ศิลป์ สู้ ศึก
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
อุดมคติแห่งการต่อสู้ของคนหนุ่มสาว
วัฒน์ วรรลยางกูร
นักเขียน นักแต่งเพลง นักต่อสู้
“สหายร้อย” บรรยายภาพนี้ว่าถ่ายที่สำนัก ธงปฏิวัติ “โรงเรือนมุงแฝก พื้นฟากไม้ไผ่ ใช้เป็นที่โรเนียวด้วยเครื่องมือหมุน
เรียงหน้า เก็บเล่ม เย็บเล่ม ทุกคนมาระดมช่วยกัน สนุก
ธงปฏิวัติ ราย ๒ เดือน พิมพ์ครั้งละ ๕๐๐ ฉบับ เสร็จสรรพตรงนี้”
อดีต
“สหายร้อย” ทหาร ทปท. งานภูพาน บรรณาธิการนิตยสาร ธงปฏิวัติ
ปัจจุบัน
ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างแดน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เจ็ดปีที่ผ่านมาเขาได้ต้นฉบับหนึ่งเล่มคือ ต้องเนรเทศ 7 years in exile รอจัดพิมพ์เป็นเล่มปลายปีนี้
ตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่บ้าง
ผมกลับมาสู่โลกการประพันธ์ตามสันดานเดิมของผมแล้วครับ
เงื่อนไขแวดล้อมเหมาะสมมาก อยู่เมืองชนบทชายแดน ประเทศฝรั่งเศส อยู่ในดินแดนที่สงบสำหรับผม ไม่ต้องเร่ย้ายหนีเหมือนตอนหลบภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ความจริงช่วงนั้นก็อยากเขียนหนังสือ แต่ไม่มีสมาธิ โดนกวนตลอด ย้ายที่อยู่บ่อย อีกประการคือ แค่ใช้สมองคิดหาเงินมาจุนเจือรายวัน พลังชีวิตก็ร่อยหรอแล้ว เขียนหนังสือไม่ได้ พิมพ์หนังสือใหม่ ๆ ขายไม่ได้ หลายปีผ่านมาได้แบบงง ๆ
ต้องขอบคุณผลพวงการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ช่วยเปิดเพดาน
เสรีภาพ ทำให้ผมพอจะมีพื้นที่เขียนและพิมพ์งานใหม่ได้บ้าง แต่ก่อนนี้มองไม่เห็นช่องทางเลย แทบจะอดตาย
เล่ม ต้องเนรเทศ 7 years in exile เขียนมาราวปีครึ่ง จบแล้วก็พักผ่อน เที่ยวสบาย ๆ แล้วค่อยเริ่มงานใหม่ เป็นนิยายครับ
ครั้งนี้คุณหนีเข้าเมือง (นอก) เมื่อก่อนคุณเคยเข้าป่า อยากให้ช่วยย้อนเหตุการณ์บ้านเมืองในครั้งนั้น
คงจะคล้ายกับของคนใน gen เดียวกัน ได้สัมผัสการเลือกตั้งครั้งแรกในปี ๒๕๑๒ และเจอการรัฐประหารครั้งแรกของรุ่นเรา คือรัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ อันนำไปสู่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งผู้ชนะในเกมการเมืองนี่คือฝ่ายอำนาจศักดินา จนถึงเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พลังนักศึกษาถูกกำจัดโดยฝีมือของฝ่ายศักดินา
ผมเองก็อยู่ในกระแสคนหนุ่มสาวยุคนั้น นักรบจรยุทธ์อย่าง เช กูวาร่า (ออกเสียงแบบยุคนั้น) กับกวีนักปฏิวัติ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นไอดอล นั่นคือปัจจัยภายในตัวเรา ส่วนเงื่อนไขภายนอก คือสภาพการเมืองไทยยุคขวาพิฆาตซ้ายอันกดขี่บีบคั้นมาตั้งแต่ก่อน ๖ ตุลาฯ การเบียดบีฑาเริ่มมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ฝ่ายเสรีชนถูกรังเกียจด้วยกระแสปลุกปั่น ถูกรังแกด้วยอำนาจเถื่อนและกฎหมายเถื่อน
