Image
คอมฯ ไทย ในความรับรู้
คนรุ่นหลัง  
ผศ. ดร. ธิกานต์ ศรีนารา
Interview
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ :  ผศ.ดร.ธิกานต์ ศรีนารา
อาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ที่สนใจคอมมิวนิสต์และเรื่องราวของชาวฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา วิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก รวมถึงผลงานวิจัยและงานวิชาการของเขาหลังจากนั้น ล้วนเกาะเกี่ยวอยู่กับประเด็นเหล่านี้แทบทั้งสิ้น เป็น ๒๐ ปีกับความต่อเนื่องในการคลุกคลีศึกษา ก็ควรนับได้ว่าเขาย่อมเป็นตัวจริงคนหนึ่งที่รอบรู้ในเรื่องซ้ายไทย ปัจจุบันผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธิกานต์ ศรีนารา เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังขลุกอยู่กับประเด็นประวัติศาสตร์ปัญญาชน ฝ่ายซ้าย มุ่งความสนใจและทุ่มเทให้แก่การสืบค้นสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ
ตอนนี้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังมีอยู่ไหม
ผมว่ามันพังลงไปพร้อมกับการเสียชีวิตของเลขาธิการพรรคฯ คนสุดท้าย ตอนหลัง ๆ มันแบ่งเป็นสองซีก กลุ่มที่เขาเชียร์ปีกเสื้อเหลืองก็ขัดกับระดับผู้นำ มีการจัดประชุมสมัชชา ๕ ตั้งเลขาธิการพรรคฯ ใหม่
ประชุมสมัชชา ๔ ปี ๒๕๒๕ แล้วป่าแตก หลังจากนั้นมีการประชุมสมัชชา ๕ แล้วหรือ
จัดไปแล้ว ตอนหลังผมเห็นเอกสารแถลงการณ์ของเขา เลขาธิการคนใหม่ชื่อ ประเสริฐ ท้าวธงชัย กรรมการกลาง
กรมการเมืองคนสำคัญก็มี วินัย เพิ่มพูนทรัพย์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่เป็นหนึ่งในเจ็ด
กรมการเมืองชุดก่อน
เรื่องคอมมิวนิสต์ไม่ค่อยมีบันทึกในประวัติศาสตร์กระแสหลักทั่วไป อาจารย์ศึกษาเรื่องนี้จากที่ไหน
มีเอกสารที่มาจากศูนย์กลางพรรคฯ โดยตรง เกี่ยวกับการประชุมในที่ต่าง ๆ เอกสารสิ่งพิมพ์ที่ทำในป่าและทำในเมือง
ส่งเข้าป่า เขาจะส่งหากัน บางทีส่งไปที่ต่างประเทศก็มี ให้แนวร่วมหรือคนทำงานของพรรคฯ ที่อยู่ในต่างประเทศอย่างวารสาร สามัคคีสู้รบ ก็ส่งไปที่สวีเดนด้วย

คือคอมมิวนิสต์ไม่ได้เข้าป่าหมด เนื่องจากต้องส่งกำลังบำรุงต่าง ๆ ยา กระดาษ สวัสดิการเข้าไป มีคนในเมืองไปส่งให้หรือส่งคนเข้าออก หน่วยที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่เขาจะตั้งบริษัทอำพราง เป็นเครือข่ายของเขา ต้องการเอาอะไรก็มีหน่วยในเมืองซึ่งใหญ่มาก หน่วยนี้แหละที่มีเอกสารอยู่เยอะ

