Image
“ต้องใช้สมุนไพรด้วยความรู้”
ดร. ภญ. นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.)
Interview
สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“เราอาจเจอสารสกัดจากสมุนไพรที่ฆ่าเชื้อโควิด-๑๙ ได้ เช่นกระชายขาว แต่ก็ต้องทดลองในสัตว์ทดลองและคนก่อนจะนำมาผลิตเป็นยาสูตรต่าง ๆ ในรูปแบบเม็ด แคปซูล น้ำ ตลอดกระบวนการต้องควบคุมคุณภาพ รวมถึงกำหนดอายุและวิธีการเก็บรักษาที่จะระบุในฉลากยา

“สารเคมีตั้งต้นในการผลิตยานั้นเป็นอุตสาหกรรมที่บ้านเราไม่มี สมัยก่อนนำเข้าจากยุโรป สหรัฐอเมริกา ต่อมาในอินเดียอุตสาหกรรมด้านนี้เจริญขึ้น อีกส่วนคือจากจีน จากที่เคยไปดูโรงงานผลิตในอินเดียพบว่ากระบวนการผลิตปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมาก แต่ยาก็เป็นของจำเป็นจึงต้องผลิตต่อไป ภายหลังกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแรงขึ้น มีแนวคิด one health concept ทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อมต้องปลอดภัยไปด้วยกัน ต้องรักษาระบบนิเวศ ดูทั้งกระบวนการว่าปล่อยของเสียแค่ไหน มีความพยายามหาสารตั้งต้นที่เป็นอินทรีย์มากขึ้น เช่นกัญชาจะมีสาร CBC และ THC เป็นต้น เราสกัดวิธีนี้จะไม่มีของเสีย

“บางครั้งเราก็รู้ข้อมูลสมุนไพรบางชนิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมต้องรู้จักสายพันธุ์ ปลูกอย่างไรให้สารที่ต้องการมีมาก ปลูกตามมาตรฐาน GAP (good agricultural practices), เก็บเกี่ยวตามเวลาที่เหมาะสม GHP (good harvesting practices), เก็บรักษาได้มาตรฐาน GSP (good storage practices) หลังจากนั้นวิเคราะห์ในห้องทดลองว่าสารที่ต้องการเข้มข้นแค่ไหน GLP (good laboratory practices), ผลิตในโรงงานที่มีการจัดการที่ดี GMP (good manufacturing practices), ทำข้อมูลการออกฤทธิ์ ศึกษาทางคลินิก GCP (good clinical practices)  เหล่านี้ต้องอาศัยหลายหน่วยงานร่วมมือกัน เช่น เครือข่ายคนปลูก มหาวิทยาลัย ก่อนจะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในที่สุด

“ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนไทย พันธกิจสมัยแรกเขียนชัดเจนว่าต้องวิจัยยาสมุนไพรเพื่อทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบัน เพื่อความมั่นคงทางยา ตอนนี้ยาแผนปัจจุบันคือภารกิจหลัก ยาที่เราผลิตเป็นยาเลียนแบบ (generic pharmacy) เสียส่วนมาก เราทำยาสมุนไพรบ้าง แต่เป็นในเชิงสารสกัด

“ทุกวันนี้ในไทยความนิยมใช้สมุนไพรเป็นยายังไม่มากนัก แต่ที่ได้รับความนิยมมากคืออาหารเสริม เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ในต่างประเทศก็เช่นกัน ตรงนี้มูลค่าสูงมาก สมุนไพรไทยที่ดังมากคือขมิ้นชัน เอาลำต้นใต้ดินมาบดจนได้ผงสีเหลือง พอเอามาทำเครื่องสำอาง เราเอามาทำเป็นผงสีขาว ส่วนนี้ยังนำไปทำยาและอาหารเสริมได้

“ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ออกแผนแม่บทสมุนไพรไทย
ฉบับที่ ๑ ใช้ระหว่างปี ๒๕๖๐-๒๕๖๔ เพื่อผลักดันการใช้สมุนไพร ปัจจุบันแพทย์แผนปัจจุบันใช้ยารักษาโรคหลายชนิด เช่นการรักษาโรคมะเร็งก็มียาแผนโบราณเข้าไปช่วย มีระบุในฉลากยาว่ามีสรรพคุณอย่างไรเพื่อไม่ให้มองสรรพคุณเกินจริง วิธีที่ทำให้คนมั่นใจคือมีรางวัลจากนายกรัฐมนตรีให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตั้งแต่ปี ๒๕๕๙

“เวลา อภ. เลือกสมุนไพรมาวิจัยเรามองสถานการณ์ในประเทศ เช่นไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นก็คิดผลิตภัณฑ์ชะลอวัย ยาแก้โรคที่มากับวัย เช่น ปวดเข่า เข่าเสื่อม ฯลฯ

“เดิม อภ. มียุทธศาสตร์สามเรื่อง ต่อมาเพิ่มสมุนไพรเข้ามาเป็นเรื่องที่ ๔ มีแผนปฏิบัติการปี ๒๕๖๕-๒๕๖๙ โดยแผนแม่บทจะออกในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีทั้งแผนระยะสั้นระยะยาวรวมถึงเป้าหมาย  อภ. มีบริษัทลูกทำหน้าที่ผลิตสมุนไพรไทยเน้นไปทางอาหารเสริม สมุนไพรหลายชนิด อภ. ก็ส่งต่อให้ โดย อภ. จะเริ่มทำสมุนไพรที่มีกระบวนการผลิตซับซ้อนมากขึ้น 
“ต้องเน้นว่าฟ้าทะลายโจรใช้เมื่อเริ่มมีอาการ ไม่ใช่ใช้ป้องกัน บางคนยังไม่ติดโรคก็กินเลยจะเกิดผลเสีย เพราะเป็นยาเย็น ร่างกายจะเสียสมดุล รวมความคือจะตัดวงจรขั้นแรกโควิด-๑๙ ได้ คนไข้ต้องดูแลตัวเองถูกต้อง แต่ถ้าอาการหนักแล้วก็ไม่สามารถใช้รักษาได้ โดยรวมคือต้องใช้สมุนไพรด้วยความรู้”
Image
“ช่วงที่โรคโควิด-๑๙ ระบาด สมุนไพรไทยอย่างฟ้าทะลายโจรเป็นที่รู้กันในวงการยาว่าหากครั่นเนื้อครั่นตัว คอแห้ง อาการระยะสีเขียว ถ้ารีบกินฟ้าทะลาย-โจรตามโดสที่เหมาะสมจะตัดวงจรโรคได้ แต่ถ้าไม่กินจะเป็นต่อ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ขั้นต่อไปก็ต้องอาศัยยาปฏิชีวนะ

