#ทศวรรษที่หายไป
วิกฤตการเมืองไทย ’๔๙-’๖๔
coverSCOOP
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี, 123rf.com
สำหรับคนวัยผู้ใหญ่หลายคน พวกเขาย่อมจำได้ดีว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๔๙ การเมืองไทยไม่เคยอยู่ในภาวะ “มีเสถียรภาพ” วิกฤตนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยแรก ต่อเนื่องจนถึงสมัยที่ ๒ จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา ๑๕ ปี วิกฤตการเมืองยังคงดำเนินต่อ หากใครติดตามการเมืองจะเห็นความเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อเหลือง-ม็อบเสื้อแดง-กลุ่มเสื้อหลากสี-กลุ่มนักศึกษา และ ฯลฯ ที่ออกมาในแต่ละช่วงเวลา

หลายประเด็น หลายเรื่อง เกิดขึ้น “เป็นครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์ คนรุ่นนี้แทบไม่คิดว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว นักประวัติศาสตร์หลายท่านระบุว่า เรากำลังอยู่ในยุค “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นักวิชาการบางท่านระบุว่า ประเทศไทยต้องจัดการกับปัญหาการเมืองภายในที่ทำให้เสียโอกาสหลายเรื่อง จนกล่าวได้ว่านี่เป็น “ทศวรรษที่หายไป” แต่ในทางประวัติศาสตร์ไม่มี “ทศวรรษที่หายไป” มีแต่ “พลวัตทางการเมืองไทย” 

ด้วยในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่น่าจะหนักหน่วงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อคนทุกคน ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์หรือจุดยืนทางการเมืองแบบใดก็ตาม

#ห้าปีแรก
๒๕๔๙-๒๕๕๓
ผลพวงจากการต่อสู้ของวีรชนในเหตุการณ์พฤษภาฯ เลือดปี ๒๕๓๕ ทำให้ต่อมามีการระบุในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่าตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ต้องมาจากการเลือกตั้ง (จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร-ส.ส.) เกิดการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกระแส “ธงเขียว” (การรณรงค์ให้ ส.ส. ในรัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ของ สสร. โดยธงเขียวเป็นสัญลักษณ์สื่อถึง “ไฟเขียว” ให้โหวตผ่าน) เพื่อสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และมีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพราะเกิดจากการร่างโดยที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดผ่านการเลือกตั้ง สสร. และมีการทำเวทีประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง

รัฐบาลของพันตำรวจโท (ขณะนั้นยังไม่ถูกถอดยศตำรวจ) ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) เข้ารับหน้าที่บริหารประเทศในฐานะรัฐบาลแรกที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐

ในสมัยแรกของรัฐบาลทักษิณ (ปี ๒๕๔๔-๒๕๔๘) มีทั้งแง่ที่ประสบความสำเร็จและความล้มเหลว ด้วยทักษิณถูกวิจารณ์มาตลอดในหลายประเด็น เช่น กรณีตากใบ (สลายการชุมนุมของชาวมุสลิมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ มีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต ๘๔ ราย เพราะขาดอากาศหายใจ อีกส่วนหายสาบสูญ), สงครามปราบยาเสพติด (เริ่มปี ๒๕๔๖ มีการ “ฆ่าตัดตอน” ผู้ต้องหาหลายกรณี มีผู้เสียชีวิตราว ๒,๐๐๐ คน จากการวิสามัญฆาตกรรม), ความน่าสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากกิจการโทรคมนาคมของตระกูล

ขณะที่ความสำเร็จก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (international monetary fund - IMF) ที่ไทยกู้ในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐, การควบคุมการระบาดของไข้หวัดนก, การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิในช่วงรอยต่อปี ๒๕๔๗-๒๕๔๘, การสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (๓๐ บาท รักษาทุกโรค) จนรัฐบาลสามารถอยู่ครบวาระ ๔ ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และต่อด้วยการได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เข้าบริหารประเทศสมัยที่ ๒

ทว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ๒๕๔๘ เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายจนตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ข้อสงสัยในพฤติกรรมของรัฐบาลก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเผด็จการรัฐสภาและการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ระบบการตรวจสอบที่ไม่สามารถทำงานได้ ฯลฯ 

