น้ำดอกไม้
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ขณะเดินผ่านดอกหน้าวัวใบ พลันสบตา “น้ำดอกไม้”
แล้วภาพทรงจำวัยเด็กก็สะท้อนขึ้นในเงาของเม็ดใส
ความสนุกวัยเยาว์นอกจากเดินเก็บใบไม้ดอกไม้มาเล่นหม้อข้าวหม้อแกง ยังอยู่ที่ได้มองหาดอกเข็มตูม ๆ (เพราะดอกบานมักถูกมดตัวจ้อยชิงจับจอง) แล้วเด็ดมาดึงก้านเกสร ชิมรสของเหลวที่ซุกอยู่โคนเส้นใย จังหวะที่ลิ้นสัมผัส “น้ำต้อย” (nectar) อดสมมุติตนเป็นแมลงตัวน้อยไม่ได้
แต่ละหยดมีรสหวาน เพราะอุดมด้วยน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรักโทส ยังมีคาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน ไอออน และสารประกอบอื่นอีกมากร่วมผลิตน้ำหวาน น้ำมัน และกลิ่น ดึงดูดเจ้าแมลงที่ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างยุง ผึ้ง ตัวต่อ ผีเสื้อ หรือสัตว์มีกระดูกสันหลังอย่างค้างคาวและเจ้านกกินปลีปากยาวให้มาดูดชิมน้ำดอกไม้
น่าสนใจว่าน้ำของดอกไม้บางชนิดไม่เพียงให้รสหวาน ยังมีสีสันและกลิ่นเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวด้วย (นั่นเป็นเหตุผลให้น้ำผึ้งมีกลิ่นหอมต่างกัน ขึ้นอยู่กับดอกไม้ที่เป็นแหล่งอาหาร)
กระบวนการผลิตน้ำของดอกไม้ต้องการแสงแดด น้ำ และสารเคมีบางชนิดที่พืชสร้างขึ้นเองอย่างช้า ๆ แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาปรุงแต่ง
สำหรับดอกไม้ ของเหลวนี้ช่วยปกป้องตนจากแมลงศัตรูพืช เพราะแมลงบางชนิดที่กินสัตว์เล็ก เมื่อโตเต็มวัยจะเปลี่ยนพฤติกรรมมาอาศัยน้ำหวานเป็นแหล่งสารอาหารหลักอันโอชะ แล้วล่าแมลงศัตรูพืชเป็นอาหารของลูกน้อยอีกที
อีกมุมหนึ่งการที่เจ้าพวกสัตว์น้อยมาเยี่ยมเยียน ดอกไม้ก็ได้ถือโอกาสฝากเรณูติดไปกับตัวสัตว์ ครั้นพวกมันโผไปเกาะ
ดอกไม้ชนิดเดียวกัน เรณูจากดอกเดิมจะร่วงสู่ดอกใหม่ หากเป็นการพบกันของเกสรตัวผู้และตัวเมียจะเกิดการปฏิสนธิเป็นกระบวนการถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างเพื่อนร่วมระบบนิเวศที่พืชได้ประโยชน์ด้านสืบพันธุ์
ดอกไม้ไม่หวงน้ำหวาน เพราะต่อให้เหือดแห้งยังผลิตใหม่ได้อีก แค่ต้องใช้เวลา ถึงอย่างนั้นดอกไม้ก็ยินดีมอบของขวัญทุกหยดแด่มิตรสหายที่ผ่านมาพบ
รวมถึงมนุษย์ หากยังเห็นคุณค่าของน้ำดอกไม้เป็นดั่ง “น้ำทิพย์จากธรรมชาติ”