Image
กาลครั้งหนึ่ง
ประวัติศาสตร์ประชาชน
ตอน 1
scoop
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพปัจจุบัน : ประเวช ตันตราภิรมย์
เมื่อมาพูดกันในยุคนี้ 
อาจฟังดูเหมือนเป็นนิทานเรื่องหนึ่ง

เรื่องราวของคนที่ทิ้งบ้านช่องไปอยู่ป่าจับอาวุธ ต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตรอดและเพื่อเป้าหมายปลายทางที่ใฝ่ฝัน โดยมีเลือดเนื้อชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน

เรื่องราวของผู้คนที่ยังมีตัวตนอยู่จริง ฉากสถานที่จริง ซึ่งเมื่อผ่านห้วงกาลมานานหลายสิบปีก็แทบไม่เหลือร่องรอยว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นสมรภูมิ

และยิ่งกว่านั้นคือแทบไม่ปรากฏอยู่ในบทบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับทางการ หากมีกล่าวถึงบ้างก็ในบทบาทผู้ (ก่อการ) ร้าย

ขณะผู้ถูกใส่ร้ายป้ายสียืนยันว่านั่นเป็นหนทางในการต่อสู้รูปแบบหนึ่งตามบริบทสภาพการณ์ของสังคมการเมืองในห้วงเวลานั้น

ด้วยอุดมคติ ความใฝ่ฝัน หรือภาวะบีบคั้นอย่างไรที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งถึงกับยอมละจากชีวิตปรกติในบ้านเมืองที่คุ้นเคยไปสู่ความยากลำบากและเสี่ยงภัยในป่าเขา

ข้อสงสัยไขไม่ได้ด้วยคำอธิบาย แต่เมื่อประวัติศาสตร์ฉบับทางการไม่เคยให้พื้นที่ ในช่วงหลังมานี้เจ้าของเรื่องราวในแต่ละเขตพื้นที่จึงเริ่มเปิดปูมเรื่องราวเล่าประวัติศาสตร์ของตนทั้งในแง่เรื่องเล่า อนุสรณ์สถาน ตลอดถึงการปักหมุดหมายไว้บนพื้นที่จริง ว่าครั้งหนึ่งบนผืนดินที่ทุกวันนี้อาจเป็นที่ท่องเที่ยว เรือกสวน วัดป่า ทุ่งนา ป่าอนุรักษ์ หมู่บ้าน ถนนหนทาง ฯลฯ บนพื้นที่เหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นถิ่น “ฐาน” ที่พวกเขาเคยเคลื่อนไหวกินอยู่สู้รบ รวมทั้งเป็นที่ฝากฝังกายไว้ชั่วนิรันดร์สำหรับมิตรสหายบางคน

เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ประชาชนที่อาจช่วยไขคำตอบให้กับคำถามที่ว่า ด้วยจิตใจ เงื่อนไข สถานการณ์สังคมแบบไหน ที่ผลักดันให้ประชาชนจนถึงเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นหนึ่ง ถึงกับลุกขึ้นสู้แบบเอาชีวิตเลือดเนื้อของตัวเองเข้าแลก

ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง การปราบปรามคุกคามทำร้ายฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง มักเป็นผลพวงที่เกี่ยวพันจากการรัฐประหาร และการใช้กำลังอำนาจและความรุนแรงไม่เคยเป็นทางออก กี่ห่ากระสุนและความตายที่สาดใส่กัน สุดท้ายจะยุติลงได้ก็ด้วยการเจรจา

เมื่อมองย้อนกลับไป ใคร ๆ ก็มองเห็นวงวัฏพัฒนาการการเมืองไทยที่หมุนวนเวียนซ้ำจนคับขันยิ่งอีกครั้งแล้วเวลานี้

อดีตจะไม่ใช่บาดแผลหรือแค่เหรียญตราไว้อวดโอ่ ก็ต่อเมื่อมันได้ถูกใช้เป็นบทเรียนในการพิจารณาปัจจุบัน
แบบจำลองบ้านนาบัวและพื้นที่รายรอบ ในพิพิธภัณฑ์วันเสียงปืนแตก ช่วยให้ “สหายตั้ง” หรือ ชม แสนมิตร อธิบายเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๐๔ และปี ๒๕๐๘ ให้คนรุ่นหลังเข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น  เขาเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเหตุการณ์แรก ส่วนเหตุการณ์หลังเป็นเงื่อนไขผลักให้เขาต้องเข้าร่วมกองทัพปลดแอกฯ
เสียงปืนนัดแรก
“คนนี้เสียสละเป็นคนแรก” ชม แสนมิตร ร่างเงาของอดีต “สหายตั้ง” ชี้รูปปั้นหน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ “วันเสียงปืนแตก” ที่บ้านนาบัว นครพนม หมู่บ้านประวัติศาสตร์วันเสียงปืนแตก ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘

ลุงชมเป็นคนบ้านนี้ และเป็น “สหาย” วัยอาวุโสสุดเท่าที่หาตัวได้

ในวัย ๙๒ ปี เขายังเดินเหินได้คล่อง ความจำยังแจ่มชัด โดยเฉพาะช่วง ๒๒ ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ใน “กองป่า” กับหมู่สหายนักปฏิวัติ

ชายผู้กลายมาเป็นรูปปั้นหน้าพิพิธภัณฑ์ในวันนี้ชื่อ “สหายเสถียร” ผู้เสียชีวิต หรือที่เรียกกันในหมู่ทหารป่าว่า “เสียสละ” ในเหตุการณ์ปะทะด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐครั้งแรกของคอมมิวนิสต์ไทย หรือที่รู้จักกันต่อมาว่า “วันเสียงปืนแตก” ริมชายป่าหมู่บ้านนาบัว ด้านเหนือของเทือกเขาภูพาน

แต่การก่อตัวของขบวนการปฏิวัติในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่กล่าวกันว่าเป็นกองกำลังต่อต้านอำนาจรัฐที่เข้มแข็งและเป็นที่ครั่นคร้ามของรัฐบาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นมายาวนานก่อนหน้านั้นหลายสิบปีแล้ว

ตามปากคำของ ธง แจ่มศรี สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ยุคต้น และเป็นเลขาธิการพรรคคนสุดท้าย เคยให้สัมภาษณ์ สารคดี ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๔๗
บอกว่า “พรรคคอมมิวนิสต์สยามก่อตั้งโดยสหายโฮจิมินห์ซึ่งเป็นตัวแทนของสากลที่สาม มาติดต่อตัวแทนของคอมมิวนิสต์เวียดนามในสยาม รวมทั้งคอมมิวนิสต์จีนในสยาม คัดเลือกมารวมตัวกันก่อตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์สยามรุ่นแรก เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๗๓ สถานที่ประชุมคือโรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง”

พรรคคอมมิวนิสต์สยามหรือ พคส. นำเสนอเป้าหมายในการปฏิวัติโค่นล้มจักรวรรดินิยมและศักดินา เพื่อสถาปนารัฐกรรมกรชาวนาแห่งสยาม แนวคิดคอมมิวนิสต์เริ่มแพร่ขยายออกไปในช่วงคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ โดยที่ในเวลานั้นยังไม่มีคนสยามอยู่ในพรรค

ตามข้อมูลในหนังสือ กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ระบุว่าคอมมิวนิสต์ไทยคนแรกชื่อ สวัสดิ์ ผิวขาว คนสยามเชื้อสายลาวในอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนฝรั่งเศสทางฝั่งลาว เคยสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนของลาว ก่อนถูกดึงตัวมาเป็นรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สยามในปี ๒๔๗๗  โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลได้ออกกฎหมายว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖ ขึ้นเป็นครั้งแรก และปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์สยามซึ่งยังไม่เข้มแข็ง จนอ่อนกำลังลงไปในราวปี ๒๔๗๙

จากนั้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงมีการตั้งสมัชชา ๑ ตามปากคำ ธง แจ่มศรี ที่เล่าให้ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และ ธนาพล อิ๋วสกุล บันทึกไว้ใน สารคดี ฉบับดังกล่าว ระบุว่า

“เป็นการประชุมผู้แทนพรรคทั่วประเทศเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ถึง ๑ ธันวาคม ๒๔๘๕...ตอนนั้นใช้ชื่อ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ เพราะจอมพล ป. เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นไทยตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ แล้ว ประชุมสมัชชาครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่นครสวรรค์อย่างที่เคยมีคนเขียนไว้...เลขาฯ คนแรกคือสหายหลี่หวา...เป็นเลขาธิการพรรคคนแรกได้ปีเดียว ก็เปลี่ยนเป็นสหายคนไทยคนแรกคือคุณประสงค์ วงศ์วิวัฒน์ หรือชื่อจริงคือ ทรง นพคุณ”

ต่อมาจึงนับกันว่าวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๕ เป็นวันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท. ศัตรูหมายเลข ๑ ของรัฐไทย และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันต่อเนื่องยาวนานร่วม ๔๐ ปี 
สมัชชา ๑
แค่พรรคการเมืองหนึ่ง

