#วิกฤตอันยาวนาน
๒๕๕๗-๒๕๖๔
coverSCOOP
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี, 123rf.com
ภายหลังรัฐประหารในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ รัฐบาลคสช. เข้ามาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินพร้อมกับทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการใช้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดสองชุด คือ ชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และชุดของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ 

ในที่สุดก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกวิจารณ์เรื่องความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง

เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลพลเรือน (ที่มีสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง ๒๕๐ คนสนับสนุน) จากการเลือกตั้งในปี ๒๕๖๒ วิกฤตการเมืองไทยยังคงดำเนินต่อไป และยุคนี้อาจถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ
Image
๒๕๕๙/ ๒๒ สิงหาคม
ประชามติรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐
รัฐบาล คสช. ใช้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดสองคณะ คณะแรกนำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ร่างไปตกในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติ และยังถูกวิจารณ์จากสาธารณะว่ามีการสร้าง “องค์กรเหนือรัฐ” ขึ้นมาในระบบรัฐธรรมนูญเพื่อควบคุมรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง จึงมีการตั้งคณะใหม่ขึ้นนำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างนี้ผ่านขั้นตอนใน สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนนำมาลงประชามติในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

ก่อนลงประชามติ มีการจับกุมฝ่ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้โหวตโนไม่รับร่างดังกล่าว เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น เปิดให้มีนายกฯ คนนอก (ไม่ได้เป็น ส.ส.), ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (ไม่แบ่งปาร์ตี้ลิสต์กับระบบแบ่งเขต), มีสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง ๒๕๐ คน (ใน ๕ ปีแรกของรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นมี ๒๐๐ คน), มีบทเฉพาะกาลให้โหวตเลือกนายกฯ ได้ในห้วงเวลา ๕ ปีแรกที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งยังมีกรณีของยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ที่จำกัดการทำงานของรัฐบาลชุดที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต

ผลประชามติ มีประชาชนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร้อยละ ๖๑.๓๕ เห็นชอบกับบทเฉพาะกาลกรณี ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ร้อยละ ๕๘.๐๗ ทั้งนี้ยังปรากฏว่ามีการแก้ไขข้อความในหมวดพระมหากษัตริย์หลังทำประชามติในช่วงปลายปี ๒๕๕๙ โดยรัฐธรรมนูญได้รับการประกาศใช้ในเดือนเมษายน ๒๕๖๐
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ รัชกาลที่ ๙ สวรรคต 
รัชกาลที่ ๑๐ ขึ้นครองราชย์ เป็นการ 
“ผลัดแผ่นดิน” ครั้งแรกในช่วงอายุของคนรุ่นนี้

Image
Image
Image
Image
Image
๒๕๖๒/ กุมภาพันธ์
เลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร ๒๕๕๗
คสช. จัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ หลังทิ้งระยะเวลามา ๒ ปี 

การเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยมีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ก่อตั้งโดยเครือข่ายทหารลงแข่งขันด้วย

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่ามีพรรคการเมืองมากถึง ๒๖ พรรคได้รับเลือกเข้าสู่สภา

พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. ทั้งในระบบเขตและคะแนนรวมทั่วประเทศมากที่สุด แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐดึงพรรคการเมืองหลักและพรรคเล็กจำนวน ๑๙ พรรค ไปตั้งรัฐบาลได้หลังจากเกิดช่วงสุญญากาศนานราว ๒ เดือน จากนั้นก็มีการโหวตในรัฐสภาให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ โดย ส.ว. แต่งตั้งได้ลงคะแนนทั้งหมดให้กับพลเอกประยุทธ์ ในกระบวนการดังกล่าวทำให้พลเอกประยุทธ์ตั้งคณะรัฐมนตรีได้ในเดือนกรกฎาคม

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิจารณ์จากสื่อและองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้งทั้งในและต่างประเทศว่ามีความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง ทั้งกรณีบัตรเขย่ง (ผู้มาใช้สิทธิรับบัตรไปแล้ว แต่ไม่นำไปลงคะแนนเนื่องจากอาจเกิดปัญหาเช่นรอคิวนานตัวเลขผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปจึงไม่ตรงกัน) กรณีการคำนวณ ส.ส. แบบสัดส่วนที่อิงจากคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เขต ที่ส่งผลทำให้พรรคที่ได้ ส.ส. เขตจำนวนมากได้ ส.ส. แบบสัดส่วนจำนวนน้อย