เรื่องเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเมืองไทย ซึ่งเริ่มขึ้นและคลี่คลายตัวอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อเกิดรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
Image
https://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/4/42/1171620279.jpg
๒๕๔๘/ กันยายน
“เมืองไทยรายสัปดาห์”
๙ กันยายน ๒๕๔๘ ในห้องส่งรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ช่อง ๙ อสมท (MCOT) สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการและผู้ดำเนินรายการหลัก นำข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “ลูกแกะหลงทาง” อ่านออกอากาศ

สาระโดยย่อคือ มีครอบครัวหนึ่งพ่อบอกให้ลูกเลือกตัวแทนจากพี่น้องมาบริหารบ้าน แต่ไม่นานพี่ชายที่ได้รับเลือก “ดื้อรั้น หยิ่งผยอง อวดดี” คิด “วัดรอยเท้าพ่อ” บูชาความร่ำรวย ยึดครองสมบัติครอบครัว ยืนยันว่าพ่อต้อง “อยู่ใต้กฎบ้าน” (MGR Online, ๙ กันยายน ๒๕๔๘)

ข้อความนี้มีความหมายทางการเมืองแหลมคม ผลคือผู้บริหารช่องสั่งระงับรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ในอาทิตย์ถัดไปทันที และต่อมาปลดออกจากผังรายการ กรณีนี้ทำให้กระแสต่อต้าน “จุดติด” ทันทีเช่นกัน ด้วยหลังจากนั้นสนธิเดินสายจัด “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” เวียนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทุกวันศุกร์ เช่น หอประชุมเล็ก-ใหญ่ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนในที่สุดประกาศตัวเป็นแกนนำชุมนุมขับไล่รัฐบาล และระบุว่าจะ “จุดเทียนแห่งธรรม” ให้ผู้คนเดินไปพ้น “ระบอบทักษิณ”

ต่อมาเมื่อเกิดกรณีขายหุ้นในบริษัทเครือชินคอร์ปของตระกูลชินวัตรให้กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์มูลค่าราว ๗.๓ หมื่นล้านบาทในเดือนมกราคม ๒๕๔๙ เรื่องนี้ถูกนำมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสม (แม้กฎหมายตลาดหุ้นจะไม่กำหนดให้เสียภาษี) โดยสนธิระบุว่า การขายธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานให้ต่างประเทศนั้นน่าจะกระทบกับความมั่นคงของไทย มีการแต่งเพลงล้อเลียนรัฐบาลทักษิณว่า “ไอ้ลิ่วล้อสิงคโปร์โตก...” เรื่องนี้ยังเสริมข้อกล่าวหาเรื่องทำลายสถาบันกษัตริย์ (ไม่เคารพ) ทำลายศาสนา (แต่งตั้งพระเถระที่เป็นคล้ายกับสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒) ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
Image
พลตรี จำลอง ศรีเมือง 
หนึ่งในห้าแกนนำพันธมิตรฯ ปราศรัยบนเวที

๒๕๔๙/ มกราคม-กุมภาพันธ
ม็อบ “กู้ชาติ” (เสื้อเหลือง) และพันธมิตรฯ
สนธิ ลิ้มทองกุล นำผู้ฟังรายการของเขาตะโกน “ทักษิณออกไป” เป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ ที่ลุมพินีสถาน สวนลุมพินี (ก่อนเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล) หลังจากนั้นก็ชุมนุมใหญ่อีกหลายครั้ง เช่น วันที่ ๔ (ลานพระบรมรูปทรงม้า), ๑๑ และ ๒๖ กุมภาพันธ์ (สนามหลวง)

ชุดคำที่เขานำมาใช้ในการนำประท้วงคือ “กู้ชาติ” “เราจะสู้เพื่อในหลวง” เรียกร้องการถวายอำนาจคืนในหลวงผ่านการโปรโมตหนังสือ พระราชอำนาจ ของประมวล รุจนเสรี อดีต ส.ส. และอดีต รมช. มหาดไทย ของรัฐบาลทักษิณสมัยแรก

