Image
กาลครั้งหนึ่ง
ประวัติศาสตร์ประชาชน ตอน 3
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์
บาร์เบอร์บนภูบรรทัดสหายบอกว่า
เพื่อความเรียบร้อย ไม่ใช่ “ทำหล่อ”

ภาพจากหนังสือ บนเส้นทางภูบรรทัด หน้า ๓๐๕

โรงเรียนการเมือง
การทหาร
โรงพยาบาลกลางป่า

คนที่เกิดไม่ทันคงนึกไม่ออกว่าคนที่ตั้งใจไปอยู่ป่าแบบยาว ๆ กลางพงไพรที่ไม่มีสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเขาอยู่กันได้อย่างไร อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นชีวิตจรยุทธ์ที่เน้นการไม่ทิ้งร่องรอย บนพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพปลดแอกประชาชนไทยจึงแทบไม่เหลือร่องรอยให้คนรุ่นหลังได้มองเห็นภาพ

ภาพชีวิตในกองป่าจึงมีหลงเหลืออยู่แต่ในคำเล่าขานของคนที่ได้ร่วมกองทัพปลดแอกยุคนั้น

“เป็นเขตจรยุทธ์ ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง หกปีที่อยู่ตรงนั้นเคยสร้างกระท่อมไม้ไผ่หลังเดียว จากนั้นไม่เคยสร้าง นอนเปลกันตลอด” “สหายอำไพ” พูดถึงเขตงานภูซางทางอีสานเหนือ

“ทุกคนมีเป้หนึ่งใบกับเปลและผ้ายาง พร้อมเคลื่อนที่เร็วเสื้อผ้ามีสองชุด ใส่สลับกัน ขาดก็ปะเย็บเองด้วยมือ ใส่รองเท้าแตะตราดาวเทียม ออกไปทำงานมวลชนอยู่ตามหัวไร่ปลายนา กลุ่มละไม่เกิน ๑๐ คน”

พื้นที่แถบภูซางส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ ไม่ได้เป็นป่าดงดิบ มีทับหมอที่ปลูกเป็นโรงเรือนอยู่เป็นแกนกลาง มีทับของกองทหารหลัก ทหารหญิง ทหารมวลชน ทหารท้องถิ่น กระจายล้อมอยู่รอบ

“ทับหมอมีหมอที่จบมาจริง ๆ นักศึกษาพยาบาล แพทย์ สหายชาวนาที่ไปเรียนจากเมืองจีน เป็นที่พึ่งของทหารกองทัพปลดแอกเวลาป่วยไข้หรือบาดเจ็บ รวมทั้งชาวบ้านรอบ ๆ ด้วย ชาวบ้านเจ็บไส้ติ่งก็มาผ่าตัดกันเยอะ”

“สหายสุราษฎร์” เป็นสหายชาวบ้านคนหนึ่งที่พรรคส่งไปเรียนวิชาแพทย์ที่ประเทศจีนช่วงปี ๒๕๑๗-๒๕๑๙ แล้วกลับมาอยู่ทับแพทย์ ฐานที่มั่นภูพาน ในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเทคนิค ทำงานมวลชนด้วยการแพทย์ และเขายังเป็นหมอฝังเข็มมาโดยตลอด แม้หลังออกจากป่ามาแล้ว

ขณะที่ “สหายเหล็กกล้า” ได้ไปเรียนในโรงเรียนพยาบาลที่ลาว ระหว่างปี ๒๕๑๙-๒๕๒๒ ก่อนกลับมาอยู่ทับ ๘๑ ทับโรงพยาบาล เขาเล่าประสบการณ์งานเภสัชกรกลางป่าให้สัมภาษณ์ ปฐมพร ศรีมันตะ ว่า 

“หัวหน้าคือหมอเหวง มาดูแลมาช่วยกัน...เราเอาหัวเชื้อมาหมักเหล้าแล้วกลั่นเป็นแอลกอฮอล์ กว่าจะเป็นเราต้องชิม ไหไหนพอกลั่นได้ กว่าจะกลั่นเราต้องเอาแอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ถึงจะกลั่นเอามาฆ่าเชื้อได้ บางทีเราก็เอารากไม้มาช่วยหมัก”

“หมอเหวง” ที่สหายเหล็กกล้ากล่าวถึงคือ นายแพทย์เหวง โตจิราการ ที่เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ภูพานในชื่อจัดตั้งว่า “สหายเข้ม” ช่วงหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์หนังสือ ธงปฏิวัติ เกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ของหมอ ทปท. ในเขตฐานที่ภูพานว่า 

“ในฐานที่มั่นปฏิวัติของเรา นักปฏิวัติตลอดจนมวลชนในเขตอำนาจรัฐจะได้รับการประกันทางสุขภาพ ขณะที่เขตการปกครองปฏิกิริยา อัตราแพทย์ต่อประชากรเฉลี่ยแล้ว ประชากร ๒ หมื่นคนต่อแพทย์ ๑ คน ในถิ่นกันดารบางแห่งสูงถึงแสนต่อหนึ่งก็มี  แต่ในฐานที่มั่นเรา เฉลี่ยอัตราหมอต่อประชากรประมาณ ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ คนต่อหมอ ๑ คน เป็นเรื่องที่สะท้อนการเอาใจใส่สุขภาพของประชาชนที่เทียบกันไม่ได้ ระหว่างชนชั้นปกครองปฏิกิริยากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

ขณะเดียวกันทับหมอในป่าก็เป็นที่พึ่งของชาวบ้านด้วย ซึ่งกองป่าก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานมวลชนด้วย

พงษ์ เชื้อคำฮด ชาวบ้านพังแดง เป็นคนหนึ่งที่เกิดในกองป่าภูพาน

“ผมเกิดในแก่งห้วยบังทราย บ้านพังแดง หลายคนเกิดในป่าแจ้งเกิดไม่ได้ พ่อแม่แจ้งเกิดผมว่าเป็นฝาแฝด น้องชายเกิดปีที่ออกพอดี ผมแจ้งเกิดปี ๒๕๒๐ ตอนอายุ ๕ ขวบแล้ว วันเดือนเกิดของน้องก็ไม่จริง สมมุติเอา ไม่งั้นแจ้งไม่ได้”

“สหายร้อย” ก็เป็นอีกคนที่เคยได้พึ่งโรงพยาบาลกลางป่าหลังเรียนทฤษฎีการเมืองที่โรงเรียนการเมืองการทหารภูพานได้ ๓-๔ วัน
“ผมล้มป่วยอย่างหนัก เพราะก่อนเข้าเรียนผมอยู่ป่ามาเป็นเดือนแล้ว ต่างจากคนอื่น ๆ ที่เพิ่งเข้ามา ผมรับเชื้อมามากพอจะล้มไข้อย่างที่เรียกว่า ‘รับน้อง’ เข้าป่าแล้วระยะหนึ่งทุกคนต้องล้มลงด้วยไข้มาลาเรีย เพราะเชื้อไข้มีอยู่ทั่วไป ทั้งในน้ำที่เราใช้ดื่มกิน ทั้งในร่างกายสหายทุกคนในป่า ผมถูกรับน้องหนักมาก กินข้าวไม่ได้ ต้องให้น้ำเกลือ เดินไม่ไหว จะขับถ่ายทีหนึ่งสหายพยาบาลต้องอุ้มเอาไปวางไว้ตรงหลุมดินที่เขาขุดรอให้เราถ่าย เป็นความประทับใจจนต้องเขียนเป็นกลอนขอบคุณ ‘ยามหนาวเหน็บเจ็บไข้ร่างกายป่วย มีหมอช่วยฟูมฟักเฝ้ารักษา ให้ความรักทางชนชั้นอันตรึงตรา’… 
“สหายร้อย” ใช้เวลาช่วงแรกเข้าป่าในดงพระเจ้าอ่านหนังสือสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง อยู่ตามเงาไม้ใหญ่ ก่อนมาเข้าโรงเรียนการเมืองการทหารที่ริมห้วยแม่นน ลานป่าในความทรงจำของใครหลายคน เป็นทับที่หลับนอนของนักปฏิวัติในห้วงยามกรำศึก รวมทั้งเป็นเรือนตายของสหายบางคน

หลักสูตรของโรงเรียนในกองป่าไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยในเมืองแห่งไหน เพราะโรงเรียนแห่งนี้สอนหลักคิดทฤษฎีเหมาลัทธิมาร์กซ์-เลนิน และการรบ

