Image
โอบกอดความเศร้า
ยุคโควิด
H o l i s t i c
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์   
ภาพประกอบ : zembe
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ทำให้คนจำนวนมากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการติดเชื้อ ขณะเขียนบทความนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ แล้วประมาณ ๑.๒ ล้านคน วันละเกิน ๒ หมื่นคน ผู้เสียชีวิตวันละกว่า ๒๐๐ คน มีผู้เสียชีวิตเพราะโควิด-๑๙ แล้วประมาณ ๑.๒ หมื่นคน ยังไม่รวมการเจ็บป่วยและการตายของผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที

ความโศกเศร้าเสียใจจากการสูญเสียคนใกล้ชิดนั้นเป็นความทุกข์อันใหญ่หลวง ยิ่งเป็นการสูญเสียในช่วงโควิด ผู้สูญเสียจะฟื้นคืนจากความโศกเศร้ายากกว่าในสภาวะปรกติ บางคนสูญเสียคนใกล้ชิดในเวลาใกล้เคียงกันหลายคน บางคนสูญเสียญาติผู้ใหญ่ เพราะตนเองเป็นผู้นำพาเชื้อเข้ามาในบ้าน เมื่อเจ็บป่วยถูกแยกตัวไปอยู่โรงพยาบาลตั้งแต่รู้ว่าติดเชื้อก็ไม่มีโอกาสดูแลและดูใจกันในวาระสุดท้าย รวมทั้งไม่มีโอกาสบำเพ็ญพิธีศพตามประเพณี ทำให้รู้สึกผิดค้างคาใจ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ขัดขวางการฟื้นคืนกลับสู่สภาวะปรกติ

ค่านิยมและความเชื่อมีส่วนสำคัญในการกำหนดท่าทีความโศกเศร้าในสังคมนั้น ๆ เราอยู่ในสังคมที่เห็นความตายเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นลางร้าย ไม่ควรพูดถึง และการร้องไห้เมื่อคนคนหนึ่งตายไปถือเป็นความอ่อนแอ เมื่อโศกเศร้าควรหลบไปร้องไห้คนเดียว หากคนคนนั้นสามารถกลับมาดำเนินชีวิตปรกติได้อย่างรวดเร็วสังคมถือว่าเป็นคนเข้มแข็งน่ายกย่อง

ด้วยเหตุนี้เมื่อมีคนถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง” ผู้สูญเสียส่วนใหญ่จึงมักฝืนยิ้ม แม้ใจรู้สึกเศร้า เจ็บปวดจนแทบหายใจไม่ออก แต่ปากกลับบอกว่า “ไม่เป็นไร” “ฉันสบายดี” “เราโอเค”

ในเชิงจิตวิทยาการกักเก็บอารมณ์ความรู้สึกโศกเศร้า เช่น เสียใจ โกรธ แค้น ละอายใจ รู้สึกผิด ล้วนส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจ บางคนป่วยกายหาสาเหตุไม่ได้ บางคนป่วยใจ ไม่มีชีวิตชีวาและไร้แรงบันดาลใจที่จะมีชีวิตอยู่ มิเพียงเท่านั้นการกักเก็บความโศกเศร้ายังส่งผลต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ของคนคนนั้นอีกด้วย

ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความโศกเศร้าและผู้ที่ทำงานฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ต้องขังในเรือนจำมักพูดคล้ายกันว่า ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงมักเป็นผู้ที่สูญเสียคนใกล้ชิดและไม่ได้คลี่คลายความโศกเศร้า ความโศกเศร้าที่เก็บกักไว้จึงถูกแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย เป็นต้น 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลเอกสารและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้สูญเสียผู้เป็นที่รักจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับความโศกเศร้า พบว่าผู้เชี่ยวชาญด้านความโศกเศร้าทั่วโลกล้วนพูดตรงกันว่าการรับรู้ความรู้สึกโศกเศร้าเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการเยียวยา เนื่องด้วยความโศกเศร้าเสียใจเป็นเรื่องของหัวใจที่แตกสลาย เป็นเรื่องของอารมณ์ ไม่ใช่เรื่องสมองที่ใช้ความคิดและเหตุผลอธิบายจึงเป็นที่มาของชื่อหนังสือ โอบกอดความเศร้า

“ไม่มีความโศกเศร้าใดที่ปราศจากความรู้สึก คุณจะร้องไห้ ๆ ๆ จนกระทั่งไม่อยากร้องไห้ การร้องไห้จะทำให้คุณดีขึ้น ไม่เจ็บป่วย อย่าพยายามทำความเข้าใจหรือทำตามที่สมองบอกว่าต้องทำอย่างไร ให้ตรงไปที่หัวใจ อนุญาตให้ตัวเองรับรู้ความรู้สึก ให้จำไว้ว่า ‘โศกเศร้า รู้สึก แล้วจะเกิดการเยียวยา’” ดอกเตอร์เอดิท เอวา เอเกอร์ นักจิตวิทยาที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวส่วนตัวเธอถูกกักขังในสถานกักกันเอาชวิทซ์ เยอรมนี กล่าวในปาฐกถา TED Talks เรื่อง “การเดินทางของความโศกเศร้า การรู้สึก และการเยียวยา”

