษาคนไข้ต่อเนื่องอยู่ทุกวันนับแต่โควิดระบาดขึ้นมา
Image
Image
กระบวนการรักษาของคลินิกการแพทย์แผนจีนจะเริ่มจากตรวจ
วินิจฉัยโรคด้วยการ “แมะ” แบบหมอจีน ซึ่งมีหมอประทับ เป็นที่ปรึกษา เขาไม่ได้ดำเนินการรักษาด้วยตัวเองเนื่องจากเป็นหมอ
แผนโบราณที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ  จากนั้นเข้าสู่
กระบวนการรักษาตามแบบแพทย์แผนจีนโบราณ ด้วยการฝังเข็ม ครอบแก้ว การขูดกวาซา นวดทุยหนา และรับยาสมุนไพรไปกินที่บ้าน พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับสูตรอาหารที่มีสรรพคุณเป็นยาและพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ป่วย

ช่วงวัยรุ่นเขาเคยเกเรจนอยู่บ้านที่นครปฐมไม่ได้ ระเหเร่ร่อนไปทำงานอยู่ในอู่ซ่อมรถที่โคราช จากที่นั่นเขาได้รู้เรื่องหมอแผนจีนในขบวนปฏิวัติประชาชนในป่าเขาแถวอีสานใต้จากเพื่อนคนหนึ่งในอู่แห่งนั้น ทำให้เขาตัดสินใจ “เข้าป่า” ไปเรียนเรื่องนี้ จนตรวจคนไข้เป็นและฝังเข็มรักษาได้ ทำงานมวลชนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยเป็นหมอตามหมู่บ้านเพื่อหาข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม จน “ป่าแตก” ขบวนการปฏิวัติล่มสลาย เขาจึงได้คืนกลับบ้านเกิด

“ได้ความรู้เรื่องการรักษาคนไข้เอามาผสมกับความรู้เรื่องยาของอาแปะที่หนีทหารมาจากเมืองจีน กับตำรายาของอากู๋ น้องชายแม่ แต่หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตทำธุรกิจอยู่อีกนาน”


จนลูกสาวลูกชายสามคนเริ่มเป็นวัยรุ่น


“ลูกเริ่มโต เรานึกย้อนถึงอดีตว่าตัวเองเคยเป็นคนเกเร สร้างเวรสร้างกรรมไว้มาก กลัวมันย้อนกลับมาหาครอบครัว เราจะทำอย่างไร สวดมนต์ก็แล้วอะไรก็แล้ว มันก็ยังไม่หายไปไหน จนในที่สุดก็ตัดสินใจว่าเอาความรู้เดิมมาช่วยรักษาคนคิดว่าบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือบุญที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาจหักล้างเวรกรรมเก่าไม่ได้ แต่ไม่เพิ่มเวรกรรมใหม่ และเชื่อว่าการคิดดี
ทำดีสามารถเปลี่ยนพรหมลิขิตได้”

เขาเริ่มเปิดรับรักษาคนไข้เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนแบบ
หมอยาพื้นบ้านด้วยยาสมุนไพรแผนจีน ใช้ชื่อ ซิ่งจาน ตามแซ่สายตระกูลบรรพบุรุษ  ช่วงนั้นลูก ๆ เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา เมื่อจบ ม. ปลาย ลูกสาวคนโตก็เข้าเรียนด้านสาธารณสุข สาขาแพทย์แผนจีน ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

“เราอยากเรียนในสายที่เหมือนกับที่พ่อทำอยู่ ต่อมา
มีพระแนะนำว่าถ้าสู้ไหวให้ไปเรียนที่จีนโดยตรงเลย” หมอป้ายหรือปวันรัตน์เล่าเส้นทางของเธอ

“ไปเรียนภาษาจีนอยู่ ๖ เดือน แล้วเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหูเป่ย์ ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ คณะการแพทย์แผนจีน หลักสูตร ๕ ปี เรียนเป็นภาษาจีน เพื่อนร่วมชั้นเรียนส่วนใหญ่เป็นคนฮ่องกง ไต้หวัน มีคนไทยสามคน ฝรั่งก็มี  เมื่อน้อง ๆ จบ ม. ๖ ก็ตามมาเรียนด้วย”

“มีพี่สาวเรียนอยู่ก่อน เราตามไปก็สบาย  เรียนปริญญาตรีคณะเดียวกันทั้งสามคน แยกสาขากันตอนปริญญาโท ที่จีนถ้าสอบผ่านใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะจะทำได้หมดทั้งตรวจ นวด ฝังเข็ม ทำยา” หมอปาล์ม-คุณานนทน์ น้องคนกลาง และหมอป่าน-หทัยทิพย์ น้องคนเล็ก เล่าเรื่องตัวเอง