งานเคลื่อนไหวหลักหลังจากประชุมผู้แทนพรรคฯ ทั่วประเทศครั้งแรกหรือที่เรียกกันว่า “สมัชชา ๑” เน้นการเคลื่อนไหวในเมือง ต้านการยึดครองของญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้สามารถขยายการ “จัดตั้ง” เข้าสู่คนไทยได้อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้ง เจริญวรรณงาม ซึ่งเข้าเป็นสมาชิกพรรคฯ ในช่วงก่อนสงครามโลกยุติ และต่อมาได้เป็นเลขาธิการพรรคฯ ในสมัยสมัชชา ๓
กฎข้อหนึ่งของทหาร ทปท. ปืนห้ามอยู่ห่างกาย แต่สำหรับสมาชิกหน่วยศิลป์ยังมีเครื่องดนตรีที่ต้องติดตัวด้วย อย่างชาวหน่วยศิลป์ภูพานในภาพนี้ ไม่ว่าขึ้นเขาข้ามห้วยไปแห่งหนไหนก็ต้องแบกกีตาร์ไปด้วย กระทั่งกล่าวกันแบบไม่จริงจังนักว่าแม้การปฏิวัติล้มเหลว แต่ประสบความสำเร็จล้นหลามด้านเสียงเพลง  บทเพลงเพื่อชีวิตที่เกรียงไกรสืบต่อมาจำนวนไม่น้อยคลี่คลายมาจากเพลงป่าในขบวนปฏิวัติ

ภาพจาก อนุสรณ์ ท้าวธงชัย/ถ่ายโดย “สหายรัศมี”

ผลจากการร่วมต่อต้านญี่ปุ่นและนโยบายการเมืองระหว่างประเทศช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้รัฐบาลไทยต้องยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ในปี ๒๔๘๙ เพื่อไม่ให้สหภาพโซเวียตขัดขวางไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

ช่วงนั้นมีพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ออกมาทำงานเคลื่อนไหวได้อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์

มีการตั้งสำนักงานพรรคฯ และสำนักพิมพ์ ออกหนังสือพิมพ์ 
มหาชน รายสัปดาห์ สามารถออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายและนโยบายของพรรคฯ ต่อสาธารณชน ผู้สนใจใคร่รู้เกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์สามารถพบปะแลกเปลี่ยนความคิดกับสมาชิกพรรคฯ ที่เปิดเผยตัว เช่น อุดม ศรีสุวรรณ, วิโรจน์ อำไพ, ศักดิ์ สุภาเกษม อีกทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ไทยยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลและนักการเมืองในรัฐสภา และทางพรรคฯ เองก็มี ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็น ส.ส. อยู่ในสภาด้วย 

ระหว่างปี ๒๔๘๙-๒๔๙๕ จึงเป็นช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยทำงานเคลื่อนไหวได้กว้างขวาง และการขยายแนวคิดสังคมนิยมมายังมวลชนกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงนี้ 

“เข้าป่าเมื่อปี ๒๕๐๘ แต่ก่อนนั้นดิฉันทำงานอยู่ในเมืองมาเป็นสิบปี ตั้งแต่เรียนธรรมศาสตร์”

“สหายอุทัยวรรณ” อดีตสมาชิกขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยยุคบุกเบิกเส้นทางป่า เล่าบรรยากาศสังคมการเมืองไทยยุคที่เธอยังเป็นนักศึกษา

“เข้ามหาวิทยาลัยปีที่เกิดกบฏแมนฮัตตัน (๒๔๙๔) ธรรมศาสตร์ถูกปิด เขาอ้างว่านักศึกษาไปร่วมกบฏ รัฐบาลให้กรมรักษาดินแดนมายึดอยู่ เราเลยไปเดินขบวนเรียกร้องเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ จนวันที่ ๕ พฤศจิกายนจึงสำเร็จจอมพล ป. คืนให้ ได้กลับไปเรียน แต่เขาก็มองนักศึกษาว่าซ้ายจัด เพราะมีการเรียกร้องต่อสู้ตลอดมา”

คำว่า “ฝ่ายซ้าย” ก็น่าจะก่อตัวขึ้นในสังคมไทยในยุคนั้น ส่วนต้นกำเนิดของคำนี้กล่าวกันว่ามาจากยุคปฏิวัติฝรั่งเศสที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะนั่งอยู่ทางมุมซ้ายมือของประธานสภาจนถือเป็นธรรมเนียมต่อมาในยุโรป

“ทฤษฎีดิฉันไม่ค่อยรู้ อาศัยฟังข่าวอ่านข่าว และการต่อสู้ในธรรมศาสตร์ทำให้ได้เรียนรู้  จากที่ไม่รู้การเมืองเลยค่อย ๆ พอกพูน ทำงานการเมืองโดยไม่รู้ตัว เริ่มจากภาคปฏิบัติ ตอนนั้นคุณเทพ โชตินุชิต ทำให้เรารู้เห็นความไม่เป็นธรรม คุณสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ สมัครผู้แทนฯ ให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ไปช่วยหาเสียง ไปทำงานกับกรรมกร เราก็ต้องไปร้องเพลง เช่าโรงหนังเฉลิมเกียรติร้องเพลง ‘มาร์ชกรรมกร’ หาเสียงพูดให้กำลังใจเขา จะโฆษณาอย่างไรนึกไม่ออก ก็เอาเพลงคุณจิตร ภูมิศักดิ์ มาร้อง ค่อย ๆ รู้จักไป ยกระดับความคิดความรู้ของดิฉันขึ้นมา”