แม้การฟื้นคืนจากความโศกเศร้าจะเป็นงานใหญ่ที่ท้าทายเพราะอารมณ์ ความรู้สึก และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนนั้นมีความเฉพาะ ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและบริบทของแต่ละคน เมื่อผสมเข้ากับสถานการณ์ที่บีบคั้นอย่างโควิด-๑๙ ดูเหมือนอารมณ์ที่เกิดจากผลกระทบนั้นจะทวีความเข้มข้นขึ้น แต่หากเราเข้าใจธรรมชาติของความโศกเศร้าและรู้หลักการดูแลจิตใจผู้สูญเสีย เราในฐานะผู้สูญเสียและในฐานะผู้ใกล้ชิดผู้สูญเสียสามารถเยียวยาดูแลจิตใจให้คนคนนั้นผ่านกระบวนการสูญเสียด้วยความเข้าใจ

สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปรกติสุขได้อีกครั้ง  
Image
เศร้าเพราะ
เขาจากไป...
ฉันทำอะไร
ได้บ้าง

• “โอบกอดความเศร้า” การรับรู้หรือโอบกอดความรู้สึกโศกเศร้า เช่น โกรธ เสียใจ เศร้า ทุกข์ เป็นต้น

• “เมตตากรุณาต่อตัวเอง” ความรู้สึกผิดต่อความตายของคนที่เรารักทำให้จิตใจเศร้าหมองทุรนทุราย เช่น “ถ้าฉันไม่นำโควิดมาที่บ้าน แม่/พ่อคงไม่ตาย” เราลืมคิดไปว่าเราทำดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ แล้ว และตำหนิตัวเอง หากไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้ก็ยากจะก้าวพ้นความโศกเศร้า 

• เขียนบันทึก/จดหมาย/ภูเขาน้ำแข็ง การเขียนบันทึกคือการใคร่ครวญความรู้สึกนึกคิดของตัวเองและความสัมพันธ์กับผู้ตายออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร การใคร่ครวญจะทำให้เรามองเห็น “ทางออก” จากความโศกเศร้าไปได้

• หาเพื่อนรับฟัง หากได้ระบายความรู้สึกโดยไม่มีการตำหนิหรือตัดสินผิดถูกจะทำให้รู้สึก
โปร่งโล่งไม่อึดอัด ยิ่งเป็นการรับฟังที่ผู้ฟังช่วยสะท้อนความรู้สึกและโลกภายในของเราได้ จะยิ่งทำให้เราเข้าใจตัวเอง และยอมรับความตายที่เกิดขึ้นได้ 

• ใคร่ครวญการสูญเสียภายนอก/ภายใน การสำรวจใคร่ครวญจนรู้ว่าการสูญเสียภายใน 
เช่น ความเป็นแม่-ลูก ความมั่นคงทางใจ เป้าหมายในชีวิต จะทำให้เราสามารถมองหาทางออกได้ เช่น มองหาเป้าหมายชีวิตใหม่ ผันเปลี่ยนความรักในฐานะแม่ด้วยการไปทำงานจิตอาสาดูแลเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตเพราะโควิด เป็นต้น

• หาเครื่องมือ/วิธีการคลายทุกข์ วิธีการคลายความโศกเศร้าขึ้นอยู่กับประสบการณ์และ
บริบทชีวิตของแต่ละคน วิธีการใดก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกสงบ ไม่ร้อนรน ก็นับว่า “ใช่” แม้ว่าบางครั้งจะดูเป็นวิธีการที่ไร้เหตุผล เช่น สวดมนต์ ทำบุญ ทรงเจ้า ทำของชำร่วยหรือของที่ระลึกงานศพ พบจิตแพทย์หรือนักบำบัด ทำงานศิลปะ หรือทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ป่วย

• ไม่ท้อ ไม่สิ้นหวัง เราอาจรู้สึกปรกติดีแล้ว แต่พอมีเหตุการณ์บางอย่างมากระทบ 
ความเศร้าก็ปรากฎขึ้นอีก นี้ถือเป็นธรรมชาติของความโศกเศร้าที่ไม่มีจุดจบ อย่าท้อหรือสิ้นหวัง ให้ทำงานกับความโศกเศร้าต่อไป