“ช่วงแรกอ่านหนังสือเรื่อง คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง จากเอกสารโรเนียว จนเข้าหน้าฝนก็ได้รับแจ้งว่าต้องไปฐานที่มั่นภูพาน” “สหายประชา” เล่าถึงการเดินทางเป็นเขตงาน ๔๔๔ ภูสระดอกบัว รอยต่อมุกดาหาร-ยโสธร-อำนาจเจริญ มาเรียนการเมืองการทหารที่เขตงาน ๓๓๓ ภูพาน ว่าครูที่สอนเป็นสหายชาวนาและปัญญาชนที่เรียนจบจากจีน รวมทั้ง “สหายอุทัยวรรณ” ครูคนแรกของโรงเรียนการเมืองการทหารภูพาน

เรียนการเมืองอยู่เป็นเดือน ตามด้วยการเรียนวิชาทหาร ฝึกยิงปืนในตอนท้าย

“เหมือนบังเอิญจบหลักสูตรวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พอดี ลุงที่เป็นสหายนำฟังวิทยุแล้วมาเล่า เราเศร้าใจ เคียดแค้น สหายชาวนาก็บอกว่า เห็นไหมสหาย เราต้องมีปืน แนวทางของพรรคฯ ถูกต้องแล้ว อำนาจรัฐเกิดจากกระบอกปืน ต้องมีปืนเท่านั้นจึงจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้  เราต้องมีกองกำลังอาวุธ มีพรรคนำพา มีแนวร่วม แก้วสามประการที่สอนกัน นี่เป็นหัวใจของการเรียนการเมืองเลย”

นับแต่มีการล้อมปราบเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวง เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ความเคียดแค้นทำให้เกิดการทะลักเข้าป่าครั้งใหญ่ กองทัพปลดแอกฯ จึงได้สมาชิกใหม่ขยายใหญ่ขึ้น

จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ ธิกานต์ ศรีนารา รวบรวมไว้ในหนังสือ หลัง ๖ ตุลาฯ ระบุตัวเลขการ “เข้าป่า” ของนักศึกษาปัญญาชน ช่วงหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ โดยประมาณไว้แตกต่างกัน นิตยสาร สยามนิกร ระบุว่าราว ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน นิตยสาร ไทยนิกร อ้างตัวเลขทางการของหน่วยงานทางทหารว่าประมาณ ๒,๐๐๐ คน หรือมากกว่านั้น เฉพาะในภาคใต้มากกว่า ๑,๐๐๐ คน ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่าหลัง ๖ ตุลาฯ นักศึกษาหายไปจากทะเบียน ๕๐๐-๑,๐๐๐ คน

ทำให้ “ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีพลังด้านการสู้รบชนิดที่เจ้าหน้าที่รัฐคาดไม่ถึง” ตามความเห็นของสถานีวิทยุบีบีซี

กลายเป็นกองกำลังต่อสู้อำนาจรัฐที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ชีวิต / ความหวัง 
ของทหารปลดแอก

ในกองป่า ทุกคนมีฐานะเป็น “สหาย” คำที่ใช้เรียกมวลสมาชิกทุกคนที่เข้าร่วมอุดมการณ์เดียวกัน มีนัยความหมายถึงมิตรภาพ ความรักฉันพี่น้องที่เท่าเทียมกัน ตามด้วยชื่อจัดตั้งที่ตั้งขึ้นใหม่ และมักเปลี่ยนทุกครั้งที่ย้ายเขตงาน

แต่กับบรรดาสหายวัยอาวุโสในเขตป่าไพร ใคร ๆ ก็มักเรียกขานด้วยความรักนับถือกันแบบไทย ๆ ว่า “ลุง”

ชีวิตสหายในกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยเริ่มจากโรงเรียนการเมืองการทหาร จบแล้วแยกส่วนงานไปตามภาระหน้าที่ เล่ากันว่าสหายหนุ่มสาวจากในเมืองส่วนใหญ่พรรคฯ มักให้รับผิดชอบงานด้านการศึกษา งานมวลชน งานโฆษณา ส่วนงานแนวหน้าที่เสี่ยงภัยอันตรายมักเป็นของสหายชาวนามากกว่า

“สหายยศ” กลับจากลาวมาอยู่เขตสระบุรี นนทบุรี นครบุรี ลพบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรี นามเหล่านี้ไม่ใช่จังหวัดในประเทศไทย แต่เป็นชื่อจัดตั้ง  พื้นที่ทั้งหมดนี้อยู่ในเขตภูพาน น่าจะเปรียบได้กับอำเภอ

เป็นการสถาปนารัฐของกองทัพปลดแอก สร้างอำนาจรัฐซ้อนอำนาจรัฐเดิม 

พื้นที่เขตงานของ พคท. ในภาคอีสานทั้งหมดแบ่งเป็นสองเขตงานใหญ่ กับหนึ่งเขตงานพิเศษ 

หนึ่ง-เขตงานอีสานใต้ สอง-เขตงานอีสานเหนือ สาม-เขตงานพิเศษอุดรธานีหรือเขตงานภูซาง 

ตามภูมิศาสตร์ธรรมชาติ เขตงานอีสานเหนือกับภูซางอยู่บนแนวเทือกเขาภูพาน  เขตงานภูซางคือจังหวัดหนองบัวลำภู
ในปัจจุบัน ซึ่งยุคนั้นถือเป็นพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดเชื่อมต่อ “เส้นทางแดง” ในเขตงานอีสานกับศูนย์กลางทางภาคเหนือ ทั้งยังสะดวกกับการเชื่อมประสานพรรคพี่น้องนอกชายแดน

ส่วนเขตงานอีสานเหนือครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดรอบเทือกเขาภูพาน ซึ่ง พคท. ได้กำหนดขอบเขตและตั้งชื่อจังหวัดขึ้นใหม่ โดยใช้เลขสามตัวเป็นชื่อจังหวัด ส่วนชื่ออำเภอเลียนแบบมาจากชื่อจังหวัดหรือชื่ออำเภอของทางราชการ

พื้นที่แถบใจกลางของเขตงานอีสานเหนือบนเทือกเขาภูพานที่เรียกว่า “ฐานที่มั่นภูพาน” น่าจะได้แก่จังหวัด ๑๑๑ กับจังหวัด ๓๓๓ ที่อยู่แถบรอยต่อกาฬสินธุ์-มุกดาหาร-นครพนม-ยโสธร ซึ่งสองจังหวัดนี้มีห้าอำเภอกับสี่อำเภอตามลำดับ

ห้าอำเภอของจังหวัด ๑๑๑ ได้แก่ กำแพงเพชร ไชยบุรี ลพบุรี ราชบุรี และสิงห์บุรี 

และสี่อำเภอของจังหวัด ๓๓๓ ได้แก่ เพชรบุรี สระบุรี นครบุรี และธัญบุรี

ชื่อหมู่บ้านก็ตั้งขึ้นใหม่เช่นกัน เช่น บ้านขัวสูง กองป่าเรียกบ้านขอน, บ้านกกกอกเรียกบ้านรอบหก, บ้านมะนาวเป็นบ้านรอบสี่, บ้านกกตูมเป็นบ้านรอบเจ็ด, บ้านปากช่อง-บ้านไผ่เป็นบ้านนาหินกอง-บ้านนก เป็นต้น

เส้นแบ่งเขตปกครองของทางการกับของกองป่าในยุคปฏิวัติไม่ได้ทับซ้อนเป็นเส้นเดียวกัน บนพื้นที่จริงในวันนี้คงบอกได้เพียงคร่าว ๆ อย่างในแถบส่วนกลางของพื้นที่สีแดงเข้มที่ถือเป็นเขตปลดปล่อย เขตอำนาจรัฐแดงลพบุรี อยู่แถวบ้านกกกอก (บ้านรอบหก) จนถึงนาแก

ข้ามภูผาแอกไปอีกฟากเป็นเขตสิงห์บุรี ปัจจุบันคือบ้านขัวสูง (บ้านขอน) บ้านสานแว้ ไปจนถึงเขตเขาวง

เชื่อมต่อกับเขตเพชรบุรี แถวตำบลกกตูม ตั้งแต่บ้านปากช่อง บ้านนาหินกอง แก่งโพธิ์ แก่งขี้เหล็ก ภูผาแดง

เข้าสู่เขตสระบุรี ทุกวันนี้คือแถวตำบลดงหลวง ตั้งแต่บ้านพังแดง บ้านนาหลัก บ้านหนองหมู บ้านหนองครอง บ้านห้วยเลา บ้านตาเปอะ บ้านคำเบิ่มบ่าม

นอกจากนั้นยังมี “ทับ” ที่เป็นเลขสองตัว ได้แก่ ทับ ๑๑ เป็นทับรับแขก ทับ ๑๖ โรงพยาบาล ทับ ๖๖ ศิลปินภูพาน ทับ ๗๔ สำนักหนังสือพิมพ์ ธงปฏิวัติ

