Image
“ต้องทําให้สังคมยอมรับ
ความหลากหลายทางความคิด”
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
Political Party
สัมภาษณ์ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล 
ภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

วันที่ประเทศชาติ
สูญเสียประชาธิปไตย

ผมจำได้แม่นเลย วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ผมเจรจาธุรกิจอยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ มีคนโทรศัพท์มาบอกว่าเกิดรัฐประหาร เพื่อนฝูงหลายคนต่อต้าน พลังหลักอยู่ตรงสนามหลวง มีกลุ่มเครือข่าย ๑๙ กันยา ต้านรัฐประหาร กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ฯลฯ มีหลายกลุ่มออกมาชุมนุม

วันนั้นผมเป็นนักธุรกิจ ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองมากมาย แต่ก็สนับสนุนการต่อต้านรัฐประหารและมีจุดยืนที่ต่อต้านรัฐประหารมาตั้งแต่ครั้งนั้น  จริง ๆ ต้องเท้าความไปอีก ก่อนถึงกันยายน ๒๕๔๙ ผมเป็นหนึ่งคนที่ไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านรัฐบาลของคุณทักษิณ เหตุผลมาจากเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาล

แต่พอพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องมาตรา ๗ ผมก็ถอยออกมา แล้วหลังจากนั้นการชุมนุมก็เป็นการปูทางสู่รัฐประหาร
จุดยืนต่อรัฐประหาร
ทั้งรัฐประหาร ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๗ ผมยังไม่มีบทบาททางการเมือง ดังนั้นสิ่งที่ทำก็คือการแสดงออกถึงการต่อต้านไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ทำได้เท่านั้น  ถ้ามีรัฐ-ประหารอีกผมในฐานะบุคคลที่มีบทบาททางสังคมและการเมืองแล้ว ก็ชัดเจนว่าต้องต่อต้านและแสดงบทบาทชัดเจนมากกว่าครั้งก่อน ๆ

ตอนนั้นเรียนจบ มีทางเลือกว่าจะทำงานในวงการที่เรียกว่าภาคประชาสังคมหรือภาคธุรกิจ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ผมตัดสินใจเข้าไปอยู่ในภาคธุรกิจ เป็นจุดหักเหที่ส่งผลแง่บวก ทำให้เห็นโลกกว้าง  หลังจากทำธุรกิจเกือบ ๒๐ ปี เมื่อมาทำงานการเมืองก็เห็นภาพเยอะขึ้น ไม่ว่าเรื่องโลกาภิวัตน์ความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี การมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนต่าง ๆ ในสังคมไทย ดังนั้นถ้ามองที่ผ่านมา ผมคิดว่าโชคดีที่วันนั้นไม่ได้เป็นเอ็นจีโอ

จุดยืนทางการเมืองของผมในวันนั้นกับวันนี้ไม่ต่างกันเลย คือต้องการเห็นสังคมที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค แล้วก็สังคมที่ประชาธิปไตยทำงาน เติบโต เบ่งบาน
เส้นทาง
ของประชาธิปไตย

ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้า ผมคิดว่ามีสองประเด็นใหญ่ ๆ ที่ต้องทำ ประเด็นเฉพาะหน้าคือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ถ้าไม่แก้ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตย แต่ถามว่าพอไหม ยังไม่พอ ยังมีความจำเป็นต้องปฏิรูปเรื่องสำคัญอีกหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปฏิรูปองค์กรอิสระ กองทัพ รัฐราชการ ยุติการรวมศูนย์ ฯลฯ ถ้าคุณไม่จัดการสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ประชาธิปไตยเบ่งบานไม่ได้ นี่เป็นข้อจำกัดในเชิงโครงสร้าง

ถ้าความคิดพวกนี้เป็นกระแสหลักในสังคมไม่ได้ ก็ผลักดันวาระประชาธิปไตยต่อไปไม่ได้  ผมคิดว่ามันเป็นการต่อสู้ช่วงชิงในเชิงความหมาย เชิงวิสัยทัศน์ว่าประเทศไทยจะเดินไปทิศทางไหน จะอยู่อย่างเดิมกับโครงสร้างรัฐที่เอื้อให้กลุ่มทุนผูกขาดระบบเศรษฐกิจ เอื้อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท เอื้อให้เสียงของคนบางกลุ่มมีสิทธิมีความหมายมากกว่าเสียงของคนอีกกลุ่ม หรือจะเชิดชูวิสัยทัศน์ที่ต้องการเห็นประเทศไทยเท่าเทียม มีความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

