Image
ความลับของแมลงทับ 
อัญมณีติดปีก
ธรรมชาติ ทํามาโชว์
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เด็กหญิงเลี้ยงแมลงทับ เด็กชายเลี้ยงกว่าง พอออกพรรษาเราก็จากกัน

ชาวชนบทเล่า แมลงปีกแข็งชนิดนี้วางไข่ใต้ดิน ใช้เวลานับปี-เกือบทั้งหมดของชีวิตเป็นไข่ ตัวหนอน ดักแด้ เช่นเดียวกับพวกด้วงกว่าง เหลือช่วงชีวิตบนพื้นโลกเพียงน้อยนิด ราวช่วงเข้าพรรษาเป็นฤดูที่ฝูงแมลงทับบินว่อน ครั้นออกพรรษาก็ลดน้อย-หายหมดในเดือนพฤศจิกายน

ฤดูบินแมลงทับจะโผล่พ้นดิน ขึ้นยอดไม้กัดกินใบ พอแดดดีก็จับคู่ผสมพันธุ์ ตัวผู้จะลาโลกหลังจากนั้น ตัวเมียถลาลงโคนต้นพืชอาหารเพื่อวางไข่ ก่อนหมดอายุขัย

ส่วนไข่ก็รอฟัก กลายเป็นหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย แล้วกลับมาทำหน้าที่ผสมพันธุ์ วางไข่ ตามวงจรชีวิต

เว้นแต่แมลงทับโชคร้าย ไม่มีโอกาสรอดถึงช่วงวางไข่

ลือว่าช่วงไข่เต็มพุง เด็ดปีก หัว ขา เสียบไม้ย่าง เผา คั่ว ทอด เคี้ยวมันอร่อย ชาวบ้านจึงเฝ้ารอตอนเริ่มบินต่ำเตรียมวางไข่ จะเขย่าต้นไม้แรง ๆ หรือใช้ไม้ใหญ่ฟาดลำต้นให้เจ้าพวกแมลงหัวเล็กร่วงพรู เมื่อพวกมันตกใจจะ “แกล้งตาย” พรางศัตรู หวังรอดจากการถูกทำร้าย ทว่ากลับยิ่งจับง่าย

ร่างของนักแกล้งตายน่าอัศจรรย์แม้วันไร้ลมหายใจ

ปีกแข็งแสนสวยเหลือบมันเป็นเงางาม “เมื่อตายปีกยิ่งสดใสแวววาวกว่า” และ “คงทนนับสิบปี” บางคนจึงใช้ประดับฝาบ้าน แต่งกระติบข้าวแทนการเขียนชื่อเจ้าของ บ้างร้อยเป็นพวงขายเป็นวัสดุตกแต่งเครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกาย

แมลงทับไทยพบบ่อยสองชนิด คือ แมลงทับกลมขาเขียว (Sternocera aequisignata) พบทั่วทุกภาค และแมลงทับกลมขาแดง (Sternocera ruficornis) พบในเมืองและป่าเต็งรังภาคอีสาน

แมลงทับในเขตเมืองมักมีลำตัวยาว ๓-๔ เซนติเมตร ปีกมีสีเขียวมรกตสดสวยกว่าแมลงทับป่า (นิยมนำปีกแมลงทับกลุ่มนี้มาใช้ในงานหัตถศิลป์) ส่วนแมลงทับป่าจะตัวใหญ่กว่า มีขนาด ๖-๗ เซนติเมตร พบทั้งปีกสีเขียวเหลือง เขียวมรกต เขียวน้ำเงิน ไปจนน้ำเงินดำ

ตรงหน้าคือซากแมลงทับกลมขาเขียว ขนาดลำตัวเกือบ ๕ เซนติเมตร พบในป่าสาละวิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อธันวาคม ๒๕๖๒

เราเพียงเก็บรักษาไว้ในกล่องปิดฝา

ที่เหลือธรรมชาติคือผู้สตัฟฟ์อัญมณีติดปีกไม่ให้ความงามถูกย่อยสลายง่าย ๆ