ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง
#ห้าปีต่อมา
๒๕๕๓-๒๕๕๗
coverSCOOP
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี, 123rf.com
บรรยากาศทางการเมืองตลอดปี ๒๕๕๒ คือ “บทนำ” ของการเมืองในปี ๒๕๕๓ 

กลุ่มคนเสื้อแดงยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในนามของนปช. น่าสังเกตว่าแกนนำผู้ชุมนุมสื่อสารไปยังอำนาจนอกรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยใช้คำเรียกว่า “ระบอบอำมาตย์”

ในปี ๒๕๕๓ นปช. พร้อมกับมวลชนนับแสนคนเข้ามาชุมนุมในย่านห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ และบนถนนราชดำเนินที่มีประวัติความเป็นมาทางการเมืองยาวนาน แม้ว่าพวกเขาจะถูกล้อมปราบจนพ่ายแพ้ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๔ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนส่วนมากจากชนบทและหัวเมืองก็กลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้ง พร้อมกับการสร้างประวัติศาสตร์คือการมี “นายกรัฐมนตรีหญิง” คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

อย่างไรก็ตามความวุ่นวายทางการเมืองก็ยังไม่ยุติลง และนำไปสู่การรัฐประหารในปี ๒๕๕๗
๒๕๕๓/ มีนาคม-พฤษภาคม
ล้อมปราบเสื้อแดง
ตั้งแต่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ คนเสื้อแดงกลับมารวมตัวกันชุมนุมอีก ข้อเสนอหลักยังคงเป็นการเรียกร้องให้นายกฯ อภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ มีการชุมนุมยืดเยื้อโดยตั้งเวทีหลักที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใช้พื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินกลาง มีการเคลื่อนมวลชนไปยังสถานที่สำคัญหลายแห่งเพื่อทำกิจกรรมตามยุทธศาสตร์ “ดาวฤกษ์”

กิจกรรมสำคัญของคนเสื้อแดง การเจาะเลือดคนละ ๑๐ ซีซี นำไปเทตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ประตูทำเนียบรัฐบาลบริเวณบันไดหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ (๑๖-๑๗ มีนาคม) และหน้าบ้านของนายอภิสิทธิ์ เวช-ชาชีวะ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ต่อมายังนำขบวนรถยนต์วิ่งไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มีการโกนผมเพื่อประท้วงรัฐบาลบนเวทีหลักที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

๑๐ เมษายน ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม เกิดการปะทะที่สี่แยกสะพานวันชาติ ถนนดินสอ ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการใช้แก๊สน้ำตา ผู้ชุมนุมถูกอาวุธสงครามยิงเสียชีวิต ๑๗ ราย ทหารเสียชีวิต ๔ นาย ต่อมา นปช. ยุบเลิกการชุมนุมเหลือเฉพาะเวทีกลางที่สี่แยกราชประสงค์ ห้างสรรพสินค้าย่านนั้นปิดตัวชั่วคราว การเจรจาระหว่างแกนนำ นปช. กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศไม่ได้ผล แม้ว่ารัฐบาลจะเสนอแผนปรองดองแห่งชาติ ผู้ชุมนุมเริ่มป้องกันตัวเองด้วยการวางแนวไม้ไผ่แหลม ใช้ยางรถยนต์ทำด่านเพื่อป้องกันการเข้าสลายการชุมนุม ต่อมามีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตั้งด่านกั้นการเข้าออกพื้นที่ชุมนุมและตัดสัญญาณโทรศัพท์

๑๓-๑๘ พฤษภาคม การปะทะหนักขึ้น ทหารเข้าสลายการชุมนุม มีการประกาศเขตกระสุนจริง (live fire) ทำให้กรุงเทพฯ เข้าสู่ภาวะจลาจล มีการยิง M-79 จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย 

