เรือนกาย
ลมหายใจ
และสายใยเกาะเกิด
เรื่องและภาพ : เยาวชนค่ายสารคดี ๑๖
ที่มาของชื่อตำบล “เกาะเกิด” อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีว่าดินตะกอนถูกซัดพามาทับถมกัน เกิดเป็นเกาะกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา // หากจะเปรียบชุมชนก็เหมือนร่างกาย จะสมบูรณ์แข็งแรงได้ต้องอาศัยความสัมพันธ์ในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ชุมชนเองจะเข้มแข็งได้ก็ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน // ในช่วงเวลาที่ร่างกายของ ลำพูน พรรณไวย อ่อนแอนั้น การรวมกลุ่มพัฒนาชุมชนเกาะเกิดหยุดชะงักไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของทุกอย่างก็เกิดขึ้น // นั่นก็คือยาลูกกลอนสมุนไพร
การบริหารกล้ามเนื้อด้วยท่ากรรเชียงโดยใช้อุปกรณ์จากไม้ตาล ซึ่งประยุกต์ต่อยอดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน
หัวใจ
“ยาสมุนไพรคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง”
ลำพูน ผู้ก่อตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์สมุนไพรอายุวัฒนะ ในวัย ๗๑ ปี กล่าว
ช่วงที่ลำพูนขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้านชุมชนเกาะเกิด เธอพยายามรวมกลุ่มคนในชุมชนทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการขายขนม แต่สุดท้ายก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะไม่สามารถแบกภาระทางต้นทุนได้ ซ้ำอาการป่วยภูมิแพ้ที่กำเริบทำให้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่หนักหน่วงของลำพูน
แต่แล้วในปี ๒๕๔๐ ลำพูนและลูกสาวที่เรียนมาทางแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้ทดลองทำยาลูกกลอนจากสมุนไพรพื้นบ้าน ล้มเหลวไปเก้าครั้ง และใช้เวลา ๑๐ ปีในการต่อสู้เพื่อขอใบอนุญาต จนมาสำเร็จในปี ๒๕๔๙
“ป่วยจนต้องใส่ออกซิเจน คุณแม่จึงไปเปิดตำรายาโบราณของตาทวดมาทำให้กิน ต่อมาเมื่อลูกสาวเรียนจบแพทย์แผนไทยก็มาพัฒนาต่อ” ลำพูนเล่าให้ฟังถึงที่มาของยาลูกกลอนสมุนไพรที่ช่วยรักษาเธอหายจากโรคที่ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยแววตาภาคภูมิใจ
เธอชวนพี่น้องในครอบครัวมาทำงานสมุนไพร ขายดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ต้องนำยาไปขาย ไปให้คนรู้จัก หลังจากนั้นก็เริ่มรวมกลุ่มคนต่างหมู่บ้านที่เคยล้มเหลวด้วยกันมาทำยาสมุนไพร
ปี ๒๕๔๖ รายการ “เกมทศกัณฐ์” มาถ่ายทำขั้นตอนการนึ่งและบดสมุนไพร พร้อมทั้งสรรพคุณสุดพิเศษ เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังจากนั้นก็มีคนโทรศัพท์มาไม่ขาดสาย
ผู้คนเริ่มมองเห็นชุมชนเล็ก ๆ แสนสงบริมแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเปลี่ยนของชุมชนเกาะเกิดจึงเกิดขึ้น
