“นักเรียนเลว”
ภาพสะท้อนการเมือง
ผ่านระบบการศึกษาไทย
บอส-ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์
นิ้ง-ธญานี เจริญกูล
New Gen
สัมภาษณ์ : พัชนิดา มณีโชติ
ภาพ : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
“กลุ่มนักเรียนเลว” เป็นชื่อหนึ่งที่ทุกสื่อต่างนำเสนอและให้นิยามว่าเป็นกลุ่มนักเรียนตัวจริงที่มีเป้าหมายชัดเจนในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้น พวกเขามองว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกระดับ ไม่ว่าจะในครอบครัว โรงเรียน หรือสังคมที่เราใช้ชีวิต อะไรทำให้พวกเขาตัดสินใจออกมาเรียกร้องถึงอนาคตของประเทศไทยที่อยากให้เป็น ลองมาฟังมุมมองจาก “บอส” และ “นิ้ง” ในฐานะนักเรียนและสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว
ก่อนจะมาเป็ น
“นักเรียนเลว” ในระบบ
การศึกษาที่แสนดี
บอส : ก่อนจะมาเป็นกลุ่มนักเรียนเลว มีองค์กรที่ทำเรื่องการศึกษามาก่อน คือกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ก่อตั้งโดยเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) เป็นองค์กรที่พูดเรื่องการศึกษาและสังคม ที่นี่ทำให้เราเปิดโลก เกิดความสนใจใหม่ ๆ ทำให้เราเจอคนที่สนใจประเด็นสังคมเหมือนกัน แต่สุดท้ายเพื่อการทำงานที่สะดวกขึ้นจึงแยกตัวออกมาเป็นกลุ่มนักเรียนเลว นำชื่อมาจากหนังสือนักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี ของเนติวิทย์ งานแรกเริ่มของนักเรียนเลวคือสร้างช่องทางสื่อสารทางออนไลน์ โดยเลือกทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นกระบอกเสียงขับเคลื่อนประเด็นเรื่องการศึกษา นำเสนอข่าวเหตุการณ์ที่นักเรียนไม่ได้รับความเป็นธรรมในโรงเรียนต่าง ๆ
นิ้ง : หลังจากทำไปสักพักก็อยากทำอะไรที่มากกว่าแค่กระจายข่าว จึงตัดสินใจไปยื่นหนังสือเรื่องยกเลิกกฎทรงผมที่กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่มีความคืบหน้า เราเลยจัดแคมเปญ #เลิกบังคับหรือจับตัด ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ซึ่งถือเป็นจุดแจ้งเกิดให้คนรู้จักนักเรียนเลว
ประสบการณ์ในอดีต
กับเหตุการณ์
ทางการเมืองไทย
นิ้ง : เราจำได้ตั้งแต่ช่วงเสื้อเหลืองพันธมิตรฯ จะมีประโยคประโยคหนึ่งคือ “ทักษิณออกไป” นอกนั้นก็รู้แค่ว่ามีคนไปรวมตัวกัน มีการตั้งเวที ถ่ายทอดสด พอเสื้อแดงปี ๒๕๕๓ เราประมาณ ๗ ขวบ ช่วงกลางเดือนเมษายน เปิดทีวีมาตอนเช้าก็เจอข่าวรถเมล์ถูกเผาอยู่กลางแยก ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องรู้แค่ว่าสังคมโรงเรียนหรือสังคมรอบ ๆ ตัวจะไม่ค่อยใส่เสื้อสีแดง เพราะจะได้รับปฏิกิริยาแปลก ๆ จากคนรอบข้าง
ตอน กปปส. ปี ๒๕๕๗ เราอยู่ชั้น ป. ๔ ลายธงชาติไทยเป็นอะไรที่ฮิตมาก ใครมีถือว่าเท่ ส่วนโรงเรียนจะมีป้ายประท้วงเรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เราเองก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้แค่ว่าถ้าใครไม่เห็นด้วยกับความคิดชุดนี้ของ กปปส. จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี แล้วพอมีรัฐประหารเราดีใจ เพราะโรงเรียนจะเลื่อนเปิดเทอมไป ๑ วัน ช่วงนั้นเพลง “เราจะทำตามสัญญา” ดังมาก ทุกคนเอามาร้องเล่น ทุกคนรู้สึกว่ารัฐประหารไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แล้วดีใจที่ม็อบจบลง เหตุการณ์กลับสู่สภาวะปรกติ
บอส : จำได้ดี คือช่วงเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ซึ่งตอนนั้นเราเด็กมาก แต่รู้จากการดูคลิปวิดีโอในแผ่นซีดีสลายม็อบเสื้อแดง ช่วงรัฐประหารปี ๒๕๕๗ รู้สึกเหมือนนิ้งเลยว่าโรงเรียนให้หยุดก่อนเปิดเทอม ๑ วันก็ดีใจ จำได้ว่ากลับมาจากโรงเรียนก็เป็นวันธรรมดาวันหนึ่ง แต่พอมาเปิดทีวีดูถึงรู้ว่าไม่ปรกติ
จุดเปลี่ยนในชีวิต
หลังเหตุการณ์
รัฐประหารปี ๒๕๕๗
บอส : ตั้งแต่หลังรัฐประหารของ คสช. มีหลายอย่างเริ่มเปลี่ยน เช่น โรงเรียนเริ่มให้ท่องค่านิยม ๑๒ ประการ และมีขนบบางอย่างบังคับให้ทำ เช่น บังคับให้ร้องเพลงของ คสช. ในชั่วโมงเรียนหน้าที่พลเมือง เพื่อน ๆ รอบตัวเราก็ชอบเอามาคุยติดตลก เช่น “เดี๋ยวโดนอุ้มนะ !” ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ตลก บางคนโดนอุ้ม บางคนถูกบังคับสูญหาย เราเริ่มรู้สึกแปลก ๆ แต่ไม่กล้าพูด ไม่อยากทะเลาะกับเพื่อน
แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ เริ่มจากได้เข้าร่วมกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งรวมกลุ่มเด็กที่สนใจเรื่องการเมืองในเชิงวิพากษ์ คุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องการเมืองที่คนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ บางอย่างที่เราพอรู้ แต่มาคุยในกลุ่มนี้จะพบว่าทำไมเขาเถียงชนะเราได้ ข้อมูลที่เราพูดมีข้อบกพร่องตรงไหน จนรู้ว่าเรายังรู้เรื่องนี้ไม่ดีพอ ทำให้เราสนใจศึกษาหาข้อมูลเรื่องการเมืองจนทุกวันนี้
“กระทรวงศึกษาฯ เหมือนเป็นเค้กที่พวกเขามีไว้แบ่งกันเพื่อผลประโยชน์และอำนาจเท่านั้น ทั้งที่ชีวิตและความฝันของเด็กผูกติดอยู่กับกระทรวงนี้”
บอส : ตั้งแต่หลังรัฐประหารของ คสช. มีหลายอย่างเริ่มเปลี่ยน เช่น โรงเรียนเริ่มให้ท่องค่านิยม ๑๒ ประการ และมีขนบบางอย่างบังคับให้ทำ เช่น บังคับให้ร้องเพลงของ คสช. ในชั่วโมงเรียนหน้าที่พลเมือง เพื่อน ๆ รอบตัวเราก็ชอบเอามาคุยติดตลก เช่น “เดี๋ยวโดนอุ้มนะ !” ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ตลก บางคนโดนอุ้ม บางคนถูกบังคับสูญหาย เราเริ่มรู้สึกแปลก ๆ แต่ไม่กล้าพูด ไม่อยากทะเลาะกับเพื่อนแต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ เริ่มจากได้เข้าร่วมกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งรวมกลุ่มเด็กที่สนใจเรื่องการเมืองในเชิงวิพากษ์ คุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องการเมืองที่คนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ บางอย่างที่เราพอรู้ แต่มาคุยในกลุ่มนี้จะพบว่าทำไมเขาเถียงชนะเราได้ ข้อมูลที่เราพูดมีข้อบกพร่องตรงไหน จนรู้ว่าเรายังรู้เรื่องนี้ไม่ดีพอ ทำให้เราสนใจศึกษาหาข้อมูลเรื่องการเมืองจนทุกวันนี้
อิทธิพลของการเมือง
ต่อระบบการศึกษาไทย
นิ้ง : การเมืองมีผลต่อการศึกษาเสมอ หากรัฐต้องการจะสร้างเด็กแบบไหน เขาก็จะใส่สิ่งนั้นมาในการศึกษา เพราะช่วงที่เราสามารถป้อนข้อมูลและหล่อหลอมคนได้ดีที่สุดคือช่วงเด็ก ซึ่งเป็นไม้อ่อนดัดง่าย เด็กนักเรียนจะถูกปลูกฝังให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย มีความเป็นชาตินิยมสูง ส่วนหลักสูตรการศึกษาในวิชาสังคมก็ตีตราฝ่ายต่าง ๆ ทางการเมือง บ้างว่าเป็นคนร้าย บ้างว่าเป็นคนดี ทำให้เด็กนักเรียนเชื่อข้อมูลนั้น ๆ เช่น หนังสือเรียนในส่วนเนื้อหาการเมืองร่วมสมัยเพิ่มเรื่องของพลเอกประยุทธ์เข้ามา บอกว่านี่คือวีรบุรุษรัฐประหาร ผู้กอบกู้บ้านเมืองจากสถานการณ์วุ่นวาย ขณะตีตราการเมืองฝั่งตรงข้ามว่าเป็นผู้ร้าย สะท้อนภาพเหตุการณ์ทางการเมืองให้ดูน่ากลัวเด็กนักเรียนไม่ควรยุ่ง นอกจากนี้ยังปลูกฝังระบบชนชั้นในโรงเรียน ตั้งกฎระเบียบและลิดรอนสิทธิต่าง ๆ จนเด็กนักเรียนเกิดความเคยชิน ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตน
บอส : เรารู้สึกว่าการศึกษาแปรผันตามการเมือง เพราะรัฐมนตรีฯ กระทรวงศึกษาธิการมาจากการแบ่งอำนาจ เด็กในระบบเหมือนอยู่บนเส้นด้าย ยกตัวอย่างสมมุติอยู่ดี ๆ พรุ่งนี้เกิดรัฐประหารหรือเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี ก็จะเปลี่ยนนโยบายหรือรื้อทั้งระบบ เราคิดว่าการศึกษาควรจะเสถียรและเป็นระบบกว่านี้ ไม่อยากให้มองกระทรวงศึกษาฯ เป็นที่ตักตวงผลประโยชน์ได้ดี แต่อยากให้คัดสรรรัฐมนตรีหรือคนทำงานที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อการพัฒนาระบบการศึกษา
นิ้ง : กระทรวงศึกษาฯ เหมือนเป็นเค้กที่พวกเขามีไว้แบ่งกันเพื่อผลประโยชน์และอำนาจเท่านั้น ทั้งที่ชีวิตและความฝันของเด็กผูกติดอยู่กับกระทรวงนี้ นโยบายไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งจริง ๆ ปัญหานี้ไม่ได้มีแค่กระทรวงศึกษาฯ แต่เป็นทุกกระทรวง การคัดเลือกรัฐมนตรีไม่ได้คำนึงว่าเชี่ยวชาญด้านนั้นหรือไม่ พอระบบการบริหารไม่ดีตั้งแต่ต้นก็ไม่อาจตรวจสอบและวัดผลได้อย่างโปร่งใส การมอบนโยบายลงไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ก็ไม่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนแค่รับงานไปทำ แต่ไม่เกิดประโยชน์จริงแก่เด็กนักเรียน
มุมมองต่อการเมืองไทย
บอส : การเมืองไทยตอนนี้คือความขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่นที่ต่างความคิด ถ้าเราไม่ชนะโดยการเอาเขาลงจากอำนาจ เขาก็ต้องตายจากอำนาจเขาเอง คนในอำนาจตอนนี้หรือคนที่ส่งเสริมระบอบอำนาจนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเดียวกัน ทำให้บ้านเมืองเป็นในแบบที่เขาว่าดี แต่ดีของเราอีกแบบ พอเราเสนอ เขาก็ไม่ยอมรับฟัง เพราะดีในแบบเราเขารับไม่ได้ แต่เมื่อใดผู้ใหญ่ที่อยู่ในอำนาจเริ่มฟังเสียงจากเด็กจริง ๆ การเมืองอาจค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงในอนาคตเราคิดว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ชนะแน่นอน ขึ้นกับเวลาว่าเมื่อไร เราเฝ้ารอการเข้ามาของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ถูกสกัดดาวรุ่ง และมีความสัตย์จริงต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย หวังว่าในอนาคตคงจะดีขึ้น
นิ้ง : เรารู้สึกว่าคนที่ครองอำนาจอยู่หลายคนครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กวัยรุ่นเหมือนพวกเราที่มองเห็นและฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า บางคนเคยร่วมพฤษภาทมิฬ, ๖ ตุลาฯ หรือ ๑๔ ตุลาฯ จนวันหนึ่งเขามีอำนาจ ได้ทำตามความฝัน โดยลืมคำนึงถึงว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่ลองมาคิดกลับกัน ไม่แน่ว่าอีก ๓๐ ปีข้างหน้า พวกเราที่ร่วมขบวนกันอยู่ตอนนี้อาจได้เป็นรัฐมนตรี ใช้นโยบายการศึกษาแบบฟินแลนด์ที่เราเฝ้าฝันถึง ขณะที่ช่วงเวลานั้นฟินแลนด์อาจไม่ใช่การศึกษาที่เด็กรุ่นนั้นต้องการแล้วก็ได้
เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีการคานอำนาจ แต่ต้องไม่ใช่การปิดกั้น ต้องรักษาสมดุล เช่น ระบบราชการอาจถูกออกแบบมาให้คานอำนาจกัน ไม่ให้รัฐมนตรีมีอำนาจมากไปจนทำอะไรนอกลู่นอกทาง ประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรัง ต้นตอมาจากโครงสร้างระบบสังคมและราชการที่ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ยาก
อีก ๑๐ ปีกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความคิดแบบเดียวกันจะเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเด็ก ๆ เติบโตขึ้นทุกวัน เด็กมหาวิทยาลัยจะเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เราจะมีอำนาจในสังคมมากขึ้น เพราะเราคือปีศาจแห่งกาลเวลา เวลาอยู่ข้างเรา
การเมืองดี
ในมุมของการศึกษา
นิ้ง : การศึกษาต้องเป็นสิ่งที่เท่าเทียม ทั่วถึง เสมอภาค ทุกคนมีสิทธิ์เรียนเท่ากัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน การศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการซึ่งติดตัวมาพร้อมกับความเป็นพลเมืองไทยตั้งแต่เกิด เพียงแต่ว่าการเมืองดี รัฐจะมองเห็นค่าทุกคนว่าเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศ แล้วก็พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ระบบการเมืองต้องไม่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจสูงสุด แต่ต้องกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชน ซึ่งตอนนี้เราแทบไม่เห็นสิ่งที่พอจะเข้าข่ายคำว่าการเมืองดีได้เลย
บอส : เราควรจะได้รับการสนับสนุนให้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน เราเติบโตมายุคที่เราอยากเป็นอะไรก็ได้ ฟรีแลนซ์ แสดงละครเวที นักบินอวกาศ แต่ครูดับฝันตั้งแต่เด็กพูดอาชีพเหล่านี้ เราอยากให้การศึกษาสร้างความเป็นคน ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เรื่องที่บั่นทอนเรามากคือการเข้าถึงการศึกษา คนไม่มีเงินไม่สามารถเรียนได้ แต่ในความเป็นจริงคุณสามารถทำงานอะไรได้บ้างโดยไม่มีปริญญา รัฐไม่ได้สนับสนุนตรงนี้ สุดท้ายเด็กที่ไม่มีเงินมากพอก็ขาดโอกาสสานฝันตัวเอง
สรุปมันผิดที่ใครจริง ๆ ก็ด้วยกันทั้งหมด ทั้งตัวระบบและผู้สนับสนุน ถ้าจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องรอคนรุ่นเราขึ้นมามีอำนาจ แต่กว่าจะถึงตอนนั้นก็ยังหวังให้มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจเด็กรุ่นเราบ้าง
วันสัมภาษณ์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