“สุภาพบุรุษ”
ในบ้านศรีบูรพา
hidden (in) museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
หาก “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ยังมีชีวิต ปีนี้จะอายุ ๑๑๖ ปี
ในซอยเล็กใจกลางเมือง ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปรากฏอาคารสองชั้นทรงตะวันตกนาม บ้านศรีบูรพา ชื่อตั้งตามนามปากกาของเขา-นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่องค์การยูเนสโกประกาศเกียรติให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ที่ดินกว่า ๒๐๐ ตารางวาแปลงนี้เป็นของขวัญวันแต่งงานจากหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และบ้านหลังนี้เคยเป็นเรือนหอเขาด้วย ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ “บ้านนักเขียนแห่งแรกของไทย”
ตลอดชีวิตของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” สร้างสรรค์งานหนังสือพิมพ์-วรรณกรรมด้วยแนวคิดเป็นปากเสียงแทนราษฎรโดยยึดคติ “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น” และใช้คำว่า “สุภาพบุรุษ” เสมอเมื่อครั้งตั้งชื่อหนังสือรายปักษ์ หนังสือพิมพ์ หรือจัดตั้งสำนักพิมพ์เผยแพร่งานตน
ป้ายชื่อสำนักพิมพ์ยังประดับบนผนังของพื้นที่ชั้นล่างที่ทายาทต่อเติมเป็ นห้องหนังสือ จำลองมุมเขียนงานครั้ง “ศรีบูรพา” มีชีวิต ตั้งเครื่องพิมพ์ดีดบนโต๊ะประจำ รายล้อมภาพถ่าย ภาพวาด รูปเขียนสีน้ำ ที่สะท้อนชีวิตชายผู้ถูกจับตาจากรัฐบาลเผด็จการนำไปสู่การถูกคุมขัง ครั้งแรกปี ๒๔๘๔ และครั้งที่ ๒ ในปี ๒๔๙๕ หนักหนาสาหัสด้วยข้อหา “กบฏสันติภาพ” จองจำที่คุกบางขวางเกือบ ๕ ปี แต่โลกหลังซี่กรงไม่อาจขังหัวใจนักเขียนจึงมีผลงานหลายชิ้นเล็ดลอดสายตาผู้คุม ฝากคนนอกช่วยส่งต่อสำนักพิมพ์
โต๊ะกลางห้องจัดวางผลงานประดามีของ “ศรีบูรพา” ที่มักฉายชีวิตผู้คน การเมือง การต่อสู้เพื่อสิทธิ อย่างเรื่อง เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร, ชีวิตสอนอะไรแก่ข้าพเจ้า, บันทึกอิสรชน ทินกรณ์ของผู้ต้องคุมขังโดยข้อหาว่าเป็นกบฏ, ลาก่อนรัฐธรรมนูญ, เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕, การเมืองของประชาชน ฯลฯ
เราสนใจหนังสือ แลไปข้างหน้า กล่าวกันว่าคือนวนิยายดีที่สุดของ “ศรีบูรพา” มุ่งให้จบในสามภาค ทว่าทำได้สอง ต้น
ฉบับภาคปฐมวัยกำเนิดจากปลายดินสอในห้องขัง สะท้อนชีวิตคนจนกับคนรวยก่อนช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ ภาคมัชฌิมวัยเขียนหลังได้อิสรภาพ เล่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลใหม่สัญญากับประชาชนถึงระบอบประชาธิปไตย ตัวละคร “เซ้ง” ศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองควบคู่เป็นนักหนังสือพิมพ์ ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลจับกุมผู้คนและนักหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์ในนิยายจบที่เซ้งถูกตำรวจจับในบ้าน ยากที่ใครอ่านแล้วจะไม่เชื่อมโยงตัวละครว่าซ้อนภาพชีวิตผู้เขียน เสียดายไม่มีใครรู้ว่าหากมีภาคปัจฉิมวัยจะจบจริงอย่างไร และเหตุใดจึงไม่มี
เรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสารทันทีที่ถึงมือบรรณาธิการ เผยแพร่ ๑๕ ตอน (เมษายน-กรกฎาคม ๒๔๙๘) จึงจบภาคปฐมวัยหลังสิ้นลมหายใจ “ศรีบูรพา” ปี ๒๕๑๗ ยังได้พิมพ์รวมเล่มอีกหลายครั้ง เล่มที่พบในบ้านน่าตื่นเต้นตรงเป็นการรวมภาคปฐมวัย พิมพ์ปี ๒๔๙๘ โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์ ราคาเพียง ๒๐ บาท
ไม่เพียงเป็นวรรณกรรมการเมืองที่ได้อิสรภาพก่อนผู้เขียน ยังอาจเป็นฉบับเก่าแก่สุดที่พบในยุคนี้
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู
“แลไปข้างหน้า คือปรัชญาที่อ่านกี่ครั้งก็ร่วมสมัย เราเคยเดาใจแทน ‘ศรีบูรพา’ ว่าจะวางโครงจบอย่างไร นึกถึงฉากเปิดภาคปฐมวัยที่ตัวละครนั่งอยู่ในศาล ‘ศรีบูรพา’ บรรยายบุคลิก แต่ไม่บอกว่าใครเป็นใคร ให้คนอ่านเดา ซึ่งก็เท่ากับเป็นตัวละครในตอนจบภาคปัจฉิมวัยได้ แต่ไม่มีใครกล้าเขียนแทน เพราะไม่อาจคาดว่าท่านอยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไร เรื่องที่ยังไม่จบก็ดีตรงสะท้อนอนาคตประเทศที่ประชาธิปไตยยังค้างคา การที่ท่านมักทิ้งความคิดไว้ในผลงานนี่ละทำให้ผ่านมาถึง ๑๑๖ ปี ‘ศรีบูรพา’ จึงยังอยู่ แม้บ้านนี้จะดูเป็นห้องสมุดมากกว่าพิพิธภัณฑ์ แต่ก็มั่งคั่งทางอักษรที่คนรุ่นหลังควรมารู้จักสุภาพบุรุษบุคคลสำคัญของโลก”
ชมัยภร แสงกระจ่าง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๕๗ และประธานกรรมการกองทุนศรีบูรพา
บ้านศรีบูรพา
๓๕ ซอยราชวิถี ๔ ถนนราชวิถี
เขตพญาไท กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน ต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
โทรศัพท์ ๐๘-๙๙๘๗-๙๙๘๐
อ้างอิง
ชมัยภร แสงกระจ่าง. กุหลาบแห่งแผ่นดิน ประวัติศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ฉบับเยาวชน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน ๑๐๐ ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), ๒๕๔๘.