Image
ศิลป์  สู้  ศึก
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง 
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“หกปีในป่า คือมหาวิทยาลัยชีวิตของผม”  
“แคน สาริกา” 
สื่อมวลชน
Image
“สหายประชา” ทหาร ทปท. วัย ๑๘ ปี ที่โรงเรียนการเมือง-การทหาร บริเวณห้วยแม่นน ฐานที่มั่นภูพาน เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๙ ถ่ายโดย “สหายรัศมี”
อดีต 
“สหายประชา” ทหาร ทปท. หน่วยโฆษณา เขตงานภูสระดอกบัว/บรรณาธิการ เนชั่นสุดสัปดาห์

ปัจจุบัน 
คอลัมนิสต์อิสระ
จิตใจแห่งคนหนุ่มสาว
จิตใจของคนหนุ่มสาวไม่ว่ายุคไหนก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละเขาต้องแสวงหา

คนหนุ่มอายุ ๑๐ กว่าปี กล้าเข้าป่าจับอาวุธ ถ้าคิดจากวันนี้ก็คิดว่าเราทำไปได้อย่างไร  นักศึกษาบางคนเป็นสมาชิกพรรคฯ ตั้งแต่อยู่ในเมือง แต่เราไปแบบไม่รู้อะไรเลย เดินทางคนเดียวจากกรุงเทพฯ ถึงหมู่บ้านโพนทอง อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ  เรามารู้ทีหลังว่าคนนอกมองพื้นที่แถวนี้เป็นเหมือนเขตปลดปล่อย ในหมู่บ้านจะเป็นอารมณ์แบบนี้

ต้นปี ๒๕๑๙ มีสัญญาณแล้วว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นในเมือง นักศึกษาหลายคนจึงตัดสินใจเข้าป่า คนหนุ่มมาอยู่ด้วยกัน อารมณ์ก็เหมือนไปออกค่ายอย่างนั้นแหละ บรรยากาศในนั้นสนุกหมดละ เป็นเรื่องใหม่ของเรา ไม่มีทหารรัฐบาลมารบกวน

เขตงานภูสระดอกบัวที่ผมอยู่เรียกว่าจังหวัด ๔๔๔ จากจุดนี้ต้องไปเรียนโรงเรียนการเมืองการทหารที่ภูพาน เขตจังหวัด ๑๑๑ และ ๓๓๓  ตรงนั้นเป็นฐานที่มั่น เป็นภูที่ยกตัวขึ้นจากที่ราบมีชุมชนไม่ถึง ๒๐ หมู่บ้าน เป็นไทโซ่ ที่เราเรียก “บรู” กับชาวภูไทบ้าง

สมัยนั้นยังไม่มีถนน เดินเท้าไป ๒ คืน คืนแรกนอนคำชะอี อีกคืนถึงดงหลวง  โรงเรียนการเมืองฯ อยู่ริมห้วยแม่นน บ้านมะนาว มีนักศึกษามาจากทางอื่นด้วย รวมแล้ว ๒๐ กว่าคน

เรียนลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ที่เราเคยอ่านมาบ้าง แต่ที่นี่มีหลักสูตร เริ่มเรียนราวเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ เรียนการเมืองเป็นเดือน คนสอนมีสหายชาวนากับปัญญาชนที่เรียนจบมาจากจีน และสหายหญิงที่เข้าป่ารุ่นเดียวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ชื่ออุทัยวรรณ เขาไปอยู่วิทยุ สปท. ที่คุนหมิง แล้วกลับมาสอนเราอยู่ที่ภูพาน  เรารู้เรื่องจิตรจากเธอนี่แหละ นั่นเป็นครั้งแรก ก่อนนั้นเรารู้แต่จากหนังสือ เรียนการเมืองจบ จากนั้นเรียนการทหารนิดหน่อย ฝึกยิงปืน เหมือนบังเอิญจบหลักสูตรวันที่ ๖ ตุลาฯ พอดี

พอจบหลักสูตรก็แยกย้ายกันกลับเขตงานตน ลุงเจริญพาผมกลับภูสระดอกบัว 

ได้มาภูพานอีกทีตอนพรรคให้คนที่ทำงานอยู่หน่วยโฆษณาการมารับการอบรมหลักสูตรนักเขียนนักข่าว อยู่หลายเดือน  ในหน่วยศิลป์มีทั้งชาวนาและปัญญาชน ครั้งนี้ได้เจอนักศึกษาจากเมืองหลายคน ที่ภูสระฯ มีนักศึกษาแค่สองคน

หลังจากนั้นไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ทำงานอยู่แต่ที่เขตภูสระฯ ขลุกอยู่กับชาวบ้าน มีความรู้สึกเป็นเนื้อเดียวกับเขามาก
จะเอาธงแดงไปปักที่สนามหลวง
ในกองป่า พอใครเข้าป่าเป็นทหารกองทัพปลดแอกทั้งหมด จบจากโรงเรียนการเมืองการทหารแล้วไปคัดแยกหน่วยอีกทีตามภาระหน้าที่ เป็นทหาร หน่วยมวลชน หน่วยแพทย์ หน่วยลำเลียง แต่ในภาพรวมสังกัดกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยหรือ ทปท.