อาจดูเป็นเรื่องบังเอิญที่ยาลูกกลอนสมุนไพรตัวเดียวจะทำให้ร่างกายของลำพูนแข็งแรงขึ้นได้ และไม่น่าเชื่อว่ายาลูกกลอน สมุนไพรนี้จะเปลี่ยนความเป็นอยู่และสร้างความร่วมมือของผู้คน
แสงสีทองพาดแหวกความมืดสนิทยาวนาน เหล่ากระเทียมโทน พริกไทยดำ ใบขี้เหล็ก ยาดำ เกลือ และมะกรูด ถูกผสมรวมเป็นยาสมุนไพรของ ลำพูน พรรณไวย กลายเป็นสินค้าชื่อดังของชุมชนเกาะเกิด
เนื้อครีมสีขาวกลิ่นหอมเย็นบรรจงทาลงบนฝ่ามือของลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาเยือนกลุ่มสตรีสหกรณ์สมุนไพรอายุวัฒนะ ตำบลเกาะเกิด
ร่างกาย
หลังจากสมุนไพรได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยว ธุรกิจโฮมสเตย์จึงเกิดขึ้นตามมา เมื่อมีคนเข้าพัก อาหารก็เป็นสิ่งจำเป็น
ในโฮมสเตย์ประจำชุมชนมีแม่ครัวสี่คนซึ่งลำพูนชักชวนให้มาเป็นแม่ครัวประจำชุมชน จากเดิมที่ทั้งสี่เคยเป็นสาวโรงงานกลุ่มแม่ครัวจึงเกิดขึ้นมาพร้อมกับโฮมสเตย์เกาะเกิด เพื่อช่วยกันทำอาหารบริการนักท่องเที่ยว
“เมื่อก่อนมีสามคน เขาเรียกแก๊งสามช่า ตอนนี้เพิ่มมาอีกคนหนึ่ง” แม่ครัวสัมพันธ์เล่าถึงที่มาของฉายาประจำกลุ่ม พวกเธอกำลังง่วนอยู่กับการทำอาหารกลางวัน แม่ครัวลำพวนปรุงแกงเขียวหวาน แม่ครัวเกสรกำลังทอดไก่ แม่ครัวสัมพันธ์โรยพริกตกแต่ง ส่วนแม่ครัวสมจิตรจัดกล่องข้าว
“มันหาเลี้ยงครอบครัวได้อยู่แล้ว” บรรดาแม่ครัวบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า งานนี้สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้สบายแทนที่จะอยู่บ้านเฉย ๆ คอยเลี้ยงหลาน
“พวกผักเราก็ซื้อจากที่นี่” แม่ครัวเกสรบอกถึงที่มาของวัตถุดิบจากผลิตผลของชาวบ้านที่เพาะปลูกกันเอง ไม่ว่าจะเป็นเห็ด ฟัก แตงกวา และพืชผักอื่น ๆ นอกจากทำให้นักท่องเที่ยวอิ่มท้องแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชนด้วย ถ้าวัตถุดิบมีไม่พอค่อยซื้อจากตลาดข้างนอกแทน
“บางทีก็จ้างคนอื่นมาช่วยเรา เป็นการกระจายรายได้ เอาเด็ก ๆ นักเรียนมาช่วยเวลาเขาหยุดเสาร์-อาทิตย์” แม่ครัวกล่าวขณะห่อข้าวใส่ใบตองไปส่งนักท่องเที่ยว
สิ่งนี้คือความสุขของแม่ครัวทั้งสี่กับการได้ทำอาหารรับแขก ทำแล้วมีความสุข แถมได้เงิน เป็นความสุขง่าย ๆ ในชีวิตของแม่ครัวทั้งสี่คน
“เวลาเขาบอกอาหารอร่อยเราก็ยิ้มแก้มปริเลย พิสูจน์สิ” แม่ครัวสัมพันธ์กล่าว
หากเปรียบเหล่าแม่ครัวกับร่างกาย พวกเธอก็คงคล้ายกับระบบไหลเวียนเลือดที่คอยลำเลียงสารอาหารไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของชุมชน
โรงครัวประจำชุมชนเกาะเกิด แหล่งอาหารของกลุ่มนักท่องเที่ยวและโฮมสเตย์ รวมถึงงานบุญชุมชน หากเปรียบชุมชนเกาะเกิดเป็นร่างกาย ที่แห่งนี้ก็เปรียบได้กับเส้นเลือดที่คอยลำเลียงอาหาร
ท่าทีที่มุ่งมั่น ตั้งใจ และชำนาญ ในการสร้างม้ายืน ของ สำอาง พันธ์โณภาศ ที่ทำงานไม้มาหลายปี ประดิษฐ์ม้ายืนเป็นสินค้ามีชื่อชิ้นหนึ่งของชุมชนเกาะเกิด