• ไม่ไหวอย่าบอกไหว เรารู้ว่าความโศกเศร้าทำให้เสียสุขภาพจิตและอยากก้าวผ่านไปให้ได้ 
แต่หัวใจและความรู้สึกกลับไม่ยินยอม หากรู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ในหลุมดำแห่งความโศกเศร้าให้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือผู้เชี่ยวชาญ เช่นจิตแพทย์ แม้ผู้สูญเสียจะต้องเผชิญหน้าและทำงานกับความเศร้าโศกด้วยตัวเอง แต่บางครั้งเราก็ต้องการผู้ช่วยที่วางใจได้อยู่เคียงข้าง

ที่มา : หนังสือ โอบกอดความเศร้า
เป็นมิตร
กับ ผู้โศกเศร้า

• ฟังความรู้สึก พูดคุยเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูญเสียระบายความรู้สึกออกมา ในฐานะเพื่อนรับฟัง เราต้องมีจิตใจหนักแน่นและพร้อมรับฟัง เราสามารถ “อิน” ไปกับอารมณ์ความรู้สึกของเขาได้ เช่น น้ำตาซึมหรือร้องไห้ แต่ไม่ “จม” คือร้องไห้หนักกว่าผู้โศกเศร้าเสียอีก

• สะท้อนความรู้สึกที่ได้ยิน เช่น เศร้า เจ็บ โกรธ กังวล ฯลฯ เพื่อให้เขารู้ว่าเรารับรู้สภาวะภายในของเขา เช่น มันเศร้ามากใช่ไหมที่เราต้องเจอเรื่องแบบนี้ หรือยิ่งคิดก็ยิ่งโกรธ แต่มันหยุดคิดไม่ได้ใช่ไหม

• ไม่ตัดสิน-ไม่สั่งสอน-ไม่ยกหลักธรรม โดยทั่วไปผู้สูญเสียอยากพูดถึงและบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้จากไปและต้องการเพื่อนพูดคุย รับฟัง และปรึกษาได้ ไม่ตัดสินถูก-ผิด ไม่เปรียบเทียบ และไม่สั่งสอนให้ทำตามแบบแผนของสังคม ความเชื่อ และประสบการณ์ของตนเอง เช่น โชคดีนะ เธอยังเหลือลูกชายอีกคนหนึ่ง (โชคดีตรงไหน), ทำใจเถอะนะ คนเราเกิดมาต้องตาย (ฉันทำใจไม่ได้หรอกที่แม่ตายแบบโดดเดี่ยวแบบนี้), เธอต้องเข้มแข็งเพื่อลูกนะ (ฉันเข้มแข็งไม่ไหวแล้ว)

• ชวนสำรวจหาวิธีคลายทุกข์ หากผู้โศกเศร้าเริ่มเปิดใจ ให้ชวนมองหาหนทางคลายทุกข์ที่เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของเขา มีวิธีการมากมายที่ทำให้ผู้โศกเศร้าพบความสุขสงบได้ เช่น การสวดมนต์ การทำบุญ อ่านหนังสือธรรมะ การทรงเจ้า ทำของที่ระลึกงานศพ การเขียนจดหมายถึงผู้ตาย การพกรูปหรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ตายติดตัว พบจิตแพทย์ การทำงานจิตอาสาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว เป็นต้น หากวิธีการที่เขาเลือกไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของเรา ให้ยอมรับโดยไม่ชี้นำหรือตัดสินถูก-ผิด

• อยู่กับปัจจุบันกับคนตรงหน้า คำพูดและท่าทีบางอย่างที่เราคิดว่าเหมาะสมกับสถานการณ์อาจกระทบใจผู้ฟัง ซึ่งสามารถรับรู้ได้ผ่านการสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้ฟัง เช่น การนิ่งเฉย ขมวดคิ้ว หรือเบือนหน้าหนี หรือพยักหน้าตอบรับแบบขอไปที

• การกระทำสำคัญกว่าคำพูด การพูดคุยเป็นเพียงหนึ่งในวิธีช่วยเหลือ หากอีกฝ่ายแสดงท่าทีไม่อยากพูดคุย เราอาจช่วยด้วยการซื้ออาหารไปฝาก ช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง ดูแลบ้าน หรือส่งข้อความแสดงความคิดถึงและห่วงใยไปให้ หากสนิทสนมกัน อาจโอบกอดหรือจับมือเพื่อแสดงความห่วงใย

• แนะนำไปพบผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาชีพ หากเห็นว่าผู้โศกเศร้าอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดูแลตัวเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ กินไม่ได้นอนไม่หลับติดต่อกันเป็นเวลานาน ให้แนะนำไปหาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยาในโรงพยาบาล หรือผู้คนที่เขานับถือ เช่น พระ ญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น

ที่มา : หนังสือ โอบกอดความเศร้า