Image
“การเมืองเป็นสิทธิ
และเป็นกิจของสงฆ์”
สามเณรสหรัฐ สุขคําหล้า 
(เณรโฟล์ค)
New Gen
เรื่อง : ชยพล มาลานิยม
ภาพ : วริศ โสภณพิศ
ค่ำวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ ท่ามกลางความโกลาหลบริเวณสี่แยกปทุมวัน สายฝนกระหน่ำจากฟ้า และสายน้ำจากรถฉีดน้ำแรงดันสูงของตำรวจหมุนเกลียวเข้าหามวลชนจนกระเจิดกระเจิง ท่ามกลางเสียงร่ำไห้ตื่นกลัวและเสียงบริภาษเคืองแค้น สามเณรรูปหนึ่งยืนอยู่เบื้องหน้าแนวรถ ยกมือไหว้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอให้ยุติการกระชับพื้นที่ จีวรเปรอะเปื้อนด้วยของเหลวสีฟ้าจากรถฉีดน้ำ นั่นคือภาพแรกที่ทำให้สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า หรือเณรโฟล์ค เริ่มถูกจับตามอง และกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหว
สมญานาม “แก๊งแครอท” แพร่อย่างรวดเร็ว ลดระยะห่างระหว่างภิกษุสงฆ์และฆราวาส กลุ่มนักบวชผู้เคลื่อนไหวในนามคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ ประกาศเรียกร้องให้แยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ เพื่อความเท่าเทียมภายในคณะสงฆ์ จนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอความร่วมมือเจ้าคณะทุกจังหวัด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ต่าง ๆ ส่งตัวเณรโฟล์คแก่สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เพื่อให้สึก โทษฐานละเมิดวินัยสงฆ์ ต่อมาเณรโฟล์คยังถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามมาตรา ๑๑๒ จากการร่วมปราศรัยในที่ชุมนุม เขาเป็นสามเณรคนแรกที่ได้รับข้อกล่าวหานี้ และในที่สุดมหาเถรสมาคมก็มีมติเห็นชอบให้ “ลิงคนาสนะ” หรือขับไล่ออกจากวัด

อะไรคือสาเหตุที่สามเณรผู้นี้เลือกสวนทางกับกรอบเกณฑ์และ “ความเหมาะสม” ของสถานะ เพื่อยืนยันอุดมการณ์ของตน และเพราะอะไรพระหรือเณรจึงต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

หรือถ้าจะถามให้แหลมคมยิ่งขึ้น--ทำไมพระหรือเณรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมิได้ ?
เพราะปั ญหาสังคม
จึงต้องห่มผ้าเหลือง

ผมมีน้องสาว ต้องส่งน้องไปอยู่โรงเรียนประจำ ถ้าผมเรียนในโรงเรียนธรรมดาน้องจะไม่ได้เรียน แม่พูดว่าถ้าน้องเป็นผู้ชายน้องก็จะได้บวชเรียน แต่นี่น้องเป็นผู้หญิง เราจะทำอะไรได้ ไม่มีทางเลือก เป็นเหตุให้ผมต้องบวช ต้องยอมสูญเสียสิทธิหรือความฝันของเรา ผมเคยอยากเป็นนักฟุตบอลมาก ได้ไปคัดตัวที่โรงเรียนเทศบาลเชียงราย ไม่เคยย่อท้อต่อการฝึกซ้อมกีฬา เวลาวิ่งไล่บอล ผมกัดไม่ปล่อย เล่นทุกวัน ซ้อมทุกวัน จนได้ทุน เขาจะออกค่าเทอมให้ครึ่งหนึ่ง แต่เราต้องออกค่ากินค่าอยู่เองในโรงเรียนเทศบาลประจำ ก็ไปต่อไม่ไหว แม่ก็บอกว่านักฟุตบอลมันเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง แก่ไปแล้วจะเอาสวัสดิการยังไง อยากให้ผมเป็นข้าราชการมากกว่า
การเมือง--
เรื่องของใคร ?