อย่างไรก็ตามมีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งจากระบบนี้จำนวนมากคือพรรคอนาคตใหม่
Image
๒๕๖๓/ กุมภาพันธ
ยุบพรรคอนาคตใหม่
พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ก่อตั้งในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิต และรองศาสตราจารย์ ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับผู้ร่วมจัดตั้งอีก ๒๔ คน

ในการเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. เขตทั้งหมด ๒๖ คน ได้คะแนนรวมเป็นอันดับ ๓ คือ ๖.๓ ล้านคะแนน ทำให้มีที่นั่ง ส.ส. ในสภาทั้งหมด ๘๑ ที่นั่ง โดยความเป็นจริงพรรคอนาคต-ใหม่จะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่านี้ แต่ด้วยวิธีการคำนวณของ กกต. ทำให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากได้ที่นั่งในสภา และส่วนมากได้เข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์

แต่กรณีที่นายธนาธรให้พรรคกู้เงิน ๑๙๑ ล้านบาท และมีผู้ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มีการตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา ๑๐ ปี นับจากต้นปี ๒๕๖๓

นายธนาธรจึงจัดตั้ง “คณะอนาคตใหม่” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะก้าวหน้า” ดำเนินการรณรงค์ทางการเมือง ส่วน ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ ๕๕ คน ได้ย้ายเข้าไปอยู่ใน “พรรคก้าวไกล”

การยุบพรรคอนาคตใหม่ที่มีฐานเสียงเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่และคนในเมือง กลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงของเยาวชนในระยะต่อมา
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ นายธนาธรถูกศาลรัฐธรรมนูญ
ตัดสินให้พ้นจากสถานะ ส.ส. เนื่องจากถูกยื่นคำร้อง
ว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเนื่องจากมีการถือหุ้นในองค์กรสื่อ
คือ บจก. วีลัค มีเดีย ขณะที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 
โดยศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำคัดค้านของนายธนาธรเรื่อง
การรวบรัดขั้นตอนการฟ้อง ทำให้มีการรวบรวมข้อมูล
ไม่รอบด้าน

๒๕๖๓/ กุมภาพันธ์-
๒๕๖๔/ กรกฎาคม
#ม็อบราษฎร
หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ มีกระแสประท้วงขึ้นตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยเฉพาะตามมหาวิทยาลัยจนเกิดปรากฏการณ์แฮชแท็ก (#) ในทวิตเตอร์เป็นคำเฉพาะของแต่ละสถาบัน เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป (จุฬาฯ) #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ (รามคำแหง) #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ (เกษตรศาสตร์) #ศาลายางดกินของหวานหลายสี (มหิดล) เป็นต้น

ในเวลาไล่เลี่ยกันเริ่มมีข่าวการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทั่วโลก ในประเทศมีกลุ่มใหญ่สุดเกิดขึ้นในการแข่งขันชกมวยไทย ณ สนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อต้นเดือนมีนาคม ต่อมาวันที่ ๓ เมษายน นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ทั่วประเทศ ระหว่างเวลา ๒๒.๐๐-๐๔.๐๐ น. ในปลายเดือนเดียวกันฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งได้รับการผ่อนปรนเป็นลำดับในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน  อย่างไรก็ตามการบริหารงานของรัฐบาลจากการรับมือวิกฤตการณ์ในหลายด้านยิ่งส่งผลให้ถูกวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์

กระแสข่าวการถูกอุ้มหายของผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (ถูกอุ้มหายในกัมพูชา ๑๘ มิถุนายน) และคนอื่น ๆ ถูกกล่าวถึงมากขึ้นกระแสความไม่พอใจก่อตัวในโซเชียลมีเดียมากยิ่งขึ้น

การประท้วงแบบ “ลงถนน” เริ่มขึ้นในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) นัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสนอข้อเรียกร้องสามข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขีดเส้นตายให้กับรัฐบาลประยุทธ์ ๒ สัปดาห์ โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลักพัน หลังจากนั้นมีการชุมนุมประท้วงหลายจุดทั่วประเทศ  ถึงปลายเดือน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) รายงานว่ามีการจัดกิจกรรม ๗๕ ครั้ง ใน ๔๔ จังหวัด

๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ กลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย” กลุ่ม “มอกะเสด” จัดการชุมนุมที่ต่อมาถูกเรียกว่า “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” โดยมีแฮชแท็ก #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย 
ตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อ
กฎหมายประชาชน (iLaw) เริ่มต้นรวบรวมรายชื่อประชาชน
ให้ได้ ๕ หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ต่อรัฐสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง สสร. เพื่อร่าง
รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย กิจกรรมของ iLaw 
ทำคู่ขนานกับการชุมนุมทุกครั้ง

๒๔ กันยายน ๒๕๖๓ รัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา
พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนจะถึงวาระ ๑ (รับหลักการ)
ทำให้ขั้นตอนล่าช้าออกไป

Image
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ขึ้นเวทีปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ตั้งคำถามกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วถูกแก้ไข, กรณี พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ให้อำนาจกษัตริย์บริหารจัดการทรัพย์สมบัติสาธารณะตามพระราชอัธยาศัย, กรณี พ.ร.ก. โอนงบประมาณและกำลังพลให้ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขามองว่าเป็นการขยายพระราชอำนาจเกินขอบเขตและขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการปราศรัยเรื่องนี้ในที่ชุมนุมทางการเมือง

การชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดโดย “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ภายใต้ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เริ่มตั้งแต่ช่วงเย็น รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านข้อความเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ๑๐ ข้อ มีเนื้อหาโดยสรุป คือ กลับไปใช้หลักการของคณะราษฎร ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคดีฟ้องร้องกษัตริย์ได้ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ยกเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็นที่เกี่ยวข้อง เลิกการประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ และสถาบันกษัตริย์ไม่ควรเซ็นรับรองการรัฐประหารอีก

หลังจากวันที่ ๑๐ สิงหาคม ยังมีการชุมนุมของนักเรียนมัธยมศึกษานำโดยกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่กล่าวถึงปัญหาในระบบการศึกษา ทั้งเรื่องเนื้อหาของบทเรียนและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ทันสมัย

อย่างไรก็ตามมีการจัดชุมนุมประท้วงของอีกฝ่าย เช่น “กลุ่มไทยภักดี” ของนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่จำนวนคนที่เข้าร่วมค่อนข้างน้อยและส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ

การชุมนุมครั้งที่มีคนร่วมมากที่สุดคือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๓ ภายใต้แนวคิด “๑๙ กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” เพื่อ “สามข้อเรียกร้อง หนึ่งความฝัน” คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา โดยความฝันคือการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ผู้ชุมนุมรวมตัวกันที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนจะย้ายมาตั้งเวทีที่สนามหลวง (มีการเปลี่ยนชื่อในหมู่ผู้ชุมนุมว่า “สนามราษฎร” หลังจากฝ่าแนวรั้วกั้นเข้าไปใช้พื้นที่ภายใน) มีการปราศรัยและแสดงดนตรีตลอดคืน เช้าวันที่ ๒๐ กันยายน มีการทำพิธีฝัง “หมุดคณะราษฎร” หมุดที่ ๒ เพื่อรำลึกถึงหมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าที่หายไป จากนั้นแกนนำพามวลชนเดินไปยื่นหนังสือถึงคณะองคมนตรี โดยมีตำรวจตั้งแนวไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนเข้าใกล้พระบรมมหาราชวัง ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมและนัดหมายอีกครั้งในวันที่ ๑๔ ตุลาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ กลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลากหลายกลุ่มรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม “คณะราษฎร (๒๕๖๓)” โดยมีข้อเรียกร้องสามข้อ คือ หนึ่ง นายกฯ ต้องลาออก  สอง เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ  และสาม ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
Image
๑๓ ตุลาคม ตำรวจตั้งด่านความมั่นคงรอบกรุงเทพฯ สกัดกั้นมวลชน  จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (“ไผ่ ดาวดิน”) ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (แอมมี่ The Bottom Blues) และผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปเตรียมพื้นที่ในการชุมนุมใหญ่วันรุ่งขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ต่อมาในช่วงบ่าย ตำรวจเข้ารื้อเต็นท์ จับกุมแกนนำและผู้เข้าร่วมจำนวน ๒๑ คนท่ามกลางความชุลมุน จากนั้นมีขบวนเสด็จผ่านถนนราชดำเนิน ผู้ชุมนุมหันหลังชูสามนิ้วให้กับขบวนเสด็จรัชกาลที่ ๑๐ เพื่อเป็นการประท้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปรวมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่นำโดยเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ปราศรัยบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกจับกุม มีการสาดสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะยุติการชุมนุมในช่วงค่ำ