ทุกวันนี้ความเป็นอิสระของผู้ประกอบการระดับกลางและระดับเล็กที่จะเสนอวาระเชิดชูประชาธิปไตยไม่เยอะนะ เพราะปลายทางถูกผูกขาด คนที่อยู่ตรงกลางหรืออยู่ปลายน้ำของ supply chain ถูกผูกขาดโดยไม่กี่เจ้า อย่างคุณขายของให้ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ คุณกล้าวิพากษ์วิจารณ์ทุนผูกขาดหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นผู้ผลิตขวดให้เบียร์ยี่ห้อดัง คุณกล้าพูดเรื่องทุนผูกขาดหรือเปล่า ไม่กล้าใช่ไหม เมื่อรูปแบบของการสะสมทุนเป็นแบบนี้ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าพูดถึงปัญหา เพราะเศรษฐกิจถูกผูกขาด แต่ผมพูดได้ เพราะผมค้าขายกับโลก คู่ค้าของผมเป็นบริษัทในต่างประเทศทั้งหมด ไม่ได้ค้าขายกับบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศไทย เขาทำอะไรผมไม่ได้ มันทำให้ผมมีอิสระในการพูด การเขียนอย่างที่คิด

ผมว่ามันเป็นการช่วงชิงระดับความคิดระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทย ซึ่งแน่นอนที่สุดหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเราเห็นความคืบหน้าในการช่วงชิงความหมาย ช่วงชิงพื้นที่ แต่ถามว่าพอไหมที่จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง ยังไม่พอ ดังนั้นต้องรณรงค์ต่อ

เมื่อถูกยุบพรรคแล้วพวกเราก็ตั้งคณะก้าวหน้า เพื่อจะผลักดันสงครามทางความคิดนี้ต่อ รณรงค์ให้เป็นความคิดกระแสหลักในสังคม
“ที่บอกว่าจะแช่แข็งประเทศไป ๒๐ ปี ทีแรกผมนึกว่านี่เป็นความคิดเล่น ๆ ของกลุ่มชนชั้นนำ แต่พอเกิดรัฐประหาร ๒๕๕๗ มันเห็นชัดว่ากลุ่มอภิสิทธิ์ชนในประเทศนี้ต้องการอย่างนั้นจริงๆ”
Image
เมื่อทหารตบเท้า
เข้าบริหารประเทศ

ผลพวงจากการที่นายทหารเข้ารับตำแหน่งบริหารประเทศคงจะเห็นกันอยู่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คงไม่ต้องพูดแล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศเสียหายแค่ไหน ในช่วง ๗ ปีของรัฐบาลประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นประยุทธ์ ๑ หรือประยุทธ์ ๒ ประเทศไทยเสียโอกาสมาก ๆ

เจ็ดปีนี้คือ ๗ ปีที่เกิดธุรกิจใหม่ ที่เกิดการดิสรัปชัน ไม่ว่าจะเป็นแวดวงการเงิน ฟินเทค สื่อสารมวลชน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนระหว่างผู้ผลิตสารกับผู้รับสาร ไม่ต้องมีตัวกลางอีกต่อไป  ทุกคนเป็นทั้งผู้ผลิตสารและผู้รับสาร เป็นทั้งผู้แต่งและผู้เสพในเวลาเดียวกัน ทุกอุตสาหกรรมถูกดิสรัปชันหมด คุณคิดว่าช้อปปี้เติบโตมากี่ปี ก็ช่วง ๗ ปีนี้  อาลีบาบาก็เข้ามาเมืองไทยในช่วงนี้ แอปพลิเคชันใหม่ ๆ ด้วยนะ ผมเสียดายมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่จะฉกชิง การดิสรัปชันทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ  มันทำให้คุณ by pass การสร้างประเทศแบบเดิมได้

ผมยกตัวอย่างถ้ามีประเทศใหม่ ๆ ที่สร้างในยุคหลัง ก็ไม่ต้องวางสายโทรศัพท์ทั้งประเทศ เพราะเทคโนโลยีอนุญาตให้ by pass บางช่วง  ทุกช่วงที่มีการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ  ถ้าเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ใครที่ฉกฉวยการนำขึ้นมาได้ ? อย่างเกาหลี คือ ซัมซุง LG ที่ฉกฉวยการนำจากเดิมที่กลุ่มโซนี่เป็นคนนำ พอมีจอแบน เกิดเทคโนโลยีดิสรัปชัน เกาหลีขึ้นมา