ก่อนบวช ผมรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนกรุงเทพฯ ครั้งแรกที่รู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทำให้หวนคิดไปถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ผมเพิ่งจะรู้สึกว่ายายของผมมีอำนาจก็ตอนนั้น มีคนมาไหว้ยายที่หน้าประตูบ้าน แล้วก็มาขายว่าเดี๋ยวจะทำนั่นทำนี่ให้ ตอนนั้นรู้สึกดีมาก แต่พอเกิดรัฐประหารมาเรื่อย ๆ ผมรู้สึกว่าเรากลายเป็นอื่นไป ยังเป็นคนไทย แต่ไม่มีสิทธิ์พูด ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องผลประโยชน์ แม้กระทั่งสิทธิการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เราควรจะจัดขึ้นเองด้วยซ้ำ อย่างเราเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านกันเอง เวลาไม่พอใจผู้ใหญ่บ้านเราก็ไล่ออกเลย แต่พอในปี ๒๕๕๗ มีกฎหมายรองรับ เราไม่สามารถไล่เขาออกได้แล้ว กลับตาลปัตรหมด ทำให้พวกเรากลัวชุดเครื่องแบบข้าราชการมาก เวลาเขาพูดว่ากฎหมายเขียนมาแบบนี้ คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงคุณต้องไปกรุงเทพฯ
Image
ความเหลื่อมล้ำมันสูงเหลือเกิน ตอนนั้นผมก็มองว่าเป็นเพราะบุญทำกรรมแต่งหรือเปล่า ทำไมตายายเราถึงมาล้มป่วยช่วงนี้ แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่าเป็นปัญหาการเมือง เราไม่มีประกันสุขภาพ แม้จะมีนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค แต่เขาไม่ได้เต็มใจที่จะรักษาเรา จนเราต้องมาดูแลกันเองที่บ้าน หรือไปโรงพยาบาลเอกชนเอง เรารู้สึกเหมือนอยู่ในทะเล เขามีนโยบายที่ทำให้เราหายใจได้ แต่พอใกล้จะถึงฝั่งเขากลับไม่ดึงเราขึ้นฝั่ง แถมจะผลักให้จมทะเลด้วยซ้ำ ผมรู้สึกแบบนั้นเมื่อผมมาศึกษาอยู่ที่กรุงเทพฯ

ผมเคยให้สัมภาษณ์กับ The People ว่าถ้าการเมืองดี ผมคงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก ผมพยายามชี้ให้เห็นว่ามีเด็กหลาย ๆ คนที่สูญเสียโอกาสหรือความฝันของตัวเองเพื่อแลกกับอนาคตหรือสถานะ ด้วยความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและทางเศรษฐกิจ
อํานาจในเปลือกศาสนา
ผมอ่านงานจำพวกนีโอมาร์กซิสม์ หรือการเมืองวัฒนธรรม รู้สึกได้ว่าอำนาจไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่ยังมีอำนาจอ่อน (soft power) ที่ถูกปลูกฝังทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว และเรายึดถือโดยไม่รู้ว่ายังยึดอะไรอยู่ อย่างที่ผมเคยเป็น คือทำไมผมต้องไหว้พระพุทธรูปตลอดเวลา ทั้งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้กำหนดให้มีรูปปั้นจริง ๆ รูปปั้นสร้างขึ้นโดยคนโรมัน แต่พอเป็นวัฒนธรรมที่คนทำต่อ ๆ กันมา เราจึงได้เห็นว่ามีอำนาจทางความเชื่อบางอย่างที่เราไม่ได้ตั้งคำถามกับมัน