หลังเรียนจบปริญญาตรีหมอป้ายยื่นขอทุนของรัฐบาลจีนที่ให้กับนักศึกษาจากทั่วโลกไม่ต้องใช้คืน เรียนต่อหลักสูตรปริญญาโทอีก ๒ ปี

ช่วงปีสุดท้ายของการเรียนปริญญาโท ขณะฝึกงานในโรงพยาบาลก็ได้ข่าวมีคนป่วยปอดอักเสบเฉียบพลัน

“เริ่มได้ยินข่าวมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ ว่ามีการติดเชื้อในระบบหายใจ แต่ระบาดหนักต้นปี ๒๕๖๓ หลังปีใหม่เริ่มฝึกงานที่โรงพยาบาลได้ ๒-๓ สัปดาห์ อาจารย์ที่ปรึกษาที่เป็นหัวหน้าแผนกให้เรากลับไป ‘กักตัว’ ที่มหาวิทยาลัย ตอนแรกยังไม่เข้าใจคำนี้ แต่เริ่มเห็นคนตามท้องถนนน้อยลง พอสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่น ห้ามเคลื่อนย้าย ช่วงนั้นเราไม่ได้ออกไปไหนเลย

“เราอยู่ตรงจุดนั้นพอดีเลยทันเหตุการณ์” หมอป้ายพูดถึงประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตของเธอในสถานการณ์อุบัติใหม่ในโลก

“เราเป็นนักศึกษาฝึกงาน ตอนแรกอาจารย์ให้ไปช่วยเรื่องเอกสาร การใช้ยา หมอที่เข้าไปช่วยรักษาจริง ๆ เป็นหมอเฉพาะทางที่เป็นอาจารย์ของเรา พอความเสี่ยงสูงอาจารย์ก็ไม่ให้ลูกศิษย์มาโรงพยาบาลแล้ว”
ชาวบ้านที่รู้จักเรียกพ่อของเธอว่าหมอทับ แม้หากถือตามระเบียบกฎเกณฑ์ของทางการไม่อาจนับว่าเขาเป็นหมอ และเขาก็ไม่เคยบอกว่าตนเป็นหมอ ประทับ ทัพธวัช บอกว่าเขาแค่อยากช่วยคนเพื่อไถ่ถอนความผิดบาปที่เคยก่อไว้
แต่ในช่วงนั้นเธอก็ยังมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์เรื่องการรักษาและยาสมุนไพร  

“พอเชื้อลงปอดยาแผนปัจจุบันไม่สามารถทำให้ปอดกลับมาเป็นปรกติได้ แต่เขาจะใช้ยาจีนช่วยบำรุงขับพิษ
ให้ปอดกลับมาทำงานได้ตามปรกติ  การแพทย์ของจีนเขาใช้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนจีนร่วมกัน รอบ ๆ มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยร้านต้มยา ร้านขายยาสมุนไพร รักษาในโรงพยาบาลก็กินสมุนไพรได้ ต่างจากบ้านเราที่แยกขาดจากกัน”

กระทั่งรัฐบาลสั่งให้อพยพกลับประเทศ หมอป้าย
เป็น ๑ ใน ๑๓๘ คนไทยที่ได้มากักตัวที่ชลบุรี ก่อนได้กลับภูมิลำเนาโดยก่อนนั้นหมอปาล์มเรียนจบปริญญาตรีการแพทย์แผนจีนจากมหาวิทยาลัยหูเป่ย์ กลับมาสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ เปิดคลินิกแพทย์แผนจีนซิ่งจาน อยู่ที่ทับหลวง นครปฐม บ้านเกิดของพ่อ และหมอป่านที่กำลังจะเรียนจบปริญญาโทก็กลับมาติดสถานการณ์โควิด-๑๙ อยู่ที่บ้าน ได้ช่วยกันทำคลินิก รับตรวจวินิจฉัยไข้ด้วยการแมะตามแบบแผนของหมอจีน ฝังเข็ม ครอบแก้ว การขูดกวาซา นวดทุยหนา ที่เป็นการรักษาของแพทย์แผนจีนโบราณ และรับยาสมุนไพรไปกินที่บ้าน  รวมทั้งแนะสูตรอาหารปั่นกลับไปทำกินเอง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่มีสรรพคุณเป็นยา และพฤติกรรมที่ทำให้ป่วย 

“พวกเราลูก ๆ เป็นหมอแผนจีนยุคใหม่ พ่อเป็นหมอแผนจีนโบราณ ก็เอาความรู้มาประยุกต์เข้ากันเป็นตำรับยา” หมอป้ายเล่าที่มาของยาหลักที่ใช้ในคลินิกตอนนี้