มือ
อีกหนึ่งส่วนของร่างกายที่สำคัญไม่แพ้กัน สำอาง พันธ์โณภาศ ช่างไม้ฝีมือดีในชุมชนเกาะเกิดที่ทุกคนในชุมชนยอมรับ ลำพูนเห็นความสามารถจึงชักชวนให้มาช่วยสร้างไม้ยืนและไม้นอน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยบริหารกล้ามเนื้อ และในบางโอกาสสำอางยังช่วยซ่อมแซมโฮมสเตย์ของชุมชน
เนื่องจากเติบโตมาในภูมิลำเนาเดียวกัน สำอางจึงไม่ลังเลที่จะตอบรับคำชวนของลำพูน ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งคู่ ที่ต่างผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน
“เขากับผมอายุก็ไล่เลี่ยกัน ผู้ใหญ่ลำพูนเขาทำมาก่อนเรา เขาล้มลุกคลุกคลานมานาน บางทีทำขนมเอาไปขายก็ขายไม่ได้ จนมาทำเรื่องสุขภาพด้วยกัน” สำอางกล่าว ขณะขะมักเขม้นอยู่กับงานไม้ของตน
หากมองภาพรวมของชุมชนนี้แล้ว ทุกคนในเกาะเกิดคงไม่ต่างจากระบบอวัยวะที่ทำงานสอดประสานกันให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงต่อไปได้ เช่นเดียวกับความเกื้อกูลร่วมแรงกันของคนเกาะเกิด
สมอง
ทุกการขยับและเคลื่อนไหวของร่างกายล้วนมาจากคำสั่งของสมอง และสมองที่ว่านั้นคือ อ๊อด-สุชิน อุ้มญาติ ประธานการท่องเที่ยวของชุมชนเกาะเกิด ซึ่งการจัดการอันชาญฉลาดของมันสมองนี้ทำให้ร่างกายทั้งหมดขับเคลื่อนไปอย่างยืดหยุ่น แต่ก็คงไว้ซึ่งความมั่นคง
ด้วยการจัดระบบข้อมูลประชากรของชุมชน ทำให้สุชินรู้ว่าปัญหาของชุมชนอยู่ตรงไหนและควรแก้ไขอย่างไร ยกตัวอย่างการว่างงานของประชากรชาวเกาะเกิด ทำให้สุชินประสานงานกับลำพูนสร้างกลุ่มอาชีพขึ้นมารองรับ นอกจากนี้ช่วงวิกฤตอุทกภัยเมื่อปี ๒๕๕๔ ชุมชนเกาะเกิดได้รับผลกระทบอย่างหนัก สุชินใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศของชุมชนจัดการลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือแต่ละครัวเรือน ซึ่งทำให้ปัญหาคลี่คลายอย่างทันสถานการณ์ ราวกับสมองที่คอยสั่งการแก้ไขข้อบกพร่องของร่างกายเมื่อเจ็บป่วย
“เราใช้การท่องเที่ยวพัฒนาชุมชน” สุชินบอกเราว่าการท่องเที่ยวทำให้ชุมชนพัฒนาขึ้นจริงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีที่พักและกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างรายได้คือ “อาหาร” ก่อนปีที่โรคโควิด-๑๙ ระบาด รายได้จากอาหารเพียงอย่างเดียวก็หลายแสนบาท
รถรางที่พานักท่องเที่ยวมุ่งสู่จุดต่างๆ เหมือนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงบุคคลภายนอกกับวิถีชีวิตชุมชนเกาะเกิด
ความสบายใต้สีฟ้า โฮมสเตย์เกาะเกิดริมแม่น้ำกับบรรยากาศดี ๆ แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
กลิ่น
กลิ่นหอมชวนให้ก้าวเท้าไปยังใต้ถุนบ้านพื้นไม้สองชั้น คำปน ชมสมุทร หรือเล็ก กำลังง่วนอยู่กับการทำ “หมี่กรอบโบราณ” คลุกเคล้ากับน้ำปรุงรสด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม จิตลัดดา วิลาไล หรืออร ลูกสาวยืนมองภาพนั้นอยู่ไม่ห่าง