มีสุภาษิตของภาคเหนือที่แปลได้ว่า “เงินตกใส่วัว วัวตายกลายเป็นลาบ เป็นก้อย เงินตกใส่หญ้า หญ้าหาย เงินตกใส่จิ๋มผู้หญิง จิ๋มผู้หญิงก็อ้า เงินตกใส่ศาสนา ศาสนาก็ทำบาปให้เป็นบุญได้” คือศาสนาเองก็มีเรื่องอื้อฉาวให้เราเห็นตลอดเวลา ในประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนามีเรื่องของบาทหลวงมาร์ติน ลูเทอร์ ปฏิเสธการขายใบไถ่บาป บาปไม่อาจแก้ได้ด้วยเงินหรือใบไถ่บาป แต่ศาสนาพยายามรับใช้ชนชั้นปกครอง และโลกทุนนิยมก็พยายามทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้า ปัญหาทุกอย่างดูจะแก้ไขได้ด้วยเงิน
Image
“ผมมองว่า
การรัฐประหารนั้น
เท่ากับการฆ่า 
ถือเป็นปาณาติบาต 
กำจัดคนที่เห็นต่าง
กำจัดเสี้ยนหนาม 
เอาไปขังคุก 
นี่ละเป็นบาป”

ร่วมขบวนมวลชน
ช่วงกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตอนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ผมยังทำงานเป็นเจเนอรัลเบ๊ในม็อบ ทำทุกอย่าง ไปซื้อผ้าขาว เวลาทำป้ายผมก็เป็นคนเขียน แล้วก็ให้เพื่อนไปติด ทำอยู่เบื้องหลังมาตลอด จนถึงช่วงที่รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกจับครั้งแรก มีเหตุให้ผมต้องไปปราศรัยครั้งแรกที่หอนาฬิกา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ผมยังพูดไม่รู้เรื่องเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นก็รู้สึกว่าเราควรสะท้อนปัญหาสังคมเรื่องศาสนา

ช่วงที่เข้าร่วมชุมนุมแรก ๆ เหมือนกับว่าฆราวาสยังไม่รู้จะปฏิบัติต่อผมยังไง เขามองเราเป็นอื่น ด้วยความที่ศาสนาในบ้านเราเข้าถึงยาก มีพิธีกรรมและวาทกรรมแฝงฝังอยู่ อย่างที่บอกว่าผู้หญิงห้ามเข้าใกล้พระ มันบาป เวลาผมไปชุมนุม เขาก็มองแปลก ๆ ว่ามาทำไม แล้วควรจะปฏิบัติต่อพระยังไงดี แต่พอให้สัมภาษณ์ที่ The People เขาก็เริ่มติดตามอ่านกัน แล้วก็รู้ว่าที่จริงการเข้าใกล้พระไม่ได้เป็นสิ่งผิด แต่การที่พระมีเจตนาหรือมีอารมณ์ทางเพศแล้วเข้าไปใกล้ผู้หญิงหรือลวนลามผู้หญิงต่างหากจึงเป็นสิ่งผิด มันดูกันที่เจตนา ก็ทำให้เขาปฏิบัติต่อผมเป็นพลเมืองคนหนึ่งในสังคมที่มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันทุกคน
ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ?
นักบวชจะไม่ยุ่งกับการเมืองก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตีความด้วยเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ได้ตรัสกับปัญจวัคคีย์ว่าพระองค์ได้บำบัดซึ่งทุกข์ของพระองค์เองแล้ว กำจัดความโลภ โกรธ หลง ไม่มีกิเลสเป็นบ่วงแล้ว  ถ้าภิกษุทั้งหลายบำบัดทุกข์ของตนเองได้แล้ว กำจัดบ่วงหรือพันธนาการแล้ว ท่านก็จงเที่ยวไปอนุเคราะห์ชนหมู่มาก ไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้สังคม
Image
เราก็ตีความตรงนี้ได้ว่า เราเป็นพระ เป็นชนชั้นบนที่ไม่ต้องทำมาหากิน หรือถ้าจะมองในรูปแบบทุนนิยม พระเป็นอาชีพที่มีเวลาเยอะที่สุดที่จะใช้ทำเรื่องไม่เป็นเรื่องได้ แต่สังคมให้ความเคารพ ผมจึงถามว่า ในเมื่อเราไม่สามารถพิสูจน์ความเป็นพระอรหันต์ในตัวเราได้ แต่พิสูจน์ได้ว่าเราเป็นผู้ไม่มีความทุกข์ภายนอก คือเรื่องของปัจจัยสี่ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย แต่ยังมีคนในสังคมที่มีปัญหาเรื่องนี้ หรือกระทั่งคนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง

ผมจึงมองว่านักบวชควรไปแก้เรื่องความทุกข์ภายนอกให้เขาได้มีกิน มีอยู่ มียารักษาโรค มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ถ้าแก้ปัญหาความทุกข์ภายนอกได้แล้ว เรื่องของความทุกข์ภายในเขาจะเข้ามาถามเราแน่นอน  เรื่องเกี่ยวกับนิพพาน ความศรัทธา รายละเอียดธรรมในระดับสูงขึ้นไป เขาจะมีเวลามาศึกษาพระธรรมหรือพระไตรปิฎกให้ลึกซึ้งกว่านี้ มากกว่าที่จะเอาคำสอนไปหากิน
ยุติกรรมร่วม
ยุติรัฐประหาร

เวลาเราพูดเรื่องกรรมในพุทธศาสนา จะพูดถึงกรรมที่เป็นปัจเจก เช่น คุณไปตีหัวคนอื่น แล้วคนอื่นก็มาตีหัวคุณกลับ แต่มีกรรมอีกรูปแบบหนึ่งคือกรรมร่วม ภาษาอังกฤษเรียกว่า collective karma อย่างเช่นเราสนับสนุนสินค้าของนายทุนที่ตัดไม้ทำลายป่า กรรมอาจจะไม่ส่งผลเร็วในปัจจุบัน แต่จะส่งผลถึงภาวะโลกร้อนในอนาคต หรือกระทั่งคุณปล่อยให้เกิดการรัฐประหาร กรรมก็เพิ่งมาส่งผลในปี ๒๕๖๓ เกิดการผูกขาดการค้า กลายเป็นว่ากรรมของเราไม่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ไปเกิดในรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะเรามีกรรมหมู่ร่วมกันอยู่ คือการที่เราเลือกจะเมินเฉย

ดันเต อาลีกี เอรี (Dante Alighieri) นักเขียนวรรณกรรมของอิตาลี เคยพูดไว้ว่า “สถานที่อันมืดมิดที่สุดในนรก สงวนไว้สำหรับผู้ที่ธำรงความเป็นกลางในโมงยามแห่งวิกฤตทางศีลธรรม”

ผมมองว่าการรัฐประหารนั้นเท่ากับการฆ่า ถือเป็นปาณาติบาต คุณกำจัดคนที่เห็นต่าง กำจัดเสี้ยนหนาม เอาไปขังคุก นี่ละเป็นบาป เป็นความผิดทางศีลธรรมที่คุณรุกล้ำหรือละเมิดสิทธิของคนอื่น และแน่นอนว่าผมจะสนับสนุนทุกการต่อต้านเมื่อเกิดการทำรัฐประหาร อย่างในกบฏอินเดีย กบฏเยอรมนี หรือแม้กระทั่งในการปฏิวัติของ เหมาเจ๋อตง ศาสนสถานเป็นสถานที่สำหรับการประชุมของประชาชนเพื่อปลดแอกจากเผด็จการ ถ้าเกิดรัฐประหารอีก ผมจะเปิดวัดให้คนที่เห็นต่างเข้ามาประชุมกัน หรือเมื่อมีการทำร้ายประชาชน ผมจะเปิดวัดให้หลบภัย ไม่ปิดวัดหรือทำร้ายประชาชนภายในวัดแน่นอน
วันสัมภาษณ์ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