Nittai-ji 
“วัดญี่ปุ่น-ไทย” 
ในนาโกยะ
Souvenir & History
เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์ 
Image
ถ้าเทียบกับสถานที่อื่นทั่วโลก เมืองนาโกยะ (Nagoya) จังหวัดไอจิ (Aichi) น่าจะเป็นเมืองที่มีของที่ระลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันเกี่ยวกับประเทศไทยมากที่สุด

ก่อนช่วงโรคโควิด-๑๙ ระบาด เมื่อมาเที่ยวเมืองนี้ นักท่องเที่ยวไทยส่วนมากจะมุ่งตรงไปหาที่เที่ยวหลักคือปราสาทนาโกยะและแหล่งขายของชื่อดังในเมือง

แต่ใกล้บริเวณใจกลางเมือง กลับมีวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งพร้อมกับของที่ระลึกจากสยามซ่อนตัวอยู่

วัดที่ว่านี้ชื่อ “วัดคากุโอซัง นิตไตจิ (Kakuozan Nittai-ji) ที่สร้างขึ้นในปี ๒๔๔๗ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ ของสยาม) โดยชื่อเดิมของวัดนี้คือนิซเซ็นจิ (Nissen-ji) ที่แปลตรงตัวว่า “วัดญี่ปุ่น-สยาม”

เมื่อเข้าไปที่วัดจะพบทันทีว่ามีกลิ่นอายบางอย่างของไทย เริ่มจากระฆังใบใหญ่ที่หอระฆังหน้าวัดซึ่งมีภาษาไทยเขียนชัดเจนบนตัวระฆังว่า “ศากยมุนี” โดยเป็นตัวอักษรสีทอง ทั้งยังมีพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ ๕ และ ๙ ปรากฏอยู่บนตัวระฆัง

ใกล้กันยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ ๕ ก่อนทางเข้าวิหารมีเสาหินติดตั้งพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ ๕ และ ๙ เมื่อเข้าไปภายในวิหารหลักของวัดก็พบกับโต๊ะหมู่บูชาแบบไทย บนคานมีป้ายเขียนเป็นภาษาไทยว่า “พระพุทธ-
ศากยมุนี” บนโต๊ะหมู่บูชามีพระประธานคือพระศากยมุนี ด้านหน้าหิ้งมีป้ายที่ระลึกเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นของรัชกาลที่ ๕, ๙ และจักรพรรดิเมจิ 

ประวัติของวัดระบุว่าในปี ๒๔๔๐ มิสเตอร์วิลเลียม ซี. เปปเป. (William C. Peppe) และทีมนักโบราณคดีอังกฤษ
ขุดสถูปองค์หนึ่งที่ตำบลปิปราห์วะ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย พบหม้อบรรจุกระดูกมนุษย์อายุประมาณปี ๔๕๐ มีอักษรโบราณของอินเดียจารึกไว้แปลความได้ว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระสมณโคดม

ต่อมารัฐบาลอาณานิคมอินเดีย (ของอังกฤษ) มอบพระบรมสารีริกธาตุให้แก่สยาม เมื่อญี่ปุ่นในรัชสมัยจักรพรรดิเมจิทราบข่าวก็ส่งพระธรรมทูตมาขอแบ่งและสัญญาว่าจะสร้างวัดรักษาพระบรม-สารีริกธาตุนั้นโดยจะมีการสร้างโรงเรียนเผยแผ่พระธรรมคำสอนต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตามจดหมายเหตุเรื่องสารีริกธาตุเมืองกบิลพัสดุ์ ร.ศ. ๑๑๖ (ปี ๒๔๔๐) เอกสารภาษาไทยที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุที่ส่วนหนึ่งมาอยู่ที่วัดนิตไตจิ ให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างละเอียดกว่า
Image
โดยระบุว่าตำบลปิปราห์วะอยู่ในเมืองบัสติ ประเทศอินเดีย ใกล้ชายแดนประเทศเนปาล การขุดค้น “ปิปราห์วะ-โกต” ทำในที่ดินของมิสเตอร์เปปเป จนพบกับผอบพระบรมสารีริกธาตุในหีบศิลาผอบใบหนึ่งปรากฏคำจารึก “อักษรพรามี” โดยแปลเป็นไทยได้ว่า “ที่บรรจุสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้ เป็นของศากยราชสุกิติกับพระภาตา พร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายาสร้างขึ้นอุทิศถวายไว้” โดยตระกูลศากยะนี้ปรากฏในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาว่าเป็นพระญาติวงศ์สายหนึ่งของพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ยังเขียนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๕ ว่า พระเจ้าแผ่นดินสยาม (รัชกาลที่ ๕) นั้นเป็น “อิศรมหาราชพุทธสาสนูปถัมภ์” จึงถวายพระบรมสารีริกธาตุให้และขอให้ช่วยแบ่งให้แก่นานาประเทศ โดยหลังจากแบ่งแล้วก็นำส่วนที่เหลือประดิษฐานไว้ที่ “ซุ้มพระเจดีย์ ยอดบรม-บรรพต” (ภูเขาทอง วัดสระเกศ) ในปี ๒๔๔๒

ด้วยเหตุนี้ วัดไทย-ญี่ปุ่นในนาโกยะจึงได้รับการสร้างขึ้นพร้อมเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสีขาวสร้างจากหินแกรนิตสูง ๑๕ เมตร ตัวเจดีย์แล้วเสร็จปี ๒๔๖๑ โดยที่ตั้งเจดีย์อยู่ในที่ดินที่แยกจากตัววัดหลัก

วัดนี้เชื่อมโยงกับสยามแค่ไหนดูได้จากเมื่อสยามเปลี่ยนชื่อเป็น “ไทย” ในปี ๒๔๘๒ ตามนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (นายกฯ ขณะนั้น) วัดก็เปลี่ยนชื่อจาก Nissen-ji เป็น Nittai-ji ไปด้วย ที่น่าสนใจคือวัดนี้ไม่มีนิกาย แต่เป็นความร่วมมือของพุทธศาสนา ๑๙ นิกายในญี่ปุ่นที่ส่งพระมาดูแลหมุนเวียนกันชุดละ ๑ ปี

ทั้งนี้ป้าย “พระพุทธศากยมุนี” ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๒๗ เมื่อมีการบูรณะวัดครั้งใหญ่พร้อมพระราชลัญจกร จปร. และ ภปร. ด้านหน้าวิหาร ขณะที่องค์พระพุทธรูปข้อมูลไม่ชัดเจนว่าส่งไปจากไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือ ๙

ส่วนพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ สร้างโดยความร่วมมือของคนไทยในนาโกยะโดยรัชกาลที่ ๑๐ (ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ) เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดเมื่อปี ๒๕๓๐ ระหว่างเสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยทุกวันที่ ๒๓ ตุลาคมของทุกปีสถานทูตไทย ณ กรุงโตเกียว สถานกงสุลไทย ณ เมืองโอซากะ จะจัดพิธีวางพวงมาลา

ในวัดยังมีต้นโพธิ์ขนาดเล็กสองต้นที่ปลูกโดยในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวเสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นและเสด็จฯ มาที่วัดในปี ๒๕๐๖

ที่นี่จึงเป็นวัดญี่ปุ่นที่มีของที่ระลึกเกี่ยวพันกับไทยมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งน่าเสียดายว่าคนไทยจำนวนมากไปเที่ยวญี่ปุ่นแต่น้อยคนนักที่จะได้ไปเยือนวัดที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งนี้