การเข้าป่าจึงไม่ต้องตัดสินใจ เพราะเตรียมใจอยู่แล้ว มึงรัฐประหารเมื่อไร กูเข้าป่าไปจับปืนสู้กับเผด็จการเมื่อนั้น
เกมการเมืองไทยจึงเดาง่าย เดาไม่ค่อยพลาด ผมรอดคุกมาเรื่อย เพราะเดาถูกตลอด
ชีวิตในมหาวิทยาลัยป่าภูพานเป็นอยู่อย่างไร
ตอนแรกอิ๋ว-ปริญญา อรรคนิตย์ คนที่พาผมเข้าป่า ตั้งชื่อให้ผมว่า “สหายสม” แต่พอมาอยู่ร่วมกับสหายในทับ พบว่าชื่อ “สม” เป็นชื่อโหลมาก ๆ ทุกทับมีสหายสม ผมจึงตั้งชื่อ
ตัวเองว่า “สหายร้อย” ส่วนอิ๋วตั้งชื่อเขาเองว่า “สหายผา” หมายถึงคนกบฏ คนไม่อยู่ในกรอบ ผาก็คือการถลา การแหก การแผก ออกจากความเป็นปรกติ ส่วนสหายร้อย คนมักคิดว่าหมายถึงกองร้อยทหาร ความจริงผมหมายถึงร้อยกรองหรือร้อยแก้วก็ได้ คือการเขียนหนังสืออย่างประณีตจึงเรียกว่าร้อย
เรียนโรงเรียนการเมืองหลักสูตรเร่งรัด เรียนทฤษฎีการเมือง
๕ วัน เรียนวิชาทหาร เรียนเรื่องปืน ระเบิด และการใช้งาน อีก ๒ วัน จบหลักสูตรด้วยการฝึกยิงปืนสั้นคนละ ๕ นัด ๑๐ นัด
จากโรงเรียนการเมือง ทุกคนแยกย้ายเข้าประจำเขตงาน ผมขอไปทำงานมวลชน ทั้งที่ความจริงจัดตั้งต้องการให้ไปทำหนังสือพิมพ์ ผมอยากไปทำงานมวลชน เพราะอยากได้เห็นชีวิตผู้คนชนิดได้คลุกคลี อันเป็นความปรารถนาประสาคนเขียนหนังสือ ที่ว่าชีวิตคนคือต้นฉบับแรกเริ่ม
หลายคนในหน่วยงานมวลชนต่างแบ่งกันรับผิดชอบไป พวกสหายหญิงก็ดูแลด้านงานสตรีในหมู่บ้าน สหายชายรุ่นใหญ่รับด้านงานแนวร่วม ก็มักไปสัมพันธ์กับพวกครู โดยมากครูจะมีบ้านเรือนอยู่ทางที่ราบ ใกล้ตัวเมืองสกลนคร เราฝากซื้อพวกเครื่องเขียน สมุด ตลอดจนหนังสือพิมพ์ได้ ผมยังมีเงินติดตัวไปจากในเมือง ส่วนเงินที่ได้รับจากกองป่าเป็นรายเดือน คือเดือนละ ๑๕ บาท พอได้ค่าสบู่ ค่าแฟ้บ
“สหายร้อย” ทำงานมวลชนได้ ๕ เดือนก็ถูกเรียกตัวให้เดินทางสู่ศูนย์งานภาคอีสานเหนือ เข้าสังกัดทับ ๗๔ อันเป็นสำนักผลิตวารสารราย ๒ เดือน ธงปฏิวัติ
ระหว่างนั่งประจำสำนัก ธงปฏิวัติ นี้ อยู่ด้วยความสบายใจจัดตั้งใหญ่คือสหายสน เป็นคนขี้เกรงใจ “สหายร้อย” ให้แกตรวจเซนเซอร์ต้นฉบับ “สหายสน” ก็ “หยวน” ตลอด วารสารออก ๒ เดือนต่อฉบับ “สหายร้อย” จึงมีเวลาเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนิยาย ส่งลงไปตีพิมพ์ในเมือง เช่นนิยาย ด้วยรักแห่งอุดมการณ์
ฟังดูเหมือนจะราบรื่นไปด้วยดี อะไรทำให้ตัดสินใจยุติการเป็นทหารป่า
ช่วงนั้นมันมีข้อมูลที่เรารู้บ้างไม่รู้บ้าง มารู้จริง ๆ ในตอนหลังเมื่อออกจากป่ามาแล้ว ย้อนกลับไปศึกษาเหตุการณ์ที่ผ่านมา เรื่องของเรื่องคือเกมการเมืองระหว่างประเทศมันมีผลกระทบต่อคนเล็ก ๆ อย่างพวกเรา
โดยสรุปคือระดับนำของ พคท. หมดความน่าเชื่อถือ เพราะตามก้นจีนอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นหุ่นยนต์ตามคำสั่งจีน