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ความรุนแรงเข้าสู่จุดสูงสุดเมื่อทหารใช้ยานยนต์หุ้มเกราะ (armored personnel carrier - APC) ยิงกระสุนจริง เข้ายึดพื้นที่การชุมนุม ตามยุทธการ “รุมยิงนกในกรง” โดยใช้กำลังเทียบเท่า ๑ กองทัพน้อย (๔ กองพล) (มติชนสุดสัปดาห์, ๗-๑๓ มีนาคม ๒๕๕๗) ผู้ชุมนุมรับมือด้วยหนังสติ๊ก พลุ ประทัดยักษ์ และโคมลอย เพื่อรบกวนการบินของเฮลิคอปเตอร์ ต่อมาแกนนำประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นมีการประกาศเคอร์ฟิว เกิดเหตุเพลิงไหม้ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ มีเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัดหลายแห่ง เช่น อุบลราชธานี มุกดาหาร นอกจากนี้ยังมีกรณีการยิงเข้าไปในเขตอภัยทานคือวัดปทุมวนารามที่ประกาศเป็นเขตปลอดภัย จนผู้ชุมนุมที่เข้าไปหลบภัยเสียชีวิตหลายคน

เหตุการณ์จบลงในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ต่อมาวันที่ ๒๑ พฤษภาคม กรุงเทพมหานครได้ระดมเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบสวนลุมพินี (big cleaning)

ศูนย์เอราวัณสรุปเหตุการณ์ว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มีนาคม - ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด ๘๗ คน บาดเจ็บ ๑,๔๐๖ คน จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจอย่างน้อย ๕.๓ หมื่นล้านบาท มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ๖.๔ หมื่นอัตรา มีค่าเบี้ยเลี้ยงและเชื้อเพลิง ๕,๐๐๐ ล้านบาทสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
๑๓ พฤษภาคม พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล (เสธ. แดง) 
ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ที่มีจุดยืนสนับสนุนคนเสื้อแดง
ด้วยการฝึกการ์ดและวางยุทธวิธี ถูกลอบยิงใกล้กับสวนลุมพินี 
สี่วันให้หลังเขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

Image
๒๕๕๔/ มิถุนายน
นายกฯ หญิงคนแรก
การเลือกตั้งในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ ๗๕.๐๓ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๔๙.๖ ล้านคน พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด ๑๕.๗ ล้านคะแนน โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง (๒๖๕ ที่) ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ ๑ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
Image
๒๕๕๔/ กรกฎาคม-  
๒๕๕๕/ มกราคม
มหาอุทกภัยปี ๒๕๕๔
รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศไม่นานเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ สถานการณ์เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่พื้นที่หลายแห่งในภาคอีสานถูกน้ำท่วมจากการที่มีพายุหลายลูกเข้ามาทางอีสานของไทย จากนั้นมีฝนตกปริมาณมากในภาคเหนือจากพายุที่เข้ามาในประเทศไทยหลายลูก จากนั้นภาวะอุทกภัยก็ลามลงสู่ภาคกลาง มวลน้ำเคลื่อนตัวจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลางตอนล่าง แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสาขาในขณะนั้นไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำมหาศาลได้ ขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่ทุกแห่งต้องปล่อยน้ำเพื่อรักษาตัวเขื่อนไว้เนื่องจากปริมาณน้ำเต็มความจุตั้งแต่ช่วงกลางปี 

ทั้งนี้มวลน้ำลงมาถึงภาคกลางตอนล่างในช่วงปลายปี โดยกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกจมน้ำทั้งหมด ขณะที่ฝั่งตะวันออกรักษาพื้นที่ไว้ได้แค่เขตชั้นใน  ปริมาณน้ำเริ่มลดระดับลงในช่วงต้นเดือนธันวาคม ประเมินกันว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จำนวน ๑๒.๘ ล้านคน น้ำเหนือจำนวนมากที่หลากลงสู่ภาคกลางยังสร้างความเสียหายให้กับเขตอุตสาหกรรม บ้านเรือนประชาชนในทุกจังหวัด มีผู้เสียชีวิต ๘๑๓ คน และสูญหาย ๓ ราย ถือเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ ๗๐ ปี โดยสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปรกติทั้งหมดในเดือนมกราคม ๒๕๕๕

