เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ภาพ : 123rf.com
แม้จะมีวัคซีนโรคโควิด-๑๙ ที่พัฒนาออกมาใช้ยับยั้งการระบาดใหญ่ แต่ก็มีคำถามมากมายทั้งประเด็นความปลอดภัย อาการที่ไม่พึงประสงค์และประสิทธิภาพ รวมถึงความกังวลต่อการรับมือของวัคซีนกับการกลายพันธุ์ของไวรัส ขณะที่สถิติซึ่งชัดเจนมากจากรายงานของประเทศต่าง ๆ คือ ผู้ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-๑๙ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องเข้ารับการรักษา และผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ
วัคซีนเชื้อตายคืออะไร
วัคซีนเป็นวิธีกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาก่อนเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายจริงๆ ภูมิคุ้มกันนี้จะช่วยป้องกันหรือลดอันตรายที่เชื้อโรคจะสร้างความเสียหาย วัคซีนจึงเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เลียนแบบเชื้อโรคตัวจริงและเราเรียกสิ่งแปลกปลอมนี้ว่าแอนติเจน (antigen)
การสร้างแอนติเจนมีหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งคือเป็นซากไวรัส จึงเรียกว่าวัคซีนแบบเชื้อตาย (inactivated vaccine) โดยการฆ่าไวรัสด้วยกรรมวิธี เช่น รังสี ความร้อน หรือสารเคมี ถ้ากรรมวิธีเหมาะสมซากไวรัสจะยังคงสภาพภายนอกอย่างดี เมื่อฉีดเข้าร่างกายก็จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จัดการกับไวรัสได้ แต่ถ้าซากไวรัสมีสภาพเปลี่ยนไปจากไวรัสตัวจริงมาก วัคซีนก็อาจไม่ได้ผล
เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบเชื้อตายมีใช้กันมานานแล้ว เช่น วัคซีนไข้หวัด วัคซีนโปลิโอ ฯลฯ ซึ่งต้องมีห้องปฏิบัติการที่ปลอดภัยในการเพาะเชื้อไวรัส และโดยทั่วไปต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าหนึ่งเข็ม
วัคซีนโควิด-๑๙ ผลิตจากไวรัสเชื้อตายของ SARS-CoV-2 เช่น ซิโนแวค (Sinovac), ซิโนฟาร์ม (Sinofarm)
การผลิตวัคซีนมีสามวิธีหลักๆ
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่างจากไฟเซอร์และโมเดอร์นาอย่างไร
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เป็นวัคซีนประเภทไวรัสพาหะหรือไวรัลเวกเตอร์ (viral vector vaccine) ซึ่งใช้ไวรัสที่ปลอดภัยเป็นแอนติเจน เช่นไวรัสอะดีโน (adenovirus) ไวรัสนี้ยังมีชีวิตและถูกตัดต่อให้มีรหัสพันธุกรรมหรือคำสั่งสร้างเฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญของเชื้อโรค ซึ่งในกรณีไวรัส SARS-CoV-2 คือส่วนโปรตีนหนาม (spike protein) เมื่อไวรัสพาหะเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย มันจะสั่งให้เซลล์สร้างโปรตีนหนามขึ้นมาบนผิวเซลล์ กลายเป็นเซลล์ที่มีหน้าตาคล้ายไวรัส SARS-CoV-2 และกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันมาจัดการกับเซลล์ที่มีโปรตีนหนามแบบนี้
ไวรัลเวกเตอร์ถูกตัดต่อให้ไม่สามารถแบ่งตัว จึงไม่อาจไปแพร่ขยายจำนวนในร่างกายเรา และตัวมันเองไม่ใช่ไวรัส SARS-CoV-2 ส่วนรหัสพันธุกรรมของมันก็ไม่ได้เข้าไปรวมกับรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในเซลล์ของมนุษย์
เทคโนโลยีนี้ใช้ผลิตวัคซีนโรคอีโบลา และอยู่ระหว่างศึกษาทำวัคซีนโรคซิกา โรคเอดส์ เป็นเทคโนโลยีที่ผลิตวัคซีนได้เร็วกว่าแบบเชื้อตาย
นอกจากแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ยังมีวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson) ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) และวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) เป็นวัคซีนประเภท mRNA
วัคซีนโควิด-๑๙ ประเภท mRNA ทำงานอย่างไร
วัคซีน mRNA ชื่อก็บอกว่าคือวัคซีนมรณะ m ม R ร N ณ A สระอะ จริงไหม ?