เมื่อมีปัญหาป่าแตก ผมเองสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมาตามบทบาทที่เราทำงานอยู่ คือเขียนบทกวีชื่อ “เรือลำสุดท้าย” ลงใน ธงปฏิวัติ ตั้งคำถามกับเรื่องแนวทาง เรื่องการปรับปรุงตนเอง แน่นอนว่าพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไหน ๆ ก็ไม่ชินกับการวิจารณ์ แตะต้องไม่ได้ แตะแล้วเป็นเรื่อง
พวกสหายนำเก่า ๆ เขาก็ยัวะ ว่าพวกเขาบุกเบิกทำงานกันมา อยู่กันมานาน ไม่เคยมีใครมาตรวจสอบ มาวิจารณ์พวกเขาเหมือนที่พวกนักศึกษาทำกัน แบบว่ากูอยู่กันมาตั้งนานไม่เคยมีปัญหา พวกมึงเข้ามาแป๊บเดียวชี้ปัญหาโน่นนี่
พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าโซเวียต จีน เวียดนาม ลาว เขายึดมั่นในหลัก “รวมศูนย์” ไม่สนใจเรื่อง “ประชาธิปไตย” อยู่กันแบบสั่งจากบนลงล่างเท่านั้นมันก็เลยเกิดปัญหา เช่น ผู้นำพรรคไปเจรจาตกลงอะไรกับใคร ทำไปโดยรู้กันไม่กี่คน ใครทวงถามก็จะโดนตบปาก ทีนี้การนำแบบคับแคบนั้นผิดพลาด พอมันเจ๊งขึ้นมาก็เลยเป็นแบบไม่มีใครมารับผิดชอบตัวใครตัวมัน ป่าแตก
ไปอยู่ป่าอย่างคนนอกกฎหมายหลายปี กลับเมืองแล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไร
การกลับเข้าเมืองเป็นทางเดียวที่พอให้ผู้แพ้อย่างเราพยุงกายออกมานั่งพักเหนื่อยและไปต่อ
แน่นอนว่ากลับออกมาช่วงนั้น ยังไม่ทันถึงใจพระเดชพระคุณขาเชียร์ ก็ต้องยอมให้เขาโห่ ให้เขาด่าบ้าง นักมวยชกไม่ถึงใจ เดินลงจากเวที ชะตากรรมของคนแพ้นี่นะ อย่าไปถกเถียงหรืออยากให้ใครมาเข้าใจเลย เข้ามุมสงบของตัวเอง เช็ดเลือด กลืนน้ำตา เพื่อน ๆ เขากลับไปเรียนต่อ ส่วน “สหายร้อย” กลับมานั่งเขียนหนังสือ เขียน มนต์รักทรานซิสเตอร์, คือรักและหวัง, บนเส้นลวด ดีว่าเรากลับมาแล้วอายุยังไม่มาก พักหน่อยเดียวก็หายเหนื่อย
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชีวิตในป่า นำมาใช้ต่อในชีวิต หลังจากนั้นได้ไหม
สี่ปีในป่าทำให้เรารู้จักตัวเองว่า เรายังรู้จักอะไรต่ออะไรน้อยเกินไป ดีที่เรายังไม่ชนะ ยังไม่ได้อำนาจรัฐ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เรามีโอกาสไปสร้างความเสียหายมาก ๆ ได้ถ้ามีอำนาจมาก บางทีการเป็นผู้แพ้มันดีกว่าเป็นผู้ชนะเสียอีก หากเรายังไม่พร้อมจริง
ตอนนี้มีกระแสคนหนุ่มสาวออกมาต่อสู้เพื่อปลดแอกอีกครั้ง มองว่าเหมือนหรือต่างกับการต่อสู้ปลดแอกในยุค ๖ ตุลาฯ อย่างไร
คนหนุ่มสาวรุ่นเยาวชนปลดแอก ๘ สิงหาคม ๒๕๖๓ สรุปได้เลยว่าพวกเขาเฉียบคมกว่ารุ่นผม มองปัญหาถูกต้องตามหลักอริยสัจ ๔ คือมองเห็นต้นเหตุของปัญหา และเสนอทางแก้ปัญหาได้ถูกจุด