แต่เสียดายว่าช่วงที่เกิดเทคโนโลยีดิสรัปชันที่มันน่าจะอนุญาตให้ประเทศไทยฉกฉวยโอกาสและแย่งชิงการนำอะไรบางอย่างได้เกิดขึ้นในรัฐบาลคุณประยุทธ์ ซึ่งไม่มีวิสัยทัศน์ วันนี้เราจึงมานั่งบ่นกันว่าทำไมประเทศไทยไม่มียูนิคอร์น ไม่มีบริษัทในสายเทคโนโลยีใด ๆ เลยที่สามารถระดมทุนได้ถึง ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  มันเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในด้านเทคโนโลยีที่เสียไปเยอะมาก

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) มองย้อนหลังไป ๗ ปี เราเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไหม น้ำสะอาดขึ้นหรือเปล่า ประชาชนมีน้ำใช้ มีไฟแสงสว่างทั้งประเทศหรือเปล่า มีถนนที่ปลอดภัย การคมนาคมที่สะดวกขึ้น มีโรงพยาบาลที่ดีขึ้นหรือเปล่า ไม่มี  เราเสียงบประมาณให้คุณประยุทธ์ในการบริหารเท่าไร ถ้าตีง่าย ๆ ปีละ ๒ ล้านล้านบาท เจ็ดปี ๑๔ ล้านล้านบาท ความจริงมากกว่านั้นอีก เพราะปีหนึ่ง ๆ มากกว่านั้น

คุณประยุทธ์ใช้ราว ๒๐ ล้านล้านบาทมา ๗ ปีแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นเลย  ผมคิดว่านี่คือการเสียโอกาสอย่างมหาศาล นี่คือช่วงเวลา ๗ ปีที่งบประมาณของประเทศถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้ถูกเอามาพัฒนาประเทศ  เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เป็นโอกาสที่หายไป
แช่แข็งประเทศไทย
รัฐประหาร ๒๕๕๗ เป็นความพยายามทำในสิ่งที่ทำไม่สำเร็จจากรัฐประหาร ๒๕๔๙ ถ้าดูระหว่าง ๒๕๔๗ ถึง ๒๕๕๗ จะมีม็อบ “แช่แข็งประเทศไทย” ที่บอกว่าจะแช่แข็งประเทศไป ๒๐ ปี ทีแรกผมนึกว่านี่เป็นความคิดเล่น ๆ ของกลุ่มชนชั้นนำ แต่พอเกิดรัฐประหาร ๒๕๕๗ มันเห็นชัดว่ากลุ่มอภิสิทธิ์ชนในประเทศนี้ต้องการอย่างนั้นจริง ๆ

รัฐประหาร ๒๕๔๙ ยังมียางอาย หลังรัฐประหารมีรัฐบาล สุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่ปีเดียว แช่แป๊บเดียวแล้วก็ไป แต่เขาเห็นแล้วว่าการรัฐประหารแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เป็นผลร้ายต่อเครือข่ายอนุรักษนิยม เขาจึงคิดมาตลอดว่าต้องรัฐประหารอีกครั้งและต้องให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด นั่นก็เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ที่ล้อมปราบประชาชน จนมาถึงรัฐประหาร ๒๕๕๗ จับขังละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ที่สุด ไล่จับคน ข่มขู่ ส่งทหารไปตามบ้าน นักกิจกรรมการเมืองโดนยัดเยียดคดี  พอมีรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ถึงตอนนี้ก็ยังแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าจะดึงสังคมกลับหลังไปกี่ปีกว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าถามถึงการดึงสังคมกลับหลัง รัฐประหาร ๒๕๕๗ ร้ายแรงและหนักหนาสาหัสกว่ารัฐประหาร ๒๕๔๙ เยอะ
Image
การท้าทายความ
เป็นธรรมระดับโครงสร้าง

ผมคิดว่าจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่พูดถึงปัญหาโครงสร้างสังคมอย่างตรงไปตรงมา ถ้ามองเรื่องจังหวะเวลา การตั้งพรรคอนาคตใหม่เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ เป็นช่วงที่เหมาะสม เพราะหลังเกิดรัฐประหารแล้วคุณประยุทธ์อยู่มานาน