ทีนี้หลังจากพรรคฯ ล่ม หน่วยของพรรคฯ ที่อยู่ในเมืองก็เอาเอกสารทั้งหมดมาให้นักวิชาการประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยช่วยจัดการว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างไร  เอกสารเหล่านี้ได้รับการนำมาเก็บที่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ แต่ตอนหลังระงับการให้บริการไว้ชั่วคราว ยังไม่ได้ให้ใช้เลยจนตอนนี้ ใครที่สนใจเรื่องนี้ก็ชอบมาถามหาที่ผม ผมพอมีแต่ที่ถ่ายเอกสารถ่ายรูปไว้บ้างเท่านั้น นอกนั้นก็อยู่ในนั้นทั้งหมด
ถ้ามีเด็กยุคนี้มาถามว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร ช่วยอธิบายให้เขาฟังหน่อย
คำว่าคอมมิวนิสต์เป็นทางแนวคิด แล้วเป็นรูปธรรมที่สร้างขึ้นจากแนวคิด ที่ปัจจุบันรูปธรรมที่สร้างขึ้นมันเป็นเผด็จการกันหมดแล้ว  เวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่อ้างตัวเป็นคอมมิวนิสต์ ส่วนใหญ่เป็นรัฐเผด็จการหมด อย่างจีนนี่ชัดเจนเลย ปรากฏการณ์เหล่านี้ก็กลับมาอธิบายว่าไอเดียแบบนี้ ถึงที่สุดมันจะไปลงเอยที่เผด็จการ

ในเมืองไทย ล่าสุดผมเห็นอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ที่ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ บอกว่าความคิดแบบคอมมิวนิสต์จะนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการ ไม่มีทางอื่น จะมีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าพวกนิยมคอมมิวนิสต์ก็มาเถียงกันใหญ่

คอมมิวนิสต์ที่เป็นไอเดียหรืออุดมการณ์ยังยึดถือได้ในแง่ที่ว่าคนมันเท่าเทียมกัน การครองกรรมสิทธิ์สิ่งของเสมอภาคกัน

มีนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งซึ่งเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อังกฤษ ตอนหลังลาออก เขาบอกว่าเขาลาออกจากพรรคคอมมิวนิสต์นะ แต่เขาไม่ได้ลาออกจากความเป็นคอมมิวนิสต์ เขาคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องมีความเป็นมนุษย์นิยม มีประชาธิปไตยมากกว่านี้

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือชื่อย่อ พคท. เป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีเป้าหมายที่จะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นแบบคอมมิวนิสต์ คนเท่าเทียมกัน มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยวิธีใช้กองกำลังติดอาวุธยึดอำนาจจากรัฐ แล้วตั้งรัฐบาลที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาปกครอง
“คอมมิวนิสต์ถือเป็นขบวนการใหญ่มากที่ตอบโต้รัฐ มันอาจจะผิดพลาดอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเป็นขบวนการเดียวที่มีคนจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วม ชาวนาโดยเฉพาะชนชั้นล่าง เป็นปฏิกิริยาการตอบโต้คัดค้านของประชาชนธรรมดาที่มีต่อรัฐไทย”
คือมองว่าสังคมไทยถูกขูดรีดโดยศักดินา ทางออกคือต้องโค่นพวกนี้ลง แล้วเปลี่ยนให้คนระดับล่างขึ้นไปปกครองแทน ซึ่งฝ่ายแรกไม่ยอมง่าย ๆ หรอก เขามีกองกำลังอาวุธพร้อมที่จะปราบ ต้องต่อสู้ด้วยอาวุธ แต่ตัวเองมีกำลังน้อยก็เลยต้องหลบซ่อนเคลื่อนไหวอยู่ในชนบท ตั้งฐานที่มั่นอยู่ในเขตป่าเขา

คอมมิวนิสต์ไทยรับอิทธิพลมาจาก เหมาเจ๋อตง แนวทางหลัก ๆ คือการประยุกต์ใช้ลัทธิมาร์กซ์ในการวิเคราะห์สังคมไทย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา คือกึ่งหนึ่งยังเป็นศักดินาอยู่ ในชนบทยิ่งเยอะ อีกกึ่งหนึ่งเป็นเมืองขึ้นของอเมริกาที่แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามา  ภายใต้สภาพสังคมแบบนี้กลุ่มคนที่ลำบากที่สุดคือชาวนากับกรรมกร เพราะฉะนั้นคนพวกนี้แหละที่จะเป็นพลังในการปฏิวัติ แนวทางของพรรคฯ คือต้องปลุกระดมคนเหล่านี้ขึ้นมา