แนวทางการต่อสู้ปัจจุบัน ก็อย่างที่คนหนุ่มสาวเขาทำ นี่แหละเหมาะสมแล้ว เราปฏิวัติสังคมด้วยความรู้ ด้วยความเข้าใจ การปฏิวัติไม่สามารถทำได้โดยใช้ปืนไปจ่อขมับให้คนอื่นยอมจำนน ไม่มีทาง แต่ว่าแนวทางนี้ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความร่วมแรงร่วมใจกัน ส่วนว่ามันจะบรรลุจุดหมาย ถึงชัยชนะเมื่อไร มันขึ้นกับภววิสัย หรือพูดแบบโบราณคือ อยู่ที่เทวดาฟ้าดิน เช่นสถานการณ์การเมืองสากลระหว่างประเทศ
หากเราจับจังหวะได้ เกมก็พลิกมาเป็นคุณกับฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างคาดไม่ถึง
มองเชิงเปรียบเทียบการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวแต่ละรุ่น อย่างคนเดือนตุลาฯ ๒๕๑๖-๒๕๑๙ กับรุ่นเยาวชนปลดแอก ๒๕๖๓
ธรรมชาติของคนหนุ่มสาวคือใฝ่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน บวกกับแรงผลักดันของยุคสมัยซึ่งมักเป็นกระแสจากนานาอารยประเทศ ขอรวมเอาคนหนุ่มสาวสามรุ่นใหญ่ ๆ มาเปรียบเทียบ
คนหนุ่มสาวรุ่น ๒๔๗๕ ต้องการให้สังคมสยามเป็น modernism คนหนุ่มสาวรุ่นเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ต้องการ
สังคมที่มีเสรีภาพและภราดรภาพ ให้ตนเองมีเสรี ให้กรรมกรชาวนาคนจนมีชีวิตที่ดีขึ้นในแบบ socialism อุดมการณ์เหล่านี้ฝังรากงอกเมล็ดบนดินไทยสังคมไทยที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนา (หากเทียบกับนานาสากล)
คนหนุ่มสาวรุ่นเยาวชนปลดแอกก็เช่นเดียวกัน ต้องการชีวิตที่ดีกว่า เป็น democracy มีคุณภาพในสังคมการเมืองและชีวิตด้านต่าง ๆ มีตัวอย่างให้เห็นในนานาอารยประเทศ
แต่ทว่าเส้นทางอุดมการณ์คดเคี้ยวยอกย้อน ความไม่รู้ ความด้อยประสบการณ์ ทำให้ความฝัน “ไม่ผ่าน”
คนหนุ่มสาวรุ่น ๒๔๗๕ อ่อนเชิงการเมืองกว่าฝ่ายอำมาตย์เฒ่าของระบอบเก่า พ่ายเล่ห์กลยอกย้อน และแพ้ใจตัวเอง คนเดือนตุลาฯ ที่มากด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ยังมากด้วยความไม่รู้ เพราะพวกเขาเติบโตขึ้นมาในยุคมืด มีข้อมูลจำกัดจำเขี่ยเต็มที ฝ่าเท้าของฝ่ายขวาจัดไล่ถีบคนหนุ่มสาวจนต้องไปซุกอาศัยร่มเงาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีอุดมการณ์แบบรากลอย เป็นอุดมการณ์เอเจนต์ของคอมมิวนิสต์จีน คนหนุ่มสาวเดือนตุลาฯ จึงพลอยรากลอยไปด้วย ยิ่งอยู่ในระบบจัดตั้งของในป่าที่ต้องปิดลับตามเงื่อนไขสงคราม ข้อมูลที่จำกัดอยู่แล้วก็ยิ่งไม่เหลืออะไรให้รับรู้ หาหน่อไม้กันไปวัน ๆ ในขณะภายนอกป่า เกมสงครามเย็นกำลังพลิกไปมา หลังจากอเมริกาแพ้ในสงครามเวียดนามและอินโดจีน ราวปี ๒๕๑๗-๒๕๑๘ ยุคนายกคึกฤทธิ์ไปจับมือประธานเหมา จนถึงยุคนายกฯ ขุนศึกเกรียงศักดิ์ ไทยจับมือรัฐบาลจีน พคท. โดนเททิ้ง รากลอย ไร้ที่ยึดจับ จึงไม่เหลือที่ยืน