ช่วงนั้นคอมมิวนิสต์เป็นแค่แนวคิดทางการเมืองแบบหนึ่งที่ถูกเสนอเป็นทางเลือกในสังคมไทย ยังไม่ใช่ “ปีศาจร้าย” หรือสิ่งแปลกปลอมที่ต้องกำจัด อย่างที่ฝ่ายขวาให้นิยามในภายหลัง

แต่แล้วพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็มีโอกาสได้เปิดเผยตัวอยู่เพียงครั้งเดียวในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น 
การสู้รบในเขตป่าเขา จากคำให้สัมภาษณ์ของทหาร ทปท. จนถึงระดับผู้บัญชาการทหารกองทัพปลดแอกฯ ต่างเล่าตรงกันว่าเป็น “สงครามจรยุทธ์” ใช้การซุ่มโจมตี หรือถูกดักโจมตี หรือไม่ก็โดนยุทธการกวาดล้าง ซึ่งฝ่ายป่าจะใช้วิธีซุ่มซ่อนล่าถอยปล่อยให้อีกฝ่ายขี่ช้างไล่จับตั๊กแตน  ปืนต่อสู้อากาศยานของกองทัพปลดแอกฯ ภูหินร่องกล้าในภาพนี้ มีใช้แต่ในเขตงานทางภาคเหนือ มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นอาวุธที่มากับทหารจีนคอมมิวนิสต์จากสิบสองปันนา ที่มาช่วยรบที่ภูหินร่องกล้าเมื่อปี ๒๕๑๕ ซึ่ง พคท. ไม่ได้เปิดเผย

ภาพจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๔๐

สมัชชา ๒
หลบลงใต้ดิน

ผลพวงจากชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อก๊กมินตั๋งของ เจียงไคเช็ก จนสามารถยึดแผ่นดินใหญ่สถาปนสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จ เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ ทำให้สหรัฐอเมริกาตระหนกกับการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศข้างเคียงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยตาม “ทฤษฎีโดมิโน” ของ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ภาพลักษณ์ปีศาจร้ายคอมมิวนิสต์ถูกผลิตซ้ำในฐานะภัยคุกคามบ่อนทำลายชาติที่ต้องร่วมกันสกัดกั้น

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ เริ่มการกวาดล้างปราบปรามคอมมิวนิสต์และตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมาอีกครั้งในปี ๒๔๙๕ ทั้งที่ยังมองไม่เห็นว่าคอมมิวนิสต์จะเป็นภัยคุกคามรุนแรง แต่เพื่อเข้าร่วมเป็นพันธมิตรและได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารจากสหรัฐอเมริกา

พรรคคอมมิวนิสต์จึงกลายเป็นองค์กรนอกกฎหมาย ต้องหลบลง “ใต้ดิน” ดำเนินงานอย่างลับ ๆ เคลื่อนจากเมืองเข้าสู่ป่า ขยายแนวร่วมชาวนาในชนบท เป็นการ “ถอยลงใต้ดินอย่างมีจังหวะ ทำงานลับและผิดกฎหมายต่อไป” ตามคำแถลงของ วิรัช อังคถาวร ผู้นำระดับสูงของคอมมิวนิสต์ไทย

ในการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ ได้มีการเปลี่ยนชื่อพรรคเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)  ทรง นพคุณ ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวในชนบทตามแนวยุทธศาสตร์ “ชนบทล้อมเมือง” ของจีน วางงานพื้นฐานให้แก่การต่อสู้ด้วยอาวุธ

ต่อมาเมื่อไทยยอมให้อเมริกาตั้งฐานทัพโจมตีเวียดนาม และสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลฝ่ายขวาในอินโดจีน จีนก็ให้การสนับสนุนขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทยและหนุนหลังการก่อตัวขององค์กรแนวร่วม รวมทั้งการตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยหรือ สปท. ซึ่งต่อมาออกอากาศรายงานการจัดตั้งองค์การแนวร่วมรักชาติที่นำโดย “สหายคำตัน” หรือพันโท พโยม จุลานนท์  เป็นองค์กรแนวร่วมนำการต่อสู้ขับไล่อเมริกา ล้มล้างรัฐบาลเผด็จการ รักษาเอกราชและประชาธิปไตย เช่นเดียวกับการต่อสู้ของพรรคพี่น้องเพื่อนบ้าน ซึ่ง “สหายอุทัยวรรณ” ก็ร่วมอยู่ในองค์กรนี้ด้วยในหน้าที่เลขานุการ

“พี่ชาย อย่าทำร้ายพวกเราเลย พวกเรามาดี” “สหายอุทัยวรรณ” เล่าย้อนเหตุการณ์ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก ในการประท้วงเลือกตั้งสกปรก ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ตอนนั้นเธอยังเป็นนักศึกษาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประโยคที่เธอนำมากล่าวซ้ำเป็นของนิสิตหนุ่มจุฬาฯ 

คราวเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรกปี ๒๕๐๐ ขบวนนิสิตนักศึกษานับพันคนเคลื่อนตามถนนราชดำเนินนอกมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล แต่เกิดเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่แถวสะพานมัฆวานรังสรรค์

“ดิฉันเดินตามไปถึงสะพานมัฆวานฯ เจอ จิตร ภูมิศักดิ์ ใส่เสื้อขาว หอบหนังสือเรียน ตอนนั้นยังไม่รู้จักกัน ทหารมายืนจ้องถือปืนพร้อมยิง คุณจิตรเดินเข้าไปบอกว่า ‘พี่ชาย อย่าทำร้ายพวกเราเลย พวกเรามาดี’…”

“สหายอุทัยวรรณ” ในวัย ๘๘ ปี เล่าความทรงจำในวันที่เธอได้กลับมายืนอยู่ในดินแดนแห่งความหลังที่ป่าภูพานอีกครั้งเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔

เธอกับ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักศึกษายุคก่อนปี ๒๕๐๐ และต่อมาทั้งคู่เข้าร่วมกองป่ายุคเริ่มต้นของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ภูพาน
ผีคอมมิวนิสต์
กระทั่งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร ๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ แล้วเลือกเดินตามจักรวรรดินิยมอเมริกาในการดำเนินนโยบายสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ตาทฤษฎี “โดมิโน” ปราบปรามคอมมิวนิสต์รุนแรงยิ่งกว่ายุคสมัยใด ทำให้พคท. ต้องหลบลง “ใต้ดิน” อย่างถาวร

เปลี่ยนพื้นที่เคลื่อนไหวการเมืองไปสู่ชนบท แต่ยังไม่สามารถเปิดสงครามประชาชนได้ในทันที เนื่องจากมวลชนยังน้อย ไม่มีเงื่อนไขการถูกกดขี่จากการเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติอย่างในประเทศเพื่อนบ้าน แต่การกวาดล้างปราบปรามที่เด็ดขาดรุนแรงของรัฐบาลช่วยสุมไฟสงครามประชาชนให้คุโชนขึ้น

การต่อต้านกวาดล้างคอมมิวนิสต์ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงยุครัฐบาล ถนอม กิตติขจร มีทหารอเมริกันร่วม ๕ หมื่นคน เข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในไทยนับสิบแห่งในปี ๒๕๑๒
Image
ชีวิตใน “กองป่า” เป็นเรื่องลี้ลับในความรับรู้ของคนทั่วไป ในช่วงหลังที่เริ่มมีสื่อเข้าไปถ่ายภาพทำข่าว จึงได้เห็นว่า “คนป่า” ก็เป็นชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตกิจกรรม ความเป็นอยู่เช่นคนทั่วไป นอกเหนือจากการสู้รบ ยังมีระบบจัดการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม กีฬา ฯลฯ ในกองป่าบางแห่งมีสนามฟุตบอล บาสเกตบอล อย่างที่เขตงานภูบรรทัดที่เห็นในภาพนี้ สะท้อนความรักสามัคคีมีความสนุกรื่นเริงเยี่ยงสามัญมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ

ภาพนี้และคู่ถัดไป เป็นส่วนหนึ่งของภาพถ่ายจากป่าเขาจำนวน ๓๒๔ ภาพ ที่เก็บรักษาอยู่ที่เทพศิริ ครีเอทีฟ สเปซ ของ เทพศิริ สุขโสภา ซอยวัดอุโมงค์ ชานเมืองเชียงใหม่
น่าจะนับเนื่องมาจากยุคนั้นเอง ที่แนวคิดทางสังคมการเมืองแบบหนึ่งและคนกลุ่มหนึ่งที่มีความตื่นตัวทางการเมือง คนที่ต่อสู้กับการข่มเหงรังแกจากคนของรัฐถูกป้ายสีให้เป็นเหยื่อของการปลุกผีคอมมิวนิสต์

เป็นปีศาจที่น่ากลัว น่ารังเกียจ เป็นผู้บ่อนทำลายชาติที่จะอยู่ร่วมแผ่นดินกันไม่ได้ ต้องกำจัดให้เด็ดขาดสิ้นซาก รวมถึงการใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วย

ในหนังสือ ลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์ ของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๑๖ ได้แจกแจงความน่ากลัวไว้เป็นข้อ ๆ ว่า หากคอมมิวนิสต์ยึดประเทศสำเร็จ

คอมมิวนิสต์จะแก้แค้นศัตรูของตนอย่างหฤโหด ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์จะถูกลงโทษอย่างทารุณต่อหน้าประชาชน

ศาสนาจะถูกทำลาย ภิกษุต้องถูกบังคับให้ทำงานเยี่ยงทาส

สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกทำลาย

ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ทุกคนจะถูกบังคับให้ทำงานหนักเยี่ยงสัตว์พาหนะ