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม มีการรวมตัวกันอีกครั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น. เพื่อชิงพื้นที่การชุมนุมมีการปราศรัยตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๘.๔๐ น. บริเวณหน้าแมคโดนัลด์ฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา โดยในวันนี้มีมวลชนใส่เสื้อเหลืองอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนนเพื่อรอรับเสด็จขบวนเสด็จที่มีกำหนดการผ่าน นอกจากนี้ยังมีขบวนมอเตอร์ไซค์ของกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ตำรวจต้องตั้งแนวกันสองกลุ่มออกจากกัน ต่อมาผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรได้เข้ารื้อต้นไม้ที่ กทม. นำมาวางไว้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นก็เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลโดยใช้ถนนนครสวรรค์ และผ่านแนวกั้นของตำรวจไปสองจุดด้วยการเจรจา มีการปะทะกับกลุ่มเสื้อเหลืองและ กปปส. บางจุด ก่อนจะเข้าประชิดทำเนียบรัฐบาลในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น.

สถานการณ์ตึงเครียดตลอดคืน โดยแกนนำประกาศจะยุติการชุมนุมในช่วงเช้าแล้วนัดหมายใหม่ที่แยกราชประสงค์ในวันถัดไป แต่ก็มีการเข้าสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดและจับกุมแกนนำหลายคน 

วันต่อมา (๑๕ ตุลาคม) มีการรวมตัวกันที่สี่แยกราชประสงค์โดยมีไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ขึ้นปราศรัย ท่ามกลางความพยายามของตำรวจที่รุกคืบเข้ายึดพื้นที่จนเกิดการผลักดันกันไปมาในบางจุด  การชุมนุมดำเนินไปถึงเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ก็ยุติลง

วันนี้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. (๑๕-๒๒ ตุลาคม) มีการสั่งห้ามชุมนุม จำกัดการเสนอข่าว และตั้งกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ควบคุมสถานการณ์
กันยายน ๒๕๖๓ ในทวิตเตอร์เกิดแฮชแท็ก 
#RepublicofThailand อันเป็นการแสดงออกเรื่อง
แนวคิดสาธารณรัฐเป็นครั้งแรกในสังคมไทย

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ รัฐสภาลงมติในที่ประชุมร่วมรับหลักการ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านหนึ่งร่าง ส่วนอีกห้าฉบับรวมถึงร่างแก้ไขของภาคประชาชนที่รวบรวมชื่อ
ผู้เสนอกว่า ๑๐๐,๗๓๒ รายชื่อที่เสนอโดย iLaw ถูกตีตก

Image
ภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์
วันที่ ๑๖ ตุลาคม ผู้ชุมนุมรวมตัวกันอีกครั้งบริเวณแยกปทุมวัน เกิดปรากฏการณ์ “แกง” (แกล้ง) โดยเปลี่ยนสถานที่นัดหมายจากแยกราชประสงค์ด้วยการแจ้งข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์แบบกะทันหัน  มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. และเริ่มปราศรัยประมาณ ๑๗.๐๐ น.

การชุมนุมในวันนี้เป็นไปโดยสงบ แต่ก็เกิดความชุลมุนขึ้นเมื่อตำรวจนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีเข้าสลายการชุมนุมท่ามกลางฝนที่ตกในเวลา ๑๘.๒๐ น. ภายใต้การควบคุมของพลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. โดยรุกเข้ามาทางแยกเฉลิมเผ่า ทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนมากแตกตื่นหนีออกไปทางหอศิลป์และโรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส บางส่วนเข้าไปหลบภัยในจุฬาฯ ที่เตรียมไว้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ชุมนุม แกนนำประกาศยุติการชุมนุมในเวลา ๒๒.๐๐ น.