“ความสุขของแม่คือการได้รับแขก เหมือนกับเรามีรายได้เพิ่ม (จากการทำไปขายที่ตลาด) ตอนนี้มีญาติไปทั่วแล้ว” เธอกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มไม่ต่างกัน
คำปนมัดใจลูกค้าด้วยการหยิบเอาคำติชมมาปรับปรุงสูตรน้ำปรุงให้มีรสชาติถูกปากอยู่เสมอ อย่างหวานมากก็ตัดด้วยเปรี้ยว จัดจ้านเกินไปก็เจือจางรสชาติลงหน่อย ด้วยคำนึงถึงสุขภาพของกลุ่มลูกค้าสูงวัย ลองผิดลองถูกเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่ม ด้วยความพิถีพิถันในการทำหมี่กรอบเเละใส่ใจลูกค้าของคำปนนี่เอง ทำให้หมี่กรอบเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำชื่อเสียงมาให้ชุมชนเกาะเกิด
มากไปกว่านั้นคำปนยังเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนชมบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากมุมมองห้องนอนบนชั้น ๒ ของบ้าน
จิตลัดดาเล่าว่า การเปิดโฮมสเตย์ตอนแรกมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านหลายหลังให้ระวังจะเกิดเหตุอันตราย เธอเองก็กลัวบ้างในตอนแรกที่มีคนมาพัก แต่เมื่อบริการลูกค้ามากขึ้นความกลัวก็น้อยลง กลับได้มิตรภาพจากการเปิดบ้านให้คนภายนอก และบางคนก็กลับมาพักซ้ำ
เมื่อชุมชนค้นพบความกล้าที่จะเปิดรับคนจากภายนอก โฮมสเตย์จึงกลายเป็นหนึ่งจุดแข็งของชุมชนเกาะเกิดที่เรียกนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสชีวิตริมฝั่งแม่น้ำ จนจำนวนโฮมสเตย์บนเกาะเกิดมีจำนวนมากขึ้นหลายหลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุดถึง ๑๒๐ คนก่อนโรคโควิด-๑๙ ระบาด
รส
“นุ่มนวลหอมละมุน” รสสัมผัสแรกของขนมชื่อแปลกหูที่เราได้ลองลิ้มรสตามคำเชื้อเชิญของ พเยาว์ รัตนปรากฏ ผู้สืบทอดต้นตำรับขนมข้าวยาคูแห่งชุมชนเกาะเกิด
“ป้าเริ่มตั้งเป็นกลุ่มอาชีพตอนผู้ใหญ่ลำพูนชวน” เธอเล่าพลางเคี่ยวขนมข้าวยาคู ขนมที่มีประวัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
พเยาว์ขยายความว่า ขนมข้าวยาคูไม่ได้มีวิธีการทำซับซ้อน แต่ต้องใช้น้ำนมจากข้าวรวงอ่อนในระยะ ๒ เดือน นำมาตำและคั้นรวมกับใบเตยเพื่อเพิ่มความหอม ก่อนจะผสมกับแป้งข้าวเจ้าแล้วมานำมาเคี่ยวจนหนืด ตบท้ายด้วยการราดน้ำกะทิ กระทั่งได้ขนมหน้าตาคล้ายตะโก้ แต่มีรสสัมผัสที่อ่อนนุ่มกว่า จึงกลายเป็นขนมคู่ชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง
ข้าวยาคู ขนมโบราณที่เป็นเอกลักษณ์คู่ชุมชนมีวัตถุดิบคือ ข้าวตั้งท้อง ๒-๓ เดือน น้ำตาลมะพร้าว แป้ง ใบเตย และกะทิหวานมัน
หมี่กรอบโบราณตามแบบฉบับเกาะเกิด
ชีวิตชีวา
การท่องเที่ยวเป็นเหมือนดั่งสายลมที่พัดเข้ามาทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวา แม้บางเวลาสายลมจะไม่ได้พัดผ่าน แต่ก็ไม่ได้สั่นคลอนความแข็งแรงของชุมชน
