แพทย์แผนไทยกับโควิด-๑๙
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์
รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
Interview
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดเปิดกว้าง นำความรู้ของทุกศาสตร์ที่คิดว่าเป็นประโยชน์มาบูรณาการเพื่อดูแลรักษาคนไข้”
แผนไทย แผนตะวันตก
“สิ่งที่เราเรียกว่าการแพทย์แบบดั้งเดิมของแต่ละประเทศมีพัฒนาการมาจากการสังเกตธรรมชาติ ค่อย ๆ สั่งสมองค์ความรู้กันมาว่าถ้ามีอาการแบบนี้จะอาศัยสมุนไพรหรือต้นไม้ใบหญ้าอะไรในการดูแลรักษา
“จุดแข็งของการแพทย์แผนไทยคือการสั่งสมประสบการณ์ การดูแลรักษา การใช้หยูกยามายาวนานหลายร้อยปี บางอย่างก็รับองค์ความรู้จากประเทศอื่น ๆ มาพัฒนาต่อยอดประยุกต์ใช้ จนกลายเป็นองค์ความรู้ของคนไทย เรื่องผลข้างเคียงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นผ่านการพิสูจน์มาแล้ว โดยทั่วไปจึงปลอดภัยสูง เพราะทดลองกินทดลองใช้กันมาหลายรุ่น
“ขณะที่การแพทย์แผนตะวันตกหรือการแพทย์สมัยใหม่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากห้องปฏิบัติการ การทดลองในห้องทดลองอาจจะใช้เวลาสัก ๒-๓ ปี เลือกบางตัวมาใช้ในสัตว์ทดลองอีกสัก ๒-๓ ปี แล้วมาวิจัยในคนอีก ๓-๕ ปี โดยเฉลี่ยยาแบบแผนตะวันตกใช้เวลาประมาณ ๑๕ ปี แต่ประสบการณ์ใช้ในมนุษย์จริง ๆ สำหรับยาใหม่จะแค่ ๓-๕ ปีเท่านั้น ตัวอย่างในปัจจุบันคือวัคซีนที่ใช้กับโรคโควิด-๑๙ ที่วิจัยในมนุษย์ไม่กี่เดือน ก็จะเกิดความกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงในระยะยาวไหม จะเกิดภาวะต่อต้านภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune disease) หรือไม่
“แต่ถ้าเป็นของแท้ ดั้งเดิม (authentic) มีประสบการณ์ใช้มาหลายเจเนอเรชันก็ค่อนข้างปลอดภัย นี่คือจุดแข็งข้อแรกของการแพทย์แผนไทยเมื่อเทียบกับแผนตะวันตก”
จุดแข็ง จุดอ่อน
“จุดแข็งข้อที่ ๒ คือหลักการเยียวยา การบำบัดรักษาโรคโดยใช้ภูมิต้านทานหรือการปรับสมดุลให้ร่างกายกำจัดเชื้อโรคหรือรักษาโรคเอง มีลักษณะเด่นอยู่ที่การรักษาที่ต้นเหตุ มองว่าร่างกายของมนุษย์อาศัยอยู่กับธรรมชาติที่มีเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย ตราบใดที่เรามีภูมิต้านทานก็อยู่ร่วมกับเชื้อต่าง ๆ ได้
“ในแง่ของการดูแลสุขภาพ การแพทย์แผนไทยเน้นการรักษาที่สร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย จะยั่งยืน มีประสิทธิผลต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นว่าต้องกินยาอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือมีสิ่งที่เข้าไปทำให้ร่างกายทรุดโทรมหรือเสียสมดุล ขณะที่การแพทย์แบบแผนตะวันตกมุ่งเน้นที่การค้นหาสารเคมีหรือตัวยาเข้าไปกระทำกับโรคคล้าย ๆ นำสิ่งแปลกปลอมเข้าไป อย่างโควิด-๑๙ เกิดจากเชื้อไวรัสก็พยายามค้นหาสารเคมีหรือยาฆ่าเชื้อ