ถือเป็นวิกฤตการณ์แรกที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เผชิญกับเสียงวิจารณ์เรื่องการจัดการน้ำท่วม
Image
https://static.posttoday.com/media/content/2012/11/14/400F955BA38C400DB0452DCB8FD0ED24_1000.jpg
๒๕๕๕/ ตุลาคม
ม็อบแช่แข็ง 
พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ (เสธ. อ้าย) ปรากฏตัวพร้อม “กลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม” ประกาศชุมนุมที่ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย (สนามม้านางเลิ้ง-ถูกทุบทิ้งในปี ๒๕๖๓) ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ เพื่อขับไล่รัฐบาลด้วยเหตุผลสามข้อ คือ หนึ่ง ปล่อยให้มีการพาดพิงสถาบันกษัตริย์  สอง บริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ สาม ปล่อยให้มีการคอร์รัปชันและเป็นหุ่นเชิดของทักษิณ โดยนำเสนอโมเดลที่อธิบายได้โดยย่อว่าเป็นการ “แช่แข็งประเทศ” ๕ ปี

“จะมีคณะบุคคลขึ้นมาดูแล เหมือนเล่นบาสเกตบอล ถ้าทีมเกิดเพลี่ยงพล้ำก็ขอเวลานอกให้เอ็งหยุดเล่นกันได้ไหมสัก ๒-๓ นาที ถ้าเป็นเวลาทางการเมืองก็อาจเป็น ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ๕ ปี แล้วจากนั้นมาเลือกตั้งกันใหม่...ถ้าปีเดียวแบบปี ๒๕๔๙ ก็เจ๊งกันพอดี เดี๋ยวเขาก็แค่ไปหลบ เดี๋ยวค่อยมาใหม่...” โดยเป็นการ “แช่แข็งประเทศไทย” เพื่อให้ “บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้” (โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕)

ม็อบแช่แข็งเริ่มชุมนุมตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๘ ตุลาคม ขณะที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน  ตั้งแต่เช้ามีมวลชนเดินทางเข้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าโดยใช้ถนนศรีอยุธยาผ่านวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ส่วนเส้นทางอื่นตำรวจปิดกั้น 

ตั้งแต่ช่วงสายเมื่อผู้ชุมนุมพยายามรื้อแนวรั้วด้านสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตำรวจก็ใช้แก๊สน้ำตา มีการกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุมเป็นระยะ จนถึงเวลา ๑๗.๑๘ น. เสธ. อ้ายประกาศยุติการชุมนุมและยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างผิดความคาดหมาย

มีการประเมินว่ามีคนเข้าร่วมชุมนุมกับม็อบแช่แข็งประมาณ ๒ หมื่นคน
Image
สุเทพ เทือกสุบรรณ
แกนนำ กปปส.

๒๕๕๖/ ตุ ลาคม-
๒๕๕๗/ พฤษภาคม
กปปส.-ม็อบนกหวีด
การเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เกิดขึ้นอีกเมื่อมีการผ่าน “ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส. สมุทรปราการ และคณะ เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่การชุมนุมทางการเมืองและกรณีเผาศาลากลางจังหวัดในปี ๒๕๕๓ โดยมีทั้งหมดเจ็ดมาตรา

ในขั้นการพิจารณาวาระที่ ๒ สภาผู้แทนราษฎรแก้บางมาตราให้ครอบคลุมทุกฝ่าย มีการผ่านร่างกันกลางดึก การแก้นี้ทำให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมนอกจากมวลชนฝ่ายพันธมิตรฯ นปช. ยังจะรวมแกนนำรัฐบาลคู่กรณีอย่างพันตำรวจโททักษิณ นายอภิสิทธิ์ ฯลฯ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ได้ชื่อว่า “พ.ร.บ. เหมาเข่ง-สุดซอย” จนมีการคัดค้านจากหลายฝ่าย กระทั่งฝ่าย นปช. ที่มองว่าเป็นการปล่อยให้ระดับแกนนำลอยนวล และผู้กระทำผิดไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ

กลุ่มผู้คัดค้านร่างกฎหมายสุดซอยมารวมตัวกันภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแปด ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกจากตำแหน่งมานำการชุมนุม โดยเริ่มต้นที่สถานีรถไฟสามเสนในวันที่ ๓๑ ตุลาคม จากนั้นย้ายไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทรวงการคลัง ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

ต่อมาคนเหล่านี้รวมตัวกันเป็น “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