มีความคิดตั้งพรรคการเมืองจริงจังช่วงปลายปี ๒๕๖๐ แต่ความรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของประชาชนจริง ๆ มีมานานแล้ว  ถ้ามีพรรคแบบนี้เราก็พร้อมเป็นผู้สนับสนุน พร้อมจะเป็นสมาชิกพรรค แต่ปัญหาคือมันไม่มี ล่วงเลยมาจนรู้สึกว่าถ้าไม่มีใครทำก็ต้องทำเอง

โดยทั่วไปผมคิดว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกันทางการเมือง แต่เป็นคู่แข่งทางการเมือง เพราะทุกพรรคแย่งคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ต้องแข่งกันเพื่อเอาชนะใจประชาชน

แต่ที่จะนับว่าเป็นศัตรูกัน คือฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย  ต้องเข้าใจว่าถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยและมีวุฒิภาวะมากพอ คุณก็สามารถนำเสนออุดมการณ์ขวาสุดโต่งหรือซ้ายสุดโต่งได้ เราไม่ใช่ศัตรูกัน ฝ่ายหนึ่งอยากจะสุดโต่ง บอกว่านักเรียนจะต้องใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียนทุกวัน เด็กมหาวิทยาลัยต้องใส่ชุดนักศึกษา ข้าราชการต้องใส่ชุดสีกากี ทุกคนต้องผมสั้น  กับอีกฝ่ายหนึ่งก็สุดโต่ง ลิเบอรัลไปเลย ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน  ถ้าสังคมมีเสรีมากพอที่จะมองเห็นความคิดที่ต่างกันได้ ใครเห็นด้วยกับแนวทางไหนไปก็วัดกันที่หีบเลือกตั้ง

แต่เวลาเราพูดถึงการเมืองในยุคนี้ก็ต้องบอกว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นอภิสิทธิ์ชน ไม่ต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชน ไม่ต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นประชาธิปไตย  สำหรับผมควรจะต้องทำให้สังคมยอมรับความหลากหลายทางความคิด เพื่อที่คนจะไม่ต้องเป็นศัตรูกัน คุณเป็นขวาสุด คุณเป็นซ้ายสุด ก็ยังอยู่ในสังคมเดียวกันได้ แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าเขาอยากให้สังคมไทยเดินไปทางซ้ายหรือทางขวา แต่ด้วยสภาวะสังคมทุกวันนี้กำลังบีบให้เกิดความขัดแย้งอย่างแหลมคมขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าอันตราย

กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นการพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่าผู้มีอำนาจไม่ต้องการเห็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะก้าวหน้าและพร้อมที่จะท้าทายความเป็นธรรมระดับโครงสร้างอยู่ในสังคมไทย เขาไม่อนุญาตให้มีพรรคแบบนี้
เมื่อคนรุ่นใหม่ตื่นตัว
ผมมองการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ด้วยความชื่นชม คนในสังคมอาจยังไม่เห็นความสำคัญ แต่ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมือง คนที่มีอำนาจก็จะเป็นคนเดิม ๆ ตระกูลการเมืองเดิม ๆ

การเลือกตั้งทำให้เกิดการแข่งขัน ยิ่งมีตัวเลือกให้กับประชาชนยิ่งดี ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาประเทศมันไปต่อไม่ได้นะ เลือกตั้งระดับ อบจ. ที่ผ่านมาถ้าคณะก้าวหน้าไม่ส่งคนลงแข่ง หลาย ๆ จังหวัดไม่มีคนแข่งด้วยนะ มันมีแค่สองเบอร์ ผมยกตัวอย่าง นายก อบจ. อยุธยาเป็นคนเดิมมาแล้วเกือบ ๒๐ ปี เท่ากันกับนายกฯ ฉะเชิงเทรา เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ลุกขึ้นมาทำงานการเมือง ไม่สนใจการเมือง ไม่มีคนใหม่เข้ามา งบ อบจ. สมุทรปราการปีละ ๓,๐๐๐ ล้าน อยู่ ๑ สมัยนาน ๔ ปี บริหารเงิน ๑.๒ หมื่นล้าน คุณคิดว่าสมุทรปราการดีขึ้นกว่านี้ไม่ได้หรือ มันต้องดีกว่านี้ได้ แต่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถไม่ลงมาทำ เพราะทุกคนถูกฝ่ายอนุรักษนิยมปลูกฝัง
“ที่จะนับว่าเป็นศัตรูกัน คือฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยต้องเข้าใจว่าถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยและมีวุฒิภาวะมากพอ คุณก็สามารถนำเสนออุดมการณ์ขวาสุดโต่งหรือซ้ายสุดโต่งได้ เราไม่ใช่ศัตรูกัน”
Image
นี่คือความสำเร็จของฝ่ายอนุรักษนิยมที่บอกว่าการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย คนดี ๆ อย่าไปยุ่งกับมัน  เราต้องทำลายมายาคติแบบนี้ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ของคุณ ของลูกหลาน การเมืองอยู่ในทุกมิติ โรงเรียนไม่ดี ถนนหน้าบ้านไม่ดีเป็นเรื่องการเมือง  เสาไฟกินรีนี่การเมืองหรือเปล่า ก็เพราะคุณไม่ลงเลือกตั้ง แต่เลือกคนนี้มา คุณถึงได้เสาไฟแบบนี้  ถ้าคุณไม่พอใจ คุณลงนายก อบต. พื้นที่บ้านคุณเองเลยสิ ฉะนั้นถ้าไม่มีคนใหม่เข้ามาสนใจการเมืองก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