“สหายร้อย” ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานสอนหนังสือและอบรมการเมืองให้แก่อนุชนอยู่ช่วงหนึ่ง แถบบ้านกวนบุ่น บ้านขัวสูง บ้านกกกอก  ลงทุ่งจับกบจับปู (อยู่ในรูเดียวกัน) หาอยู่หากินกับเด็ก ๆ

“ได้รับเงินจากกองป่าเป็นรายเดือน เดือนละ ๑๕ บาท พอได้ค่าสบู่ ค่าผงซักฟอก”

หลังทำงานมวลชนได้ ๕ เดือน “สหายร้อย” ถูกเรียกตัวให้เดินทางสู่ศูนย์งานภาคอีสานเหนือ เข้าสังกัดทับ ๗๔ ทำนิตยสารราย ๒ เดือน ธงปฏิวัติ

“ไม่มีชื่อเรียกตำแหน่งงานเด่นชัด เพราะทำตั้งแต่เขียนต้นฉบับไปจนช่วยกันกับสหายเก็บเล่มเย็บ สำเร็จเป็นเล่มเรียบร้อย หนา ๓๒ หน้ากระดาษฟุลสแก๊ปพับครึ่ง พิมพ์โรเนียวจำนวนครั้งละ ๕๐๐ ฉบับ ธงปฏิวัติ ส่งสู่ผู้อ่านไม่รับคืน ไม่มีค้างสต๊อก แจกจ่ายกว้างหลายจังหวัดในป่าเขาอีสานเหนือ ส่งให้ทับ (หน่วย) ละสองถึงสามฉบับ นำไปอ่านในช่วงศึกษาการเมืองตอนค่ำ ใช้งานเสร็จแล้วสหายชายแทบจะยื้อแย่งกันทีเดียว เพราะกองบรรณาธิการ ธงปฏิวัติ (หัวเดียวโด่เด่) โฆษณาน้ำลายแตกฟองว่า ธงปฏิวัติ วารสารคุณภาพโรแมนติกบนริมฝีปาก มวนยาสูบ...อร่อย”

เช่นเดียวกับ “สหายประชา” ที่เดินทางกลับเขตงาน ๓๓๓ ภูสระดอกบัว ไปอยู่หน่วยการศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนการเมืองของท้องถิ่น กับทำหนังสือพิมพ์โรเนียว ประมวลข่าวสารรายงานการสู้รบ

ทำให้เขาได้ออกไปถึงสนามรบด้วย 
“ไปสนามรบสองครั้งในฐานะนักข่าวครั้งหนึ่งโจมตีสถานีตำรวจริมแม่น้ำโขงที่มุกดาหาร อีกครั้งโจมตีที่เลิงนกทา ใช้เทปคาสเซตต์ไปบันทึกเสียงปืนมารายงานข่าว มาโฆษณา”
เขาเล่าประสบการณ์ช่วงเป็นนักข่าวสงครามประชาชน

“เราอยู่หน่วยข่าว ไม่ได้อยู่หน่วยรบ ที่ให้เราไปด้วยนี่พรรคเลือกยุทธการที่ปลอดภัย ที่เลิงนกทา พรรคประเมินความเสี่ยงแล้ว ฝ่ายเจ้าหน้าที่แทบไม่ได้ตั้งรับ เขาคาดไม่ถึงว่าเราจะมา เรายึดรถโดยสารมา ตั้งแต่เข้าป่าได้ขึ้นรถครั้งแรกก็วันนั้น”

เป็นสงครามจรยุทธ์หรือสงครามกองโจรที่ไม่เน้นการปะทะแบบเผชิญหน้า แต่เป็นการซุ่มซ่อนลอบโจมตี เป็นรูปแบบ การรบหลักที่กองทัพปลดแอกใช้มาตั้งแต่เริ่มต้นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งตอนหลังฝ่ายรัฐก็โต้กลับด้วยยุทธวิธีเดียวกันนี้ โดยใช้กองกำลังทหารพรานและสมาชิกอาสารักษาดินแดน หรือ อส.

“การเสียชีวิตก็มีประจำ จากการปะทะ การถูกซุ่มโจมตี เป็นเรื่องปรกติของการสู้รบ  มีการสูญเสียทั้งสองฝ่าย สงครามเป็นอย่างนี้”

“สหายประชา” พูดถึงชีวิตบนเส้นด้ายของนักรบ

ยิ่งเกิดการปะทะบ่อยครั้งขึ้น ความสูญเสียก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จาก ๑,๐๕๐ ครั้งในปี ๒๕๒๐ เป็น ๔,๑๔๔ ครั้งในปีถัดมา  ระหว่างปี ๒๕๒๑-๒๕๒๓ สูญเสียเจ้าหน้าที่รัฐ ๑,๔๕๙ คน บาดเจ็บ ๖๖๘ คน  ขณะที่ตัวเลขทางการระบุว่า เฉพาะปี ๒๕๒๓ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เสียชีวิต ๑,๕๔๓ คน

แต่ด้วยกำลังรบที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของพื้นที่ “แดง” และงานด้านต่าง ๆ ที่เติบโตขึ้นมากกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ ทำให้พลพรรค ทปท. เต็มไปด้วยความหวังว่าชัยชนะจะมาถึงในไม่ช้า
Image
“สหายอุทัยวรรณ” ปัญญาชนที่เข้าป่าภูพานยุคเดียวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ กลับมาเยือนบริเวณที่เคยเป็นโรงเรียนการเมืองการทหาร ริมห้วยแม่นน ที่ภูไม้ฮาวอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔  สี่สิบกว่าปีก่อนเธอเป็นครูคนแรกของโรงเรียนการเมืองฯ แห่งนี้ นักศึกษาที่เข้าป่าภูพานช่วงปี ๒๕๑๙ ส่วนใหญ่ต่างเคยเรียนวิชาการเมืองจากครูคนนี้ ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่ต่างจังหวัด และไม่ต้องการเปิดเผยตัว
สมัชชา ๔ 
วิกฤตศรัทธา ป่าแตก

ไม่มีใครรู้จำนวนสมาชิกกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยแน่ชัด กองกำลังของคนในป่าเป็นเรื่องปิดลับ ไม่ได้มีการจัดทำทะเบียนบุคคลเป็นทางการ

ในปี ๒๕๑๗ มีข้อมูลประมาณการตัวเลขสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ว่าอยู่ราว ๔.๖ หมื่นคน และมีประชาชนอยู่ในเขตที่ประกาศเป็นเขตปลดปล่อยแล้วราว ๓ แสนคน

การขยายตัวอย่างฉับพลันของกองทัพปลดแอกฯ ช่วงหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ถึงกับทำให้เจ้าหน้าที่ซีไอเอคาดการณ์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะประสบชัยชนะภายใน ๕ ปี ขณะที่ดอกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เชื่อว่าจะใช้เวลาเพียง ๓ ปีเท่านั้น

แต่แล้วขบวนการปฏิวัติกลับแตกสลาย พรรคคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ความหวังที่จะปฏิวัติยึดอำนาจรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกองกำลังติดอาวุธจบสิ้นไป

ยุทธการปราบคอมมิวนิสต์บนภูพานทำอะไรกองทัพปลดแอกฯ ได้ไม่มาก แต่ในที่สุดกองกำลังฝ่ายป่าก็แตกพ่ายสลายลง

ทหารกองทัพปลดแอกฯ ทุกคนเล่าคล้าย ๆ กันว่า มูลเหตุแห่งความปราชัยเกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก มากกว่าการจนมุมต่อกองกำลังของรัฐ

รอยร้าวเค้าความขัดแย้งเริ่มปรากฏตั้งช่วงปีแรก ๆ ของการทะลักเข้าสู่ป่าเขาของนักศึกษาปัญญาชนหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  นักศึกษากลุ่มแรกออกจากป่าเมื่อต้นปี ๒๕๒๒

ประยงค์ มูลสาร หรือ “สหายยศ” ที่ร่วมอยู่ในกระแสความขัดแย้งในเขตงานภูพานมาโดยตลอด เล่าถึงเรื่องนี้ว่า “ผู้นำคนเก่า ๆ ยืนยันนโยบายป่าล้อมเมือง ตามแนวทางว่าสภาพสังคมไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ส่วนคนหนุ่มสาวเห็นว่าการปฏิวัติไทยต้องใช้ทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ เนื่องจากวิเคราะห์ว่าไทยเป็นสังคมทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้น พอวิเคราะห์สภาพสังคมว่าเป็นแบบนี้ การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ก็ต้องคิดใหม่ เกิดขัดแย้งกัน”

ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคุกรุ่นความขัดแย้ง ขณะที่เครือข่ายคอมมิวนิสต์สากลก็เกิดความแตกแยก พรรคคอมมิวนิสต์จีนขัดกับโซเวียตมาตั้งแต่หลังสิ้นยุคสตาลิน ต่อมาต้นปี ๒๕๒๒ เวียดนามบุกยึดกรุงพนมเปญของกัมพูชาโดย
ได้รับการหนุนหลังจากโซเวียต  จีนเคลื่อนกำลังเข้าโจมตีชายแดนเวียดนามตอนเหนือทำ “สงครามสั่งสอน” ที่รุกรานกัมพูชา

ปัญหาระหว่างคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนได้ส่งผลต่อเนื่องถึงขบวนการปฏิวัติไทยด้วย

พรรคคอมมิวนิสต์ลาวซึ่งสนับสนุนเวียดนามเห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นสายจีน จึงตัดความช่วยเหลือทุกด้าน ขับไล่พลพรรค พคท. ออกจากลาว ไม่ให้ที่พักพิง และปิดพรมแดนไม่ให้ใช้เส้นทางที่เคยผ่านเข้าออกจีน

ขณะเดียวกันทางการจีนก็เข้าเจรจากับรัฐบาลขอใช้ไทยเป็นทางผ่าน ส่งอาวุธให้เขมรแดงรบกับเวียดนาม โดยเสนอให้วิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ที่ตั้งอยู่ที่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน งดโจมตีรัฐบาลไทย ซึ่งในที่สุด พคท. ได้ตัดสินใจยุติการออกอากาศไปเอง

การถูกลดทอนความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ สร้างความยากลำบากให้แก่ขบวนการปฏิวัติในป่าเขา

ขณะที่ภายในประเทศ รัฐบาลสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกนโยบาย ๖๖/๒๓ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๓ ใช้การเมืองนำการทหาร เอาชนะคอมมิวนิสต์ให้ได้อย่างเด็ดขาดรวดเร็วด้วยการรุกทางการเมือง แก้ปัญหา “ความคับแค้นทางจิตใจ ความยากไร้ทางวัตถุ”มอบหมายให้พลตรี ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศขณะนั้น) เป็นผู้ติดต่อเจรจากับผู้นำคอมมิวนิสต์ในเขตงานต่าง ๆ ให้กลับใจวางอาวุธเข้ามอบตัวโดยไม่มีความผิด ทั้งจะให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่และที่ทำกิน

“กองทัพภาคที่ ๒ ใช้เครื่องบินมาบินวนเหนือเขตป่าภูพานที่พวกเราอยู่ ทั้งหว่านใบปลิว ทั้งกระจายเสียง บอกว่าพวกท่านไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่เป็นผู้รักชาติ และยัง
เน้นมาถึงพวกเรานักศึกษาที่เข้าป่ามาหลัง ๖ ตุลาฯ บอกว่านักศึกษาเป็นผู้รักชาติ เป็นอนาคตของชาติ ให้กลับมาช่วยกันสร้างชาติ ที่ผ่านมาเป็นความผิดของพวกเผด็จการขวาจัด ใส่ร้ายป้ายสีพวกท่าน นี่ เขาโฆษณากล่อมใจเราขนาดหนัก หัวใจเราก็ชักจะอ่อนลงบ้างละ”

“สหายร้อย” บรรยายภาพท้องฟ้าเหนือเขตป่าภูพานก่อนเข้าสู่ยุค “วิกฤตศรัทธา”

สถานการณ์สั่นคลอนทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เสริมกำลังกันจนเกิดปรากฏการณ์คนป่าคืนเมือง ที่เรียกกันในยุคนั้นว่า “ป่าแตก”

สมรภูมิคลายความดุเดือดลง การปะทะทั่วประเทศที่เคยหนักหน่วงถึง ๒,๗๗๒ ครั้งในปี ๒๕๒๒ ลดลงเหลือ ๑,๘๙๑ ครั้งในปี ๒๕๒๓

ล่วงถึงปี ๒๕๒๔ มีผู้เข้ามอบตัว ๒๖,๑๙๐ คน ทำให้พลพรรคในแต่ละพื้นที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เขตงานย่อยค่อย ๆ ยุบเลิกหรือไปร่วมกับเขตที่เข้มแข็งกว่า พรรคคอมมิวนิสต์ฯ อ่อนกำลังลงมากนับแต่นั้น

พคท. พยายามแก้เกมด้วยการจัดสมัชชา ๔ 

แต่การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งนั้นกลายเป็นจุดแตกหักที่นำไปสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คู่ปรปักษ์ที่เคยเป็นที่หวาดหวั่นของรัฐมากที่สุด
“ผู้แทนพรรคฯ ทั่วอีสาน ๒๖ คน ส.ส. สำรองอีกจำนวนหนึ่ง รวมราว ๕๐ คน ทหารอารักขาหลายกองร้อย คนทำอาหาร รวมแล้วราว ๓๐๐ คน ตั้งอยู่เป็น ๑-๒ เดือน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ๒๕๒๕ ที่เชิงภูผาแดง”
ประยงค์ มูลสาร บรรยายบรรยากาศการประชุมสำคัญที่สุดของพรรคที่เว้นช่วงมา ๒๐ กว่าปี และเขากลับมาอยู่ต่อหน้าสถานที่จริงแถวแก่งโพธิ์ จุดที่จัดประชุมอยู่ลึกเข้าไปกลางป่า ต้องเดินเท้าเข้าไปในหุบเขา ตอนนั้นเขาอยู่ในร่าง “สหายยศ”  

“ประชุมเสร็จผมก็เตรียมถอยแล้ว”

ไม่ใช่แต่ “สหายยศ” สหายนักศึกษาหลายคนก็กลับมาเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หลายคู่แต่งงานสร้างครอบครัว อย่าง “สหายเข้ม” (เหวง โตจิราการ) กับ “สหายปูน” (ธิดา ถาวรเศรษฐ) สหายปัญญาชนจากเขตงานภูพาน ที่จัดงานแต่งงานอย่างเอิกเกริก โดยเชิญทั้งพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก และ
พลโท ชวลิต ยงใจยุทธ มาเป็นแขกพิเศษในวันงานด้วย

จำนวนสมาชิกกองทหาร ทปท. ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องการวิเคราะห์สภาพสังคมไทยที่ตกลงกันไม่ได้


ตัวเลขของทางการระบุจำนวนผู้เข้ามอบตัวว่าในช่วง ๓ ปีหลัง ระหว่างปี ๒๕๒๔-๒๕๒๖ รวม ๕,๓๓๕ คน คณะกรรมการบริหารกลางที่เป็นผู้ปฏิบัติงานระดับนำของพรรคฯ จาก ๕๓ คน เหลือราว ๒๐ คน เนื่องจากการมอบตัวและ

บางส่วนถูกจับกุม

“เมื่อมติที่ประชุมสมัชชาพรรคฯ ไม่มีแนวทางใหม่ให้พวกเรา
เป็นที่หวังได้อีกต่อไป...” ตามคำรำพึงของ “สหายประชา” เขตงาน ๓๓๓ ภูสระดอกบัว

สุดท้ายนำไปสู่การมอบตัวยกเขตงานของทหาร ทปท. เขตภูสระดอกบัวเกือบ ๓๐๐ คนพร้อมอาวุธ ซึ่งกองทัพบกจัดพิธีต้อนรับอย่างเอิกเกริก เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๔๐ ปี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย


“ฉากสุดท้ายของสหายชาวภูสระดอกบัว คือการประกาศยุติการสู้รบร่วมกับตัวแทนหน่วยทหาร ชค. ๐๖ บนเวทีหมอลำในงานบุญกลางบ้านบาก อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร”


ตามที่ “แคน สาริกา” อดีต “สหายประชา” บันทึกถึงเขตงานภูสระดอกบัว


“ผมอยู่เป็นชุดสุดท้าย จนราวเดือนตุลาคม ๒๕๒๕ จัดตั้งของเขตงานก็มาคุยว่าจะเลิก เห็นด้วยไหม เราต้องยอมรับโดยดุษณีว่าเลิกก็เลิก เขาส่งตัวแทนไปคุยกับทางการ เสนอเงื่อนไขขอบ้านครอบครัวละหลัง ตั้งหมู่บ้านในเขตงานภูสระดอกบัว
นี่แหละ กับที่ดินทำกิน ๑๕ ไร่ ทางการรับข้อเสนอ พวกเราเอาปืนออกมามอบตัวเป็นข่าวใหญ่โต”