นักศึกษาส่วนใหญ่ก็จะทำงานด้านการศึกษา งานมวลชน งานโฆษณา ผมอยู่หน่วยนี้  ไปสนามรบก็ไปในฐานะนักข่าวใช้เทปคาสเซตต์ไปบันทึกเสียงปืนมารายงานข่าวโฆษณา

เราโฆษณาว่าจะเอาธงแดงไปปักที่สนามหลวง ชัยชนะอยู่แค่เอื้อม

ชีวิตของคนรวมหมู่ เราอยู่กันด้วยความหวัง เรารู้ว่ามีการต่อสู้ของพวกเราอยู่ทุกหนทุกแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีแนวหลังที่ไว้วางใจได้ เราเชื่อมั่นว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้น

จนตอนท้าย “จัดตั้ง” ไม่กล้าปลุกระดมผู้คนแล้ว แต่ก่อนปืนอาก้าใครก็อยากถือ ตอนนี้ไม่อยากถือ หนัก มาถึงวันที่ไม่อยากถือปืน ปืนเบาแค่ไหนก็หนัก

มันตลกและหักมุม เป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก เราเป็นฝ่ายโฆษณาการ ต้องเป็นคนไปแจ้งตามหมู่บ้านว่าเราจะเลิกการปฏิวัติ ต้องไปอธิบายความว่าทำไมต้องเลิก เขาก็ด่าเราบ้างไม่รู้ว่ามันจะถูกหรือผิด เราคิดว่ามันไปไม่ได้แล้วก็หยุด
ช่วงที่น่าประทับใจในป่า
ที่ยังฝังใจคือช่วงย่ำแย่ของกองป่า ที่ได้เห็นความเป็นมนุษย์ของผู้คนออกมา เห็นความเสียสละ ความเห็นแก่ตัว กองป่าย่ำแย่ แต่เราได้เห็นน้ำใจของคนที่อยู่ด้วยกันดูแลกันไป พอออกจากความเป็นนักอุดมคติเขาก็เป็นคนธรรมดาที่มีรักโลภโกรธหลง ก็จะออกมาในช่วงเวลานี้

ช่วงอยู่กับอุดมคติก็เป็นอีกด้าน ทุ่มเททุกอย่างเพื่อไปสู่จุดนั้น
ไม่กลัวความยากลำบาก ไม่กลัวตาย พอพ้นจุดนั้นก็กลับมาสู่ความเป็นจริงของสังคม

วันเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของกองป่าเป็นช่วงที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุด ตอนนั้นแหละคือมนุษย์ น้ำใจระหว่างเพื่อนฝูงพี่ป้าน้าอา คนที่เคยดูแลผมตั้งแต่ตอนเพิ่งมาจากกรุงเทพฯ เขาหมดความหวังที่จะสู้ต่อ แต่ยังห่วงเรา เราบอกว่าเราอยู่ได้ เขากลับไปรายงานตัวแล้วยังแอบเอาเสบียงอาหารมาส่งให้ ยังดูแลเราอยู่ ตอนผมออกมามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ได้บ้านกับที่ดิน ๑๕ ไร่ ที่บ้านน้อมเกล้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ผมยกให้พี่สาวสหายชาวนาคนนั้น ตอบแทนที่เขาดูแลเรามาตั้งแต่แรก เขาออกก่อน รัฐไม่ได้ให้ คนที่ได้คือตอนออกพร้อมกันราว ๒๐๐-๓๐๐ ครอบครัว

วันแรกเราเข้าป่าด้วยอุดมคติ แต่วันสุดท้ายเราอยู่ด้วยกันแบบไปไหนไปด้วย

ช่วงที่ถูกทางการเปิดยุทธการ เราต้องหลบซ่อน เสบียงอาหารมีจำกัด เราต้องเอาข้าวเหนียวที่มีอยู่น้อยนิดมาต้มกิน กับข้าวไม่มี กินกับเกลือกับหน่อไม้ เป็นช่วงยากลำบาก
ที่เรานึกถึงอยู่ตลอด กับช่วงป่วยไข้ ลำบากมาก บางทียาก็ขาดแคลน บางคนเสียชีวิตไปด้วยไข้มาลาเรีย 
วิชาสื่อในมหาวิทยาลัยชีวิต
หกปีนั้นคือมหาวิทยาลัยชีวิตของผมเลย เป็นต้นทุนชีวิตสำหรับทุกอย่างที่ทำให้มาต่อยอดได้ ที่มาทำงานเขียน ทำหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ออกจากป่ามาจนเกษียณ ถ้าไม่มี ๖ ปีนั้น
ก็คงไม่มีวันนี้ 