การปลุกระดมเริ่มมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๒๔๙๐ เดิมทำงานในเมืองโดยเปิดเผย จนถูกกดดันหนักนับจากจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ แล้วจับ รวม วงศ์พันธ์ ประหารชีวิต พรรคฯ เลยรู้สึกว่าทำงานในเมืองไม่ปลอดภัยแล้ว ต้องลงสู่ชนบท นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

นับตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ ก็เลยลงสู่ชนบท ในเมืองก็ยังมีคนอยู่ แต่ให้ความสำคัญกับการปลุกระดมในชนบท ปลุกระดมชาวนาทำการปฏิวัติโดยใช้ชนบทล้อมเมืองแล้วยึดเมืองในที่สุด

พลพรรคของ พคท. มีทั้งชาวนา ปัญญาชน นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ นักศึกษา กรรมกร  แต่ตอนนี้พรรคฯ ล่มไปแล้ว ไม่มีอุดมการณ์นี้อยู่ในไทยอีกแล้ว
Image
โครงสร้างการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ เป็นอย่างไร
ระดับผู้นำจะคล้าย ๆ คณะรัฐมนตรี เขาเรียกว่าคณะกรรมการกรมการเมือง มีเจ็ดคน หนึ่งในกรมการเมืองเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคฯ มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคฯ รองลงมาจากคณะกรรมการกรมการเมืองคือคณะกรรมการบริหารกลางพรรคฯ ประมาณ ๓๐-๔๐ คน กลุ่มนี้เหมือนสภาผู้แทนราษฎร ถ้าประชุมใหญ่สมัชชาพรรคฯ ต้องมีกรรมการกลางครบ รองจากกรรมการกลางเป็นเลขาธิการภาค เลขาธิการจังหวัด กรรมการจังหวัด 
คอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ ใช่ไหม
เข้าพรรคฯ ไปไม่ใช่ว่าคุณจะได้เป็นสมาชิกทันที เข้าเป็นผู้ปฏิบัติงาน เป็นแนวร่วม พิสูจน์การทำงานของตัวเอง จนกระทั่งกรรมการที่เฝ้ามองเห็นถึงจะขยับขึ้นมาเป็นสมาชิกพรรคฯ ได้ ยากกว่าจะได้เป็น แต่พวกที่เป็นได้ง่ายคือชาวนา เขาพยายามจะให้ชาวนาขึ้นมาเป็นผู้นำ ต่อให้ไม่ค่อยมีความรู้ พูดไม่เก่ง แต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของแท้ เขาก็จะให้เป็นสมาชิกพรรคฯ
ช่วงหนึ่งคำว่าคอมมิวนิสต์เป็นเหมือนเครื่องมือเอาไว้เล่นงานศัตรูทางการเมือง
การโดนป้ายสีน่าจะเริ่มตั้งแต่ปรีดีแล้ว ต่อมาช่วง ๒๔๙๕ ก็มีกบฏสันติภาพ คนที่ออกนอกลู่นอกทางจากรัฐก็โดนข้อหาคอมมิวนิสต์ ปี ๒๕๐๑ ก็โดนเยอะ ข้อหาคอมมิวนิสต์แบบเหวี่ยงแห ยังไม่ใช่ ๑๑๒ ตอนนั้นมันคงไม่มีข้อหาอื่นที่แรง ๆ
เหมือนมาตรา ๑๑๒ ในตอนนี้ ก็ใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์นี่แหละ มันได้ทั้งในเชิงกฎหมาย ทั้งในเชิงการตราหน้าทางสังคมด้วยว่าเป็นพวกไม่ดี เป็นปีศาจ จริง ๆ ข้อหาคอมมิวนิสต์เป็นข้อหาว่าเป็นพวกปีศาจ เป็นผู้ก่อการร้ายชนิดหนึ่ง ที่ต่อท้ายว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ที่เรียกว่ามาร์กซิสต์ เหมาอิสต์ คืออะไร อันนี้เด็กก็ถามเหมือนกัน ช่วยอธิบายหน่อย
ง่าย ๆ ถ้ามี ism ต่อท้าย ก็เป็นลัทธิเป็นทฤษฎี Marxism ก็คือทฤษฎีของมาร์กซ์ ลัทธิมาร์กซ์  คาร์ล มาร์กซ์ เป็นคนสร้างทฤษฎีมาร์กซ์ขึ้นมา