วัคซีนประเภท mRNA เป็นวัคซีนที่ในระยะแรกมีข้อกังขามากที่สุดจากข้อมูลว่านี่คือเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดซึ่งยังไม่เคยมีวัคซีนประเภทนี้ตัวไหนผ่านการยอมรับให้ใช้กับมนุษย์มาก่อน จนกระทั่งกรณีโรคโควิด-๑๙ และเกิดความหวั่นเกรงต่ออันตรายจากผลกระทบข้างเคียงทั้งระยะสั้นและระยะยาว
mRNA เหมือนกับวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ คือทำให้เซลล์ร่างกายสร้างโปรตีนหนามขึ้นมา และกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน แต่ต่างกันตรงวิธีนำคำสั่งสร้างโปรตีนหนามเข้าไปในเซลล์ ไวรัลเวกเตอร์ใช้ไวรัสมีชีวิต แต่ mRNA ส่งแค่รหัสพันธุกรรมส่วนสร้างโปรตีนหนามที่ห่อหุ้มด้วยไขมันเข้าไปในร่างกาย
การฉีดวัคซีนทุกประเภทมีผลข้างเคียงหลังฉีดคล้ายๆ กัน เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อวัคซีน โดยอาการส่วนใหญ่จะค่อยๆ ทุเลาลง แต่ก็มีกรณีคนแพ้วัคซีน โดยจะเกิดลมพิษ ผื่นขึ้น ริมฝีปากและขอบตาบวม หายใจไม่ออก ซึ่งต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษา และห้ามฉีดวัคซีนชนิดนั้นอีก
ข้อมูลการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ของวัคซีนไฟเซอร์ พบ ๑๑.๑ รายต่อล้านราย โดย ๗๑ เปอร์เซ็นต์ มีอาการหลังฉีดภายใน ๑๕ นาที
สำหรับอาการที่ไม่พึงประสงค์เฉพาะวัคซีน mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา คือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) พบส่วนใหญ่ในชายวัยหนุ่ม แต่เป็นกรณีที่พบยากมาก (extreme rare) และยิ่งพบน้อยลงในผู้ใหญ่ มีอาการเล็กน้อยและหายได้เอง ลักษณะอาการคือเจ็บหน้าอก หายใจขัด และหัวใจสั่นเต้นรัว
อัตราความเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในคนอายุ ๑๘-๒๔ จากการฉีดไฟเซอร์สองโดสคือ ๑๘.๕ รายต่อล้านราย และจากการฉีดโมเดอร์นาสองโดสคือ ๒๐.๒ รายต่อล้านราย ในสหรัฐอเมริกายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในผู้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังจากฉีดวัคซีน
รายงานข่าวล่าสุดโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ในประเทศนิวซีแลนด์ พบหญิงสาวหนึ่งราย เสียชีวิตด้วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังจากฉีดวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ถือเป็นกรณีแรกที่กระทรวงสาธารณสุขของนิวซีแลนด์ยอมรับว่า “เป็นไปได้ว่าเกิดจากวัคซีน”
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีอันตรายหรือไม่
อันตรายหลังจากฉีดวัคซีนไวรัลเวกเตอร์อย่างแอสตร้าเซนเนก้า เป็นกรณีที่พบยากมาก คือการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosis) ร่วมกับมีเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) อาการนี้มีชื่อย่อว่า VITT (vaccine-induced immune thrombocytopenia and thrombosis) ซึ่งนอกจากข้อมูลว่ามีโอกาสเกิดมากกว่าในผู้ที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ เพศหญิง และชาวยุโรปแล้ว ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างการศึกษา
ข้อมูลการศึกษาจากสหราชอาณาจักรพบในอัตราเฉลี่ย ๘.๑ รายต่อล้านรายหลังจากรับโดสแรก และ ๒.๓ รายต่อล้านรายหลังจากรับโดสที่ ๒ พบผู้ป่วย VITT ระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ๒๕๖๔ จำนวน ๒๒๐ คน และเสียชีวิต ๔๙ คน อัตราการเสียชีวิตราว ๒๓ เปอร์เซ็นต์ หรือหนึ่งในห้า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ส่วนข้อมูลจากออสเตรเลียพบในคนอายุต่ำกว่า ๕๐ ปี ๓.๑ รายต่อ ๑ แสนรายหลังจากรับโดสแรก นอกจากนี้ยังมีรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันของชาวสหรัฐอเมริกาที่ฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
แต่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันก็พบในผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ โดยเฉลี่ยสูงกว่าคนทั่วไปแปดเท่า และผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งในห้า จะมีอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงมีความเห็นว่าการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเพราะความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-๑๙ นั้นสูงกว่าเพราะการฉีดวัคซีน