“เราไม่คิดจะทำการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจ ถ้าทำเป็นธุรกิจเมื่อไรกลุ่มเราจบแน่ ทุกวันนี้แค่ได้เห็นรอยยิ้มของลุง ๆ ป้า ๆ
ก็มีความสุขแล้ว”สุชินบอกว่าหากรับนักท่องเที่ยวมากเกินไปชุมชนเองก็จะเดือดร้อน ไม่ว่าจะปัญหาขยะหรือการสัญจรภายในพื้นที่ที่มากเกินถนนชุมชนจะรับไหว การท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้เสริมและช่วยเชื่อมโยงชาวบ้านแต่ละกลุ่มอาชีพเข้าด้วยกัน
ย้อนดูกว่าจะมาถึงวันนี้ จากวันที่ลำพูนรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร แต่แล้วก็ล้มเหลว ขายไม่ได้ ไม่เข้าใจกัน ทะเลาะกัน แถมสุขภาพยังรุมเร้าเข้าซ้ำเติมอย่างหนัก จนได้ตำราเก่าแก่ของตาทวดผู้เป็นหมอโบราณ ปรุงยาปรับธาตุมาทดลองกินจนโรคหาย ลำพูนจึงพยายามรวมกลุ่มชุมชนอีกครั้งหลังจากผ่านความล้มเหลวมาตลอด
“ลองดู ลองอีกครั้งหนึ่ง” เธอตอบ ท่ามกลางความสงสัยของคนรอบตัว
ลำพูนเล่าว่าเธอนึกถึงพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก่อนจะทำอะไรสุขภาพต้องแข็งแรง ท้องต้องอิ่มครอบครัวต้องอบอุ่น
ทั้งหมดนี้อาจดูเป็นเรื่องบังเอิญที่ยาลูกกลอนสมุนไพรตัวเดียวจะทำให้ร่างกายของลำพูนแข็งแรงขึ้นได้ และไม่น่าเชื่อว่ายาลูกกลอนสมุนไพรนี้จะเปลี่ยนความเป็นอยู่และสร้างความร่วมมือของผู้คน
“ต้องค้นให้พบ ในชุมชนเรามีกิจกรรม มีอาชีพอะไรที่เด่น แม้แต่วิถีชีวิตของเราก็ขายได้หมด” ผู้ใหญ่ลำพูนสรุปหัวใจของการพัฒนาบ้านที่ตนรัก
“ความสุขที่สุดของป้าทุกวันนี้ คือชุมชนรวมกันได้แล้วมีอาชีพ อยู่กันได้ พึ่งพาตัวเองได้”
…
“ฉันรักเกาะเกิด”
ป้ายตัวอักษรสีขาวเด่นบนรั้วสีน้ำตาลหน้าทางเข้าชุมชน รั้งสายตาให้หยุดมอง
ในมุมหนึ่งดูคล้ายข้อความโฆษณาชุมชนที่เห็นได้ดาษดื่น
แต่สำหรับที่ซึ่งหัวใจ สมอง และมือ ทำงานร่วมกันสร้างชีวิตชีวาให้เรือนกายกลางเกาะลำน้ำเจ้าพระยา
“ฉันรักเกาะเกิด” คงซุกซ่อนความหมายอันลึกซึ้งกว่าโฆษณาทั่วไป
นั่งรถราง
ไปสวนชิดฟ้า
นาใบไผ่
รถรางในชุมชนเคลื่อนผ่านเขตบ้านเรือนจนทิวทัศน์เปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร ซุ้มไผ่ทอดยาวนำทางสู่ผืนนาเขียวกว้างสุดลูกหูลูกตาตัดกับท้องฟ้าสดใส แสงแดดจ้ายามสายตกกระทบบนต้นข้าวส่องระยิบระยับ ก่อนจะพบกับเกษตรกรเจ้าของแหล่งเรียนรู้ไร่นาสวนผสมที่หมู่ ๗ หมู่สุดท้ายของชุมชนเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“ไม่มีอะไรสนุกไปกว่างานเกษตรแล้ว” รินทร์-วรินทร์ทิพย์ ชัยดำรงชัย เกษตรกรสาวกล่าวพร้อมฉีกยิ้มตาหยี เธอนำทางไปชมคันล้อมรอบผืนนาขนาด ๒๓ ไร่ พร้อมลูกชาย เพราะสามี ธงธน ชัยดำรงชัย ผู้รับบทบาท “หมอดินอาสา” ออกไปให้คำปรึกษาการบริหารท้องนาของเพื่อนบ้าน พร้อมเล่าให้ฟังว่าทำอย่างไรถึงยืนหยัดอยู่ได้เหนืออุปสรรคใด