ชอบอ่านหนังสือมาแต่เด็ก แต่ได้เริ่มปฏิบัติการเขียนจริง ๆ ก็ตอนอยู่ในป่า เราไม่ได้อยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่ต้น การทำ
งานเขียนงานข่าวตอนอยู่ในป่าทำให้เรารู้สึกว่าชอบการเขียน

พอออกจากป่าก็เอาชีวิตของมิตรสหายมาถ่ายทอดให้คนรู้ว่าพวกเขาออกมาจากป่าแล้วเป็นอยู่อย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างต่อยอดมาจนทำงานสื่อ 

จากนั้นก็ยึดอาชีพเขียนหนังสือต่อมา เขียนสารคดีอะไร พวกนี้ จนขยับมาทำงานข่าวเต็มตัวตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เป็นฟรีแลนซ์เขียนสารคดี เขียนข่าวลงนิตยสารการเมืองสี่ถึงห้าฉบับ จนมาอยู่ที่ ผู้จัดการรายสัปดาห์ เมื่อปี ๒๕๓๒ จนปี ๒๕๔๐ ไปอยู่ เนชั่นสุดสัปดาห์ 

การเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการดูแลผู้คน วิธีคิดแบบคนป่า ได้เอามาใช้ตอนเป็นบรรณาธิการ เนชั่นสุดสัปดาห์ อยู่กันแบบอบอุ่น ดูแลกัน ให้ไปถึงจุดหมายในการทำงานเดียวกันได้  ตอนอยู่ป่ายามยากลำบากต้องมีหลักคิดว่าจะดูแลกันอย่างไร ไม่ใช่แค่การโฆษณาอย่างเดียว เจ็บไข้ได้ป่วย
ต้องดูแลเขา เราก็ใช้หลักคิดแบบนี้มาใช้ในการจัดการงานบุคคลในองค์กร ที่จะทำให้เราเป็นหัวหน้าแบบไหน
Image
เป็นธรรมชาติ...ผึ้งก็ไปหาฝูงผึ้ง
ประยงค์ มูลสาร
นักเขียน
Image
ภาพเดียวในป่าของอดีต “สหายยศ” หรือ ประยงค์ มูลสาร อดีต ส.ส. พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย จังหวัดยโสธร ถ่ายโดย สำราญ รอดเพชร นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่ขึ้นไปทัวร์ภูพานทำข่าวช่วงต้นปี ๒๕๒๓
อดีต 
“สหายยศ” ทหาร ทปท. ฐานที่มั่นภูพาน/ส.ส. ยโสธร พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย/คนขายน้ำเต้าหู้

ปัจจุบัน 

เขียนหนังสือ และกำลังเคลื่อนไหวสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์บนฐานที่มั่นภูพาน
ตอนนั้นผมเป็นผู้แทนฯ อายุน้อยที่สุดในสภา คราวเลือกตั้งหลัง ๑๔ ตุลาฯ เราเป็นคนในกลุ่มนั้น ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เอาการต่อสู้เอาเรื่องวีรชนมาเล่าให้ฟัง เขาก็ชื่นชมลงคะแนนให้ ได้ด้วยศรัทธา แต่หลังได้เป็นแล้วก็ยังต้องพิสูจน์อีก

จากบ้านเกิดยโสธร บวชเรียนเร่ร่อนไปเรียนรามคำแหง มีขบวนการต่อสู้ ก็เจอกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัย ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ พินิจ จารุสมบัติ  วิสา คัญทัพ  บุญส่ง ชเลธร  เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ผึ้งก็ไปหาฝูงผึ้ง เขียดก็ไปหาเขียด เสียงร้องจะบอก คนก้าวหน้าก็ไปรวมกัน สีสลิ่มก็ไปด้วยกัน คนมันหลอกคนไม่ได้

อยากบอกว่าศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อกันไม่ได้สร้างด้วยเงิน 
ความรักไม่ได้ด้วยการเอาเงินไปฟาดหัว 
...
ความพ่ายแพ้มีได้ แต่ไม่ใช่แพ้แบบโง่ ๆ  ต่อสู้อย่างถึงที่สุด
แล้วสู้ไม่ได้ อย่างนั้นไม่ว่ากัน การเป็นนักปฏิวัติไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาอุปโลกน์ตัวเองเป็นผู้นำ