หลังจากนั้นยังมีการประกาศรวมตัวกันอีกหลายครั้ง เช่น ๒๔ ตุลาคม (แยกราชประสงค์), ๑๔ พฤศจิกายน (กลุ่มนักเรียน LGBT และ ฯลฯ), ๒๕ พฤศจิกายน (หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ถนนรัชดาภิเษก) จากนั้นการชุมนุมได้เว้นช่วงไปเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก

ในช่วงต้นปี ๒๕๖๔ การรวมตัวประท้วงยังคงดำเนินต่อไป มีการรวมตัวกันบนสกายวอล์กสี่แยกปทุมวันในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ (“รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ”), ๑๓ กุมภาพันธ์ (ห่ออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยผ้าแดง เคลื่อนขบวนไปทำพิธีที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ), ๑๙-๒๐ กุมภาพันธ์ (หน้ารัฐสภาแห่งใหม่), ๒๓ กุมภาพันธ์ (หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณี “ตั๋วช้าง” แทรกแซงการโยกย้ายในวงการตำรวจที่ถูกเปิดในสภา), ๒๘ กุมภาพันธ์ (REDEM-ประชาชนสร้างตัวประท้วงที่หน้ากรมทหารราบที่ ๑ รอ.), ๒๐ มีนาคม (REDEM ประท้วงที่สนามหลวง), ๒๔ มีนาคม (แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มราษฎร ที่แยกราช-ประสงค์)

ยังมีกลุ่มพีเพิล โก เน็ตเวิร์ค และกลุ่มราษฎร เดินจากลานย่าโมไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ๒๔๗.๕ กิโลเมตร (๑๖ กุมภาพันธ์-๗ มีนาคม) โดยเข้าร่วมกับกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่มาประท้วงกรณีการขับไล่ชนเผ่าออกจากอุทยานแห่งชาติใน “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ใกล้ทำเนียบรัฐบาล โดยกลุ่มนี้ถูกสลายในวันที่ ๒๘ มีนาคม

เมษายน  “กลุ่มคนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย” เปิดตัวเคลื่อนไหว โดยมีแกนนำคือ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช., พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา-คม ๒๕๓๕ จัดการชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่สวนสันติพร โดยข้อเสนอหลักคือการขับไล่พลเอกประยุทธ์ แต่ไม่เรียกร้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วงเดือนนี้เกิดการระบาดของโควิด-๑๙ อีกระลอก พบคลัสเตอร์การระบาดใหม่จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ แผนจัดงานสงกรานต์ต้องงดทั่วประเทศ

ต่อมา ๒ พฤษภาคม กลุ่ม REDEM จัดขบวนคาราวานรถยนต์จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก

ในระยะนี้การชุมนุมประท้วงมักมีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) หลังการประกาศยุติการชุมนุม มีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสื่อมวลชน ผู้ชุมนุม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่

การชุมนุมประท้วงของหลากหลายกลุ่มยังคงดำเนินต่อไป แต่บางช่วงชะงัก เพราะการระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกที่ ๓ ในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้รัฐบาลวางแผนจัดหาวัคซีนโควิด-๑๙ และเริ่มฉีดให้ประชาชนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ลงทะเบียนล่วงหน้า นับจากวันที่ ๗ มิถุนายน แต่การบริหารจัดการสร้างความแคลงใจทั่วประเทศ ประชาชนตั้งคำถามถึงความโปร่งใส  สถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล  การประกาศ “ล็อกดาวน์” หลายพื้นที่ในกลางเดือนกรกฎาคมยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจขึ้นเรื่อย ๆ
๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก
โดยสรุปว่า รัฐสภาต้องทำประชามติสองครั้ง 
ครั้งแรกให้ลงมติว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่
ครั้งที่ ๒ เมื่อทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ว่าจะรับหรือไม่รับ

๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔ รัฐสภามีมติไม่ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
ในวาระ ๓ ที่จะเปิดทางไปสู่การเลือกตั้ง  สสร. ยังคงมีความเห็น
ไม่ตรงกันว่าควรจะแก้รายมาตราก่อนหรือทำประชามติก่อน

ภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์
ต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ มีการจัดชุมนุมในวันที่ ๑, ๗ และ ๑๐ สิงหาคม

วันที่ ๑ สิงหาคม “คาร์ม็อบ” #CarMob จัดโดยแนวร่วมห้ากลุ่ม คือ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, กลุ่ม บก. ลายจุด-สมบัติ บุญงามอนงค์, กลุ่มไทยไม่ทน และเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ร่วมกดดันให้นายกฯ ลาออก จากเหตุบริหารบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดการสถานการณ์วิกฤตโควิด-๑๙ ที่ล้มเหลว