“ต้องเน้นว่าฟ้าทะลายโจรใช้เมื่อเริ่มมีอาการ ไม่ใช่ใช้ป้องกัน บางคนยังไม่ติดโรคก็กินเลยจะเกิดผลเสีย เพราะเป็นยาเย็น ร่างกายจะเสียสมดุล รวมความคือจะตัดวงจรขั้นแรกโควิด-๑๙ ได้ คนไข้ต้องดูแลตัวเองถูกต้อง แต่ถ้าอาการหนักแล้วก็ไม่สามารถใช้รักษาได้ โดยรวมคือต้องใช้สมุนไพรด้วยความรู้

“ฟ้าทะลายโจรมีทั้งแบบสกัด บด หรือกินใบ สำคัญคือปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) ที่เข้มข้นแตกต่างกัน ถ้าเด็ดกิน เอามาชงกับน้ำชา สารนี้จะเจือจาง แต่ถ้ากินแบบสกัดจะเข้มข้นกว่า ดังนั้นหากกินแบบบดจะต้องมีปริมาณมากกว่าสารสกัด จะซื้อมาใช้ก็ต้องดูว่าใครผลิต และได้รับการรับรองจาก อย. หรือไม่

“กว่าสมุนไพรจะได้รับการยอมรับเป็นยาแผนปัจจุบันต้องผ่านการทดลองหลายขั้นตอน กรณีฟ้าทะลายโจรมีสาร ทั้งหมดสี่ตัว แอนโดรกราโฟไลด์มีมากที่สุด แต่เวลาออกฤทธิ์ออกพร้อมกัน ถ้าจับแยกมันทำงานได้ดีแค่ในหลอดทดลอง เลยต้องสกัดมาใช้พร้อมกัน

“สมุนไพรมีหลายระดับ แบบวางขายตามห้างขึ้นทะเบียนไหมไม่รู้ ยาบางตัวก็ผ่านห้องทดลอง ได้มาตรฐาน ประเด็นสำคัญที่แพทย์แผนปัจจุบันไม่มั่นใจคือมาตรฐาน การนำสมุนไพรมาขึ้นทะเบียนในฐานะยานั้นยาก ต้องการข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนมาก ต่างกับการขึ้นทะเบียนในฐานะอาหารเสริมหรือเครื่องสำอางที่ยุ่งยากน้อยกว่า การขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสารสกัดก็ได้ แต่ก็ต้องมีขนาดในการใช้ ส่วนพวกเอาสมุนไพรไปหมักดอง แบบนั้นขึ้นทะเบียนไม่ได้

“แพทย์แผนปัจจุบันอาจนำสมุนไพรหลายตัวมาจ่ายให้คนไข้ตามอาการ ถ้าได้ผลหลายราย มีข้อมูลสนับสนุนก็จะขึ้นทะเบียนเป็นยาได้ แต่ทุกวันนี้แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ค่อยยอมรับ เวลาไปสถาบันมะเร็งแห่งชาติหมอจะถามว่ากินอะไรมาบ้าง อาจให้เลิกใช้สมุนไพร ทางเราก็พูดยากว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะการรักษาแผนปัจจุบันจะแยกส่วน ขณะที่แผนไทยจะดูองค์รวม แพทย์บางกลุ่มก็มั่นใจที่จะใช้สมุนไพรในระดับหนึ่ง โดยรวมสมุนไพรมีฤทธิ์รักษาไม่เท่ายาแผนปัจจุบัน แต่ใช้ถูกวิธีจะมีอันตรายน้อยกว่า เห็นได้จากช่วงโควิด-๑๙ ระบาดหนัก การกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ทำได้ไม่ทั่วถึง ฟ้าทะลายโจรมาช่วยตัดวงจรการระบาดได้ สังคมจึงเริ่มเห็นประโยชน์ของสมุนไพรมากขึ้น

“ตอนนี้อุปสรรคคือความเข้าใจของสาธารณชนยังมีน้อย ยังไม่เกิดมาตรฐานในการผลิต แต่การพัฒนายังคงเดินหน้าต่อไป เพราะกระแสอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การใช้สมุนไพรผลิตยานั้นทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการใช้สารเคมี

“สมุนไพรมีศักยภาพในการป้องกันโรค ถ้าเราผลิตได้ดี เป็นที่ยอมรับ จะทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น เพราะเดิมการผลิตยาแผนปัจจุบันต้องนำเข้าสารเคมี ในขณะที่สมุนไพรนั้นเราปลูกได้เอง กรณีฟ้าทะลายโจรตอนที่ได้รับความนิยมมากเราต้องไปหาต้นมาจากจีน แต่คุณภาพสู้ที่ปลูกในไทยไม่ได้ เราจึงพบว่าไทยได้เปรียบเรื่องภูมิอากาศในการปลูกพืชสมุนไพร”