ตอนเข้าป่าผมเข้ามาในฐานะนักการเมือง ผมเป็นนักการเมือง
มาจากพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พูดง่าย ๆ ว่าผมมาในฐานะแนวร่วม อยู่ก็ในฐานะแนวร่วม ไม่ได้จัดตั้งใครมาเข้าร่วมกับผม พูดตรง ๆ ผมไม่ใช่ลูกหม้อคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นการให้การยอมรับของคนในป่าจะน้อย พอเลิกแล้วผมไม่ยุ่งกับขบวน
...
ชีวิตที่ผ่านมาผมใช้ไปอย่างไม่ได้วางแผน เป็นไปตามแต่จะเป็น แก้ปัญหาไปเป็นเรื่อง ๆ แต่เข็มทิศใหญ่น่ะมีอยู่ จะไปทางนี้ละผมยังมีอุดมการณ์มั่นคง บางช่วงขายน้ำเต้าหู้กิน ไม่ได้ไปรับตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นที่ปรึกษา ตอนนี้กินเงินผู้สูงอายุเดือนละ ๗๐๐ บาท

คงไม่ไปทำอะไรแล้ว เขียนหนังสือเท่าที่จะเขียนได้ ผมเขียนมาก แต่งานที่ไม่ดีก็ไม่เอาออกมาพิมพ์ ตั้งใจว่าชั่วชีวิตจะมีสัก ๑๐ เล่ม ตอนนี้เตรียมได้ ๙ เล่มแล้ว ทำครบคือตายได้ตาหลับ
Image
อย่ามองข้ามพลังของคนเล็ก ๆ
สุนี ไชยรส
นักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง
Image
“สหายอำไพ” ในเขตงานภูซาง เมื่อปี ๒๕๒๒ ถ่ายที่หน้าบ้านไม้ไผ่ “ในทับ” ที่สร้างด้วยตัวเอง  เธอบอกว่าเป็นหลังเดียวที่สร้าง นอกนั้นนอนเปล  ภาพนี้เป็นภาพเดียวที่มีโอกาสได้ถ่ายในป่าและได้ถือปืน  

“ปรกติถือปืนเอ็ม ๑๖ แต่ในภาพนี้ยืมปืนอาก้าของสหายมาถ่ายรูป ชุดจะขาดเปื่อย ต้องปะไปปะมาทั้งตัว เพราะอยู่ในเขตจรยุทธ์ที่มีเสื้อผ้าชุดทหารจำกัดมาก คนละสองชุด  ปรกติ
เขตจรยุทธ์จะไม่ได้ถ่ายรูป เพราะเกรง “เสียลับ” จะกระทบต่อครอบครัวได้  ภาพนี้ถ่ายโดยสหายนักเรียนคนหนึ่งที่มีฝีมือล้าง อัดภาพอย่างง่าย ๆ รูปนี้อัดมาเล็ก ๆ เท่านิ้วก้อย ส่งฝากมาให้แม่ที่บ้าน แม่เก็บไว้ หลังออกจากป่านำมาขยายใหญ่ขึ้น ภาพจึงไม่ค่อยชัด”
อดีต 
“สหายอำไพ” ทหาร ทปท. เขตงานภูซาง/นักแปล/กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ปัจจุบัน 
อาจารย์มหาวิทยาลัย
ทำไมคนหนุ่มสาวยุคนั้นต้องไปเข้าป่า
ดังขึ้น เรียนจบจากธรรมศาสตร์แล้วเราไปอยู่กับกรรมกร เดือนมีนาคม ๒๕๑๙ ถูกจับที่อ้อมใหญ่ข้อหาคอมมิวนิสต์ ช่วงนั้นมีการคุกคามหนัก 