สนธินำประเด็นทั้งหมด คือ การลบหลู่พระราชอำนาจ, การแต่งตั้งรักษาการสมเด็จพระสังฆราช, การขายหุ้นชินคอร์ปมาปราศรัยตลอดการชุมนุม  เนื้อหาการปราศรัยมุ่งเรียกร้องการแก้ไขปัญหาโดยยื่นจดหมายถึงประธานองคมนตรี ถวายฎีกาในหลวงรัชกาลที่ ๙ และยื่นหนังสือต่อพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก  ต่อมา สนธิ ลิ้มทองกุล ระบุในการปราศรัยว่า พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน บอกเขาว่า “...จะยืนข้างประชาชน เพราะผมเป็นทหารของพระเจ้าอยู่หัว”

วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ มีการก่อตั้งกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (พธม.) เป็นองค์กรนำในการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล โดยมีแกนนำหลักคือ สนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย, สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ สมศักดิ์ โกศัยสุข ก่อนที่พลตรี จำลอง ศรีเมือง จะเข้าร่วมในเวลาต่อมา
Image
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) จัดปราศรัยใหญ่พบผู้สนับสนุนช่วงเดียวกับการชุมนุมของพันธมิตรฯ 
๒๕๔๙/ กุมภาพันธ์
ยุบสภา
หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เขาทำในสิ่งที่ผิดจากความคาดหมายของนักวิเคราะห์ คือแทนที่จะปรับ ครม. กลายเป็น “ยุบสภา”
มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ท่ามกลางการประท้วงของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน
และพรรคชาติไทย

ต่อมาสามพรรคร่วมฝ่ายค้าน “คว่ำบาตร” ถอนตัวจากการเลือกตั้งและไม่รับข้อเสนอของรัฐบาลให้ไปร่วมประชุมเจรจาเพื่อวางแนวทางการปฏิรูปการเมืองและแก้รัฐธรรมนูญภายใต้กรอบประชาธิปไตย โดยจะทำ “สัญญา
ประชาคม” และจะทำประชามติเมื่อแก้หรือร่างรัฐธรรมนูญ
ใหม่เสร็จ

พรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาลเบี่ยงประเด็นและไม่มีหลักประกันในการปฏิรูปการเมือง

ในขณะที่ข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ คือ นายกฯ รักษาการต้อง “ลาออก” เท่านั้น
Image
ภาพ : ไทยรัฐออนไลน์
๒๕๔๙/ มีนาคม
คาราวานคนจน
กลางเดือนมีนาคม “คาราวานคนจน” ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลจากภาคเหนือและอีสาน นำขบวนรถอีแต๋นเข้ามาบริเวณสวนจตุจักร พวกเขาส่วนมากมีอาชีพทางการเกษตรและภาคบริการ มองไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่ทำให้นโยบายหาเสียงเป็นรูปธรรม ทำให้ความเป็นอยู่คนยากจนดีขึ้น ปราบผู้มีอิทธิพล ยาเสพติดได้ผล 

วัชระ อ่องสุข ชาวกาญจนบุรีที่มาร่วมชุมนุมเล่าว่า “...โตมา ได้เห็นนายกฯ มาสี่ห้าคนแล้ว ก็เห็นว่านายกฯ ทักษิณนี่ตรงใจคนเลือกที่สุด เดิมทีผมก็ไม่ค่อยเข้าใจอะไรทั้งนั้นว่าประชาธิปไตยมันคืออะไร...เป็นประชาธิปไตยแล้วจะได้อะไรแต่พอมาถึงยุคของท่านนายกฯ ทักษิณ อะไรที่คนจนไม่เคยได้สัมผัสก็เป็นรูปธรรมขึ้นมา...” (ศาสตรา มูสิกะ สัมภาษณ์ใน สารคดี ฉบับที่ ๒๕๔, เมษายน ๒๕๔๙)

ตัดกับมุมมองของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่แกนนำส่วนหนึ่งเป็นนักวิชาการ สื่อมวลชน นักเขียน ศิลปิน นักธุรกิจ คนชั้นกลาง ฯลฯ ที่ขับเน้นประเด็นคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อนความผิดพลาดในการปราบยาเสพติดจากการฆ่าตัดตอน ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ โจมตีนายกรัฐมนตรีว่าหมดความชอบธรรม
๒๕๔๙/ มีนาคม
ขอนายกฯ มาตรา ๗
ข้อเสนอเรื่อง “นายกฯ พระราชทาน” ตามมาตรา ๗ ของรัฐธรรมนูญ ถูกนำเสนอบนเวทีพันธมิตรฯ ปราศรัยเป็นครั้งแรกในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๙ โดย ดอกเตอร์วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ถูกระบุว่าเป็นทางออกเดียวจากวิกฤต โดยได้รับเสียงปรบมือจากมวลชนยาวนานกว่า ๑๐ นาที และต่อมากลายเป็นเนื้อหาหลักในการปราศรัยของแกนนำพันธมิตรฯ