“ปรกติช่วงฤดูฝนชนหนาวไวรัสหวัดมาทุกปี แต่ปีสองปีมานี้เหมือนทุกอาการเป็นโควิด-๑๙ หมด เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ เรื่องยาเราก็ย้อนไปหายาที่กินป้องกันและรักษาหวัด” ปราชญ์ชาวบ้านที่ใคร ๆ มัก
เรียกเขาว่าหมอทับ เล่าถึงการปรุงยาที่เขาทำร่วมกับลูกทั้งสามคนที่จบแพทย์แผนจีนจากมหาวิทยาลัยหูเป่ย์ “เราบอกพื้นฐานของพ่อจากโบราณว่ารักษากันมาอย่างไร ให้เทียบกับยาจีนที่เขาเรียนมา อย่างจีนเรียกอะไรก็แล้วแต่ เรารู้ว่าคือชะเอม ก็เอามาใช้  ยาตัวนี้จีนเรียกชื่อหนึ่ง แต่ไทยคือกระวาน เราก็เอามาใช้ จากตำรับจีน แต่มาใช้ยาไทย” 

“อย่างในตำราจีนเรียกเจียง ที่บ้านเราคือขิง ในห้าตำรับที่เราเอามารวมกันเป็นชุดสร้างภูมิ รักษาระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจได้ทั้งระบบ” หมอลูกสาวคนโตช่วยเสริม 


และเล่าถึงรายละเอียดของยาทั้งห้าตำรับที่รวมกันเป็นชุดยาหลักของคลินิกซิ่งจานว่า

๑. ขับเสมหะ บำรุงปอด แก้ไอ เจ็บคอ
๒. กษัยปอด ขับร้อนในปอด
๓. กระจายลม แก้ปัญหาระบบทางเดินอาหาร กระเพาะ ลำไส้ ม้าม ปรับสมดุลทางเดินอาหาร
๔. ปรับธาตุ ประสานระบบภายในให้เข้าที่ สรรพคุณทางสงบจิตใจ ผ่อนคลายความวิตกกังวล กระตุ้นการไหลเวียนเลือดลม
๕. ป้องกันไวรัส ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดอักเสบ แก้ไข้ตัวร้อน 

“ทั้งห้าเป็นตำรับยาจีน รักษาอวัยวะภายในทั้งห้า ปอด ตับ ไต หัวใจ ม้าม ที่ใช้มานานแล้ว แยกจ่ายตามอาการ เป็นอย่างไรกินตามนั้น  เรามาปรับประยุกต์เข้ากับแพทย์แผนจีน  คิดด้วยกันกับพี่น้องและคุณพ่อ เอาความรู้มาปรึกษากัน”
“เดิมเป็นยาเสริมภูมิดูแลร่างกายโดยทั่วไป หลังมีโควิด-๑๙ หมอลูกชายเอายาพวกนี้ไปทำเป็นตำรับยา ชงดื่มและแคปซูล ทำข้อบ่งใช้ไว้เป็นสี่ขั้น ป้องกัน อยู่ในกลุ่มเสี่ยงตรวจพบเชื้อ เชื้อลงปอด  แต่ละขั้นใช้การเพิ่มมื้อยา” หมอทับเล่าย้อนการผ่านยุคจากยาจีนแผนโบราณมาสู่สมุนไพรจีนยุคใหม่ในรุ่นลูก

“กินมาก่อนโควิด-๑๙ ระบาด ช่วงไปเรียนที่จีนติดยาของที่บ้านไปด้วย อยู่ที่โน่นก็กินตลอด แบ่งให้เพื่อน
ต่างชาติกินด้วย ไม่มีใครติดโควิด-๑๙  กลับมาบอกที่บ้านว่ายาชุดนี้ดีมาก ครอบครัวเราห้าคน ทีมงานห้าคน กินมาตลอดตั้งแต่มีโรคระบาดระลอกแรก” หมอป้ายเล่าสลับกับพ่อ น้องชาย และน้องสาว

“แรก ๆ เราใช้กันเอง แล้วรู้กันในกลุ่มคนไข้  ในบรรดาคนไข้ของคลินิก ๓๐๐-๔๐๐ คน อย่างน้อยครึ่งหนึ่งกินยาสร้างภูมิอยู่ด้วยเพื่อป้องกัน  คลินิกเราเปิดตลอด คนไข้ที่มารักษาเป็นประจำต้องกินยาสร้างภูมิเพื่อป้องกันตัวเอง บางคนจ่ายไม่ไหวก็แล้วแต่เขาบริจาค สำหรับคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-๑๙ นำประวัติ
หลักฐานมาแสดงเราแจกยาให้ฟรี ช่วง ๓-๔ เดือนมานี้ เราแจกจ่ายไปหลายร้อยชุดแล้ว”