ข้อเสนอหนึ่งของการเจรจา ฝ่ายป่าขอให้ทางการเปลี่ยน
คำเรียก “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่กลับใจมอบตัว” ที่ใช้เรียกกันมาก่อนนั้น จึงเกิดคำว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ใช้เรียกกับคนที่ออกจากป่าทั่วประเทศมาตั้งแต่นั้น

จนถึงปี ๒๕๒๖ สงครามประชาชนก็ยุติ


แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นพรรคฯ ขึ้นมาใหม่ จนนำไปสู่การจับกุมสมาชิกระดับนำของพรรคฯ ครั้งใหญ่จำนวน 
๑๘ คน ขณะเตรียมการจะจัดประชุมสมัชชาพรรคฯ ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ เมษายน ๒๕๓๐

แต่ยังมีสมาชิกบางส่วน รวมทั้งเลขาธิการพรรคฯ คนสุดท้ายเคลื่อนไหวอยู่ในป่าทางภาคใต้ และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเคลื่อนมาซ่อนตัวอยู่กลางป่า
บางกลอย เพชรบุรี เมื่อปี ๒๕๓๔ 

และหลังจากนั้นอีก ๑๐ ปี การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ก็สิ้นสุดลงในทางกฎหมาย เมื่อพระราชบัญญัติป้องกันการ
กระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ถูกยกเลิกในปี ๒๕๔๓

ปิดตำนานการต่อสู้ทางการเมืองที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีช่วงเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปฏิวัติประเทศ
ไทยสู่สังคมนิยมด้วยกำลังอาวุธอยู่ร่วม ๔๐ ปี นับแต่การประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคทั่วประเทศครั้งที่ ๑ จนถึงสมัชชา ๔
Image
หน่วยศิลป์วง ๖๖ ภูพาน เลื่องชื่อเรื่องเพลงลูกทุ่งหมอลำ เล่ากันว่าเปิดแสดงที่ไหนแฟนเพลงแห่กันไปชมคับคั่งแบบไม่กลัวโดนล้อมปราบ โดยมี “สหายเทิด” (คนยกมือบังหน้า) เป็นดาวเด่นของวง เมื่อเพลง “ศิลปินมาแล้ว” และ “นักรบอาจหาญ” ที่เธอร้อง ได้รับการบันทึกเสียงส่งไปออกอากาศ ก็กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตสถานีวิทยุ สปท. ด้วยเสียงใสอันมีเสน่ห์ของเธอ

ภาพโดย “สหายรัศมี”

แนวรบวัฒนธรรม
“สุนทรพจน์พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก วันรับมอบตัวผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ เขียนได้ดีมาก ทุกคนเป็นผู้ชนะหมด” 

“สหายประชา” ย้อนถึงวันคืนเมืองของเขา

“แพ้น่ะครับ จะอ้างยังไงก็ตาม ปฏิวัติล้มระบบไม่ได้ก็คือแพ้ความพ่ายแพ้นี้แลกด้วยชีวิตสหายมากมาย”

“สหายยศ” สรุปการต่อสู้ของขบวนการปฏิวัติในสงครามประชาชน

“รู้สึกว่าแพ้ ถ้าชนะต้องถือธงออกมา ธงแห่งชัย อันนี้ไม่มีอะไร”

“สหายตั้ง” หรือ ชม แสนมิตร นักปฏิวัติยุคแรกที่บ้านนาบัวพูดถึงการต่อสู้ที่ยาวนาน

การปฏิวัติยึดอำนาจรัฐล้มเหลว แต่หลายคนยอมรับว่ากองทัพปลดแอกฯ ประสบความสำเร็จด้านแนวรบวัฒนธรรม

ดังที่ เกษียร เตชะพีระ อดีตนักศึกษาคนหนึ่งที่เข้าร่วมกองทัพปลดแอกฯ บอกว่า

“ไม่ว่าจะรับหรือไม่ จะชอบหรือไม่ เพลงปฏิวัติเป็นส่วนหนึ่งของมรดกไทย พูดให้แม่นยำยิ่งขึ้น เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมสำหรับการต่อต้านทางสังคมและการเมืองที่ชนชาวไทย คนเล็กคนน้อยด้อยอำนาจรุ่นหลัง สามารถหันมาขุดค้นล้วงหยิบ”

และให้นิยามศิลปินในหน่วยศิลป์ใต้ร่มเงาธงแดงว่าเป็น “นักการเมืองวัฒนธรรม” ที่มีความสามารถในการทำทฤษฎีให้เป็นกลอน ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย “น่าจะเป็นการปฏิวัติที่ถูกทำให้เป็นกลอนและถูกขับร้องเป็นเพลงมากที่สุดในโลก”

“ถั่งโถมโหมแรงไฟ” ของวงคาราวาน เป็นเพลงแรก ๆ ของการนำหลักทฤษฎีการปฏิวัติมาใส่ทำนองร้องเป็นเพลง (ปฏิวัติ) ตามที่ สุรชัย จันทิมาธร ผู้แต่งเป็นคนยืนยันเรื่องนี้เอง

ส่วนเพลงจากป่าที่เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากที่สุดและยังถือเป็นเพลงอมตะตลอดกาลของเมืองไทย น่าจะได้แก่เพลง “เดือนเพ็ญ” หรือชื่อเดิมที่ “สหายไฟ” อัศนี พลจันทร ประพันธ์ไว้ชื่อ “คิดถึงบ้าน” ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ อาจเพราะเนื้อหาที่สะท้อนอารมณ์ถวิลหาของคนที่พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิวัติของพรรคที่ต้องปลุกเร้าให้ฮึกเหิม กระทั่ง สุรชัย จันทิมาธร ได้ยินหลานสาวผู้แต่งนำมาร้อง เขาจึงได้นำมาร้องต่อในเมือง จนเป็นเพลงที่โด่งดังและได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวาง

แต่เพลงป่ายังมีมาก บางส่วนเงียบหายไปตามยุคสมัย แต่อีกมากได้รับการปรับเปลี่ยนดัดแปลงขับขานกันต่อมา จนบางทีคนไม่รู้ว่าต้นฉบับเป็นเพลงปฏิวัติจากป่าเขา

ฉันเกิดอยู่แดนอีสาน ถิ่นกันดารที่เขาดูหมิ่นดูแคลนจากไกลไปหากินต่างแดน ก็อาลัยแสนเมื่อจำต้องพรากบ้านมา...

ช่วงต้นของเพลง “ฉันเกิดอยู่แดนอีสาน” แต่งและร้องโดย “สหายเยาวภา” ซึ่งต่อมาถูกใช้เป็นท่อนต้นของเพลง “ตังเก”

เพลง “ความแค้นของแม่” ของวงคาราวาน (ในเขตป่า) กลายมาเป็นเพลง “แม่” ของวงแฮมเมอร์

รวมทั้งเพลง “บินหลา” ที่ วิสา คัญทัพ ผู้แต่งเพลงนี้ บันทึกไว้ใน “เพลงป่า เพลงเมือง เพลงปฏิวัติ”

“โดยที่เป็นทำนองเพลงภาคใต้ ทำให้ผมพยายามนึกถึงอะไรที่เป็นความหมายหรือสัญลักษณ์ที่สะท้อนภาพความเป็นภาคใต้ที่แจ่มชัด ผมนึกถึงนามปากกา ‘บินหลา นาตรัง’ ของ
จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ใช้เขียนบทกวีออกอากาศทางสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย...ผมนึกถึงการโบยบิน นึกถึงต้นยางยืนทะนง ความคิดพรายเพริดบรรเจิดศิลป์ แล้วก็ได้เนื้อหาจากเหตุการณ์ล้อมปราบพี่น้องชาวใต้โดยรัฐบาลไทย...ต้องเขียนปลุกเร้าให้กำลังใจประชาชนชาวใต้ลุกขึ้นจับปืนยืนทะนง”

ในสมุดบันทึกเพลงของ อดิษร เพียงเกษ หรืออดีต “สหายศรชัย” ระบุว่าเพลง “บินหลา” บันทึกเสียงเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ออกอากาศทางวิทยุ สปท. ๒ สิงหาคม ๒๕๒๐  ช่วงนั้นกลุ่มศิลปินนักดนตรีเพื่อชีวิตที่เข้าป่ารวมตัวกันอยู่ที่หน่วยศิลป์ สำนัก A30 ในเขตลาว

