Image
“ช้างสยาม” ใน “เกาะชวา”
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์ 
ภาพ : CEphoto, Uwe Aranas
“...แลในการเสด็จคราวนั้น โปรดให้หล่อรูปช้างด้วยทองสำริด ๒ รูป 

ให้พระยาสมุทบุรานุรักษ์ (เนตร) พาไปพระราชทานไว้เป็นที่ระลึก 

ซึ่งทรงขอบใจในการรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์รูป ๑ ที่เมืองเบตาเวียรูป ๑...”
จดหมายเหตุเสด็จประพาสเกาะชวาในรัชกาลที่ ๕ ครั้งที่ ๑ และ ๒

ในอดีตรูปปั้น “ช้าง” ถือเป็นของที่ระลึกยอดนิยมที่สยามมักมอบให้แก่ดินแดนต่าง ๆ ที่พระเจ้ากรุงสยามเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนเสมอมา โดยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

นอกจากช้างสำริดที่ปรากฏในสิงคโปร์และโฮจิมินห์ซิตี (ไซ่ง่อน) ของเวียดนาม (ดูใน สารคดี ฉบับเดือนพฤษภาคมและ มิถุนายน ๒๕๖๔) ยังปรากฏว่ามี “ช้างสำริด” ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียอีกแห่งหนึ่งด้วย โดยปัจจุบันช้างสำริดนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินโดนีเซีย (Museum Nasional Indonesia) ในเขตเมืองเก่าของกรุงจาการ์ตา 

จดหมายเหตุเสด็จประพาสเกาะชวาฯ ที่บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินขณะรัชกาลที่ ๕ ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ ระบุว่าพระองค์เสด็จประพาสเกาะชวาขณะเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๙ มีนาคม-๑๑ เมษายน ๒๔๑๓ รวมเวลา ๓๘ วัน (ช่วงครึ่งแรกเป็นการเสด็จฯ เยือนสิงคโปร์)

นักประวัติศาสตร์มองว่าการเสด็จฯ เยือนอาณานิคมอังกฤษ (สิงคโปร์) และอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ (เกาะชวา) ในปี ๒๔๑๓ ต่อมากลายเป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้พระองค์ทรงปฏิรูประบบราชการของสยาม ก่อร่าง “รัฐไทยสมัยใหม่” ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ-ราชย์ นำไปสู่การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางได้สำเร็จในปี ๒๔๓๕ ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ มีอำนาจเหนือหัวเมืองสำคัญทั้งพระราชอาณาจักร (จากเดิมเป็นการควบคุมแบบไม่ใกล้ชิด) เช่นเดียวกับที่อังกฤษและเนเธอร์แลนด์กระทำกับอาณานิคมของตน 

เอกสารที่บันทึกเกี่ยวกับการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งนั้นสันนิษฐานว่าผู้บันทึกน่าจะเป็นขุนนางที่อยู่ในกระบวนเสด็จฯ โดยมีการกล่าวถึงช้างสำริดภายหลังเสด็จนิวัตพระนครว่า

“...โปรดให้หล่อรูปช้างด้วยทองสำริด ๒ รูป ให้พระยาสมุทบุรานุรักษ์ (เนตร) พาไปพระราชทานไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งทรงขอบใจในการรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์รูป ๑ ที่เมืองเบตาเวียรูป ๑...”

จึงน่าจะเป็นข้อยุติว่าช้างสำริดนี้พระราชทานในภายหลังโดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภายในปี ๒๔๑๔

หากใครไปเยือนอนุสาวรีย์ช้างไทยในกรุงจาการ์ตา (หรือ “เบตาเวีย”/“ปัตตาเวีย” ในยุคอาณานิคม) จะพบว่าช้างสำริดนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ยืนสง่าโดดเด่นอยู่บนแท่นที่ประดับประดาด้วยลวดลายศิลปะชวาอย่างสวยงาม 

ที่ฐานอนุสาวรีย์มีจารึกภาษาไทย ดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) และอารบิก ด้วยประโยคเดียวกับภาษาไทย คือ 

“๏ ของสิ่งซึ่งสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม พระราชทานไว้ให้แก่เมืองบาตาเวีย เปน
ที่ระลึกถึงครั้งเมื่อคราวเสด็จมาเมืองนี้. ณเมื่อวันเดือนมารช คฤศตสักราช ๑๘๗๑ ปี ๚๛” 

อนุสาวรีย์นี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารด้านหลังอนุสาวรีย์พลอยได้ชื่อว่า “เกอดุงกาจาห์” (Gedung Gajah/ตึกช้าง) ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ยังมองว่าช้างสำริดนี้ ถือเป็นเครื่องหมายแห่งการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ยุคที่อินโดนีเซียยังไม่ได้รับเอกราช จึงมีการเข้าไปดูแลบูรณะและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ ๕ ตามโอกาส

ล่าสุด ช่วงต้นปี ๒๕๖๔ สถานทูตยังได้ร่วมกับทางพิพิธภัณฑ์ ทำการบูรณะช้างสำริดที่เริ่มทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ในโอกาสการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ครบ ๒๔๓ ปี โดยยังมีการหารือกับรักษาการผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ เพื่อวางแผนร่วมมือกันปรับปรุงภูมิทัศน์รอบอนุสาวรีย์ช้างไทยในอนาคตอีกด้วย 

หลังสถานการณ์โรคโควิดบรรเทาลง เมื่อน่านฟ้าเปิดอีกครั้ง หากมีโอกาสไปเยือนจาการ์ตา อย่าลืมไปเยี่ยม “คุณทวดช้าง” บ้าง ท่านอยู่ไม่ห่างจากจุดท่องเที่ยวยอดนิยม “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” (Monumen Nasional Monas) นัก 

แค่เพียงเดินไม่กี่อึดใจ