ที่ดินและทรัพย์สินจะถูกริบเป็นของรัฐ คนชราต้องไปอยู่นิคมคนชรา ลูกถูกพรากจากพ่อแม่ไปอยู่โรงเลี้ยงเด็ก ทุกคนอยู่ด้วยความหวาดระแวงอยู่ในสายตาตำรวจลับตลอดเวลา 

เมื่อคอมมิวนิสต์เข้ามายึดครอง จะไม่มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน ลูกเมีย กระทั่งความเป็นตัวของตัวเอง

รัฐบาลเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยิ่งปราบปรามคอมมิวนิสต์หนักหน่วงขึ้นถึงขั้นจับสึกพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ของวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในข้อหาคอมมิวนิสต์ และที่อุกอาจลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้คือการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗ ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร สั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม นับตั้งแต่ครูครอง จันดาวงศ์ ครูทองพันธ์ สิทธิมาตร ผู้นำฝ่ายซ้ายสายอีสาน เมื่อปี ๒๕๐๔
และ รวม วงศ์พันธ์

วาทะ “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่เปล่งขานกันต่อมาในที่ชุมนุมทางการเมืองในทุกวันนี้

ก็เป็นอมตวาทะของวีรชนฝ่ายซ้ายกลุ่มนี้ที่กู่ตะโกนขณะเข้าสู่หลักประหาร
เงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การปลุกผีคอมมิวนิสต์ของหน่วยราชการทำงานอย่างได้ผล ก็เนื่องจาก “คอมมิวนิสต์” เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่คุ้นเคยมาก่อน เป็นสิ่งประหลาดแปลกแยกจากความรับรู้ของชาวบ้าน  เมื่อรัฐสร้างภาพให้ว่าเป็นปีศาจร้ายจ้องทำลายชาติ ก็ง่ายที่ชาวบ้านผู้รับสื่อบางส่วนจะคล้อยตาม
สมัชชา ๓
สู่สงครามประชาชน

หลังเผชิญกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่ปิดแคบบีบคั้นหนักหน่วงขึ้น ทำให้พรรคฯ มีมติให้ใช้แนวทางปฏิวัติติดอาวุธอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาพรรคฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อปี ๒๕๐๔ เดินหน้าการปฏิวัติด้วยการทำสงครามประชาชนตามทฤษฎีป่านำบ้าน ใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง เร่งจัดตั้งมวลชนในเขตป่าเขาเตรียมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ อันเป็นหนทางที่จะได้มาซึ่งอำนาจรัฐ

ขบวนการปฏิวัติในป่าเขาเกิดขึ้นนับแต่นั้น โดยมีฐานที่มั่นแรกอยู่ที่ภูพาน เทือกเขากว้างใหญ่ที่เป็นเหมือนปราการกั้นแบ่งภูมิภาคอีสานเหนือ-ใต้

ภูพานทอดทิวโค้งตามแนวออก-ตก อยู่ระหว่างพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร

เทือกเขาไม่สูงชันอย่างภูกระดึงหรือดอยอินทนนท์ ยอดเขาสูงระหว่าง ๓๐๐-๕๐๐ เมตร และไม่ได้เป็นเทือกเดียวต่อเนื่อง บางส่วนเป็นเขาลูก

เส้นทางหลักที่พุ่งเข้าสู่ภูพานในปัจจุบันคือทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ กาฬสินธุ์-สกลนคร ตัดกลางแบ่งเทือกเขาออกเป็นสองฟาก และถนนย่อยอื่น ๆ อีกหลายสายตัดแบ่งเทือกเขาโบราณออกเป็นส่วน ๆ ที่รู้จักทุกวันนี้ในชื่ออุทยานแห่งชาติภูพาน อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก และอุทยานแห่งชาติภูผายล

อดีตเขตงานดงพระเจ้าอยู่ทางฟากตะวันตกของเทือกเขาส่วนอดีตฐานที่มั่นภูพานอยู่แถบซีกตะวันออก

หมู่บ้านริมเทือกเขาภูพานด้านตะวันออกในจังหวัดนครพนมเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นก็รับการศึกษาอบรมการเมืองแนวสังคมนิยมมาก่อนแล้ว

ชาวบ้านนาบัวและละแวกใกล้เคียงเริ่มข้ามฝั่งโขงไปเรียนการเมืองและยุทธศาสตร์การปลดปล่อยตามแนวทางคอมมิวนิสต์ในลาวมาตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๐๐ และมีการทยอยจัดส่งไปอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลตั้งข้อหาฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และมีการใช้กำลังเข้าปราบปราม ทำให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มหลบหนีไปอยู่ป่า
Image
กองทหาร ทปท. เขตงานภูบรรทัด ส่วนใหญ่มาจากคนในชุมชนรายรอบเทือกเขาที่มีความเจ็บแค้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกรณี “ถังแดง” พัทลุง ซี่งตามข้อมูลระบุว่ามีชาวบ้านเสียชีวิตนับพันคน
รายงานของตำรวจท้องที่ในเวลานั้นระบุว่า ราษฎรแถบดงหลวงเข้าเป็นสมาชิกของคอมมิวนิสต์แล้วราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ และยังมีคนเข้าอยู่เรื่อย ๆ