“ศิลา โคมฉาย” เล่าบรรยากาศการสร้างวงดนตรีในเขตป่าเขา จากประสบการณ์ที่เขามีส่วนร่วมอยู่ด้วย
“เรียนการเมืองการทหารเสร็จแล้วเขาส่งไปอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ เข้าใจเพื่อเรียนรู้สภาพชีวิตป่า ผมเป็นทหารปืนใหญ่ หน่วยเราติดอาร์พีจียิงรถถัง ผมแบกลูกปืนอยู่กับเขาปีหนึ่ง แต่ก็ยังเขียนเพลงบ้าง จากนั้นเขาให้ไปเรียนดนตรีสากล ตอนนั้นพรรคฯ คิดว่าจะชนะ ต้องขยายวงดนตรี”
ศิลาแต่งเพลงเด่น ๆ ที่เป็นหลักหมายของเพลงป่า และยังเป็นที่รู้จักของคนร่วมสมัยอย่าง “เมล็ดสีแดง” และ “ดาวแดงแห่งภูพาน” โดยที่หน่วยศิลป์ภูพานก็มีวง ๖๖ เป็นทับที่ผลิตเพลงปฏิวัติจำนวนมากด้วย

วงดนตรีจรยุทธ์ที่ซ้อมและแสดงกันในท่ามกลางสถานการณ์สู้รบ

“กำลังซ้อมดนตรีอยู่ในอุโมงค์ที่ขุดขึ้นเองเฉพาะสำหรับซ้อมดนตรี คนอื่นอยู่ข้างบน ได้ยินเสียงเปรี้ยงในตอนเช้า ประมาณ ๘ โมง เป็นพวกทหาร อส. มาบุกตีทับ เพราะได้ยินเสียงกลองของเรา ตอนนั้นวง ๖๖ เสียสมาชิกไปหนึ่งคนเป็นนักร้องชาวนา” อภิชาต โตวรรณเกษม อดีต “สหายปรีชา” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกคนหนึ่งย้อนอดีตเส้นทางดนตรีของนักรบ ทปท.

วง ๖๖ ภูพานมีเพลง “นักรบอาจหาญ” เสียงร้อง “สหายเทิด” แต่งโดย “สหายประชา” และเพลง “ศิลปินมาแล้ว” ที่ออกอากาศไล่เลี่ยกันทางสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย โด่งดังเป็นเพลงฮิตติดใจแฟนเพลงในราวไพรยุคนั้น และยังได้รับการขับขานต่อมา 

“สหายอุทัยวรรณ ครูการเมืองของเราเคยอยู่วิทยุ สปท. ที่คุนหมิง แล้วกลับมาสอนเราอยู่ที่ภูพาน แนะนำให้บันทึกเสียง ส่งเพลงชุดนี้ไปยัง สปท.” 

“สหายประชา” เล่าเส้นทางเพลงป่าภูพานสู่คนฟังที่กระจาย
อยู่ทั่วทั้งในป่าและในเมือง

สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยหรือ สปท. ที่ “สหายอุทัยวรรณ” เคยทำก่อนมาอยู่ภูพาน กระจายเสียงคลื่นสั้น (SW) ความถี่ ๙๗ และ ๑๐๕ โดย “นายผี” อัศนี พลจันทร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งครั้งแรกที่กรุงฮานอย เวียดนาม
จนกระทั่งปี ๒๕๐๕ จึงย้ายสถานีไปอยู่ที่เมืองคุนหมิงมณฑล
ยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน 

วิทยุ สปท. มีส่วนหนุนเสริมให้เพลงปฏิวัติเติบโตได้มาก นับแต่ยุคเพลง “มาร์ชชาวนา” “มาร์ชกรรมกร” “แสงดาวแห่งศรัทธา” “ศักดิ์ศรีแรงงาน” ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐  จนถึงยุคเพลง “ภูพานปฏิวัติ” “วีรชนปฏิวัติ” ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งที่ภูพาน ได้รับความนิยมยกย่องอย่างสูง เรื่อยมาถึงยุคเพลงป่าโดยคนหนุ่มสาวเดือนตุลาฯ

ปี ๒๕๒๒ จีนเสนอกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลไทย จนนำไปสู่การปิด สปท. เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคมของปีนั้น

สถานีวิทยุถูกปิด ต่อมากองทัพปลดแอกฯ ก็สูญสลาย แต่บทเพลงยังถูกขับขาน 
กองกำลังที่เกิดจากการรวมตัวของผู้มีจุดร่วมทางอุดมการณ์ มีแนวคิดและการ “จัดตั้ง” อย่างเป็นระบบ รวมทั้งภาวะกดดันคับแค้นจากการถูกกระทำด้วยอำนาจรัฐ ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยเติบโตเข้มแข็ง เป็นขั้วต่อสู้ทางสังคมการเมืองที่รัฐครั่นคร้ามมากที่สุดในช่วง ๔๐ ปีแรกของพุทธศตวรรษนี้
ผู้ร่วมพัฒนาชาติ
“ประชาชนมาถาม ไปสู้ได้อะไร”

ชม แสนมิตร ถ่ายทอดเสียงถามไถ่ในวันที่ “สหายตั้ง” กลับจากป่าในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

“มันก็ได้เยอะอยู่ ได้การพัฒนา เพราะการต่อสู้ การพัฒนาจึงเข้ามา แต่ก่อนไม่เคยมีหมอมีโรงพยาบาล จนใครคนหนึ่ง
มาจากทางทิศไหนไม่รู้ มาพูดเรื่องการกดขี่ขูดรีด คนที่เอารัดเอาเปรียบทางการเมือง  มันคุมเรามานานแล้ว ถ้าเราไม่สู้ มันก็คุมเราอยู่อย่างนั้น  แต่พอมีการต่อสู้ การพัฒนาต่าง ๆ ถึงเข้ามา ถ้าเราไม่สู้จะให้เกิดเองมันไม่มี”

คล้าย ๆ กับ “สหายวิพากษ์” ชาวบ้านโพนสว่าง ที่ใช้ชีวิตอยู่กับกองป่าภูพาน ๑๗ ปี เล่าว่า

“ตอนมอบตัว เขาถามว่าได้อะไร บางคนบอกได้ถนน เขาอาจพูดเล่น ๆ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่ก่อนแถวนี้ถนนไม่มี ร้านค้าความสะดวกก็เพิ่งมีขึ้นตอนทหารมา”

เขาสะท้อนภาพง่าย ๆ แบบผิวเผินที่ใครก็มองเห็นได้ แต่ในแง่ลึก ๆ เขามองว่าได้รับบทเรียนด้วยกันทั้งสองฝ่าย

“ด้านหนึ่งก็ได้ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ตอนมีความหวังก็สร้างกำลังใจให้ผู้ทุกข์ยาก”

ป่าเขาคืนสู่ความสงบหลังจากสถานการณ์สู้รบจบลงไป ประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องราวเชิงนามธรรมก็คล้ายจะลบเลือนไปด้วย อดีตสหายชาวดงหลวงกลุ่มหนึ่งพยายามจะเปลี่ยนนามธรรมนั้นให้คงอยู่อย่างเป็นรูปธรรม

“ตอนนี้ผมเป็นประธานสร้างศาลาประวัติศาสตร์ที่ลานพ่อกูด ตอนนี้เพิ่งมีแค่กองหินเหมือนเจดีย์ แต่ตามแนวคิดว่าจะมีข้อมูลไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา”

วันดี วงศ์กะโซ่ หรือ “สหายสุทัศน์” ชาวดงหลวง ชี้ไปทางพลาญหินริมเทือกเขา 

ในอดีตตรงนั้นเป็นเสมือนประตูขึ้นสู่ภูเขา เป็นจุดนัดพบระหว่างกองป่ากับมวลชนจากเมืองเพื่อผ่านไปสู่ผาซัน วังเดือนห้า ห้วยขี้หมู ห้วยหินลับ ห้วยไร่ หลุบอีเลิด ฝั่งแดง เข้าสู่ศูนย์กลางฐานที่มั่นภูพาน

“ให้จุดที่มีเลือดเปื้อนดงหลวงมาแล้วนี้ สามารถสอนคนรุ่นหลังให้รู้ว่า ถ้าคุณใช้ความรุนแรง อะไรจะเกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ เราทุกคนน่าจะเรียนรู้จากตรงนี้ให้มาก”

หลังจากกองป่าสลายตัว ชายป่าที่เคยเป็นฐานที่มั่นเขตงานการปฏิวัติกลายเป็นเรือกสวน ทุ่งไร่ ผืนนา ป่าชุมชน หมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยว ถนนตัดใหม่ และสะพาน ส่วนที่เป็นเทือกเขาได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ แต่พื้นที่ประวัติศาสตร์ประชาชนไม่มีหลักหมาย ไม่เป็นที่รู้จัก หรือได้รับความสนใจให้ความสำคัญ