มีประเทศไหนที่ยกเลิกการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าบ้าง
จากกรณีมีผู้เสียชีวิตเพราะ VITT ในยุโรปช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ที่เริ่มการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้หลายประเทศในยุโรป เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ บัลแกเรีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี สเปน ฯลฯ และบางประเทศนอกยุโรป รวมแล้วราว ๑๘ ประเทศ ประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าชั่วคราว เพื่อรอผลการศึกษาที่ชัดเจน บางประเทศจำกัดการฉีดให้เฉพาะกับผู้สูงอายุ บางประเทศเปลี่ยนไปใช้วัคซีน mRNA ขณะที่ประชากรในบางประเทศปฏิเสธการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า
อย่างไรก็ตามหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และหน่วยงานยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) สนับสนุนให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อไปได้ โดยเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนกับ VITT และมีความเสี่ยงต่ำมาก โดยเฉพาะประชากรที่ไม่ใช่ชาวยุโรป ขณะที่การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความสูญเสียจากโรคโควิด-๑๙ ได้มากกว่า
ข่าวเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ เยอรมนีประกาศบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างน้อย ๕ แสนโดสแก่ประเทศยากจนผ่าน COVAX โดยชาวเยอรมันที่ได้รับวัคซีนโดสแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้าจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาเป็นโดส ๒ แทน และเยอรมนีไม่มีแผนจัดซื้อแอสตร้าเซนเนก้าในปีต่อไป
การผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ใช้คนทั่วโลกเป็นหนูทดลอง ?
วัคซีนสำหรับโควิด-๑๙ ที่ผ่านการพิจารณาและตรวจสอบจาก WHO ว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้ใช้งานได้ขณะนี้ เป็นการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้งานฉุกเฉินที่เรียกว่า emergency use listing (EUL) เนื่องจากการระบาดใหญ่ที่รุนแรงของโรคโควิด-๑๙ ทำให้จำเป็นต้องมีวัคซีนออกมาใช้ยับยั้งการระบาดให้ทันสถานการณ์
แต่แม้จะเรียกว่า “การใช้งานฉุกเฉิน” การพัฒนาวัคซีนก็ต้องผ่านขั้นตอนการทดสอบทางการแพทย์เช่นเดียวกับวัคซีนปรกติทุกอย่าง ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ การทดสอบกับสัตว์ และการทดสอบกับมนุษย์
ในขั้นตอนการทดสอบกับมนุษย์มีสามระยะ คือ ระยะที่ ๑ ทดสอบกับกลุ่มคนจำนวนน้อยที่มีสุขภาพดี เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้น ระยะที่ ๒ ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนหลายร้อยคนที่มีพื้นฐานสุขภาพและช่วงวัยต่างๆ กัน พร้อมกับเปรียบเทียบการให้วัคซีนขนาดโดสต่างๆ และระยะที่ ๓ ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนหลายพันคนคล้ายระยะที่ ๒ และเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอก (placebo) เพื่อศึกษาความปลอดภัย อันตราย ผลข้างเคียง และขนาดโดสวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม
ในสถานการณ์ปรกติ ผู้พัฒนาวัคซีนต้องติดตามกลุ่มตัวอย่างทุกคนที่ได้รับวัคซีนเป็นเวลาอย่างน้อย ๖ เดือนเพื่อดูผลข้างเคียงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่ในกรณีฉุกเฉิน ผ่อนปรนให้ติดตามกลุ่มตัวอย่างเพียงไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า ๒ เดือน ด้วยเหตุผลว่าผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนไม่นาน
วัคซีนไฟเซอร์ทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างมากกว่า ๔๓,๐๐๐ คน โมเดอร์นา ๓๐,๔๐๐ คน และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ๔๔,๐๐๐ คน โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างได้รับยาหลอก