ชม แสนมิตร เข้าร่วมกองป่าเป็น “สหายตั้ง” ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ โดยข้ามโขงไปรับการอบรมลัทธิมาร์กซ์และร่วมอยู่ในกองทหารปลดปล่อยประเทศลาวอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนกลับมาที่บ้านนาบัวแล้วโดนตำรวจราวหนึ่งกองร้อยล้อมจับตัว

ก่อนรุ่งสางวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๐๔ เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินลุยน้ำเข้าไปล้อมบ้าน จ่อย ราชสิทธิ์ ซึ่งนอนอยู่กับ ชม แสนมิตร เสียงย่ำน้ำปลุกคนทั้งสองรู้ตัว ตื่นขึ้นมาต่อสู้หนีฝ่าวงล้อมออกไปได้

แม้เกิดการยิงปะทะกัน แต่เหตุการณ์นี้ไม่ถูกนับเป็น “วันเสียงปืนแตก” ด้วยการเคลื่อนไหวในช่วงนั้นยังไม่ได้อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชาวบ้านนาบัวทั้งสองเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทหารปลดปล่อยประเทศลาว

“คราวเสียงปืนแตก ๒๕๐๔ บอกให้รู้ว่าการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นปกครองยังไม่วาย ตราบใดที่ยังไม่มีอำนาจประชาชนขึ้นมาบริหารประเทศ” ลุงชมในวัย ๙๒ ปี พูดถึงเหตุการณ์ตอนเขาอายุ ๓๒

หัวรุ่งวันนั้นเขาหนีรอดออกไปได้ แต่อีกไม่กี่วันก็ถูกจับกุม

“ผมถูกจับติดคุกอยู่ ๔ ปี เขากวาดจับไปทั้งหมู่บ้าน ไปขังอยู่ที่อุดรฯ แล้วไปขังต่อที่โคราช และที่โรงเรียนตำรวจบางเขน พอปล่อยจากคุกเขามาตามจับตาย แค่นอนอยู่บ้านหลายคนก็ถูกยิงตาย ผมจึงเดินเข้าป่าไปต่อสู้อยู่ที่ป่า”

ในยุคที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์กวาดล้างคอมมิวนิสต์แบบเหวี่ยงแหบ้าคลั่ง ปลัดคำนึง วงศ์สง่า ปลัดอำเภอคนหนึ่งที่มักเข้ามากินนอนคลุกคลีอยู่กับชุมชนในตำบลก้านเหลือง ถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ จากนั้นมีการตามจับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชาวบ้านในตำบลก้านเหลืองอีก ๒๗ คน ส่วนใหญ่เข้ามอบตัว แล้วถูกขังลืมที่คุกบางขวาง ทำให้อีก ๙ คนรวมทั้ง “ลุงขจัด” ตัดสินใจเข้าป่า

“ทั้งเก้าคนเดินทางขึ้นภูพาน เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๐๔ อาวุธประจำกายมีเพียงปืนแก๊ปสองกระบอก กับพร้าโต้และมีดประจำตัวทุกคน จากเคยมีบ้านอยู่อาศัย ไปใช้ถ้ำบนภูเขาเป็นที่พักนอน กินอยู่มีความยากลำบาก ไม่มีเป้าหมาย แต่ไม่ยอมมอบตัวไปติดคุก” ตามบันทึกของ “ลุงขจัด” หรือ สมลี พรมพินิจ อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในตำบลก้านเหลือง อำเภอนาแก นครพนม

ปีต่อมามี “สหายสยาม” หรือ ประจวบ เรืองรัตน์ ช่างไม้ชาวปักษ์ใต้ ขี่ม้ามาจัดตั้งมวลชนอยู่แถบบ้านนาไร่ใหญ่ ตำบลเสนางคนิคม อำเภออำนาจเจริญ (ในเวลานั้น) ตั้งแต่หลังจากสมัชชาครั้งที่ ๒ เดินทางมายังภูพาน ประสานงานกับ “สหายปฏิ” หรือ เก วงศ์กะโซ่  “สหายมั่น” หรือ ริน วงศ์กะโซ่ ตั้งขบวนการชาวนารักชาติ เคลื่อนไหวในพื้นที่ก้านเหลืองและดงหลวง โดยมี “เข็มมุ่ง” ตามในบันทึกของ “ลุงขจัด” บอกว่า เพื่อปลุกระดมจัดตั้งมวลชน ขยายงาน สะสมกำลัง ฝังตัวรอโอกาส และ “หลีกเลี่ยงการปะทะตำรวจทหาร”
การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมในป่าเขา เนื้อหาเน้นรับใช้การปฏิวัติ แต่ในแง่รูปแบบไม่ขัดขวางการผสมผสานศิลปะพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น อย่าง “ตาพราน” หนึ่งในตัวละครเอกของการแสดงมโนราห์ ก็ได้ออกมาอวดลีลาในงานเวทีของพรรคดาวแดง
แต่สถานการณ์ก็ตึงเครียดขึ้น หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๘ รายงานข่าวการตายของสายตำรวจสองคน ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือชายหนุ่มชาวดงหลวงที่หลบหนีเข้าป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์กลุ่มแรกในอีสาน