ในช่วงหลังอดีตสหายในเขตงานต่าง ๆ จึงพยายามปักหลักหมายไว้เป็นความทรงจำร่วมของผู้ผ่านเหตุการณ์ด้วยกันมา และเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ประชาชนของผู้คนทั้งสังคม

การเดินทางสู่ภูพานย้อนรอยสหายกองทัพปลดแอกช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ มีญาติสหายร่วมขบวนมาด้วย เขาได้รับการแนะนำอย่างให้เกียรติในฐานะ “ญาติวีรชน” เขาเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตรมาเพื่อติดตามกระดูกของคน
ในครอบครัว

“แถวบ้านขัวสูง กองป่าเรียกบ้านขอน เป็นเขตทับสิงห์ มีสหายเราเสียสละสองคน” 

ประยงค์ มูลสาร หรืออดีต “สหายยศ” เล่าเหตุการณ์ที่บ้านขัวสูง 

“‘สหายฟ้าใหม่’ เป็นหมอ ลงมารักษาคนไข้ในหมู่บ้านแล้วถูกยิงเสียชีวิต กับอีกคน ‘สหายน้อย ดาวเหนือ’”

“กระดูก ‘สหายฟ้าใหม่’ อยู่ในสถูปนี้”

“สหายขจัด” ชี้ไปที่อนุสรณ์สถานสันติภาพภูพาน ริมทางระหว่างสายเขาวง-ดงหลวง อนุสรณ์สถานทหารป่าแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเมื่อปี ๒๕๓๗

“กระดูกสหายน้อยอยู่ในนี้ไหม” ญาติถามถึงอัฐิของคนที่ตามหา

“ยังหาไม่เจอ” สหายอาวุโสที่นำกองป่าภูพานมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันป่าแตก และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ตอบอย่างจนใจ

“ใครรู้ที่ฝัง” สหายยศช่วยสืบ

“มีสามคน ‘สหายสายัณห์’ เสียแล้ว ‘สหายธงแดง’ ชราติดเตียง ไปไหนไม่ได้แล้ว กับอีกคนคือ ‘สหายร้อย’”

“ตอนนี้สหายร้อยลี้ภัยการเมืองอยู่แดนไกล”

สหายคนไกลที่ถูกอ้างถึง เคยบันทึกเรื่องของ “น้อย ดาวเหนือ” ว่า
“ไม่ได้คลุกคลีกันมาก แต่ก็ถูกชะตากันแบบไม่ต้องพูดมาก นับแต่ก้าวแรกที่ผมถึงภูผาแอกที่ทอดตัวยาวจากบ้านขัวสูง หรือบ้านขอน ไปยังบ้านกกกอกหรือบ้านรอบหก เขตงานสิงห์บุรี จังหวัด ๓๓๓ ปลายปี ๒๕๑๙ สหายทั่วเขตงานต่างกล่าวขวัญถึงสหายน้อยด้วยความรักประทับใจ โดยเฉพาะระดับนำของเขตอย่างลุงสายัณห์รักน้อยเหมือนลูกชาย” และ “วันนั้นเรายืนนิ่งไว้อาลัยก่อนกลบหลุมศพ ‘น้อย ดาวเหนือ’ ผู้มาก่อนและไปก่อน”
เมื่อติดต่อทางออนไลน์ถามถึงที่ฝังศพ “สหายน้อย” 

“สหายร้อย” ตอบมาว่า “ฝังกับมือ แต่ป่าตรงหลุมฝังกลายเป็นไร่นาหมดแล้ว อยู่ตรงนอกบ้านขัวสูงสัก ๓-๔ กิโลเมตร คนรู้แน่ชัดคือ ‘จัดตั้ง’ ลุงธงแดง ลุงสายัณห์”

ซึ่ง “สหายขจัด” บอกว่า “‘สหายสายัณห์’ เสียแล้ว  ‘สหายธงแดง’ ชราติดเตียง ไปไหนไม่ได้แล้ว”

กว่าจะสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นมาได้ไม่ง่ายนัก แต่การตามหากระดูกสหายยิ่งยากกว่า

“สหายอำไพ” เล่าถึงสถูปสหายเขตงานภูซาง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาภูพานว่า

“ในสถานการณ์สู้รบ บางทีเราไม่สามารถกลับไปเอาศพเพื่อนได้ ต้องปล่อยไว้อย่างนั้น ได้แต่ตามหาร่องรอย บางทีพระยืนยันว่าช่วยเผาศพให้ ฝังอัฐิตรงนี้สร้างกุฏิทับไว้ เราก็เอาดินตรงนั้นมา  ตอนนี้หากระดูกสหายได้ราว ๔๐ ราย จากที่สูญเสียในเขตงานนี้ราว ๒๐๐ คน”

“เป็นอนุสรณ์สถานความผูกพันดูแลกันระหว่างสหายที่ลำบากยากเข็ญ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาด้วยกัน สหายบางคนที่เสียชีวิตตอนหลังก็สั่งลูกหลานให้นำกระดูกมาเก็บในสถูปนี้”

เธอเล่าด้วยว่าในระหว่างก่อสร้าง ทหารจะให้งบร่วมสร้างด้วย แต่ทางสหายคุยกันแล้วตอบปฏิเสธไม่ขอรับ

“นี่คือสถูปสหาย ไม่ใช่สถูปการประนีประนอม เส้นแบ่งการต่อสู้ต้องชัดเจน ว่ากรรมกร ชาวนา นักศึกษาต่อสู้เพื่ออะไร ขอให้เป็นอนุสรณ์การต่อสู้ของสังคมไทย ที่ยืนยันว่ามีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นอนุสรณ์ว่าประชาชนมากมายออกมาต่อสู้จนเสียสละชีวิตและเตือนใจทุกคนว่ารัฐใช้ความรุนแรงไม่ได้ ความรุนแรงไม่มีทางปราบปรามการต่อสู้ของประชาชน และไม่ชนะด้วย”

อนุสรณ์สถานเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างหนึ่งที่จะกอบกู้จิตใจของฝ่ายที่แพ้สูญเสียว่าเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายทำลายชาติ แต่เป็นนักสู้เพื่ออุดมคติบนเส้นทางอีกสายหนึ่ง
วินัยทหารปลดแอกฯ
ปลดแอก
วัฏจักรของสังคมอาจหมุนวนเวียนซ้ำ มีรัฐประหาร มีการต่อสู้ มีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการปลดแอก ประวัติศาสตร์สงครามประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอาจเป็นหลักหมายทางนามธรรมที่จะเตือนคนรุ่นหลังว่าปัญหาความขัดแย้งไม่อาจยุติได้ด้วยความรุนแรง 

อดีตสหายหญิงเขตงานภูซางมองการ “ปลดแอก” ที่คนหนุ่มสาวยุคนี้ใช้เป็นเป้าหมายในการต่อสู้อีกครั้งว่า

“ปลดแอกมีความหมายของการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์  ปลดแอกที่มากดให้คนทุกข์ยากเดือดร้อน ตอนนี้เขาก็คงตีความอย่างนี้ ความเลวร้ายที่กดสังคมเราอยู่ คนหนุ่มสาวปัจจุบันก็มีอุดมการณ์ ศรัทธา ความเชื่อมั่นของเขา มีความกล้าหาญมุ่งมั่นที่ต้องถือว่าน่าเคารพ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่แพ้กัน เหมือนเราที่เคยบ้าบิ่น เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เพราะเชื่อมั่นว่าเราทำในสิ่งที่ถูก เหมาเปรียบว่าเยาวชนเหมือนดวงตะวันยามเช้า กำลังจะรุ่งโรจน์ ต้องใช้ให้เต็มที่”

ขณะที่ในพื้นที่ก็ยังมีความพยายามปักหมุดหมายบนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ประชาชนกันต่อไป

บนที่ราบรายรอบภูที่แปรเป็นทุ่งไร่บ้านเรือน และบนภูกลายเป็นเขตป่าอนุรักษ์ของรัฐ 

“ผมมีแค่จินตนาการว่าถ้าเรื่องราวมีคนสนใจ สถานที่ในประวัติศาสตร์ประชาชนจะเป็นที่ท่องเที่ยวได้ ตอนนี้เราไม่เห็นร่องรอย เพราะมันเลือนไปหมด แต่ถ้าเราค้นหาความจริงได้ ให้เห็นร่องรอยประกอบความเป็นจริง คนสนใจประวัติศาสตร์ก็ตามดูได้”

ความใฝ่ฝันในวันนี้ของอดีตหมอหนุ่มจบใหม่มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลดงหลวงนับสิบปี ในยุคหลังจากป่าแตกแล้ว