“ผู้จัดการโรงงานแถวนี้จะชอบมาซื้อไปแจกลูกน้อง
ถ้ามีคนติด โรงงานถูกปิด ให้คนงานกินป้องกันไว้ดีกว่า” คุณแม่ของบ้านทัพธวัชตั้งข้อสังเกตขณะที่เจน สาวโรงงานย่านนครปฐม วัย ๔๕ ปี มาหายาด้วยตัวเอง 
“ปรกติช่วงฤดูฝนชนหนาวไวรัสหวัดมาทุกปี แต่ปีสองปีมานี้เหมือนทุกอาการเป็นโควิดหมด เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ เรื่องยา เราก็ย้อนไปหายาที่กินป้องกันและรักษาหวัด” ประทับ ทัพธวัช
สมุนไพรชุดเสริมภูมิห้าตำรับกับน้ำเอนไซม์ ที่เจ้าตำรับมั่นใจว่าช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสในกลุ่มโรคหวัดได้ ทั้งยืนยันว่าสมาชิกในคลินิก คนไข้หลายร้อยคนรวมถึงญาติพี่น้อง รอดพ้นจากโควิดมาได้ด้วยสมุนไพรชุดนี้
“วันนี้มาซื้อยาสร้างภูมิป้องกันโควิด-๑๙ ชุดละ ๕๓๐ บาท เป็นยาห้าตำรับ กับน้ำเอนไซม์ รวมหกอย่าง กินเพื่อป้องกันวันละครั้งช่วงก่อน ๖ โมงเช้า  ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มไปแล้วสองเข็ม แต่เราเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กินมาสองชุดแล้ว เคยสัมผัสเพื่อนในโรงงานด้วยกันที่เป็น แต่เราไม่เป็น เลยกินต่อ” 

ร้อยตำรวจเอก ธีระพงษ์ ยอดสกุล รองสารวัตรฯ จากกาญจนบุรีเป็นอีกรายที่มารับยาในวันนั้น “กินรักษาเกาต์มา ๒ ปี เสริมภูมิไปด้วย พอมีสถานการณ์โควิด-๑๙ ญาติป่วยไปแล้ว ผมยังไม่ฉีดวัคซีนก็ไม่ป่วย”


“เราพูดไม่ได้ว่าเป็นยารักษาโควิด-๑๙ จะเข้าข่ายการโฆษณา ผิดระเบียบสาธารณสุข” หมอคลินิกแพทย์แผนจีนซิ่งจานพูดเป็นเสียงเดียวกัน “พูดได้แค่ว่าป้องกันปอดติดเชื้อ ใช้เสริมภูมิคุ้มกัน”


ทั้งที่เขามั่นใจ สมาชิก ๑๐ กว่าคนในคลินิกแพทย์แผนจีนซิ่งจานยังไม่มีใครรับวัคซีน และมีคนไข้หมุน
เวียนเข้ามารักษาวันละหลายสิบคน ยังไม่มีใครป่วยด้วยโรคโควิด-๑๙

“ใช้ได้ทั้งป้องกันและรักษา ถ้าภูมิคุ้มกันแข็งแรงโอกาสติดเชื้อจะน้อย เราเน้นเรื่องฆ่าเชื้อ อาหาร กับพฤติกรรมในชีวิต”


คลินิกแพทย์แผนจีนซิ่งจานเปิดรับรักษาคนไข้แบบไป-กลับ ตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันศุกร์ โดยไม่ได้เรียกเก็บค่าตรวจ ค่าบริการทางการแพทย์จีน การนวด และฝังเข็ม
ตามแต่คนไข้จะบริจาค คิดเฉพาะค่ายาซึ่งมีต้นทุน

ตามเจตนารมณ์ของหมอทับที่เชื่อว่า สร้างเจดีย์เท่าภูเขาก็เป็นบุญยิ่งใหญ่ไม่เท่าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์


ในวันที่โลกยังไม่มีคำตอบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรื่องยารักษาโรคโควิด-๑๙  สมุนไพรแผนจีนก็ยังเป็นทางเลือกแห่งความหวังหนึ่ง


และหมอแผนจีนจากมหาวิทยาลัยหูเป่ย์ เมืองอู่ฮั่นยังหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้ายาแผนใหม่และยาสมุนไพรจะมีโอกาสได้ใช้ร่วมกันในโรงพยาบาลอย่างเท่าเทียม


“ถ้าประยุกต์รักษาเข้าด้วยกันได้จะดีมาก ไปตรวจแผนปัจจุบัน แต่คนไข้สามารถเลือกใช้ยาของแพทย์ทางเลือกได้” 


หากรักษาร่วมกันได้ทางเลือกของคนไข้ก็
จะมากขึ้น