WHO ระบุว่าการตรวจสอบหลักฐานที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ยื่นขออนุมัติการใช้ จะมีคณะกรรมการอิสระและคณะผู้เชี่ยวชาญภายนอกมาวิเคราะห์ผลลัพธ์จากการทดลองทางการแพทย์
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน ๒๕๖๔ วัคซีนโควิด-๑๙ ที่ WHO ขึ้นบัญชีให้ใช้งานฉุกเฉินได้สำหรับคนอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป มีไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่เป็น mRNA แอสตร้าเซนเนก้า แจนส์เซน (Janssen หรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน) ที่เป็นไวรัลเวกเตอร์ และซิโนฟาร์ม ซิโนแวค ที่เป็นเชื้อตาย ทั้งนี้แต่ละประเทศต้องตัดสินใจเองว่าจะอนุมัติวัคซีนให้ใช้ในประเทศของตนหรือไม่
ส่วนวัคซีนสำหรับคนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปียังอยู่ระหว่างการศึกษาความปลอดภัยเพื่อประกาศรับรองให้มีการใช้ต่อไป และบางบริษัท เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา กำลังดำเนินการทดสอบวัคซีนเพื่อขออนุมัติการใช้วัคซีนอย่างเป็นทางการ (full approval) ซึ่งจะช่วยลดข้อกังวลของประชาชนที่ยังไม่มั่นใจในวัคซีนสำหรับการใช้งานฉุกเฉิน
วัคซีนตัวไหนมีประสิทธิภาพดีกว่ากัน
ในสถานการณ์การระบาดของโรคช่วงกว่า ๑ ปีที่ผ่านมามีการใช้วัคซีนแต่ละประเภทแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างในระดับความรุนแรง ช่วงเวลา กลุ่มประชากร และปัจจัยอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างวัคซีนโดยตรง
จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน (เกือบทุกชนิดฉีดสองเข็ม ยกเว้นวัคซีนแจนส์เซนฉีดเข็มเดียว) ก่อนการระบาดล่าสุดของไวรัสโควิด-๑๙ สายพันธุ์เดลตา พบว่า
วัคซีนไฟเซอร์ป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-๑๙ ได้ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังฉีดครบสองเข็ม ๗ วัน (ฉีดห่างกัน ๒๑ วัน)
วัคซีนโมเดอร์นาป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-๑๙ ได้ ๙๔.๑ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังฉีดครบสองเข็ม ๙ สัปดาห์
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-๑๙ ได้ ๗๒ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการฉีดครบสองเข็ม (ฉีดห่างกัน ๔-๑๒ สัปดาห์)
วัคซีนแจนส์เซนป้องกันความรุนแรงของโรคได้ ๗๖.๗ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังฉีด ๑๔ วัน (ฉีดเข็มเดียว) และ ๘๕.๔ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังฉีด ๒๘ วัน และทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ๙๓.๑ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังฉีด ๑๔ วัน และได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังฉีด ๒๘ วัน
วัคซีนซิโนฟาร์มป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-๑๙ ได้ ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ภายหลังฉีดครบสองเข็ม ๑๔ วัน (ฉีดห่างกัน ๒๑ วัน) และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ ๗๙ เปอร์เซ็นต์
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสโควิด-๑๙ กลายพันธุ์ล่าสุด โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ซึ่งต้องติดตามข้อมูลต่อไป แต่ส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพลดลง โดยวัคซีนประเภท mRNA และไวรัลเวกเตอร์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด-๑๙ ได้ดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย
อย่างไรก็ตามในภาพรวมวัคซีนทุกประเภทมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักและลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากไวรัสโควิดทุกสายพันธุ์
การฉีดวัคซีนไขว้มีผลดีอย่างไร และควรฉีดเข็ม ๓ เข็ม ๔ หรือไม่