เป็นเรื่องน่ายินดีมาก ๆ ที่มีคนสนใจการเมือง เราต้องร่วมกันทำลายมายาคติว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนที่สกปรก เลวร้าย กลับกันผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นอนาคตของลูกหลาน ทำให้สนุกสนานตื่นเต้นได้ การเมืองเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนรุ่นเราและรุ่นต่อไป ถ้าคุณไม่สนใจการเมืองไม่ต้องมาบ่นว่าโรงเรียนลูกไม่ดี ทำไมเอางบประมาณไปทำเสากินรี ทำลายมายาคตินี้แล้วบอกทุกคนว่าการเมืองเป็นเรื่องของพวกเรา

คุณภาพชีวิตของคนกับการเมืองหนีจากกันไม่ออก การเมืองเผด็จการ การเมืองที่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชน มันไม่รับใช้ประชาชนในส่วนของม็อบนักศึกษา พวกเขากล้าหาญ อาจมีบางมิติ บางกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าก้าวร้าวไปบ้าง แต่โดยภาพรวมพวกเขาทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

ในรอบหลายสิบปีให้เป็นจริง คือพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นประเด็นทางสังคม

อย่างน้อยที่สุดในชีวิตผม เป็นครั้งแรกที่เห็นการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นระบบและกลายเป็นประเด็นสาธารณะในสังคม คุณูปการในเรื่องนี้ต้องยกให้เขา นี่คือความกล้าหาญ  เขาเสียสละมากเพื่อทำให้ประเด็นที่สำคัญจริง ๆ เป็นประเด็นสาธารณะ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมนี้ไม่มีวุฒิภาวะพอ ไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยสติปัญญา ทำให้ภาระของการพูดถึงปัญหาเรื่องนี้ตกอยู่ที่คนรุ่นเขา คนรุ่นนี้กี่คนแล้วที่ต้องเข้าคุก โดนข่มขู่ ไม่ใช่แค่ตัวเขาเอง พ่อแม่ญาติมิตรก็โดนข่มขู่ด้วย

อนาคตเป็นของเขา ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจทั้งในส่วนรัฐบาลและคนทั่วไปต้องฟังเสียงเขา  เงินที่คุณประยุทธ์กู้มา คุณประยุทธ์เป็นคนชดใช้หรือเปล่า ไม่ใช่ คนรุ่นใหม่ต้องแบกภาระงบประมาณที่เกิดจากการกู้ในวันนี้  คนที่ต้องทำงานอีก ๑๐ ๒๐ ๓๐ ปี ที่ยังต้องจ่ายภาษี ที่ต้องใช้หนี้เงินกู้ก้อนนี้คืน ฉะนั้นคุณต้องฟังเสียงเขา นี่คือเสียงของความเปลี่ยนแปลง นี่คือเสียงของอนาคต

สิ่งที่คุณทำวันนี้คือพยายามขโมยอนาคตของพวกเขามาอยู่ในมือคุณ คุณไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง คุณต้องการเอาความฝันของคุณไปยัดเยียดให้เด็ก ๆ แล้วบอกว่าต้องอยู่ในความฝันแบบนี้

ผมคิดว่าสังคมไทยทั้งสังคมถึงเวลาแล้วที่จะต้องโต ต้องมีวุฒิภาวะพอในการเผชิญหน้ากับปัญหาโครงสร้างจริง ๆ 
วันสัมภาษณ์ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