แต่เจ้าหน้าที่ในส่วนกลางยังไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคอมมิวนิสต์ หากเป็นเพียงชาวบ้านที่กลัวถูกจับแล้วหลบเข้าป่าพร้อมอาวุธเพื่อป้องกันตัว

ระหว่างนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้จัดส่งเยาวชนในท้องถิ่นภูพานไปศึกษาการเมืองการทหารที่ประเทศเวียดนามรุ่นละ ๑๕๐ คน

ด้วง เชื้อคำฮด ชาวบ้านโพนสว่าง อำเภอดงหลวง ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ไปเรียนการเมืองการทหารที่เวียดนามอยู่หลายปี ก่อนกลับมาเป็น “สหายวิพากษ์” ผู้หมู่บัญชาการรบที่ฐานภูพาน

“ช่วงปี ๒๕๐๘ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองขึ้นมาเยอะ ชาวบ้านแบ่งเป็นฝักฝ่าย มีป้ายติดรูปคนลากแอกไถ คนไม่แข็งแรงโดนยิงทิ้ง บอกว่านี่ประเทศคอมมิวนิสต์”

“ลุงด้วง” หรือ “สหายวิพากษ์” เล่าย้อนถึงคำว่า “คอมมิวนิสต์” ที่เขาได้ยินในตอนแรก

ที่ดงหลวงเพิ่งมีโรงเรียนหลังจากเด็กชายด้วงโตพ้นวัยเรียนแล้ว เมื่อในกองป่าเปิดช่องทางการศึกษาเขาก็อยากไปเรียน

“วันที่เข้าป่า หาบคุไปตักน้ำที่บ่อข้างห้วยบังทราย เจ้าหน้าที่มาถามว่าบ้านนายด้วงหลังไหน เขาอยู่บ้านไหม เขามาพูดกับผม ถามหาผม ผมบอกว่าอยู่ที่บ้านครับ เขาไปล้อมบ้านภรรยาบอกว่าออกไปหาอยู่หากินไม่ได้ไปไหนดอก ผมทิ้งคุไว้ที่บ่อน้ำแล้วไปเลย คนที่มาถามเป็นตำรวจอยู่ที่นาแก จับใครแล้วชอบเตะ เราจะจัดการ แต่พรรคห้ามทำเสียงปืนแตก”

แม้ประกาศต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แล้วตั้งแต่สมัชชา ๓ ปี ๒๕๐๔ แต่กองป่าคงพยายามหลบหลีกการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐต่อมาอีกหลายปี

แต่แล้วการปะทะก็เกิดขึ้นในอีก ๔ ปีถัดจากนั้น ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๘
มูลเหตุ
และเป้าหมาย
สู่ “คอมมิวนิสต์”

เมื่อปี ๒๓๙๑ คาร์ล มาร์กซ์ และ ฟรีดริช เองเงิลส์ นักคิดชาวเยอรมัน ร่วมกันเขียนหนังสือ Communist Manifesto เนื้อหากล่าวถึงทฤษฎีปรัชญาของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่เรียกว่า “วัตถุนิยมวิภาษ” (dialectical materialism) มีสาระสำคัญว่า วิวัฒนาการของสังคมขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและการแลกเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ละยุคจะมีการต่อสู้ทางชนชั้น จนถึงจุดเปลี่ยนก็จะเกิดยุคใหม่ขึ้นมาแทนที่ เมื่อมนุษย์ผ่านพ้นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ระบบเศรษฐกิจจะเริ่มมีการต่อสู้ระหว่างชนชั้น เริ่มด้วยยุคทาส มีการต่อสู้ระหว่างนายกับทาส ยุคศักดินา มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าของที่ดินกับไพร่ ยุคทุนนิยม เป็นการต่อสู้ระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ ซึ่งความขัดแย้งของสังคมยุคนี้จะทำให้เกิดการปฏิวัติ นำไปสู่ยุคสังคมนิยม และในที่สุดจะพัฒนาไปสู่ยุคคอมมิวนิสต์ ที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีรัฐบาล ไม่มีระบอบการปกครอง ไม่มีการต่อสู้ เพราะมูลเหตุอันก่อให้เกิดการต่อสู้ทางเศรษฐกิจได้สูญสิ้นไปแล้ว