การฉีดวัคซีนไขว้ หรือการฉีดเข็มที่ ๑ กับเข็มที่ ๒ ด้วยวัคซีนต่างชนิด เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนที่แพ้วัคซีนเข็มแรก และอาจจำเป็นสำหรับการบริหารจัดการวัคซีนซึ่งจัดหาได้จำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ข้อมูลจากผลการศึกษาวิจัยโดยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (SiCRES) เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๔ สรุประดับภูมิคุ้มกันชนิด IgG ต่อโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสโรคโควิด-๑๙ จากการฉีดวัคซีนแบบไขว้ว่า (ตัวเลขเป็นค่าเฉลี่ย)
การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกแล้วฉีดวัคซีนไฟเซอร์
เข็ม ๒ ได้ระดับภูมิคุ้มกันสูงสุด ๒,๒๕๙.๙ หน่วยต่อมิลลิลิตร
การฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้วฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม ๒ ได้ระดับภูมิคุ้มกันดีรองลงมาที่ ๒,๑๘๑.๘ หน่วยต่อมิลลิลิตร ซึ่งเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สองเข็มตามมาตรฐาน มีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ย ๑,๙๓๑.๓ หน่วยต่อมิลลิลิตร (หลังฉีด ๔-๘ สัปดาห์) ก็ถือว่าการฉีดไขว้ได้ผลดีกว่าเล็กน้อย
การฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้วฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
เข็ม ๒ ได้ระดับภูมิคุ้มกัน ๑,๐๔๙.๗ หน่วยต่อมิลลิลิตร ซึ่งการฉีดไขว้ให้ผลดีกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็มที่ได้ระดับภูมิคุ้มกัน ๒๗๘.๕ หน่วยต่อมิลลิลิตร
สำหรับการฉีดเข็ม ๓ เพื่อต้องการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในกรณีผู้ฉีดวัคซีน mRNA และไวรัลเวกเตอร์ครบโดสแล้ว คำแนะนำของแพทย์คือยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดเข็ม ๓ ในช่วงระยะสั้นๆ เพราะยังมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพียงพอในระยะเวลา ๖ เดือนหลังฉีดครบโดส
แต่หลังจากนั้นต้องฉีดเข็ม ๓ หรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการศึกษา
แต่กรณีผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็ม ระดับภูมิคุ้มกันจะค่อนข้างต่ำ คือประมาณ ๔๕-๕๓ หน่วยต่อมิลลิลิตร (หลังฉีด ๘-๑๒ สัปดาห์) หากกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็ม ๓ เป็นไฟเซอร์แบบเต็มโดส (๐.๓ มิลลิลิตร) จะช่วยให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นถึง ๕,๗๒๓ หน่วยต่อมิลลิลิตร (หลังฉีด ๒ สัปดาห์) ซึ่งถือว่าสูงมาก และถ้าฉีดเพียงครึ่งโดส (๐.๑๕ มิลลิลิตร) ก็ยังสูงถึง ๔,๕๙๘ หน่วยต่อมิลลิลิตร
ส่วนกรณีเข็ม ๓ เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระดับภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นเป็น ๑,๕๕๙ หน่วยต่อมิลลิลิตร และถ้าเป็นซิโนฟาร์มจะมีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นเพียง ๒๑๘ หน่วยต่อมิลลิลิตร
ตามข้อมูลนี้สำหรับผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มแล้ว การฉีดกระตุ้นเข็ม ๓ ด้วยไฟเซอร์ครึ่งโดสก็เพียงพอ
อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยฯ ระบุท้ายรายงานว่า ควรมีการศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อในผู้ที่ได้รับวัคซีนเพื่อยืนยันภูมิคุ้มกันจากการศึกษานี้
คำแนะนำโดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญขณะนี้เห็นว่าผู้ที่ควรได้รับการฉีดกระตุ้นเข็ม ๓ ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าซึ่งต้องสัมผัสกับเชื้อโรคสูง ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่อายุมากกว่า ๕๐ ปีขึ้นไป รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนองต่อการฉีดสองเข็มแรก นอกจากนี้ปัญหาการกระจายวัคซีนในระดับภาพรวมของโลกที่พลเมืองในประเทศยากจนและรายได้ปานกลางหลายประเทศยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอต่อการคุ้มครองความปลอดภัยและการป้องกันการระบาด ทำให้มีความเห็นว่าการกระจายวัคซีนเข็ม ๑ เข็ม ๒ ให้ทั่วถึงประชากรทั่วโลกมีความสำคัญกว่าการฉีดวัคซีนเข็ม ๓
วัคซีนโปรตีนซับยูนิต คืออะไร
วัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Protein subunit vaccine) ใช้วิธีสร้างเฉพาะโปรตีนส่วนสำคัญที่สุดของไวรัสมาทำเป็นวัคซีน ในกรณีไวรัสโรคโควิด-๑๙ ก็คือส่วนโปรตีนหนาม วัคซีนประเภทนี้คาดว่าจะมีความปลอดภัยสูง เพราะไม่ได้ใช้ไวรัสทั้งตัวแบบเชื้อตาย หรือใช้รหัสพันธุกรรมของไวรัสแบบไวรัลเวกเตอร์และ mRNA เข้าไปสั่งเซลล์ของมนุษย์ให้สร้างโปรตีนหนาม
การขยายจำนวนโปรตีนอาศัยการโคลน (clone) โปรตีนหนามในยีสต์หรือพืช แล้วค่อยสกัดโปรตีนหนามออกมาให้บริสุทธิ์ และผสมกับสารกระตุ้นภูมิ (adjuvant) กรรมวิธีนี้ใช้ผลิตวัคซีนอื่นๆ มาแล้ว เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) ฯลฯ
ปัจจุบันวัคซีนโปรตีนซับยูนิตอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยหลายบริษัท เช่น โนวาแวกซ์ (Novavax) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการทดสอบระยะที่ ๓ ให้ประสิทธิภาพ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ หลังฉีดสองเข็ม นอกจากนี้ยังมีซาโนฟี (Sanofi) ของฝรั่งเศส และแกล็กโซสมิทไคล์น (GlaxoSmithKline) ของสหราชอาณาจักร
สำหรับประเทศไทยมีบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ตอัปของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังพัฒนาวัคซีนโปรตีนซับยูนิตชื่อ “ใบยา” คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้กลางปี ๒๕๖๕
นอกจากนี้ประเทศไทยยังพัฒนาวัคซีนประเภทอื่นด้วย เช่น วัคซีน mRNA ชื่อ ChulaCov19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้เดือนเมษายน ๒๕๖๕ วัคซีน HXP-GPOVac ขององค์การเภสัชกรรม ผลิตด้วยเทคโนโลยีเชื้อตายลูกผสม (Inactivated chimeric vaccine) เป็นต้น
สถิติผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ กับการฉีดวัคซีน
สหราชอาณาจักร
ผู้ป่วยเสียชีวิต
มกราคม-กรกฎาคม ๒๕๖๔
นิวซีแลนด์ (รัฐนิวเซาท์เวลส์)
ผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล
มิถุนายน-กันยายน ๒๕๖๔
อิสราเอล
ผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล
กันยายน ๒๕๖๔
สหรัฐอเมริกา
ความเสี่ยงของ
ผู้ฉีดวัคซีนครบโดส
เทียบกับผู้ไม่ได้ฉีด
วัคซีน
ศึกษาช่วงไวรัสสายพันธุ์เดลตาระบาด
เมษายน-กรกฎาคม ๒๕๖๔
ยารักษาโรคโควิด-๑๙
ตุลาคม ๒๕๖๔
๑ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ โดยเฉพาะที่ผ่านการทดลองทางคลินิกจนได้รับการรับรองแล้ว
๒ ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) เป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปมีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัส จึงนำมาใช้เป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-๑๙ โดยได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะรุนแรงของโรค มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสโรคโควิด-๑๙ และทำให้ไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทานร่างกายสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้หมดหรือเหลือน้อยมากจนไม่ก่อโรค ทั้งนี้มีคำแนะนำว่าต้องใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์
๓ รายงานเรื่อง The efficacy and safety of Favipiravir in treatment of COVID-19 : a systematic review and meta-analysis of clinical trials ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Nature.com เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ พบว่าจากข้อมูลผู้ป่วย ๘๒๗ รายในจีน รัสเซีย โอมาน อียิปต์ และญี่ปุ่น ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ต้องใช้ออกซิเจนบำบัดอาการน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา ๗ เปอร์เซ็นต์ และมีการเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยา ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แต่รายงานระบุว่าตัวเลขนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งได้สรุปผลว่าการให้ยากับกลุ่มผู้ป่วยที่อาการน้อยถึงปานกลางไม่ได้ให้ผลป้องกันการเสียชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีคำแนะนำว่าการให้ยาหลังจากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการก็อาจสายเกินไป