เรื่องนี้เป็น “จุดเปลี่ยน” ก่อให้เกิดการถกเถียงในกลุ่มองค์กรที่เข้าร่วมชุมนุม ส่วนหนึ่งมองว่าขัดต่อประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านควรทำโดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมแต่พันธมิตรฯ ยังผลักดันประเด็นนี้ต่อ

วันที่ ๒๕ มีนาคม พันธมิตรฯ จัดกิจกรรม “จุดเทียน” ขอนายกฯ พระราชทาน โดยวันเดียวกัน อดีตนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

วันต่อมาพันธมิตรฯ เดินขบวนไปยังถนนพระรามที่ ๑ แยกราชประสงค์ และสยามสแควร์ ช่วงหนึ่งแกนนำคือสนธิขอให้ผู้เข้าร่วมตะโกน “ทักษิณออกไป” เมื่อพบคุณหญิงพจมาน (ภรรยานายกฯ) และบุตรทั้งสามคน ก่อนจะสลายตัว วันเดียวกันพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยกับมวลชนของตนที่วงเวียนใหญ่ โดยระบุว่าขณะนี้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย คนที่ออกมาขับไล่มีปัญหาส่วนตัว
Image
๒๕๔๙/ เมษายน
การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
การเลือกตั้งวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ดำเนินไปแบบไม่มีพรรคฝ่ายค้านหลักลงสมัคร หลายหน่วยเลือกตั้งมีคะแนน “โหวตโน” มากกว่า ส.ส. ที่ได้รับเลือก โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ เกิดเหตุการณ์ฉีกบัตรเลือกตั้งประท้วงหลายกรณี เช่น รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการเมืองการปกครอง (ขณะนั้น) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉีกบัตรต่อหน้าสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว

การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) ๒๙ ล้านคน (ร้อยละ ๖๔.๗๗) มีบัตรเสีย ๑.๖ ล้านใบ (ร้อยละ ๕.๗๘) โหวตโน ๙ ล้านคน (ร้อยละ ๓๑.๑๒)  ไทยรักไทยได้ ๑๖ ล้านคะแนน (ร้อยละ ๕๖.๔๕) แบบแบ่งเขตมาใช้สิทธิ ๒๘.๙๙ ล้านคน (ร้อยละ ๖๔.๗๖) โหวตโน ๙.๖ ล้านคน (ร้อยละ ๓๓.๔) แต่ก็ไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้เนื่องจากจำนวน ส.ส. ไม่เพียงพอ

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้งซ่อมในวันที่ ๒๓ เมษายน ใน ๔๐ เขต ๑๗ จังหวัด แต่ก็มีกรณีกกต. จังหวัดลาออก มีการประท้วงคืนบัตรเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศว่าจะชุมนุม

ต่อไปจนกว่าจะได้ “นายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง” ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำรัสในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๙ กับคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่นำโดยนายอักขราทร จุฬารัตน ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนทำหน้าที่ ทรงห่วงใยเรื่องการที่มีผู้สมัครพรรคเดียว และการที่ไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาได้  ช่วงหนึ่งมีพระราชดำรัสว่า “...ที่ได้ปฏิญาณนั้นมีความสำคัญมาก...หน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง มีหน้าที่กว้างขวางมาก ซึ่งเกรงว่าท่านอาจจะนึกว่า หน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครองมีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวาง...”

ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุในงาน ตุลาการภิวัฒน์ว่าเป็น “พระราชวิสัยทัศน์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง” เปิดทางให้ “กระบวนการตุลาการภิวัฒน์” เข้ามาแก้ปัญหา ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่ากระบวนการนี้เหมาะกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีอำนาจเต็ม ขณะที่ไทยมีปัจจัยที่แตกต่าง การทำเช่นนี้จะกลับเป็นการมุ่งเป้าทำลายพรรคการเมือง

ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผลคือมีคำตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากมีการหันคูหาด้านที่ลงคะแนนออกนอกหน่วยเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ จากนั้นนายถาวร เสนเนียม เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นฟ้องเอาผิดต่อศาล ทำให้ กกต. ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ โดยมีการสรรหา กกต. ใหม่ และมีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เป็น ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๙
Image
https://media.komchadluek.net/img/size1/2009/08/19/f9g9597bfj6i79e9ccd88.jpg
๒๕๔๙/ สิงหาคม
คาร์บอมบ์ใกล้บ้านนายกฯ
ในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙ มีการค้นพบรถยนต์ซุกซ่อนระเบิด ๖๗ กิโลกรัม จอดใกล้บ้านนายกรัฐมนตรี กรณีดังกล่าวทำให้มีการปลดพลเอก พัลลภ ปิ่นมณี รักษาการผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และนายทหารหลายคนออกจากตำแหน่ง มีการจับกุมตำรวจนายหนึ่ง (ภายหลังได้รับการปล่อยตัว)
Image
๒๕๔๙/ กันยายน 
“รัฐประหาร”
เช้าวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เค้าลางรัฐประหารเริ่มขึ้นเมื่อการเรียกประชุมผู้นำเหล่าทัพที่ทำเนียบรัฐบาลไม่มีคนใดเข้าร่วม  ช่วงค่ำหน่วยรบพิเศษจากลพบุรีเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  ต่อมาเวลา ๒๑.๐๐ น. หน่วยรบพิเศษพลร่มป่าหวายเข้าประจำที่กองบัญชาการกองทัพไทย มีขบวนรถถังเข้าควบคุมบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาลและถนนสายต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน 

พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐ-อเมริกา ใช้สัญญาณช่อง ๙ ประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ สั่งย้าย ผบ.ทบ. ไปประจำสำนักนายกฯ ให้พลเอก เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ แต่สัญญาณถูกตัดกลางอากาศ

เขากล่าวในภายหลัง (ปี ๒๕๖๔) ว่า “ผมอยู่นิวยอร์กช่วงเช้า เป็นหัวค่ำของไทย นั่งกินข้าวกับลูกของทรัมป์ (โดนัลด์ ทรัมป์) สามคน เพราะเขาสนใจจะมาลงทุนในไทย เขากลับไปปุ๊บปฏิวัติเลย  ก่อนหน้านั้นประมาณ ๔ ทุ่มก่อนนอน ตรงกับเมืองไทย ๑๐ โมง ตอนนั้นมีประชุม ครม. (พลตำรวจเอก) ดอกเตอร์ชิดชัย (ชิดชัย วรรณสถิตย์/รองนายกฯ) เป็นประธาน ผมตั้งคำถามกับเสนาธิการทหารบก...ปรากฏว่าตอบแบบกวน ๆ  ผมก็เอ๊ะ ไม่ค่อยจะดี ก็เลยสั่งให้ดอกเตอร์ชิดชัยกับหมอพรหมินทร์ (ดอกเตอร์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) เอาร่างคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินออกมา ผมเซ็นทิ้งไว้เพราะรู้ว่าอาจมีอะไรเกิดขึ้น ปรากฏไม่ทัน  มิ่งขวัญ (มิ่งขวัญ
แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ อสมท) โดนจี้ เลยอ่านได้ครึ่งเดียวแล้วก็จบ แล้วตอนนั้นก็มีการเข้าเฝ้าฯ ทำให้เราไม่สามารถควบคุมเกมอะไรได้...”

หลังจากนั้นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ยกเลิกการเลือกตั้ง ตั้งคณะบริหารประเทศในนาม “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี (ภายใต้การกำกับของ คมช.)

เป็นการรัฐประหารครั้งแรกหลังระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้งมีมาอย่างต่อเนื่องเกือบ ๑๕ ปีโดยไม่ขาดตอน นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาฯ เลือดในปี ๒๕๓๕
ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ 
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก 
สุรยุทธ์ จุลานนท์ (องคมนตรี) ดำรงตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรี ภายใต้การกำกับของคณะมนตรี
ความมั่นคงแห่งชาติ

ต้นปี ๒๕๕๐ มีการตั้งคณะกรรมการ
ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
ต่อรัฐ (คตส.) ตรวจสอบนักการเมือง
สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