ดิน ลม ฟ้า อากาศ ความชื้น น้ำ แสงแดด คือปัจจัยกำหนด ชีวิตผลผลิตของเกษตรกร ที่หลายครั้งอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ทำให้การเกษตรเป็นเรื่องยากเย็นในสายตาของใครหลายคน นอกเสียจากว่าจะเข้าใจองค์ประกอบเหล่านี้อย่างทะลุปรุโปร่ง และเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้จนสามารถจัดการทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทาง
รินทร์เริ่มตั้งถิ่นฐานบนผืนดินนี้ในปี ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้เธอต้องวางแผนการจัดการให้เหมาะสมกับสภาวะที่ต้องเจอ
“เรายอมรับก่อนว่าพื้นที่นี้มีน้ำท่วม ทำความเข้าใจว่าฤดูแล้ง ฝน หนาว เป็นอย่างไร และเลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม”
ดินขุยไผ่ในไร่นาสวนผสมของ วรินทร์ทิพ ชัยดำรงชัย แหล่งเรียนรู้ ด้านเกษตรกรรมธรรมชาติในชุมชนเกาะเกิด เธอปลูกไผ่ตามคันนาสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่โดยอาศัยวงจรการเกื้อกูลกันของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ
แม้จะต้องประสบปัญหานี้อยู่ทุกปี แต่เธอและสามีก็เข้าใจในธรรมชาติ ทั้งไม่ยอมจำนน จนสร้างคันล้อมนาข้าวพันธุ์ กข ๕๗ ขนาดกว้างกว่าเมตรครึ่ง พร้อมปลูกกล้วยน้ำว้าและไผ่กิมซุงหลายร้อยต้น เพื่อที่ว่าในบางปีที่น้ำท่วมจนไม่สามารถทำนาข้าวได้ พืชสองอย่างนี้บนคันดินก็ยังสามารถให้ผลผลิตเพื่อสนับสนุนการเงินในครอบครัวให้อยู่ได้
“ให้ธรรมชาติช่วยเราทำงาน”
คือวลีที่รินทร์พูดอยู่เสมอตลอดการเดินชมไร่สวนของเธอ
แรงงานไส้เดือนที่ช่วยพรวนดินและย่อยสลายซากไผ่ช่วยให้ดินบริเวณใต้โคนต้นทั้งร่วนและเป็นสีดำ มีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ เรียกว่าดินขุยไผ่
วิธีการบริหารจัดการพื้นที่ของครอบครัวชัยดำรงชัยคือการ
เข้าใจธรรมชาติและดึงศักยภาพของสิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์ ด้วยมือคู่นี้ รินทร์สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ขายข้าวคุณภาพดีได้ในราคาสูงแม้แต่ในฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำและตะกอนแร่ธาตุได้ถูกสะสมไว้ในดิน อีกทั้งข้าวบางส่วนก็ยังเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้ต่อไป
“ทุกวันนี้เราอยู่ได้แล้ว ไม่ลำบาก ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยกระชับสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ให้เรายังรักษาความเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกันไว้ได้มากกว่า”
นอกเหนือจากศาสตร์การแพทย์แผนโบราณ ความหลากหลายของวิถีชีวิตผู้คนในเกาะเกิดจึงเป็นเสน่ห์ที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการมีส่วนร่วมและเกื้อกูลของคนในชุมชนในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์