คนหนุ่มสาวเดือนตุลาฯ ต้องออกจากป่ามาแบบงง ๆ เหลือเพียงพิษไข้มาลาเรียเรื้อรังตกค้างในกระแสเลือด มานอนจับไข้กันอยู่ตามห้องเช่าเมืองกรุงและหอพักนักศึกษา (กลับมาเรียนต่อ) กว่าจะกำจัดเชื้อมาลาเรียได้ต้องไปนอนที่แผนกอายุรศาสตร์เขตร้อน ที่มีทั้งคอมฯ ออกจากป่า และก็มีตชด. กลับจากไปปราบคอมฯ ในป่า มานอนอยู่ใกล้ ๆ กัน
อุดมการณ์คนหนุ่มสาวเยาวชนปลดแอกเขาเลือกไปติดตาต่อกิ่งจากตอเหง้าเดิมของคณะราษฎร ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นการคิดถูก เพราะรากไม่ลอยอย่างคนรุ่นเดือนตุลาฯ และได้ผล
ความจริงก่อนมีปรากฏการณ์เยาวชนปลดแอกได้มีขบวนคนเสื้อแดง อันเป็นขบวนที่มากด้วยปริมาณ มีอุดมการณ์ที่แข็งแรง คือปรารถนาชีวิตที่ดีขึ้นของคนจน ต้องการชีวิตที่มีรัฐสวัสดิการ เพียงแต่มีจุดอ่อนมหาศาลตรงที่อยู่ใต้การนำของนักการเมืองในระบอบรัฐสภา ซึ่งมีภาพลักษณ์ตกต่ำมานาน (ทั้งโดยทำตัวเองและถูกละเลงสี) ขบวนคนเสื้อแดงถูกทำลายอย่างโหดเหี้ยมในยุทธการยิงนกในกรงเมื่อปี ๒๕๕๓
อุดมการณ์เยาวชนปลดแอกมี “ภววิสัย” หรือพูดแบบโบราณคือฟ้าดินเป็นใจ ตรงที่สากลโลกเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารฉับไว พวกเขาจึงไม่เจอข้อจำกัดแบบคนเดือนตุลาฯ ที่เข้าป่า ไม่โดนบดขยี้ด้วยุทธการปิดประตูตีแมวแบบ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ สามารถยืนแลกหมัดโต้ข้อมูลกับฝ่ายอำนาจรัฐเผด็จการได้อย่างทันท่วงที
ดังนั้นคนหนุ่มสาวเยาวชนปลดแอกจึงมีแนวร่วมกว้างกว่าคน ๖ ตุลาฯ และคนเสื้อแดง
คนหนุ่มสาวยุค ๒๔๗๕ มีความหวังกับยุคใหม่ของเขา สัมผัสได้ในคำประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ที่ยืนยันในบรรทัดแรกสุดว่า แผ่นดินนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย สัมผัสได้เมื่อเราอ่านนิยายของนักเขียนหนุ่มสาวของยุคนั้น เช่น “ศรีบูรพา” หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง “ไม้ เมืองเดิม” “ยาขอบ” “ก. สุรางคนางค์” ฯลฯ มาจนถึงรุ่นต่อเนื่องตามหลังอย่าง “เสนีย์ เสาวพงศ์” อิศรา อมันตกุล ตัวละครเอกของพวกเขาต้องการชีวิตที่เสรี เสมอภาค เช่นกันกับคนหนุ่มสาวรุ่นเดือนตุลาฯ ที่ตื่นลืมตาขึ้นมาถามหาความหมายของชีวิต “ฉันจึงมาหาความหมาย” ต้องการเสรีภาพ “ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน” ต้องการภราดรภาพ “กรรมกร ชาวนา จงมาร่วมกัน สรรค์สร้างโลกใหม่”
ความคิดความฝันของคนหนุ่มสาวที่ลับเลยตามกาลเวลาจะเป็น “มรดก” หรือว่าจะเป็น “หนี้สิน” ย่อมอยู่ที่วิจารณญาณของคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน เลือกที่ดี ทิ้งที่เสีย โลกเป็นของคนรุ่นใหม่เสมอ และคนรุ่นใหม่ก็ย่อมมีทยอยเข้ามาทดแทนกันสืบไปเหมือนคลื่นทะเล
เข็มนาฬิกาที่ถูกหมุนฝืนย้อนทวนกลับไปถึง ๘๐ ปี จะเดินเคลื่อนเข็มไปตามกาลเวลาข้างหน้าได้ ย่อมมิใช่โดยปล่อยปละละเลย มีแต่ต้องช่วยกันผลักดัน โดยคนทุกรุ่นร่วมกัน