เหมือนกับสมัยนี้ พอถูกจับก็ไม่ให้ประกันตัว ขึ้นศาลทหาร ขังลืม  เราถูกซ้อมในคุก ผู้คุมบอกจะลงโทษให้ เราบอกคนที่ทำว่า เธอกับฉันอยู่ใต้สถานการณ์ที่ถูกเอาเปรียบเหมือนกัน ฉันไม่เอาโทษเธอ  วันรุ่งขึ้นม็อบมาหน้าเรือนจำ กดดันให้ปล่อยตัว เราเลยได้ประกันตัว วงเงินคนละ ๒ แสนบาท มีนายทุนจบจากเมืองนอกมาประกันตัวให้ แต่เราหนีประกันเข้าป่า เรื่องนี้เป็นปมอยู่ในใจมาตลอด
รู้ไหมว่าเข้าป่านั้นเสี่ยงตาย
รู้ ตอนนั้นมีวิทยุคลื่นสั้นก็แอบฟังกันอยู่ ได้ยินข่าวการสู้รบกันอยู่ตลอด แต่อย่างไรก็ต้องไป การปราบปรามที่โหดร้ายรุนแรง เหวี่ยงแหสารพัด ทำให้คนรู้สึกว่าอย่างไรก็ต้องหลบไปก่อน ดีกว่าอยู่ให้จับหรือถูกฆ่าตายฟรี ไปสู้ดีกว่า ความเคียดแค้นมันแรง เปลี่ยนความเคียดแค้นเป็นพลัง คนจึงเข้าป่ากันถล่มทลายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ พคท. ก็เปิดเขตหมดทุกจุด คนที่เข้าไปจึงหลากหลาย แต่ก่อนเขาจะเข้มงวดมากเรื่องรับคน กลัวสายลับเข้าไป 
รู้จัก พคท. มาก่อนไหม
รู้แบบกึ่ง ๆ โดยปริยาย อ่านเอกสาร ฟังวิทยุ ตอนนั้นมีกระแสสังคมนิยม มีการวิเคราะห์สังคม พี่น้องเพื่อนฝูงจำนวนหนึ่งก็อยู่ในป่า แต่ตัวตนพรรคฯ ไม่ได้รู้จัก 
เข้าไปทำอะไรในป่า
เดินไปเป็น ๗ วัน หน้าฝนเดือนตุลาฯ ใส่รองเท้าแตะดาวเทียม ผ่านทุ่งนาคันนาคดเคี้ยวก่อนขึ้นภู ห้ามเปิดไฟต้องผ่านทุ่งไปให้ได้ก่อนสว่าง จุดนี้ยากเข็ญที่สุด จากภูช่อฟ้าไปศูนย์กลางเขตงานภูซาง

ตลอดช่วงที่เข้าป่าอยู่ภูซางไม่ได้ไปที่อื่นเลย อยู่กองทหารหญิง เป็นหน่วยจรยุทธ์ที่ต้องพร้อมเคลื่อนย้ายตลอดเวลา มีมวลชนช่วยส่งข้าวน้ำ แต่บางช่วงก็ไม่ได้กินข้าวเป็น ๒ ปี กินแต่ข้าวโพดต้ม ขุดมันป่ากินด้วย 
ทำไมเลิกเป็นทหารป่า
ไม่ได้มอบตัว เพราะถือว่าการเข้าป่าไม่ได้ผิด มาถูกจับตอนเข้ามาคลอดลูกที่กรุงเทพฯ ติดคุก ๘ เดือน
ไปต่ออย่างไรเมื่อคืนเมือง
ออกจากคุก ไปขายรองเท้า ขายผลไม้ ไปทำหนังสืออยู่มูลนิธิโลกสีเขียว เป็น บก. คนแรกอยู่ปีกว่า หลังจากนั้นกลับบ้านสามีที่หนองบัวลำภู  ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินกับทหาร เขาสนับสนุนให้เราสมัคร ส.จ.  จากนั้นเคลื่อนไหวเรื่องผู้หญิงอีสาน แล้วสมัคร สสร. เมื่อปี ๒๕๔๐ ขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรก ครบวาระแล้วมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต ตอนนี้เป็นรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา สอนวิชาด้านสังคม การเมืองกับสิทธิชุมชน ประชาธิปไตยกับการกระจายอำนาจ เพศภาวะกับการพัฒนา บทบาทสื่อ ที่ดังมากคือวิชาศาสตร์แห่งรัฐ ผู้นำและการเปลี่ยนแปลง  อีก ๒ ปีจะเกษียณตอนอายุ ๖๕
มองการต่อสู้ในสังคมยุคนี้อย่างไร
อย่ามองข้ามพลังของคนเล็ก ๆ ทุกคนเติบโตมาจากเรื่องของตัวเองที่เขาต่อสู้ จึงจะเป็นรากฐานประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ใช่อยู่ ๆ เก่งขึ้นมาเลย ประชาชนไม่มีทางเติบโตได้ถ้าเขา ไม่ลุกขึ้นมาสู้เรื่องของตัวเอง  สังคมไม่มีทางเติบโตได้ด้วยคนก้าวหน้าเพียงกลุ่มเดียว มันต้องมีขบวน ต้องมีคนอื่นร่วมด้วย

อย่าเหมารวมคนเป็นก้อน จะทำให้ไม่มีพวก ถ้าคาดหวังแต่ว่าให้ทุกคนเหมือนเรา มวลชนจะหดลงเรื่อย ๆ ไม่มีพวก

บางเรื่องคนเราก็อาจจะพลาดพลั้งทำไม่ดี เราต้องมองคนแบบยาว ๆ แค่ไม่รับใช้ศัตรูก็ต้องนับว่าเขาเป็นมวลชนเราอยู่
คุยหนัก ๆ กับนักปฏิวัติเบา ๆ
“ศิลา โคมฉาย”
นักเขียนซีไรต์
อดีต 
“สหายศิลา” ทหาร ทปท. หน่วยศิลป์/สมาชิกวงโคมฉาย/
พนักงานขายชุดชั้นใน/คนทำหนังสือ