ทั้งหมดขับรถบีบแตรวนไปตามสถานที่ต่าง ๆ รอบกรุงเทพฯ เวลาประมาณ ๑๖.๓๐ น. และบีบแตรยาวเมื่อถึงหน้าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถือเป็นการสิ้นสุดกิจกรรมและแยกย้ายวันนี้มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมที่ยังเหลือตามจุดต่าง ๆ กับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) หลายแห่ง และมีคาร์ม็อบที่เชียงใหม่ ยะลา อุดรธานี และขอนแก่นด้วย

อย่างไรก็ตามมีการจับกุมแกนนำของเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีทำให้เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นำมวลชนไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค ๑ สถานที่สอบสวน เผชิญหน้าเจ้าหน้าที่บริเวณทางเข้า ต่อมาเวลา ๑๘.๓๐ น. มีการปล่อยตัวผู้ถูกสอบสวน

วันที่ ๗ สิงหาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเวลา ๑๓.๐๐ น. มีแผนเคลื่อนไปยังพระบรมมหาราชวัง  ฝ่ายตำรวจควบคุมฝูงชนนำกำลังประจำบริเวณโดยรอบถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงเที่ยง มีการวางตู้คอนเทนเนอร์และตู้รถไฟที่ใช้บรรทุกน้ำมันเป็นแนวกั้นกลางสนามหลวง มีการปะทะระหว่างสองฝ่ายก่อนเวลานัดหมายเป็นระยะ  ต่อมาเฟซบุ๊ก Free YOUTH ประกาศเปลี่ยนเป้าหมายไปที่ทำเนียบรัฐบาล แต่พบว่ามีการวางกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนและสิ่งกีดขวาง จึงประกาศมุ่งหน้าไปบ้านพักของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในกรมทหารราบที่ ๑ รอ. ถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนเข้าสู่ถนนวิภาวดีรังสิตก็พบกับแถว ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ตั้งสกัดโดยยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง บางส่วนกระทบบ้านเรือนประชาชนโดยรอบ ผู้ชุมนุมถอยร่นไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. แต่ก็ยังคงมีบางส่วนหลงเหลือ และปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนจนถึงช่วงค่ำ

วันที่ ๑๐ สิงหาคม เกิด “คาร์ม็อบ” ที่จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม  ก่อนถึงกำหนดการตำรวจถอนประกันและจับกุมแกนนำหลายคน เช่น เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ทนายอานนท์ นำภา ฯลฯ เวลา ๑๔.๐๐ น. ผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ มีการตั้งขบวนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ แชนเนลนิวส์เอเชีย (CNA) สื่อสิงคโปร์รายงานว่ามีรถยนต์อย่างน้อย ๕๐๐ คันเข้าร่วม มีการประดับธงและชูป้ายประท้วงต่าง ๆ  ขบวนเคลื่อนไปตามจุดสำคัญในกรุงเทพฯ เช่น อาคารซิโน-ไทย ทาวเวอร์ ถนนอโศกมนตรี ในฐานะเป็นกลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐบาล มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น ปาเลือดหมูใส่ป้ายบริษัท นำหุ่นผ้าจำลองผู้เสียชีวิตจากโควิด-๑๙ วางบริเวณบันไดขึ้นตึก มีการอ่านข้อเรียกร้องห้าข้อ คือ ควบคุมโรคระบาด, แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ, ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐, ปฏิรูปศาล กองทัพ สถาบัน และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่ประชาชน

ขบวนผู้ชุมนุมเคลื่อนต่อไปที่ถนนพระรามที่ ๙ มุ่งสู่บริษัทหนึ่งของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการตกเป็นผู้ต้องหาค้ายาเสพติดในออสเตรเลีย โดย “กระทำสันติวิธี” ก่อนจะไปต่อที่อาคารคิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ มีการปาสีใส่ป้ายชื่อในฐานะผู้สนับสนุนรัฐบาล จากนั้นประกาศยุติการชุมนุมในเวลา ๑๗.๐๕ น.
อนาคตของการเมืองไทยคงมีแต่ “เวลา” เท่านั้นที่จะให้คำตอบ  
เอกสารอ้างอิง
สารคดี ฉบับที่ ๒๕๔, เมษายน ๒๕๔๙.
สารคดี ฉบับที่ ๓๐๕, กรกฎาคม ๒๕๕๓.
สารคดี ฉบับที่ ๓๒๘, มิถุนายน ๒๕๕๕.
https://www.the101.world/rereading-thirayuth-boonmee/
https://www.posttoday.com/politic/analysis/190137
https://www.reuters.com/article/us-thailand-protests-idUSKBN26Y1C7