ทีนี้ก็มีพวกที่ทำตามความเชื่อตามแนวคิดของมาร์กซ์ จะเรียกว่า Marxist คือ ist ต่อท้าย เป็นผู้ที่เชื่อในลัทธิมาร์กซ์ เป็นลูกศิษย์ของมาร์กซ์ พัฒนาตามแนวคิดของมาร์กซ์

เลนินเป็นมาร์กซิสต์คนแรก ที่รับเอาหลักทฤษฎีของมาร์กซ์มาประยุกต์ใช้ทำการปฏิวัติรัสเซีย เขาตั้งพรรคการเมืองชื่อบอลเชวิกขึ้นมาขับเคลื่อน ปลุกระดมผู้คนทำการปฏิวัติรัสเซีย ในปี ๒๔๖๐ สร้างรัฐคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก

เหมาเจ๋อตง ก็เป็นมาร์กซิสต์คนหนึ่ง เป็นผู้ที่เชื่อในลัทธิมาร์กซ์ พคท. เรียนรู้ลัทธิมาร์กซ์ผ่าน เหมาเจ๋อตง ก็เลยเรียกพวก พคท. ว่าเป็นเหมาอิสซึม เป็นคำในเชิงเหมือนกับวิจารณ์ เพราะว่าคุณไม่ใช่มาร์กซิสต์จริง ๆ โดยตรง คุณเรียนรู้มาร์กซ์ผ่าน เหมาเจ๋อตง เพราะฉะนั้นคุณจึงเป็นเหมาอิสต์มากกว่าที่จะเป็นมาร์กซิสต์ เพราะ พคท. ใช้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี การวิเคราะห์สังคม อะไรต่าง ๆ ตามเหมาหมดเลยใช้ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง แปดเล่ม เป็นคัมภีร์เลย จะเรียกตัวเองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เป็นเหมาอิสต์ถูกแล้ว ขบวนการชาวนาที่ได้รับประสบการณ์จาก พคท. ส่วนมากจะเป็นเหมาอิสต์

แต่เข้าใจว่าพวก พคท. เองไม่ได้ถือตัวเองเป็นแค่เหมาอิสต์เขาเคยบอกว่าศาสดาของเขา คือ มาร์กซ์ เลนิน และเหมา
“คนที่ออกนอกลู่นอกทางจากรัฐก็โดนข้อหาคอมมิวนิสต์ ยังไม่ใช่ ๑๑๒ ตอนนั้นคงไม่มีข้อหาอื่นที่แรงๆ เหมือนมาตรา ๑๑๒ ในตอนนี้ ก็ใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์นี่แหละ มันได้ทั้งในเชิงกฎหมาย ทั้งในเชิงการตราหน้าทางสังคมด้วยว่าเป็นพวกปีศาจ”
อะไรที่มาร์กซ์พูดหรือคิดขึ้นมา 
ไอเดียของมาร์กซ์คือ สังคมหนึ่งจะมีลักษณะอย่างไรให้ดูที่วิถีการผลิต คนดำรงอยู่อย่างไรก็ดูที่ว่าเขาอยู่ตรงไหนของวิถีการผลิต พูดง่าย ๆ ว่าคุณอยู่ตรงไหนของวิถีการทำมาหากิน คุณเป็นนายจ้างหรือเป็นลูกจ้าง ความคิดของคุณก็จะไม่เหมือนกัน นี่คือความแตกต่างทางชนชั้น และชนชั้นทั้งสองสัมพันธ์กันแบบขูดรีด ผมอธิบายแบบลดทอนมาก ๆ ง่าย ๆ คือนายจ้างมีชีวิตอยู่สุขสบาย เพราะลูกจ้างแรงงานถูกขูดรีด ไม่ใช่มีความแตกต่างทางชนชั้น แต่อยู่กันอย่างมีความสุข ด้วยความรักใคร่กลมเกลียว เมตตากรุณา อุปถัมภ์ ไม่ใช่แบบนั้น แต่อยู่ด้วยการที่คนชนชั้นสูงขูดรีดชนชั้นล่าง ซึ่งมาร์กซ์บอกว่าเป็นแบบนี้มาตลอดประวัติศาสตร์ พอขูดรีดมาก ๆ แล้วชนชั้นล่างทนไม่ไหวจะลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติ ยังไงก็ต้องเกิด ปฏิวัติเสร็จ สังคมมันจะเปลี่ยน  อันนี้เป็นคำทำนายที่เขาเรียกว่า historical materialism วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ คน สภาพแวดล้อมที่เป็นวัตถุ ผลักให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยน

ความคิดของมาร์กซ์ก็ส่งผลสะเทือนทั่วโลก ทำให้คนเชื่อมั่นในตัวเองว่า ประวัติศาสตร์มันจะเป็นอย่างนี้แน่ ๆ จะทำการปฏิวัติสำเร็จ สังคมทุนนิยมศักดินาจะต้องพังลงโดยมือของกรรมกรแน่นอน
จากมาร์กซิสม์ พอมาเป็นเหมาอิสม์มันต่างกันยังไง 
มาร์กซ์ไม่ได้เขียนว่าคุณจะต้องปฏิบัติการอย่างไร จัดตั้งองค์กรอย่างไร คนที่เขียนน่าจะเป็นเลนิน เพราะมีประสบการณ์ในการปฏิวัติ สตาลินมารับช่วงต่อจากเลนิน เขียนเป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ เรื่องกฎไดอะเล็กติก สังคมห้าขั้น มีสังคมบุพกาล สังคมทาส สังคมศักดินา สังคมทุนนิยม แล้วก็สังคมคอมมิวนิสต์ มันจะเปลี่ยนไปแบบนี้ 

เหมาก็รับมาอธิบายต่อ พคท. รับของเหมามาก็อธิบายแบบนี้ เป็นเหมาอิสต์ในแง่การวิเคราะห์วิวัฒนาการสังคม ยุทธวิธีทางการทหารด้านต่าง ๆ ของเหมา ผู้นำพรรคก็เอามาปรับใช้กับ พคท.  และใช้ สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง แปดเล่มชี้นำเหมือนคัมภีร์ที่ห้ามเถียง เอาไว้อ้างอิงเหมือนตำรากฎหมาย