กปปส. ใช้ธงชาติไทยและ “นกหวีด” ในการแสดงพลังชุมนุมยืดเยื้อและเคลื่อนขบวนกดดันรัฐบาล ข้อเรียกร้องคือต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก ดำเนินการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งโดยใช้สภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากผู้แทนอาชีพต่าง ๆ และมาจากการเลือกของ กปปส. โดยต้องการขจัด “ระบอบทักษิณ” ให้หมดไป

ต่อมานายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกาศถอน พ.ร.บ. เหมาเข่ง-สุดซอย ออกจากการพิจารณาของรัฐสภา แต่ กปปส. ยังคงยืนยันที่จะเคลื่อนไหวต่อ ต่อมารัฐบาลจึงยุบสภาโดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ 

กปปส. ยังคงเคลื่อนไหวต่อโดยชูสโลแกน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” บุกยึดทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการต่าง ๆ กระจายการชุมนุมไปยังพื้นที่เจ็ดแห่งทั่วกรุงเทพฯ ตามยุทธศาสตร์ “ดาวกระจาย” ดำเนินการ Shutdown Bangkok เพื่อขับไล่รัฐบาล ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๗ โดยยึดสถานที่สำคัญในเมืองเจ็ดแห่ง คือ ห้าแยกลาดพร้าว ถนนแจ้งวัฒนะ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกปทุมวัน สวนลุมพินี แยกอโศก และแยกราช-ประสงค์ ผู้ชุมนุมยังปะทะกับตำรวจหลายครั้ง 

ในวันเลือกตั้ง มีมวลชนยกกำลังไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ขัดขวาง ทำร้ายประชาชนที่จะไปเลือกตั้ง โดยเกิดปัญหาลักษณะนี้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถเดินหน้าไปได้ หลังจากนั้น กกต. ยังมีท่าทีลังเลในการรับรองผลการเลือกตั้งและจัดการเลือกตั้งซ่อมในหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา

ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาเพิกถอนการเลือกตั้งให้เป็นโมฆะในวันที่ ๗ พฤษภาคม
ในช่วงเดียวกัน กลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัว
และชุมนุมใหญ่บริเวณถนนอักษะ ย่านพุทธมณฑล 
เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารและกลุ่ม กปปส. 
ศาลรัฐธรรมนูญยังตัดสินให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
พ้นจากตำแหน่งนายกฯ รักษาการ จากกรณีการย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยมิชอบ 
ทำให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการ
ในตำแหน่งนายกฯ แทน

ทหารเผชิญหน้ากับผูู้ชุมนุม
ต่อต้านรัฐประหารหลังวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

๒๕๕๗/ พฤษภาคม
รัฐประหาร 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. (ขณะนั้น) ประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ส่งผลให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอรส.) ของรัฐบาลหมดสภาพหน่วยควบคุมสถานการณ์ มีการตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอรส.) ของกองทัพขึ้นมาควบคุมสถานการณ์แทน ก่อนจะเรียกตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาเจรจาเพื่อหาทางออกที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯ โดยก่อนหน้านี้ท่าทีของกองทัพบกคือการส่งทหารมาวางกำลังตามจุดต่าง ๆ ที่มีการชุมนุม แต่ยังไม่ดำเนินมาตรการอื่น

เมื่อการเจรจาไม่คืบหน้าพลเอกประยุทธ์จึงทำรัฐประหารในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไป “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ จับกุมประชาชนจำนวนหนึ่งที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารในเขตกรุงเทพฯ  มีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะ ขณะที่ กปปส. ประกาศยุติการชุมนุม

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังประกาศเรียกตัวบุคคลต่าง ๆ เข้ารายงานตัวเป็นระยะ ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ

หลังใช้คำสั่งคณะรัฐประหารในการบริหารประเทศราว ๑ เดือน ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แต่งตั้ง) มาทำหน้าที่รัฐสภา และเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่เสนอการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่างขึ้น โดยมีผู้แทนจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือ มีผู้แทนจากสมาคมสื่อและศิลปินจำนวนหนึ่งเข้าร่วม เช่น นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน ๒๑ คน มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การบริหารประเทศในระยะนี้ พลเอกประยุทธ์ยังใช้ “มาตรา ๔๔” ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบริหารประเทศ โดยมีอำนาจครอบคลุมทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อย่างเบ็ดเสร็จ
>
อ่านต่อ