๔ ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) เป็นยาใช้รักษาโรคอีโบลาและไวรัสตับอักเสบซี นำมาใช้รักษาโรคโควิด-๑๙ แทนยาฟาวิพิราเวียร์ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ ผู้มีปัญหาการดูดซึมยา และปอดบวมรุนแรง หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาฟาวิพิราเวียร์
๕ มีบริษัทผู้ผลิตยาหลายรายกำลังพัฒนายารักษาโรคโควิด-๑๙ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มออกจำหน่ายในปี ๒๕๖๕ เช่น molnupiravir เป็นยาเม็ดซึ่งใช้ได้ผลดีกับ
ผู้ป่วยอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง PF-07321332 ของไฟเซอร์ ดัดแปลงจากการพัฒนาเป็นยารักษาโรคซาร์ส dexamethasone ของสหราชอาณาจักร คาดว่าช่วยลดการเสียชีวิตได้ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
๖ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ประกาศว่าการรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้เป็นเรื่องหลอกลวง เช่น การอาบร่างกายด้วยแสง UV การใช้สบู่โลชันผสมโลหะเงิน การดื่มหรือฉีดน้ำยาหรือสารฆ่าเชื้อโรคเข้าร่างกาย
อ้างอิง
https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/70/wr/mm7002e1.htm
https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/70/wr/mm7037e1.htm?s_cid=mm7037e1_w
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99-chula-cov19/
https://www.facebook.com/sicresofficial/photos/pcb.377788450551348/377894380540755/
https://www.fda.gov/vaccines-blood-biologics/vaccines/emergencyuse-authorization-vaccinesexplainedhttps://www.govexec.com/oversight/2021/08/what-does-full-fda-approval-vaccine-do-if-its-already-authorized-emergency-
use/184575/
https://www.gpo.or.th/view/480
https://www.haaretz.com/israel-news/israel-unvaccinated-booster-65-serious-covid-19-cases-death-delta-1.10208784
https://www.nature.com/articles/d41586-021-02291-2
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/577/วัคซีนโควิด-19ชนิดต่างๆ/
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/new-zealand-reports-death-woman-after-pfizer-covid-vaccine-2021-08-30/
https://www.reuters.com/world/europe/germany-donate-all-remaining-astrazeneca-vaccines-aug-2021-07-07/
https://www.theguardian.com/world/2021/sep/13/fully-vaccinated-people-account-for-12-of-englands-covid-19-deaths
https://www.theguardian.com/world/2021/aug/11/oxfordastrazeneca-vaccine-rare-blood-clot-syndrome-has-high-mortality-rate
https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/media-resources/science-in-5/episode-53---covid-19-booster-shots?gclid=EAIaIQobChMIrq-c_KOu8wIV_p1LBR0n-Qo_EAAYASAAEgLcNfD_BwE
https://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/q-a-on-covid-19/q-a-on-covid-19-vaccines
https://www1.racgp.org.au/newsgp/clinical/unvaccinated-patients-dominate-covid-deaths-and-ic
https://www.youtube.com/watch?v=cSia-wmUCPs รายการถาม-ตอบ
https://www.nature.com/articles/ s41598-021-90551-6
https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-drugs-treatments.html
ข้อสงสัยเรื่องวัคซีน mRNA ฉีดวัคซีนผสมได้ผลดีจริงหรือไม่ ? Mahidol
Channel ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ ร่วมพูดคุยโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์
มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์
ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ. ดร. ป๋วย อุ่นใจ. “วิทยาศาสตร์ของการไล่ล่าและสยบไวรัส SARS-CoV-2
มฤตยูผู้อยู่เบื้องหลัง Covid-19” นิตยสารสารคดี ปีที่ ๓๖ ฉบับ ๔๒๓
มิถุนายน ๒๕๖๓.