ช่วงหนึ่งผู้บริหารกลางพรรคที่มาจากจีนบอกว่าให้ตั้งฐานที่มั่นภูพาน คนอยู่ตรงนั้นจริง ๆ บอกว่าตั้งฐานที่มั่นไม่ได้ จะโดนปราบได้ง่าย อยู่ดี ๆ ก็รวมพลเยอะ ๆ ทั้งหมดไว้ที่นั่นให้รัฐบาลมาปราบ จะบ้าเหรอ ภูพานไม่ใช่ภูสูงชันที่เข้าถึงยาก ต้องใช้วิธีตั้งทับเป็นหย่อม ๆ ถ้าเขามาก็หลบหลีก
ไม่ว่าจะเป็นฐานที่มั่นหรือกระจายอยู่เป็นทับ ภูพานก็ไม่ได้กว้างใหญ่มากและถูกล้อมพื้นที่ราบทำไมรัฐปิดล้อมกวาดล้างให้สิ้นซากไม่ได้
ใครจะชนะต้องมีพวก พรรคฯ ไทยมีพรรคฯ ใหญ่หนุนหลัง เวียดนามปลดปล่อยได้เพราะโซเวียต เราปลดปล่อยได้ถ้าเพื่อนบ้านมาช่วย นักศึกษาจำนวนมากในพรรคฯ ก็ไม่เห็นด้วยที่พรรคฯ ไทยไปพึ่งพาพรรคฯ จีนมากเกินไป ไม่รู้จักพึ่งตัวเอง ถามว่าทำไมพรรคฯ ล่ม ตอนแรกก็จะบอกว่าเพราะข้างในพรรคฯ ทะเลาะกัน แต่ตอนหลังผมคิดว่ามันเป็นความขัดแย้งในระหว่างพวกคอมมิวนิสต์ด้วยกันในสากลด้วย พอพรรคฯ ไทยถูกตัดขาดออกจากจีนก็แพ้เลย
“ก่อนคอมมิวนิสต์จะขยายตัวเข้าไปในชนบท ชาวนาถูกละทิ้งอยู่กับความยากจน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ ไม่มีโอกาสได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผมรู้สึกว่าพรรคเป็นเหมือนมิชชันนารีเข้าไปสอนนั่นนี่”
ถ้าดูจากขนาดของกองกำลัง ทปท. เล็กมาก จะรบชนะกองทัพขนาดใหญ่ของรัฐได้อย่างไร
รบแบบเผชิญหน้าโดยตรงไม่ได้ พรรคฯ เลยจัดตั้งไปเรื่อย ๆ  เขารู้ตัวว่ากองกำลังของเขาเล็ก หลังจากนักศึกษาเข้าร่วมครั้งใหญ่แล้ว รวมทั้งประเทศคิดว่าน่าจะ ๒-๓ หมื่น อันนี้ผมประเมิน อาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้อง เพราะนับยาก ต่อให้พรรคฯ เองก็สำรวจไม่ได้ เพราะทำงานลับ แล้วก็กระจัดกระจายไปทั่ว คงนับได้คร่าว ๆ เท่านั้น ไม่เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย เขาทำงานในเมือง แล้วประกาศรับสมาชิกลงทะเบียน เขายืนยันจำนวนได้เลย ของเรานับปากเปล่าด้วย
Image
จากที่พรรคฯ เคยเล็ก ๆ พอมีนักศึกษาคนหนุ่มสาวเข้าไป เป็นภาระหรือช่วยเสริมกำลัง
น่าจะเป็นทั้งสองด้าน เพราะว่านักศึกษามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ทำงานลำบากไม่เป็น อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เล่าอย่างตรงไปตรงมาในหนังสือ น้ำป่า ว่าไปปีแรกก็ทะเลาะกันแล้ว กองป่าทางภาคใต้เป็นที่แรกที่ทะเลาะกัน นักศึกษาทะเลาะกับผู้นำในเขต สหายชาวนาบางส่วนก็ไม่ชอบนักศึกษา เพราะมันมาสะอาดสะอ้าน หยิบโหย่ง งานทำไม่เป็น ทะเลาะกัน อาจารย์ยิ้ม (สุธาชัย) อยู่ในพรรคฯ แค่ปีเดียวก็ออกมาแล้ว
นักศึกษาที่เข้าป่าเชื่อมั่นว่าแนวทางของพรรคฯ จะเปลี่ยนสังคมได้จริงหรือเป็นการหนีตายของคนจนตรอก
ช่วงหลัง ๑๔ ตุลาฯ ไล่ทรราชออกไป แต่นักศึกษาก็เห็นว่าสังคมมันไม่ได้เปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง แล้วทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนได้ ตอนนั้นกระแสความคิดข้อเสนอของ พคท. เป็นระบบที่สุด มันมีพลังที่สุด  หลัง ๑๔ ตุลาฯ ใหม่ ๆ มีการเถียงกันเรื่องจะเชิดชู ๑๔ ตุลาฯ ยังไง “นายผี” อัศนี พลจันทร ใช้นามปากกา “อุทิศ ประสานสภา” เขียนหนังสือเข้ามาพิมพ์ในเมืองชื่อ โต้ลัทธิแก้ไทยฯ วิจารณ์ ผิน บัวอ่อน สมาชิกพรรคฯ คนหนึ่งที่เชิดชูแนวทาง ๑๔ ตุลาฯ จงเจริญ พรรคฯ ยอมไม่ได้ มันผิดแนวทางพรรคฯ ต้องเป็นแนวทางชนบทล้อมเมือง แต่ ๑๔ ตุลาฯ เป็นการลุกขึ้นสู้ในเมือง