ปัจจุบัน 
นักเขียนอิสระ
กระแสคลื่นตุลาคม
ความคิดเราถูกสร้างขึ้นจากกระแสและความรักการอ่าน อยู่ใต้เผด็จการทหาร ๑๖ ปี นับแต่ปี ๒๕๐๐ มีปัญหาการใช้ อำนาจซ้อน ๆ พอเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็เหมือนการแตกระเบิดของปัญหา และปัญญาของยุคก่อน ๒๕๐๐ ก็ทะลักกลับมาใหม่ผ่านการตีพิมพ์ การอภิปราย รวมทั้งหนังสือที่บอกความเป็นเสรีชน และเพลงต่อต้านสงครามของตะวันตก เพลงพวกนี้กระตุ้นเรา ศิลปินยุคนั้นต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลก “ขอให้ทุกคนเชื่อว่าทุกสิ่งเป็นไปได้” แนวคิดพวกนี้ถูกส่งมาในบ้านเราด้วย เป็นต้นแบบให้เกิดเพลงเพื่อชีวิต และการตื่นตัวของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัย

ผมเรียนรามคำแหงปี ๒๕๑๖ เข้าไปวันแรกมีม็อบต่อต้านอธิการบดี ดอกเตอร์ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ ผมเข้าไปในกลุ่มเพื่อนดึงเข้าขบวน ยกขบวนออกข้างนอก เรียกร้องรัฐธรรมนูญ หลัง ๑๔ ตุลาฯ เอาเครื่องฉายสไลด์ เครื่องปั่นไฟออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตย ไปพังงา ต่อต้านเคมโก้ ไปพื้นที่ถังแดงพัทลุง 
วงดนตรีที่ชื่อโคมฉาย
เป็นวัยรุ่นที่ฟังเพลงฝรั่ง เย็น ๆ เล่นดนตรีกัน วันจัดงานนิทรรศการบังเอิญวงดนตรีมาไม่ได้ เขาก็ชี้พวกเราให้ขึ้นเล่นต่อมาชมรมต่อต้านยาเสพติดให้ไปเล่นที่นครปฐม แล้วไปเพชรบุรี ติดพันกลายเป็นวงโคมฉายขึ้นมา 

วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนเพลง “คนสร้างบ้าน” ผมเขียนเพลง “มุ่งไป” หลังเข้าป่าแล้วเขียนเพลง “ดาวแดงแห่งภูพาน” “เมล็ดพืชสีแดง” 
คนหนุ่มสาวประเภทหนึ่งที่คิดทางตรง
เมื่อสถานการณ์สุกงอม เราไม่ได้คิดถึงอนาคตของตัวเองในเมืองแล้ว การเรียนเป็นรอง กิจกรรมเป็นหลัก เวลานั้นผมมีแฟน แต่เข้าป่าไปโดยไม่ได้อาลัยแฟนเลย

เป็นคนหนุ่มสาวประเภทหนึ่งที่คงจะคิดทางตรงทางเดียว คิดอะไรได้ไม่มาก เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดในสิ่งที่ทำ ไม่เหมือนตอนอายุมากขึ้น

ผมหายไปเลย พ่อเป็นครูใหญ่ต้องทิ้งงานราชการออกตามหาลูกชาย วันหนึ่งทหารป่าเขตงานกรุงชิง นครศรีฯ ลงมาขอใช้ห้องประชุม ครูใหญ่ไม่อยู่ ครูน้อยต้องหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ให้ทางการรู้ และไม่ให้พวกในป่าผิดใจด้วย
หนีภัยไปศึกษาต่อ
คิดแค่ว่าเปลี่ยนไปทำงานที่ใหม่ ทำในเมืองไม่ได้ก็ไปทำในป่า เล่นดนตรีนี่แหละ อย่างอื่นยังไม่ได้คิด

เหมือนลี้ภัย แต่ก็มีความคิดพื้นฐานเรื่องงานเพื่อการปฏิวัติแล้วละจากข่าวสาร แต่เราไม่ได้คิดว่าจะเข้าไปเปลี่ยนอะไรมากมาย เข้าไปแบบไม่ได้คาดหวัง ให้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่
ตกกับประชาชนก็โอเคแล้ว  

มีคนที่คาดหวังแล้วผิดหวังถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี เพลง “คนนอก” ของคาราวาน ได้แรงจูงใจมาจากสหายคนหนึ่งที่ฆ่าตัวตายในป่า ผมก็เจอสองสามคน แต่เราไปแบบได้ทำงานปฏิวัติก็โอเคแล้ว  เขาเถียงกันเรื่องทฤษฎี เราก็ฟังผ่าน ๆ เขาให้ทำงานอะไรก็อยู่ทำงานอย่างนั้น เขาอยากให้ทำวิทยุก็ทำ เราเลยอยู่ได้ยาว 