“แต่จุดอ่อนของการแพทย์แผนไทยก็คือส่วนใหญ่เริ่มต้นจากประสบการณ์จริงแล้วรวบรวมสั่งสมความรู้จากรุ่นสู่รุ่น บอกต่อกันมา มีการจดบันทึกบ้าง ไม่ได้เริ่มจากห้องทดลองที่มีการศึกษาวิจัยหรือมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ คนที่มีพื้นฐานสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจมองว่าล้าสมัยบางทีกล่าวหาว่าเป็นหมอผีบอกต่อกันมา
“ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดเปิดกว้าง นำความรู้ของทุกศาสตร์ที่คิดว่าเป็นประโยชน์มาบูรณาการเพื่อดูแลรักษาคนไข้ พยายามนำจุดแข็งของการแพทย์แผนต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน เราไม่ต้องการให้เกิดข้อโต้แย้งหรือถกเถียงว่าอะไรดีกว่ากัน ผมคิดว่าศาสตร์การแพทย์ทุกศาสตร์ทั่วโลกมีจุดเด่น เราควรจะนำข้อดีของทุกศาสตร์มาใช้ร่วมกันเพื่อมุ่งไปที่ประโยชน์ของคนไข้เป็นสำคัญ
“การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในประเทศไทยเป็นระบบวิทยาศาสตร์แบบธรรมชาติ คือศึกษา สังเกต เรียนรู้จากธรรมชาติแล้วก็สะสมความรู้มาเรื่อย ๆ เราไม่ได้ใช้หลักวิทยาศาสตร์ประยุกต์เหมือนการแพทย์แผนปัจจุบันที่ต้องชั่ง ตรวจ วัด วิเคราะห์องค์ประกอบว่ามีสารเคมีอะไร มีโมเลกุลหน้าตาเป็นอย่างไร”
“สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๒ ต่อรัชกาลที่ ๓ เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค มีคนติดเชื้อจำนวนมาก ถ้ามีอาการเกี่ยวกับลำไส้ ถ่ายอาเจียน จะเรียกว่าห่าลงไส้ ห่าลงท้อง ส่วนใหญ่การรักษาจะใช้หยูกยาสมุนไพร หมอก็เป็นหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทยในราชสำนักเรียกกันว่าหมอหลวง”
ตักศิลากับโรคห่า
“เมื่อก่อนคนจะคิดว่าการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์แบบดั้งเดิมไม่มีเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ในการดูแลรักษาเรื่องการติดเชื้อ แต่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่ามีการบันทึกถึงเหตุการณ์ซึ่งสมัยก่อนเรียกคลุมว่า ‘โรคห่า’ มาแล้วหลายครั้งทั้งในระดับรัฐและท้องถิ่น
“ตัวอย่างรูปธรรมเช่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ ๒ ต่อรัชกาลที่ ๓ เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค มีคนติดเชื้อจำนวนมาก ถ้ามีอาการเกี่ยวกับลำไส้ ถ่าย อาเจียน จะเรียกว่าห่าลงไส้ ห่าลงท้อง ส่วนใหญ่การรักษาจะใช้หยูกยาสมุนไพร หมอก็เป็นหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทยในราชสำนักเรียกกันว่าหมอหลวง
“ในช่วงนั้นมีการระดมความรู้ มีคัมภีร์เล่มหนึ่งชื่อ ‘ตักศิลา’ บันทึกว่าการติดเชื้อส่วนหนึ่งจะนำมาด้วยอาการไข้ ซึ่งไม่ได้หมายรวมเฉพาะร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเท่านั้น อาจเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ตัวร้อน ๆ รุม ๆ ผ่าว ๆ คัมภีร์ตักศิลาบอกด้วยว่าไข้แบ่งเป็นกี่ประเภท ไข้แบบนี้อาการเป็นอย่างไร ต้องใช้ตำรับยาอะไรในการรักษา ด้วยความรู้เหล่านี้เราก็ผ่านพ้นวิกฤตของการแพร่ระบาดที่เรียกว่าห่าลงเมือง ห่ากินเมือง ห่าปีระกากันมาได้ แล้วก็มีการสังเกต พัฒนา ต่อยอดความรู้สะสมมาเรื่อย ๆ”