เขาได้สัมผัสคลุกคลีอยู่กับผู้คนในตำนานประชาชนดงหลวง นับตั้งแต่ยุคที่ไม่มีใครอยากพูดถึงเรื่องในป่า จนถึงวันที่เจ้าของเรื่องราวรู้สึกภาคภูมิใจ อยากเล่า และมีคนอยากฟัง เพียงแต่ยังไม่มีใครเอามาวางในที่สาธารณะ เขาจึงเริ่มลงแรงรับหน้าที่นั้น

แต่ในวันนี้พื้นที่ประวัติศาสตร์ประชาชนเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เอกชนหรือองค์กรท้องถิ่นไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ตามอำเภอใจ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จึงเป็นจุดบรรจบที่ไปด้วยกันได้มากที่สุด

เป็นที่ท่องเที่ยวที่ให้ความหมายเชิงลึกด้วย

“เป็นเชิงสัญลักษณ์ว่าถ้าประเทศเรามีความขัดแย้ง การทะเลาะรบราไม่มีอะไรดีขึ้น สุดท้ายก็ต้องมาจับมือกัน”
...
ร่องรอยลบลืมไปมากแล้ว เรื่องราวก็มีแต่จะเลือนหาย หากไม่ได้รับการบันทึกสืบสานไว้

ถ้าจะถามว่าบาดแผลและรอยร้าวระหว่างผู้คนเมื่อครั้งเก่าก่อนจะรื้อฟื้นจดจำกันไปไย

ก็เพื่อเป็นหลักหมายให้ระลึกถึงและเตือนใจว่า บ้านเมืองของเราผ่านวิกฤตการณ์สังคมการเมืองกันมาอย่างไรในยามยาก
ตำนานประวัติศาสตร์ประชาชนจะไม่ใช่แค่เรื่องเล่าเล่นหรือเหรียญตราไว้อวดโอ่ ก็ต่อเมื่อมันได้เป็นบทเรียนและหลักหมายให้ผู้คนร่วมสมัยได้ใช้เป็นบทเรียนในการกำหนดก้าวต่อไปในอนาคต 
ธงปฏิวัติ 
Image
ธงปฏิวัติ ผลิตเสร็จสรรพเป็นรูปเล่มจากเรือนไม้ไผ่มุงแฝกหลังนี้ “สหายร้อย” บรรณาธิการช่วงปี ๒๕๒๐ เป็นต้นมา นั่งขวาสุดในภาพ แนะนำสมาชิกกองบรรณาธิการบางส่วนในภาพนี้ว่า คนนั่งทางขวามือของเขา “สหายบุรี” ฝ่ายการเมือง  ใส่เสื้อกล้าม “สหายรัศมี” ช่างภาพ ภาพถ่ายในกองป่าภูพานแทบทั้งหมดมาจากฝีมือของตากล้องคนนี้ ถัดมา “สหายชื่น” ฝ่ายการเมือง และซ้ายสุด “สหายผาแดง” หรือ ล้วน เขจรศาสตร์ ฝ่ายศิลป์ ผู้สเกตช์ภาพกองป่าภูพานไว้จำนวนหนึ่ง
Image
นิตยสารราย ๒ เดือนจากกลางป่าภูพาน ตั้งแต่การพิมพ์ดีด จัดหน้า พิมพ์ระบบโรเนียวด้วยเครื่องมือหมุน เรียงหน้า เข้าเล่ม ส่งสู่ผู้อ่านทั้งในป่าและในเมืองทั่วประเทศ เนื้อหาเน้นรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหว การสู้รบตามพื้นที่ต่างๆ เอกสารศึกษาของพรรค และวรรณกรรม เรื่องสั้น บทกวี นิยาย ที่มีเนื้อหารับใช้การปฏิวัติ

ช่วงหลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีนักศึกษาจากในเมืองเข้ามาเป็นกองบรรณาธิการราว ๑๐ คน มีการปรับโฉมใหม่ทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหา เป็นที่ถูกใจสหายนักอ่าน และมีคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ตอนหลัง ธงปฏิวัติ ยังเป็นที่ติดอกติดใจของพวกสหายชายที่ไม่ได้สนใจการอ่านด้วย แต่ใช้เป็นกระดาษมวนยาสูบยอดนิยม  
ขอขอบคุณ
ธีรภาพ โลหิตกุล, จันทนา ฟองทะเล, แคน สาริกา, นายแพทย์อนุวัตร แก้วเชียงขวาง, ดอกเตอร์ธิกานต์ ศรีนารา, เทพศิริ สุขโสภา, วชิรากรณ์ สมบูรณ์, ประยงค์ มูลสาร, วัฒน์ วรรลยางกูร, ศิลา โคมฉาย, สุนี ไชยรส, ปรีดา ข้าวบ่อ, วจนา วรรลยางกูร, วสุ วรรลยางกูร, มณฑาทิพย์ สุขโสภา, กุล ปัญญาวงค์, อภิบาล สมหวัง, วรรณิดา มหากาฬ, เทพศิริ ครีเอทีฟ สเปซ (Dhepsiri Creative Space) และ กลุ่มสำรวจแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ดงหลวง

หนังสืออ้างอิง
กลุ่มเพื่อนมิตร ๕๑๔. ศรัทธามุ่งมั่น...ปั้นดินเป็นดาวแดง. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ๒๕๕๑.

กองบรรณาธิการสยามนิกร. คนป่า. กรุงเทพฯ : อาทิตย์, ๒๕๒๒.

________. พคท. บนสถานการณ์ปฏิวัติ. กรุงเทพฯ : อาทิตย์, ๒๕๒๓.

คณะกรรมการจัดงานบรรจุอัฐิฯ. ตำนานนักปฏิวัติภูซาง. กรุงเทพฯ, ๒๕๔๐.

คณะกองบรรณาธิการจุลสารสโมสร’๑๙. ตามรอยวีรชนประชา ด้วยก้าวที่กล้าสโมสร’๑๙. กทม. : สโมสร’๑๙, ๒๕๖๔.

แคน สาริกา. เสียงเพลงจากภูพาน. กรุงเทพฯ : สาริกา, ๒๕๓๔.

จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม. ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๖๒.

ธิกานต์ ศรีนารา. หลัง ๖ ตุลาฯ : ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, ๒๕๖๒.

ธิดา ถาวรเศรษฐ์ และ เหวง โตจิราการ. ป่าแตก : ความเป็นจริงของการประชุมสมัชชาฯ ๔ พคท. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๒๖.

พ. เมืองชมพู. สู่สมรภูมิภูพาน. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๓๒.

วัฒน์ วรรลยางกูร. สายลมเปลี่ยนทิศ...แต่ดวงจิตมิได้เปลี่ยนเลย : ผลึกแห่งชีวิตและเสียงเพลงปฏิวัติไทย. กรุงเทพฯ : อาร์ต เอ็จกราฟฟิค, ๒๕๔๖.

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ ธนาพล อิ๋วสกุล, “ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” สารคดี ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒๓๒ (มิถุนายน ๒๕๔๗) : ๗๐-๘๘.

สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (บรรณาธิการ). ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : บริษัทอัลฟ่า มิเล็นเนียม, ๒๕๔๖.

เออิจิ มูราชิมา. กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๕.

วิทยานิพนธ์-งานวิจัย
ณรงค์ ศรีวิเชียร. “สงครามกองโจรคอมมิวนิสต์ และการต่อต้านในประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๑๓.

ธิกานต์ ศรีนารา. “จาก บันทึกกบฏ ถึง น้ำป่า : การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของอดีตนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าไทยในบันทึกความทรงจำของ ‘อดีตสหาย’ ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๕๘.” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๖๒.

นนทวุฒิ ราชกาวี. “ความเชื่อแบบพุทธไทยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๙.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๖.

พุทธพล มงคลวรวรรณ. “ขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตภูพาน พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๒๕.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘.

ไพโรจน์ กาญจนพันธุ์. “การต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายคอมมิวนิสต์โดยรัฐบาลไทย ศึกษาเฉพาะกรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๑๘.

ภูวริน บุญภูพันธ์ตันติ. “บทบาทนายธานินทร์ กรัยวิเชียร กับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐).” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๕.

มุทิตา เจริญสุข. “แนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๕-๒๕๒๕.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๖๒.

วิภารัตน์ ธาราธีรภาพ. “ยุทธศาสตร์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย : ผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยในทศวรรษ ๑๙๗๐.” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๑.

วีระ ชัยพิมลผลิน. “จุดอ่อนของการดำเนินการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๑๘.