อยู่ในป่าก็ไม่ยาก กินอยู่รวมหมู่รวมพลถือปืน อยู่กับความสมถะ ไม่มีอะไร กินอยู่ตามโคนไม้ ทำให้เรามีความต้องการทางวัตถุทางส่วนตัวไม่มาก ไม่มีเราอยู่ได้  มีเวลาได้คิดได้เห็นกระบวนการต่าง ๆ ตามแนวคิดของพรรคที่บอกว่า ปรับทุกข์ ผูกมิตร ปักหลัก จัดตั้ง กระทั่งได้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกกระทบถึงทุกส่วนแม้แต่ในป่า
ระหว่างขวานกับมีดโกน
วันหนึ่ง ชาญ กรัสนัยปุระ มาเยี่ยมคุยกัน เขาบอกว่าร็อกแอนด์โรลเป็นดนตรีสามานย์ พวกเราโตมาจากวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกก็เดือดสิ เถียงกันหน้าดำหน้าแดง

วันรุ่งขึ้น “นายผี” มาบอกว่าไม่ต้องฟังใคร ทำอะไรก็ได้ที่สร้างกำลังใจให้คนทำงานปฏิวัติก็ใช้ได้แล้ว

อีกวัน ลุงอุดม ศรีสุวรรณ มาบอกว่าให้ประสานศิลปะกับการปฏิวัติให้ดี 

หลังจากเรียนดนตรีเสร็จมาอยู่ที่น่าน ตอนนั้นคนกลับบ้านเยอะแล้ว ไม่ค่อยมีคนทำงาน เขาอยากให้เลิกเป็นศิลปิน มาทำงานทหาร มีคนรับไม่ได้ ไปเรียนมายังไม่ได้ใช้ ศิลปินไม่น่าถนัดงานจัดการคน คนมีปัญหาก็คัดค้าน “นายผี” ก็บอกต้องคุยกันว่า “เขาต้องเข้าใจความแตกต่างของการใช้ขวานกับมีดโกน ต้องเลือกใช้ให้เป็น” 

“นายผี” ก็เป็นศิลปิน อยู่ในนั้นเขาก็เป็น “คนนอก” พอสมควร
กลิ่นใบไม้เน่าตอนอาบน้ำห้วย
ยังออกไม่หมด

เมื่อไปต่อไม่ได้ก็เป็นผู้แพ้สงคราม ผมต้องกลายเป็นคนประนีประนอม กลับมาเริ่มที่สันติบาล ศูนย์การุณยเทพ ตอนเข้าป่าเราทิ้งทุกอย่าง กลับออกมาเอกสารอะไรไม่มี บัตรประชาชนก็ไม่มี หลักฐานการศึกษาหายหมด ออกจากป่าต้องมีเอกสาร ก็ไปนั่งให้สันติบาลขู่  สันติบาลถามไปทำอะไรในป่า ผมบอกไปเล่นดนตรี เขาบอกไม่เชื่อ หน่วยก้านอย่างคุณต้องอยู่หน่วยรบพิเศษ ผมว่าไม่เชื่อไปถามใครก็ได้กรรมการกลางของพรรคฯ ก็มอบตัวแล้ว ไปถามเขาดูสิ

กลับออกจากป่าปี ๒๕๒๕ คนในแวดวงกิจกรรมก็ดูแลกัน อยู่กันไปอย่างนั้น มีชื่อเป็นนักเขียนอยู่บ้าง ผมทำหนังสือ อธิปัตย์ มาก่อน พอเพื่อนออกหนังสือพิมพ์ มหาชัย ก็ชวนผมไปทำ  

แต่คนเพิ่งออกจากป่าไปไหนไม่ถูก ท่าทางเดินก็ไม่เหมือนคนอื่น นักข่าวต้องเร็ว แต่เราไม่ได้ กลิ่นใบไม้เน่าตอนอาบน้ำห้วยยังออกไม่หมดเลย ก็ทำหนังสือพิมพ์ไม่ได้
ไปรบชิงบ้านชิงเมืองมา
กลับมาอยู่กับชุดชั้นใน

พี่สาวเพื่อนอีกคนมีร้านขายเสื้อผ้า ให้ไปเป็นคนดูแลร้าน ยี่ห้อเซนต์ไมเคิลจากอังกฤษ ไปรบชิงบ้านชิงเมืองมา กลับมาอยู่กับชุดชั้นใน เหมือนยอมกลืนเลือด  ผมอยู่จนรู้จักคัป ไซซ์รอบอก มองออกหมด  แต่อยู่ตรงนั้นมีแง่ดีอย่างหนึ่ง เงียบมาก มีเวลาได้คิด ได้ทบทวน ได้อ่าน ได้ลงมือเขียน และได้เงินเดือนพออยู่