โควิด-๑๙
ไข้พิษไข้กาฬ
“ต่อเมื่อมีการระบาดของโควิด-๑๙ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจัดประชุมรวบรวมความรู้ประสบการณ์ เราเชิญครูบาอาจารย์ทั้งหลายมาสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก็ได้ความรู้ยืนยันตามคัมภีร์ตักศิลาว่าไข้โควิด-๑๙ มันเข้ากับลักษณะไข้พิษไข้กาฬ
“ในทางการแพทย์แผนไทยบอกว่าโรคโควิด-๑๙ เป็นโรคห่าตำปอด มันจะไปกินปอดกินตับ การป้องกันพูดง่าย ๆ คือต้องไม่ให้เชื้อลงปอดไปสร้างการอักเสบเป็นปอดบวม
“การดูแลรักษาระบุไว้ชัดเจนว่าขั้นตอนแรกให้ ‘กระทุ้งพิษไข้’ หมายถึงพยายามไล่เชื้อโรคหรือสิ่งที่เป็นพิษในร่างกาย มีตำรับยากระทุ้งพิษไข้ซึ่งใช้กันมานานและอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยาที่ปลอดภัย ขายได้ในลักษณะยาสามัญประจำบ้า คือยาห้ารากหรือยาเบญจโลกวิเชียร ทำจากรากสมุนไพรห้าชนิด ได้แก่ ชิงชี่ มะเดื่อชุมพร เท้ายายม่อม คนทา และย่านาง ใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่เอาสิ่งที่เป็นพิษ เชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายในช่วงต้นของอาการไข้
“ขั้นตอนที่ ๒ ต้องใช้ยาเข้าไป ‘แปรไข้’ หมายถึงแปรร้ายให้เป็นดี ทำให้เชื้อโรคหรืออาการเจ็บไข้ได้ป่วยไม่กำเริบ ไม่ลุกลาม ยาที่เราใช้แปรไข้มีตั้งแต่ยาประสะจันทน์แดง ยาจันทน์-ลีลา ฯลฯ แล้วก็ต่อด้วยการ ‘ครอบไข้’ เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นอีก
“จากตัวเลขที่มีรายงานในกระทรวงสาธารณสุข พบว่าร้อยละ ๒๐ ของคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-๑๙ ถึงแม้จะไปนอนที่โรงพยาบาลจนกลับออกมา ตรวจไม่เจอเชื้อแล้ว ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาโดยใช้ตำรับยาแผนไทยอย่างถูกต้องจะมีอาการที่เรียกว่า long COVID symptoms หลงเหลือค้างอยู่ ยังไม่กลับมาแข็งแรงเป็นปรกติ หายใจไม่ทั่วท้อง ไม่เต็มอิ่ม เวลาทำงานก็อ่อนแรง ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า และอาจมีอาการทางระบบประสาท คือ มึน ๆ งง ๆ หัวสมองไม่โปร่ง ไม่แล่น
“นอกจากยากระทุ้งพิษไข้ แปรไข้ ครอบไข้แล้ว ยังมียาสำหรับบรรเทาอาการ ‘ลมปลายไข้’ การรักษาโควิด-๑๙ ในทางการแพทย์แผนไทยจึงไม่ใช่แค่กำจัดให้เชื้อหมดจากร่างกาย แต่ตามไปดูแลในขั้นฟื้นฟูสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งมียาที่ต้องใช้อีกตำรับหนึ่ง เช่น ยาหอมนวโกฐ ยาประสะเปราะใหญ่ ฯลฯ “ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ในสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกล่าสุดของเมืองไทยคือตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ เรามีคนติดเชื้อเข้ารับการรักษาตรวจยืนยันแล้วราว ๑.๔ ล้านคน ถ้าคิดร้อยละ ๒๐ ก็ประมาณ ๒.๘ แสนคน ที่กรมแพทย์แผนไทยฯ ระดมความรู้จากครูบาอาจารย์วางแผนดูแลคนไข้เหล่านี้ ถ้าเขามี long COVID symptoms เราจะช่วยฟื้นความสมบูรณ์และความสมดุลของธาตุต่าง ๆ เพื่อให้เขาผ่านภาวะนี้ไปได้”
“แนวโน้มจากโควิด-๑๙ ในแง่หนึ่งเป็นประโยชน์ เพราะมีการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะสมุนไพรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้คนในสังคมสนใจและให้การยอมรับ ข้อเสียคือมีคนหาประโยชน์จากกระแสความสนใจ โฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือนำไปสู่การใช้แบบผิด ๆ”
ฟื้นฟูสุขภาพ
ฟื้นฟูประเทศ
“การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-๑๙ ด้วยการแพทย์แผนไทย ถ้ามีการเก็บข้อมูลผลของการใช้ยาสมุนไพรต่าง ๆ ศึกษาเรื่องของความปลอดภัย นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยแล้วก็จะเป็นประโยชน์กับคนทั่วโลก เพราะถ้าคิดร้อยละ ๒๐ ก็เท่ากับมีหลายสิบล้านคนที่สามารถใช้สมุนไพรดูแล หรือใช้การออกกำลังกาย กายบริหาร ฤๅษี-ดัดตน ชี่กง หรือโยคะก็ได้ หัตถการเหล่านี้จะช่วยฟื้นสมรรถภาพของปอด ทำให้เลือดลมขึ้นไปเลี้ยงสมอง อาการมึนงง
“การฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศหลังโควิด-๑๙ หากมุ่งเน้นแต่ภาคอุตสาหกรรมจะเกิดลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย แต่ถ้าเราชูเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมอย่างการแพทย์แผนไทยหรือเน้นใช้สมุนไพรก็มีโอกาสที่จะสร้างรายได้และสร้างงานสร้างอาชีพ เป็นแนวทางที่นำเอามรดกของภูมิปัญญามาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะช่วยทำให้ประเทศไทยของเราเป็นศูนย์กลางของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เป็นแหล่งที่คนทั่วโลกมุ่งมาแสวงหาการดูแลรักษาอาการ long COVID symptoms ถือเป็นการดึงจุดแข็งของประเทศออกมาใช้ ทำให้พัฒนาแล้วก็เดินหน้าต่อ”
สู่คนรุ่นใหม่
“ที่ผ่านมาแนวโน้มจากโควิด-๑๙ ในแง่หนึ่งเป็นประโยชน์ เพราะมีการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะสมุนไพรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้คนในสังคมสนใจและให้การยอมรับ แต่ก็เหมือนเหรียญสองด้าน ข้อเสียคือมีคนหาประโยชน์จากกระแสความสนใจ โฆษณาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือนำไปสู่การใช้แบบผิด ๆ ดังนั้นจะต้องมีหน่วยงานเข้ามาจัดการความรู้ แยกแยะ วิเคราะห์ จัดหมวดหมู่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะต้องเป็นหน่วยงานที่เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง
“คน Gen X หรือ Gen Y ส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์ใช้ยาสมุนไพรและการแพทย์แบบดั้งเดิม ความเชื่อมั่นต่อสมุนไพรยังมีอยู่ แต่สำหรับเจเนอเรชันถัด ๆ มาเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้ อาจจะต้องมีแนวทางพัฒนาสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่เข้าถึง พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือหยูกยาให้กินง่าย พกพาสะดวก ทำให้คนรุ่นใหม่ยอมรับ สนใจทดลองใช้ จะเป็นทางเลือกให้คนหันกลับไปใช้สมุนไพรมากขึ้น”