นักศึกษาได้เห็นคำอธิบายที่เป็นระบบของพรรคฯ ได้ตื่นเต้น
กับงานเขียนของ “นายผี” อัศนี พลจันทร คนในตำนานแล้วโดยรวมคำอธิบายของ พคท. เป็นระบบมากในการเปลี่ยนแปลงสังคม นักศึกษาก็เลยเห็นด้วย ส่วนใหญ่มอง พคท. อย่างโรแมนติก เห็นด้วยตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ เป็นต้นมา ชูธงปฏิวัติกันเต็มไปหมด นักศึกษาจำนวนมากพิมพ์หนังสือว่าด้วยการปฏิวัติ เรียกได้ว่าโฉ่งฉ่างมาก ล่อการปราบมาก มีกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรม บทเพลง งานวรรณกรรมต้องเปลี่ยน มีการรื้อฟื้นประวัติของ เช กูวารา  จิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นมาพิมพ์ใหม่ กรณีของจิตรยิ่งทำให้ประทับใจอยากจะปฏิวัติ ภาพลักษณ์ของจิตรคือเป็นนักศึกษาเหมือนพวกเขา และเป็นอัจฉริยะมากขนาดนั้น ยังเลือกที่จะไปรบ ไปร่วมกับ พคท. จับปืนต่อสู้ทำการปฏิวัติ  เพราะฉะนั้นหลาย ๆ คนโดยเฉพาะนักกิจกรรมที่เขาอ่านจริง ๆ เขาอยากจะปฏิวัติ  วิสา คัญทัพ ตอนเข้าป่าเขียน บันทึกจากภูพาน บอกว่า อยากจะเข้ามานานแล้ว ไม่มีใครชวน  คือ พคท. เขาไม่ได้ให้คนเข้าตามอำเภอใจ ถ้ามีนักศึกษาอยู่ในเมืองก็ยิ่งดี คือไม่จำเป็นไม่ต้องเข้า คนที่จะเป็นกองกำลังของเขาจริง ๆ ที่เขาอยากได้คือพวกชาวนา ชนชั้นล่างมากกว่า นักศึกษาเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง คุณทำงานหรือไม่ก็เป็นแนวร่วมอยู่ในเมืองก็ได้ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากให้เข้า