จากนั้นเพื่อนชื่อ ชูศิลป์ วนา ให้เงินก้อนหนึ่งให้เขียนเล่าความจริงขบวนการนักศึกษารามฯ ยุคต้น ก็ได้หนังสือเล่มหนึ่งหลังออกจากป่า

หลังจากนั้นได้ไปทำหนังสือรายสัปดาห์อยู่สองถึงสามหัว เรื่องสั้นเล่ม ครอบครัวกลางถนน ที่ได้รางวัลซีไรต์ปี ๒๕๓๖ ก็เขียนในช่วงนั้น  หลัง “ฟองสบู่แตก” ปี ๒๕๔๐ ก็ไม่ได้ทำงานประจำอีก ออกมาขายของตามข้างถนน เขียนหนังสือไป
มองกลับไปจากวันนี้...
ผมเฉย ๆ แค่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำ เลือกเองไม่โทษใคร ไม่สำเร็จก็คือไม่สำเร็จ ไม่มีอะไรต้องเสียใจหรือต้องเชิดชู

เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ผ่านตรงนี้ ไม่ได้สูญเสียอะไร อย่างน้อยก็ทำให้เราเติบโตขึ้นทางความคิด  
Image
ช่วงคนป่าคืนเมืองมีเรื่องของคนมีชื่อเสียงตีพิมพ์ออกมาเยอะ แต่ชาวบ้านไม่ค่อยมีใครพูดถึง เราเขียนเรื่องของพวกเขาลงนิตยสารการเมือง จากความเป็นนักรบด้วยอุดมการณ์อุดมคติของเขา บางคนขายบ้านเพื่อไปทำงานปฏิวัติ อยู่ป่าหลายสิบปีตั้งแต่หนุ่มจนแก่ หลังออกจากป่ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไร เราถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ไว้ในหนังสือเล่มแรก เปลือยป่าแดง เป็นงานสารคดี กับอีกเล่ม เสียงเพลงจากภูพาน นอกนั้นที่เป็นชิ้น ๆ ไม่ได้รวมเล่มก็เยอะ

ปี ๒๕๒๙ เรืองเดช จันทรคีรี เห็นเราขึ้นล่องอีสานบ่อย ก็ให้ช่วยทำงานภาคสนามไปตามรอย จิตร ภูมิศักดิ์ ในพื้นที่จริง เขียนลงนิตยสาร ถนนหนังสือ จริง ๆ คนที่แกะรอยเรื่องจิตรก่อนคือ วัฒน์ วรรลยางกูร เขียนตามคำบอกเล่าของสหายตั้งแต่อยู่ในป่า ตีพิมพ์ใน ธงปฏิวัติ เขาให้ต้นฉบับที่เขียนไว้เป็นแนว เราต่อยอดจากตรงนั้น

วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ถือเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ตอนหลังมีคนทำต่อยอดอีกเยอะ ทุกวันนี้คนก็ยังอ่านเรื่องจิตรอยู่ เยาวชนคนหนุ่มสาวไม่ว่ายุคไหนต้องมีไอดอลของตัวเอง เราอยากไปอีสานก็จากที่ได้อ่านเรื่องของจิตร เรื่องภูพานนี่แหละ เขาเป็นตัวแทนของอุดมการณ์อุดมคติ
Image
บนภูพานฐานที่มั่น ฝ่ายนำในเขตอีสานเหนือ (อน.) จัดให้คณะเราพักอยู่ที่ชะวากผาสูงแห่งหนึ่ง บนยอดภูนี้มีหลักหมุดฝังอยู่ แสดงหลักเขต หรือบอกว่าเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาภูพาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ลุงสยาม สหายนำอีสานเหนือ กับสหายพี่เลี้ยงช่วยกันทำแคร่ไม้ไผ่ รอสหายแนวร่วมมาพักอาศัยที่นี่จึงค่อนข้างสบาย ได้รับการดูแลอย่างดี มีความปลอดภัยกว่าอยู่ในเขตจรยุทธ์มาก ผมร่าย นิราศภูพาน จนบทสุดท้ายที่ทับหน้าผาแห่งนี้เอง
Image
ตอนพี่เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ตั้งบ้าน “แสงจันทร์” ก็อยู่บ้านแสงจันทร์ด้วย ทำหนังสือ แปลหนังสือ ช่วยกันขาย เราแปล ให้ดวงกมลพิมพ์ ได้เงิน ๓,๐๐๐ บาท นอกจากนั้นเขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย