Image

๑๕ ปี ใต้ฟ้ารัฐประหาร
สมบัติ บุญงามอนงค์

Activist

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ

สมบัติ บุญงามอนงค์
บก. ลายจุด/ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา/นักต่อต้านรัฐประหาร 
ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นนักออกแบบกิจกรรมการเมือง

“รัฐประหารมันผิด 
เป็นสิ่งแปลกปลอม
ไม่เป็นประชาธิปไตย
เราเห็นว่า
มันไม่ถูกต้อง”

๑/  ไม่ รับรัฐประหาร

รัฐประหารมันผิด เป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่เป็นประชาธิปไตย เราเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง  ประเทศปกครองแบบนี้ไม่ได้ เขามีการเลือกตั้ง มีอะไรกัน แต่คุณขับรถถังมายึดอำนาจนี่ไม่เห็นด้วย

๒/ ละคร-การเมือง 

ผมต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ หนึ่งสัปดาห์หลังวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ผมเล่นละครใบ้ประท้วงอยู่หลายที่ มีทักษะพอเล่นละครใบ้ได้ เคยเรียนเรื่องนี้ ไปคนเดียวไม่ได้บอกใคร ถือกระเป๋าใส่เสื้อผ้าไป ทาหน้าขาวแล้วก็เล่น ถูกจับแถวตึกโดม ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  นั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ผมออกไปต่อต้านอำนาจรัฐ

เล่นเสร็จโดนเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยควบคุมตัวเข้าไปในห้องบอกว่ามาทำแบบนี้ในช่วงเวลานี้ไม่ได้

เอาจริง ๆ เขาดูไม่ออกหรอกว่าผมเล่นอะไร เป็นสัญลักษณ์เรื่องเด็กเล่นปืน เปิดตัวว่าเด็กมันเล่นว่าวอยู่ ว่าวขาด วิ่งตามว่าวไปเจอปืนก็เลิกสนใจว่าว มาจับปืนเล่น แล้ววิญญาณเด็กคนนั้นก็เปลี่ยนไป จากนั้นก็เริ่มเอาปืนไปทำเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ สุดท้ายปืนลั่นใส่หัวตาย จบแค่นั้น ไม่มีอะไรบ่งบอกว่ามีทหาร แต่เป็นละครการเมืองเรื่องอำนาจ

เขาถ่ายรูปผม เอารูปไปแปะไว้ที่ตึกอเนกประสงค์ รวมกับพวกลักเล็กขโมยน้อย พวกถ้ำมอง มีรูปติดอยู่ราว ๒๐ คนได้เป็นบุคคลต้องห้ามใน ม. ตอนหลังเวลาย้อนกลับไปผมยังไปยืนดูรูปตัวเองอยู่เลย

๓/ วัฒนธรรมอํานาจ 

ผมจริงจังขึ้นเมื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ว่ามันเชื่อมโยงมาจากรัฐประหารปี ๒๕๓๔ ถ้าเปิดช่องทางให้รัฐประหารได้ จะเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดวัฒนธรรมทางอำนาจขึ้นในรัฐไทย และสุ่มเสี่ยงที่ทหารจะใช้กำลังข่มเหงประชาชนในแบบที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น พอเกิดรัฐประหาร ๒๕๔๙ ผมจึงประท้วงทันที

Image

๔/ ๒๕๔๙

วันรุ่งขึ้นหลังรัฐประหารปี ๒๕๔๙ ผมนัดประชุมนักกิจกรรมที่ออฟฟิศมูลนิธิกระจกเงาในซอยรางน้ำ ว่าแต่ละคนมีความเห็นอย่างไร มากันราว ๘๐ คน ประชุมจาก ๕ โมงถึงเที่ยงคืน แล้วออกประกาศเครือข่าย ๑๙ กันยา ต่อต้านรัฐประหาร เป็นองค์กรแรก ๆ ที่ออกแถลงการณ์  หลังจากนั้นอีก ๔ วันจัดแฟลชม็อบ ใส่เสื้อดำไปประท้วงที่หน้าสยามเซ็นเตอร์ นั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมอยู่หน้าม็อบต่อหน้ากล้องเป็นร้อยตัว

๕/ ๒๕๕๗

หลังเกิดรัฐประหารปี ๒๕๕๗ คนต่อต้านรัฐประหารทันทีเยอะที่สุด ออกมาเดินขบวนกันเองเป็นพันคน พอเริ่มถูกปราบถูกจับก็ฝ่อไป ผมทำกิจกรรม “catch me if you can” ล้อเลียน เรียกรายงานตัวเราก็ไม่รายงานตัว จัดแฟลชม็อบออนไลน์ ใช้นามปากกา “บก. ลายจุด” ซึ่งผมใช้บนโลกออนไลน์มาตั้งแต่เริ่มใช้อินเทอร์เน็ตใหม่ ๆ น่าจะราวปี ๒๕๓๘ นัดหมายคนให้ไปชุมนุมที่โน่นที่นี่ นัดเจอกันที่ร้านแมคโดนัลด์

จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของผมไปแล้ว ถ้าผมพูดว่า “กินแมคฯ” นั่นเป็นรหัสทางการเมือง

ตั้งแต่หลังสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ปี ๒๕๕๓ ผมชวนเพื่อนๆ ใส่เสื้อแดงวันอาทิตย์ ไปผูกผ้าแดง หลังจากนั้นก็นัดเจอกันตามร้านแมคฯ ประมาณว่าไปกินแมคฯ กันอะไรอย่างนี้ จริง ๆ ก็นัดเจอเพื่อประท้วงนั่นแหละ พูดว่าไปกินแมคฯ พอทำซ้ำ ๆ ก็กลายเป็นว่าการไปกินแมคฯ ของผมคือการเมือง กลายเป็นเรื่องที่รู้กันว่าถ้า บก. ลายจุด ชวนกินแมคฯ นี่มีนัยทางการเมืองซ่อนอยู่

๖/ ม็อบต้องสนุก

ผมมีหลักสำคัญคือกิจกรรมต้องสนุก มันเป็นทั้งเสน่ห์และการตอบแทนผู้เข้าร่วม เพราะมันสนุก มันกวนตีน ไม่ใช่การประท้วงเครียด ๆ ธรรมดา เราจ่ายความสนุกเป็นค่าตอบแทน มีความสนุกอยู่ในนั้น แล้วผมบอกไว้ก่อน มันกวนประสาทมาก

การสื่อสารเรื่องนี้ต้องทำให้ดูน่าสนใจ ผมจะไม่พูดตรง ๆ ไม่ใช่ตาถลึง ใช้ความสนุกความขำขันต่อสู้ ภาพที่ออกมาดูสันติวิธีมากกว่า แต่ก็ไม่แน่ ตัวตลกมันก็เอาไปยิงได้ แต่คุณต้องอธิบายยากเพราะตัวตลกพวกนี้ทำตัวไม่มีพิษมีภัย

ผมคิดว่าถ้าเป็นอารมณ์ขันด้วย สันติวิธีด้วย มันเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก

“กิจกรรมต้องสนุก มันเป็นทั้งเสน่ห์และการตอบแทนผู้เข้าร่วม เพราะมันสนุก มันกวนตีน ไม่ใช่การประท้วงเครียดๆ ธรรมดา”

Image

๗/ ต่อต้าน

รูปแบบก็สำคัญ ทำให้การชุมนุมน่าสนใจ มีกิจกรรม ใส่เสื้อแดง ชูสามนิ้ว เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน การไม่ยอมรับ  ส่วนใครจะอธิบายว่าเป็นเสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพก็ว่ากันไป แต่ในมุมของผมมีความหมายเดียวที่ชัดเจนที่สุดคือการต่อต้าน

๘/ ๒๕๖๔

ผมคิดว่าผิดก็คือผิด แต่ที่คนส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับรัฐประหารก็เพราะเป็นความต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. เขาอยากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วเชื่อว่าจะเกิดการปฏิรูป ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ นี้มันหลอกลวงคน  เขาให้โอกาส คสช. แล้วมาดูว่าความเป็นจริงคืออะไร

เขามาด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นการรวบอำนาจ แล้วไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ จนนำไปสู่วิกฤต ดึงประเทศถอยหลัง ถึงตอนนี้ก็อยู่ท่ามกลางวิกฤตเลยแหละ 