ทีนี้เหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ มันกดดัน สร้างความแค้น อีกอย่างรัฐบาลขวาจัด ไม่ได้อยู่เฉย ๆ ตามจับด้วย หลายคนเลือกเข้าป่าร่วมกับพรรคฯ พวกที่หนีตายก็มีแน่ ๆ พวกตามแฟนตามสามีไปก็มี พวกไปไม่รู้เรื่องรู้ราวก็มี
“เดิม (พคท.) ทำงานในเมืองโดยเปิดเผย จนถูกกดดันหนักนับจากจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ แล้วจับ รวม วงศ์พันธ์ ประหารชีวิต พรรคเลยรู้สึกว่าทำงานในเมืองไม่ปลอดภัยแล้ว ต้องลงสู่ชนบท นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ”
ตอนนี้ถ้าใครบอกว่าตัวเองเป็นคอมมิวนิสต์หรืออยากเป็น เหมือนกับหลงยุคไหม
ถ้าเขามาแบบนี้ ผมก็ว่าบ้านะ คนที่เป็นคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่เขาไม่เปิดเผยตัวหรอกว่าตัวเองเป็น จะทำงานแบบลับ ๆ ผู้นำพรรคฯ ถูกจับติดคุกเป็น ๑๐ ปี เขาไม่เปิดเผยตัว ไม่ได้บอกว่าเขาเป็น อยากจับกู มึงก็จับไป ออกจากคุกก็กลับไปเข้าพรรคฯ อีก
ทุกวันนี้นับว่าคอมมิวนิสต์จบไปแล้ว มองคุณูปการทางประวัติศาสตร์ คอมมิวนิสต์สร้างอะไรไว้บ้าง
ในแง่หนึ่งก็สร้างพวกผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองที่มีประสบการณ์ไว้จำนวนหนึ่ง ทำให้ชาวนาที่เติบโตมาในสังคมคอมมิวนิสต์ยุคสงครามเย็นที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีทักษะทางการเมือง ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ทางการเมือง มีประสบการณ์ มีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อพรรคฯ มันล่มสลาย หลายคนก็กลับมาเล่นการเมือง พูดง่าย ๆ มันเหมือนโรงเรียนหรือเบ้าหลอมอย่างหนึ่ง

เอาเข้าจริง ๆ ก่อนคอมมิวนิสต์จะขยายตัวเข้าไปในชนบทชาวนาพวกนี้ถูกละทิ้งอยู่กับความยากจน การที่เขาไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ ไม่มีโอกาสได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผมรู้สึกว่าพรรคฯ เป็นเหมือนมิชชันนารีที่เข้าไปสอนนั่นนี่ นี่ผมเปรียบเทียบเอาเอง คิดเอาเองมานานแล้ว

มีชาวนาจำนวนมากที่ได้เป็นหมอ พรรคฯ ส่งไปเรียนที่จีน ฝังเข็มได้ ผมอ่านบันทึกของสหายหญิงชาวบ้านคนหนึ่งทางภาคใต้ เขาบอกว่าทุกวันนี้ยังเชิดชูพรรคฯ มาก เหมือนเป็นพ่อแม่เลย เขาจบแค่ ป. ๔  พอพรรคฯ เข้ามา เขาได้เรียนหนังสือมีความรู้และกล้าที่จะเป็นผู้นำ รู้จักศักยภาพตัวเอง อันนี้ในแง่ปัจเจก

ในเชิงสังคม คอมมิวนิสต์ถือเป็นขบวนการใหญ่มากที่ตอบโต้รัฐ มีชาวนาร่วมอยู่ด้วยเยอะ ทำการต่อสู้คล้าย ๆ การต่อต้านอาณานิคม มันอาจจะผิดพลาดอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเป็นขบวนการเดียวที่มีคนจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วม ชาวนาโดยเฉพาะชนชั้นล่าง เป็นปฏิกิริยาของการตอบโต้คัดค้านของประชาชนธรรมดาที่มีต่อการที่รัฐไทยกับอเมริการ่วมมือกัน  ถ้าจะมองถึงคุณูปการ มันเป็นบทเรียนที่เราต้องศึกษาเรียนรู้ ว่าอันไหนที่มีค่า ที่ผิดก็ไม่ต้องไปทำซ้ำ แต่อันที่มีประโยชน์ควรสรุปออกมา เพื่อเป็นแนวในการวางแผน วางยุทธศาสตร์ใหม่

แต่ปัจจุบันเหมือนปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ไม่เอาเลย ซึ่งผมว่าอันนี้ผิดพลาดแน่ ถ้าคุณปฏิเสธขบวนการต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริง ผมเสนอว่าต้องเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากขบวนการนี้ การจัดตั้งเครือข่าย การวางแผนระยะยาว การรู้จักสู้ รู้จักถอย รู้จักหลบหลีก
ไม่ใช่ชื่นชมยกย่องชนิดหน้ามืดตามัว แต่รู้ว่าอันไหนที่น่าจะประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้