Image
๒๕๕๐/ มกราคม-พฤษภาคม
มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ คมช. แต่งตั้ง ส่วนพรรคไทยรักไทยมีสมาชิกทยอยลาออกหลายคน นายจาตุรนต์ ฉายแสง เข้ามารักษาการตำแหน่งหัวหน้าพรรค 

มีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคการเมืองข้อหา “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย” กล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งเพื่อเลี่ยงกฎได้คะแนนร้อยละ ๒๐ (กรณีไม่มีคู่แข่งจึงจะได้เป็น ส.ส.) คดีนี้พรรคไทยรักไทยโดนยุบและคณะกรรมการบริหารพรรคโดนเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ๕ ปี

มีการนำร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาลงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อวิจารณ์ในประเด็นใหญ่ คือ มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบสรรหาจำนวน ๗๔ คน ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน, เปลี่ยนการเลือกตั้งแบบเขต (คนเดียวเขตเดียว) เป็นระบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ที่อาจทำให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น

นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหากผลประชามติออกมาว่า “ไม่รับ” คมช. จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาประกาศใช้ โดยขณะนั้นมีกระแสว่า “รับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง” เห็นได้จากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ขณะนั้น) กล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าฉบับนี้แก้ไขได้ ถ้ารับไปบ้านเมืองก็เดินหน้าได้ กลับคืนสู่สภาวะปรกติ  มันไม่เลอเลิศ มันไม่สมบูรณ์ แต่มันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนกลัว”

เมื่อรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ประกาศใช้ มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคที่ถือเป็น “แถวสอง” ของพรรคไทยรักไทยคือพรรคพลังประชาชน (พปช.) ได้รับเลือกมากที่สุด โดยนายสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกทาบทามมาเป็นหัวหน้าพรรคกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
Image
๒๕๕๑
“กีฬาสีการเมือง” และ “ปราสาทพระวิหาร”
ปี ๒๕๕๑ กลุ่มพันธมิตรฯ มองว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับอดีตนายกฯ ทักษิณ จึงเริ่มกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ตั้งแต่ต้นปี เริ่มจัดสัมมนาที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนมีนาคม จากนั้นเริ่มชุมนุมใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 

ประเด็นการชุมนุมยังคงเป็น “ต่อต้านระบอบทักษิณ” หยิบยกกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเข้ามา โดยชี้ว่ามีพื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร คดีที่กัมพูชาฟ้องศาลโลก (international court of justice - ICJ) จนมีคำพิพากษาในปี ๒๕๐๕ นั้นยังไม่ยุติการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เสียดินแดนครั้งใหม่ ขณะที่นักประวัติศาสตร์อีกฝ่ายมองว่าเรื่องดังกล่าวยุติแล้ว การที่ไทยมีแถลงการณ์ร่วม (joint communique) สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเพราะมีการกันพื้นที่นอกบริเวณปราสาทแล้ว ทั้งยังมีการจัดทำแผนบริหารพื้นที่โดยรอบร่วมกัน

กรณีปราสาทพระวิหารเป็นปัจจัยเร่งระดมคนมาชุมนุมของพันธมิตรฯ ทำให้สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณอีสานใต้ตึงเครียด มีการปิดด่านและปะทะกันระหว่างกองกำลังความมั่นคงไทยกับกัมพูชาหลายครั้ง เนื่องจากมีกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งไปประท้วงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นทางเชื่อมไปยังตัวปราสาท 

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญยังสั่งให้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ วรรค ๒  การทำแถลงการณ์ดังกล่าวโดยที่ไม่ผ่านรัฐสภาจึงเป็นโมฆะ  อย่างไรก็ตามรัฐบาลกัมพูชายังเดินหน้ากระบวนการขึ้นทะเบียน และยื่นให้ ICJ ตีความคำพิพากษาปี ๒๕๐๕ อีกครั้ง

ช่วงที่สถานการณ์ตึงเครียดที่สุดอยู่ในเดือนกันยายน ๒๕๕๑ เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ บางส่วนเคลื่อนขบวนปิดล้อมสนามบินภูเก็ต กระบี่ และทางรถไฟสายใต้ กดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออก

ในที่สุด ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายสมัครพ้นตำแหน่ง เนื่องจาก “รับจ้าง” ทำอาหารกับรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง ๖ โมงเช้า” โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๗ ที่ห้ามนายกรัฐมนตรีมีตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ซึ่งจะทำให้พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๒ (๗) โดยมองว่านายสมัครเป็น “ลูกจ้าง” รับค่าตอบแทนจากบริษัทผู้จัดรายการตามความหมายของลูกจ้าง จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง

หลังจากนั้นรัฐสภาโหวตให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมานายสมชายกลายเป็นนายกฯ คนแรกที่ไม่ได้ทำงานในทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรฯ นำมวลชนเข้ายึด

กรณีการทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะ-ไพรัช (ฝ่ายรัฐบาล) ยังนำไปสู่การที่อัยการสูงสุดยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคพลังประชาชน ผลคือในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน อันส่งผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นตำแหน่งไปด้วย

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นระหว่างที่ม็อบพันธมิตรฯ เข้ายึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ จนทำให้การสัญจรทางอากาศหยุดชะงักในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลต้องประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ พันธมิตรฯ จึงยุติการชุมนุม
ธันวาคม ๒๕๕๑ เมื่อพรรคพลังประชาชน
ถูกยุบ มีการตั้งพรรคเพื่อไทย เพื่อรองรับ ส.ส. 
จากพรรคพลังประชาชน 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นสู่ตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรี หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ 
เลขาธิการพรรค ทำให้กลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ 
ออกจากพรรคพลังประชาชน รวมถึงดึงอดีตพรรคร่วมรัฐบาล 
คือ พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน (บางส่วน) 

พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
ตั้งรัฐบาลใหม่ได้  ในกระบวนการเจรจา มีนักข่าว
เก็บภาพตอนที่นายสุเทพพานายบรรหาร ศิลปอาชา 
หัวหน้าพรรคชาติไทย เข้าไปกรมทหารราบที่ ๑ 
เพื่อพบพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผบ.ทบ. ขณะนั้น) 
จนเป็นที่มาของคำกล่าวในหน้าสื่อว่า 
“ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”

Image
https://www.77kaoded.com/wp-content/uploads/P4113759.jpg
๒๕๕๒
ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ธันวาคม ๒๕๕๑-สิงหาคม ๒๕๕๔) เกิดเหตุการณ์ประท้วงสองครั้งของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “คนเสื้อแดง” ที่มีแกนนำสำคัญคือ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์

การชุมนุมช่วงแรกเกิดขึ้นช่วงต้นปี มีการเคลื่อนขบวนไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บ้านสี่เสาเทเวศร์ของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ถูกมองว่ามีบทบาทแทรกแซงทางการเมือง มีข้อเรียกร้องหลักคือ ให้พลเอกเปรมและนายอภิสิทธิ์ลาออกและจัดการเลือกตั้งใหม่

ต่อมามีกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังสถานที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ที่เมืองพัทยา ทำให้รัฐบาลต้องล้มเลิกการประชุม ประกาศ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

หลังจากนั้นเกิดการปะทะระหว่างคนเสื้อแดงกับกลุ่มคนใส่เสื้อสีน้ำเงินในกรุงเทพฯ มีการบุกเข้าทุบรถที่เชื่อว่าเป็นของนายอภิสิทธิ์ในกระทรวงมหาดไทย มีการปิดถนนหลายสาย นำรถประจำทางมาจอดขวาง มีการตัดสัญญาณดาวเทียมช่องดีสเตชั่น (ช่องคนเสื้อแดง) เหตุการณ์จบลงในวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒ เมื่อแกนนำยุติการชุมนุมและยอมมอบตัวมีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในวันที่ ๒๔ เมษายน อย่างไรก็ตามแกนนำที่เหลือประกาศจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง

รัฐบาลแถลงว่ามีผู้บาดเจ็บ ๑๒๐ คน ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงระบุว่ามีผู้เสียชีวิต ๖ คน ในช่วงเดียวกัน สนธิ ลิ้มทองกุล ถูกคนร้ายระดมยิงใส่รถยนต์ที่ย่านบางขุนพรหม กรุงเทพฯ จนได้รับบาดเจ็บ

ปี ๒๕๕๒ จบลงด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงอึมครึม ในช่วงปลายปีคนเสื้อแดงมีการจัดการชุมนุมอยู่เป็นระยะ แต่การชุมนุมจะขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งในช่วงต้นปี ๒๕๕๓
>
อ่านต่อ