๙/ สุดซอย-ตาอยู่

การออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เป็นจุดพลาดที่ทำให้ฝ่ายเผด็จการยกมาสร้างแนวร่วมกับประชาชนได้อย่างกว้างขวาง แล้วทำให้เรื่องนี้เตลิด  ถ้าฝ่ายการเมืองซีกอนุรักษนิยมคือประชาธิปัตย์ แค่ล้ม พ.ร.บ. นิรโทษกรรม กดดันให้ยุบสภาเข้าสู่การเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นฝ่ายก้าวหน้า แต่เขาไม่ยอมหยุดตรงการยุบสภา ส่วนพรรคเพื่อไทยพลาดตรงออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอย ต่อจากนั้นประยุทธ์ก็เป็น “ตาอยู่” เลย อยู่มา ๗ ปีแล้ว

๑๐/ นานเกินไป

ตอนนี้คนจำนวนมากเริ่มเห็นว่าประยุทธ์ไม่ควรอยู่มาถึง ๗ ปี อาจพอยอมรับได้ถ้ามาช่วงสั้น ๆ แต่จะเห็นว่ามีความพยายามสืบทอดอำนาจและขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นคนที่เคยสนับสนุนเริ่มเปลี่ยนฟากมาอยู่ฝั่งตรงข้ามแล้ว

ส่วนคนที่ยังสนับสนุน พอมาเจอโควิด-๑๙ รอบนี้ก็หวั่นไหวค่อนข้างมาก สุดท้ายผู้สนับสนุนจะเหลือแค่ทหารกับข้าราชการบางส่วนเท่านั้น แต่ประชาชนจะไม่เป็นฐานรองรับให้ประยุทธ์อีกแล้ว จึงเข้าสู่ช่วงท้าย ๆ ของประยุทธ์แล้ว 

Image

๑๑/ ระยะสุดท้าย

ช่วงท้ายนี้นานเท่าใดไม่รู้ แต่การอยู่ต่อไปอีก ๖ เดือนก็ยากแล้ว แล้วจากนี้จะยากขึ้นเรื่อย ๆ ยากมาก ปัญหาสถานการณ์ที่มีอยู่ควบคุมไม่ได้ โกลาหล

๑๒/ Post-ประยุทธ์

หลังยุคประยุทธ์การเมืองไทยจะยังเป็นการช่วงชิงอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ยกแรกนี่ต้องเอาการเมืองนอกกติกานี้ออกไปก่อน แล้วจากนั้นฝ่ายการเมืองจะเข้าห้ำหั่นกันอีกรอบ สู้กันในสนามเลือกตั้งที่ยุติธรรม 

๑๓/ ตื่นตัว

ส่วนภาคประชาชนก็เกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างมากมายมหาศาล เห็นร่วมกันหรือไม่ร่วมกันในบางส่วนก็เป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นสังคมที่โต้เถียงกันดุเดือด เป็นธรรมดา เรียนรู้กันไป แต่มีความหวัง การเมืองจะไม่อยู่แค่ในสภา ประชาชนไม่เหมือนเดิม พูดจารู้เรื่อง มีเครื่องมือ รวมกลุ่มกันได้ อิทธิพลของประชาชนจะกำหนดฝ่ายการเมืองได้มากขึ้น นักการเมืองต้องรับฟัง

๑๔/ ธารสายเดิม

รัฐประหารแต่ละครั้งตัวบุคคลเป็นคนละคน แต่ถ้าดูจากวิธีคิดมันเป็นอำนาจนิยมกับประชาธิปไตยที่ต่อสู้กัน นับแต่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ฝ่ายอนุรักษนิยมก็พยายามยึดพื้นที่ ฝ่ายประชาธิปไตยก็พยายามรุกพื้นที่ทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนประเทศ สู้กันไปมาอยู่แบบนี้ เปลี่ยนตัวละครแต่เป็นสายธารเดียวกัน คือการต่อสู้ระหว่างอำนาจนิยมกับประชาธิปไตย 

๑๕/ ประเทศนี้ของใคร ?

ทั้งหมดนี้สู้กันด้วยค่านิยมและความเชื่อที่ว่าประเทศนี้เป็นของใคร ถ้าเชื่อว่าเป็นของประชาชน ประชาชนก็จะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ใครก็แย่งอำนาจนี้ไปไม่ได้ และประชาชนก็จะไม่ดูดายต่อความไม่ถูกต้องที่ดำรงอยู่ในสังคมของเรา

 วันสัมภาษณ์ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